fbpx
พาโบล เอสโคบาร์ เจ้าพ่อแห่งการค้ายาเสพติดของโคลอมเบีย

พาโบล เอสโคบาร์ เจ้าพ่อแห่งการค้ายาเสพติดของโคลอมเบีย

ในบทความที่แล้ว ผมเขียนถึงเมืองเมะเดยีน ประเทศโคลอมเบีย (Medellín, Colombia) ว่าเป็นเมืองหลวงแห่งการฆาตกรรมของโลกในคริสต์ศตวรรษที่ 1980s และ 1990s โดยหนึ่งในสาเหตุสำคัญของความรุนแรงดังกล่าวมาจากชายคนหนึ่ง ประกอบกับผมได้ดูซีรีส์ทาง Netflix เรื่อง Narcos ทั้ง 3 ภาคเมื่อไม่นานมานี้ ดังนั้นในบทความนี้ ผมจะพาไปรู้จักกับบุคคลดังกล่าว ซึ่งมีนามว่า ‘พาโบล เอสโคบาร์’ (Pablo Escobar) เจ้าพ่อค้ายาเสพติดผู้มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกครับ

พาโบล เอสโคบาร์ (1 ธันวาคม 1949 – 2 ธันวาคม 1993)
ภาพจาก Colombia National Police

ขบวนการค้าเสพติดในโคลอมเบียเริ่มมีอำนาจตั้งแต่ช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1970s จนถึงคริสต์ทศวรรษที่ 1980s โดยเป็นช่วงที่แก๊งต่างๆ เริ่มก่อตั้งขึ้น แม้คู่แข่งสำคัญของขบวนการค้ายาเสพติดแห่งเมืองเมะเดยีนจะเป็นขบวนการค้ายาเสพติดแห่งเมืองกาลิ แต่แก๊งค้ายาเสพติดเมืองเมะเดยีนถือเป็นกลุ่มที่มีอำนาจและส่วนแบ่งมากที่สุด เฉกเช่นเดียวกับการใช้ความรุนแรง 

ในช่วงสูงสุดของอำนาจ ขบวนการนี้ควบคุมโคเคนเป็นจำนวนกว่าร้อยละ 60 ของโลก โดยสาเหตุที่เมะเดยีนกลายเป็นศูนย์กลางขบวนการค้ายาเสพติดที่ใหญ่ที่สุดและอันตรายที่สุดในโลกเป็นเพราะ ประการแรก ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของเมืองเมะเดยีนเหมาะสมต่อการขนย้ายสินค้าไปสู่สหรัฐอเมริกาทั้งทางบกโดยผ่านเม็กซิโก และทางน้ำโดยผ่านทะเลแคริบเบียน ประการที่สอง เนื่องจากฐานการขนส่งเดิมในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1960s ที่เคยอยู่ในเม็กซิโก (กัญชา) และคิวบา (โคเคน) ถูกลดบทบาทลงด้วยปัจจัยทางการเมืองและการถูกปราบปรามโดยสหรัฐอเมริกา ฐานการค้าและการขนส่งยาเสพติดจึงย้ายมาสู่โคลอมเบีย และประการสุดท้าย เนื่องจากมีการเชื่อมสายสัมพันธ์และตกลงเป็นพันธมิตรกันระหว่างกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดกับกองกำลังนอกกฎหมายและการเมืองในระบบเพื่อปกป้องและคุ้มกันเส้นทางการขนส่งสินค้า การค้ายาเสพติดในเมืองเมะเดยีนจึงเฟื่องฟูขึ้นมาก

ผู้นำขบวนการค้ายาเสพติดแห่งเมืองเมะเดยีนประกอบด้วยพาโบล เอสโคบาร์, คาร์โลส เลห์เดอร์ และพี่น้องโอโชอา ด้านพาโบล เอสโคบาร์นั้นมีพื้นเพเป็นคนยากจน เคยเป็นโจรลักเล็กขโมยน้อย เคยขโมยป้ายหลุมศพเพื่อนำไปขายต่อ และสุดท้ายได้เข้าสู่เส้นทางการลักลอบขนส่งโคเคน เอสโคบาร์ได้ร่วมเดินบนเส้นทางนี้กับพี่น้องโอโชอาทั้งสามคนที่เป็นบุตรชายเจ้าของไร่ปศุสัตว์ที่มั่งคั่ง และคาร์โลส เลห์เดอร์ ผู้ลักลอบขนส่งโคเคน ในขณะที่ถูกจำคุกอยู่ เลห์เดอร์ได้พบกับจอร์จ จุง (หรือ ‘บอสตัน จอร์จ’) ต่อมาพวกเขาได้ร่วมกันวางแผนลักลอบนำโคเคนเข้ามาด้วยเครื่องบิน แทนที่จะใช้ลาในการลักลอบขนส่งผ่านพรมแดน ซึ่งแต่ละครั้งขนส่งได้ในปริมาณน้อย โดยรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา โรเบิร์ต เมอร์เคิล เคยกล่าวว่าเลห์เดอร์เป็นคนสำคัญแห่งการลักลอบขนส่งโคเคน เหมือนกับที่เฮนรี ฟอร์ดเป็นคนสำคัญต่อวงการยานยนต์ วิธีการลักลอบแบบใหม่นี้ได้นำกำไรจำนวนมหาศาลมาสู่แวดวงธุรกิจโคเคนและผู้ที่เกี่ยวข้อง

แก๊งค้ายาเหล่านี้ยินยอมพร้อมใจที่จะใช้ความมั่งคั่งและร่ำรวยของตนกับเหล่าบุคคลที่ถูกกีดกันจากสังคม ซึ่งเป็นสิ่งกลุ่มชนชั้นนำไม่เคยทำมาก่อน แก๊งเหล่านี้สร้างบ้านและที่พักอาศัย ลงทุนในด้านการกีฬา เช่น สร้างสนามฟุตบอลและสนับสนุนทีมฟุตบอลของเมืองเมะเดยีน การกระทำลักษณะดังกล่าวเป็นการเรียกเสียงสนับสนุนและสร้างฐานอำนาจจากผู้คนในย่านนั้นๆ

กระนั้น ผู้นำขบวนการค้าเสพติดโดยเฉพาะพาโบล เอสโคบาร์ ก็ยังถูกกีดกันและแบ่งแยกจากชนชั้นนำของเมืองเมะเดยีน แต่เมื่ออำนาจทางเศรษฐกิจได้ตกมาสู่มือแก๊งค้ายาเสพติดในช่วงที่สภาพเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมกำลังอยู่ในขาลง พร้อมๆ กับที่โรงงานอุตสาหกรรมทยอยปิดตัวลงและอาชีพการงานเริ่มหายากขึ้น ขบวนการค้ายาเสพติดจึงมีนโยบายดึงเด็กและเยาวชนจากสลัม (Barrio) ของเมืองเมะเดยีนเข้ามาฝึกเป็นมือปืนนักฆ่ารุ่นเยาว์ (Sicario) การทำงานกับแก๊งค้ายาจึงเป็นหนทางในการหาเงินและความร่ำรวยให้กับตนภายในสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ

พาโบล เอสโคบาร์และคนอื่นๆ ในขบวนการค้ายาเสพติดยังประสบความสำเร็จกับเว้นทางการเมืองในระบบหลายครั้ง อาทิ เอสโคบาร์ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งในสภาผู้แทนราษฎรในปี 1982 ขณะที่นักการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งในปีเดียวกันต่างก็ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากธุรกิจการค้ายาเสพติดอีกด้วย (narco-donations)

ทางด้านคาร์โลส เลห์เดอร์ ได้จัดตั้งพรรคการเมืองของตนขึ้นในชื่อว่า ‘Latin Nationalist Movement’ ในปี 1986 แม้ว่าจะมีหมายประกาศจับอยู่ก็ตาม อย่างไรก็ดีผู้ทรงอิทธิพลนอกกฎหมายเหล่านี้มิได้ประสบความสำเร็จในการจัดตั้งอำนาจถาวรภายในการเมืองในระบบ เพราะยังมีปัญหาเรื่องชนชั้นและสถานะทางสังคม กล่าวคือชนชั้นปกครองของเมืองเมะเดยีนสามารถใช้อภิสิทธิ์ของตนเป็นเกราะป้องกันการแทรกแซงจากขบวนการค้ายาเสพติดในระบบการเมือง

ภายหลังจากที่เอสโคบาร์ลงเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรในปี 1982 โรดริโก ลาร่า โบนิยา ซึ่งแพ้การเลือกตั้งต่อเอสโคบาร์แต่ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้กล่าวหาเอสโคบาร์หาว่าเป็นเจ้าพ่อค้ายาเสพติด ผ่านรายการโทรทัศน์ ส่งผลให้เอสโคบาร์ประกาศลาออกจากตำแหน่ง และสั่งเก็บลาร่า โบนิยาในปี 1984

ต่อมาในปีเดียวกัน เอสโคบาร์ได้เสนอบริจาคเงินเป็นจำนวนกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่รัฐบาลเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกดำเนินคดีค้ายาเสพติดและข้อหาอื่นๆ รวมถึงเพื่อเป็นการดึงฐานสนับสนุนจากกลุ่มอำนาจการเมืองในระบบเข้าหาตนอีกด้วย ถึงแม้ข้อเสนอดังกล่าวของเอสโคบาร์จะถูกปัดทิ้ง เขาก็ยังเสนอที่จะจ่ายหนี้สาธารณะของประเทศที่มีมูลค่ากว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ก็ถูกปฏิเสธอีกครั้ง ข้อเสนอครั้งนี้ได้ขึ้นไปถึงหน่วยงานระดับสูงของรัฐและสะท้อนถึงอิทธิพลทางการเมืองของเอสโคบาร์ เมื่อข้อเสนอทั้งสองครั้งถูกปฏิเสธ บวกด้วยความกลัวในสนธิสัญญาการส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่โคลอมเบียทำกับสหรัฐอเมริกา เอสโคบาร์จึงประกาศสงครามกับรัฐบาลโคลอมเบีย โดยสนามรบที่โดดเด่นกว่าเมืองใดๆ ก็คือเมืองเมะเดยีน

ช่วงกลางคริสต์ทศวรรษที่ 1980s เอสโคบาร์ดำเนินแผนการทำสงครามต่อกรกับรัฐบาล มีการวางระเบิด ลอบสังหารผู้ลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดี และการตั้งค่าหัวตำรวจในเมืองเมะเดยีน ซึ่งหากใครฆ่าตำรวจได้ จะได้รับเงินกว่า 2,000 ดอลลาร์สหรัฐเป็นค่าตอบแทน ในช่วงที่ความรุนแรงถึงจุดสูงสุด มีการลอบวางระเบิดรถยนต์อยู่ทั่วเมือง ทั้งที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างแก๊งค้ายาเสพติดด้วยกันเองและการต่อกรกับอำนาจรัฐบาล ดังนั้นแนวทางการขยายอิทธิพลสู่ระบบการเมืองด้วยวิธี ‘plomo o plata’ (ลูกปืนหรือเงิน) จึงถูกนำมาใช้

กลุ่มนักการเมือง รัฐมนตรี นักสิทธิมนุษยชน สมาชิกสหภาพแรงงาน ผู้สื่อข่าว นักวิชาการ และตำรวจได้ถูกกองทัพลูกสมุนของเอสโคบาร์สังหารเป็นจำนวนมาก โดยกลุ่มลูกสมุนมือสังหารของเอสโคบาร์มักเป็นเยาวชนที่ไม่มีอาชีพและไม่มีสิทธิ์มีเสียงในสังคม ในช่วงแรกชุมชนแออัดตามแนวเชิงเขาได้รับผลกระทบจากความรุนแรงเป็นหลัก แต่ต่อมาบริเวณอื่นๆ ของเมือง เช่นเขตเอล โปบลาโดก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เห็นได้จากการระเบิดตึกโมนาโกในเขตเอล โปบลาโดในปี 1988

แม้กระทั่งนักธุรกิจระดับแนวหน้าในช่วงดังกล่าวยังเคยกล่าวไว้ว่าหากผู้คนจาก ‘เขตที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของเอสโคบาร์’ ตั้งใจจะฆ่าคนในเมืองจริงๆ ต่อให้มีแค่เพียงแท่งไม้เป็นอาวุธ พวกเขาก็ย่อมทำได้

จากการที่ผู้นำจากแก๊งค้ายาเสพติดล้มเหลวและไม่สามารถแผ่ขยายอิทธิพลของกฎหมายของตนเข้ามาในการเมืองในระบบได้ เราจึงเห็นปัจจัยต่างๆ ที่กีดกันคนเหล่านี้ออกไป จนเป็นเหตุของปัญหาความรุนแรงในเมืองเมะเดยีน พวากเขาจึงต่างเข้ามาฉวยโอกาสจากสภาวะที่สถาบันการเมือง-เศรษฐกิจไม่ได้รับการพัฒนาและประสบปัญหาจากนโยบายประชานิยมและระบบอุปถัมภ์ โดยสร้างฐานอำนาจจาก ‘เขตอิทธิพลต่างๆ’ เพื่อสนับสนุนตนทั้งในการเมืองนอกระบบและในระบบ – ดังที่เอสโคบาร์ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร – จากนั้นผู้นำแก๊งค้ายาเสพติดจึงมอบสิทธิทางสังคมให้กับผู้คนที่ประสบปัญหา ในทางกลับกันผู้คนเหล่านี้จะมอบความชอบธรรมในการกระทำต่างๆ ให้ เช่นการที่เอสโคบาร์สร้างบ้านกว่า 450 หลังในย่านบาริโอ การกระทำลักษณะนี้จึงสะท้อนถึงระบบอุปถัมภ์ที่พบในการเมืองในระบบได้ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ลักษณะการปิดกั้นและแบ่งแยกตนเองของชนชั้นนำในเมืองยังก่อให้เกิดช่องว่างที่ขบวนการค้ายาเสพติดสามารถแทรกตัวเข้าไปฉวยประโยชน์จากชนชั้นล่างที่ไม่ได้รับความสนใจได้ แต่ในทางกลับกันนี่ก็เป็นปัจจัยที่ขัดขวางและจำกัดอำนาจของเอสโคบาร์เองด้วยเช่นกัน

ภายหลังจากที่เอสโคบาร์เสียชีวิตในปี 1993 ความรุนแรงในเมืองก็ไม่ได้จางหายไปแต่อย่างใด การฆาตกรรมอันเดรส เอสโคบาร์ (มิได้เกี่ยวข้องกับพาโบล) นักฟุตบอลชาวโคลอมเบีย เป็นตัวส่อเค้าว่าปัญหาความรุนแรงในเมืองเมะเดยีนอาจจะคงมีต่อไป ทั้งนี้อันเดรส เอสโคบาร์ถูกสังหารเนื่องจากความไม่พอใจการเล่นของทีมชาติโคลอมเบียในการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 1994 ซึ่งอันเดรสยิงบอลเข้าประตูตนเอง นอกจากนี้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และการกีดกันทางสังคมยังคงปรากฏอยู่และยังเป็นต้นเหตุหลักของความรุนแรง

ทั้งนี้เป็นที่กล่าวกันว่าหลังจากที่แก๊งค้ายาเสพติดใหญ่ๆ ถูกขจัดลง ขบวนการค้ายาเสพติดก็มีลักษณะเป็นธุรกิจ ‘แนวราบ’ มากขึ้น กล่าวคือกลุ่มแก๊งอาชญากรมีขนาดเล็กลงมากกว่าที่จะเป็นแก๊งขนาดใหญ่ และมีลักษณะความสัมพันธ์เชิงอำนาจแนวดิ่ง ดังนั้นสิ่งที่เห็นได้ชัดจากการที่แก๊งค้ายาเสพติดก้าวเข้ามามีอำนาจ ได้แก่ปัญหาของการกีดกันทางสังคมและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในแถบ ‘เขตพื้นที่ยากจนต่างๆ ในเมือง’ และระบบอุปถัมภ์ที่เป็นใบเบิกทางสู่อำนาจนั่นเอง

https://upload.wikimedia.org/wikipedia/en/c/cf/Pabloescopaint.png
ภาพวาดของเฟอร์นันโด บอเทโร่ ศิลปินผู้โด่งดังของโคลอมเบีย แสดงภาพวันที่พาโบล เอสโคบาร์ ถูกสังหารโดยกองกำลังพิเศษของกองทัพโคลอมเบีย
ที่มา: Zero Gravity

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

9 Mar 2018

สีจิ้นผิงมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

อาร์ม ตั้งนิรันดร วิเคราะห์เส้นทางการเมืองของสีจิ้นผิง ผู้นำสูงสุดของจีนที่สามารถรวบอำนาจมาอยู่ในมือได้สำเร็จเด็ดขาด สีจิ้นผิงมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? และสุดท้ายเขาจะพาจีนพังกันหมดหรือไม่?

อาร์ม ตั้งนิรันดร

9 Mar 2018

World

17 Jul 2020

ร่วมรากแต่ขัดแย้ง ความบาดหมางระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย

อรอนงค์ ทิพย์พิมล เขียนถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่ทั้งสองประเทศมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกันหลายอย่าง จนนำไปสู่ความขัดแย้งในการช่วงชิงความเป็นเจ้าของภาษาและวัฒนธรรมมลายู

อรอนงค์ ทิพย์พิมล

17 Jul 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save