fbpx

อ่านโจทย์เมืองใหม่ เมื่อคนไทยต้องอยู่บนตึกสูง (มากขึ้น) กับ ภัณฑิรา จูละยานนท์

ภาพคอนโดฯ สูงเทียมฟ้าในย่านใจกลางเมืองที่มีคนพลุกพล่าน มีรางรถไฟฟ้าแล่นผ่านหน้าเป็นระยะๆ คงเป็นภาพคุ้นชินสำหรับใครหลายคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ หรือถ้าขยับไปมองหัวเมืองใหญ่ในประเทศไทย ภาพของคอนโดฯ ที่ทยอยผุดขึ้นเรื่อยๆ เคียงคู่ตึกแถวหรือบ้านจัดสรรแบบเก่าก็กลายเป็นภาพที่เริ่มเห็นกันจนชินตา

ถ้าพูดให้ชัดขึ้น เรากำลังเปลี่ยนแปลงจากการอยู่อาศัยใน ‘แนวราบ’ ไปสู่ ‘แนวตั้ง’ มากขึ้น เพราะหลายทศวรรษมาแล้วที่เราเริ่มเห็นผู้คนย้ายจากการอยู่ในอาคารติดถนน/ในซอยหรือหมู่บ้านจัดสรร ไปสู่การอยู่อาศัยบนตึกสูงที่มีพื้นที่ลดลงแต่จุคนได้มากขึ้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเรื่องความสะดวกในการเดินทาง ลักษณะการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป หรือแม้กระทั่งการที่หัวเมืองใหญ่ได้รับขนานนามว่าเป็นเมืองแห่งโอกาส ทำให้ทั้งคอนโดฯ รวมถึงแฟลตหรือหอพักสูง กลายมาเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่อยู่อาศัยสำหรับคนในเมือง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่ราคาที่ดินและที่อยู่อาศัยสูงจนน่าใจหาย

มองมุมหนึ่ง การอยู่อาศัยแบบแนวตั้งเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ทั่วโลก ควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการกลายเป็นเมือง (urbanization) มากขึ้น แต่อีกด้านหนึ่ง เราต้องไม่ลืมว่าเมื่อเราพูดถึง ‘ที่อยู่อาศัย’ เราไม่ได้พูดถึงแค่เทรนด์หรืออาคารสูงที่จุผู้คนจำนวนมากเอาไว้ แต่เรายังหมายรวมถึงชีวิตของผู้คนจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในอาคารนั้น ซึ่งต่างก็เป็น ‘คนเมือง’ ที่ประกอบกันเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ในการพัฒนาและขับเคลื่อนเมือง เป็นทั้งผู้ร่วมพัฒนาและได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเมืองเช่นเดียวกัน การที่ลักษณะการอยู่อาศัยเปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้จึงย่อมกระทบกับวิถีชีวิตของพวกเขา ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

คำถามสำคัญจึงอยู่ตรงนี้ เมื่อที่อยู่อาศัยไม่ใช่แค่สถานที่ แต่เหมือนจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยกำหนดรูปแบบวิถีชีวิตของผู้อยู่อาศัย การเปลี่ยนที่อยู่อาศัยเป็นแนวตั้งมากขึ้นจะส่งผลกระทบกับคนกลุ่มต่างๆ ในเมืองอย่างไร และถ้ามองในทางกลับกัน รูปแบบการอยู่อาศัยเช่นนี้จะส่งผลกับเมืองอย่างไร

101 สนทนากับ ภัณฑิรา จูละยานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิจัยในโครงการวิจัยคนเมือง 4.0 อนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทย (Urbanites 4.0: The Futures of Thai Urban Life) โครงการย่อยที่ 2-1 การอยู่อาศัยในเมือง ไล่เรียงตั้งแต่ทิศทางการอยู่อาศัยของคนเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป วิถีชีวิตของคนแต่ละกลุ่มที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในคอนโดฯ หรือตึกสูง ไปจนถึงโจทย์ชวนขบคิดเรื่องเมืองในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้านี้

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ลักษณะการอยู่อาศัยและที่อยู่อาศัยของคนไทย โดยเฉพาะคนเมือง สะท้อนหรือสอดคล้องไปกับบริบทของเมืองและสภาพสังคม ณ ขณะนั้นอย่างไร 

ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจวิถีการทำมาหากินของคนในแต่ละยุค ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดลักษณะการสร้างที่อยู่อาศัยและการตั้งถิ่นฐานก่อน ในสมัยที่มนุษย์ยังทำมาหากินแบบเร่ร่อน เก็บของป่าล่าสัตว์และเดินทางไปเรื่อยๆ การสร้างที่อยู่อาศัยก็จะไม่ได้ถาวรนัก เป็นเพียงเพิงที่ประกอบขึ้นมาบังแดดลมฝนง่ายๆ พร้อมเคลื่อนย้ายตลอดเวลา แต่พอเราเปลี่ยนเป็นสังคมเกษตรกรรม คนก็เริ่มอยู่อาศัย ณ ที่ใดที่หนึ่งเป็นระยะเวลานานขึ้น บ้านจึงต้องเริ่มมีพื้นที่สำหรับเก็บข้าวของและผลผลิตทางการเกษตร คือมีพื้นที่ (space) ที่ซับซ้อนขึ้น 

นอกจากนี้ การทำมาหากินที่ค่อยๆ เปลี่ยนรูปแบบไปสู่การแบ่งงานกันทำ (division of labor) ทำให้พื้นที่ของบ้านและเมืองเปลี่ยนไป ถ้าพูดให้ชัดขึ้น พื้นที่ของงานถูกดึงออกจากบ้านไปไว้ตามสถานที่ต่างๆ ในเมือง เช่น ตลาด ออฟฟิศ โรงงาน ฯลฯ บ้านก็ค่อยๆ เปลี่ยนรูปแบบพื้นที่ให้เรียบง่ายขึ้น ซึ่งก็น่าสนใจที่ว่าสถานการณ์ตอนนี้กลายเป็นการดึงเอาพื้นที่ของงานกลับมาไว้ที่บ้านอีกครั้ง ในยุคที่พื้นที่ของบ้านถูกลดทอนฟังก์ชันเพื่อ ‘งาน’ ออกไปแล้ว บ้านจึงตอบโจทย์การทำมาหากินได้ในบางรูปแบบเท่านั้น

สำหรับกรุงเทพฯ เอง เราก็เห็นความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบของงานกับลักษณะบ้านแบบนี้เหมือนกัน ตัวอย่างที่ชัดก็อาจจะเป็นตึกแถว ที่มักทำหน้าที่เป็นทั้งบ้านและที่ทำงานของคนเมืองที่ประกอบอาชีพค้าขายมาตั้งแต่อดีต แต่พองานกับบ้านเริ่มแยกตัวออกจากกันมากขึ้น มีคนทำงานในออฟฟิศมากขึ้น ทำให้เริ่มมีกลุ่มคนที่อาจจะไม่ต้องใช้พื้นที่บ้านทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับงาน พวกเขาก็อาจจะเลือกอยู่บ้านในรูปแบบที่ต่างออกไปได้ เช่น ทาวน์เฮาส์ บ้านจัดสรร หรือคอนโดฯ

นอกจากเรื่องงานแล้วยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงลักษณะการอยู่อาศัยของคนเมือง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยีการก่อสร้างที่ทำให้เราสร้างอาคารได้สูงขึ้น วิถีการเดินทางที่เปลี่ยนไป หรือการพยายามปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์เมืองตามกระแสโลกในแต่ละยุค ก็ทำให้การสร้างที่อยู่อาศัยเปลี่ยนแปลงตามไปด้วยเหมือนกัน

ทั้งนี้ จุดเปลี่ยนสำคัญของการอยู่อาศัยของคนไทยคือช่วงที่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรก ในปี 2504 ส่งผลให้กรุงเทพฯ มีการพัฒนาและเริ่มขยายตัวอย่างรวดเร็ว (urbanization) จนกลายเป็นแหล่งงานขนาดใหญ่ที่ดึงดูดคนจากต่างจังหวัดเข้ามา ความต้องการที่อยู่อาศัยก็เพิ่มสูงขึ้นไปด้วย ในยุคนั้น เรายังเน้นการสร้างตึกแถวหรือบ้านจัดสรรเป็นหลัก นอกจากนี้ ผู้คนก็เริ่มมีรถยนต์ส่วนตัวมากขึ้นทำให้เดินทางได้ไกลขึ้นในแต่ละวัน บ้านกับแหล่งงานไม่จำเป็นต้องอยู่ที่เดียวกันแบบในยุคก่อน ส่งผลให้เกิดการสร้างที่อยู่อาศัยชานเมืองจนเมืองค่อยๆ ขยายตัวออกไปในแนวราบ

ในขณะเดียวกัน สิ่งที่ตามมาเมื่อเมืองขยายตัว ซึ่งเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกก็ต้องเคยเจอเหมือนกันคือการเกิดชุมชนแออัดขึ้นในเมือง ซึ่งชี้ให้เห็นปัญหาว่าพอคนเข้ามาในเมืองเยอะ แต่เมืองไม่มีการจัดการที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับคนที่มีรายได้หลากหลายได้อย่างเป็นระบบ ก็ทำให้คนเมืองส่วนหนึ่งต้องอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อคุณภาพชีวิตที่ดี ภาครัฐจึงต้องเริ่มออกนโยบายมาแก้ไขปัญหา หนึ่งในนั้นก็คือการสร้างแฟลตให้ผู้ที่เคยอยู่ในชุมชนแออัด ทำให้เริ่มมีการอยู่อาศัยแนวตั้งที่แต่ละบ้านอยู่แบบซ้อนกันขึ้นไป 4-5 ชั้น และการอยู่อาศัยแนวตั้งในเมืองก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเมื่อมีรถไฟฟ้าเกิดขึ้น การพัฒนาที่อยู่อาศัยประเภทนี้ก็พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาไม่กี่ปี

ตรงนี้สะท้อนให้เห็นแล้วว่าปัจจัยเชิงนโยบายเริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องและเปลี่ยนลักษณะการอยู่อาศัยของผู้คน จาก ‘แนวราบ’ เป็น ‘แนวตั้ง’ มากขึ้น ประกอบกับกฎหมายใหม่ๆ หรือเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในการก่อสร้างทำให้สร้างอาคารสูงขึ้นไปได้อีก ที่อยู่อาศัยแนวตั้งจึงเริ่มแพร่หลายเข้าสู่ชีวิตคนเมืองมากขึ้น รวมถึงโครงสร้างครอบครัวที่เคยอยู่รวมกันแบบครอบครัวขยาย ก็ค่อยๆ กลายเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น ที่อยู่อาศัยที่มารองรับก็มีขนาดเล็กลงตาม

ลักษณะที่อยู่อาศัยที่เปลี่ยนจากแนวราบเป็นแนวตั้งมากขึ้นเกิดขึ้นเฉพาะในกรุงเทพฯ หรือกลายเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก

จริงๆ ปรากฏการณ์นี้เกิดกับทุกเมืองใหญ่ๆ ในโลกอยู่แล้ว แต่อาจจะเริ่มต้นในช่วงเวลาที่ต่างกัน เพราะเมืองใหญ่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ดึงดูดคนเข้ามาเยอะ แต่มีที่ดินจำกัด จึงต้องใช้ประโยชน์จากที่ดินให้คุ้มค่าที่สุด การอยู่อาศัยแนวตั้งก็เกิดมาเพื่อแก้โจทย์นี้ อย่างเมืองใหญ่ๆ ระดับซูเปอร์สตาร์ เช่น นิวยอร์กหรือลอนดอน คนก็จะอยู่อาศัยแนวตั้งประมาณหนึ่งอยู่แล้ว ส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีสิงคโปร์ ซึ่งผู้คนอยู่อาศัยในที่อยู่อาศัยแนวตั้งมานานแล้ว แต่ในเวียดนามหรือกัมพูชาก็เริ่มมีการพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวตั้งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีมานี้เหมือนกัน ซึ่งก็เกิดจากปัจจัยที่คล้ายๆ กับกรุงเทพฯ คือเริ่มมีแผนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนและการเชื่อมโยงกับจีนและประเทศอื่นๆ แถบเอเชียตะวันออกที่ดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในเมืองนั้น ซึ่งที่ซื้อง่ายขายคล่องที่สุดก็คงเป็นคอนโดฯ แต่สถานการณ์โควิด-19 จะทำให้เรื่องเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหนในอนาคตก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน เพราะการสร้างที่อยู่อาศัยแนวตั้งในเมืองใหญ่ๆ ก็มักจะสัมพันธ์กับการเข้ามาของทุนต่างชาติด้วย

ถ้ากลับมามองในประเทศไทย นอกจากกรุงเทพฯ แล้ว เราเห็นลักษณะที่คล้ายกันนี้เกิดขึ้นในหัวเมืองใหญ่บ้างไหม

ตอนนี้เรากำลังศึกษาเรื่องอนาคตการอยู่อาศัยในเมืองหลัก ซึ่งศึกษาเมืองเชียงใหม่ ขอนแก่น และหาดใหญ่-สงขลา ซึ่งก็เห็นปรากฏการณ์ที่คล้ายกันคือการพัฒนาคอนโดฯ ในแต่ละเมือง อย่างในเชียงใหม่จะมีจำนวนเยอะมากเมื่อเทียบกับอีกสองเมือง แต่เราก็คิดว่าท้ายที่สุดในเมืองหลักคงไม่ได้มีการพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวตั้งในสัดส่วนที่เยอะเท่ากับกรุงเทพฯ เมื่อเทียบกับที่อยู่อาศัยที่เป็นแนวราบ

สาเหตุที่เชียงใหม่มีคอนโดฯ เยอะที่สุด ส่วนหนึ่งก็ค่อนข้างเกี่ยวกับเศรษฐกิจและทรัพยากรการท่องเที่ยวที่สามารถดึงดูดทุนต่างชาติให้เข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้มากกว่า เพราะจริงๆ คอนโดฯ ไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัยสำหรับนักลงทุน แต่เป็นเหมือนสมุดบัญชีดอกเบี้ยสูงของคนต่างชาติที่เอาเงินลงซื้อไว้รอทำกำไร ซึ่งแต่ละเมืองที่ไม่ใช่กรุงเทพฯ ก็มีศักยภาพในการดึงทุนต่างชาติให้เข้ามาไม่เท่ากัน

อย่างไรก็ดี เราเห็นจุดร่วมกันของกรุงเทพฯ กับหัวเมืองใหญ่คือ คนรุ่นใหม่มีค่านิยมในการเลือกที่อยู่อาศัยเปลี่ยนไปจากรุ่นก่อนๆ พวกเขาไม่ได้คิดว่าต้องซื้อบ้านพร้อมที่ดินเหมือนคนรุ่นก่อน ทั้งยังมองว่าการเช่าคอนโดฯ แล้วเปลี่ยนไปเรื่อยๆ คือความอิสระในชีวิต และลดภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ต้องเกิดขึ้นหากซื้อบ้าน หรือหลายคนค่อนข้างจะมีภาพเชิงบวกกับการอยู่คอนโดฯ มากกว่า ซึ่งมุมมองที่เปลี่ยนไปของคนอีกเจเนอเรชันหนึ่งก็น่าจะทำให้ที่อยู่อาศัยที่คนเมืองต้องการในอนาคตต่างไปจากในอดีตอยู่มากพอสมควร

แสดงว่าทุนจากต่างชาติเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดกระแสการอยู่อาศัยในแนวตั้งด้วย

ใช่ค่ะ สิ่งนี้ไปส่งผลต่อราคาที่ดินและความคุ้มค่าในการลงทุนของต่างชาติด้วย ในงานเราใช้คำว่า ‘โลกาภิวัตน์ของอสังหาริมทรัพย์’ (globalization of real estate) คือการที่ที่อยู่อาศัยที่ตั้งอยู่ ณ กรุงเทพฯ นี้เป็นสินทรัพย์ของเมืองนี้ (local asset) และของโลก (global asset) ไปพร้อมๆ กัน หมายถึงว่าคนที่ซื้อคอนโดฯ ห้องหนึ่งกลางกรุงเทพฯ อาจจะไม่ใช่คนที่อยู่เมืองนี้ แต่อยู่ที่ไหนก็ได้ในโลก และไม่ได้ซื้อเพื่อจะอยู่เอง แต่ซื้อไว้เพื่อการลงทุนทั้งโดยปล่อยเช่าหรือรอขายเก็งกำไร ที่ดินที่อยู่ในทำเลดีจึงจำเป็นต้องสร้างที่อยู่อาศัยบนนั้นให้ได้มากที่สุดเพื่อเพิ่มโอกาสในการลงทุน และเมื่อห้องคอนโดฯ เหล่านี้กลายเป็นสินค้าเพื่อการลงทุนไม่ใช่เพื่ออยู่อาศัย ห้องที่คับแคบก็อาจจะไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ผู้ลงทุนเลือกซื้อหรือไม่ซื้อมากขนาดนั้น เพราะเขาไม่ได้จะมาใช้ชีวิตทุกวันในนั้นอยู่แล้ว ทำให้คนทำงานที่ต้องการที่อยู่อาศัยเพื่ออยู่จริงๆ ในกรุงเทพฯ ต้องเลือกเช่าหรือซื้อห้องแคบๆ ที่เป็นผลจากแรงกดดันเหล่านี้

ถ้าย้อนกลับไปในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 ตอนนั้นไทยฟองสบู่แตก วงการอสังหาริมทรัพย์เดือดร้อนกันมากจนภาครัฐมีนโยบายเพิ่มสัดส่วนการถือครองที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดฯ ให้คนต่างชาติเป็น 49% เพราะมองว่าการขายอสังหาริมทรัพย์ได้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นตัว นี่ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ราคาคอนโดฯ ดีดสูงขึ้นและทำให้คนไทยที่ทำงานในเมืองเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ยากขึ้น แต่อย่างที่บอกไปแล้วว่า เราเห็นปรากฏการณ์แบบนี้กับเมืองทั่วโลก ซึ่งแต่ละเมืองก็จะต้องมีนโยบายอีกชุดที่มาคู่ขนานกับการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยอสังหาริมทรัพย์ คือนโยบายที่ทำให้ผู้คนในเมืองยังสามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพได้

ประเด็นที่น่าสนใจคือ การที่ทุนต่างชาติจะเลือกซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เมืองไหน ก็แฝงประเด็นที่ว่าเขามองเรื่องทรัพยากรที่จะได้จากเมืองนั้นด้วย อย่างหลายเมืองในไทยถูกมองว่ามีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว หากลงทุนในคอนโดฯ ก็จะมีโอกาสปล่อยเช่าในรูปแบบต่างๆ ได้ แต่ปัจจัยนี้ก็นำไปสู่คำถามว่า ถ้าหลังโควิดแล้วการท่องเที่ยวเราไม่ได้กลับมาที่จุดเดิม ตรงนี้จะส่งผลต่อที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ หรือเมืองอื่นๆ ในประเทศอย่างไรต่อไป

ในงานวิจัย คนเมือง 4.0: อนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทย โครงการย่อยที่ 2-1 – การอยู่อาศัยในเมือง คุณระบุภาพอนาคตทางเลือกไว้ 4 รูปแบบ (รังไหมในชั้นคอนกรีต โพรงนกฮูกในป่าดิบ เหล่ากระต่ายในถ้ำใต้ทะเลทราย และเมืองนกกระจาบ) อยากชวนคุณคุยว่าลักษณะเหล่านี้เป็นมาอย่างไร และสะท้อนลักษณะของเมืองรวมถึงผู้อยู่อาศัยอย่างไร

เราต้องอธิบายก่อนว่า ขั้นตอนของงานวิจัยคือการมองภาพอนาคตและวิธีการสำคัญของมัน คือเราต้องรวบรวมว่าปัจจัยใดที่สามารถเข้ามาเปลี่ยนแปลงอนาคตได้บ้าง แล้วจึงนำปัจจัยที่พบมาประมวลเพื่อมองภาพอนาคตของการอยู่อาศัย ซึ่งก็มีวิธีสร้างภาพอนาคตได้หลายแบบ แบบแรกเป็นอนาคตที่เรียกว่า ‘อนาคตฐาน’ (baseline future) เป็นภาพอนาคตที่สะท้อนว่าปัจจัยที่เราสนใจในวันนี้มีแนวโน้มอย่างไร วันหน้าแนวโน้มของมันก็จะเป็นไปตามนั้น เราพอคาดเดาได้ว่าจะเป็นอย่างไร เช่น เรื่องสังคมสูงวัย (aging society) เป็นปัจจัยกลุ่มที่เราเห็นแนวโน้มชัดว่าจะเกิดขึ้นกับเมืองไทยแน่ๆ แล้วเอามาเป็นปัจจัยหนึ่งในการสร้างอนาคตฐาน เช่น จะมีภาพผู้สูงอายุอาศัยอยู่คนเดียวในห้องคอนโดฯ เก่าๆ แคบๆ

ส่วนทางเลือก 4 รูปแบบที่ว่าเป็นอีกชุดกลุ่มปัจจัยที่เรานำมาใช้ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงอนาคตของการอยู่อาศัยสูง แต่ก็คาดการณ์ได้ยากว่าอนาคตปัจจัยนี้จะเปลี่ยนไปทางไหน ในงานนี้เราดึงเอาปัจจัยกลุ่มนี้มา 2 อย่าง เพื่อสร้างภาพอนาคต 4 รูปแบบ

อย่างแรกคือ ลักษณะของการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับจำนวนประชากรของกรุงเทพฯ ที่เราไม่รู้ว่าจะเป็นการพัฒนาที่เพิ่มความหนาแน่นอย่างเต็มศักยภาพ หรือจะเน้นไปที่การพัฒนาแบบแผ่ขยายไปสู่ชานเมืองมากขึ้น

อีกอย่างหนึ่งคือโครงสร้างครอบครัวไทยว่าอนาคตข้างหน้า คนเมืองจะอยู่คนเดียวหรืออยู่ร่วมกับผู้อื่น เมื่อเรานำปัจจัยสองแกนนี้มาไขว้กันก็จะได้เป็นภาพ 4 ฉากทัศน์ (scenario) ที่ว่า ซึ่งชื่อแต่ละฉากเราอยากให้สื่อลักษณะของสภาพบ้าน ทำเล และสมาชิกผู้อยู่อาศัย โดยเราจะแทนผู้อยู่อาศัยด้วยสิ่งมีชีวิตต่างๆ ส่วนสภาพบ้านหรือพื้นที่ที่ห่อหุ้มเขาก็แทนด้วยลักษณะทางกายภาพ เช่น โพรง รัง ฯลฯ

สำหรับ รังไหมในชั้นคอนกรีต เราลองนึกภาพว่ารังไหมเป็นภาพแทนคนเมืองที่อยู่คนเดียว มีบ้านที่ห่อหุ้มอยู่แบบพอดีตัว อยู่ห้องเล็กๆ เรียงต่อกันเป็นชั้นสูงขึ้นไป คล้ายกับ โพรงนกฮูกในป่าดิบ ซึ่งเป็นการอยู่เดี่ยวเหมือนกัน แต่อยู่ชานเมืองและเดินทางไปตรงนั้นตรงนี้เพื่อทำมาหากิน สองภาพแรกจะต่างจาก เหล่ากระต่ายในถ้ำใต้ทะเลทราย ที่เป็นการอยู่อาศัยแบบรวมกลุ่ม แต่อาจจะรวมกลุ่มกันแบบหลวมๆ และต้องเดินทางไปใช้ชีวิตค่อนข้างไกล หรืออาจจะอยู่กับครอบครัวขยายในคอนโดฯ ที่มีขนาดใหญ่หน่อยและอยู่สุดปลายสายรถไฟฟ้าชานเมือง และฉากสุดท้าย ซึ่งเป็นภาพอนาคตที่พึงประสงค์ที่สุดคือ เมืองนกกระจาบ เป็นภาพที่เราอยู่กับครอบครัวที่กลางเมือง อาจจะอยู่ในคอนโดฯ ที่ห้องใหญ่หน่อย แต่โดยรวมเมืองมีความหนาแน่นสูง และอยู่เหมือนในรังนกกระจาบที่จะมีพื้นที่ตรงกลางไว้แชร์กับครอบครัวหรือเพื่อนบ้านคนอื่นด้วย การอยู่อาศัยค่อนข้างพึ่งพาโครงข่ายทางสังคมของคนที่อยู่อาศัยในละแวกเดียวกันหรือตึกเดียวกัน

ดังที่ในงานวิจัยของคุณฉายภาพว่า ในอนาคตอาจจะมีทางเลือกในการอยู่อาศัยเกิดขึ้นได้หลายทาง แต่ในปัจจุบัน ภาพหนึ่งที่เราเห็นชัดมากคือการอยู่ในคอนโดฯ หรือที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเยอะมาก คุณคิดว่าลักษณะการอยู่อาศัยที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้จะกระทบกับการเลือกมี-ไม่มีครอบครัวของคนหนุ่มสาวบ้างไหม หรือถ้าพวกเขามีครอบครัวแล้ว ลักษณะครอบครัวจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

บอกยากนะว่าการใช้ชีวิตในคอนโดฯ จะทำให้เราเลือกมีลูกไหม เพราะจริงๆ เราอาจจะเลือกก่อนว่าจะมีลูกไหมและค่อยคิดต่อว่าเราจะอยู่ที่ไหนดี จึงอาจจะยังไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าการใช้ชีวิตในคอนโดฯ จะส่งผลกับการมีหรือไม่มีครอบครัว แต่คำถามสำคัญน่าจะอยู่ที่ว่า ถ้าเราเลือกจะมีครอบครัวแล้ว เราจะยังอยู่คอนโดฯ ต่อไปได้หรือไม่ คอนโดฯ ทำหน้าที่เป็นบ้านที่มีคุณภาพสำหรับครอบครัวได้มากแค่ไหน เพราะทุกวันนี้ เราจะเห็นว่าหลายๆ ครอบครัวที่พอมีลูกก็จะย้ายออกจากคอนโดฯ ไปซื้อบ้านจัดสรรเพราะต้องการให้ลูกมีที่วิ่งเล่น ซึ่งจะนำไปสู่การคิดต่อในเชิงการออกแบบหรือนโยบายต่างๆ ว่าเราจะทำอย่างไรให้คอนโดฯ ระดับกลางๆ สามารถตอบโจทย์คนที่อยากมีลูกหรือมีครอบครัวได้ และสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีในพื้นที่นั้นได้โดยไม่ต้องออกไปหาบ้านเดี่ยวชานเมือง

มีตัวอย่างที่อาจจะไม่ได้ตอบคำถามนี้โดยตรง แต่น่าสนใจเพราะมันแสดงให้เห็นว่า นโยบายและวิธีการออกแบบที่อยู่อาศัยหรือผังห้องถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนกำหนดทิศทางของสังคมว่า คนในสังคมนี้ควรจะดำเนินชีวิตอย่างไรต่อไปในอนาคต จะอยู่กันแบบไหน ครอบครัวควรจะมีหน้าตาเป็นแบบไหน ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวควรเป็นอย่างไร ตัวอย่างที่น่าสนใจคือในสิงคโปร์ ซึ่งมีนโยบายการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในชุมชนเดียวกันและสนับสนุนการอยู่อาศัยทุกรูปแบบ ทั้งการอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวขยายที่มีหลายเจเนอเรชัน แบบครอบครัวเดี่ยว หรือกระทั่งอยู่คนเดียว ที่อยู่อาศัยที่พัฒนาโดยภาครัฐก็จะมีตั้งแต่ขนาด 30 กว่าตารางเมตรไปจนถึง 100 กว่าตารางเมตรที่มีห้องนอน 5-6 ห้องที่ให้คน 3 รุ่นคือปู่ย่าตายาย พ่อแม่ และลูก อยู่ในคอนโดฯ ยูนิตเดียวกันได้ คือเขาสนับสนุนการอยู่เป็นครอบครัวเช่นนี้ให้สังคมด้วยจึงได้ออกแบบคอนโดฯ แบบนี้ออกมา

อีกตัวอย่างหนึ่งคือญี่ปุ่นในช่วงหลังสงครามที่เริ่มมีการสร้าง public housing ที่ทั้งสถาปนิกและนักวิชาการก็มาช่วยกันระดมสมองเพื่อวางผังที่อยู่อาศัยแนวตั้งและสร้างผังยูนิตมาตรฐานขึ้นมาหลายรูปแบบ หากเราดูผังยูนิตจะพบว่า มีจำนวนห้องที่สื่อเป็นนัยกลายๆ ว่าภาพครอบครัวในอนาคตของญี่ปุ่นคือครอบครัวเดี่ยวที่ประกอบด้วยพ่อแม่ลูก ไปจนถึงการวางตำแหน่งครัวที่ให้ความสำคัญกับพื้นที่ของแม่ ผู้ซึ่งสังคมมองว่าคือผู้ทำงานบ้านหลัก ซึ่งก็แปลกเหมือนกันในยุคที่บทบาทของทุกเพศเท่าเทียมกันมากขึ้น และยังมีการบ่งบอกว่าพื้นที่ที่ใช้นอนกับใช้กินข้าวต้องแยกห้องกัน การออกแบบมาตรฐานของยูนิตที่อยู่อาศัยเหล่านี้เป็นเหมือนการกำหนดทิศทางกลายๆ ว่าครอบครัวยุคใหม่ของญี่ปุ่นควรจะเป็นแบบไหน ควรจะใช้ชีวิตกันอย่างไร ซึ่งมันก็มีอิทธิพลในการกำหนดไลฟ์สไตล์ของคนในสังคมญี่ปุ่นส่วนหนึ่งมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากเรื่องลักษณะครอบครัวแล้ว ประเด็นที่คนพูดถึงกันพอสมควรคือเรื่องเด็กที่เกิดและเติบโตในคอนโดฯ (condo babies) คุณมองเรื่องนี้อย่างไร การที่เด็กต้องโตในพื้นที่คอนโดฯ จะส่งผลอย่างไรกับพวกเขาบ้าง

เรื่องเด็กคอนโดฯ เป็นประเด็นที่ต่างชาติพูดถึงและศึกษากันมานานพอสมควร เพราะพวกเขาอยู่อาศัยกันแบบแนวตั้งมาได้ระยะเวลาประมาณหนึ่งแล้ว แต่ก็มีข้อถกเถียงกันระหว่างนักวิชาการสองกลุ่มว่า จริงๆ แล้วการอยู่ในคอนโดฯ ส่งผลกับเด็กในระยะยาวมากน้อยขนาดไหน บางคนก็บอกว่าส่งผล แต่บางคนก็แย้งว่าอาจเป็นปัจจัยเชิงเศรษฐกิจของพ่อแม่มากกว่า แต่ประเด็นที่คนมักพูดตรงกันคือ เด็กที่อาศัยในตึกสูงจะมีโอกาสออกไปวิ่งเล่นนอกบ้านน้อยกว่าเด็กที่อาศัยอยู่ในบ้านแนวราบ เพราะเวลาพ่อแม่อยากให้ลูกเล่นนอกบ้านแต่ละครั้งก็ต้องพาลงลิฟต์ไปข้างล่างแล้วไปยืนเฝ้าลูกด้วย ไม่สามารถทำมื้อเย็นในครัวไปพร้อมกับเฝ้าส่องลูกที่เล่นอยู่หน้าบ้านจากทางหน้าต่างได้ การจะให้ลูกได้วิ่งเล่นแต่ละครั้งจึงดูเป็นกิจกรรมที่ต้องพยายาม

ในหลายๆ งานศึกษามักพูดว่า เมื่อเด็กได้ออกไปเล่นนอกบ้านน้อยลง เขาก็จะมีโอกาสได้เจอผู้คนที่หลากหลายน้อยลงไปด้วย ปกติเวลาเด็กเล่นในสนามเด็กเล่นหรือสวนสาธารณะที่มีคนนู้นคนนี้เข้ามาเล่นในพื้นที่เดียวกัน เขาจะได้ฝึกดีลกับเพื่อนที่ไม่รู้จักกันมาก่อนเลยว่าจะเริ่มไปทักอย่างไร ชวนเล่นแบบไหน ขอเข้าวงด้วยอย่างไร ถ้าเล่นแล้วทะเลาะกันจะทำอย่างไร โอกาสในการเรียนรู้ผ่านสังคมจำลองเล็กๆ บนสนามเด็กเล่นแบบนี้ก็จะลดน้อยลงไปด้วยสำหรับเด็กที่โตในคอนโดฯ 

อีกประเด็นหนึ่งที่เราสนใจคือเรื่องอาหารการกิน เรามองว่าคอนโดฯ ส่วนใหญ่ไม่ได้มีการออกแบบครัวให้เหมาะสมกับการทำอาหารทานในครอบครัวเท่าไหร่นัก คือเมื่อห้องมีขนาดเล็กลง ครัวก็เป็นฟังก์ชันแรกๆ ที่ถูกตัดออกไป แล้วถ้าต้องซื้อกินหรือสั่งเดลิเวอรีเกือบทุกวัน ก็ส่งผลกับเรื่องค่าใช้จ่ายของครอบครัวอีกว่าวันหนึ่งต้องเสียเท่าไหร่ จะเก็บเงินได้ไหม หรืออย่างในงานวิจัยที่เกี่ยวกับเด็กคอนโดฯ เราก็ตั้งคำถามว่า เด็กคอนโดฯ อาจเป็นเด็กที่ไม่เคยกินรสมือแม่ ซึ่งก็อาจมีข้อโต้แย้งเพราะหลายๆ ครอบครัวก็ใช้ชีวิตแบบกินข้าวนอกบ้านเป็นปกติอยู่แล้ว แต่เราว่าสำหรับหลายๆ คนมันเป็นความผูกพัน (bonding) แบบหนึ่งในครอบครัวที่สร้างขึ้นมาได้จากการมีฟังก์ชันส่วนนี้ในบ้าน และเรามองว่าการที่ที่อยู่อาศัยมีพื้นที่ทำครัวจะช่วยทำให้ครอบครัวคนเมืองมีทางเลือกด้านอาหารมากขึ้น ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น เวลาต้องกักตัวก็ไม่ต้องสั่งอาหารสำเร็จรูปมากินทุกมื้อจนถังขยะเต็มวันละหลายๆ รอบ 

นอกจากเด็กและคนหนุ่มสาวแล้ว อีกหนึ่งกลุ่มสำคัญและจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นในอนาคตข้างหน้าคือกลุ่มผู้สูงอายุ คุณมองว่าการอยู่คอนโดฯ จะสามารถเข้ามาเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งสำหรับผู้สูงอายุได้ไหม มีประเด็นอะไรที่เราควรคำนึงถึงบ้าง

จริงๆ เราพบว่าผู้สูงอายุหลายคนชอบการอยู่คอนโดฯ มากกว่าเพราะเดินทางสะดวกและมีนิติบุคคลคอยดูแลให้บริการ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นความสะดวกเหล่านี้ก็ขึ้นอยู่กับกำลังในการจ่ายของแต่ละคนด้วย ประเด็นที่เรามองว่าสำคัญจึงอยู่ที่ว่าคอนโดฯ จะออกแบบมาให้ผู้สูงวัยทุกกลุ่มอยู่อย่างสะดวกและเข้าถึงบริการเหล่านี้ได้มากน้อยขนาดไหน สามารถอยู่คนเดียวได้มากน้อยแค่ไหน รัฐจะสามารถพึ่งพานิติบุคคลของคอนโดฯ ในการดูแลประชาชนสูงอายุได้ในระดับใด หรือเรามีสวัสดิการอะไรที่จะมาสนับสนุนผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในคอนโดฯ ให้มีทั้งสุขภาพกายและใจที่ดีได้บ้างไหม

ในอนาคตที่เราจะเป็นสังคมสูงวัยและมีผู้สูงอายุอยู่คอนโดฯ มากขึ้น สวัสดิการที่เกี่ยวกับการแพทย์ทางไกล (telemedicine) หรือแม้แต่การแจก smartwatch เพื่อคอยดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุที่ไม่ได้อยู่กับลูกหลานอาจจะเป็นสวัสดิการที่จำเป็นมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เรามองว่าการที่ผู้สูงวัยอยู่คอนโดฯ ไม่ใช่ภาพด้านลบเสมอไป ถ้าเรามองเห็นก่อนว่าปัญหาอะไรมีโอกาสเกิดขึ้น และเราจะป้องกันได้อย่างไร

คุณมองว่าเมืองหลังโรคระบาดจะมีหน้าตาแบบไหน โควิด-19 ทำให้เกิดโจทย์อะไรใหม่ๆ ในเรื่องเมืองไหม

โจทย์สำคัญอย่างหนึ่งคือเรื่องการมีพื้นที่สาธารณะในระดับชุมชนที่มีคุณภาพและเป็นจุดกระจายบริการต่างๆ ไปสู่ละแวกที่มีผู้คนอยู่อาศัยได้ ซึ่งจากสถานการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมา เราเห็นแล้วว่ามีการจัดการแบบรวมศูนย์ในพื้นที่ใหญ่พื้นที่เดียว และก็เห็นแล้วว่ามีหลายอย่างที่ไม่ค่อยเวิร์กเท่าไหร่ ดังนั้น หากเรามีพื้นที่เหล่านี้ในระดับชุมชนซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยืดหยุ่นและพร้อมจะปรับเปลี่ยนการใช้งานเพื่อรับมือกับภัยพิบัติรูปแบบต่างๆ ก็อาจจะทำให้เรารับมือกับสถานการณ์ที่เราไม่คาดคิดอย่างอื่นๆ ได้ในอนาคต

นอกจากนี้ เราอาจจะต้องคิดถึงการมีโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ สำหรับการอยู่อาศัยในแบบเมือง เพราะในอดีตทุกครั้งที่เกิดโรคระบาด เมืองจะมีการเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานบางอย่าง เช่น มีท่อน้ำแยก ตรงนี้เป็นการเปลี่ยนกระบวนทัศน์อย่างหนึ่งที่ทำให้เราต้องเริ่มหันกลับมามองกรุงเทพฯ อีกครั้ง เรามีพื้นที่สำหรับทำที่แยกกักตัว ทำเป็นศูนย์ฉีดวัคซีน แจกจ่ายอาหาร หรือโรงพยาบาลสนามมากน้อยแค่ไหน อนาคตเราอาจจะต้องมีพื้นที่แบบนี้เพื่อรองรับและปรับไปตามสถานการณ์ด้วย

หรือถ้ากลับมาที่โจทย์คอนโดฯ เราควรมีจะสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ฟิตเนส สระว่ายน้ำ สถานที่ออกกำลังกายอยู่ไหม จะจัดการอย่างไรเมื่อเกิดโรคระบาด เราจะนำเทคโนโลยีอะไรเข้ามาช่วยได้บ้าง ตรงนี้จะเห็นว่าถ้าเรามีนวัตกรรมหรือนโยบายที่ช่วยสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมเหล่านี้ขึ้นมาได้ ก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นในการคิดหาทางแก้ปัญหาใหม่ๆ หรือมองหาวิถีใหม่ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

อีกโจทย์หนึ่งที่เรามองว่าโควิดสะท้อนให้เห็นชัดเจนคือ ถ้าเมืองนี้ไม่มีงาน คนก็ไม่อยากอยู่ขนาดนั้น อย่างในช่วงก่อนหน้านี้ที่คนจำนวนมากก็ตัดสินใจกลับต่างจังหวัด เราว่ามันสื่อได้นะว่าเมืองนี้มีคนจำนวนมากทนอยู่เพราะมีงานเท่านั้น และในอนาคต ถ้างานไม่ยึดติดกับเมือง มีการทำงานที่บ้าน (work from home) ได้ กรุงเทพฯ จะยังน่าอยู่ไหม โควิดเหมือนจะชี้ให้เห็นแล้วว่าเมืองไม่ได้ใส่ใจสุขภาพกายและใจของเราเท่าไหร่เลย เพราะนอกจากคนเมืองจะต้องเผชิญกับความเครียดจากพิษเศรษฐกิจแล้ว ยังต้องทนอยู่ในห้องแคบๆ 24 ชั่วโมง จะไปเดินเล่นในพื้นที่สีเขียวให้ผ่อนคลายก็ไม่ได้ไปง่ายๆ ในอนาคตถ้ามีทางไปหลายคนก็คงไม่อยากอยู่ที่นี่เท่าไหร่นัก

ตรงนี้จึงนำมาสู่โจทย์สำคัญของกรุงเทพฯ คือการพัฒนาเมืองที่แสดงให้คนเมืองเห็นว่า เมืองใส่ใจและให้ความสำคัญกับทุกคน พร้อมโอบรับทุกช่วงชีวิตของคนเมืองและให้คุณภาพชีวิตที่ดีกับผู้อยู่อาศัยได้ ซึ่งมันจะนำมาสู่ความผูกพันกับเมือง อยากอยู่เมืองนี้ และเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงเมืองไปในทางที่ดีมากขึ้น ทุกวันนี้หลายคนไม่ได้อยากอยู่ที่นี่ไปตลอดชีวิต เมื่อหาเงินได้พอก็ขอกลับบ้านที่ต่างจังหวัด ตรงนี้ก็จะส่งผลต่อการดูแลรักษาสภาพแวดล้อมของเมืองด้วย เพราะถ้าเราไม่ได้รู้สึกผูกพันหรือรู้สึกว่าอีกไม่นานเราจะไปจากเมืองนี้ เราก็อาจจะใช้ชีวิตไปวันๆ และไม่ได้อยากลงแรงเปลี่ยนแปลงอะไรให้มันดีขึ้น ตรงนี้เราว่าเป็นอะไรที่เมืองควรจะเปลี่ยนมากๆ

แล้วเราจะสร้างให้คนรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ (sense of belonging) กับเมืองอย่างไร

เราน่าจะต้องรู้สึกดีกับสภาพแวดล้อมของเมืองนี้ก่อน อยากออกไปเดินเล่น ไปใช้เวลาในพื้นที่ตรงนู้นตรงนี้ของเมือง ถ้าวันๆ เราใช้ชีวิตอยู่แต่แค่ในบ้าน รถ ห้าง และที่ทำงาน ไม่มีกิจกรรมอื่นที่ทำให้เราได้ใช้เวลาอยู่ในพื้นที่เมือง เราก็คงไม่มีการสร้างประสบการณ์ในพื้นที่ส่วนอื่นของเมืองมากพอที่เราจะชอบหรือรู้สึกผูกพันกับย่านแต่ละย่านในเมืองนี้ เมืองจึงน่าจะต้องพยายามดึงคนออกมาจากพื้นที่ 3-4 ที่นี้มากขึ้นด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งก็อาจจะเริ่มจากการปรับคุณภาพพื้นที่สาธารณะแต่ละส่วนของเมือง 

นอกจากนี้ เราว่าความรู้สึกเป็นเจ้าของเมือง ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากการได้อยู่กับคนที่เราคุ้นเคย มีสังคมที่เราผูกพันและพึ่งพาได้อยู่ไม่ไกลตัวในรอบๆ บ้านที่เราอยู่อาศัย แต่ก็ยังถกกันได้นะว่าในยุคที่มีโซเชียลมีเดียแล้ว เรายังต้องการสิ่งเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน แต่เราคิดว่าสมมติเกิดเหตุอะไรขึ้นจริงๆ การตะโกนเรียกคนข้างบ้านมาช่วยก็น่าจะเร็วที่สุดนะ

ถ้าลองมองต่อไปอีก 10-20 ปีข้างหน้า อะไรคือโจทย์หรือดีเบตใหญ่ในเรื่องความเป็นเมือง ทั้งในไทยและระดับโลก

จริงๆ เรื่องโรคระบาดหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ก็เป็นโจทย์ใหญ่โจทย์หนึ่ง แต่เราว่าสิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็งคือเรื่องความเหลื่อมล้ำที่ทำให้เมืองดีกับแค่ชีวิตใครบางคน แต่กดทับชีวิตใครอีกหลายคน พูดให้ชัดคือเมืองมีความเป็นธรรมในเชิงพื้นที่มากน้อยแค่ไหน เมื่อต้องเผชิญกับโรคระบาดหรือน้ำท่วม เมืองจะมีการจัดการทรัพยากรและพื้นที่อย่างเท่าเทียมและทั่วถึงไปที่คนเมืองทุกกลุ่มมากแค่ไหน นี่น่าจะเป็นโจทย์ใหญ่มากๆ ที่เมืองทั่วโลกเจอปัญหานี้เหมือนกัน ซึ่งในโจทย์ใหญ่ที่ว่านี้ การทำให้คนเมืองสามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพได้ก็เป็นประเด็นที่ซ่อนอยู่ในนั้น ซึ่งการรับมือกับประเด็นนี้ของแต่ละเมืองก็แตกต่างกัน บางประเทศอาจมองว่ามีที่อยู่ก็พอ บางประเทศมองไปไกลกว่านั้นว่าที่อยู่ต้องมีพื้นที่ที่มีคุณภาพด้วย แต่บางที่ก็มองไปอีกขั้นเลยว่าไม่ใช่แค่มีที่อยู่ที่มีคุณภาพ แต่คุณต้องได้อยู่กับครอบครัวด้วยและมีสภาพแวดล้อมรอบๆ บ้านที่ดีด้วย

เรามองว่าจุดอ่อนอย่างหนึ่งของกรุงเทพฯ ตอนนี้คือ เรายังมองข้ามกลุ่มคนรายได้ปานกลางของเมืองไป ทำให้ไม่มีนโยบายอะไรมารองรับเท่าไหร่นัก นี่ก็เป็นดีเบตใหญ่ว่าจะทำอย่างไรให้ที่อยู่อาศัยมีราคาที่ไม่สูงจนเกินไปสำหรับคนกลุ่มนี้ จะทำอย่างไรให้คนทำงานในเมืองมีที่อยู่ที่มั่นคงและมีเงินเก็บได้ด้วย จะเป็นไปได้ไหมถ้าเรามีสวัสดิการเรื่องที่อยู่ให้กลุ่มคนรายได้ปานกลางในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เพราะเราจะพอคาดการณ์ได้ว่าคนกลุ่มนี้จะหาทางขยับขยายต่ออยู่แล้วในอนาคต เมืองอาจต้องมีนโยบายด้านที่อยู่อาศัยที่ช่วยพยุงคนกลุ่มนี้ในช่วงแรกๆ ให้มีเงินเก็บเป็นทุนต่อยอดในอนาคต ไม่ใช่ทำงานมาแล้วหมดเงินไปกับค่าเดินทางและค่าเช่าที่อยู่อาศัย จนสุดท้ายไม่สามารถมีอะไรที่มั่นคงในชีวิตได้

จากที่ทำงานและทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องเมืองและชีวิตในเมือง คุณมีข้อเสนอแนะอะไรในเรื่องนี้ไหม เรามีความเป็นไปได้อะไรบ้างในการอยู่อาศัยสำหรับคนเมือง

เราว่าประเด็นสำคัญคือการสร้างทางเลือกที่อยู่อาศัยคุณภาพดีให้คนหลายกลุ่ม ที่จะช่วยสนับสนุนให้เขาอยากอยู่ที่นี่ไปเรื่อยๆ และไม่ได้อยากย้ายออก อยู่ได้แบบมีคุณภาพชีวิตดี คนอยากมีครอบครัวก็จะได้มีครอบครัว คนอยู่คนเดียวก็อยู่ได้โดยไม่ต้องกังวลใจว่าถ้าเกิดอะไรขึ้นจะไม่มีคนมาช่วย เรามองว่านี่เป็นนโยบายสำคัญที่จะต้องให้ทางเลือกที่หลากหลายและตอบโจทย์คุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐาน

ถ้ามองลงไปในระดับย่อย แน่นอนว่าที่อยู่อาศัยที่เป็นสวัสดิการต้องมีหลายโมเดล อาจจะไม่ใช่แค่การสร้างบ้านให้เช่า แต่อาจจะลองมองหาอาคารที่ไม่ได้มีการใช้งานมาหลายปี เรามีอาคารประเภทนี้อยู่เยอะมากในเมือง แต่ยังไม่ได้มีการใช้ประโยชน์ใดๆ ก็อาจจะนำมาปรับใช้งานเป็นอีกโมเดลสำหรับที่อยู่อาศัยในเมือง รวมไปถึงการดูแลเรื่องการเช่า สัดส่วนการเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ระหว่างคนไทยกับคนต่างชาติ หรือระยะเวลาการเช่า รวมไปถึงประเด็นพวกความยั่งยืนของเมืองหรือการมีพื้นที่สีเขียวด้วย

คุณวาดฝันภาพเมืองในอนาคตอย่างไร เมืองควรจะเป็นแบบไหนจึงจะโอบรับคนเมืองพร้อมทั้งตอบรับกับกระแสความยั่งยืนและเทรนด์อื่นๆ ของโลกไปพร้อมกัน

จริงๆ ก็อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับที่เล่ามาทั้งหมดเลยก็ได้นะ ภาพฝันของเราคือเราอยากเห็นเมืองที่มีเด็กวิ่งเล่นอยู่เยอะๆ เป็นภาพฝันที่อาจจะฟังดูเรียบง่าย แต่เราว่ามันทำให้เกิดขึ้นจริงได้ยากมาก เพราะนัยที่แฝงอยู่คือคุณต้องทำให้คนหนุ่มสาวที่มีครอบครัวใช้ชีวิตได้ เมืองต้องมีความปลอดภัยและมีพื้นที่สาธารณะดีๆ ให้พ่อแม่เลี้ยงลูกให้เติบโตขึ้นได้ด้วย ตรงนี้อาจจะฟังดูอุดมคติประมาณหนึ่ง แต่ก็มีเมืองที่เป็นแบบนี้อยู่หลายที่ในโลก

สำหรับเรา การที่เด็กสามารถวิ่งเล่นบนถนนหรือแม้กระทั่งไปโรงเรียนเองได้เป็นตัวชี้วัดสำคัญอย่างหนึ่งว่าเมืองปลอดภัยและรองรับคนทุกกลุ่มแค่ไหน เพราะถ้าเด็กวิ่งเล่นได้ ผู้สูงอายุก็น่าจะอยู่ได้อย่างสบายใจประมาณหนึ่ง และยังสื่อด้วยว่าสังคมมีโครงข่ายบางอย่างที่จะช่วยกันปกป้อง ดูแล เป็นหูเป็นตาให้กัน และสรรค์สร้างให้ภาพเมืองตรงนี้เกิดขึ้นมาได้ เป็นเมืองที่โอบรับคนทุกกลุ่มอย่างแท้จริง


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม คนไทย 4.0 สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2563 และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save