fbpx

ลุงเฮม่าตอบปัญหาการเมืองบนเสื้อผ้า : รอยยิ้มหวาน มารยาท และการเลือกตั้ง

วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

ธิติ มีแต้ม ภาพ

 

โค้งสุดท้ายก่อนถึงวันเลือกตั้ง เชื่อว่าเป็นช่วงเวลาที่หลายพรรคการเมืองอัดสปีด พยายามทำแต้มเต็มที่ผ่านนโยบายหมัดเด็ดที่เก็บมาปล่อยช่วงท้ายๆ จนถึงการปล่อยแคมเปญในรูปแบบต่างๆ

เป็นต้นว่า ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมาที่มีการเผยแพร่โฟโต้เซ็ต พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในมุมสบายๆ เป็นการถ่ายภาพในสตูดิโอ จัดเสื้อผ้าจัดแสงอย่างตั้งใจพร้อมใบหน้ายิ้มน้อยๆ ดูอบอุ่น ตามคอนเซ็ปต์ที่โฆษกพรรคพลังประชารัฐบอกว่า “จริงๆ แล้ว พล.อ.ประยุทธ์เป็นคนน่ารัก” ตามมาด้วยคำพูดออดอ้อนและรอยยิ้มหวานของคนชื่อตู่ปรากฏตามหน้าสื่อตลอดทั้งสัปดาห์ ขัดกับภาพความเป็นคนขี้โมโห ฉุนเฉียว ขว้างปาข้าวของแบบที่ผ่านมาตลอด 5 ปี

ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ อาจทำให้มองได้ว่า นี่เป็นแคมเปญหาเสียงหนึ่งของพรรคที่พยายามปรับลุค สลัดภาพความเป็นทหารของประยุทธ์เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งที่นำมาซึ่งรัฐบาลพลเรือน

โอกาสเหมาะ 101 จึงชวน ภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์ อดีตบรรณาธิการนิตยสาร Esquire และเจ้าของคอลัมน์ Agony Uncle ลุงเฮม่าตอบปัญหา ใน The101.world มาพูดคุยถึงการสร้างภาพลักษณ์ของนักการเมือง โดยเฉพาะสิ่งที่สะท้อนผ่านเครื่องแต่งกาย อันมีผลต่อการสร้างภาพจำที่ปรากฏผ่านสื่อ โยงไปถึงบุคลิกของพรรคการเมืองที่สังกัดอยู่

ที่ผ่านมา ภาณุ หรือ ‘ลุงเฮม่า’ ตอบคำถามผ่านคอลัมน์มากมาย โดยเฉพาะเรื่องที่ดูง่าย แต่ไม่เคยง่าย อย่างเรื่องเสื้อผ้าและมารยาททางสังคม เราจึงลองชวนเขาสำรวจโลกของนักการเมืองผ่านเสื้อนอก เนคไท กระโปรง และแขนเสื้อ ที่ทำให้เห็นเรื่องราวมากกว่าสิ่งที่ตาเห็น


ภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์

คิดว่าเรื่องการแต่งกายสำคัญยังไงกับนักการเมือง

การแต่งกายเป็นเรื่องแบรนด์ดิ้ง คนไทยอาจไม่ได้แต่งตัวถูกต้องตามแบบแผนนัก แต่เป็นเรื่องสำคัญสำหรับบุคคลสาธารณะ เพราะการแต่งตัวบอกว่าเราเป็นใคร ถ้าจะดูนักการเมืองสมัยก่อน อย่าง จำลอง ศรีเมือง ต้องใส่เสื้อผ้าหม้อห้อมคอจีนแขนสั้นเนื้อผ้าเก่าๆ ป๋าเปรมก็จะต้องเป็นชุดพระราชทาน ซึ่งเป็นคนที่เผยแพร่ชุดพระราชทานในประเทศไทย และใส่ออกมาได้ดีด้วยรูปร่างและบุคลิกที่นิ่ง เป็นคนที่พิถีพิถันมาก

คนที่อยู่ในวงการการเมืองหรือวงการธุรกิจจำเป็นต้องแต่งตัว เพราะต้องออกงาน ออกทีวี จึงต้องแต่งตัวให้สมฐานะ แต่เท่าที่ได้ยินมาคือ ส.ส.ไม่แต่งตัว เพราะตอนที่อยู่ Esquire ผมอยากทำเรื่องนักการเมืองว่าเขาไปหาช่างเสื้อกันที่ไหน เขาใส่แบรนด์อะไร เราคิดไปเองว่านักการเมืองไทยเหมือนกับนักการเมืองฝรั่ง แต่มันไม่ใช่

ทั้งที่นักการเมืองควรจะมีสไตล์ลิสต์

ส.ส.จะพบปะกันอยู่ที่รัฐสภา แล้วห้องเสื้อก็จะส่งช่างมาวัดตัวให้ที่สภาตามสะดวก แล้วช่างบอกอะไรคนพวกนี้ก็เชื่อหมด เพราะฉะนั้น ส.ส.ในรัฐสภาจึงแต่งตัวอย่างที่เราเห็นกัน จากข้อมูลที่ได้มา เขาไม่ได้เลือกร้านตัดเสื้อเองด้วย ผิดกับคนอย่าง สุวัจน์ ลิปตพัลลภ, อานันท์ ปันยารชุน หรือชวน หลีกภัย

ยกตัวอย่างว่าคุณชวนเป็นคนตัวเล็ก ถ้าใส่สูทที่ตัดไม่ดีแล้วจะยิ่งดูตัวเล็กเข้าไปอีก เพราะสูทจะดูตัวใหญ่ เขาก็เลือกสูทที่พอดีตัวแล้วหาสีที่ทำให้ดูสดใส ที่มีเยอะคือสีน้ำเงิน แล้วก็สีเทาหรือพวกสีอ่อน เห็นแล้วจะจำได้ว่าเป็นคุณชวน

การสร้างแบรนด์ดิ้งหรือการแต่งกายมีผลกับการหาเสียงแค่ไหน

มีผล เพราะทำให้จำได้ว่าใครเป็นใคร เราจำหน้าได้อยู่แล้วล่ะ แต่มันก็มาพร้อมบุคลิก อย่าง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พรรคอนาคตใหม่ เป็นคนรุ่นใหม่ก็ต้องใส่เสื้อยืดเป็นหลัก แต่เสื้อยืดกับตราสามเหลี่ยมใหญ่ๆ นั่นก็ไม่สวย เพราะโลโก้มันใหญ่เกินไป แต่มันได้ผล โอ้! คนจำได้ ถือเป็นเครื่องแบบของเขา ธนาธรใส่สูทน้อยมาก เฉพาะงานทางการจริงๆ ถ้าไม่ใช่เสื้อยืดเขาจะใส่เสื้อเชิ้ตที่ใหญ่กว่าตัวเองสัก 2 เบอร์ ส่วน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเริ่มอ้วนแล้ว ก็ใช้สีฟ้าของพรรคตลอดเวลา ไม่มีอะไรเพิ่มเติม แต่ปีนี้ประชาธิปัตย์ใช้สีดีขึ้น เมื่อก่อนจะเป็นสีขาวกับสีฟ้า และสีฟ้าจะไม่ใช่เฉดที่สวยอย่างนี้ ปีนี้ดูมีเอกภาพ เป็นสีฟ้าเฉดที่สดใสดี

หากนักการเมืองที่มีภาพจำแบบหนึ่ง และอยู่ๆ เปลี่ยนภาพลักษณ์ตัวเองช่วงก่อนการเลือกตั้งอย่างกะทันหันจะสร้างผลอย่างไร

ไม่ควร เพราะการสื่อสารจะหักเห แทนที่จะไปตรงๆ แล้วมีอิมแพ็คเต็มที่ พอเปลี่ยนลุคนั่นนี่คนก็งง แต่เรื่องคุณประยุทธ์ ผมว่าเขาไม่ได้เปลี่ยนลุค เราไม่รู้เบื้องหลังว่าเจ้าตัวเขาคิดอะไร แต่วิจารณ์ตามที่เห็น การที่เขาไปสตูดิโอ มีช่างภาพ มีสไตล์ลิสต์ เอาเสื้อมาใส่ หยิบหมวกใบนั้นมาลอง ผมคิดว่ามันเป็นแคมเปญของพรรคพลังประชารัฐ อย่าลืมว่าในสายตาของคนที่สนับสนุนประยุทธ์ เขามองว่าประยุทธ์น่ารัก ขณะที่คนไม่ชอบรัฐบาลชุดนี้จะมองว่าเขาพูดจาหยาบคาย ขี้โมโห เขวี้ยงของ ปัดคำถาม แต่ภาพชุดนี้ผมว่าตรงกับสิ่งที่ฝ่ายสนับสนุนคิดอยู่ ผมเห็นปฏิกิริยาของเพื่อนในเฟซบุ๊กที่ชอบประยุทธ์ เขาชอบรูปเซ็ตนี้มาก “อุ๊ย ลุงตู่น่ารัก” อะไรอย่างนี้ ซึ่ง…ใช่เหรอวะ

ประยุทธ์
ภาพที่ 1
ประยุทธ์
ภาพที่ 2

เป็นภาพที่ดูอบอุ่น อมยิ้มนิดๆ

ดูสบายๆ เป็นประยุทธ์วันหยุดในยามที่ไม่มีเรื่องต้องรับใช้ชาติอีกแล้ว ผมมองว่าไม่ใช่การเปลี่ยนภาพลักษณ์ แต่เป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์ที่ต้องการสื่อสารถึงคนที่ชื่นชอบอยู่แล้ว แต่จะสื่อสารถึงคนกลุ่มใหม่ไม่ได้เลย เพราะผิดจากภาพจำที่เรามี แล้วผมคิดว่าเขาไม่สนใจกลุ่มใหม่ด้วย

ตอนเห็นภาพชุดนี้ คุณมองว่าเป็นยังไง

ตอนแรกผมเห็นที่มีคนทำล้อ วางฟอนต์เหมือนปกเทปคาสเซ็ท ก็คิดว่าเป็นภาพตัดต่อใส่หัวเข้าไป ต่อมาถึงรู้ว่าไปถ่ายจริงๆ ในสตูดิโอ มีคนเลือกเสื้อผ้าให้ แต่คิดว่าเป็นเสื้อของเขาเอง ดูไม่ใช่สไตล์ปกติ แต่พอดีตัว อันนี้เป็นประยุทธ์วันหยุด ไม่ใช่ประยุทธ์ในทำเนียบ

 

มองยังไงที่ภาพถ่ายแบบนี้ออกมาในช่วงใกล้เลือกตั้ง

ผมคิดว่าเป็นแคมเปญที่ดี เพราะเขาไม่ได้พูดเลยสักคำเดียว เป็นการสื่อสารกับกลุ่มที่ยังไงก็เลือกพลังประชารัฐอยู่แล้ว ผลที่ออกมาก็คิดว่าค่อนข้างบวก ไม่ใช่เพราะว่าหล่อ แต่ทำให้ได้พื้นที่สื่อ ทุกคนพูดถึง ทุกคนเอามาเล่น สวัสดีวันจันทร์ ต่อให้เป็น bad news ก็ดีกว่าไม่มี news เลย แต่ทีมงานคงไม่ได้คิดไปถึงว่ารูปจะถูกนำไปผลิตซ้ำต่อยังไง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในอินเทอร์เน็ตมันวางแผนกันไม่ได้

ทำไมสไตล์ลิสต์ทำออกมาเป็นแนวปกเทปคาสเซ็ทย้อนยุค ไม่ใช่ชายชาติทหารอยู่กับรถถัง ผู้จงรักภักดี หรือการถ่ายภาพกับคนหลากเพศหลายวัย

ถ้าทำแบบนั้นก็ไม่ได้ให้อะไรใหม่ ตอนนี้เขาอยากหนีภาพความเป็นทหารมาก แต่ภาพที่ออกมาไม่ได้ย้อนยุค หน้าเขาเป็นอย่างนี้ คนที่อายุมากไม่มีใครอยากให้ตัวเองแก่ อาจจะมองว่าใสๆ หน่อยจะดีไหม แต่ผมก็คิดนะว่าทำไมไม่ทำให้ออกมาเป็นภาพนายกรัฐมนตรีผู้มีความจงรักภักดี เขาคงคุยกันแล้วว่ามาทางนี้ดีกว่า อย่าลืมว่าคนที่ชอบพลังประชารัฐ เขามองว่าประยุทธ์น่ารัก ตลก เพราะคนมันชอบไปแล้ว ความไม่เพอร์เฟ็กต์ทั้งหลายมันน่ารักไปหมด

สิ่งที่สำคัญของเสื้อนอกผู้ชายคือต้องพอดีตัว

ใช่ อย่างคุณสุวัจน์คงตัดมา เขาเป็นคนตัวเล็กและอยู่ในแวดวงธุรกิจ ต้องแต่งตัวอยู่เรื่อยๆ เสื้อนอกนี่ตัดมาแน่เลย เพราะดูพอดีตัว เห็นแล้วนึกถึงคุณชวน แต่คุณสุวัจน์วัยรุ่นกว่า เสื้อนอกชายสั้น มีสอบเข้าตรงเอวนิดหนึ่ง ไม่เหมือนเสื้อนอกลุงๆ ทั่วไป ดูดีเหมาะกับเขาที่เป็นคนตัวเล็กและไม่ค่อยเห็นใส่เสื้อนอกสีดำหรือน้ำเงิน ถ้าไม่ใช่งานทางการ ดูรู้ว่าเขาเป็นคนสนุกกับการแต่งตัว

ที่คนว้าวคือใส่รองเท้า Balenciaga ขึ้นเวทีดีเบต คนคาดไม่ถึงว่านักการเมืองจะใส่

(หัวเราะ) ทำไมคาดไม่ถึง เขามีเงินก็ซื้อได้ เขาอยู่ในแวดวงธุรกิจก็แต่งตัวตามแฟชั่น อะไรที่ว่าดีก็อยากได้ แล้วมันมีหลักอยู่ว่า คนแก่อย่าแต่งตัวให้สมอายุ ต้องพยายามเด็กลงมานิดหนึ่ง ส่วนคนหนุ่มถ้าแต่งลุคคนแก่แล้วจะดูดี เช่น ถ้าสุวัจน์กับธนาธรแต่งตัวสลับกันนี่ก็เสร็จเลย

สุวัจน์ ธนาธร อภิสิทธิ์ The Standard
ภาพที่ 3 (ภาพจาก The Standard)
สุวัจน์ ชาติพัฒนา
ภาพที่ 4 (ภาพจากเฟซบุ๊คเพจพรรคชาติพัฒนา)

สุวัจน์จะมีผ้าเช็ดหน้าที่เสื้อนอกเสมอ

เขาเรียก พ็อกเก็ต สแควร์ เหมือนเป็นการบอกว่าเขาเป็นคนแต่งตัวเป็น เพราะถ้าไม่มีชุดจะดูตัน เป็นการเพิ่มมิติบนเสื้อผ้า เขาเป็นคนพิถีพิถัน อย่างภาพนี้ (ภาพที่ 4) เสื้อพอดีตัว เสื้อนอกเป็นผ้าเซียร์ซัคเกอร์ คือผ้าหน้าร้อน ใส่เดินถนนได้ไม่ร้อน ส่วนเสื้อนอกสีแดงเดาว่าเป็นผ้าลินิน ใส่เดินหาเสียงก็น่าจะไม่เป็นลมตาย

การใส่สูทสีจี๊ดขนาดนี้ในฐานะที่เป็นนักการเมืองมันเวิร์คไหม

ไม่มีอะไรผิด เพียงแต่ว่าไม่เคยมีใครเคยทำ ผมก็ตกใจเหมือนกันตอนเห็นแกใส่สีนี้ ผมว่ามันเวิร์ค แต่จะรู้ว่าเวิร์คหรือไม่เวิร์คก็ต้องไปดูว่าพรรคนี้ได้กี่เสียง (หัวเราะ) แต่มันทำให้คนจำแกได้

มีนักการเมืองคนไหนแต่งตัวจี๊ดแบบนี้อีกไหม

นึกไม่ออก ส่วนใหญ่ก็จะเพลย์เซฟ ใส่เสื้อแจ็คเก็ตหรือเสื้อโปโลของพรรค อย่างเสรีพิศุทธ์ที่เป็นตำรวจ คงรู้สึกสบายที่จะใส่เสื้อโปโล แต่เสื้อโปโลกับเสื้อยืด ถ้าใส่แล้วเห็นพุงก็ไม่ควรใส่

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
ภาพที่ 5 (ภาพจากอินสตาแกรม ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ)

ธนาธรจะมีภาพจำคือเสื้อสีขาวตัวใหญ่กับกางเกงสีน้ำตาลตัวใหญ่

ผมก็คิดว่าทำไมเขาใส่เสื้อไหล่ตก มันดูดียังไง แต่ก็ให้ภาพว่าเขาเป็นคนคล่องแคล่ว ไม่ติดลุคที่เนี้ยบเป็นพระเอกหนังชนิดว่าไหล่พอดี แขนเสื้อพอดี เขาพับแขนเสื้อ แถมเสียบปากกาที่กระเป๋าเสื้อทำเป็นเนิร์ดอีกต่างหาก (หัวเราะ) แล้วกางเกงนี่มีจีบด้วยนะ จีบกางเกงทำให้ใส่สบายขึ้น แต่จะทำให้ดูแก่ แบบว่าไม่ต้องมาพูดเรื่องแฟชั่นกับฉัน เดี๋ยวนี้กางเกงที่มีจีบจะไม่ใช่กางเกงสแล็คคนทำงานแบบนี้ แต่เขาก็ใส่

เคยดูคลิปเปิดตู้เสื้อผ้าธนาธร เปิดมามีเสื้อแบบนี้เต็มเลย เหมือนผู้ชายทั่วไป เวลาเจอเสื้อผ้าถูกใจก็จะซื้อเป็นโหล เพราะผู้ชายขี้เกียจช้อปปิ้งเสื้อผ้า ซึ่งลุคนี้ก็เหมาะกับธนาธรเพราะเป็นคนตัวสูง รูปร่างนักกีฬาใส่อะไรก็ดีหมด แล้วมีเรื่องอายุด้วย

ทั้งที่ดูไม่แฟชั่นเลย แต่คนรุ่นใหม่กรี๊ด ดูรุ่นใหญ่อบอุ่น

เพราะเขามีเงิน หน้าตาดี ตัวใหญ่ สูง กล้ามใหญ่ ไม่รู้ว่าเอาแรงมาจากไหนด้วย ดูกีฬาที่เขาเคยเล่นสิ ดังนั้นก็ต้องแต่งตัวให้ธรรมดา เพื่อไม่ให้ล้นเกินไปกับพลังที่เขามี ผมว่าอย่างนี้ดีแล้ว ลองคิดว่าถ้าใส่อะไรที่แฟชั่นกว่านี้ มันก็ไม่น่าเชื่อถือ ในความเห็นผมการแต่งตัวเป็นนายแบงก์คนแก่อย่างนี้ดี

คนตัวสูงที่ไม่แต่งตัว มักใส่เสื้อดูโคร่งเพราะไม่ได้ตัดมาพอดีตัวหรือเปล่า

ผมว่าคนมีเงินขนาดนี้ หาเสื้อที่ใส่แล้วพอดีตัวทั้งที่ตัวสูงได้ ขนาดของเขาเท่าฝรั่ง แล้วทำไมฝรั่งถึงมีเสื้อที่ใส่แล้วพอดีตัว ผมว่าเขาชอบอย่างนี้มากกว่า อาจจะทำให้คล่องแคล่ว ไม่เกี่ยวกับเรื่องตัวสูง เพราะเขาก็ไม่ได้สูงมาก เสื้อแบรนด์เมืองนอกก็มีปัญญาซื้อได้อยู่แล้ว

เขาเป็นแคนดิเดตที่น่ากลัวมากนะ ทั้งที่เป็นพรรคใหม่ ไม่เคยมีผลงานมาก่อน ดูจากเสียงด่า เพราะด่าขนาดนี้แปลว่ากลัวมาก คนด่าเขาก็มีเหตุผลในการด่าว่าเป็นคนอย่างนั้นอย่างนี้ แต่จะไปด่าเขาอะไรขนาดนั้นวะ (หัวเราะ)

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ภาพที่ 6 (ภาพจากเฟซบุ๊คเพจชัชชาติ สิทธิพันธุ์)

มาดูชัชชาติบ้าง ลุคปกติจะใส่เสื้อเชิ้ตขาว อีกภาคหนึ่งคือชุดออกกำลังกายหรือเสื้อยืดที่ดูทรงพลัง

ที่สุดในปฐพี ชัชชาติก็คล้ายๆ ธนาธรในอีกสิบปีข้างหน้า (หัวเราะ) ไม่ค่อยมีความเห็น แต่ผมชอบรูปที่ชัชชาติใส่เสื้อแขนยาวสีขาว พับแขน เนคไทดำ อันนั้นดูดีสุด ดูเป็นนักการเมือง ดูเป็นคนทำงาน พับแขนแปลว่าทำงาน ถ้าไม่พับแขนแปลว่าไม่ทำงาน (หัวเราะ) การพับแขนทำให้ดูทะมัดทะแมงพร้อมลุย เนคไทก็รู้ว่ามีกฎเกณฑ์ มีระเบียบ มีกาลเทศะ เขาเป็นคนที่ใส่เสื้อดีๆ ผูกเนคไทแล้วดูหล่อ ด้วยความที่ไหล่หนามาก ทั้งที่หน้าไม่ได้หล่อ

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ภาพที่ 6 (ภาพจากเฟซบุ๊คเพจ Abhisit Vejjajiva)

 

แล้วอภิสิทธิ์ล่ะ ดูเป็นลุคที่เซฟหรือเปล่า

เซฟครับ เป็นพื้นเพคอนเซอร์เวทีฟ แต่อย่าลืมว่าตอนที่อภิสิทธิ์ลง ส.ส. ครั้งแรก ประมาณ 20 ปีที่แล้ว มีคนขโมยโปสเตอร์หาเสียงเพราะหล่อ (หัวเราะ) แถวเขตสาทรมีคนขโมยโปสเตอร์แผ่นใหญ่ๆ เหตุผลคือเพราะว่าหล่อ ในสมัยที่เรายังไม่เข้าถึงภาพได้มากมาย โปสเตอร์ก็ขโมยกัน จะมียุคทองของเขาอยู่ เป็นคนพูดจาดี พูดเก่ง มีหลักมีเกณฑ์ แล้วก็คอนเซอร์เวทีฟ

ตอนหลังเสื้อเชิ้ตสีฟ้าอ่อนเป็นแบรนด์ดิ้งที่อภิสิทธิ์ใส่ประจำ

เพราะเป็นสีพรรค และอภิสิทธิ์ใส่สีฟ้าแล้วดีกว่าสีขาว อาจเพราะอ้วนขึ้นด้วย สีจะช่วยได้หน่อยหนึ่ง ส่วนชุดลงพื้นที่เป็นกางเกงยีนส์กับรองเท้าที่ต้องเดินเยอะ ตอนหาเสียงต้องเดินเยอะและเดินเร็ว ส่วนเสื้อถ้าเป็นนิตยสารผู้ชายจะบอกว่าการพับแขนให้หล่อ ต้องพับขึ้นมาเหนือข้อศอก แต่พับแบบคนทำงานจะห้อยลงมาแบบนี้ ถ้าพับขึ้นมาอีกสักสองทบจะดูดีกว่านี้ แต่เขาก็ไม่อยากดูดีขนาดนั้น อยากจะมีภาพเซฟๆ เรียบร้อย เข้าถึงได้

เพื่อไทย คุณหญิงหน่อย
ภาพที่ 7 (ภาพจากเฟซบุ๊คเพจ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์)

ส่วนสุดารัตน์ ดูมีความเป็นคุณครูหรือคุณแม่อยู่

(หัวเราะ) ด้วยแว่นกับผม เขาจะมีแว่นติดหน้าอยู่ตลอดเวลา ชุดนี้ดูมีความเป็นนักการเมืองต่างประเทศมาก นึกถึงรัฐมนตรีหรือนายกฯ ฝรั่งที่จะไม่ใส่สีเดียว เป็นผู้หญิงก็จะแต่งตัวได้มากกว่าพวกผู้ชาย มีสีขาว สีแดง ไม่ใช่แค่สูทดำ สูทดำแปลว่าเธอเป็นลูกน้องฉัน ส่วนหัวหน้าจะแต่งตัวยังไงก็ได้ เหมือนพวกประธานบริษัทที่จะแต่งตัวแปร๊ดอยู่คนเดียวในบริษัท เต็มที่อยู่คนเดียว คนอื่นไม่กล้า

เทียบกับสุดารัตน์ยุคไทยรักไทยแล้วแตกต่างจากเดิมไหม

ผมว่าอันนี้ดีขึ้น เหมือนศึกษานักการเมืองฝรั่งมา มีเสื้อนอก เสื้อตัวใน และกระโปรง เป็นเสื้อผ้าที่ทำงานในฐานะนักการเมืองได้ดีกว่าชุดเดรสที่ใส่เมื่อก่อน ซึ่งจะดูแปลกๆ ไม่ค่อยเป็นนักการเมือง

พูดถึงนักการเมืองหญิง มองการแต่งตัวของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ผ่านมายังไง

นึกไม่ค่อยออก แต่เขาแต่งตัวเหมือนนักธุรกิจมากกว่านักการเมือง มีความติดแบรนด์ อยากสวย เพราะฉันเป็นคนหน้าตาดี เห็นการแต่งตัวแล้วไม่ได้ให้ความรู้สึกว่าเขาคิดว่าตัวเองเป็นนักการเมือง แต่คิดว่าตัวเองเป็นชินวัตร เวลาแต่งตัวเขาไม่เล่นบทบาทนักการเมืองเลยนะ อยากแต่งอะไรก็แต่ง ดูเป็นเจ้าของบริษัท แวดวงการเมืองกับธุรกิจไม่ค่อยเหมือนกัน มีบางครั้งที่เขาแต่งตัวเรียบร้อย แล้ววันนั้นดูดีดูฉลาดขึ้นเยอะ เคยเห็นเขาใส่เสื้อนอกดำ ดูมีแบรนด์ ก็ดูดีเชียว แล้วไม่พูดอะไรเลย ดูดีมาก

มองสนามการเลือกตั้งครั้งนี้ นักการเมืองคนไหนแต่งตัวดีสุด

ถ้ามองในแง่ว่า แต่งตัวตรงกับแบรนด์ที่ตัวเองอยากจะนำเสนอ ก็มีหลายคน ไม่มีใครนำใคร อย่างสุวัจน์ดูดีนะ แต่แบรนด์ของพรรคชาติพัฒนามันใช่อย่างนั้นเหรอ ภาพที่ฉายออกไปตรงกับพรรคหรือตรงกับ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ เฉยๆ อันนี้ถือว่าลุคดีแต่การสื่อสารอาจจะไม่ค่อยได้

ถ้าเป็นธนาธรถือว่าตรงกับอนาคตใหม่ ที่จะมีนอกกรอบนิดหนึ่ง ภาพพจน์กระฉับกระเฉง มีพลัง มีอนาคต ดูแล้วมันใช่ และเป็นตัวเขาเอง เชื่อว่าถึงไม่ได้ลงการเมืองเขาก็แต่งตัวอย่างนี้

อย่างประยุทธ์ ผมก็ดูเขามานานแล้ว เวลาผูกเนคไทใส่เสื้อนอก จะสะดุดตากับ tie clip บังเอิญตอนนั้นเป็นช่วงงานพระบรมศพ ทุกคนใส่สีดำหมด ก็แอบเห็นความชอบแต่งตัวของเขาที่จะมีเสื้อเชิ้ตสีขาวธรรมดา เสื้อนอกสีดำ เนคไทสีดำ กางเกงดำ แล้วมี tie clip อันเล็กๆ เหน็บอยู่ เพิ่มลูกเล่นให้ดูแล้วไม่ใช่แค่ดำขาว มีหน้าที่คล้ายพ็อกเกต สแควร์ของสุวัจน์ แต่อย่างประยุทธ์จะมาใส่พ็อกเกต สแควร์ก็คงไม่ใช่ เพราะมันดูช่างแต่งตัว ขัดกับความเป็นทหาร ฉะนั้นจึงเป็น tie clip ซึ่งเป็นเครื่องประดับที่คอนเซอร์เวทีฟ หนีบเนคไทอย่างนี้ ผมมองว่าเขาช่างแต่งตัว

ดังนั้นที่มีคนบอกว่าภาพชุดที่ถ่ายในสตูดิโอล่าสุด ไม่ใช่ลุคประยุทธ์ ผมอยากเถียงว่าอาจจะใช่ก็ได้เพียงแต่เราไม่เคยเห็น เพราะดูแล้วไม่ใช่คนชนิดที่ว่าเสื้อตัวกางเกงตัว มีอะไรก็ใส่ แต่มีความตั้งใจในการแต่งตัวเหมือนกัน ยกเว้นเสื้อวอร์มชุดนั้น (หัวเราะ)

หรือว่าภรรยาจัดให้

เป็นไปได้ เพราะภรรยาเป็นคนแต่งตัวดีมาก ภรรยาเขาก็น่าสนใจ

แสดงว่าการแต่งตัวที่ดีของนักการเมือง ไม่จำเป็นต้องเป็นเสื้อผ้าที่คัดสรรมาเป๊ะ

มันไม่เหมือนการแต่งตัวหล่อไปออกงานหรือไปจีบผู้หญิง แต่เป็นการสื่อสารในฐานะที่เป็นแบรนด์ เป็นผู้นำพรรค ต้องดูว่าแต่งตัวรับกับภาพพจน์ของแบรนด์หรือพรรคแค่ไหน เช่น อภิสิทธิ์แต่งตัวเซฟๆ เหมาะกับพรรคเซฟๆ อย่างประชาธิปัตย์ (หัวเราะ) แต่คนก็ยังเลือกอยู่นะ

ถ้ามองเรื่องการสื่อสารของแบรนด์อย่างป้ายหาเสียง พรรคไหนทำได้ดี

พรรคใหญ่สามพรรคทำได้ดี เฉพาะป้ายที่เห็นในกรุงเทพฯ นะ เพราะไม่ได้ไปต่างจังหวัด พรรคสีส้มสื่อสารออกมาได้แตกต่าง เห็นปั๊บก็รู้ว่าใช่และไม่เละเทะ เห็นสีส้มแล้วจำได้ พรรคพลังประชารัฐก็ดี มีเอกภาพ แต่ที่ดีที่สุดน่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย แต่ไม่ใช่ของใหม่ เพราะพรรคเพื่อไทยใช้บริษัท SC Matchbox ออกแบบ จะได้กราฟิกที่เรียบ ง่าย ตรง สื่อสาร และมีเอกภาพ เป็นพรรคแรกที่รู้สึกว่า ป้ายหาเสียงแม่งสวยว่ะ ธรรมดาป้ายหาเสียงนี่จะ…(ถอนหายใจ) ทำกันออกมาเหมือนไม่คิด

ผมว่าพรรคเพื่อไทยหรือทางทักษิณ ชินวัตร เป็นคนแรกที่ลงทุนและตั้งใจกับการสื่อสารผ่านสื่อที่มีอยู่ ส่วนประชาธิปัตย์ก็เหมือนเดิม ไม่ได้ดีขึ้น แต่สีสวยขึ้น

 

ป้ายหาเสียงส่วนใหญ่จะดูรก ดูเยอะๆ ใช่ไหม

ส่วนใหญ่จะเยอะ ยิ่งตอนนี้ต้องมีทั้งหัวหน้าพรรค ผู้สมัครที่ลงในพื้นที่ มีเบอร์มาติดทีหลัง โอ๊ย…แย่ บางอันติดเบอร์เหมือนสติ๊กเกอร์คำผิดเพราะได้เบอร์ทีหลัง เบอร์ในแต่ละพื้นที่ก็ไม่เหมือนกัน อะไรก็ไม่รู้

มองการเลือกตั้งครั้งนี้แตกต่างจากเมื่อก่อนไหม ทั้งรูปแบบการหาเสียง วิธีการสื่อสาร

อึดอัด เมื่อก่อนไม่อึดอัดขนาดนี้ อาจจะเป็นเพราะเรากำลังจะผ่องถ่ายจากการปกครองที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยมาเป็นประชาธิปไตย แล้วเขาก็วางกรอบไว้เยอะแยะ ในยุคที่เราชุมนุมก็ไม่ได้ ออกไปพูดจาอะไรก็ต้องระวังปาก เขาก็เชือดไก่ให้ลิงดูตลอดเวลา มันอึดอัด แต่ก็น่าสนใจ เพราะในการเลือกตั้งอาจมีทั้งคนที่อยากเลือกตั้งมากกับคนที่คิดว่าจะเลือกไปทำไม ซึ่งผมคิดว่าควรจะมี เพราะเราไม่ได้เลือกตั้งมานานแล้ว มันอาจไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด แต่เป็นสิ่งที่บอกว่าเราก็มีเสียงอยู่บ้างในประเทศนี้ แต่ก็ไม่ลุ้น เพราะเห็นๆ อยู่

คุณเขียนถึงเรื่องมารยาททางสังคมค่อนข้างมาก คิดว่าเรื่องมารยาททางการเมืองที่ผ่านมา เช่น การสาดโคลนป้ายสี มีผลให้คนบางส่วนเกลียดนักการเมืองและมีภาพจำที่แย่ไหม

ตอนนี้เรื่องการสาดโคลน การป้ายสี ไม่ได้กระทำผ่านปากนักการเมืองแล้วออกไปบนพื้นที่สื่อ แต่มันอยู่ในนี้ (ชี้คอมพิวเตอร์) ไม่รู้ว่าเป็นใครมาจากไหนก็ล่อกันเละไปหมด หรืออย่างเรื่องเพจ SaveThanatorn ทำให้นึกถึงสมัยผมหนุ่มๆ ประมาณ 30 ปีที่แล้ว สมัยนั้นยังไม่มีสื่อออนไลน์ สถานที่ใช้ปล่อยข่าวลือก็คืองานศพ คนไปนั่งแล้วทำอะไรดีหว่า ก็คุยกันเสียงดังเชียว แล้วถ้าใครพูดอะไรจะชัดมากเพราะบรรยากาศมันเงียบ กอ.รมน. หรือหน่วยข่าวกรองของรัฐบาลจะส่งคนไปปล่อยข่าวลือที่งานศพ แล้วก็แพร่ข่าวลือกันไป เหมือนวิธีที่เพจ SaveThanatorn ใช้ มาบอกว่าเราไม่สนับสนุนแล้วนะ คนก็แชร์กันถล่มทลาย พอมีคนมาบอกเจ้าของโพสต์ที่แชร์ต่อกันมาว่าไม่ใช่ เขาก็เฉยๆ ไม่ใช้เหตุผล เพราะฉันต้องการชนะ ต้องการความสะใจ เป็นยุคที่เต็มไปด้วยอารมณ์มากๆ เลย

ในอนาคตถ้าอยากเห็นมารยาททางการเมืองที่ดีขึ้น ควรจะเป็นยังไง

นักการเมืองต้องทำตัวเป็นตัวอย่าง บังเอิญว่าเรามีผู้บริหารประเทศที่ไม่ได้มีความเด่นเรื่องการพูดจา พูดไม่น่าฟัง คุณชายที่ชอบผูกหูกระต่าย (ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล) บอกว่าประยุทธ์ทำงานไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ ข้อสุดท้ายบอกว่าเป็นคนชอบพูดรวบคำ (หัวเราะ) เขาเป็นคนพูดเร็ว แล้วพูดอย่างนี้หูเราจะไม่อยากฟัง ไม่ใช่เพราะเราไม่ชอบ แต่เสียงรวบๆ มันไม่น่าฟัง

ผมคิดว่าเพราะการนำเสนอด้วย ทุกคนเป็นเหยื่ออันโอชะของสื่อที่อยากจะย้ำด้านลบ เพราะเป็นคนที่พูดไม่คิด เขาถามอะไรมาก็ตอบ ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ พูดจาไม่น่าฟัง ไม่รู้กาลเทศะ ไม่มีใครเตือนกันบ้างหรือไง (หัวเราะ) แล้วคำพูดนั้นพอเอามาตัดต่อให้ไม่ดีก็ทำง่ายมาก ผมไม่ได้บอกว่าเขาพูดจาดีหรือไม่ดี เหมือนได้สัก 6-7 คะแนนแต่พอผ่านการตัดต่อหรือเลือกพาดหัวข่าวมันๆ ก็จะกลายเป็นลบได้ง่ายมาก เพราะก่อนหน้านี้นักการเมืองก็จะพูดจาเป็นนักการเมือง แต่คนเหล่านี้พูดเหมือนนายทหารพูดอยู่หน้าแถวหรือเหมือนนายสิบกำลังแซว รด. ไม่คิดว่าพูดไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ถามมาตอบไป “มีไรอีกไหม!”

สิ่งที่คนในแวดวงการเมืองพูดนั้นสำคัญจึงต้องคิดก่อนพูด และต้องมีลีลาหรือใช้โวหารในการพูด อาจไม่ต้องถึงระดับพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นนายของภาษาจนเราไม่แน่ใจว่าเนื้อมีแค่ไหน (หัวเราะ) แต่ต้องพูดจาให้สมกับเป็นผู้บริหารประเทศ ที่ผ่านมามันไม่ใช่ หวังว่าใครก็ตามที่มาใหม่จะเป็นตัวอย่างที่ดีกว่านี้ได้

ประยุทธ์ สูท
ภาพที่ 8

ที่ผ่านมาเขาไม่ต้องแคร์ประชาชนหรือเปล่าเลยพูดแบบนั้น แต่พอใกล้เลือกตั้งเลยต้องยิ้มหวาน

เขาคงมีโค้ชบอกว่า ท่านต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้บ้างนะครับ ไม่นานหรอกครับ 2-3 อาทิตย์เท่านั้น แล้วอยากทำอะไรก็ทำ แต่ผมไม่เคยเห็นรูปยิ้มหวานแบบนี้นะ

อยู่ดีๆ มายิ้มหวาน มันได้ผลไหม

ตกใจ! สมมติเรามีพี่เลี้ยงสองคน คนหนึ่งใจดีกับคนหนึ่งดุมากๆ แล้วอยู่ดีๆ คนที่ดุก็มาพูดว่า “ยังไงลูก วันนี้กินอะไรแล้วยัง” โห…น่ากลัวนะครับ แต่คนที่ชอบอยู่แล้ว เขาก็จะชอบแบบนี้ การสื่อสารโดยทั่วไปเวลาเราขายโฆษณา ก็อยากสื่อไปยังกลุ่มที่เราต้องการ ครั้งนี้ดูเหมือนว่าเขาต้องการสื่อสารกับคนที่เป็นพวกเขา มากกว่าคนที่ไม่ใช่พวกเขา

ภาพลักษณ์แบบหน้าดุ โผงผาง จะถูกใช้เป็นแคมเปญหาเสียงบ้างได้ไหม 

ผมคิดว่ามีเหตุผลว่าทำไมประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ไปดีเบต เพราะวงแตกแน่ เขาไม่ใช่คนที่จะมาดีเบตกับใคร ฟังฉันสิ ฉันจะไม่ฟังแกและฉันจะไม่ตอบ ก็ถูกต้องแล้วที่ไม่ไปดีเบตเพราะถ้าไปก็เหมือนฆ่าตัวตาย ส่วนแคมเปญนี้เป็นแคมเปญที่มีแต่ภาพแล้วไปคิดเอาเอง อาจจะมีพลังทางจิตมากกว่าความตั้งใจหรือการคิดให้ออกมาในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง

กรณีอเมริกาล่าสุดมี ส.ส. หญิงอย่าง อเล็กซานเดรีย โอคาซิโอ-คอร์เตซ ที่เป็นตัวของตัวเองเต็มที่ มองกลับมาที่ตัวละครในการเมืองไทย มักจะไม่กล้าเป็นตัวของตัวเอง แต่จะเห็นความพลิ้วนำไปก่อนเพื่อรักษาอะไรบางอย่าง

ความพลิ้วก็เป็นชั้นเชิงทางการเมือง และวัฒนธรรมการเมืองไทยไม่มีโอกาสได้เติบโต มาๆ แล้วก็หยุด โงหัวขึ้นใหม่แล้วก็หยุด ของอย่างนี้ต้องสะสมมาเป็นร้อยปีกว่าจะมาถึงทุกวันนี้ เพราะเมื่อก่อนการเมืองอเมริกาหรืออังกฤษก็เน่าจะตาย เขาสะสมมานานจนมีโอกาสที่จะโต แต่การเมืองเราไม่ได้โตสักที ถ้าปล่อยให้การเมืองได้เดินหน้าไปเรื่อยๆ น่าจะดีกว่านี้

ผมมองถึงช่วงที่มีบรรยากาศประชาธิปไตยมากๆ อย่างยุคทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้บอกว่าตัวเขาเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ แต่มีบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนฟาดฟันที่ตรงกว่ายุคอื่นๆ แล้วประชาชนก็รับรู้ข่าวสารทั้งที่ไม่มีโซเชียลมีเดีย มีแต่ช่องทีวีของใครของมัน มันกว่าตอนนี้เยอะ

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save