fbpx
โรคระบาดคงอยู่กับเราไปเรื่อยๆ

โรคระบาดคงอยู่กับเราไปเรื่อยๆ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เรื่อง

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

 

ผู้คนจำนวนมากยังเชื่อว่า การใช้ชีวิตแบบ new normal เป็นเพียงปรากฏการณ์ชั่วคราว สักพักหนึ่งเมื่อ COVID-19 จางหายไป พวกเราจะกลับมาใช้ชีวิตตามปกติเหมือนเดิมได้

อย่างไรก็ตาม หนึ่งปีผ่านมาแล้ว เชื้อ COVID-19 ก็ยังไม่หายไปง่ายๆ แต่กลับระบาดเพิ่มขึ้นอีก ล่าสุด ทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคนี้แล้วเกือบ 100 ล้านคน และมีคนตายมากกว่า 2 ล้านคนในชั่วระยะเวลาเพียงปีเดียว ขณะที่ประเทศไทยมีคนติดเชื้อถึงประมาณ 13,000 คน และเสียชีวิต 70 กว่าคนแล้ว

เมื่อไม่นานมานี้ ประเทศอังกฤษ แอฟริกาใต้ และไนจีเรียยังพบเชื้อ COVID-19 กลายพันธุ์ ซึ่งส่งผลให้การแพร่ระบาดของไวรัสน่ากลัวยิ่งกว่าเดิมอีก เพราะการกลายพันธุ์นี้ทำให้คนติดเชื้อง่ายขึ้น ปัจจุบัน เชื้อไวรัสกลายพันธุ์ที่แพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วกำลังระบาดไปในอย่างน้อย 17 ประเทศ ทั้งในทวีปยุโรป เอเชีย และอเมริกาเหนือ และมีอัตราการติดเชื้อที่น่าตกใจเป็นอย่างยิ่ง

การกลายพันธุ์อย่างมีนัยสำคัญของ COVID-19 นี้ คาดว่าเกิดจากคนไข้ที่มีระบบภูมิต้านทานอ่อนแอซึ่งทำให้ร่างกายกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของเชื้อไวรัสที่กลายพันธุ์ได้ง่าย

แม้หลายประเทศจะเริ่มฉีดวัคซีนให้กับประชาชนแล้ว แต่ผลจะออกมาสมบูรณ์เพียงใดนั้น เราก็ยังต้องคอยประเมินกันต่อไป เพราะต้องยอมรับว่า วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้รับการผลิตขึ้นมาอย่างรวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ การพัฒนาวัคซีนตัวอื่นๆ ในอดีตใช้เวลานานประมาณ 10-15 ปี ขณะที่วัคซีนป้องกัน COVID-19 ของหลายบริษัทพัฒนาสำเร็จได้ภายในเวลาเพียง 10 เดือน

ผู้คนทั่วโลกคงต้องใช้ชีวิตอยู่กับโรคร้ายนี้ไปอีกสักระยะหนึ่ง จนกว่าโรคนี้จะจางหายไป แต่สุดท้าย มนุษย์ก็ยังต้องเผชิญกับโรคระบาดชนิดอื่นที่กำลังซุ่มเงียบ ฟักตัว รอเวลาจะระเบิดตัวเองออกมา เมื่อมนุษย์ไปรบกวนหรือทำลายธรรมชาติมากขึ้น

เชื้อโรคหลายชนิดที่กลายเป็นโรคระบาดติดต่อมาถึงมนุษย์มักอาศัยอยู่ในธรรมชาติมานานแล้ว แต่เมื่อมนุษย์ไปทำลายป่า หรือบริโภคสัตว์ป่าบางชนิด โรคจึงติดต่อมาถึงมนุษย์ได้ การแพร่ระบาดในวงกว้างจึงเกิดตามมาหลังจากนั้น อาทิ โรค SARS ที่มีสาเหตุมาจากโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ SARS-CoV ซึ่งสามารถพบได้ในอุ้งเท้าของชะมดที่วางขายในตลาดสดที่ประเทศจีน ขณะที่โรค MERS ที่มีสาเหตุมาจากโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ MERS-CoV ก็ข้ามสปีชีส์จากค้างคาวสู่อูฐ และมาติดเชื้อในคน ส่วนไวรัส Ebola ที่ระบาดในทวีปแอฟริกา ก็มาจากเชื้อไวรัสในค้างคาว และ COVID-19 ก็คาดว่าระบาดมาจากเชื้อไวรัสจากตัวนิ่มในตลาดสดของเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน

นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังหวั่นเกรงว่า ภาวะโลกร้อนก็อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคใหม่ๆ ขึ้นมาอีกได้ นักชีววิทยาวิวัฒนาการ ดร. ฌอง-มิเชล คลาเวรี แห่งมหาวิทยาลัยเอกซ์-มาร์แซลล์ (Aix Marseille) ประเทศฝรั่งเศส เปิดเผยว่า ในชั้นดิน Permafrost ซึ่งเป็นชั้นดินที่เป็นน้ำแข็งใต้ขั้วโลกหลายสิบเมตร เป็นแหล่งอาศัยชั้นดีของเชื้อไวรัสและแบคทีเรียต่างๆ ตั้งแต่เมื่อหลายล้านปีก่อน เพราะเป็นพื้นที่ที่เย็นยะเยือก แสงส่องไปไม่ถึง และไม่มีออกซิเจน จนทำให้เชื้อเหล่านั้นที่อยู่ในซากศพมนุษย์และสัตว์ต่างๆ ใต้ชั้นน้ำแข็งมีชีวิตอยู่หรือจำศีลมาได้นานนับหลายล้านปี แต่เมื่อโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ ชั้น Permafrost นี้ก็จะค่อยๆ ละลาย ซึ่งจะส่งผลให้เชื้อโรคเหล่านั้นฟื้นคืนชีพกลับมาสู่โลกภายนอกได้อีกครั้งหนึ่ง

การฟื้นคืนชีพของเชื้อเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปได้ยาก เมื่อปี 2005 นักวิทยาศาสตร์ขององค์การ NASA พบว่าเชื้อแบคทีเรีย Carnobacterium pleistocenium ซึ่งอยู่ในบ่อน้ำแข็งของอลาสกามานานกว่า 32,000 ปี ตั้งแต่ที่ช้างแมมมอธยังมีชีวิตอยู่ สามารถกระดิกตัวและว่ายไปมาได้ หลังจากที่ก้อนน้ำแข็งที่ห่อหุ้มเชื้อนี้อยู่ละลายออกมา จากนั้นในปี 2007 นักวิทยาศาสตร์ก็ประสบความสำเร็จในการทำให้แบคทีเรียอายุกว่า 8 ล้านปี ซึ่งจำศีลอยู่ใต้ธารน้ำแข็งของทวีปแอนตาร์กติกา สามารถกลับมาเคลื่อนไหวได้อย่างมีชีวิตชีวาอีกครั้ง

ไม่นานมานี้ นักวิทยาศาสตร์พบเชื้อไข้หวัดสเปนที่มีการระบาดครั้งใหญ่ในปี 1918 ในหลุมฝังศพของมนุษย์ในเขตทุนดราของอลาสกา และคาดว่ามีเชื้อกาฬโรค รวมทั้งเชื้อโรคที่แพร่ระบาดในศตวรรษที่ 18-19 อยู่ใต้ชั้นดินเยือกแข็งของไซบีเรียอีกหลายชนิดด้วย

ล่าสุด การระบาดของโรคจากการละลายของชั้นน้ำแข็งได้เกิดขึ้นแล้วจริงๆ ในปี 2016 ในพื้นที่ห่างไกลของไซบีเรีย ได้เกิดโรคระบาดลึกลับที่แคว้นยามัล ทำให้กวางเรนเดียร์ประมาณ 2 พันตัวล้มตาย ชาวบ้าน 96 คนป่วยหนัก และเด็กชายอายุ 12 ปีเสียชีวิต นับเป็นการระบาดครั้งแรกในรอบ 70 ปีของแถบอาร์กติกที่ห่างไกลผู้คนและแทบไม่เคยเกิดโรคระบาดมาก่อน นักระบาดวิทยาได้ค้นพบในเวลาต่อมาว่า เชื้อนี้มาจากซากกวางเรนเดียร์ในชั้น Permafrost ที่ติดเชื้อแอนแทรกซ์ตายเมื่อหลายร้อยปีก่อน โผล่ขึ้นมาระบาดได้อีกครั้ง และเนื่องจากชาวยามัลชอบกินเนื้อกวางดิบ การแพร่ระบาดของเชื้อนี้จึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

นักวิทยาศาสตร์รัสเซียเชื่อว่า เชื้อแอนแทรกซ์สามารถคงอยู่ใน Permafrost ได้นานสูงสุดถึง 2,500 ปี และในตอนนี้ที่โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น การละลายของน้ำแข็งอย่างถาวรในบริเวณที่ใช้ฝังซากสัตว์สมัยก่อน ก็อาจทำให้เกิดโรคระบาดขึ้นมาอีก

ดังนั้น คงไม่มีใครทราบว่า โรคระบาดอันร้ายแรงชนิดใหม่หรือชนิดเดิมๆ ที่กลายพันธุ์ จะกลับมาระบาดใหม่อีกเมื่อไหร่ และมนุษย์จะคิดค้นวัคซีนใหม่ๆ ออกมาได้ทันท่วงทีหรือไม่ เพราะฉะนั้น การกลับไปใช้ชีวิตแบบวิถีเดิมๆ ก็คงจะยากขึ้น มนุษย์คงต้องปรับตัวอย่างจริงจังเพื่อจะสามารถอยู่รอดได้

เราคงเห็นวิถีชีวิตแบบ new normal อันหลากหลายขึ้นแน่นอนในอนาคต

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save