fbpx

“รัฐสวัสดิการจะเกิดขึ้นได้ รัฐและภาคประชาชนต้องไว้วางใจซึ่งกันและกัน” ภาคภูมิ แสงกนกกุล

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล และ สมคิด พุทธศรี เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

ในวันที่วิกฤตเศรษฐกิจถาโถม เล่นงานคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมให้ร่วงหล่น ไม่มีเรี่ยวแรงหยัดยืนอยู่ในระบบเศรษฐกิจที่ไร้ความเห็นอกเห็นใจ ไร้ความเป็นมนุษย์ ไร้ความเท่าเทียม คนจำนวนมหาศาลตกงาน ขาดแหล่งรายได้ที่จะจุนเจือปากท้องให้อยู่รอดหรือมีชีวิตที่ปลอดภัย ‘รัฐสวัสดิการ’ กลายเป็นหนึ่งในมาตรการบรรเทาทุกข์ระยะยาวที่หลายคนในสังคมไทยเพรียกหา โดยหวังว่ารัฐสวัสดิการจะเป็นยาวิเศษ รักษาความป่วยไข้ของผู้คนจากพิษเศรษฐกิจให้หายเป็นปลิดทิ้งอย่างถ้วนหน้า

แต่รัฐสวัสดิการเป็นยาวิเศษ และคำตอบสุดท้ายของทุกปัญหาความเหลื่อมล้ำจริงหรือเปล่า?

101 ชวน อ.ดร.ภาคภูมิ แสงกนกกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ศึกษาการเมืองเรื่องรัฐสวัสดิการและการเมืองเรื่องสุขภาพ สนทนาเพื่อทำความเข้าใจแนวคิดเรื่องรัฐสวัสดิการอย่างรอบด้าน

ตั้งแต่คำถามที่ว่า รัฐสวัสดิการคือคำตอบที่ถูกต้องที่สุดในการแก้ไขความเหลื่อมล้ำหรือไม่ หรือยังมีความเป็นไปได้อื่นๆ ที่จะแก้ปัญหานี้ในอนาคต รัฐสวัสดิการในโลกมีแต่แบบสแกนดิเนเวียอย่างที่เราใฝ่ฝันถึงหรือไม่ ถ้าเราอยากเห็นรัฐสวัสดิการอย่างที่นอร์เวย์ สวีเดน หรือเดนมาร์กมี เรายังขาดจิ๊กซอว์ชิ้นไหนที่จะต่อภาพรัฐสวัสดิการไทยให้สมบูรณ์ ไปจนถึงคำถามสำคัญที่ว่า เราจะใช้การเมืองประชาธิปไตยเพื่อผลักดันประเด็นสวัสดิการสังคมได้อย่างไร

รัฐสวัสดิการคืออะไร มีแนวคิดอย่างไร มีรูปแบบเพียงแค่รัฐสวัสดิการแบบสแกนดิเนเวียหรือไม่

ก่อนอื่น เราต้องแยกให้ออกก่อนว่า ‘รัฐสวัสดิการ’ กับ ‘สวัสดิการ’ ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน เพราะฉะนั้น เวลาเราศึกษาเรื่องรัฐสวัสดิการ ต้องศึกษา ‘รัฐ’ มากกว่า ‘สวัสดิการ’

นักวิชาการในแวดวงรัฐสวัสดิการศึกษาหลายคนพยายามจะหานิยามของรัฐสวัสดิการ แม้ว่าจะไม่มีฉันทามติร่วมว่ารัฐสวัสดิการคืออะไร แต่นิยามที่หลากหลายดังกล่าวก็มีลักษณะร่วมกันอยู่ คือ ‘รูปแบบรัฐชนิดหนึ่งที่ทำหน้าที่กระจายสวัสดิการให้กับประชาชน’ หรือ ‘กระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายของรัฐรูปแบบหนึ่ง ซึ่งสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับทุนนิยมและระบอบประชาธิปไตยตัวแทน โดยรัฐจะสร้างสถาบันที่เป็นข้อผูกมัดต่อความมั่นคงของสังคม และสนับสนุนการมีอยู่ของพลเมือง’

รัฐสวัสดิการมีอยู่หลากหลายรูปแบบมาก งานชิ้นสำคัญที่พยายามจำแนกรัฐสวัสดิการตะวันตก เรื่อง The Three Worlds of Welfare Capitalism โดยนักวิชาการชาวเดนมาร์กชื่อ กอสตา เอสปิง-แอนเดอร์เซ่น (Gøsta Esping-Andersen) เขียนขึ้นในปี 1990 แบ่งประเภทรัฐสวัสดิการตะวันตกออกเป็นสามกลุ่ม คือ กลุ่มเสรีนิยมอย่างสหรัฐฯ หรือสหราชอาณาจักร กลุ่มอนุรักษ์นิยมอย่างเยอรมนีหรือฝรั่งเศส และกลุ่มสังคมนิยมประชาธิปไตยอย่างในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย โดยใช้ตัวชี้วัด 3 ตัวในการจำแนก อย่างแรกคือ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ ตลาด และครอบครัว สอง อัตราการแทรกแซงกลไกตลาดของรัฐ และสาม การแบ่งและการเลื่อนชนชั้นทางสังคม

อย่างไรก็ตาม การนิยามและจัดกลุ่มข้างต้นยังค่อนข้างแคบ และจำกัดกรอบการศึกษาแค่รัฐสวัสดิการในยุโรปตะวันตกเท่านั้น เพราะกรอบความคิดเรื่องประชาธิปไตย ทุนนิยม และนิติรัฐ ไม่สามารถนำมาใช้อธิบายรัฐที่เกิดใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือรัฐที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองแบบอาณานิคมอย่างลาตินอเมริกา เอเชียตะวันออก หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ ดังนั้น ภายหลังก็เลยมีนักวิชาการหลายคนเริ่มไปศึกษารัฐสวัสดิการเฉพาะในภูมิภาคเหล่านี้ แล้วก็ค้นพบว่า มีรูปแบบรัฐสวัสดิการที่ต่างไปจากรัฐสวัสดิการแบบยุโรปตะวันตก หรือแม้กระทั่งรัฐสวัสดิการในยุโรปตะวันออกก็ไม่เหมือนกับรัฐสวัสดิการในยุโรปตะวันตก

ทำไมคนทั่วไปมักไม่จัดว่าสหรัฐอเมริกาเป็นรัฐสวัสดิการ

โดยนิยามสหรัฐฯ เป็นรัฐสวัสดิการแบบเสรีนิยม หากเราดูตัวชี้วัดที่บอกไว้ข้างต้นประกอบ รัฐสวัสดิการเสรีนิยมจะใช้กลไกตลาดจัดสรรสวัสดิการ รัฐเข้าไปแทรกแซงน้อยมาก แทรกแซงเท่าที่จำเป็น ดังนั้นเราจึงเห็นความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นค่อนข้างสูง

ในขณะที่รัฐสวัสดิการอนุรักษ์นิยมจะแทรกแซงกลไกตลาดในระดับปานกลาง และให้สถาบันครอบครัวมีส่วนรวมในการจัดสรรสวัสดิการแก่ประชาชน

ส่วนรัฐสวัสดิการสังคมนิยมประชาธิปไตย รัฐจะเข้ามาแทรกแซงกลไกตลาดค่อนข้างมาก อำนาจการจัดสรรสวัสดิการจะอยู่ที่รัฐมากกว่าสถาบันครอบครัว ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นได้มากกว่า

รัฐสวัสดิการแบบตะวันออกมีหน้าตาต่างจากรัฐสวัสดิการตะวันตกอย่างไร?

ภายหลังก็มีคนจัดประเภทรัฐสวัสดิการในโลกตะวันออกว่าเป็นรัฐสวัสดิการประเภท productivist หมายความว่ารัฐสวัสดิการประเภทนี้ให้สวัสดิการประชาชนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ มุ่งตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหลัก และในบรรดารัฐสวัสดิการแบบ productivist ก็สามารถแบ่งกลุ่มย่อยได้อีก 3 กลุ่ม

กลุ่มแรก เรียกว่ารัฐสวัสดิการแบบ facilitative รัฐสวัสดิการประเภทนี้จัดให้นโยบายสวัสดิการสังคมอยู่ภายใต้การควบคุมของนโยบายเศรษฐกิจ คือมีนโยบายสวัสดิการเพื่อหนุนเศรษฐกิจให้เติบโตเท่านั้น ใช้กลไกตลาดจัดสรรสวัสดิการ และรัฐเองเข้ามาแทรกแซงน้อย

กลุ่มที่สอง เรียกว่ารัฐสวัสดิการแบบ universalist ซึ่งมีลักษณะเหมือนกับรัฐสวัสดิการแบบ facilitative ตรงที่ให้นโยบายสวัสดิการสังคมถูกกำกับโดยนโยบายเศรษฐกิจ แต่จุดที่ต่างคือรัฐเลือกให้สวัสดิการแก่ประชาชนอย่างถ้วนหน้า

ส่วนกลุ่มที่สาม คือรัฐสวัสดิการแบบ particularist รัฐสวัสดิการแบบนี้ก็ใช้นโยบายสวัสดิการสังคมเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจเช่นกัน แต่รัฐบาลจะเลือกว่าประชาชนกลุ่มไหนที่ควรได้รับสวัสดิการ ไม่ได้จัดสรรสวัสดิการให้ทุกคน

นอกจากการแบ่งประเภทรัฐสวัสดิการออกเป็นแบบโลกตะวันตกและโลกตะวันออกแล้ว ก็ยังมีการแบ่งรัฐสวัสดิการออกมาอีกประเภทคือ รัฐสวัสดิการแบบอำนาจนิยม (authoritarian welfare state) ถ้าไปดูประเทศเผด็จการอย่างปากีสถานหรืออียิปต์ จะพบว่านโยบายสวัสดิการสังคมไม่ได้ลดลงอย่างที่หลายคนเข้าใจ ที่จริงแล้ว รัฐเผด็จการที่ให้สวัสดิการแก่ประชาชนก็มี เพียงแค่ไม่ให้สิทธิเสรีภาพทางการเมือง พูดง่ายๆ คือ ให้ปากท้องอิ่ม ประชาชนจะได้สนับสนุนเผด็จการและไม่ลุกฮือต่อต้าน

รัฐสวัสดิการในโลกตะวันออกให้สวัสดิการเพื่อให้เศรษฐกิจพัฒนา ส่วนรัฐสวัสดิการแบบอำนาจนิยมให้สวัสดิการเพื่อปิดปากประชาชน แล้วรัฐสวัสดิการแบบตะวันตกมีแนวคิดอะไรเป็นฐานคิด

หากจะเล่าที่มาแนวคิดรัฐสวัสดิการตะวันตก ต้องขอย้อนกลับไปเล่าประวัติศาสตร์ยุโรปตะวันตกก่อนว่า กว่าโลกตะวันตกจะมีรัฐสวัสดิการ ต้องใช้เวลายาวนานกว่าสองร้อยปีในการสร้าง

เริ่มแรกหลังสนธิสัญญาเวสต์ฟาเลีย (The Peace of Westphalia) ก็เริ่มมีการตีเขตแดนขึ้นเป็นรัฐสมัยใหม่ที่มีประชาชนอาศัยอยู่ แต่รัฐในสมัยนั้นมีหน้าที่เพียงแค่รักษาดินแดนให้ปลอดภัย ไม่ได้มีหน้าที่ชัดเจนว่าต้องจัดสรรสวัสดิการให้แก่ประชาชน หน้าที่จัดสรรสวัสดิการจึงตกอยู่ที่สถาบันครอบครัวหรือสถาบันทางศาสนา

แต่ในศตวรรษที่ 18 ระบบเศรษฐกิจเริ่มเปลี่ยนไปเป็นระบบเสรีนิยม มีการใช้กลไกตลาดในการเพิ่มพูน ‘ความมั่งคั่งแห่งประชาชาติ’ ซึ่งแนวคิดแบบนี้ของ อดัม สมิธ (Adam Smith) เสนอว่ารัฐไม่ควรแทรกแซงกลไกตลาด ควรปล่อยให้กลไกตลาดทำงานไป เศรษฐกิจจึงจะเจริญเติบโต

แต่ระบบเศรษฐกิจเช่นนี้ก็มีปัญหาตามมา คือ จากเดิมที่แรงงานในภาคเกษตรได้รับสวัสดิการ ได้รับการช่วยเหลือเกื้อกูลกันเองจากครอบครัวหรือชุมชนเกษตร แต่พอแรงงานย้ายมาทำงานในภาคอุตสาหกรรม กลับไม่มีสวัสดิการ มีความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ ถูกกดขี่ขูดรีด จึงนำไปสู่การเกิดสำนึกความเป็นชนชั้นแรงงานขึ้นมา และจัดตั้งสมาคมแรงงานเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีการลงเบี้ยประกัน ลงขันในกองทุน

นอกจากนี้ ในช่วงศตวรรษที่ 19 เริ่มมีแนวคิดสังคมนิยมเฉดต่างๆ ออกมามากมาย ตั้งแต่สังคมนิยมอ่อนๆ จนถึงสังคมนิยมสุดโต่งอย่างคอมมิวนิสต์ที่ต้องการจะล้มทุนนิยมและรัฐ นายทุน ชนชั้นปกครอง และนักคิดจำนวนหนึ่งจึงเริ่มคิดหาทางเลือกที่ประนีประนอมระหว่างเสรีนิยมกับคอมมิวนิสต์ รัฐสวัสดิการแรกจึงเกิดขึ้นในปี 1881 ที่ปรัสเซีย ริเริ่มโดย ออตโต ฟอน บิสมาร์ค (Otto von Bismarck) ซึ่งบิสมาร์คออกกฎหมายให้รัฐมีสวัสดิการแรงงานและประกันสังคมขึ้นมา เพื่อจัดการกับความเสี่ยงที่แรงงานล้มป่วยจนนำไปสู่ความไม่แน่นอนในการผลิต และสร้างความพึงพอใจในหมู่แรงงาน ไม่ให้แรงงานหันไปหาระบอบคอมมิวนิสต์

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐสวัสดิการก็กลับมามีพัฒนาการอีกครั้ง แต่ต้องอาศัยการแทรกแซงจากภาครัฐตามแนวคิดแบบเคนส์ (Keynesian) ที่ให้รัฐเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการจ้างงานเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโต และ ณ เวลานั้น ยุโรปก็ได้รับเงินช่วยเหลือจากโครงการมาร์แชล (Marshall Plan) ของสหรัฐฯ ดังนั้น รัฐจึงเริ่มมีบทบาทมากในการเข้าไปแทรกแซงการจัดสรรสวัสดิการให้ประชาชน

แต่รัฐสวัสดิการในแต่ละประเทศก็มีระดับการแทรกแซงที่แตกต่างกันออกไป ยุโรปภาคพื้นทวีปอย่างฝรั่งเศสและเยอรมนีที่มีภาคประชาสังคมค่อนข้างเข้มแข็ง มีระบบสมาคมประกันภัยในการจัดการสวัสดิการในหมู่ประชาชนเองผ่านการนำเงินจากลูกจ้างและนายจ้างมาจ่ายประกันสังคม ไม่ค่อยอยากให้รัฐเข้ามาแทรกแซงมาก ความเป็นรัฐสวัสดิการของสองประเทศนี้จึงเป็นการผสมกันระหว่างสวัสดิการจากรัฐและภาคประชาสังคม ในฝรั่งเศส พอรัฐเริ่มเปลี่ยนเป็นรัฐสวัสดิการก็ต้องเผชิญกับการต่อต้านจากท้องถิ่นเป็นอย่างมาก เพราะฝรั่งเศสสร้างรัฐสวัสดิการโดยให้อำนาจรวมศูนย์อยู่ที่ปารีส มีการกระจายอำนาจน้อย กว่าฝรั่งเศสจะเป็นรัฐสวัสดิการที่กระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นก็เมื่อช่วงทศวรรษที่ 1980 นี้เอง

ส่วนอังกฤษหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เลือกสร้างรัฐสวัสดิการโดยมีระบบประกันสุขภาพ NHS (National Health Service) และระบบประกันถ้วนหน้าซึ่งใช้เงินภาษีจากประชาชนแทนระบบสังคมสงเคราะห์ที่รัฐจ่ายเบี้ยประกันให้กับคนที่ตกงาน อย่างที่ใช้ในฝรั่งเศสและเยอรมนี ลอร์ดวิลเลียม เบเวอริดจ์ ผู้เขียนรายงานเบเวอริดจ์ (Beveridge Report) ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญว่าด้วยการสร้างรัฐสวัสดิการในอังกฤษ ก็เขียนไว้เองว่าอังกฤษจะไม่ใช้ระบบสังคมสงเคราะห์เพราะทำให้คนอยากว่างงาน คอยรอรับเงินจากรัฐบาลอย่างเดียว

สี่แยกราชประสงค์

พูดได้ไหมว่าการเกิดขึ้นของรัฐสวัสดิการในแต่ละพื้นที่มาจากพลวัตภายในรัฐหรือพลวัตในภาคประชาสังคมของแต่ละรัฐเอง

รัฐสวัสดิการเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และครอบครัวอย่างมาก และความสัมพันธ์นี้ก็มีพลวัตในตัวสูง มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราตามข่าวเกี่ยวกับรัฐสวัสดิการตะวันตกจะเห็นข่าวเกี่ยวกับการปฏิรูปบ่อยมาก

พอมีรัฐสวัสดิการแล้ว ไม่ได้แปลว่าทุกอย่างจะเสร็จสิ้น รัฐสวัสดิการไม่ได้เป็นจุดสิ้นสุดในตัวเอง รัฐต้องคิดว่าจะปฏิรูปอย่างไรเมื่อวิกฤตทางเศรษฐกิจหรือวิกฤตสังคมเข้ามาปะทะเป็นระลอก ครั้งที่มีการปฏิรูปใหญ่ที่สุดก็คือช่วงทศวรรษที่ 1980 ซึ่งรัฐสวัสดิการตะวันตกแทบทุกประเทศปฏิรูปตัวเอง ที่เห็นได้ชัดก็คือกรณี มากาเร็ต แธชเชอร์ (Margaret Thatcher) นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรที่ปฏิรูปเปลี่ยนรัฐสวัสดิการเสรีนิยมให้กลายเป็นรัฐเสรีนิยมใหม่ (neoliberal)

แม้ว่ารัฐจะยังคงลักษณะความเป็นรัฐสวัสดิการแบบเสรีนิยมที่ปล่อยให้กลไกตลาดทำงานไป แต่พอเปลี่ยนรัฐให้เป็นเสรีนิยมใหม่ ก็ทำให้กลไกตลาดทำงานเพิ่มขึ้น ผลักภาระให้ภาคเอกชนมาบริหารจัดการการใช้จ่ายนโยบายสังคมมากขึ้น สัดส่วนการใช้จ่ายภาครัฐที่นำไปลงกับนโยบายสังคมก็ลดลง

หลายๆ คนจะนึกถึงรัฐสวัสดิการอย่างในสแกนดิเนเวีย และมองว่าเป็นรูปแบบรัฐสวัสดิการที่น่าถวิลหาที่สุด อยากทราบว่าเป็นเช่นนั้นจริงหรือเปล่า ในเมื่อรัฐสวัสดิการมีหลากหลายรูปแบบ จะพูดได้ไหมว่าเรามีรัฐสวัสดิการรูปแบบที่ดีที่สุด หรือยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่ารัฐสวัสดิการประเภทไหนดีที่สุด

รัฐสวัสดิการแต่ละแบบมีข้อดีข้อเสียต่างกันไป ในโลกตะวันตก บางคนก็อยากให้รัฐตัวเองเปลี่ยนไปเป็นรัฐสวัสดิการแบบสแกนดิเนเวีย บางคนก็มองว่าหากเปลี่ยนตามแบบสแกนดิเนียเวียก็มีปัญหา

หลายคนมองว่ารัฐสวัสดิการแบบสแกนดิเนเวียน่าถวิลหาก็จริง แต่การที่เราจะสร้างรัฐสวัสดิการเหมือนเขาได้ต้องผ่านเงื่อนไขหลายประการ หากสถาบันทางการเมือง สถาบันทางเศรษฐกิจ กลไกตลาด สถาบันทางสังคมและสถาบันครอบครัวของเราไม่เหมือนเขา เราก็เป็นรัฐสวัสดิการแบบเดียวกันกับที่สแกนดิเนเวียไม่ได้ สมมติว่าเราอยากเป็นรัฐสวัสดิการแบบสวีเดนมาก เราปรับนโยบายตามสวีเดนทั้งหมด แถมเงื่อนไขให้ด้วยว่าเรามีเงินพอ มีความเป็นไปได้ทางการคลังที่จะสร้างรัฐสวัสดิการเหมือนสวีเดนทุกอย่าง แต่ถ้าเรามีสถาบันทางการเมืองที่สร้างความไว้วางใจให้ประชาชนไม่ได้ ประชาชนไม่สามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐได้ แล้วเราจะเป็นรัฐสวัสดิการเหมือนสวีเดนได้หรือเปล่า?

เราจำเป็นต้องรวยก่อนไหมจึงจะสร้างรัฐสวัสดิการได้

เงินเป็นเพียงปัจจัยหนึ่ง แต่ผมคิดว่าความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันต่างๆ ที่ได้กล่าวไปคือแกนหลักในการสร้างรัฐสวัสดิการ คือต้องจัดการความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันเหล่านี้ก่อน อย่างที่ฝรั่งเศส ตอนสร้างรัฐสวัสดิการก็เข้าไปจัดการความสัมพันธ์ของรัฐบาลส่วนกลางกับรัฐบาลส่วนท้องถิ่นก่อนพิจารณาเรื่องงบประมาณ

อยากเห็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันในรูปแบบของสแกนดิเนเวียว่าตรงจุดไหนที่ทำให้รัฐสวัสดิการของเขาเกิดขึ้นได้ แล้วเรายังขาดตรงนั้นอยู่

อย่างแรกสุดคือเราต้องมีสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง แต่ไทยไม่เคยมีสหภาพแรงงาน หรือถ้ามีก็อ่อนแอมาก

การที่จะสร้างรัฐสวัสดิการได้ ทั้งรัฐและภาคประชาสังคมต้องเข้มแข็ง และต้องเข้มแข็งพอที่จะสร้างสมดุลคัดง้างระหว่างกันได้ คือภาคประชาสังคมต้องเข้มแข็งพอที่จะตรวจสอบการทำงานของรัฐได้ ในขณะเดียวกันรัฐก็ต้องเข้มแข็งพอที่จะแทรกแซงสังคมได้เช่นกัน

แต่การที่ภาคประชาสังคมจะยอมให้รัฐแทรกแซงได้ รัฐก็ต้องเป็นนิติรัฐและออกนโยบายบนพื้นฐานทางวิชาการและข้อมูล รัฐสวัสดิการเติบโตได้เพราะการใช้ข้อมูลในการกำหนดนโยบายและความโปร่งใสที่ยอมให้ประชาชนรับรู้ข้อมูล หากรัฐไม่ใช้องค์ความรู้เพื่ออธิบายว่ารัฐต้องออกนโยบายแทรกแซงเพื่อจัดสรรสวัสดิการ ก็ไม่สามารถสร้างความเชื่อถือแก่ประชาชนได้ว่านโยบายนั้นเป็นไปเพื่อสวัสดิการของประชาชนจริง

อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ไทยเป็นรัฐสวัสดิการแบบสแกนดิเนเวียไม่ได้คือวัฒนธรรมระบบอุปถัมภ์ที่ฝังรากลึกในไทย เพราะระบบอุปถัมภ์แปรให้การจัดสรรสวัสดิการกลายเป็นเรื่องความสัมพันธ์ส่วนตัว หรือผลประโยชน์ตอบแทนทางการเมือง

มีการตั้งข้อสังเกตหลายครั้งว่า ทำไมรัฐบาลหลายชุดมีนโยบายแจกสวัสดิการให้ประชาชนมากมาย แต่นโยบายประชานิยมเหล่านี้กลับไม่นำไปสู่การเป็นรัฐสวัสดิการ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเมื่อนักการเมืองท้องถิ่นรับนโยบายจากรัฐบาลไปใช้ในทางที่ส่งเสริมกับระบบอุปถัมภ์ กลับกลายเป็นการสร้างความจงรักภักดีระหว่างประชาชนในพื้นที่และนักการเมืองไปเสียอย่างนั้น

รัฐสวัสดิการจะเกิดขึ้นได้ ความจงรักภักดีต้องเกิดขึ้นระหว่างรัฐกับประชาชน ไม่ใช่ตัวบุคคล

แต่ว่าก็มีบางนโยบาย อย่างนโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ไม่ได้ผูกกับนักการเมืองท้องถิ่น?

หลังรัฐบาลพรรคไทยรักไทย นโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้ากลายเป็นนโยบายที่ลงหลักปักฐานแล้วระดับหนึ่ง ในความหมายว่าแม้จะมีความพยายามล้มนโยบายนี้ แต่ก็ล้มได้ยาก แต่ก็ต้องตั้งคำถามว่าระบบอุปถัมภ์มันเปลี่ยนไปหรือไม่ ใช้นโยบายนี้แล้วประชาชนจงรักภักดีต่อรัฐ ยินดีที่จะจ่ายภาษี เกิดความไว้วางใจต่อรัฐ และความสมานฉันท์ระหว่างประชาชนหรือไม่ แต่ปรากฏว่าหลายอย่างที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นว่าระบบอุปถัมภ์ไม่ได้เปลี่ยนไป

ถ้าจะมองอย่างวิพากษ์ นโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้าอยู่บนฐานของแนวคิดที่ว่ารัฐมีหน้าที่ดูแลสวัสดิการขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่งมีการผลักดันมาก่อนที่พรรคไทยรักไทยจะนำมาประกาศเป็นนโยบาย แต่การแข่งขันทางการเมืองและความขัดแย้งทางการเมืองก็ทำให้พรรคไทยรักไทยมีความเป็น ‘เจ้าของ’ นโยบายนี้ไปเสียอย่างนั้น ก็มีคนที่วิจารณ์อยู่ว่านโยบายนี้เป็นการเมืองระบบอุปถัมภ์ระหว่างพรรคการเมืองและผู้ลงคะแนนเสียง

อย่างไรก็ตาม เราปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือหมุดหมายสำคัญของนโยบายสวัสดิการในประเทศไทย แต่หากถอยออกมามองในระดับหนึ่งก็จะช่วยให้เห็นว่า ไทยอยู่ตรงไหนในเส้นทางของการเป็นรัฐสวัสดิการ

ในเมื่อสถาบันทางการเมืองและสถาบันทางสังคมของเราไม่เหมือนกับที่สแกนดิเนเวีย โจทย์ใหม่ก็คือ เราจะมีรัฐสวัสดิการแบบไทยๆ ที่ทำงานได้ดี มีประสิทธภาพภายใต้เงื่อนไขเชิงสถาบันที่เรามีอยู่ได้ไหม แล้วเราควรจะมุ่งไปทางไหนต่อถึงจะตอบโจทย์ต่อสิ่งที่สังคมไทยกำลังเผชิญได้

หากเราจะเปลี่ยนรูปแบบรัฐสวัสดิการในไทย ต้องทำใจว่าต้องใช้เวลานานในการเปลี่ยนแปลง อย่างยุโรปก็ต้องใช้เวลาร้อยกว่าปีกว่าจะมีรัฐสวัสดิการ ในเอเชียตะวันออกก็ต้องใช้เวลาถึง 40-50 ปี

ก่อนอื่นเราต้องแยกให้ออกว่า ‘รัฐสวัสดิการ’ และ ‘สวัสดิการ’ ไม่เหมือนกัน มนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะคิดแบบไหน เชื้อชาติอะไร ย่อมต้องการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีทั้งนั้น ทุกคนเห็นตรงกันว่าอยากได้สวัสดิการ ดังนั้น ‘สวัสดิการ’ จึงเป็นค่านิยมสากล แต่ทุกคนไม่จำเป็นต้องอยากได้รัฐสวัสดิการรูปแบบเดียวกัน บางคนอาจคิดแบบหนึ่ง บางคนอาจจะอยากได้รัฐสวัสดิการอีกแบบหนึ่ง ก็ต้องค่อยๆ ใช้เวลาสร้างฉันทามติร่วมในสังคม

ในปัจจุบัน วงการศึกษารัฐสวัสดิการจัดว่าไทยเป็นรัฐสวัสดิการแบบ productivist-particularist คือมีนโยบายสวัสดิการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยที่รัฐเลือกให้สวัสดิการแก่ประชากรบางกลุ่มเท่านั้น ดังนั้น ภายใต้เงื่อนไขที่สังคมไทยมี ประชาชนส่วนที่รัฐไม่ได้จัดสรรสวัสดิการให้ก็ต้องพึ่งระบบอื่นในภาคประชาสังคม โดยเฉพาะภาคการกุศล ซึ่งทำงานร่วมกับภาคครอบครัว เป็นต้น

แต่ในอนาคต เราต้องมานั่งคิดกันใหม่แล้วว่ากลไกเหล่านี้อาจไม่เพียงพอในการจัดสรรสวัสดิการ เพราะระบบสังคมค่อยๆ เปลี่ยนไป ในด้านหนึ่ง สังคมไทยมีครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น และคนมีความเป็นปัจเจกมากขึ้น ในอีกด้านหนึ่ง ระบบการกุศลก็มีลักษณะผูกขาดมากขึ้น มีเพียงไม่กี่องค์กรการกุศลเท่านั้น นี่ยังไม่นับว่าไม่มีการประกันว่าความช่วยเหลือจากองค์กรการกุศลจะลงไปถึงคนที่เดือดร้อนจริงๆ

ตราบเท่าที่นโยบายสวัสดิการคิดมาจากคนข้างบน คนข้างบนเป็นผู้ตัดสินใจว่าใครควรได้รับสวัสดิการและได้รับมากแค่ไหนโดยที่คนข้างล่างไม่สามารถมีส่วนร่วมในการคิด ปัญหาความเหลื่อมล้ำก็จะอยู่เช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ หากจะจัดความสัมพันธ์ภายในรัฐเพื่อให้เกิดรัฐสวัสดิการแบบใหม่ ก็ต้องเปลี่ยนแปลงสถาบันการเมืองให้มีความเป็นประชาธิปไตย มีความเป็นนิติรัฐมากยิ่งขึ้น ภาคประชาสังคมก็ต้องเข้มแข็งจนสามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐได้มากขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็ต้องค่อยๆ เปลี่ยนวัฒนธรรมแบบอุปถัมภ์ให้กลายเป็นวัฒนธรรมที่คนในสังคมมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (solidarity) มากขึ้น สร้างความเห็นอกเห็นใจระหว่างประชาชนด้วยกันเอง

Stronger Together กรุงเทพ

ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อการสร้างรัฐสวัสดิการอย่างไร                                                                                    

ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเป็นแนวคิดที่ผสมผสานระหว่างเสรีนิยมและสังคมนิยม คือให้ความสำคัญกับทั้งสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลและผลประโยชน์ของสังคม แนวคิดนี้มองว่าปัจเจกไม่ได้ประสบความสำเร็จด้วยตัวคนเดียว แต่เป็นเพราะมีคนอื่นๆ ในสังคมคอยเกื้อหนุนอยู่เสมอ ดังนั้นทุกคนในสังคมจึงเป็นหนี้ต่อกัน มีภาระผูกพันที่ต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน คนที่ประสบความสำเร็จแล้วจึงต้องช่วยเหลือคนอื่นที่อ่อนแอกว่า

แต่การช่วยเหลือแบบการกุศลหรือแบบศาสนาที่อิงอยู่บนชุดความคิดทางศีลธรรมนั้นมีความไม่แน่นอน รัฐจึงต้องเปลี่ยนให้การช่วยเหลือเป็นข้อบังคับทางกฎหมาย กำหนดให้ทุกคนต้องจ่ายภาษีเพื่อให้รัฐกระจายภาษีลงไปช่วยเหลือคนในสังคม

ในยุคโควิด-19 เราได้ยินคำพูดผ่านหูกันบ่อยๆ ในทำนองว่า “อ่อนแอก็แพ้ไป ให้ธรรมชาติคัดสรร” ในขณะที่เราก็เห็นคนทำงานหนักไม่ได้ค่าตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อ ทำไมระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่พร่ำบอกให้คน ขยัน อดทน ใครทำใครได้ (meritocracy) จึงไม่ให้ผลลัพธ์ที่เป็นไปตามคำสัญญาของระบบ

ระบบคุณธรรมที่บอกว่าใครทำใครได้ไม่ใช่ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าระบบความคิดนี้มองคนในสังคมเป็นปัจเจกบุคคลอย่างสุดโต่ง มองข้ามความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกกับสังคม คนอื่นในสังคมอาจกำลังช่วยเหลือคุณอยู่โดยที่คุณอาจจะไม่รู้ตัวหรือไม่ได้สังเกตก็ได้ สมมติว่าคุณเป็นเศรษฐีที่ประสบความสำเร็จ เวลาจะขับรถไปทำงาน ก็ต้องอาศัยน้ำพักน้ำแรงของคนกวาดถนนที่ช่วยกวาดถนนจนสะอาด หรืออย่างที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศส คนเก็บขยะประท้วงหยุดงานหนึ่งสัปดาห์ ปล่อยให้เมืองสกปรกเละเทะเพื่อส่งสัญญาณให้คนรวยรู้ว่า ที่คุณอยู่ดีกินดี ประสบความสำเร็จได้ ส่วนหนึ่งก็เพราะงานแบบที่คนตัวเล็กตัวน้อยอย่างคนเก็บขยะทำ ไม่ใช่เพราะตัวเองพยายามเท่านั้น

พูดได้ไหมว่า วิกฤตโควิด-19 ได้เผยให้เห็นปัญหาของการมองสังคมแบบเป็นปัจเจกมากเกินไป

ใช่ครับ ลักษณะของสังคมไทยมีความเป็นปัจเจกสูง คุณค่าสถาบันแบบครอบครัวก็ถูกแทนที่ด้วยความเป็นปัจเจกมากยิ่งขึ้น พอเกิดวิกฤตโควิด-19 รัฐให้ความช่วยเหลือด้านสินค้าและบริการไม่ค่อยได้ ปัจเจกจึงพึ่งพารัฐไม่ได้ หรือแม้แต่ให้ข้อมูลข่าวสารเพื่อให้ประชาชนเชื่อใจว่า นโยบายสวัสดิการที่ออกมานั้นเพื่อประชาชนจริงๆ รัฐก็ทำไม่ได้ ทุกคนเลยต้องพึ่งตัวเอง หาวิธีแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง

ในช่วงหลัง สังคมไทยเริ่มพูดถึงความเหลื่อมล้ำมากขึ้น จนเป็นวาระหลักหนึ่งของสังคม ถ้ามองด้วยแว่นของคนที่สนใจรัฐสวัสดิการ มีประเด็นอื่นไหมที่คนไม่ค่อยพูดถึงกัน

สังคมไทยตระหนักถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำมากขึ้น เริ่มมองเห็นและสัมผัสความเหลื่อมล้ำได้มากขึ้น มีรายงานตัวเลขชี้ชัดขึ้นว่ามีความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า เวลาเราพูดคุยถกเถียงเรื่องความเหลื่อมล้ำ เรามักพูดถึงแค่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างเดียว คิดแค่ว่าจะใช้เครื่องมือหรือมาตรการอะไรในการแก้ไขปัญหา แต่เราไม่พูดถึงต้นตอของความเหลื่อมล้ำว่ามาจากไหน ซึ่งปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาที่ฝังราก ต้องขุดขึ้นมาว่าต้นตออยู่ที่ไหน

ที่จริงแล้ว ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสัมพันธ์กับความเหลื่อมล้ำมิติอื่นๆ ด้วย เช่น ความเหลื่อมล้ำทางการเมืองและสิทธิเสรีภาพ เราไม่ได้ไปแตะว่าสถาบันอื่นๆ นอกเหนือจากสถาบันทางเศรษฐกิจเอื้อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการกระจายทรัพยากรได้อย่างไร ทำไมระบบชนชั้นนำในประเทศไทยถึงมีทรัพยากรรวมกันมากกว่าประชากร 80% แล้วทำไมคนเหล่านี้ถึงมีอำนาจในการกำหนดนโยบาย เราจะเปลี่ยนพวกนี้ได้อย่างไร

ความท้าทายหนึ่งที่มาพร้อมกับโควิด-19 คือ วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ซึ่งหลายคนมองว่ากัดกินรัฐสวัสดิการในทุกด้าน ประเทศรัฐสวัสดิการจะอ่อนแอลง ประเทศไทยที่ยังไม่มีรัฐสวัสดิการก็จะยิ่งยากขึ้นไปอีก อาจารย์มองทิศทางของกระแสรัฐสวัสดิการอย่างไร

รัฐสวัสดิการและความเหลื่อมล้ำมักจะนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ทุนนิยมว่าทุนนิยมล้มเหลวอย่างไร วิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่ก็ทำให้เกิดการถกเถียงในเรื่องนี้อย่างมาก โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า ทำอย่างไรทุนนิยมถึงจะปรับตัวได้ เพราะความเหลื่อมล้ำเองก็ไม่ได้ส่งผลดีกับทุนนิยมเองเท่าไร

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รัฐสวัสดิการเกิดขึ้นเพื่อต่อชีวิตทุนนิยม ประนีประนอมกับทุนนิยมเพื่อให้ทุนนิยมปรับตัวได้ อย่างในสมัยปลายศตวรรษที่ 19 หากทุนนิยมไม่ปรับตัวจนมีรัฐสวัสดิการ ทุนนิยมก็จะถูกคอมมิวนิสต์โค่นล้ม รัฐสวัสดิการจึงเป็นเหมือนฉนวนกันการเปลี่ยนแปลงระบบแบบถอนรากถอนโคน ดังนั้น ประเทศไหนที่มีรัฐสวัสดิการ การเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจแบบถอนรากถอนโคนจะไม่มีวันเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ราชดำเนิน ผู้คน ฟุตบาท มืด

ในอนาคต รัฐสวัสดิการอาจจะกลับมา แต่กลับมาในรูปแบบที่ไม่เหมือนเดิม ตอนนี้ก็เริ่มมีการพูดถึงเครื่องมือใหม่ๆ ที่มีความเป็นรัฐสวัสดิการมากขึ้น เช่น นโยบายการันตีรายได้พื้นฐานให้กับประชาชน (Universal Basic Income: UBI) อาจารย์คิดเห็นอย่างไร

สวัสดิการอาจอยู่ในรูปของการให้ UBI ได้เช่นกัน ที่จริงการการันตีรายได้พื้นฐานเป็นเรื่องที่คิดกันมานานแล้ว แต่เพิ่งฮิตช่วง 10 ปีให้หลังมานี้

ที่น่าสนใจคือทั้งฝ่ายซ้ายกลางและฝ่ายเสรีนิยมใหม่ต่างก็สนับสนุนนโยบาย UBI ในขณะที่ฝ่ายซ้ายจัดกับขวาจัดปฏิเสธนโยบายนี้ แต่ด้วยฐานคิดที่ต่างกัน ฝ่ายเสรีนิยมใหม่ อย่าง World Bank ให้ทุนทำวิจัยเกี่ยวกับ UBI สูงมาก เพราะมองว่าการให้ UBI จะลดบทบาทรัฐในการแทรกแซงกลไกตลาดเพื่อสร้างระบบสวัสดิการได้ ในขณะที่ประชาชนก็มีเงินเพื่อจับจ่ายใช้สอย พอเงินหมุนในระบบ กลไกตลาดก็ทำงาน

ความคิดในการใช้นโยบาย UBI ของฝ่ายเสรีนิยมใหม่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานว่าคนต้องได้รับสวัสดิการ แต่เขามองว่าความยากจนไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ จึงต้องช่วยให้คนไม่จน เมื่อคนไม่จน ก็มีกำลังบริโภคมากขึ้น ผลิตสินค้ามากขึ้น เศรษฐกิจก็เติบโตมากขึ้น

ส่วนฝ่ายซ้ายกลางคิดต่างออกไป เขามองว่าทุกคนควรจะมีความเป็นอยู่ที่ดี มีรายได้ที่ทำให้คนใช้ชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีเสรีภาพในการเลือกสิ่งที่อยากทำ ใช้ศักยภาพของตนเองโดยที่ไม่ต้องคิดว่าต้องทำงานเพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ สมมติว่าผมอยากเป็นคนกวาดถนนที่เก่งที่สุด แต่ผมไม่มีวันที่จะมีรายได้เพียงพอจากการกวาดถนน ผมเลยจำเป็นต้องละทิ้งความฝันในการเป็นคนกวาดถนนไปทำงานอื่นเพื่อจะมีรายได้เพียงพอ แต่ถ้ามีผมได้รายได้พื้นฐานจากรัฐบาล ผมก็จะทำงานเป็นคนกวาดถนนตามความฝันได้

แต่ฝ่ายซ้ายจัดไม่รับนโยบาย UBI เพราะนโยบายนี้ผลักภาระให้ประชาชนทั้งประเทศจ่ายภาษี เพื่อที่จะนำเงินไปกระจายเป็นรายได้พื้นฐาน ลดภาระนายทุนที่จะต้องจ่ายสวัสดิการบางอย่าง เช่น เงินประกันว่างงาน ส่วนฝ่ายขวาจัดก็ไม่รับเช่นกันเพราะมองว่าคนที่ทำงานได้เงินไม่ควรเสียภาษีอุ้มคนที่ไม่ทำงาน

นอกจาก UBI แล้ว รัฐสวัสดิการมีเครื่องมือใหม่อื่นๆ บ้างไหม

อาจจะตอบไม่ตรงคำถามเสียทีเดียว แต่ถ้าพูดถึงเรื่องเครื่องมือสวัสดิการใหม่ๆ อาจจะไม่น่าสนใจเท่ากับการจัดการโครงสร้างทางสถาบันภายใน เพราะการเลือกใช้เครื่องมือสวัสดิการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว สวัสดิการแต่ละแบบก็ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือเหมือนกัน ในแง่นี้ คนทำเรื่องรัฐสวัสดิการต้องศึกษาว่าสวัสดิการแต่ละแบบควรใช้กลไกไหนในการจัดการสวัสดิการ รัฐ กลไกตลาด ระบบการกุศล ระบบครอบครัว และระบบที่ผสมผสานเครื่องมือเหล่านี้เข้าด้วยกัน

สวัสดิการบางอย่างอาจให้รัฐเป็นผู้จัดสรร บางอย่างก็ควรใช้สถาบันครอบครัว อย่างกรณีวิกฤตโควิด-19 จะเห็นว่ากลไกตลาดไม่สามารถจัดการได้ ก็ต้องให้รัฐหรือระบบการกุศลเข้ามาทำตรงนี้

การจะออกแบบเครื่องมือเหล่านี้ได้ดี เราต้องตั้งคำถามกับทัศนคติและวิธีคิดที่วนเวียนอยู่ในสังคมที่คอยกำหนดว่า ‘อะไรเป็นความเหลื่อมล้ำ’ และ ‘อะไรไม่นับเป็นความเหลื่อมล้ำ’ สังคมไทยมีความอดทนต่อความเหลื่อมล้ำสูงมาก เห็นความยากจนเป็นความปกติในชีวิตประจำวัน และเราสามารถสงสารและประณามความยากจนได้ในเวลาเดียวกัน วันหนึ่งเราบริจาคเงินให้คนจนที่โดนโกง แต่วันรุ่งขึ้นพอคนจนแย่งของกินจากตู้ปันสุข ก็พร้อมที่จะด่าทอ เราต้องศึกษาว่าทำไมทัศนคติต่อความยากจนและความเหลื่อมล้ำจึงเป็นแบบนี้ในสังคมไทย

ทัศนคติเรื่องความเหลื่อมล้ำในแต่ละที่ก็แตกต่างกันไป เรากล่าวได้ไหมว่า นี่คือพลวัตของประวัติศาสตร์หรือเงื่อนไขทางสังคมที่มันก่อร่างให้เราคิดกับความเหลื่อมล้ำแบบหนึ่ง แต่ในวันข้างหน้าเราอาจเปลี่ยนวิธีคิดไปเป็นอีกแบบหนึ่ง

ผมหวังว่าทัศนคติต่อความเหลื่อมล้ำจะเปลี่ยนไปเป็นแบบที่สากลมากขึ้น แต่จะเปลี่ยนวิธีคิดได้ ทุกคน ทุกภาคส่วนในสังคมต้องช่วยกันเปลี่ยน จะหวังให้พรรคการเมืองหรือสถาบันใดสถาบันหนึ่งชี้นำการเปลี่ยนแปลงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยทั้งภาคประชาสังคม ระบบการศึกษา สถาบันครอบครัวที่คอยกล่อมเกลา รวมทั้งคนธรรมดาเช่นกัน

ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 พรรคการเมืองต่างๆ ชูเรื่องนโยบายสวัสดิการกันหมด แม้ว่าจะก้าวหน้ามากน้อยต่างกันก็ตาม มองย้อนกลับไป อาจารย์มองเห็นอะไรบ้างในการเมืองเรื่องรัฐสวัสดิการ

ผมมองว่าเป็นเรื่องดีที่ทุกพรรคพยายามจะเสนอนโยบายสวัสดิการสังคม เพราะเป็นการเปิดพื้นที่ให้คนรับรู้ว่าสวัสดิการมีหลากหลายรูปแบบ และเปิดให้คนได้ถกเถียงว่าต้องการสวัสดิการแบบไหน ต้องยอมรับว่าการชนะเลือกตั้งของพรรคไทยรักไทยในปี 2544 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้พรรคอื่นพยายามเสนอนโยบายสวัสดิการ พรรคไทยรักไทยทำให้เห็นว่า นโยบายสวัสดิการแปรเป็นคะแนนเลือกตั้งได้ และนโยบายก็ทำได้จริงด้วย

เพียงแต่ว่าหลังจากรัฐประหาร ช่องทางในการถกเถียงเรื่องรัฐสวัสดิการถูกจำกัด พรรคการเมืองที่ได้เป็นรัฐบาลก็ทำตามนโยบายที่สัญญาไว้ไม่ได้ ระบบพรรคการเมืองไทยจากที่เคยพัฒนาเรื่อยๆ กลับแย่ลง จนอาจทำให้ประชาชนหมดหวังกับการเมืองอีกครั้ง

ถ้าดูที่นโยบายของแต่ละพรรค อาจารย์มองเห็นข้อเสนออะไรบ้างที่ใกล้เคียงความเป็นรัฐสวัสดิการที่สุด เรามองระนาบของการเมืองเชิงนโยบายนี้อย่างไร มีอะไรที่ขาดหายไปในการถกเถียง

ผมขอเริ่มที่พรรคพลังประชารัฐ นโยบายสวัสดิการของพรรคมีที่มาจากแนวคิดตรงตัวตามชื่อพรรคเลยคือ พลัง ‘ประชารัฐ’ แนวคิดประชารัฐไม่ใช่แนวคิดใหม่ แต่เป็นแนวคิดที่มีมาตั้งแต่สมัยพฤษภา ’35 เสนอโดยคุณหมอประเวศ วะสี แนวคิดนี้เสนอว่ารัฐกับประชาชนมีความสัมพันธ์กันในลักษณะที่รัฐปล่อยให้ประชาชนทำอาชีพตามที่ตนเองถนัดไป ไม่ต้องเปลี่ยนอาชีพ ไม่ต้องเลื่อนชนชั้น สมมติว่าเป็นเกษตรกร ก็ปลูกผักต่อไป เป็นพ่อค้า ก็ขายของต่อไป เป็นกลุ่มทุนรายใหญ่ก็ขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป รัฐก็คงโครงสร้างทางสังคมไว้ ให้สวัสดิการสังคมแก่ประชาชนโดยที่ไม่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมและโครงสร้างชนชั้น

ส่วนพรรคอนาคตใหม่มีนโยบายรัฐสวัสดิการก็จริง แต่ไม่ได้บูรณาการนโยบายรัฐสวัสดิการกับการจัดความสัมพันธ์ของโครงสร้างสถาบัน พรรคเสนอการเปลี่ยนแปลงสถาบันทหาร แต่ไม่แตะสถาบันอื่นเลย ไม่ได้เสนอว่าจะจัดการสถาบันทางการเมือง กลไกตลาด ระบบราชการ สถาบันสังคม หรือสถาบันครอบครัวอย่างไร

ส่วนนโยบายสวัสดิการของพรรคประชาธิปัตย์มีลักษณะที่ค่อนข้างอิงกับตลาดเป็นหลัก ใช้กลไกตลาดในการจัดสรร รัฐเข้าไปแทรกแซงน้อย ต่างจากนโยบายของพรรคพลังประชารัฐและพรรคอนาคตใหม่ที่เน้นการแทรกแซง รวมทั้งไม่ได้เสนอการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง

แต่ผมก็ต้องย้ำอีกครั้งว่า เราไม่สามารถสร้างรัฐสวัสดิการได้ภายในรอบ 4 ปีของการเลือกตั้งแน่นอน กระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐสวัสดิการนั้นต้องเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป

อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย ไร้รถ ไร้ผู้คน

MOST READ

Interviews

3 Sep 2018

ปรากฏการณ์จีนบุกไทย – ไชน่าทาวน์ใหม่ในกรุงเทพฯ

คุยกับ ดร.ชาดา เตรียมวิทยา ว่าด้วยปรากฏการณ์ ‘จีนใหม่บุกไทย’ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องการท่องเที่ยว แต่คือการเข้ามาลงหลักปักฐานระยะยาว พร้อมหาลู่ทางในการลงทุนด้านต่างๆ จากทรัพยากรของไทย

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

3 Sep 2018

Interviews

20 Jun 2018

ทำไมไม่แบนพาราควอต ตีแผ่ทุกเบื้องหลัง กับ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ

เผยเบื้องลึกเกี่ยวกับพาราควอต เปิดเอกสารประกอบการตัดสินใจ ‘ไม่แบน’ ที่รัฐไม่เปิดเผยให้ใครได้อ่าน และเหตุผลที่สารเคมีร้ายแรงจำนวนมากยังอยู่คู่กับสังคมไทย กับ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย)

กองบรรณาธิการ

20 Jun 2018

Economy

12 Dec 2018

‘รวยกระจุก จนกระจาย’ ระดับสาหัส: ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไทยในศตวรรษที่ 21

ธนสักก์ เจนมานะ ใช้ข้อมูลและระเบียบวิธีวิจัยใหม่ล่าสุดสำรวจสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำไทยที่ ‘สาหัส’ เป็นอันดับต้นๆ ของโลก

ธนสักก์ เจนมานะ

12 Dec 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save