fbpx

รู้จัก ‘กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก’ – เมื่อลาตินอเมริกาอยากเชื่อมความสัมพันธ์ทางการค้ากับเอเชียแปซิฟิก

ถึงแม้ว่าภูมิภาคเอเชียและลาตินอเมริกาจะมีปฏิสัมพันธ์กันทั้งทางด้านวัฒนธรรม การทูต และเศรษฐกิจมาเป็นเวลานาน แต่ความสัมพันธ์ของทั้งสองภูมิภาคมักถูกมองข้ามหรือไม่ได้รับความสำคัญเท่าใดนัก โดยเฉพาะหากเปรียบเทียบกับความสัมพันธ์ที่สหรัฐอเมริกามีกับประเทศต่างๆ ตลอดบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก ไม่ว่าจะเป็นในเอเชียหรือลาตินอเมริกา  

แม้เป็นที่เข้าใจโดยทั่วไปว่า ภูมิภาคที่ยังอยู่ในสถานะกำลังพัฒนาทั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจอย่างลาตินอเมริกา ยังไม่มีประเทศใดสามารถก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของโลกได้เหมือนอย่างสหรัฐฯ แต่ด้วยการเปิดกว้างของระบบการค้าเสรีระหว่างประเทศและการที่เอเชียผงาดขึ้นเป็นตลาดการค้าที่สำคัญของโลก ประเทศต่างๆ ในลาตินอเมริกาจึงต่างต้องการแสวงหาโอกาสนี้ไว้เพื่อพัฒนาระบบเศรษฐกิจของตน

‘กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก’ (Pacific Alliance) ถือเป็นพัฒนาการทางความร่วมมือระหว่างประเทศในระดับภูมิภาคที่สำคัญล่าสุดในลาตินอเมริกาเพื่อตอบสนองต่อกระแสเศรษฐกิจดังกล่าว และได้กลายเป็นกลุ่มการค้าที่ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดทั้งจากในภูมิภาคเองและระดับนานาชาติ

ภาพที่ 1: ประเทศสมาชิกกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกและสัญลักษณ์

กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกก่อตั้งขึ้นในเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2554 โดย 4 ประเทศสมาชิกปัจจุบัน ได้แก่ ชิลี โคลอมเบีย เม็กซิโก และเปรู[1] เป้าหมายของกลุ่มนี้คือ

  1. ส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจโดยผ่านการมีส่วนร่วมและความเห็นชอบจากทุกภาคส่วน รวมถึงผลักดันการเปิดเสรีทางการค้า การบริการ เงินทุนและทรัพยากรมนุษย์อย่างเป็นระบบ
  2. สนับสนุนให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการพัฒนาและการแข่งขันทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศสมาชิก โดยมุ่งเน้นให้มีระบบสวัสดิการสังคมที่มีคุณภาพมากขึ้น ขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ และผลักดันให้เกิดการยอมรับความหลากหลายของสมาชิกในสังคมเพิ่มมากขึ้น
  3. เป็นฐานนโยบายให้กับด้านการเมือง เศรษฐกิจและการรวมกลุ่มการค้า และขยายจุดแข็งต่างๆ เหล่านี้ไปสู่ระดับนานาชาติ โดยมุ่งเน้นภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นพิเศษ[2]

เป้าหมายของกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกมุ่งเน้นกระชับสายสัมพันธ์ทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิกเป็นหลัก โดยมีเงื่อนไขว่าทุกประเทศที่เป็นสมาชิกต้องปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยและเคารพสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ประเทศสมาชิก (รวมถึงประเทศที่ประสงค์จะเข้าร่วมกลุ่ม) ต้องจัดทำข้อตกลงทางการค้ากับทุกประเทศในกลุ่มพันธมิตร โดยประเทศทั้งสี่ที่เป็นสมาชิกต่างมีแนวชายฝั่งขนานไปตลอดแนวมหาสมุทรแปซิฟิก มีค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) รวมกันเป็นจำนวนกว่า 1 ใน 3 ของทั้งภูมิภาคลาตินอเมริกา และมีอัตราการส่งออกสินค้าคิดเป็นร้อยละ 47 ของภูมิภาค

สมาชิกชิลีโคลอมเบียเม็กซิโกเปรูพันธมิตรแปซิฟิกลาตินอเมริการ้อยละของพันธมิตรแปซิฟิก ในลาตินอเมริกา
ประชากร (ล้าน)18491163121459336
Nominal GDP (พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)*2773781,2612072,1235,93737
Nominal GDP (พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ PPP)**3955292,0953443,3638,00842
รายได้ประชาชาติต่อหัว (PPP)**19,06711,18915,56311,124
มูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการ (พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)9067401486061,28047
มูลค่าการนำเข้าสินค้าและบริการ (พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)9174409506241,36146
FDI Stock (พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)215128389748062,56931
FDI Inflows (พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)201738108529229
ตารางที่ 1: เครื่องชี้วัดภาวะเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศสมาชิกพันธมิตรแปซิฟิกในปี พ.ศ. 2562
ที่มา: คำนวณจากฐานข้อมูล Economist Intelligence Unit (EIU)
*ค่า Nominal GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเบื้องต้น) คำนวณโดย EIU และอาศัยฐานข้อมูลของ World Bank และ World Development Indicators
**PPP หรือความเสมอภาคของอำนาจซื้อ (purchasing power parity) ซึ่งสะท้อนถึงมูลค่าที่แท้จริงของสกุลเงินแต่ละประเทศโดยแสดงผลในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกมีลักษณะที่สำคัญอยู่ 2 ประการ ประการแรกคือกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกต้องการสร้างสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับเอเชียโดยตั้งใจทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมทางเศรษฐกิจระหว่างสองภูมิภาค ด้วยการอาศัยข้อตกลงทางการค้าเสรีที่มีอยู่แล้วระหว่างประเทศสมาชิกกับประเทศในเอเชียแปซิฟิก อาทิ กับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และสิงคโปร์

ประการต่อมาคือสมาชิกของกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกทุกประเทศมีแนวคิดเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ โดยในทางประวัติศาสตร์นั้น ลาตินอเมริกาเป็นภูมิภาคที่มีทั้งประเทศที่ต่อต้านและสนับสนุนแนวคิดเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ จนกระทั่งนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่มีลักษณะเฉพาะเป็นของตนเอง ตามแนวความคิดทฤษฎีการพึ่งพา (Dependency Theory) ดังที่เกิดขึ้นในบราซิล ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ ‘Brazilian Model’

กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกจัดตั้งขึ้นในขณะที่กลุ่มตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง (MERCOSUR) ซึ่งประกอบด้วยอาร์เจนตินา บราซิล ปารากวัยและอุรุกวัย เผชิญกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและนโยบายกีดกันทางการค้าในช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมา โดยกลุ่มตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่างเคยเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีอิทธิพลสูงมากในภูมิภาคลาตินอเมริกาเนื่องด้วยขนาดทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ของประเทศสมาชิก แต่เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันตกต่ำประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยรวมทั้งการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่ผิดพลาดของประเทศสมาชิก อิทธิพลทางเศรษฐกิจของกลุ่มตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่างลดลงเป็นอันมาก รวมทั้งประเทศสมาชิกต่างมีนโยบายทางเศรษฐกิจที่กีดกันการค้าเสรี แตกต่างจากกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกที่มุ่งเน้นการดำเนินนโยบายเสรีทางเศรษฐกิจ เปิดกว้างต่อการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งหากกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกประสบความสำเร็จ อาจกดดันให้บราซิลและประเทศอื่นๆ ในกลุ่มตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่างเปลี่ยนมาใช้นโยบายที่เปิดกว้างและเสรีทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น

ภาพที่ 2: ประเทศสมาชิกกลุ่มตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง

อย่างไรก็ดี แม้กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกจะมีนโยบายเน้นเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อีกทั้งแต่ละประเทศต่างก็มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 แต่ทางกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกยังคงประสบปัญหาและอุปสรรคจำนวนไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่ยังไม่เพียงพอและโอกาสทางการศึกษาที่ยังไม่ทั่วถึง นอกจากนี้ประเทศสมาชิกยังคงพึ่งพารายได้หลักจากการส่งออกสินค้าวัตถุดิบซึ่งมีความอ่อนไหวต่อสภาพเศรษฐกิจโลก รวมถึงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ อุตสาหกรรมเหมืองแร่ในลาตินอเมริกาที่กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น

นักเศรษฐศาสตร์หลายคนประมาณการว่า อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของลาตินอเมริกาในอนาคตจะเหลือเพียงร้อยละ 2 ต่อปีเท่านั้น โดยลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเศรษฐกิจขยายตัวของลาตินอเมริกา อันเป็นผลมาจากวิกฤตโควิด-19 และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน

ในอดีตนั้น การส่งสินค้าวัตถุดิบไม่ว่าจะเป็นแร่ธาตุ ถั่วเหลือง และเชื้อเพลิงจำนวนมากได้ช่วยยกระดับเศรษฐกิจของลาตินอเมริกาไว้ โดยเฉพาะในช่วงคริสต์ทศวรรษก่อนหน้า ซึ่งหากไม่ได้พึ่งพาการส่งสินค้าเหล่านี้ ภูมิภาคลาตินอเมริกาอาจมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยอยู่ที่เพียงร้อยละ 2.4 ดังเช่นประเทศเม็กซิโกในปัจจุบันที่มิได้พึ่งพิงรายได้จากการส่งออกสินค้าวัตถุดิบเป็นสำคัญ แต่อีกด้านหนึ่งการพึ่งพาการส่งออกสินค้าวัตถุดิบจำนวนมากนี้ก็ส่งผลให้มูลค่าเงินตราสกุลท้องถิ่นขยับตัวสูงขึ้น จนก่อให้เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจที่มิได้เกี่ยวข้องกับสินค้าวัตถุดิบดังกล่าว ดังนั้นภูมิภาคลาตินอเมริกา โดยเฉพาะประเทศกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก จำเป็นต้องพัฒนาและผลักดันการเจริญเติบโตของประสิทธิภาพการผลิตรวมทั้งส่งเสริมให้ภาคธุรกิจมีความหลากหลาย เพื่อหลีกเลี่ยงวัฏจักรทางเศรษฐกิจ (Boom and Bust Cycle) ที่มักเกิดขึ้นในลาตินอเมริกา

นอกจากนี้ ประสิทธิภาพการผลิตที่ต่ำในลาตินอเมริกานั้นเป็นผลมาจากการขาดการพัฒนาในระบบการคมนาคมขนส่ง การขาดศักยภาพทั้งในด้านการพัฒนาและส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ๆ รวมทั้งผลกระทบของการขยายตัวของธุรกิจใต้ดินที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งการขาดนโยบายด้านการเคหะและการวางผังเมืองที่ไม่เหมาะสมก็ยังส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากจำเป็นต้องใช้เวลากับการเดินทางเป็นเวลานาน

ที่ผ่านมา ประเทศในลาตินอเมริกาจึงพยายามแก้ไขปัญหา โดยการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตลอดจนการแก้ปัญหาอาชญากรรมซึ่งความพยายามนี้มีส่วนช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคได้เช่นกัน ขณะเดียวกันการให้ความสำคัญกับการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกนี้ก็จะช่วยส่งเสริมให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกมีความหลากหลายและแข็งแกร่งมากขึ้น ก่อให้เกิดห่วงโซ่อุปทานในการผลิตในระดับภูมิภาค คล้ายคลึงกับแนวทางพัฒนาที่ส่งผลให้ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง[3]

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศสมาชิกกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกจะสามารถเอาชนะอุปสรรคภายในประเทศได้แล้ว แต่ประเทศเหล่านี้ยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในภูมิภาค ลาตินอเมริกาถือเป็นภูมิภาคที่มีการจัดตั้งองค์กรความร่วมมือต่างๆ ในระดับภูมิภาคเป็นจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่ล้มเหลว ไม่ประสบความสำเร็จในการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม มีเพียงแต่ความคาดหวังในที่ประชุม

ถึงแม้กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกจะมีจุดเริ่มต้นที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่น ก็ยังมีความเป็นไปได้ที่อาจประสบปัญหาเช่นเดียวกับ กลุ่มตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่างหรือความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก ยามเมื่อมีจำนวนสมาชิกเพิ่มมากขึ้น ในทางกลับกัน ถ้ากลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกประสบความสำเร็จ ก็จะกลายเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจอื่นๆ ทั้งในและนอกภูมิภาคอีกด้วย

รัฐบาลของประเทศต่างๆ ในลาตินอเมริกาพยายามสร้างสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมาตั้งแต่อดีต เพื่อขยายโอกาสทางการค้าสู่อีกฟากของมหาสมุทรแปซิฟิก และด้วยลักษณะความเป็นพหุภาคีและมีความมุ่งมั่นของกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก การรวมกลุ่มเศรษฐกิจครั้งนี้จึงอาจเป็นคำตอบให้กับประเทศต่างๆ ในลาตินอเมริกาที่มักเผชิญกับอุปสรรคและปัญหาตามลำพังอยู่เสมอ โดยเฉพาะกับในยามต้องเจรจาการค้ากับจีนในลักษณะทวิภาคี ดังนั้นถ้ากลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกสามารถบรรลุวัตถุประสงค์หลักของการรวมกลุ่มกันได้ ก็จะกลายเป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างเอเชียกับลาตินอเมริกาต่อไปในภายภาคหน้า


[1] จนถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกมีประเทศผู้สังเกตการณ์ทั้งสิ้น 61 ประเทศ ครอบคลุมทุกภูมิภาคของโลก รวมถึงสี่ประเทศที่เป็นสมาชิกของอาเซียน คือ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และไทย 

[2] ดูเป้าหมายของกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกได้ที่ http://alianzapacifico.net/en/home-eng/the-pacific-alliance-and-its-objectives (เข้าถึง 2 กันยายน พ.ศ. 2565.)

[3] The Economist. “The Loss of El Dorado: After the Commodity Boom, the Region Needs a New Formula for Growth,” (June 27, 2022).  http://www.economist.com/news/leaders/21656185-after-commodity-boom-region-needs-new-formula-growth-loss-el-dorado/, (เข้าถึง 2 กันยายน พ.ศ. 2565)

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save