fbpx

หม่อมราชวงศ์ปาณฑิตย์ โสณกุล: ปัญญาชนฝ่ายเจ้าผู้อาภัพ นักคิดเสรีนิยมปีกอนุรักษนิยม

“Desp : Sunningdale      13.1010

Recd : Bangkok             13.1720

His Highness Prince Bidyalabh, Petburi Road, Bangkok.

Please accept our heartfelt sympathy on sad loss of your son.

                                 (M.R.) Bhumipol.[1]


สำเนาพระราชโทรเลขที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่พระองค์เจ้าธานีฯ จากเมืองซันนิงเดล[2] ใกล้ลอนดอนเพื่อแสดงความเสียใจต่อการจากไปของหม่อมราชวงศ์ปาณฑิตย์ โสณกุลผู้เป็นบุตร

ภาพหม่อมราชวงศ์ปาณฑิตย์ โสณกุล (ถ่ายที่ลอนดอน กรกฎาคม 2491) จากหนังสืออนุสรณ์ ม.ร.ว. ปาณฑิตย์ โสณกุล พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ – 9 ตุลาคม 2509

หากกล่าวถึงเจ้านายพระองค์สำคัญที่มีบทบาทมากในสมัยต้นรัชกาลที่ 9 ก็คงไม่พ้นต้องพูดถึงพระองค์เจ้าธานีฯ (พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัติ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร) เป็นแน่ พระนามของพระองค์เจ้าธานีฯ คงจะเป็นที่คุ้นหูดีกันดีสำหรับผู้ที่ศึกษาหรือสนใจในประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย อย่างไรก็ตาม ชื่อของ ‘หม่อมราชวงศ์ปาณฑิตย์ โสณกุล’ พระโอรสคนเดียวของพระองค์กลับไม่ค่อยเป็นที่คุ้นหูเท่าใดนัก

หลายคนอาจสันนิษฐานว่าเป็นเพราะปาณฑิตย์เสียชีวิตมานานกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว ด้วยเวลาที่ผ่านมานานจึงไม่แปลกที่คนจะไม่พูดถึงกัน แต่การคิดเช่นนี้ก็คงไม่ถูกไปเสียทั้งหมด เห็นได้จากกรณีที่พระองค์เจ้าธานีฯ ผู้เป็นบิดา ซึ่งแม้เสียชีวิตไปสี่สิบกว่าปีแล้วก็ยังเป็นที่พูดถึงอยู่จนถึงทุกวันนี้ โดยมักถูกอภิปรายในฐานะตัวละครทางการเมืองสำคัญในประวัติศาสตร์อยู่เสมอๆ ดังนั้น ระยะเวลาจึงไม่น่าเกี่ยวข้องโดยตรงกับการที่เรื่องราวของเขาแทบไม่ถูกพูดถึง ขณะที่มีชีวิตอยู่ปาณฑิตย์เขียนบทความหลายชิ้นเพื่อโต้แย้งและแสดงจุดยืนทางการเมือง รวมถึงวิพากษ์วิจารณ์สังคมในสมัยนั้นอย่างเปิดกว้างเสียยิ่งกว่าที่บิดาของเขาจะกล้าทำ โดยเขาส่งบทความเหล่านี้ไปลงในคอลัมน์บนหน้าหนังสือพิมพ์ หากไม่มีปัญหาด้านสุขภาพ เขาคงจะมีโอกาสก้าวหน้าทางราชการเช่นเดียวกับบิดาของเขาเป็นแน่

ส. ศิวรักษ์ ซึ่งได้รู้จักใกล้ชิดกับปาณฑิตย์ขณะมีชีวิตอยู่นั้น ถึงกับกล่าวในหนังสือคันฉ่องส่องเจ้าว่า “… ถ้าเปรียบเทียบความคมคายทางความคิดแล้ว คุณชายปาณฑิตย์เหนือกว่าหม่อมราชวงศ์คนอื่นๆ ทั้งหมด …”[3] โชคร้ายที่ปาณฑิตย์สิ้นอายุขัยเพราะโรคเนื้องอกในสมองในวันที่ 7 กันยายน 2509 ด้วยวัยเพียง 38 ปี ผู้เขียนจึงสันนิษฐานเองว่าสาเหตุที่ปาณฑิตย์ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักนั้นเป็นเพราะเขามีเวลาอยู่บนโลกเพียงแค่ไม่ถึงครึ่งศตวรรษเท่านั้น ทำให้เขามีเวลาผลิตผลงานและเผยแพร่แนวคิดของตนไม่มากนัก ส่วนผลงานและเรื่องราวของเขาที่ปรากฏต่อสาธารณะจนพอจะสืบค้นได้นั้นก็ยิ่งน้อยลงไปอีก กระนั้น เรื่องราวชีวิต งานเขียน และแนวคิดทางการเมืองของเขาที่พอจะสืบค้นได้ก็น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว ซึ่งนี่ก็ทำให้ผู้เขียนกระตือรือร้นอย่างยิ่งที่จะพาผู้อ่านไปรู้จักกับเรื่องราวปาณฑิตย์ รวมถึงมุมมองทางการเมืองของเขา

ในบทความนี้ ผู้เขียนอาศัยหนังสืองานศพซึ่งคัดสรรบทความที่เขาเขียนและคำนำจากพระองค์เจ้าธานีฯ ผู้เป็นบิดาเป็นเอกสารหลัก โดยมีหนังสือที่พระองค์เจ้าธานีฯ เขียน หนังสือและวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับพระองค์เจ้าธานีฯ หนังสืองานศพเพื่อนของเขา หนังสือที่ ส. ศิวรักษ์ เขียนสัมภาษณ์บุคคลร่วมสมัยกับเขา เป็นส่วนประกอบ อีกทั้งเรายังจะลงลึกไปดูข้อเขียนและสภาพแวดล้อมดีเบตที่เขาโต้แย้งในประเด็นต่างๆ กับบุคคลร่วมสมัย รวมถึงข้อมูลจากจดหมายเหตุ Merton College ที่เชื่อว่าไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน ทั้งหมดนี้เพื่อประกอบสร้างเรื่องราวชีวิตเขาที่ถูกเปิดเผยเพียงน้อยนิดให้เห็นมากขึ้น ซึ่งก็อาจจะทำให้เราเห็นตัวตนเขาที่แตกต่างจากพระองค์เจ้าธานีฯ อันผิดแผกไม่เข้ากรอบกับทั้งกลุ่มนักคิดเสรีนิยมและอนุรักษนิยม หากแต่อยู่กึ่งกลางคือเป็นนักคิดเสรีนิยมปีกอนุรักษนิยม (conservative liberalism) ด้วย

กำเนิดและชื่อกาลกิณี

หม่อมราชวงศ์ ปาณฑิตย์ โสณกุล ชื่อเล่นว่าเถร เกิดเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2471 ในราชสกุลโสณกุล เป็นบุตรของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต (พระยศในขณะนั้น) ซึ่งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ) กับหม่อมประยูร โสณกุล ปาณฑิตย์เป็นลูกชายคนเดียว เป็นลูกคนกลาง มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกันอีกสองคน คือ หม่อมราชวงศ์นิวัตวาร ณ ป้อมเพชร (พี่สาวคนโต) และหม่อมราชวงศ์สุพิชชา โสณกุล (น้องสาวคนเล็ก)

ภาพ ม.ร.ว. นิวัตวาร (ซ้าย) ม.ร.ว. ปาณฑิตย์ (กลาง) และ ม.ร.ว. สุพิชชา (ขวา) จากหนังสืออนุสรณ์ ม.ร.ว. ปาณฑิตย์ โสณกุล พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ – 9 ตุลาคม 2509

จากคำนำโดยพระองค์เจ้าธานีฯ ในหนังสืองานศพของปาณฑิตย์ ทำให้ทราบได้ถึงที่มาของชื่อ ‘ปาณฑิตย์’ ว่า เมื่อลูกชายคนนี้เกิด พ่อต้องการให้ชื่อลูกเหมือนปู่ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา (พระราชโอรสรัชกาลที่ 4 ผู้เป็นต้นราชสกุลโสณกุล) ซึ่งมีพระนามเดิมว่า ‘พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต’ พระองค์เจ้าธานีฯ นำนามนี้ไปขอให้รัชกาลที่เจ็ดพระราชทานให้ ซึ่งก็ทรงเลือกนามนี้มาให้ อาจจะเป็นเพียงข้อสังเกตเล็กๆ เพิ่มเติมว่า ทั้งพระองค์เจ้าโสณบัณฑิตและปาณฑิตย์ต่างเกิดวันพุธด้วยกันทั้งคู่

ส. ศิวรักษ์ เขียนเล่าถึงนามนี้เพิ่มเติมในคันฉ่องส่องเจ้าว่า หม่อมเจ้าสิบพันพารเสนอ โสณกุล น้องสาวของพระองค์เจ้าธานีฯ เล่าขยายว่า เดิมทีเมื่อชื่อนี้ถูกเสนอขึ้นไป โหรหลวง (คาดว่าเป็น พระสารประเสริฐ หรือ ตรี นาคะประทีป) เห็นว่าชื่อ ปาณฑิตย์ เป็นชื่อกาลกิณี จึงเสนออีกชื่อถวายรัชกาลที่ 7 เพื่อทรงเลือกประกอบด้วย แต่ก็ทรงเลือกชื่อตามที่พระองค์เจ้าธานีฯ ขอพระราชทาน ซึ่งหม่อมเจ้าสิบพันพารเสนอก็พูดเป็นนัยว่า ชื่อนี้อาจเป็นที่มาที่ปาณฑิตย์ไม่เป็นที่ถูกใจและคอยสร้างปัญหาอยู่ตลอด ส. ศิวรักษ์ ให้สัมภาษณ์กับผู้เขียนเพิ่มเติมว่า โดยนิสัยส่วนตัวของพระองค์เจ้าธานีฯ ท่านเป็นคนที่ไม่เชื่อโหราศาสตร์หรือไสยศาสตร์อยู่แล้ว จึงไม่สนใจคำทักท้วงเรื่องชื่ออัปมงคลของลูกชายท่าน

ทั้งนี้ ผู้เขียนก็เห็นว่ามีข้อสังเกตน่าสนใจอยู่ คือในส่วนคำนำของหนังสืองานศพที่เขียนโดยพระองค์เจ้าธานีฯ ทรงเขียนว่า “ … สมเด็จพระปกเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่า ‘ปาณฑิตย์’ ตามปรารถนาของบิดาซึ่งใคร่จะได้รับพระราชทานมงคลนามเหมือนเสด็จปู่ของเขา … ” ข้อความนี้อาจจะเป็นความพยายามสยบข่าวลือว่าชื่อไม่มงคล หรืออาจหมายถึงทัศนคติพระองค์เองว่าไม่เชื่อเรื่องโหราศาสตร์หรืออาจเป็นการยอมรับอย่างเลี่ยงๆ ว่านามนี้ไม่มงคล

จากซ้าย: บัณฑิต (หลานสาวของเนห์รู), ม.ร.ว. สุพิชชา โสณกุล, กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร, ยวาหระลาล เนห์รู, ม.ร.ว. นิวัตวาร โสณกุล
แถวหลัง: ม.ร.ว. ปาณฑิตย์ โสณกุล
ถ่ายเมื่อ เนห์รู นายกรัฐมนตรีอินเดีย เลี้ยงรับรองที่ทำเนียบในกรุงนิวเดลี ปี 2491 ภาพจากหนังสืออนุสรณ์ ม.ร.ว. ปาณฑิตย์ โสณกุล พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ – 9 ตุลาคม 2509

ประวัติการศึกษาที่น่าสงสัย

ในส่วนคำนำของหนังสืองานศพ พระองค์เจ้าธานีฯ ระบุว่า ปาณฑิตย์เข้ารับการศึกษาอนุบาลที่โรงเรียนมาแตร์เดอี จากนั้นจึงเข้าศึกษาต่อในระดับประถมศึกษาที่วชิราวุธวิทยาลัย และศึกษาในระดับมัธยมปลายที่โรงเรียนหอวัง ในเวลานั้นโรงเรียนหอวังยังเป็นโรงเรียนสำหรับเตรียมเข้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่ ซึ่งต่อมาจะปิดลงในปี 2487 เนื่องจากโรงเรียน ‘ถูกระเบิดทิ้ง’ ปาณฑิตย์จึงต้องย้ายมาเรียนกับคุณอนงค์ นิมมานเหมินท์ (นามสกุลเดิม อิศรภักดี) ที่บ้านของคุณอนงค์ที่ปากน้ำ และศึกษาอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 2 ปี จากนั้นจึงได้สอบเข้าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียนถึงชั้นปีที่สอง บิดาก็ต้องไปราชการในยุโรป ทำให้เขาต้องย้ายไปเรียนเตรียมเข้ามหาวิทยาลัยจนถึง พ.ศ. 2494 แล้วจึงสอบเข้าได้ที่ออกซฟอร์ด จากนั้นก็กลับเข้ามาเรียนต่อระดับปริญญาตรีที่คณะอักษรศาสตร์ โดยสำเร็จการศึกษาในเอกประวัติศาสตร์ และโทภาษาอังกฤษ

อันที่จริงแล้ว โรงเรียนหอวังถูกยุบไปตั้งแต่ปี 2481 และตั้งเป็นโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาขึ้นมาแทนที่ พระองค์เจ้าธานีฯ อาจจะเขียนแบบบอกเล่าหรืออาจเข้าใจว่ายังเป็นโรงเรียนเดียวกัน ดังนั้น การที่พระองค์เจ้าธานีฯ เล่าไว้ว่าปาณฑิตย์เรียนโรงเรียนหอวังนั้น ก็น่าจะเป็นการจำผิดพลาดของพระองค์ เพราะหากอ้างอิงจากปีแล้ว แท้จริงปาณฑิตย์น่าจะเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษามากกว่า ซึ่งก็สอดคล้องกับเว็บไซต์ฐานข้อมูลศิษย์เก่าเตรียมอุดมศึกษาที่ระบุว่าปาณฑิตย์อยู่รุ่นที่ 7 (เข้าปี 2487)

ทั้งนี้ พระองค์เจ้าธานีฯ ระบุเพิ่มเติมว่าโรงเรียนถูกระเบิดตึกเสียหายจนต้องปิดลง แต่ถ้าหากยึดตามปีที่มีการอ้างถึงแล้ว หากปาณฑิตย์เรียนที่เตรียมอุดมศึกษาจริง การต้องย้ายออกก็น่าจะมาจากเหตุผลด้านความปลอดภัยจากสภาพแวดล้อมภายนอกที่ถูกระเบิด ซึ่งทวีความรุนแรงอย่างหนัก ข้อเท็จจริงนี้ตรงกับที่หม่อมหลวงปิ่น มาลากุลเคยเขียนเกี่ยวกับโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาไว้ว่า “ถึงต้น พ.ศ. 2487 เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าภัยทางอากาศทวีความรุนแรงขึ้น จะเปิดโรงเรียนในพระนครมิได้ ลูกระเบิดตกที่บริเวณโรงเรียนเมื่อคืนวันที่ 19 ต่อกับวันที่ 20 มกราคม 5 ลูก ระเบิดทำลาย 2 ลูก ระเบิดเพลิง 3 ลูก ดับได้แต่ลูกหนึ่งที่โรงอาหารไม่ระเบิด แผนการอพยพมีเรียบร้อย… ” โดยสงครามนั้นรุนแรงถึงขั้นมีแผนจะย้ายมหาวิทยาลัยและย้ายเมืองหลวงไปที่ลพบุรีและเพชรบูรณ์ นอกจากนี้โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาก็ถูกใช้เป็นฐานที่มั่นของกลุ่มทหารฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อกิจการสงคราม จนเมื่อสงครามจบจึงได้มีการคืนโรงเรียน สอดคล้องกับกับข้อมูลที่ว่าปาณฑิตย์ไปเรียนที่สมุทรปราการซึ่งน่าจะปลอดภัยมากกว่าในพระนคร

จากที่เข้าเรียน 2487 และศึกษา 2 ปีก่อนเข้าจุฬาฯ ในปี 2489 หรือ 2490 ทำให้ปาณฑิตย์น่าจะต้องอยู่ในอักษรศาสตร์ จุฬาฯ รุ่น 14 หรือ 15 อย่างไรก็ตาม ในเว็บไซต์ทะเบียนของคณะอักษรศาสตร์ ระบุว่าปาณฑิตย์เป็นนิสิตอักษรศาสตร์ รุ่น 18 ซึ่งนิสิตในรุ่นนี้เข้าเรียนในปี 2493 เรียนจบปี 2496-2497 จึงเป็นไปได้ว่าเว็บไซต์ให้ข้อมูลผิด หรือไม่เช่นนั้นก็อาจมีวิธีนับรุ่นซึ่งไม่ตรงกับปัจจุบันที่เราเข้าใจ[4]

จากคำบอกเล่าของพระองค์เจ้าธานีฯ ในหนังสืองานศพ ทำให้เรารู้ว่าปาณฑิตย์เรียนที่จุฬาฯ ได้สองปี ก็ตามราชการพ่อไปเรียนเตรียมออกซฟอร์ดสองปีที่อังกฤษ ก่อนที่จะได้เข้าเรียนที่ออกซฟอร์ด แล้วจึงกลับมาเรียนต่อที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ (ปาณฑิตย์กลับมาเรียนที่นี่ในรุ่นปี 2495 ข้อมูลจากหนังสือมหาวิทยาลัยที่เขาเขียนเล่าเปรียบเทียบต่างประเทศและจุฬาฯ) กล่าวคือ เขาเรียนจุฬาฯ ชั้นปีที่ 1 และชั้นปีที่ 2 ในช่วง 2489-2491 ติดตามราชการต่างประเทศของพ่อไปเรียนที่อังกฤษสองปี โดยเรียนเตรียมเข้าออกซฟอร์ด ในช่วง 2491-2493 และเข้าเรียนที่เมอร์ตันคอลเลจของออกซฟอร์ดในช่วงปี 2493-2494 ก่อนกลับเข้ามาเรียนจุฬาฯ อีกทีในปี 2495 (ผู้เขียนคาดเดาปีโดยมีหลักฐานมาจากบทความของเขาที่ตีพิมพ์ในหนังสือมหาวิทยาลัยในปี 2495) อาจเป็นไปได้ว่าที่นับรุ่น 18 เพราะปาณฑิตย์เคยเรียนก่อนแล้ว 2 ปี จึงกลับมาเรียนต่ออีกแค่ 2 ปีพร้อมกับรุ่น 18 ที่กำลังเข้าเรียนชั้นปีที่ 3 อย่างไรก็ดีหากนับรุ่นตามปีเข้าศึกษาอย่างที่เราเข้าใจ เขาก็ควรจะอยู่รุ่น 14 หรือ 15 มากกว่า ไม่ใช่รุ่น 18

หากอ่านผ่านๆ ในหนังสืองานศพ เราอาจจะคิดว่า เขาไปแลกเปลี่ยนที่ออกซฟอร์ดหนึ่งปี แล้วกลับมาเรียนที่จุฬาฯ ต่อ แต่จากการสัมภาษณ์ ส. ศิวรักษ์ และจากข้อเขียนของ ส. ศิวรักษ์ในหนังสือคันฉ่องส่องเจ้า ทำให้เราทราบได้ว่าปาณฑิตย์สนใจกิจกรรมการเมืองในมหาวิทยาลัยมากเกินไปทำให้สุดท้ายเรียนไม่จบ ซึ่งข้อมูลนี้ก็ได้รับการยืนยันโดยนัยจากข้อเขียนภาษาอังกฤษส่วนหนึ่งในไดอารีของปาณฑิตย์ซึ่งพระองค์เจ้าธานีฯ คัดลอกยกมาไว้ในส่วนคำนำของหนังสืองานศพว่าเขาเริ่มสนใจคิดเขียนเมื่อเรียนที่ออกซฟอร์ด

เมอร์ตันคอลเลจ

ในช่วงเวลาที่อยู่ที่ออกซฟอร์ดนั้น ปาณฑิตย์เข้าศึกษาที่เมอร์ตันคอลเลจ (Merton College) ซึ่งเป็นวิทยาลัยภายใต้มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่ง ศิษย์เก่าในรุ่นใกล้ปาณฑิตย์ที่คนส่วนใหญ่น่าจะรู้จักกันดีคือ สจวต ฮอลล์ (Stuart Hall) ซึ่งเข้าศึกษาที่เมอร์ตันคอลเลจเมื่อปี 2494 และเป็นผู้บุกเบิกสาขาวัฒนธรรมศึกษา รวมถึงผู้ก่อตั้ง New Left Review โดยศึกษาวรรณคดีอังกฤษ ก่อนที่โซเวียตบุกฮังการีและวิกฤตคลองสุเอซที่ทำให้เขามาสนใจการเมือง จากการสัมภาษณ์ ส. ศิวรักษ์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าปาณฑิตย์น่าจะไปศึกษาในหลักสูตร PPE (Philosophy, Politics and Economics) ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักสูตรขึ้นชื่อของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด

ทั้งนี้เราอาจสันนิษฐานได้ว่าเหตุที่ปาณฑิตย์เข้ามาที่นี่อาจมาจากที่พระองค์เจ้าธานีฯ ก็ทรงเป็นศิษย์เก่าของเมอร์ตันคอลเลจเช่นกัน ดังที่พระองค์ได้ปรารภกับ ส. ศิวรักษ์ในหนังสือกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ตามทัศนะ ส. ศิวรักษ์ ว่า “ที่เธอเขียนยกย่องฉันนั้น ขอบใจมาก เธอตั้งใจเขียนตามความจริง มีพลาดอยู่อันหนึ่งคือเธอว่าฉันเรียน Unversity College ซึ่งความจริงไม่ใช่ ฉันเรียน Merton College ต่างหาก”[5] พระองค์ยังทรงเป็นคนไทยคนแรกที่เรียนจบบูรพคดีศึกษา (oriental studies) อีกด้วย

ในส่วนคำนำหนังสืองานศพของปาณฑิตย์นั้น มีตอนหนึ่งที่พระองค์เจ้าธานีฯ เขียนเล่าถึงลูกชายไว้ว่าปาณฑิตย์เป็นคนชอบเขียนมานานแล้ว โดยสามารถเขียนภาษาอังกฤษและเข้าใจเหตุการณ์ของโลกได้ลึกซึ้ง ซึ่งพระองค์คัดลอกจากไดอารีส่วนตัวของเขามาใส่ไว้ด้วย มีใจความเป็นภาษาอังกฤษว่า

“It was at Oxford that my notorious taste for correspondence first came to the surface. The suggestion-book in the student sitting room in my College was filled with my messages, each of them extremely repetitious and therefore of no small length. The president of the student committee in the College, who had the duty of replying to such written suggestions, must have been dead bored by my outlandish style. To my suggestion that he should look up a previous long letter from me, he replied by asking “Which long letter ( of yours ), sir?””[6]

ด้วยข้อความนี้เองทำให้ผู้เขียนสนใจใคร่รู้เรื่องราวของเขาเมื่อครั้งที่อยู่ออกซฟอร์ด จึงได้ติดต่อไปยังห้องสมุดจดหมายเหตุของวิทยาลัยเมอร์ตันเพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับปาณฑิตย์ จนยืนยันได้ว่าปาณฑิตย์เคยเรียนที่เมอร์ตันคอเลจในช่วงปี 2493-2494 รวมถึงพบข้อความของปาณฑิตย์บางส่วนในหนังสือคำแนะนำ (suggestion book) ตามที่ข้อความในหนังสืองานศพข้างต้นได้อ้างอิงถึง โดยปรากฏอยู่ในหนังสือคำแนะนำของ J.C.R. (Junior Common Room)

อ้างอิงจากเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด J.C.R. นี้ นอกจากจะหมายถึงพื้นที่ห้องส่วนกลางสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีแล้ว ยังหมายถึงองค์กรนักศึกษาในวิทยาลัยด้วย อาจทำความเข้าใจง่ายๆ ได้ว่าหนังสือคำแนะนำของ J.C.R. นี้ เป็นหนังสือซึ่งตั้งอยู่ในห้องส่วนกลาง สำหรับให้นักศึกษาทั่วไป (ปาณฑิตย์เป็นหนึ่งในนั้น) เขียนถึงผู้ที่เป็นบอร์ดบริหารขององค์การนักศึกษา

อย่างไรก็ตาม เคราะห์ร้ายที่หนังสือคำแนะนำของ J.C.R. ซึ่งครอบคลุมระยะช่วงต้นที่เขาอยู่ที่ออกซฟอร์ดได้ถูกเผาทำลายไปแล้ว บรรณารักษ์ให้ข้อมูลว่าในเดือนพฤษภาคม ปี 2494 เมอร์ตันคอลเลจชนะการแข่งขันพายเรือแคนูแปดฤดูร้อน จึงมีงานเฉลิมฉลองเกิดขึ้น โดยมีการจุดกองไฟกลางแจ้งนำไปสู่ไฟไหม้ จนหนังสือหลายเล่มถูกเผาไปด้วย เหลือหนังสือคำแนะนำของ J.C.R. เพียงแค่สองเล่ม ได้แก่ เล่มแรกที่ครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่ 24 พฤษภาคม 2494 – 10 พฤศจิกายน 2495 และอีกเล่มที่เริ่มตั้งแต่ 11 พฤศจิกายน 2495 ซึ่งไม่ชัดเจนว่าวันที่สิ้นสุดเมื่อใด บรรณารักษ์พบข้อความเขียนด้วยลายมือที่ลงชื่อปาณฑิตย์ โสณกุล 4 จุด ในส่วนต้นของหนังสือคำแนะนำเล่มแรก และไม่พบในหนังสือเล่มที่สอง ผู้เขียนได้ถอดลายมือตัวเขียนของข้อความทั้งสี่ชุดออกมา มีรายละเอียดดังนี้

Entry 1

Sir,

I read Mr. Richardson’s letter with a guilty conscience.

yours faithfully,
Pandit Sonakul

ในส่วนที่หนึ่งนี้ เป็นข้อความสั้นๆ ที่เราไม่ทราบบริบทในการโต้ตอบ ทางบรรณารักษ์ของห้องสมุดจดหมายเหตุของวิทยาลัยเมอร์ตันได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าในส่วนนี้เป็นการตอบข้อความของ Mr. Richardson ในส่วนก่อนหน้าที่อยู่ในหนังสือเล่มเดียวกัน โดยข้อความของ Mr. Richardson นั้นเป็นการเขียนแนะนำว่าควรจะจัดเตรียมหนังสือเล่มพิเศษให้กับบางคนที่เขียนข้อความหนังสือคำแนะนำมากจนเหมือนจะครองหนังสือไปแล้ว แต่ในบรรดาชื่อที่ Mr. Richardson พูดถึง ไม่มีชื่อปาณฑิตย์อยู่ด้วย ข้อความส่วนที่หนึ่งนี้จึงน่าจะเป็นการแสดงความเสียใจและผิดหวังที่ไม่มีชื่อตนอยู่ในรายชื่อของ Mr. Richardson

Entry 2

9.6.51

Sir,

May I protest against the intention of politics into the J.C.R. notice board? A line of partisan comment was added* to the Daily Herald’s remarkable achievement in the field of weather forecasts.

yours faithfully,
Pandit Sonakul

*no doubt, after the rains this evening,.

ในส่วนที่สองนี้ดูจะเป็นการแสดงความเห็นเสียดสีอย่างไม่จริงจังนัก ปาณฑิตย์ไม่เห็นด้วยกับข้อความที่ถูกเขียนในกระดานประกาศของ J.C.R. ว่าด้วยความสำเร็จที่โดดเด่นของ Daily Herald ในด้านการพยากรณ์อากาศ และในตอนท้ายยังมีการใส่ดอกจันเพื่อเพิ่มข้อความว่า “หลังจากที่ฝนตกในบ่ายวันนี้ ก็ไม่แปลกใจเลย” โดยมีนัยเป็นการเสียดสี คาดว่าเป็นในวันนั้นพยากรณ์อากาศของ Daily Herald จะบอกว่าไม่มีฝนตก ซึ่งตรงข้ามกับความจริงที่มีฝนตกตอนบ่าย

Entry 3

                                                                                             10/6/51

Sir,

I would like to protest most vehemently against the way the J.C.R. meeting was adjourned this evening. It was dictatorial, and showed little respect for the opinion of the minority, (whatever nonsense that minority might have been generally considered to be saying.) Nor was I (who, as a matter of fact, was that minority,) unduly delaying the procedure of the meeting. It was then only a quarter past nine. Not excessively late. Moreover, the discussions about the newspapers had not exactly come to a completely definite and strictly speaking, many other people might have been wishing to speak, (who might conceivably include you, sir.) Therefore, the proposal for adjournment did more than executing the general wish to silence me. It was an affront to the many possible would – be speakers I mentioned above. I know the temptation to play to the gallery is always great for some people, and there is no doubt that the proposal concerned with the wish of the vast majority present. But is personal prominence more important than principle?

I have my own views about the subject-matter I raised. But they are not relevant to discuss in this letter[7] But it is not relevant to discuss them here (i.e. in this letter) What I am complaining about is the manner in which I was deprived of the right to present my sincere opinion, (and, of course, the very fact that I was deprived of that democratic right.)

I suppose after this long letter of mine some tolerant gentleman will urge that the last two pages be burned. “Needless to say, such a suggestion would be as”


Response to Pandit 3.3  (perhaps written by the person responsible for managing the suggestion book)

“I think I am correct in saying, sir, that you are a ‘late entry’ into the mastery. It was quite clear from the previous discussion on papers that nothing whatsoever could be affected until surely next turn and both motions on “The People” + the “T.L.S” are to be raised  at the next meeting before action is taken.

We are all, ! hope, fwiw[8] believe in democratic principles. There are times, Sir, when theory blinds practical considerations, perhaps last night was one of those occasions.

I might add, sir, that it has been a tradition, for some years in the J.C.R to more that ‘Poor sherry be seared on battels’ in order to terminate the proceeding when they reach a stage when serious + productive business can no longer be transacted.

thank you, Sir.”

ในส่วนที่สามนี้ยาวเป็นพิเศษ เนื่องจากประกอบด้วยสองส่วน คือ ส่วนที่เขาเขียนถึงบอร์ดบริหารของ J.C.R. และอีกส่วนซึ่งมีผู้เขียนตอบกลับข้อความของเขา (เราไม่ทราบผู้ตอบกลับแน่ชัด บรรณารักษ์ให้ข้อมูลว่า อาจเป็นการตอบกลับโดยนายกองค์การนักศึกษาของ J.C.R. หรืออาจจะเป็นการตอบโดยสมาชิกหนึ่งในองค์การนักศึกษาที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลหนังสือคำแนะนำก็ได้)

ในส่วนนี้เป็นส่วนที่จริงจังและแสดงถึงบทบาทการมีส่วนร่วมกับการเมืองในมหาวิทยาลัยของเขาได้ดีที่สุด เขาแสดงความไม่พอใจอย่างมากต่อการที่บอร์ดบริหาร J.C.R. เลื่อนการประชุมออกไป โดยถึงขั้นวิจารณ์ว่าเป็นเผด็จการและไม่เคารพความเห็นเสียงข้างน้อย ซึ่งเขาเองก็เป็นหนึ่งในชนกลุ่มน้อยเหล่านั้น เขาโจมตีว่าการเลื่อนประชุมออกไปไม่ใช่แค่การดำเนินการตามปกติ แต่เป็นความพยายามที่จะปิดปากเขา ไม่ให้ได้แสดงความเห็นออกมา ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักการประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง ข้อความส่วนนี้ทำให้เราสามารถคาดเดาโดยนัยได้ว่าปาณฑิตย์น่าจะมีส่วนร่วมมากในการเมืองระดับมหาวิทยาลัย เขาอ้างว่าการเลื่อนการประชุมเป็นความพยายามปิดปากเขา แสดงให้เห็นว่าเขาก็อาจจะมีตำแหน่งหรือที่ทางบางอย่าง ที่ทำให้เขาสามารถเข้าพูดในที่ประชุมได้

ข้อความโจมตีของเขาได้รับการตอบกลับโดยตัวแทนจากองค์การนักศึกษาของ J.C.R. ซึ่งอาจเป็นนายกหรือผู้ดูแลหนังสือคำแนะนำ นับเป็นส่วนเดียวในบรรดาข้อความสี่ส่วนของปาณฑิตย์ในหนังสือคำแนะนำที่ได้รับการตอบกลับ โดยเขียนด้วยลายมือหวัดๆ ซึ่งอ่านยากมาก (เข้าใจว่าผู้เขียนคงเร่งรีบเขียน อาจเป็นเพราะโกรธข้อความต่อว่าที่ปาณฑิตย์ทิ้งไว้ หรืออาจเป็นเพราะมีข้อความจำนวนมากต้องก็ตอบก็ได้) การตอบมีใจความสำคัญเป็นการชี้แจงว่าการเลื่อนประชุมนั้นทำอย่างถูกต้องแล้ว และญัตติที่จะมีการอภิปรายในการประชุมครั้งนี้จะย้ายไปอภิปรายในการประชุมครั้งหน้าต่อไป พร้อมทั้งเน้นย้ำความเชื่อในหลักการประชาธิปไตย

Entry 4

11/6/51

Sir,

On mature reflection, I wish to express my regret for writing my latest letter in this book, and to apologize if my remarks therein have been constructed as a criticism directed against either yourself or the President; they were certainly not intended as such.

It is not my wish to introduce any approach to an atmosphere of personal animosity in this J.C.R.

yours sincerely,

Pandit Sonakul

ในส่วนที่สี่นี้ ปาณฑิตย์อ้างถึงข้อความในส่วนที่สาม ซึ่งได้เขียนเมื่อวาน (ส่วนที่สาม เขียนวันที่ 10/6/51 และส่วนที่สี่เขียนวันที่ 11/6/51) โดยแสดงความเสียใจต่อข้อเขียนในส่วนที่สาม และขออภัยถ้าคำวิพาษ์วิจารณ์เหล่านี้ไปกระทบโดยตรงกับคนอ่านหรือนายกองค์การนักศึกษา ซึ่งเขาไม่ต้องการให้เป็นเช่นนั้น และไม่ต้องการสร้างบรรยากาศความเกลียดชังส่วนตัวขึ้นใน J.C.R. แห่งนี้ การขอโทษเกี่ยวกับข้อความก่อนหน้า เราอาจเข้าใจได้ว่า เขาอาจเป็นคนหุนหันพลันแล่นที่วิจารณ์คนรอบข้างอย่างตรงไปตรงมา เมื่อกลับไปนอนคิดอาจจะรู้สึกไม่เหมาะสม จึงมาเขียนขอโทษไว้ หรือไม่ก็อาจเป็นเพราะข้อความดังกล่าวของเขาได้สร้างผลกระทบขนานใหญ่กว่าที่เขาคิด ซึ่งอาจรวมไปถึงการทำให้บอร์ดบริหาร J.C.R. และนักศึกษาบางคนไม่พอใจเขาเป็นการส่วนตัวก็ได้ เห็นได้จากการตอบกลับข้อความอันยาวเหยียดในส่วนที่สาม (ซึ่งเป็นส่วนเดียวในสี่ส่วนที่องค์การนักศึกษา J.C.R. ตอบกลับข้อความของปาณฑิตย์) การขอโทษนี้อาจมีนัยเป็นการหลีกเลี่ยงการสร้างศัตรูในมหาวิทยาลัยของเขาก็ได้

ข้อความของปาณฑิตย์ที่ปรากฏในหนังสือคำแนะนำของ J.C.R. ทั้งสี่ส่วนนั้น นอกจากจะเป็นชิ้นหลักฐานใหม่ (ในบรรดาหลักฐานเพียงน้อยนิดเกี่ยวกับปาณฑิตย์) ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าคงยังไม่เคยมีการเปิดเผยในบทความวิชาการภาษาไทยมาก่อนนั้น ยังเป็นหนึ่งในหลักฐานที่ช่วยประกอบให้เห็นตัวตนและความคิดของของเขาได้เป็นอย่างดี

ในตอนท้ายปาณฑิตย์ก็ไม่ได้สำเร็จการศึกษาจากเมอร์ตันคอลเลจ แต่กลับมาเรียนต่อจนสำเร็จการศึกษาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแทน ซึ่งบรรดาข้อความในหนังสือคำแนะนำก็ช่วยสนับสนุนการอธิบายของ ส. ศิวรักษ์ ที่เล่าถึงการเรียนไม่จบนี้ไว้ในหนังสือคันฉ่องส่องเจ้าว่า “… คุณชายไปเรียนมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดตามรอยท่านพ่อ หากไม่สำเร็จการศึกษา ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะขาดสติปัญญา หากเธอไปสนใจการเมืองและกิจกรรมของนักศึกษา จนไม่มีเวลาดูหนังสือ …” โดยแสดงให้เห็นว่าปาณฑิตย์พยายามมีส่วนร่วมในการเมืองและกิจกรรมของนักศึกษาอยู่ตลอดเวลา อย่างน้อยที่มีหลักฐานก็คือการมีส่วนร่วมผ่านหนังสือคำแนะนำของ J.C.R. อยู่เสมอ

หนังสือมหาวิทยาลัย

จากข้อเขียนของปาณฑิตย์ที่พระองค์เจ้าธานีฯ ยกมาในส่วนคำนำ ทำให้เรารู้ว่าเขาสนใจและเริ่มเขียนที่เมอร์ตัน โดยเริ่มจากข้อเขียนเป็นภาษาอังกฤษก่อน หลังจากที่กลับมาไทยและศึกษาต่อที่จุฬาฯ เราจึงเริ่มเห็นลวดลายของเขาในข้อเขียนภาษาไทยครั้งแรก ผ่านหนังสือมหาวิทยาลัยฉบับปี 2495 ซึ่งเป็นปีที่เขากลับมาเรียนที่จุฬาฯ พอดี หนังสือมหาวิทยาลัยนี้เป็นวารสารรายปีที่จัดทำขึ้นในวันปิยมหาราช (23 ตุลาคม) ของทุกปี โดยฝ่ายสาราณียกรแห่งสโมสรนิสิตจุฬาฯ ทั้งนี้สมาชิกสาราณียกรจะมาจากการเลือกของทั้งมหาวิทยาลัยเพื่อให้ทำหน้าที่คัดเลือกข้อเขียนที่มีการส่งเข้ามาและนำไปตีพิมพ์ในโอกาสต่างๆ หนึ่งในสมาชิกสาราณียกรที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคือ จิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งก็ได้ปฏิวัติขนบการทำหนังสือมหาวิทยาลัยฉบับวันที่ 23 ตุลาคม 2496 ทั้งในส่วนของรูปเล่มและเนื้อหา จนนำไปสู่ความไม่พอใจของกลุ่มอนุรักษนิยมบางกลุ่มในมหาวิทยาลัยและเป็นเหตุให้เขาถูกจับโยนบกอย่างป่าเถื่อนในที่สุด

ข้อเขียนของปาณฑิตย์ที่ปรากฏในหนังสือมหาวิทยาลัยฉบับปี 2495 นั้น เป็นบทความชื่อ ‘ข้อสังเกตสั้นๆ เมื่อกลับบ้าน’ โดย ม.ร.ว. ปาณฑิตย์ โสณกุล นิสิตคณะอักษรศาสตร์และครุศาสตร์[9] อยู่ในหน้าที่ 302-306 เนื้อหาบางส่วนจะพูดถึงความเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยและจุฬาฯ ในสายตาคนที่ไปอยู่ต่างประเทศ 4 ปีอย่างเขา โดยดูราวกับว่าเขาค่อนข้างพอใจกับการที่อเมริกาเข้ามาลงทุนในประเทศไทย การมีเครื่องดื่มโคคา-โคล่าที่เขาชื่นชอบ และการพัฒนาถนนหนทางให้ทันสมัย ขณะที่อีกส่วนมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การเมืองโลกภาพใหญ่ในระดับระหว่างประเทศ ซึ่งก็ได้แสดงให้เห็นถึงความกล้าแสดงออกซึ่งตัวตนและจุดยืนทางการเมืองชัดมาก โดยเขาแสดงความกังวลและระแวงต่อการเข้ามาของอุดมการณ์แบบคอมมิวนิสต์ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างในพม่าและอินโดนีเซีย ซึ่งเขามองว่าเป็นสาเหตุทำให้บ้านเมืองไม่สงบเรียบร้อย ในกรณีของอินโดนีเซีย เขาเรียกคอมมิวนิสต์อย่างเสียดสีว่า “พวกเคร่งศาสนามอสโคว์” และ “พวกเคร่งศาสนาค้อนเคียว” ซึ่งเขามองว่าเป็นพวกที่สร้างความเดือดร้อนให้ประเทศ และหวังว่าประเทศไทยจะสงบเรียบร้อยต่อไป ไม่เป็นดังเช่นประเทศเพื่อนบ้าน

ปาณฑิตย์เรียนจบจากจุฬาฯ ในปี 2496-2497 นั่นก็หมายถึงเขาอยู่ทันยุคที่จิตร ภูมิศักดิ์ ถูกโยนบก จากหนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับปี 2496 น่าเสียดายว่าเราไม่อาจทราบได้ว่าเขามีความคิดเห็นทางการเมืองกับจิตรอย่างไรในเวลานั้น ด้วยเหตุที่ว่าเรายังไม่เห็นข้อเขียนของปาณฑิตย์เกี่ยวกับกรณีจิตร ภูมิศักดิ์  ไม่แน่ว่าอาจเป็นเพราะสถานะทางสังคมของพ่อเขาซึ่งขณะนั้นได้ดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรีไปแล้ว หรืออาจเป็นเพราะเขายุ่งอยู่กับการเรียนหนังสือให้จบตามเพื่อนร่วมรุ่น ก็เป็นไปได้

นุ่งผ้าม่วงรับปริญญา

จากการไปเรียนที่อังกฤษนี่เองที่เราจะเริ่มเห็นบุคลิกปาณฑิตย์ที่ดูจะมีความเป็นตัวของตัวเองและกล้าแสดงออกอยู่ไม่น้อย ดังที่ ส. ศิวรักษ์ ได้นิยมปาณฑิตย์ไว้ว่า “คุณชายปาณฑิตย์เป็นคนเก่งอย่างกล้าแหวกแนวออกไปจากค่านิยมของสังคม”[10] ขณะที่เขายอมรับว่าเราต้องมีการพัฒนาจากอเมริกา แต่ก็ไม่คิดว่ามันจะจำเป็นต้องขัดกับความเป็นไทยที่เขาเชื่อถือ ประกอบกับที่ความคิดการเกลียดชังรัฐนิยมสมัยจอมพล ป. น่าจะฝังรากลึกกับเขาตั้งแต่เด็ก และบิดาของเขาก็ดูจะแสดงออกต่อต้านแนวคิดรัฐนิยมนี้อยู่กลายๆ ดังที่พระองค์เจ้าธานีฯ ได้เคยเขียนวิจารณ์นโยบายของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และออกตัวสนับสนุนการนุ่งโจงกระเบนและอื่นๆ อีกทั้งส. ศิวรักษ์เองก็ได้เล่าให้เห็นถึงความเกลียดชังของพระองค์เจ้าธานีฯ ต่อคณะราษฎร (โดยเฉพาะจอมพล ป.) ดังนั้น ปาณฑิตย์เองก็คงจะต้องการท้าทายบรรทัดฐานของยุคสมัย ด้วยการประกาศว่าจะนุ่งผ้าม่วง-สวมครุยไปเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร แทนที่จะใส่ชุดขาวเข้ารับดังเช่นที่ได้มีการกำหนดไว้ แม้เพื่อนจะห้ามอย่างไรเขาก็ไม่ยอมฟัง ในตอนท้ายบรรดาเพื่อนจึงตัดสินใจมอมเหล้าเขา จนหลับเลยเวลาพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ทำให้เขาไม่ได้นุ่งผ้าม่วงเข้ารับปริญญาตามที่ตั้งใจไว้

การเขียน

หลังจากปาณฑิตย์เรียนจบ เขาเข้ารับราชการในกระทรวงศึกษาธิการ แต่ก็ลาออกเพราะปัญหาสุขภาพ ในช่วงนี้เองที่เราเห็นเขาเขียนบทความส่งลงไปยังหนังสือพิมพ์ต่างๆ มากมาย

เพื่อนสนิทของเขา หม่อมราชวงศ์พัฒนไชย ไชยันต์ เขียนเล่าเกี่ยวกับปาณฑิตย์ไว้ในหนังสืองานศพของเขาว่า ปาณฑิตย์ชอบนั่งคิดและเขียนหนังสือที่ร้านกาแฟเล็กๆ ที่ไม่ค่อยมีคนพลุกพล่านนัก โดยมีร้านประจำเป็นร้านกาแฟที่หน้าวังบูรพา ซี่งเขามักจะสั่งโอเลี้ยงมาดื่มแล้วก็นั่งคิดอะไรต่ออะไรนานๆ อยู่คนเดียว บรรจงคิดๆ เขียนๆ ออกมาเป็นบทความ และบางทีก็นำไปให้พัฒนไชยช่วยอ่านดูด้วย ในบางครั้งขณะนั่งอยู่คนเดียว เขาก็เอาหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ออกมากางอ่านด้วย โดยปาณฑิตย์ชอบอ่านหนังสือรายสัปดาห์ที่ตีพิมพ์ในอังกฤษอยู่ 2 ฉบับ คือ New Statesman และ Observer โดยเขามักจะสั่งหนังสือพิมพ์ 2 ฉบับนี้มาทางไปรษณีย์อากาศ ทั้งนี้ ในช่วงยุคของปาณฑิตย์นั้น หนังสือพิมพ์ New Statesman ภายใต้การกำกับดูแลของบรรณาธิการอย่าง Kingsley Martin (ในช่วงปี 2473-1503) เป็นหนังสือพิมพ์ที่มีจุดยืนทางการเมืองเป็นฝ่ายซ้ายแบบสังคมนิยม ส่วนหนังสือพิมพ์ Observer นั้น อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากเดิมที่มีจุดยืนแบบอนุรักษนิยม ภายใต้การกำกับของ J. L. Garvin ในฐานะบรรณาธิการ ต่อมาจุดยืนเช่นนี้เองที่ทำให้ Garvin มีปัญหากับ David Astor ลูกชายของเจ้าของหนังสือพิมพ์ซึ่งมีแนวคิดแบบเสรีนิยมมากกว่า จนต้องลาออกจากการเป็นบรรณาธิการในปี 2485 หนังสือพิมพ์จึงได้ยึดจุดยืนทางการเมืองแบบไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด จนกระทั่งในปี 2491 David ได้รับช่วงเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ต่อจากพ่อและเข้ากำกับดูแลเองในฐานะบรรณาธิการ จึงสันนิษฐานได้ว่าในช่วงนี้หนังสือพิมพ์ Observer มีจุดยืนทางการเมืองแบบเสรีนิยม ทั้งนี้ความสำคัญก็คือหนังสือพิมพ์ทั้งสองฉบับนี้ น่าจะมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการประกอบสร้างความคิด และท่าทีทางการเมืองของปาณฑิตย์

ในส่วนของข้อเขียนนั้น ปาณฑิตย์น่าจะเขียนงานลักษณะที่เสียดสีหรือกระทบกระทั่งกับคนอื่นอยู่ไม่น้อย ดังนั้น เขามักจะเอาข้อเขียนฉบับร่างไปให้พัฒนไชยซึ่งทำงานอยู่ใกล้ร้านกาแฟอ่าน เพื่อคอยตรวจสอบอีกรอบว่าเขียนรุนแรงเกินไปหรือไปกระทบใครเข้าหรือไม่ และจะขอให้เขาแก้ โดยหากไม่มีที่แก้แล้วเขาก็จะกลับไปยังร้านกาแฟเดิม คัดลอกงานเขียนในกระดาษร่าง แล้วรออยู่จนพัฒนไชยทำงานเสร็จ เพื่อขอติดรถไปลงที่ราชดำเนิน แล้วเดินไปส่งข้อเขียนที่สำนักงานหนังสือพิมพ์ด้วยตนเอง เมื่อเสร็จกระบวนการทั้งหมด เขาก็จะเฝ้ารอวันที่บทความตนเองจะได้ตีพิมพ์และจะซื้อหนังสือฉบับที่มีบทความของตนเก็บเอาไว้ พร้อมทั้งจะซื้อหนังสือพิมพ์ฉบับต่อๆ ไปด้วยเพื่อจะดูว่ามีใครเขียนสนับสนุนหรือค้านความคิดของเขาไหม ถ้าไม่มี เขาจะรู้สึกผิดหวัง แต่ถ้ามีเขาจะยินดีเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นการเขียนแย้งความคิดเห็นของเขาอย่างมีเหตุผลน่าฟัง เขาจะชอบใจมาก และจะพยายามนั่งคิดหาเหตุผลมาโต้กลับ หลายครั้งก็ถึงขั้นลงทุนไปหาผู้หลักผู้ใหญ่เพื่อขอความรู้ หรือไปค้นหาหลักฐานจากหนังสือตามที่ต่างๆ ก่อนจะเขียนตอบโต้ลงหนังสือพิมพ์ ซึ่งพัฒนไชยบรรยายว่าในช่วงการค้นคว้าเพื่อตอบกลับข้อแย้งนั้น เป็นช่วงที่ปาณฑิตย์ดูคึกคักและมีชีวิตชีวาเป็นพิเศษ

เราสามารถเห็นข้อถกเถียงต่างๆ และดีเบตที่ปาณฑิตย์เขียนเป็นภาษาอังกฤษได้ในคอลัมน์ Post Mailbag ของหนังสือพิมพ์ Bangkok Post ซึ่งทางครอบครัวได้คัดสรรลงมาพิมพ์ซ้ำไว้ในหนังสืองานศพ ผู้เขียนพยายามหาข้อถกเถียงของเขาก่อนหน้าในหอสมุดแห่งชาติ แต่ก็ไม่ได้อะไรมากนัก ดังนั้น จึงจะขอสรุปข้อถกเถียงและข้อน่าสังเกตที่มีจากหนังสืองานศพของเขามาโดยสังเขปดังนี้


บทความเรื่องการคุมกำเนิด-การควบคุมจำนวนประชากร

ในปี 2502 ปาณฑิตย์ได้เขียนบทความโต้ตอบนักเขียนผู้ใช้นามปากกาว่า Kala Tesa ในประเด็นการคุมกำเนิด หรือการควบคุมจำนวนประชากร การโต้เถียงของทั้งคู่เริ่มต้นเมื่อ Kala Tesa มีความเห็นว่าสยามควรมีประชากรจำนวน 100 ล้านคน เพื่อเป็นกำลังแรงงานในการพัฒนาภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม

ปาณฑิตย์มีจุดยืนตรงข้ามกันกับ Kala Tesa เขากล่าวถึงแนวโน้มที่เครื่องจักรหรือเทคโนโลยีจะเข้ามาทดแทนแรงงานมนุษย์ จึงไม่จำเป็นต้องมีประชากรจำนวนมากอีกต่อไป จุดยืนของปาณฑิตย์คือ สยามควรมีประชากรจำนวนไม่เกิน 25 ล้านคน เนื่องจากเมื่อประชากรเพิ่มมากขึ้น จะต้องใช้ทรัพยากรมากขึ้นในการอุปโภคบริโภค บริการด้านสาธารณสุข และด้านการศึกษา ทำให้เหลือทรัพยากรน้อยลงสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจ

Kala Tesa ได้ตอบกลับมาว่า เห็นด้วยกับการเข้ามาของเครื่องจักรและเทคโนโลยี แต่ยังคงยืนกรานในจุดยืนที่ว่า สยามควรมีประชากรจำนวน 100 ล้านคน โดยได้ยกประเด็นเรื่องความเป็นมหาอำนาจมาสนับสนุน และการจะมุ่งสู่ความเป็นมหาอำนาจ Kala Tesa ได้เสนอว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี จะต้องดำเนินการด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมหนัก อีกทั้งตามข้อมูลจากธนาคารโลก สยามมีทรัพยากรแร่ธาตุเพียงพอที่จะทำให้แผนที่ว่านี้เป็นจริงได้

ปาณฑิตย์โต้ตอบโดยการยกตัวอย่างประเทศที่มีประชากรจำนวนมาก หากแต่ผลผลิตทางเศรษฐกิจไม่ได้มากตามจำนวนประชากร และยังหักล้างข้อโต้แย้งด้วยการพิสูจน์ว่าข้อมูลของ Kala Tesa ไม่ตรงกับที่หลักฐานต้นฉบับได้กล่าวไว้ จน Kala Tesa ก็ได้ล้มเลิกความพยายามในการถกเถียงในที่สุด

เราจะเห็นได้ว่า บทความของปาณฑิตย์เต็มไปด้วยข้อมูลที่สนับสนุนจุดยืนของเขา ไม่ได้ตั้งข้อเสนอขึ้นมาลอยๆ แต่อย่างใด อีกทั้งปาณฑิตย์ยังกล่าวชื่นชมคู่สนทนา เมื่ออีกฝ่ายยอมรับว่าข้อมูลบางส่วนที่ปาณฑิตย์ยกมานั้นสามารถโน้มน้าวให้เห็นด้วยได้ นอกจากนี้ เรายังอนุมานได้ว่า ปาณฑิตย์เป็นนักคิดนักเขียนที่มีสายตาที่กว้างไกล เขาคาดการณ์ได้ว่า อนาคตประชากรจะล้นเกิน ในปี 2513 หรือประมาณ 11 ปีหลังจากบทความของปาณฑิตย์ได้ตีพิมพ์ รัฐบาลไทยภายใต้การนำของจอมพลถนอม กิตติขจร ก็ได้ประกาศนโยบายประชากรแห่งชาติ เพื่อการวางแผนครอบครัว เนื่องจากอัตราการเพิ่มของประชากร อาจจะส่งผลให้การพัฒนาประเทศล่าช้าได้[11] ซึ่งเป็นข้อมูลที่สอดคล้องอย่างยิ่งกับการคาดการณ์ของปาณฑิตย์


บทความเรื่องความมั่นคงทางสังคม-ระบบประกันสังคม

ปาณฑิตย์ไม่เห็นด้วย หากสยามจะนำระบบประกันสังคมของตะวันตกมาใช้โดยไม่ปรับเปลี่ยนอะไรเลย เขาเห็นตรงกันกับนักเขียนคอลัมน์ Post Mailbag ผู้มีนามปากกาว่า Scrimshanks ที่กล่าวว่า เบี้ยเลี้ยงประกันสังคมถ้วนหน้า อาจเป็นการกระตุ้นให้ครอบครัวคนไทยที่ยากจนและมีลูกหลายคนนั้น มีลูกเพิ่มขึ้นอีกได้ ซึ่งอาจทำให้ประชากรเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างก้าวกระโดด นอกจากปาณฑิตย์จะเห็นด้วยกับเหตุผลของ Scrimshanks แล้ว เขายังเสนอเหตุผลเพิ่มเติมอีกสองประการ ประการแรกคือในสังคมไทยที่ครอบครัวส่วนมากมีลูกหลายคน การจ่ายค่าประกันสังคมตามรูปแบบของตะวันตกอาจเป็นการสร้างภาระเพิ่มเติมแก่หัวหน้าครอบครัวชนชั้นกลาง ที่ก็มีภาระหนักมากอยู่แล้วในการหาเลี้ยงสมาชิกในครัวเรือน ประการที่สองคือระบบประกันสังคมอาจเป็นการสร้างภาระงานให้กับการบริหารงานภาครัฐ ที่ข้าราชการได้รับเงินเดือนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งยังอยู่ในโครงสร้างระบบการบริหารที่ไม่ได้มีประสิทธิภาพตั้งแต่แรก

เราคาดว่าที่ปาณฑิตย์หยิบยกเรื่องประกันสังคมมากล่าวถึงในงานเขียนของเขา เพราะในช่วงเวลานั้น สยามกำลังเริ่มก่อร่างสร้างนโยบายประกันสังคม เห็นได้จากที่เมื่อปี 2495 มี ‘คณะกรรมการสังคมสงเคราะห์’ ซึ่งแต่งตั้งโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ต่อมาในปี 2497 มีการตราพระราชบัญญัติประกันสังคมและการตั้ง ‘กรมประกันสังคม’[12] ในกระทรวงการคลัง แต่ในเวลานั้น กฎหมายประกันสังคมก็ไม่ได้มีการบังคับใช้ เนื่องจากความคิดที่ว่าประชาชนยังไม่มีความรู้ความเข้าใจมากพอ[13]

อย่างไรก็ตาม ปาณฑิตย์ไม่ได้ต่อต้านระบบประกันสังคม เขาเห็นว่าหากพัฒนาประเทศจนเป็นสังคมอุตสาหกรรม และมีความเป็นเมืองมากเพียงพอจนทำให้ระบบครอบครัวแบบดั้งเดิมเริ่มเสื่อมสลายลง ก็สามารถนำระบบประกันสังคมมาปรับใช้ได้ และจะเป็นการดีเสียด้วย

เมื่อพิจารณาร่วมกับความเห็นของปาณฑิตย์ในเรื่องการควบคุมจำนวนประชากร ซึ่งเขาได้ให้เหตุผลเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ เราก็อาจมองได้ว่า ปาณฑิตย์สนับสนุนการพัฒนาประเทศให้โอบรับกับระบบทุนนิยม ที่มีระบบประกันสังคมเป็นหลักประกันคุณภาพชีวิตของคน


ทัศนะของปาณฑิตย์ต่อการเมืองโลกสองขั้วอำนาจ

เมื่ออ่านบทความที่ปาณฑิตย์เขียน เราจะทราบได้ในทันทีว่า ปาณฑิตย์มีความสนใจในการเมืองโลกอย่างยิ่ง และจุดยืนของเขาคือการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์และการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ เนื้อความต่อจากนี้ จะกล่าวถึงประเด็นต่างๆ ในการเมืองโลกที่ปาณฑิตย์ได้เขียนลงในคอลัมน์ Post Mailbag ซึ่งล้วนส่องสะท้อนจุดยืนทางการเมืองของเขาได้เป็นอย่างดี

ดังจะเห็นได้ว่า ในบทความ ‘ข้อสังเกตุสั้นๆ เมื่อกลับบ้าน’ ปาณฑิตย์กล่าวถึงลัทธิคอมมิวนิสต์ในประเทศต่างๆ เช่น อินโดนีเซีย โดยเรียกว่า “พวกเคร่งศาสนามอสโคว์” และ “พวกเคร่งศาสนาค้อนเคียว อันมีกรุงมอสโคว์เปรียบเสมือนนครเม็กกะ” เราอาจมองได้ว่า การกล่าวว่าลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นเหมือน ‘ศาสนา’ น่าจะมีนัยของการที่อุดมการณ์ดังกล่าว ‘เผยแพร่’ จนมี ‘สาวก’ จำนวนมาก

นอกจากสหภาพโซเวียตแล้ว ปาณฑิตย์ยังวิพากษ์วิจารณ์จีนคอมมิวนิสต์ ในบทความชื่อ Red Chinese Bomb วันที่ 12 พฤศจิกายน 2507 เขากล่าวเปรียบเปรยว่า “การได้ทราบข่าวการทดสอบระเบิดปรมาณูของจีนก็เหมือนกับการได้เห็นขอทานสั่งซุปหูฉลามสุดหรู” เขามองว่าจีนไม่ประมาณตน เพราะจีนมีประชากรจำนวนมหาศาลและยังคงยากจน การใช้งบประมาณไปกับระเบิดปรมาณูเช่นนี้จะทำให้จีนไม่เจริญก้าวหน้าเสียที

ปาณฑิตย์กล่าวถึงบทบาทของไทยในการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ ในบทความที่ชื่อ  Ambassador Visutr: An Able Man เขาเล่าย้อนไปถึงปี 2500 เมื่อวิสูตร อรรถยุกติ ขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร ปาณฑิตย์กล่าวว่า วิสูตรเป็นผู้มีความสามารถและมีบทบาทสำคัญในการรับมือกับขบวนการฝ่ายซ้ายสุดโต่งที่มีคอมมิวนิสต์จีนอยู่เบื้องหลัง

ในช่วงปี 2503-2513 ไทยกับจีนคอมมิวนิสต์ (สาธารณรัฐประชาชนจีน) เป็นศัตรูกัน ในทางตรงกันข้าม ไทยมีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลก๊กมินตั๋งในการร่วมมือกันต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์[14] เราจะเห็นได้ว่าผู้นำไทยในช่วงเวลานั้นระแวดระวังภัยคอมมิวนิสต์จะเข้ามาบ่อนทำลายประเทศไทย ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ปาณฑิตย์จะมีความคิดต่อต้านจีน เพราะไทยเลือกยืนข้างฝั่งโลกเสรีนิยม หรือคือสหรัฐฯ และร่วมมือกันสกัดกั้นคอมมิวนิสต์ ผ่านการอนุญาตให้สหรัฐฯ ตั้งฐานทัพในไทย และส่งทหารไทยไปร่วมรบในสงคราม เช่น สงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม[15]

สหรัฐฯ ในเวลานั้นอยู่ภายใต้การนำของ จอห์น เอฟ เคนเนดี ผู้ที่ปาณฑิตย์กล่าวถึงอย่างชื่นชมว่าเป็นผู้นำที่เหมาะสมกับตำแหน่งประธานาธิบดี นอกจากนั้น ปาณฑิตย์ยังกล่าวถึงเอกอัครราชทูต เฮนรี คาบอต ลอดจ์ จูเนียร์ (Henry Cabot Lodge Jr.) ว่า เป็นเสรีนิยมผู้ที่มีบทบาทในการโน้มน้าวให้สหรัฐฯ ปฏิบัติการในเวียดนามใต้ จากที่กล่าวมานี้ เราจะสังเกตได้ว่า ผู้ที่ปาณฑิตย์กล่าวถึงอย่างชื่นชม มักมีแนวคิดเสรีนิยมเสียเป็นส่วนใหญ่

ทัศนะของปาณฑิตย์ต่อการเมืองโลกในช่วงสงครามเย็น ทำให้เรานึกถึง Cold War liberalism[16] อันเป็นความรู้สึกร่วม (temperament) ทางการเมืองในช่วงเวลานั้นที่นักคิดฝั่งโลกเสรีสมาทานร่วมกัน โดยมีจุดยืนร่วมคือการต่อต้านสหภาพโซเวียต ต่อต้านระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จที่ครอบงำประชาชน และต้องการธำรงไว้ซึ่งเสรีภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพเชิงลบ (negative freedom) เราจึงตั้งข้อสังเกตว่า ปาณฑิตย์ผู้เป็น conservative liberalism อาจเป็น Cold War liberalism ด้วยเช่นกัน และหากมีข้อมูลมากกว่านี้ เราอาจสรุปได้ว่าปาณฑิตย์อาจมีทัศนะเป็น Cold War liberalism แบบนักคิดคนใด เพราะนักคิดอย่าง Isaiah Berlin หรือ Michael Oakeshott ก็มีมุมมองที่แตกต่างกันอันมีนัยสำคัญอยู่


ทัศนะไม่เห็นด้วยกับระบบการเลือกตั้งผู้แทน

บทความดังกล่าวเป็นข้อเขียนสั้นๆ ซึ่งลงในหนังสือพิมพ์ Bangkok Post ฉบับวันที่ 16 มกราคม 2505 เป็นการตั้งคำถามเกี่ยวกับระบบการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยเสียดสีนักการเมืองที่ทุจริตว่าเป็นปรสิตที่ได้รับการเลือก (elected parasites) และตั้งคำถามต่อว่าระบบที่อนุญาตให้พวกปรสิตเช่นนี้กลับเข้าไปบริหารงานอีก ก็เป็นการทำให้เกิดการทุจริตแบบเก่าๆ ซ้ำไปซ้ำมาไม่รู้จบ เราจึงเสนอทางออกด้วยสมัชชาที่มาจากการแต่งตั้ง (appointed assembly) แทนระบบการเลือกผู้แทน โดยบอกถึงข้อดีว่าจะทำงานได้ดีกว่าและประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งด้วย ทั้งนี้เขาอ้างเหตุผลแนวเสรีนิยมสนับสนุนว่าเสรีภาพไม่ได้เทียบเท่ากับประชาธิปไตย เราสามารถมีเสรีภาพได้โดยไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบของรัฐสภา สิ่งที่สำคัญที่สุดจริงๆ คือการที่ประเทศควรถูกปกครองอย่างมีประสิทธิภาพและด้วยการยอมรับความเห็นของผู้อื่น

ปาณฑิตย์ขยายความและยกตัวอย่างสนับสนุนทัศนะนี้ของเขาต่อในอีกสองบทความถัดมา คือ บทความ ‘Re-enter the Pibulite’ ซึ่งตีพิมพ์ใน Bangkok Post ฉบับวันที่ 25 มกราคม 2505 และบทความ ‘Let’s not bother with elections’ ซึ่งตีพิมพ์ใน Bangkok Post ฉบับวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2505 สำหรับบทความ ‘Re-enter the Pibulite’ ชื่อบทความมาจากการตัดเอาบางส่วนของนามสกุลจอมพล ป. (Pibul จาก Phibunsongkhram) ต่อท้ายด้วยคำปัจจัย -ite ซึ่งมีความหมายว่ากลุ่มคนที่ติดตามหรือเป็นพรรคพวกของบุคคลคนหนึ่ง หรืออาจจะหมายถึงกลุ่มคนที่เชื่อตามแนวคิด อุดมการณ์ หลักคำสอนแบบใดแบบหนึ่ง ดังนั้นเมื่อรวมกันออกมา ชื่อบทความจึงได้ความหมายว่า ‘การกลับมาปกครองของพวกจอมพล ป. หรือพวกแบบจอมพล ป.’ ในบทความเขาตอบโต้ผู้เขียนที่ใช้นามปากกาว่า Mr. A.B.C โดยวิพากษ์ว่าการคงอำนาจของระบอบแบบจอมพล ป. อยู่ได้ก็เพราะส่วนใดส่วนหนึ่งของการเลือกตั้งตามแนวประชาธิปไตย นอกจากนี้ยังโต้ว่า Mr. A.B.C ซึ่งมองข้ามค่าใช้จ่ายมหาศาลที่ต้องสูญเสียไปกับการเลือกตั้งที่ท้ายที่สุดก็จะได้ระบบแบบเดิมๆ กลับมาอีกครั้ง

ส่วนในบทความ ‘Let’s not bother with elections’ เขาเน้นย้ำข้อเสนอที่ว่าสยามควรจะบริหารด้วยสมัชชาที่มาจากการแต่งตั้งแทนการเลือกผู้แทน ซึ่งเขาจินตนาการภาพสมัชชาที่มาจากการแต่งตั้งเอาไว้ว่ามีลักษณะคล้ายสภาร่างรัฐธรรมนูญ (constituent assembly) ซึ่งมีอยู่ในสมัยนั้น แต่ก็สามารถปรับเปลี่ยนรายละเอียดได้ เช่น จำนวนสมาชิกในสมัชชาไม่ถูกกำหนดตายตัว ดังเช่นสภาขุนนาง (the House of Lords) แห่งบริเตน โดยเขาอ้างว่าวิธีนี้จะทำให้คนรุ่นใหม่มีโอกาสได้เข้าสภาอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ซึ่งจะสร้างองค์ประกอบของคณะกรรมการบริหารและประชาธิปไตยได้ นอกจากนี้เขายังเปรียบเทียบยุคของระบอบจอมพล ป. กับยุคที่เขาเขียนบทความซึ่งมีสภาร่างรัฐธรรมนูญแล้ว โดยพยายามแสดงให้เห็นว่าการมีอยู่ของสภาร่างรัฐธรรมนูญเพียงสี่ปีสร้างประโยชน์ให้ประเทศชาติมหาศาลอย่างที่ระบอบของจอมพล ป. เทียบไม่ติด

นอกจากนี้เขายังตอบโต้ผู้เขียนที่ใช้นามปากกาว่า ‘A Voter’ ซึ่งได้เขียนสนับสนุนระบบการเลือกผู้แทนไว้ในฉบับวันที่ 31 มกราคม โดยปาณฑิตย์เยาะเย้ยว่าท้ายที่สุด A Voter ก็ลงเอยด้วยการประณามวีรบุรุษของตนเองอย่างเผ็ดร้อนว่าเป็นพวกผู้แทนไร้ยางอาย นอกจากนี้เขายังชี้ให้เห็นว่าส่วนใหญ่ในบทความของ A Voter นั้น เน้นไปที่การยกย่องคุณธรรมของการเลือกตั้ง ซึ่งเขาก็คัดค้านด้วยการยกตัวอย่างแย้งหลายตัวอย่าง ได้แก่ กรณีฉาวโฉ่ของปรีดีที่นำไปสู่การสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการขว้างระเบิดใส่นายไถงและผู้พูดหาเสียงคนอื่นๆ [17] กรณีนายสุวิชช พันธเศรษฐที่ถูกคุกคามทางการเมือง โดยถูกลอบสังหารด้วยปืนกลบนถนนกลางกรุงเทพ เวลากลางวันแสกๆ ซึ่งปาณฑิตย์วิจารณ์ว่าเป็นผลมาจากหลักนิติธรรม (the rule of law) และประชาธิปไตยซึ่งผลิตโดยรัฐสภาของปรีดี[18] โดยเขายังกระแนะกระแหนต่อถึงกรณีนายชวน โรจนวิภาต บรรณาธิการของหนังสือเสรีรายสัปดาห์ ซึ่งถูกยิง ว่าคงจะเป็นความรุ่งโรจน์ของประชาธิปไตย เสรีภาพ ภายใต้ระบอบรัฐสภาของปรีดี นอกจากนี้เขายังพูดถึงกรณีการฆาตกรรมนายอารีย์ ลีวีระ[19] เจ้าของสำนักพิมพ์สยามนิกร ในระหว่างการปกครองระบอบจอมพล ป. ‘แบบรัฐสภา’ และกรณีการเลือกตั้งอันแสนสกปรกในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2500 ซึ่งเขาก็เสียดสีว่าคงจะเป็นความสำเร็จที่ใหญ่ที่สุดของระบอบจอมพล ป. แล้วกระมัง ในตอนท้ายของบทความเขาก็ได้เน้นย้ำประเด็นที่ว่ารัฐบาลสมัยในช่วงที่สองของจอมพล ป. ทั้งวาระ ยังทำงานได้ไม่น่าพึงพอใจเท่ากับที่วุฒิสภาซึ่งมาจากการแต่งตั้งสามารถทำได้ในสามเดือนเท่านั้น โดยทั้งหมดนี้เพื่อยืนยันจุดยืนที่เขาเสนอสภาที่มาจากการแต่งตั้งแทนการเลือกผู้แทน

ต่อต้านพ่อ

ในด้านความสัมพันธ์ภายในครอบครัวนั้น ปาณฑิตย์ค่อนข้างสนิทสนมกับแม่ แต่กลับดูจะไม่ค่อยลงรอยกับพ่อของตนสักเท่าไหร่ ดังที่ ส. ศิวรักษ์ได้บรรยายถึงในหนังสือคันฉ่องส่องเจ้าไว้ว่า “เธอทนท่านพ่อไม่ได้ แต่เข้าได้ดีกับคุณแม่” เขามักเห็นแย้ง ต่อต้าน และวิจารณ์บิดาของตนในหลายเรื่อง ส. ศิวรักษ์เล่าว่าครั้งหนึ่งปาณฑิตย์ถึงขั้นวิจารณ์ถึงความซื่อสัตย์สุจริตของพระองค์เจ้าธานีฯ ซึ่งมักได้รับการชื่นชมจากผู้อื่นว่า แท้จริงแล้ว “ท่านพ่อโง่เกินไป จนโกงไม่เป็น” ต่างหาก[20]

ไม่เพียงแต่การวิจารณ์ถึงบิดาของตนเท่านั้น แต่ดูเหมือนว่านิสัยชอบสังเกตและประเมินบุคคลต่างๆ รอบตัวจะเป็นนิสัยส่วนตัวของเขาไปเสียแล้ว ดังเช่นที่เขาวิจารณ์ถึงบรรดาเจ้านายวังวรดิศไว้ว่า “ท่านอาจง (ม.จ. จงจิตรถนอม) ท่านน่ารัก ออกจะดุ แต่ก็ innocent ท่านอาพูน (ม.จ. พูนพิศมัย) ออกจะเกรี้ยวกราดเกินไป ท่านอาเหลือ (ม.จ. พัฒนายุ) ดูจะเป็นคนธรรมดาสามัญดีนัก ส่วนท่านอาพิไลย (ม.จ. พิไลยเลขา) นั้น แม้จะสวยสดงดงาม แต่ก็ออกจะจืดชืด … colourless” นอกจากนี้ยังเขาคุยกับส. ศิวรักษ์โดยวิจารณ์ถึงบรรดาผู้ที่มักจะเข้ามาทานข้าวกับพระองค์เจ้าธานีฯ ไว้ว่า “พวกที่มากินข้าวกับพ่ออั๊ว มันไม่ได้มาดี มันมาประจบประธานองคมนตรี แล้วลื้อได้อะไร เวลาไปกินข้าวกับอ้ายพวกนี้ ยิ่งอ้ายแดรกคูล่าด้วยแล้ว น่าขยะแขยงมากเลยทีเดียว”[21] โดยปาณฑิตย์จะไม่ยอมไปนั่งร่วมโต๊ะเสวยในมื้อเช่นนั้นเป็นอันขาด

ด้านพระองค์เจ้าธานีฯ เองก็ดูจะมองว่าปาณฑิตย์เป็นลูกที่ค่อนข้างนอกคอกและเกเร ในงานศพปาณฑิตย์ เมื่อพระองค์เจ้าธานีฯ ได้พบนักเรียนรุ่นเดียวกับปาณฑิตย์ซึ่งหนึ่งในนั้นมียศเป็นพันตำรวจเอก ก็ได้หันมารับสั่งกับ ส. ศิวรักษ์ว่า “ถ้าปาณฑิตย์แกไม่เกเสีย หากรับราชการ อย่างน้อยแกคงได้เป็นเช่นนี้บ้างดอกกระมัง”[22] นอกจากนี้ยังสังเกตได้ว่าในหนังสืออัตชีวประวัติของพระองค์เจ้าธานีฯ นั้นมีการพูดถึงปาณฑิตย์อยู่น้อยมาก รวมถึงแม้ในส่วนคำนำของหนังสืองานศพของปาณฑิตย์เอง พระองค์เจ้าธานีฯ ก็ยังหลีกเลี่ยงที่จะพูดพฤติกรรมของเขาที่กล้าท้าทายและแหวกไปจากค่านิยมของสังคม

ส. ศิวรักษ์เล่าว่าปาณฑิตย์ชอบวารสาร ‘สังคมศาสตร์ปริทัศน์’ เป็นพิเศษ จึงมักจะมาคุยกับส. ศิวรักษ์ที่บ้านจนดึกจนดื่นเป็นประจำ จนส. ศิวรักษ์เกือบจะเป็นสื่อกลางให้พ่อลูกหันหน้าเข้าหากัน ดังที่ปาณฑิตย์ได้ไปทูลบิดาว่า “สุลักษณ์นี่อะไรๆ ก็ดีหมด เว้นแต่มันเป็น Buddhist fanatic” และก็ไม่วายวิจารณ์ ส. ศิวรักษ์ที่ไม่ดื่มสุราในช่วงเข้าพรรษาว่าเป็นการเคร่งครัดกับประเพณีและพิธีกรรมที่ล้าหลัง ซึ่งเมื่อพระองค์เจ้าธานีฯ ได้ฟังก็รับสั่งตอบว่า “เป็นไปไม่ได้ เพราะคนนับถือพุทธ จะเป็น fanatic ไม่ได้”[23]

ทัศนคติต่อคณะราษฎร

แม้ปาณฑิตย์จะเห็นแย้ง ต่อต้าน และวิจารณ์บิดาของตนในหลายเรื่อง สำหรับเรื่องความเห็นเกี่ยวกับคณะราษฎรโดยเฉพาะต่อปรีดี พนมยงค์ และต่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในฐานะคนร่วมยุคสมัยนั้น ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นน่าสนใจว่าปาณฑิตย์คิดเหมือนกับบิดาของตนหรือไม่ เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าพระองค์เจ้าธานีฯ เกลียดชังคณะราษฎรเป็นอย่างมาก ทรงแสดงทัศนะไว้ในหนังสืออัตตชีวประวัติกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรไว้ว่า “พ่อโง่บัดซบไปถนัด … ภายในไม่กี่เดือนจากเวลานั้น ก็บังเกิดหิรัญม้วนแผ่นดิน เสียงคนไทยที่พ่อฟังด้วยความปลื้มใจนักหนามันหายไปไหนหมดไม่รู้ ตรงกันข้ามได้กลับมีผู้ ‘รักชาติ’ คณะหนึ่งบันดาลม้วนแผ่นดินได้สำเร็จ”[24] โดยเป็นการเทียบการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรกับการม้วนแผ่นดินของหิรัญยักษ์ซึ่งเป็นยักษ์ร้ายในเรื่องรามเกียรติ์ อีกทั้งในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ยังทรงปฏิเสธที่จะเล่าถึงเรื่องราวเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 โดยให้เหตุผลว่า “ในหนังสือนี้จะไม่เล่าเรื่องเหตุใหญ่ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เพราะนี่ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ อยากจะเล่าแต่เรื่องอันเป็นมงคลเหตุที่เกิดขึ้นครั้งนั้นยังใหม่นัก (40 ปี) เอาไว้ให้อนุชนเบื้องหน้าเขาตัดสิน”[25]

นอกจากนี้ในหนังสือกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ตามทัศนะ ส. ศิวรักษ์ พระองค์เจ้าธานีฯ ทรงเปรียบเทียบปรีดีกับจอมพล ป. ว่า “ฉันเห็นว่าหลวงประดิษฐ์เบากว่าหลวงพิบูลเป็นไหนๆ พิษภัยก็น้อยกว่า”[26] โดยทรงเล่าโดยเน้นเรื่องความเจ้าเล่ห์ในการเล่นการเมืองของจอมพล ป. เช่น เมื่อครั้งที่จอมพล ป. ทำรัฐประหารเงียบ ได้มีการส่งคนมาขอร้องแกมบังคับให้พระองค์เจ้าธานีฯ เซ็นล้มรัฐบาลและสภา เป็นต้น อย่างไรเสียพระองค์เจ้าธานีฯ ก็ไม่วายวกมาแขวะปรีดีว่า “ที่เขาต้องไปตกระกำลำบากอยู่นอกประเทศนั้นก็เพราะกรรมของเขาเอง”[27]

ในส่วนของปาณฑิตย์นั้น ผู้เขียนได้สัมภาษณ์ ส. ศิวรักษ์ซึ่งเป็นคนที่รู้จักปาณฑิตย์มากที่สุดคนหนึ่ง แต่ก็ได้ความว่ายังไม่เคยมีโอกาสได้คุยกับปาณฑิตย์เรื่องความเห็นเกี่ยวกับคณะราษฎร ปรีดี และกรณีการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 เลย ทราบแต่เพียงว่าปาณฑิตย์เกลียดชังจอมพล ป. มาก เนื่องจากมองว่าบริหารประเทศด้วยระบอบเผด็จการอันน่ารังเกียจ ส. ศิวรักษ์ก็เคยเขียนถึงเรื่องนี้ในหนังสือคันฉ่องส่องเจ้าว่า “คุณชายและข้าพเจ้าเห็นตรงกันเรื่องชื่อสยามหรือ Siam เราทนคำว่า Thailand ไม่ได้ และเรารังเกียจ Great Thailander หรือพิบูลสงครามกับยุคมาลานำไทยของเขาด้วยกันทั้งคู่”[28]

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากงานเขียนของปาณฑิตย์อย่างเดียว ก็น่าพออนุมานได้ว่าเรื่องความเห็นเกี่ยวกับคณะราษฎรอย่างปรีดีและจอมพล ป. นี้ อาจเป็นหนึ่งในไม่กี่เรื่องที่เขาเห็นไปในทางเดียวกับพ่อของเขา กล่าวคือ ไม่ค่อยชอบหรืออาจจะถึงขั้นเกลียดปรีดีและจอมพล ป. เลยก็เป็นไปได้ ดังเช่นที่ผู้เขียนได้เล่าถึงเนื้อความในบทความข้างต้นจาก Bangkok Post เรื่อง ‘Re-enter the Pibulite’ และ ‘Let’s not bother with elections’ ซึ่งมีใจความกระแนะกระแหนและวิจารณ์การเล่นการเมืองของทั้งจอมพล ป. และปรีดี พนมยงค์

อนุรักษ์-เสรีนิยม

จากข้อมูลข้างต้น ผู้อ่านคงจะได้รู้จักปาณฑิตย์และแนวคิดทางการเมืองของเขาพอสมควรแล้ว หนึ่งในคำถามนี่น่าสนใจคือ คนอย่างปาณฑิตย์ควรถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มอุดมการณ์ทางการเมืองแบบไหน? และให้เกณฑ์อะไรในการตัดสิน? หากพิจารณาหยาบๆ เขาอาจจะถูกจัดอย่างง่ายให้อยู่ในกลุ่มอนุรักษนิยม อันเนื่องมาจากแนวคิดของเขาบางประการ เช่น การที่เขาต่อต้านการเลือกตั้งและระบบสภาผู้แทน เรามักจะเข้าใจว่าเสรีนิยมกับประชาธิปไตยแบบที่เราเข้าใจเป็นสิ่งเดียวกัน แต่ทั้งที่สองอย่างนี้อาจไม่จำเป็นต้องไปด้วยกันเสมอ นักคิดเสรีนิยมคนสำคัญอย่างจอห์น สจ๊วต มิลล์ก็มองพวกอาณานิคมว่าล้าหลังและต้องถูกควบคุม เสรีภาพอาจจะเป็นไปเพื่อเฉพาะกลุ่มที่ตนเห็นว่ามีสติปัญญาเหมาะสม อีกทั้งเมื่อพิจารณาลงไปในรายละเอียดการอ้างเหตุผลเรื่องการต่อต้านการเลือกตั้ง ก็พบว่าเขาใช้เหตุผลแบบพวกเสรีนิยม อย่างการให้เหตุผลว่าการเลือกตั้งและระบบสภาผู้แทนนั้น ประชาชนไม่ได้มีทางเลือกมากนัก ทำให้ได้นักการเมืองหน้าเดิมๆ เข้ามาบริหาร ซึ่งก็ให้ผลลัพธ์การบริหารประเทศไม่ดีแบบเดิมๆ รวมถึงอ้างการลิดรอนเสรีภาพในระหว่างสมัยของปรีดีและจอมพล ป. เป็นตัวอย่างความเลวร้ายที่จะเกิดซ้ำๆ  กล่าวได้ว่าปาณฑิตย์เป็นบุคคลค่อนข้างก่ำกึ่งระหว่างการเป็นอนุรักษนิยมและเสรีนิยม

หนึ่งในบทความวิชาการที่น่าสนใจ และควรจะถูกอภิปรายในที่นี้ คือ บทความของ Tomas Larsson อาจารย์ประจำภาคการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ซึ่งได้ศึกษาเรื่องปัญญาชนไทย และตีพิมพ์บทความในหัวข้อ ‘In Search of Liberalism: Ideological Traditions, Translations and Troubles in Thailand’ บทความนี้วิเคราะห์ว่าตลอดหน้าประวัติศาสตร์ไทยไม่เคยมีปัญญาชนเสรีนิยม และความวุ่นวายทางการเมืองไทยก็เป็นผลมาจากสาเหตุดังกล่าว ทั้งนี้ Larsson ใช้วิธีแบบการศึกษาแบบ Daniel Bell ซึ่งเป็นการจัดประเภทนักคิดผ่านการนิยามตนเองและการได้รับการยอมรับจากปัญญาชนในกลุ่มอุดมการณ์เดียวกันเป็นเกณฑ์ กล่าวคือการจะเข้าเกณฑ์เป็นปัญญาชนเสรีนิยมได้ บุคคลนั้นจะต้องนิยามตนเองว่าเป็นพวกเสรีนิยมและได้รับการยอมรับจากปัญญาชนเสรีนิยมคนอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนต้องการที่จะท้าทายการจัดประเภทด้วยวิธีการดังกล่าว ที่นำไปสู่ข้อสรุปว่าประเทศไทยไม่เคยมีนักคิดเสรีนิยมอยู่เลย โดยผู้เขียนมองว่าปาณฑิตย์เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นปัญหาของวิธีการจัดประเภทลักษณะนี้ได้อย่างชัดเจน เนื่องจากด้วยวิธีการของ Larsson นั้น เป็นการมองข้ามความคิดที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับโลกจริง กล่าวคือ มองแนวคิดทางการเมืองเป็นสิ่งที่ค่อนข้างตายตัวและแยกขาดจากบริบททางสังคมซึ่งมีความเฉพาะตัวในแต่ละประเทศ ซึ่งด้วยกรอบคิดแบบนี้ก็จะทำให้ปาณฑิตย์ถูกจัดเป็นอนุรักษนิยมอย่างแน่นอน เพราะเขาไม่เคยนิยามตนเองว่าเป็นเสรีนิยมเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหลายบทความปาณฑิตย์ถึงขั้นเขียนลงชื่อตนเองว่า Young Conservative ในส่วนท้ายของบทความ กระนั้นเมื่อพิจารณาถึงเนื้อหาในข้อเขียนกลับพบว่าเขาก็พูดถึงแนวคิดแบบเสรีนิยม รวมถึงการพัฒนาแบบอังกฤษและอเมริกา ความเสื่อมทรามทางวัฒนธรรมมนุษยนิยมยุโรป เป็นต้น อีกทั้งเราพบความขัดแย้งในรายละเอียดของความคิดระหว่างปาณฑิตย์และพระองค์เจ้าธานีฯ คงจะต้องรู้สึกแปลกๆ เป็นแน่ หากจะต้องจำใจจัดให้ทั้งคู่เป็นอนุรักษนิยมเหมือนกัน

หากเทียบระหว่างปาณฑิตย์และพระองค์เจ้าธานีฯ ก็อาจช่วยให้เราเห็นประเด็นดังกล่าวได้ดีขึ้น อย่างในการวิจารณ์ปรีดีและจอมพล ป. แม้ทั้งสองพ่อลูกจะไม่ชอบปรีดีและจอมพล ป. ด้วยกันทั้งคู่ แต่ใช้เหตุผลในการวิจารณ์ต่างกัน สำหรับพระองค์เจ้าธานีฯ มักจะวิจารณ์ว่าปรีดีและจอมพล ป. คิดการใหญ่ อ้างความรักชาติแบบผิดๆ มาทำการใหญ่ที่ไม่บังควร และมักอ้างว่าเดิมทีสยามประเทศก่อนจะมีคณะราษฎรก็ดีอยู่แล้ว สำหรับปาณฑิตย์เขาเน้นไปที่การวิจารณ์ปรีดีและจอมพล ป. ในเชิงการบริหารประเทศที่ไม่มีประสิทธิภาพ ความเป็นเผด็จการ และการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทั้งทางตรงและทางอ้อม เห็นได้ชัดว่าโดยเนื้อความแล้วเหตุผลสนับสนุนมีลักษณะต่างกัน กรณีที่พระองค์เจ้าธานีฯ ออกตัวให้กับการนุ่งโจงกระเบน ก็ใช้เหตุผลว่าการแต่งกายเช่นนี้มีส่วนดีอยู่แล้ว ไม่ได้ทำให้ดูล้าหลังแต่อย่างใด ขณะที่การที่ปาณฑิตย์ซึ่งตั้งใจจะนุ่งผ้าม่วงเข้ารับปริญญานั้น ก็ดูจะเป็นการท้าทายกรอบของยุคสมัยนั้นที่ห้ามนุ่งผ้าโจงกระเบน มากกว่าจะเป็นความชอบส่วนตัวหรือเป็นไปเพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมไทยเดิม

ด้วยสาเหตุดังกล่าว ผู้เขียนจึงเสนอให้พิจารณา โดยใช้วิธีการศึกษาแบบ M.K. Connors ซึ่งเป็นการลงไปพิจารณาในส่วนรายละเอียดของเนื้อหาข้อเขียนเพื่อดูว่ามีองค์ประกอบของอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใดซ่อนอยู่ หากใช้กรอบดังกล่าวในการศึกษาปาณฑิตย์ก็จะทำให้เขาถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสรีนิยมได้อย่างไม่น่าขัดเขิน โดยอยู่ใน conservative liberalism (และอาจเป็น Cold War liberalism ด้วย) ซึ่งตรงข้ามกับพระองค์เจ้าธานีฯ ซึ่งหากใช้วิธีการดังกล่าวก็จะถูกจัดให้อยูในกลุ่ม conservative royalist อย่างไม่ต้องสงสัย

สิ่งที่ยังขาดหาย

ในหนังสืองานศพของปาณฑิตย์ พัฒนไชย ไชยันต์ให้ข้อมูลว่าปาณฑิตย์เคยเขียนชีวประวัติของตนเองเป็นภาษาอังกฤษ และเขาเคยอ่านฉบับร่าง ซึ่งเขียนแบ่งเป็นหลายๆ บท แต่ละบทเล่าถึงบุคคลสำคัญที่เขารู้จักและเคยเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งเขาก็ได้ระบุว่าปาณฑิตย์รู้จักคนสำคัญๆ ของเมืองไทยจำนวนมาก ซึ่งพัฒนไชยก็ชมว่าเขียนออกมาได้ดีมาก แต่ก็ให้ความเห็นว่าเหมือนจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับคนที่ปาณฑิตย์รักใคร่นับถือมากกว่าชีวประวัติส่วนตัวของปาณฑิตย์ โดยพัฒนไชยเองก็ไม่ทราบว่าตอนที่ปาณฑิตย์ตายนั้น ต้นฉบับร่างชีวประวัตินี้ไปอยู่ที่ไหนแล้ว ทั้งนี้ ผู้เขียนสันนิษฐานเองว่าที่ไม่เผยแพร่ก็คงเพราะกลัวว่าเรื่องราวในข้อเขียนของปาณฑิตย์จะไปกระทบกับคนอื่นๆ ในขณะที่พระองค์เจ้าธานีฯ ยังทรงพระชนม์อยู่ โดยข้อมูลที่อยู่ในนั้นมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์มหาศาล เพราะปาณฑิตย์เป็นผู้หนึ่งที่มีชีวิตเกี่ยวพันและรู้จักกับบุคคลที่มีบทบาทในประวัติศาสตร์และการเมืองไทยจำนวนมาก จึงน่าจะทำให้เราเข้าใจเขาและคนร่วมสมัยของเขาได้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากฉบับร่างชีวประวัติของปาณฑิตย์แล้ว ในหน้าที่ 8 ของหนังสือเอกกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญโดยวิมลพรรณ ปีตธวัชชัย ที่เผยแพร่ในช่วงปี 2550 ได้พูดถึงการใช้ไดอารีพระองค์เจ้าธานีฯ ในการเขียนเรื่องกรณีสวรรคต ดังนั้น บันทึกส่วนตัวของพระองค์เจ้าธานีฯ ก็น่าจะยังได้รับการเก็บรักษา และเชื่อว่าหนังสือและบทความต่างๆ ของปาณฑิตย์ก็เช่นเดียวกัน เราได้แต่หวังว่าทางครอบครัวจะเห็นถึงประโยชน์ของบุคคลที่ยังประโยชน์และมีส่วนโลดแล่นในสังคมการเมืองยุคนั้นได้เป็นที่ศึกษาและประเมินค่าของอนุชนต่อไป

แม้ปาณฑิตย์จะมีอายุได้เพียง 38 ปี แต่ชีวิตของเขาก็เต็มไปด้วยความน่าสนใจ ความย้อนแย้ง ความลึกซึ้ง ความจริงใจ ความใฝ่รู้ ความรู้สึกลึกๆ ที่ลูกกับพ่อมีต่อกัน ปาณฑิตย์เป็นตัวอย่างของนักคิดชาวไทยที่ด้วยบริบทเฉพาะตัวทำให้ไม่อาจจะถูกจัดอยู่ในกรอบเสรีนิยมหรืออนุรักษนิยมได้โดยง่าย

ถ้าเขามีอายุยืนกว่านี้ อย่างน้อยมากกว่าพ่อของเขา เขาจะทันเห็นเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ไม่แน่ใจว่าเขาอาจจะหันมาสนับสนุนระบบเลือกตั้งแทนจากการเห็นตัวอย่างของเผด็จการทหารที่ล้มเหลว แม้ไม่อาจทราบได้แน่ชัดว่าอุดมการณ์ทางการเมืองของเขาจะหันเหไปทางไหน แต่เขาคงจะได้ร่วมปะทะกับคนรุ่นใหม่ที่สนใจการบ้านการเมืองเป็นแน่ และอาจจะเสียใจกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ที่ขันติธรรมในสังคมถูกทำลาย ที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือหากเขารู้ว่าเพื่อนร่วมอุดมการณ์ของเขาอย่าง ส. ศิวรักษ์จะเปลี่ยนมาเชื่อว่าปรีดีไม่ผิดในกรณีสวรรคต และหันมาอยู่ฝ่ายปรีดีเต็มที่ เขาจะเห็นด้วยหรือถกเถียงกับ ส. ศิวรักษ์อย่างไร และเขาจะเห็นพ้องกับพ่อของเขาในเรื่องนี้หรือเลือกจะต่อต้านดังเช่นเรื่องอื่นๆ ในชีวิตของเขา

ขอบคุณ

  • ขอขอบคุณ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ สำหรับการให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับปาณฑิตย์
  • ขอบคุณ ภูริทัต หงษ์วิวัฒน์ สำหรับนำหนังสือส่วนตัวที่เกี่ยวกับพระองค์เจ้าธานีฯ มาให้ยืมใช้
  • ขอบคุณเจ้าหน้าที่ห้องสมุดจดหมายเหตุ วิทยาลัยเมอร์ตัน มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (Merton College Library Archive) สำหรับเอกสารที่น่าสนใจยิ่งทำให้เราเห็นชีวิตในมหาวิทยาลัยของปาณฑิตย์ได้มากขึ้น
  • ขอบคุณ Henry Hardy (a Fellow of Wolfson College, Oxford) ที่เป็นธุระติดต่อห้องสมุดจดหมายเหตุของวิทยาลัยเมอร์ตัน ซึ่งเฮนรีได้เกื้อกูลผู้เขียน (เนติวิทย์) ตลอดมา

References
1 หน้า (ง) จากหนังสืออนุสรณ์ ม.ร.ว. ปาณฑิตย์ โสณกุล พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ – 9 ตุลาคม 2509
2 เหตุที่พระราชโทรเลขถูกส่งจากเมืองซันนิงเดลน่าจะเป็นเพราะขณะนั้นในหลวงรัชกาลที่ 9 ประทับอยู่ ณ คฤหาสน์คิงส์บิเชส (King’s Beeches) ซึ่งเป็นประทับส่วนพระองค์ในเมืองซันนิงฮิลล์ (Sunninghill) โดยคฤหาสน์นี้ถูกกล่าวถึงแล้วในบทความก่อนหน้าเรื่อง ‘อ่านประวัติศาสตร์ ‘สาธิตจุฬาฯ’ เรื่องเล่าลบเลือนของศิษย์เก่าผู้เกือบจะได้เป็นเจ้าฟ้า (?)’ ของหนึ่งในผู้เขียนที่ลงในเว็บไซต์ The101.world
3 หน้า 245 จากหนังสือคันฉ่องส่องเจ้า โดย ส. ศิวรักษ์
4 จากเว็บไซต์สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
5 หน้า 39 จากหนังสือกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ตามทัศนะ ส. ศิวรักษ์
6 หน้า (ง) จากหนังสืออนุสรณ์ ม.ร.ว. ปาณฑิตย์ โสณกุล พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ – 9 ตุลาคม 2509
7 ข้อความถูกเขียนและขีดฆ่าออกไป
8 ย่อจาก for what it’s worth
9 ในยุคที่ปาณฑิตย์ศึกษา คณะอักษรศาสตร์และคณะครุศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังเป็นคณะเดียวกันอยู่
10 หน้า 245 จากหนังสือคันฉ่องส่องเจ้า
11 หน้า 1 จากบทความ จากวันนั้นถึงวันนี้: 20 ปีของนโยบายประชากรไทย โดย ภัสสร ลิมานนท์ วารสารประชากรศาสตร์ ปีที่ 6 ฉบับที่ 1 มีนาคม 2533
12 หน้า 12 จาก “ปัญหาการบังคับใช้โทษทางอาญาตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533.” สารนิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต กลุ่มวิชากฎหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม. อิศรา เรืองศริยานนท์. 2560.
13 เพิ่งอ้าง, หน้า 13
14 หน้า 11 จากงานวิจัย ไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน: การเมืองที่ผันผวนและความยุ่งยากในช่วงต้นของความสัมพันธ์ทางการทูต โดย สิทธิพล เครือรัฐติกาล
15 เพิ่งอ้าง, หน้า 10
16 หน้า 2 จาก Michael Oakeshott’s Cold War Liberalism โดย Terry Nardin
17 ปาณฑิตย์อ้างถึงกรณีการปาระเบิดใส่ฝ่ายตรงข้ามขณะที่กำลังหาเสียงเลือกตั้งในช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2489 จนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บขาขาด 1 ข้าง คือนายไถง สุวรรณทัต สังกัดพรรคประชาธิปัตย์
18 สุวิชช พันธเศรษฐ ถูกลอบสังหารด้วยปืนภายหลังจากที่ได้ร่วมอภิปรายในญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปของพรรคฝ่ายค้านกรณีการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งในที่นี้ปาณฑิตย์ไม่ได้กล่าวชัด ทำให้อาจเข้าใจได้สองทางคือ ระบบรัฐสภาแบบปรีดีทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว หรืออาจถึงขั้นสื่อเป็นนัยว่าปรีดีเกี่ยวข้องกับการลอบสังหารสุวิชชในครั้งนี้ด้วยก็ได้
19 อารีย์ถูกสังหารคาบ้านพักโดยตำรวจ 5 นาย ในภายหลังพนักงานสอบสวนลงความเห็นว่า หลักฐานไม่พอฟ้องตำรวจทั้งหมด
20 หน้า 245 จากหนังสือคันฉ่องส่องเจ้า
21 เพิ่งอ้าง, หน้า 248
22 หน้า 38 จากหนังสือกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ตามทัศนะ ส. ศิวรักษ์
23 หน้า 245 จากหนังสือคันฉ่องส่องเจ้า
24 หน้า 173 จากหนังสืออัตตชีวประวัติกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร
25 เพิ่งอ้าง, หน้า 174
26 หน้า 37 จากหนังสือกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ตามทัศนะ ส. ศิวรักษ์
27 เพิ่งอ้าง, หน้า 15
28 หน้า 248 จากหนังสือคันฉ่องส่องเจ้า

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save