fbpx

ยกเลิก Roe VS Wade: ‘เถียงกันเรื่องแท้ง’ ในประชาธิปไตยแบบมีตัวแทน+เสรีนิยม 

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 2022 ขณะที่คนไทยหลายกลุ่มมีกิจกรรมรำลึกการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ในช่วงเย็นค่ำก็มีข่าวต่างประเทศที่อาจจะไม่ได้รับความสนใจในวงกว้างนักเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาลสูงแห่งสหรัฐอเมริกาในกรณี Dobbs VS. Jackson’s Women’s Health Organization ประเด็นหลักของคำวินิจฉัยนี้คือรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาไม่ได้รับรองสิทธิในการเลือกยุติการตั้งครรภ์ และคืนอำนาจในการกำกับและจำกัดการทำแท้งให้ ‘ประชาชน’ และตัวแทนทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่าจะกำหนดกติกาในเรื่องการทำแท้งอย่างไร

คำวินิจฉัย Dobbs ยกเลิกคำวินิจฉัยกรณี Roe VS. Wade (1973) และคำวินิจฉัยกรณี Casey VS Planned Parenthood (1992) คำวินิจฉัยทั้งสองนี้ต่างก็รับรองสิทธิตามรัฐธรรมนูญของพลเมืองสหรัฐอเมริกาในการเลือกยุติการตั้งครรภ์และจำกัดขอบเขตของรัฐในการจำกัดและกำกับทางเลือกดังกล่าว การรับรองสิทธิดังกล่าวเป็นหลักสำคัญในการกำหนดกติกาและนโยบายสาธารณะ และการคุ้มครองเสรีภาพของผู้หญิงในการเลือกยุติการตั้งครรภ์มายาวนานเกือบครึ่งศตวรรษในสหรัฐอเมริกา

(ต่อไปจะเรียกคำวินิจฉัยทั้งสามนี้โดยย่อว่า คำวินิจฉัย Roe คำวินิจฉัย Casey และคำวินิจฉัย Dobbs)

การถกเถียงและดำเนินการทางการเมืองเพื่อผลักดันกรอบกติกาตามกฎหมายและนโยบายสาธารณะของรัฐเกี่ยวกับการเลือกยุติการตั้งครรภ์ในสหรัฐอเมริกา จัดกรอบประเด็นให้การเลือกทางเลือกนี้เป็นเรื่องของสิทธิที่ตรงข้ามและขัดแย้งกันระหว่างสิทธิในการเลือกจัดการกับเนื้อตัวร่างกายของตนเองของผู้หญิงกับสิทธิในการมีชีวิตของตัวอ่อนในครรภ์ ฝ่ายที่เห็นต่างกันในประเด็นนี้ต่างก็เรียกร้องการรับรองและคุ้มครองสิทธิของตัวอ่อนหรือสิทธิของผู้หญิงโดยปฏิเสธสิทธิของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งที่การมองสิทธิตรงข้ามและขัดแย้งกันเช่นนี้ไม่สอดคล้องกับประสบการณ์ที่หลากหลายของผู้หญิงและวิธีที่พวกเธอแต่ละคนเชื่อมโยงสัมพันธ์กับตัวอ่อนในครรภ์

คำวินิจฉัย Roe Casey และ Dobbs ต่างก็กล่าวถึงเส้นแบ่งที่เหมาะสมสำหรับสิทธิและเสรีภาพของผู้หญิงและของตัวอ่อน และขอบเขตของอำนาจและบทบาทของรัฐที่เหมาะสมในการคุ้มครองสุขภาวะของผู้หญิงและสิทธิในการมีชีวิตอยู่ของตัวอ่อน นอกจากการยึดหลักเสรีภาพของปัจเจกในฐานะแก่นแกนสำคัญของการจัดความสัมพันธ์ในระบบการเมืองแล้ว ความเป็นประชาธิปไตยแบบมีตัวแทนและการจัดสรรอำนาจระหว่างหน่วยการปกครองแบบสหพันธรัฐส่งผลต่อวิธีการ ช่องทาง และผลกระทบของการโต้เถียงและดำเนินการทางการเมืองในประเด็นทางเลือกยุติการตั้งครรภ์ในบริบทเฉพาะนี้ด้วย

คำวินิจฉัย Dobbs ที่ยกเลิกคำวินิจฉัย Roe และ Casey สั่นคลอนฝ่ายเคลื่อนไหวในประเด็นการยุติการตั้งครรภ์และความเป็นไททางเพศและการเจริญพันธุ์ (sexual and reproductive autonomy) ในที่ต่างๆ ไม่มากก็น้อย หลายคนมองการรับรองสิทธิในการเลือกยุติการตั้งครรภ์ในคำวินิจฉัย Roe เป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจในการดำเนินการทางการเมือง ผู้คนในหลายสังคมที่อาศัยหลักการ ภาษาและวิธีการในการต่อสู้เพื่อผลักดันให้การยุติการตั้งครรภ์เป็นทางเลือกที่หนึ่งที่เปิดให้ผู้หญิงเลือกได้ในสถานการณ์เฉพาะของชีวิต โดยไม่ถูกห้ามหรือทำให้เป็นทางที่เลือกไม่ได้โดยกฎหมายของรัฐ

การดำเนินการทางการเมืองของกลุ่มองค์กรต่างๆ เพื่อทางเลือกของผู้หญิงในสถานการณ์ ‘ท้องไม่พร้อม’ อาศัยหลักสิทธิในเนื้อตัวร่างกายและความเป็นส่วนตัว ซึ่งเป็นฐานสำคัญในคำวินิจฉัย Roe รวมไปถึงแนวทางการดำเนินการทางการเมืองที่อาศัยการรับรองโดยกฎหมายหรือการตีความรัฐธรรมนูญเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการเลือกทางเลือกของผู้หญิง

การพิเคราะห์ว่ากลุ่มคนที่เห็นต่างในประเด็นทางเลือกยุติการตั้งครรภ์ที่นำไปสู่คำวินิจฉัยทั้งสามตั้งแต่ Roe ถึง Dobbs จะทำให้เห็นภาพการเมืองเรื่องแท้งในบริบทเฉพาะ และสามารถเทียบเคียงกับการโต้เถียงสาธารณะในประเด็นนี้ในบริบทอื่นได้บ้าง

ในช่วง 2-3 วันแรกเมื่อคำวินิจฉัย Dobbs ถูกเผยแพร่อย่างเป็นทางการ ปฏิกิริยาของคนหลายกลุ่มอาจจะรู้สึกเหมือนฟ้าถล่ม-โลกแตกแหลกสลาย เพราะความสับสนและไม่แน่นอนหลังจากหลักที่เคยใช้เป็นหมุดหมายในเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ถูกล้มไป แต่คำวินิจฉัยโดยศาลสูงแห่งสหรัฐอเมริกาไม่ใช่จุดสิ้นสุดของ ‘การเมืองเรื่องแท้ง’ เมื่อหลักที่ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติมายาวนานครึ่งศตวรรษ (ขาดอีกเพียงหนึ่งปีก็จะครบ 50 ปี) ถูกยกเลิกไป ไม่ได้หมายความว่าปรากฏการณ์ ‘ท้องไม่พร้อม’ จะลดลงหรือหายไป ผู้หญิงที่เผชิญสถานการณ์ท้องไม่พร้อมในลักษณะต่างๆ จะไม่เลือกทางเลือกแท้ง หรือการถกเถียงและผลักดันกติกาและนโยบายสาธารณะของรัฐจะยุติลงไปด้วย

ฝ่ายที่เห็นต่างในประเด็นนี้ต่างก็ใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อสื่อสารท่าทีต่อคำวินิจฉัยและแนวทางในการดำเนินการทางการเมืองต่อไป ที่สำคัญยิ่งคือการที่คำวินิจฉัย ‘คืนอำนาจ’ ให้ประชาชนและตัวแทนทางการเมืองของประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่ากรอบกติกาในเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ควรจะเป็นอย่างไร อาณาบริเวณหลักในการดำเนินการทางการเมืองภาครัฐจึงเป็นเรื่องของการเลือกตั้งและกระบวนการของสถาบันฝ่ายนิติบัญญัติ กลุ่มองค์กรและประชาชนที่เคลื่อนไหวในประเด็นทางเลือกยุติการตั้งครรภ์ต่างก็ดำเนินการทางการเมืองทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับกระบวนการทางการเมืองภาครัฐและประชาธิปไตยแบบมีตัวแทน การโต้เถียงและประท้วงเชิงสัญลักษณ์ในพื้นที่ทางสังคมและสื่อสังคม และการสนับสนุนหรือขัดขวางการเข้าถึงบริการของผู้หญิงที่เลือกจะยุติการตั้งครรภ์ 

การรับรองหรือไม่รับรองสิทธิของพลเมืองในเรื่องการยุติการตั้งครรภ์โดยรัฐจึงไม่ได้ยุติการเมืองและการโต้เถียงสาธารณะเพื่อผลักดันกติกาของรัฐในประเด็นนี้ การล้มคำวินิจฉัย Roe ทำให้เห็นได้ว่ากฎหมายหรือการตีความรัฐธรรมนูญไม่ได้คงอยู่ถาวร แต่แปรเปลี่ยนไปได้ไม่ช้าก็เร็วตามความปรารถนา กระแสสังคม และความเข้มแข็งหรือความได้เปรียบของฝ่ายต่างๆ ที่ต่อสู้เพื่อผลักดันกฎหมายและนโยบายในประเด็นนั้น คนที่เห็นต่างกันก็เถียงและสู้กันต่อไปทั้งในกระบวนการทางการเมืองเชิงสถาบันและในพื้นที่ทางสังคม

การพิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลสูงแห่งสหรัฐอเมริกาทั้ง 3 กรณี คือ Roe, Casey และ Dobbs ที่ส่งผลต่อตำแหน่งแห่งที่และกติกาเกี่ยวกับทางเลือกยุติการตั้งครรภ์ในสหรัฐอเมริกา ทำให้เห็น ‘การเมือง’ เรื่องแท้งที่คนที่มีความเชื่อและค่านิยมแตกต่างกันในประเด็นนี้ต่างก็จัดกรอบประเด็น ผลักดันทิศทางและเนื้อหาของกติกาและนโยบายสาธารณะในเรื่องนี้ ความเหมือนและความต่างในคำวินิจฉัยทั้งสามทำให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างหลักการที่ถูกให้คุณค่าในระบบการเมืองและแง่มุมของการถกเถียงเรื่องแท้ง ทิศทางและเนื้อหาของกติกาแปรเปลี่ยนไปได้ตามการเปลี่ยนในบริบททางการเมืองและความเข้มแข็งทางการเมืองของฝ่ายต่างๆ 

คำวินิจฉัยกรณี Roe VS Wade (1973)[1]: สิทธิของผู้หญิง/สิทธิของตัวอ่อน และขอบเขตอำนาจรัฐ

คำวินิจฉัย Roe VS Wade เห็นว่าการเลือกยุติการตั้งครรภ์เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และได้กล่าวถึงความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจและจิตใจ รวมถึงคุณภาพชีวิตของทั้งผู้หญิงและทารกที่เกิดมาในสถานการณ์ของความไม่พร้อมและการห้ามการยุติการตั้งครรภ์ คำวินิจฉัย Roe คำนึงถึงข้อเรียกร้องว่าด้วยสิทธิของตัวอ่อน และได้ใช้หลักความสามารถของตัวอ่อนในการมีชีวิตรอดได้เองนอกครรภ์เป็นเกณฑ์ในการแบ่งว่าเสรีภาพในการเลือกยุติการตั้งครรภ์และการเข้าแทรกแซงของรัฐทำได้ในช่วงเวลาใด

ใน ค.ศ. 1969 Norma McCorvey หญิงชาวอเมริกันฐานะยากจนตั้งครรภ์เป็นครั้งที่สาม เธอต้องการจะยุติการตั้งครรภ์แต่คำร้องของเธอถูกปฏิเสธและต้องตั้งครรภ์ต่อไปจนคลอด เนื่องจากกฎหมายของรัฐเท็กซัสจำกัดการยุติการตั้งครรภ์ให้ทำได้เฉพาะกรณีที่การตั้งครรภ์เป็นอันตรายต่อชีวิตของผู้หญิงเท่านั้น ความยากจนทำให้ McCorvey ไม่สามารถเดินทางไปรัฐอื่นที่ไม่ห้ามการทำแท้งอย่างที่ผู้หญิงชนชั้นกลางจำนวนไม่น้อยในเวลานั้นทำได้ McCorvey (โดยใช้นามแฝงว่า Jane Roe) กับ Sarah Weddington และ Linda Coffee ทนายที่เธอขอความช่วยเหลือ ได้ฟ้องร้องรัฐเท็กซัสว่ากฎหมายที่จำกัดการเลือกยุติการตั้งครรภ์เช่นนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐ[2] การต่อสู้ทางกฎหมายใช้เวลายาวนานกว่าจะไปถึงการวินิจฉัยของศาลสูงในอีก 4 ปีต่อมา McCorvey ต้องท้องต่อไปจนคลอด

(ในระบบสหพันธรัฐของสหรัฐอเมริกา อำนาจอธิปไตยถูกแบ่งระหว่างรัฐบาล 2 ระดับ แม้ว่ารัฐบาลของรัฐสมาชิกมีความเป็นอิสระและมีอำนาจในการออกกฎหมาย แต่รัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐมีสถานะสูงสุดทางกฎหมาย กฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐสมาชิกไม่สามารถขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐได้ ดูรายละเอียดในประเด็นนี้ได้ที่เว็บไซต์The Legal Information Institute

ศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกา (Supreme Court of the United States) ได้วินิจฉัยด้วยเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 ใน ค.ศ. 1973 ว่ากฎหมายเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ของรัฐเท็กซัสขัดต่อรัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐเพราะเป็นการจำกัดสิทธิในความเป็นส่วนตัวของผู้หญิงที่รับรองโดยบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตราที่ 14 ในส่วนที่ว่า “รัฐไม่สามารถจำกัดหรือลดทอนสิทธิในการมีชีวิต เสรีภาพ และทรัพย์สินของประชาชนโดยปราศจากการดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย” [3] ตุลาการเสียงข้างมากตีความว่า ‘สิทธิในความเป็นส่วนตัว’ ที่รับรองเสรีภาพในกิจกรรมส่วนตัวของพลเมืองและจำกัดการแทรกแซงของรัฐ รวมถึงการคุ้มครองสิทธิของประชาชนตามบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตราที่ 9 ครอบคลุมเรื่องการตัดสินใจของผู้หญิงที่จะยุติการตั้งครรภ์ของตนเองด้วย การบังคับและจำกัดทางเลือกของผู้หญิงในเรื่องนี้โดยรัฐส่งผลกระทบทางลบต่อผู้หญิงอย่างใหญ่หลวงทั้งด้านสุขภาวะและคุณภาพชีวิต เสียงข้างมากของตุลาการศาลสูงสุดในกรณี Roe VS Wade เห็นว่าความเป็นแม่โดยถูกบังคับและจำนวนของ ‘ลูก’ ที่เพิ่มขึ้นนำไปสู่ความยากลำบากในชีวิตของผู้หญิงและเด็กที่เกิดมาในสภาพของความไม่พร้อมหรือไม่เป็นที่ต้องการ

แม้ว่าคำวินิจฉัย Roe จะเห็นว่าการเลือกยุติการตั้งครรภ์เป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญคุ้มครอง แต่ก็ได้พิจารณาประเด็นสิทธิในการมีชีวิตของตัวอ่อนและให้ที่ทางรัฐในการกำกับหรือกำหนดกติกาในเรื่องการทำแท้งไว้ด้วย คำวินิจฉัยจึงไม่ได้เป็นการเปิดทางให้ทำแท้งได้เสรีแบบไม่มีข้อจำกัด แต่กำหนดกรอบที่คำนึงถึงการใช้เสรีภาพของประชาชนและการกำกับดูแลของรัฐและเสนอเกณฑ์ในการแทรกแซงของรัฐ  กฎหมายของรัฐที่ห้ามหรือจำกัดการเลือกยุติการตั้งครรภ์ของพลเมืองมักจะอ้างหรือให้เหตุผลว่าเป็นไปเพื่อคุ้มครองตัวอ่อนซึ่งก็เป็น ‘บุคคล’ และมีสิทธิที่จะมีชีวิต

คำวินิจฉัย Roe พิจารณาทั้งสิทธิของผู้หญิงและสิทธิในการมีชีวิตอยู่ของตัวอ่อน โดยอาศัยเกณฑ์ความสามารถของตัวอ่อนที่จะมีชีวิตอยู่รอดได้เองนอกครรภ์ของผู้หญิง เพื่อแบ่งว่าช่วงเวลาใดที่เสรีภาพในการเลือกเป็นของผู้หญิงและเวลาใดที่รัฐเข้าแทรกแซงได้เพื่อคุ้มครองสิทธิในการมีชีวิตของตัวอ่อน เกณฑ์ที่ใช้ในคำวินิจฉัยนี้มีจุดแบ่งที่อายุครรภ์​ 24 สัปดาห์ และกำหนด ‘ระบบไตรมาส’ ที่ให้ที่ทางกับเสรีภาพของพลเมืองและบทบาทในการกำกับของรัฐไว้ตามช่วงเวลาของการตั้งครรภ์ ดังนี้

  • ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ สิทธิในการเลือกยุติการตั้งครรภ์เป็นของผู้หญิงและแพทย์ที่ดูแลเธอ 
  • ในช่วงไตรมาสที่สอง รัฐกำกับได้บ้างในส่วนขั้นตอนกระบวนการยุติการตั้งครรภ์เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยและสุขภาพของผู้หญิง แต่ห้ามการเลือกยุติการตั้งครรภ์ไม่ได้ 
  • ในช่วงไตรมาสที่สาม ตามเกณฑ์อายุครรภ์ 24 สัปดาห์ที่ตัวอ่อนมีความสามารถจะดำรงชีวิตได้นอกมดลูก รัฐสามารถกำกับหรือห้ามการยุติการตั้งครรภ์ได้เพื่อคุ้มครองชีวิตของตัวอ่อน แต่ต้องเปิดให้มีการยุติการตั้งครรภ์ได้ในสถานการณ์ที่การตั้งครรภ์เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือชีวิตของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์นั้น

คำวินิจฉัย Roe เป็นหมุดหมายสำคัญของการโต้เถียงและผลักดันกติกาเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ และเป็นหลักในการคุ้มครองเสรีภาพในการเลือกยุติการตั้งครรภ์ของผู้หญิงในสหรัฐอเมริกามาได้เกือบครึ่งศตวรรษ กฎหมายและนโยบายที่ลดทอนเสรีภาพนี้ได้ถูกตั้งคำถามว่าละเมิดคำวินิจฉัย Roe หรือไม่ (เช่นในกรณี Casey และ Dobbs ที่จะกล่าวถึงต่อไป) คำวินิจฉัยนี้ถูกโจมตีและสั่นคลอนมาตลอดอายุขัย ในช่วงครึ่งศตวรรษที่คำวินิจฉัยอยู่รอดมากว่าจะถูกคว่ำลงในศตวรรษที่ 21 ได้มีคำวินิจฉัยของศาลสูงแห่งสหรัฐอเมริกาในกรณี Casey VS Planned Parenthood ที่ส่งผลต่อขอบเขตการตีความในคำวินิจฉัย Roe

คำวินิจฉัยกรณี Casey VS Planned Parenthood (1992)[4]

คำวินิจฉัยของศาลสูงแห่งสหรัฐอเมริกาใน ค.ศ. 1992 ในกรณี Casey VS Planned Parenthood เป็นผลมาจากการที่รัฐเพนซิลเวเนียแก้ไขกฎหมายควบคุมการทำแท้ง โดยเพิ่มเงื่อนไขว่าผู้หญิงที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ต้องได้รับรู้ข้อมูลทางเลือกอื่นนอกเหนือไปจากการทำแท้งอย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนจะเริ่มกระบวนการทางการแพทย์ได้ หญิงที่อายุยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องได้รับการยินยอมจากผู้ปกครองก่อนจึงจะยุติการตั้งครรภ์ได้ รวมไปถึงการกำหนดให้ผู้หญิงต้องลงนามในเอกสารเพื่อรับรองว่าเธอได้แจ้งให้สามีรับรู้ว่าเธอต้องการยุติการตั้งครรภ์แล้ว เป็นต้น องค์กร Planned Parenthood of Southeastern Pennsylvania ได้ยื่นฟ้องต่อศาลว่าการเพิ่มเงื่อนไขในกฎหมายเช่นนี้เป็นการละเมิดคำวินิจฉัย Roe VS Wade และเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐ 

ในช่วงเวลาที่กรณีนี้เข้าสู่การพิจารณาของศาลสูงแห่งสหรัฐอเมริกานั้นองค์ประกอบของตุลาการศาลสูงค่อนไปทางอนุรักษนิยมมากขึ้น แต่ก็ได้วินิจฉัยโดยยึดมาตรฐานคำตัดสินในกรณีที่มีมาก่อน ทำให้คำวินิจฉัย Roe VS Wade อยู่รอดต่อมาได้โดยเสียงข้างมากในศาลสูงมากกว่าเสียงข้างน้อยอยู่เพียงคะแนนเดียว (5 ต่อ 4 เสียง) คำวินิจฉัยกรณี Casey ได้กล่าวถึงเอกสารทางกฎหมายสำคัญอย่างบัญญัติว่าด้วยสิทธิของพลเมือง (Bill of Rights) หรือบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตราที่ 14 ที่ถูกอ้างอิงถึงในคำวินิจฉัย Roe ว่าไม่ได้กำหนดขอบเขต ‘เสรีภาพ’ ที่รัฐแทรกแซงหรือละเมิดไม่ได้โดยไม่ผ่านกระบวนการตัดสินทางกฎหมายว่าหมายรวมถึงเรื่องอะไร การตัดสินว่าเรื่องอะไรบ้างอยู่ในขอบเขตที่กำหนดโดยบทบัญญัติมาตราที่ 14 เป็นเรื่องที่ศาลสูงแห่งสหรัฐอเมริกาต้องตีความเพื่อจะบ่งชี้หรือกำหนดเส้นแบ่งระหว่างเสรีภาพของปัจเจกกับข้อเรียกร้องของสังคม ศาลสูงแห่งสหรัฐอเมริกาวินิจฉัยให้กิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของคน อย่างการตัดสินใจเรื่องการแต่งงาน ความสัมพันธ์ในครอบครัว การเลี้ยงดูและการศึกษาของเด็ก หรือการคุมกำเนิด เป็นเรื่องที่ปัจเจกใช้เสรีภาพในการตัดสินใจเลือกได้โดยไม่ถูกแทรกแซงโดยรัฐ คำวินิจฉัยกรณี Roe ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันนี้ด้วย

ศาลสูงแห่งสหรัฐอเมริกายืนยันรับรอง Roe โดยยึดบรรทัดฐานทางกฎหมายที่ยืนตามคำวินิจฉัยก่อนหน้า (stare decisis) และเห็นว่านอกจากการล้มล้างคำวินิจฉัย Roe เป็นการละเมิดบรรทัดฐานดังกล่าวแล้ว จะกลายเป็นการแสดงให้เห็นว่าศาลยอมตามแรงกดดันทางการเมืองและกระทบต่อความเชื่อมั่นในสถาบันตุลาการได้

ประเด็นสำคัญยิ่งในคำวินิจฉัย Casey น่าจะเป็นการยกเลิกระบบไตรมาสที่เสียงข้างมากของตุลาการศาลสูงมองว่าขาดความยืดหยุ่น และเสนอให้ใช้หลักหรือมาตรฐานว่าด้วยภาระที่เกินสมควรแทน (undue burden standard) เพื่อจะคุ้มครองสิทธิของพลเมืองตามคำวินิจฉัย Roe และให้ที่ทางกับการบทบาทของรัฐในการคุ้มครองชีวิตด้วย

กล่าวคือรัฐสามารถกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองตัวอ่อนที่มีศักยภาพในการมีชีวิตโดยการโน้มน้าวให้ผู้หญิงเลือกทางเลือกท้องต่อแทนการยุติการตั้งครรภ์ เช่นการให้ข้อมูลเพื่อให้ผู้หญิงได้รับรู้เกี่ยวกับทางเลือกต่างๆ ในสถานการณ์ท้องไม่พร้อม ตราบเท่าที่ข้อปฏิบัติและระเบียบเหล่านั้นไม่สร้างภาระหรือความยุ่งยากเกินสมควรให้ผู้หญิง

เสียงข้างมากในกรณี Casey เห็นว่าหลักว่าด้วยภาระเกินสมควรต่อผู้หญิงไม่ได้กระทบต่อคำวินิจฉัย Roe เพราะไม่ได้ให้อำนาจรัฐในการห้ามการเลือกยุติการตั้งครรภ์ของผู้หญิงในช่วงเวลาก่อนที่ตัวอ่อนจะสามารถมีชีวิตอยู่รอดได้เองนอกครรภ์ แต่เมื่อเปรียบเทียบหลักไตรมาสในคำวินิจฉัย Roe ที่ไม่อนุญาตให้รัฐเข้าจำกัดหรือกำกับการเลือกยุติการตั้งครรภ์ได้ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ หลักภาระเกินสมควรคำการวินิจฉัย Casey ขยายขอบเขตอำนาจในการกำกับทางเลือกยุติการตั้งครรภ์ในทุกช่วงเวลาของการตั้งครรภ์ และจำกัดขอบเขตเสรีภาพของผู้หญิงที่ได้รับการคุ้มครองโดยคำวินิจฉัย Roe ลง

คำวินิจฉัยกรณี Dobbs v. Jackson Women’s Health Organization[5] และจุดจบของคำวินิจฉัย Roe VS Wade

ใน ค.ศ. 2018 รัฐมิสซิสซิปปีออกกฎหมาย Gestational Age Act ห้ามการยุติการตั้งครรภ์เมื่ออายุครรภ์เกิน 15 สัปดาห์ ยกเว้นเฉพาะกรณีฉุกเฉินในทางการแพทย์หรือตัวอ่อนในครรภ์ผิดปกติ กฎหมายนี้ละเมิดคำวินิจฉัย Roe และคำวินิจฉัยกรณี Casey ซึ่งต่างก็ยอมรับว่าการยุติการตั้งครรภ์เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และยึดเกณฑ์ความสามารถในการมีชีวิตรอดนอกครรภ์ของตัวอ่อนเพื่อแบ่งช่วงเวลาที่รัฐสามารถเข้าแทรกแซงการเลือกยุติการตั้งครรภ์ ทั้งคำวินิจฉัย Roe และ Casey ต่างก็ยอมให้ผู้หญิงเลือกยุติการตั้งครรภ์ได้แม้ตัวอ่อนจะสามารถมีชีวิตรอดได้แล้วในกรณีที่การตั้งครรภ์ต่อไปจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือชีวิตของผู้หญิงเอง องค์กร Center for Reproductive Rights ได้ร้องต่อศาล (ในนามของ Jackson Women’s Health Organization) ว่ากฎหมายดังกล่าวละเมิดคำวินิจฉัยของศาลสูงในทั้งสองกรณี[6]

กรณี  Dobbs v. Jackson Women’s Health Organization เข้าสู่การวินิจฉัยของศาลสูงแห่งสหรัฐอเมริกาใน ค.ศ. 2021-2022 ซึ่งเป็นช่วงที่อุดมการณ์และโลกทัศน์ของตุลาการศาลสูงเป็นไปในทางอนุรักษนิยมเพิ่มขึ้น (6 ใน 9 ของตุลาการมาจากการเสนอชื่อโดยประธานาธิบดีที่มาจากพรรครีพับลิกัน และ 3 ใน 6 เป็นการเสนอชื่อโดยโดนัลด์ ทรัมป์) มีการคาดการณ์ว่ากรณี Dobbs จะนำไปสู่การยกเลิกคำวินิจฉัย Roe ได้ บางรัฐถึงกับออกกฎหมายควบคุมกำกับการยุติการตั้งครรภ์อย่างเข้มงวดที่จะมีผลบังคับใช้ได้ทันทีถ้าศาลสูงวินิจฉัยยกเลิก Roe 

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ร่างความเห็นของตุลาการศาลสูง Samuel Alito ในกรณี Dobbs หลุดรอดออกมาและถูกเผยแพร่โดยสื่อมวลชน ถ้อยคำในร่างกล่าวถึงความเห็นของเสียงข้างมากในศาลสูงว่าคำวินิจฉัย Roe ต้องถูกเพิกถอน “เพราะมีความผิดพลาดตั้งแต่เริ่มแรก”[7]

วันที่ 24 มิถุนายน 2022 ศาลสูงแห่งสหรัฐอเมริกาวินิจฉัยรับรองกฎหมาย Gestational Age Act ของรัฐมิสซิสซิปปี ห้ามการยุติการตั้งครรภ์หลัง 15 สัปดาห์ ด้วยคะแนนเสียง 6 ต่อ 3 และลบล้างคำวินิจฉัย Roe VS Wade และคำวินิจฉัย Casey VS Planned Parenthood ด้วยคะแนนเสียง 5 ต่อ 4 ความเห็นของตุลาการเสียงข้างมากในกรณี Dobbs เห็นว่ารัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาไม่ได้รับรองสิทธิในการทำแท้ง ดังนั้นคำวินิจฉัยกรณี Roe และ Casey จึงถูกลบล้างหรือกลับคำตัดสิน และคืนอำนาจในการกำหนดกติกาเพื่อในเรื่องการทำแท้งให้ประชาชนและตัวแทนทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

เนื่องจากคำวินิจฉัย Casey รับรองคำวินิจฉัย Roe โดยยึดบรรทัดฐานทางกฎหมายที่ยืนตามคำวินิจฉัยก่อนหน้า (stare decisis) เสียงข้างมากในกรณี Dobbs ได้กล่าวถึงการยึดถือและปฏิบัติตามบรรทัดฐานดังกล่าวต้องพิจารณาความถูกต้องและมั่นคงของรากฐานของคำวินิจฉัยก่อนหน้าด้วย เนื่องจากรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาไม่ได้กล่าวถึงสิทธิในการยุติการตั้งครรภ์ไว้โดยตรง การวินิจฉัยก่อนหน้า (ในกรณี Roe) ได้ใช้การตีความมาตราและหลักที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญอย่างเช่นสิทธิในความเป็นส่วนตัวหรือเสรีภาพว่าหมายรวมถึงสิทธิในการเลือกยุติการตั้งครรภ์ด้วย เสียงข้างมากในการวินิจฉัยกรณี Dobbs เห็นว่าศาลสูงต้องป้องกันแนวโน้มในการตีความ ‘เสรีภาพ’ ที่รัฐธรรมนูญรับรองและคุ้มครองว่าหมายรวมถึงอะไรบ้างไปตามความเชื่อและรสนิยมของตุลาการ ตุลาการฝ่ายเสียงข้างมากในกรณีนี้ ‘ลังเล’ ที่จะรับรองสิทธิที่รัฐธรรมนูญไม่ได้กล่าวถึง

ก่อนหน้าที่จะมีคำวินิจฉัยกรณี Dobbs เพียงหนึ่งวัน ศาลสูงแห่งสหรัฐอเมริกาได้ใช้เกณฑ์การตีความโดยยึดตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญกล่าวถึงอย่างชัดเจนในการวินิจฉัยสิทธิของพลเมืองในการครอบครองอาวุธ ในกรณี New York State Rifle & Pistol Association VS Bruen เสียงข้างมาก (6 ต่อ 3) ของศาลสูงแห่งสหรัฐอเมริกาตัดสินว่ากฎหมายของรัฐนิวยอร์กที่จำกัดการพกพาอาวุธปืนในที่สาธารณะของพลเมืองเป็นเรื่องขัดต่อรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิในการครอบครองอาวุธของพลเมืองไว้ในบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตราที่ 2[8]  การวินิจฉัยเช่นนี้นำไปสู่ความหวาดหวั่นว่าการพกพาอาวุธในที่สาธารณะจะกลายเป็นเรื่องสะดวกง่ายดายมากขึ้นในเวลาที่การกราดยิงผู้คนในที่สาธารณะเกิดขึ้นบ่อยครั้งในสังคมอเมริกัน[9]

คำวินิจฉัยกรณี Dobbs ได้พิจารณาประวัติศาสตร์และขนบธรรมเนียมของสังคมเพื่อจะดูว่า บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตราที่ 14 หมายรวมถึงสิทธิในการเลือกยุติการตั้งครรภ์ด้วยหรือไม่ รัฐธรรมนูญของรัฐสมาชิกของสหพันธรัฐต่างก็ไม่ได้รับรองสิทธิในเรื่องนี้ และในเวลาที่บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตราที่ 14 ผ่านการเห็นชอบนั้น 3 ใน 4 ของรัฐสมาชิกของสหพันธรัฐต่างก็จัดให้การยุติการตั้งครรภ์เป็นความผิดตามกฎหมาย สถานะของการทำแท้งในฐานะอาชญากรรมดำรงอยู่มาจนกระทั่งมีคำพิพากษา Roe เสียงข้างมากในกรณีนี้เห็นว่าสิทธิการเลือกยุติการตั้งครรภ์ไม่มีรากฐานสนับสนุนในทางกฎหมาย ประวัติศาสตร์ และขนบธรรมเนียมประเพณี ในคำวินิจฉัย Casey เสรีภาพในการเลือกยุติการตั้งครรภ์ถูกจัดเป็นส่วนหนึ่งของเสรีภาพในการเลือกทางเลือกต่างๆ ในเรื่องที่เป็นส่วนตัว การสนับสนุนความถูกต้องของสิทธิในการทำแท้ง (ในฐานะทางเลือกที่พลเมืองเลือกกระทำได้) โดยเชื่อมโยงกับสิทธิในความเป็นไท (autonomy) และการปกครองจัดการตนเองของพลเมือง เป็นการขยายขอบเขตของความเป็นไทและเสรีภาพมากมายเกินความเหมาะสม และการนิยามสิทธิพื้นฐานอย่างกว้างขวางเช่นนี้จะนำไปสู่การอ้างสิทธิและเสรีภาพในลักษณะเดียวกันในการใช้ยาเสพติด การขายบริการทางเพศ และอื่นๆ ที่ตุลาการเสียงข้างมากเห็นว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง

เสียงข้างมากในกรณี Dobbs กล่าวถึงดุลยภาพระหว่างความเป็นระเบียบของสังคมและสิทธิเสรีภาพของปัจเจก ดุลยภาพดังกล่าวนี้จำกัดและนิยามขอบเขตระหว่างผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกัน (ในกรณีนี้คือสิทธิที่จะมีชีวิตของตัวอ่อนและเสรีภาพในการจัดการเนื้อตัวร่างกายของตนเองของผู้หญิง) ตุลาการเสียงข้างมากเห็นว่าประชาชนในรัฐต่างๆ ประเมินสิทธิและผลประโยชน์ทั้งสองชนิดนี้แตกต่างกันไปได้ จึง ‘คืนอำนาจให้ประชาชน’ และตัวแทนทางการเมือง (ที่มาจากการเลือกตั้ง) ของประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่าเส้นแบ่งที่เหมาะสมระหว่างสิทธิเสรีภาพต่างชนิดกันนี้ควรจะอยู่ตรงไหน และจะกำกับดูแลทางเลือกยุติการตั้งครรภ์โดยคำนึงถึงประโยชน์สุขทั้งสองชนิดนี้อย่างไร

เมื่อเปรียบเทียบกับคำวินิจฉัยก่อนหน้าในกรณี Roe และ Casey คำวินิจฉัย Dobbs ได้กล่าวถึงสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองในเรื่องการเลือกและจัดการกับกิจกรรมกิจการที่เป็นเรื่องส่วนตัวและการมีชีวิตอยู่ คำวินิจฉัย Roe และ Casey กำหนดเส้นแบ่งและดุลยภาพระหว่างประโยชน์สุขของผู้หญิงที่ต้องการจะยุติการตั้งครรภ์และประโยชน์สุขของตัวอ่อนโดยความสามารถที่จะมีชีวิตรอดได้เองนอกครรภ์ของฝ่ายหลัง แม้ว่าคำวินิจฉัย Dobbs ให้ประชาชนในแต่ละรัฐเป็นผู้ร่วมกันกำหนดเส้นแบ่งที่เหมาะสมระหว่างสิทธิและผลประโยชน์ของผู้หญิงและของตัวอ่อนในกรณีทางเลือกยุติการตั้งครรภ์ แต่การรับรองสิทธิตามรัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐในการเลือกยุติการตั้งครรภ์ถูกยกเลิกไป การเลือกตั้งและสถาบันการเมืองด้านนิติบัญญัติทั้งระดับรัฐและสหพันธรัฐจึงมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นในการเมืองเรื่องแท้ง

การเมืองเรื่องแท้งหลังการเพิกถอน Roe

เมื่อการรับรองสถานะของการเลือกยุติการตั้งครรภ์ในฐานะสิทธิที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองถูกยกเลิกไปโดยคำวินิจฉัย Dobbs ผลกระทบที่ปรากฏในทันทีคือความสับสนของฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย และผลต่อผู้หญิงหลากหลายกลุ่มที่ต้องการจะยุติการตั้งครรภ์ การเมืองเรื่องแท้งในภาคประชาชนเพิ่มความร้อนแรงมากขึ้นไปอีกจากที่ร้อนจัดมากอยู่แล้ว กฎหมายของรัฐและสหพันธรัฐถูกใช้เป็นเครื่องมือในการจำกัดทางเลือกยุติการตั้งครรภ์และในการป้องกันสิทธิของประชาชนโดยพรรคการเมืองในสถาบันนิติบัญญัติทั้งระดับรัฐและสหพันธรัฐ ประเด็นทางเลือกยุติการตั้งครรภ์ยังความสำคัญเพิ่มมากขึ้นในการเลือกตั้งกลางเทอมที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2022

ผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาวะของผู้หญิงที่เลือกยุติการตั้งครรภ์ 

ช่วงก่อนที่ศาลสูงแห่งสหรัฐอเมริกาจะนำเสนอคำวินิจฉัย Dobbs มีการคาดคะเนผลกระทบของการยกเลิกการรับรองทางเลือกยุติการตั้งครรภ์ในฐานะสิทธิตามรัฐธรรมนูญต่อสุขภาวะของผู้หญิงอเมริกันว่า นอกจากการท้องไม่พร้อมด้วยเหตุทางสังคมและเศรษฐกิจและความต้องการยุติการตั้งครรภ์จะไม่ลดลงแล้ว การเข้าถึงบริการที่ปลอดภัยจะยากเย็นขึ้นอีกมาก ส่งผลให้ผู้หญิงที่เผชิญสถานการณ์ท้องไม่พร้อมจำนวนไม่น้อยจะต้องถูกบังคับด้วยข้อจำกัดเหล่านี้ให้ท้องต่อไปจนคลอด ชีวิตของผู้หญิงเหล่านี้จะยิ่งยากลำบากมากขึ้นไปอีก หรือต้องเสี่ยงต่ออันตรายต่อชีวิตและสุขภาพของพวกเธอเองจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย ผลกระทบเหล่านี้จะตกอยู่กับผู้หญิงยากจนและกลุ่มชายขอบทั้งหลายที่เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพและการคุมกำเนิดอยู่แต่เดิมแล้ว[10] การยกเลิก Roe จะยิ่งซ้ำเติมความทุกข์ยากอันเนื่องมาจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมของคนหลายกลุ่ม

การเปลี่ยนแปลงกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับการเพิกถอน Roe เกิดได้อย่างรวดเร็วในรัฐที่มีการผ่านกฎหมายไว้รอคำวินิจฉัยของศาลสูง (trigger law – เมื่อศาลสูงยกเลิก Roe และ Casey กฎหมายที่ผ่านรอไว้แล้วเหล่านี้ก็จะมีผลบังคับใช้ได้ทันที เช่น รัฐไอดาโฮ, มิสซิสซิปปี และเท็กซัส เป็นต้น) สถานะทางกฎหมายที่เปลี่ยนไปของทางเลือกยุติการตั้งครรภ์กระทบต่อการเข้าถึงบริการด้านการแพทย์ของผู้หญิงที่แท้งเพราะสาเหตุอื่น เช่นผู้หญิงในเท็กซัสถูกปฏิเสธการรักษาพยาบาลเมื่อแท้งเอง (miscarriage) หรือท้องนอกมดลูก เพราะวิธีการด้านการแพทย์และยาที่ใช้เหมือนกับการยุติการตั้งครรภ์ เพราะบุคลากรด้านการแพทย์เกรงว่าจะเป็นการละเมิดกฎหมาย[11]

กรณีหนึ่งที่สะท้อนความยากลำบากของการเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยและผลกระทบต่อตัวแพทย์ผู้ให้บริการคือ กรณีเด็กหญิงอายุ 10 ขวบที่อยู่อาศัยในรัฐโอไฮโอ เธอตั้งครรภ์เพราะถูกข่มขืน เมื่อแพทย์ที่ดูแลพบว่าเธอตั้งครรภ์ อายุครรภ์ของเธอเกินกว่าที่กฎหมายของรัฐโอไฮโออนุญาตให้ยุติการตั้งครรภ์ได้ (กฎหมายกำหนดไว้ที่อายุครรภ์ไม่เกิน 6 สัปดาห์) ไปแล้ว แพทย์จึงส่งเธอไปยุติการตั้งครรภ์ในรัฐอินเดียนา โดยประสานกับแพทย์หญิง Caitlin Bernard เป็นผู้ทำให้หลังจากคำวินิจฉัย Dobbs ออกมาได้ไม่นานนัก แพทย์หญิงผู้นี้ต้องเผชิญกับการข่มขู่ว่าจะโดนลงโทษตามกฎหมายเพราะเธอไม่ได้รายงานกรณีดังกล่าวตามขั้นตอนที่รัฐกำหนด แม้ว่าแพทย์ผู้นี้จะแสดงหลักฐานว่าเธอได้ทำตามขั้นตอนทุกประการ และสถาบันการศึกษาที่เธอสังกัดก็รับรองด้วย เธอก็ยังเป็นเป้าหมายของการประณามและข่มขู่ทั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐ (เช่น อัยการสูงสุดของรัฐอินเดียนา เป็นต้น) และโดยกลุ่มประชาชนที่ต่อต้านการทำแท้ง จนถึงขนาดขู่ว่าจะลักพาตัวลูกสาวของแพทย์หญิงผู้นี้เลยทีเดียว[12] กรณีของเด็กหญิงและแพทย์ที่ยุติการตั้งครรภ์ให้เธอกลายเป็นประเด็นโต้เถียงอย่างกว้างขวางทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและในสื่อสังคม

ความสับสนว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้และกฎกติกาของรัฐต่างๆ ในเรื่องการยุติการตั้งครรภ์จะเป็นอย่างไรอาจจะลดน้อยลง เมื่อรัฐที่ไม่มี trigger law (ที่ผ่านกระบวนการทางสภารอคำวินิจฉัย Dobbs ยกเลิก Roe และ Casey) ได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับเงื่อนไขและรายละเอียดของการยุติการตั้งครรภ์ แต่ผลกระทบทางลบต่อชีวิตและสุขภาวะของผู้หญิงหลายกลุ่มที่เผชิญสถานการณ์ท้องไม่พร้อมน่าจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มที่ไม่มีกำลังทางเศรษฐกิจมากพอที่จะเข้าถึงบริการทำแท้งที่ปลอดภัยในรัฐที่ตนเองอาศัยอยู่หรือเดินทางข้ามรัฐเพื่อยุติการตั้งครรภ์ รวมไปถึงกลุ่มที่ตั้งครรภ์เพราะเหตุที่กฎหมายของรัฐตนเองไม่อนุญาตให้ยุติการตั้งครรภ์ได้ เช่น กรณีของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์เพราะการถูกข่มขืน-บังคับร่วมเพศ ที่กฎหมายของหลายรัฐไม่เปิดช่องให้ทำแท้งได้ เป็นต้น 

การยกเลิกคำวินิจฉัย Roe และ Casey ขยายและซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำในหลายมิติที่พาดซ้อนทับกัน ส่งผลต่อชีวิตและคุณภาพชีวิตของผู้หญิงกลุ่มต่างๆ ผู้หญิงยากจน-ผิวสีที่ชีวิตลำบากอยู่แล้วจะยิ่งลำบากมากขึ้นไปอีกเพราะความสามารถในการจัดการการเจริญพันธุ์ของตนเองลดลง การเพิ่มความสามารถในการเลือกจัดการกับสถานการณ์ชีวิตของตนเองและการให้ความช่วยเหลือต่างเป็นเรื่องสำคัญ กิจกรรมที่ปรากฏมาโดยตลอดในการถกเถียงเรื่องแท้งระหว่างฝ่ายที่เห็นต่างในเรื่องทางเลือกยุติการตั้งครรภ์ ได้แก่ การช่วยเหลือผู้หญิงที่เลือกทางเลือกนี้ให้สามารถเข้าถึงบริการที่ปลอดภัย ช่วง 2-3 วันแรกเมื่อศาลสูงมีคำวินิจฉัย Dobbs อย่างเป็นทางการ ผู้ใช้ Twitter จำนวนไม่น้อยในรัฐที่การยุติการตั้งครรภ์ยังสามารถทำได้ตามกฎหมายโพสต์เสนอความช่วยเหลือผู้หญิงในรัฐที่มี trigger law พร้อมบังคับใช้และต้องการจะข้ามรัฐเพื่อทำแท้ง โดยการเสนอให้ที่พักหรือแนะนำสถานพยาบาลที่ผู้หญิงจะสามารถเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยได้ เป็นต้น กลุ่ม/องค์กรภาคประชาชนได้ถกเถียงกันในประเด็นทางเลือกยุติการตั้งครรภ์ ผลักดันนโยบายสาธารณะของรัฐ และพัฒนาเครือข่ายเพื่อให้ความช่วยเหลือคนที่เผชิญสถานการณ์ท้องไม่พร้อมเพื่อให้เลือกทางเลือกที่ต้องการได้

ทางเลือกยุติการตั้งครรภ์ในการเมืองภาคประชาชนและการเมืองภาครัฐ            

การชุมนุมประท้วงและการถกเถียง

หลังคำวินิจฉัย Dobbs ถูกเผยแพร่และประชาชนได้รับรู้อย่างเป็นทางการว่าคำวินิจฉัย Roe และ Casey ถูกยกเลิกไป ทั้งฝ่ายที่สนับสนุนสิทธิในการเลือกยุติการตั้งครรภ์และฝ่ายที่คัดค้านต่างก็ออกมาชุมนุมประท้วงในพื้นที่สาธารณะทั้งในวอชิงตัน ดีซี และในหลายรัฐ ฝ่ายหนึ่งแสดงความไม่เห็นด้วย ส่วนอีกฝ่ายแสดงความยินดี การชุมนุมในที่ต่างๆ นำไปสู่การปะทะกันของฝ่ายที่เห็นต่างนี้บ้าง[13] และทั้งสองฝ่ายยังใช้พื้นที่ออนไลน์โต้เถียงกันอย่างดุเดือดโดยใช้แฮชแท็ก เช่น #RoeVsWade และ #RoeOverturned เป็นต้น

การชุมนุมประท้วงครั้งหนึ่งของฝ่ายสนับสนุนสิทธิในการเลือกยุติการตั้งครรภ์ของผู้หญิงบริเวณหน้าที่ทำการศาลสูงเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2022 มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหญิงของพรรคเดโมแครตหลายคนเข้าร่วมด้วย ส.ส. หญิงเหล่านี้ถูกตำรวจจับไปพร้อมกับประชาชนที่มาชุมนุม[14] ฝ่ายที่คัดค้านการเลือกยุติการตั้งครรภ์วิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์นี้ว่าเป็นการจัดฉากของฝ่ายเดโมแครต เพราะพรรคเดโมแครตครองอำนาจฝ่ายบริหารจึงเป็นไปไม่ได้ที่เจ้าหน้าที่รัฐจะขัดขวางการชุมนุมที่คนของพรรคสนับสนุน จึงเกิดเป็นการปะทะใหญ่ในสื่อสังคมผ่านแฮชแท็กที่ได้กล่าวถึงข้างต้น

กลุ่มองค์กรภาคประชาชนทั้งสองฝ่ายต่างก็ใช้การชุมนุมประท้วงในพื้นที่สาธารณะและการโต้เถียงในพื้นที่ออนไลน์ เพื่อผลักดันหรือคัดค้านประเด็นสิทธิเสรีภาพในการยุติการตั้งครรภ์อย่างต่อเนื่อง บางคนบางกลุ่มเริ่มรณรงค์ประเด็นในการเลือกตั้งกลางเทอมที่จะมาถึงในเดือนพฤศจิกายนด้วย

กฎหมายและการเลือกตั้ง

การยกเลิกคำวินิจฉัย Roe ที่รับรองทางเลือกยุติการตั้งครรภ์ในฐานะสิทธิตามรัฐธรรมนูญและเป็นกรอบในการออกกฎหมายและนโยบายสาธารณะทั้งในระดับรัฐและสหพันธรัฐ ส่งผลให้รัฐต่างๆ สามารถเข้าไปกำกับการยุติการตั้งครรภ์ได้มากขึ้นโดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องช่วงเวลาตามเกณฑ์ไตรมาสของ Roe หรือชนิดของมาตรการที่ต้องไม่สร้างภาระเกินสมควรให้ผู้หญิงที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ตามเกณฑ์ของคำวินิจฉัย Casey หลายรัฐมีการผ่านกฎหมายไว้ล่วงหน้าเพื่อรอการมีผลบังคับใช้หลังศาลสูงมีคำวินิจฉัยยกเลิก Roe แต่ในอีกหลายรัฐ เช่น นิวยอร์ก, นิวเจอร์ซีย์ และคอนเนกติกัต ไม่มีแนวโน้มจะแก้ไขกฎหมายที่เพิ่มข้อจำกัดหรือห้ามการยุติการตั้งครรภ์ ในช่วงหนึ่งเดือนแรกของการยกเลิกคำวินิจฉัย Roe สถาบันการเมืองทั้งในระดับสหพันธรัฐและรัฐสมาชิกต่างก็ผลักดันกฎหมายหรือมีการใช้อำนาจบริหารเพื่อจะจำกัดทางเลือกยุติการตั้งครรภ์หรือเพื่อคุ้มครองการเข้าถึงบริการของผู้หญิงที่เลือกทางเลือกนี้ รวมไปถึงความพยายามออกกฎหมายเพื่อจะป้องกันสิทธิในเรื่องเพศวิถีของพลเมืองที่ได้รับการรับรองจากคำวินิจฉัยของศาลสูงแห่งสหรัฐอเมริกาในช่วงก่อนหน้านี้

ในสภาผู้แทนราษฎรที่ระดับสหพันธรัฐ สมาชิกที่สังกัดพรรครีพับลิกันสนับสนุนร่างกฎหมายห้ามการยุติการตั้งครรภ์เมื่อสามารถตรวจพบการเต้นของหัวใจของตัวอ่อน (Heartbeat Protection Act)[15] ถ้าร่างกฎหมายนี้ผ่านการรับรองของรัฐสภาได้ ก็น่าจะเป็นไปได้ยากที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนจะลงนามในกฎหมายนี้ เพราะประธานาธิบดีเพิ่งจะมีคำสั่งของฝ่ายบริหารคุ้มครองการเข้าถึงบริการด้านอนามัยเจริญพันธุ์ของพลเมือง เช่น บริการด้านการคุมกำเนิดและยาเม็ดเพื่อยุติการตั้งครรภ์ บริการฉุกเฉินด้านการแพทย์ และการคุ้มครองบุคลากรด้านการแพทย์และผู้หญิงที่เดินทางข้ามรัฐเพื่อยุติการตั้งครรภ์ คำสั่งที่ใช้อำนาจฝ่ายบริหารที่ระดับสหพันธรัฐนี้อาจจะมีผลในทางปฏิบัติไม่ได้เต็มที่เนื่องจากกฎหมายและมาตรการระดับรัฐที่จำกัดการยุติการตั้งครรภ์และจำกัดการเข้าถึงบริการ[16]

ความพยายามจะจำกัดการยุติการตั้งครรภ์โดยกฎหมายที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ มีการเสนอร่างกฎหมายที่รับรองการเป็นบุคคลของตัวอ่อน (Fetal Personhood Law) ใน 6 รัฐ การรับรองสถานะความเป็นบุคคลนี้ทำให้ตัวอ่อนมีสิทธิที่ต้องได้รับการคุ้มครองและจะมีผลกระทบกว้างขวางไปกว่าเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ เช่น เรื่องการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ (assisted reproductive technology – ART) การคุมกำเนิด (ซึ่งเป็นการขัดขวางไม่ให้ไข่ที่ผสมแล้วฝังตัวในผนังมดลูกได้ นับเป็นการละเมิดสิทธิของตัวอ่อนที่มีสถานะเป็นบุคคล) หรือการประพฤติปฏิบัติตนของหญิงตั้งครรภ์ อย่างเรื่องชนิดของอาหารที่กินก็จะนับเป็นการละเมิดสิทธิตัวอ่อนได้ด้วยตามกฎหมายคุ้มครองเด็ก[17] เป็นต้น

อีกความเคลื่อนไหวหนึ่งเกิดขึ้นในสภาผู้แทนราษฎรที่ระดับสหพันธรัฐ สมาชิกได้ออกเสียงรับรองร่างกฎหมายคุ้มครองและรับรองการแต่งงานของคนเพศเดียวกันด้วยคะแนนเสียง 267 ต่อ 157 ที่น่าสนใจคือมี ส.ส. พรรครีพับลิกันร่วมออกเสียงสนับสนุนร่างกฎหมายนี้กับ ส.ส.พรรคเดโมแครตถึง 47 เสียง[18] การผ่านร่างกฎหมายนี้สะท้อนความหวาดหวั่นว่า ตุลาการฝ่ายอนุรักษนิยมซึ่งเป็นเสียงข้างมากในศาลสูงอาจจะยกเลิกคำวินิจฉัย Obergefell VS Hodges (2015)[19] ที่เชื่อมโยงสิทธิในเรื่องการแต่งงานของคนเพศเดียวกันเข้ากับบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตราที่ 14 คล้ายคลึงกับคำวินิจฉัย Roe เมื่อยกเลิก Roe ไปแล้วเป้าหมายต่อไปอาจจะเป็นเรื่องการแต่งงานของคนเพศเดียวกันและคำวินิจฉัย Obergefell VS Hodges ขั้นตอนต่อไปของการออกกฎหมายในเรื่องนี้คือการรับรองโดยวุฒิสภาและต้องมีสมาชิกพรรครีพับลิกันมาร่วมสนับสนุนด้วย

เมื่อพิจารณาความเคลื่อนไหวในสถาบันด้านนิติบัญญัติหลังการเพิกถอนคำวินิจฉัย Roe ทำให้เห็นความพยายามจะใช้กฎหมายเพื่อจำกัดทางเลือกยุติการตั้งครรภ์หรือเพื่อป้องกันผลกระทบต่อคนที่เลือกทางเลือกนี้ รวมไปถึงประเด็นสิทธิอื่นๆ ของพลเมืองที่ได้รับการรับรองโดยศาลสูงโดยเชื่อมโยงกับหลักและมาตราในรัฐธรรมนูญแบบเดียวกันกับ Roe ด้วย เมื่อมองจากมุมของพรรคการเมืองหลักคือเดโมแครตและรีพับลิกัน ทั้งสองพรรคต่างก็เห็นความจำเป็นของการออกกฎหมายเกี่ยวกับทางเลือกยุติการตั้งครรภ์หลังจากคำวินิจฉัย Roe ถูกยกเลิกไป 

อดีตรองประธานาธิบดีไมก์ เพนซ์ จากพรรครีพับลิกัน กล่าวถึงการต่อสู้เพื่อให้มีกฎหมายห้ามการยุติการตั้งครรภ์ในทุกรัฐของสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ประธานาธิบดีไบเดนมองไปที่การเลือกตั้งกลางเทอมซึ่งจะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2022 ว่าประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งต้องช่วยกันเลือกผู้สมัครพรรคเดโมแครตทั้งในระดับรัฐและระดับสหพันธรัฐ เพื่อจะได้เสียงข้างมากในสถาบันนิติบัญญัติและสามารถออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิในการเลือกยุติการตั้งครรภ์ได้ และเพื่อป้องกันการออกกฎหมายลดทอนสิทธิในเรื่องนี้ด้วย

ประเด็นสิทธิในการเลือกยุติการตั้งครรภ์น่าจะมีความสำคัญต่อการตัดสินใจเลือกผู้สมัครและพรรคการเมืองของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งหลายกลุ่ม[20] เนื่องจากการเลือกตั้งกลางเทอมในปลายปี 2022 ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจะได้เลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 435 ตำแหน่ง สมาชิกวุฒิสภา 35 ตำแหน่ง (จาก 100 ตำแหน่ง) ผลการเลือกตั้งว่าพรรคใดจะครองเสียงข้างมากในรัฐสภาจึงมีความสำคัญและจะเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันสิทธิในการเลือกยุติการตั้งครรภ์เป็นกฎหมายตามแนวทางที่ผู้นำพรรคการเมืองกล่าวถึง

‘เถียงกันเรื่องแท้ง’ ในวันที่ไม่มี Roe 

แม้ว่าการยกเลิกคำวินิจฉัย Roe ซึ่งทำให้การเลือกยุติการตั้งครรภ์ไม่ถูกรับรองในฐานะสิทธิตามรัฐธรรมนูญอีกต่อไปจะสร้างความตื่นตระหนกอย่างกว้างขวาง แต่การถกเถียงและผลักดันกฎหมายและนโยบายของรัฐในเรื่องนี้ไม่ได้ยุติลง ฝ่ายที่เห็นว่าการยุติการตั้งครรภ์ควรเป็นทางเลือกที่ผู้หญิงเลือกได้เพื่อจัดการกับสถานการณ์เฉพาะของชีวิตกับฝ่ายที่เห็นว่าทางเลือกนี้เป็นบาปผิดและต้องการจะคุ้มครองชีวิตของตัวอ่อนก็ยังถกเถียงกันต่อไปและพยายามจะอาศัยช่องทางและกระบวนการของสถาบันการเมือง เพื่อออกกฎหมายขยายขอบเขตการห้ามยุติการตั้งครรภ์หรือลดทอนผลกระทบทางลบต่อผู้หญิงของการยกเลิก Roe ประเด็นทางเลือกยุติการตั้งครรภ์จึงกลายเป็นความสนใจของผู้คนทั้งในพื้นที่ทางสังคมและในกระบวนการเชิงสถาบันประชาธิปไตยแบบมีตัวแทน

การถกเถียงเรื่องแท้งในสถาบันการเมืองอย่างศาลสูงแห่งสหรัฐอเมริกาต่างก็พยายามจะตอบคำถามหลักว่า เส้นแบ่งที่เหมาะสมของเสรีภาพในการจัดการร่างกายและความเป็นส่วนตัวของผู้หญิงและสิทธิในการมีชีวิตของตัวอ่อนควรจะอยู่ที่ใด คำวินิจฉัย Dobbs ได้ยกเลิก Roe และ Casey และได้คืนอำนาจให้ประชาชนโดยผ่านตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้ตัดสินเกี่ยวกับเส้นแบ่งที่พอดีดังกล่าว สถาบันนิติบัญญัติและการเลือกตั้งที่จะมาถึงในปลายปี 2022 จึงเป็นอาณาบริเวณสำคัญของการผลักดันกติกาของรัฐในประเด็นนี้

การถกเถียงและแย่งชิงกันกำหนดกติกาของรัฐเกี่ยวกับทางเลือกยุติการตั้งครรภ์สะท้อนกรอบการมองสิทธิเสรีภาพที่แบ่งแยกเป็นขั้วตรงข้ามของคนสองกลุ่ม คือผู้หญิงและตัวอ่อนในครรภ์ การแบ่งแยกเช่นนี้ไม่สอดคล้องกับประสบการณ์และสถานการณ์ชีวิตของผู้หญิงมากมาย การตั้งครรภ์และการเจริญพันธุ์ของมนุษย์เชื่อมโยงกับกรอบกติกาของสังคมว่าด้วยรูปแบบเรื่องเพศที่ถูกต้องเหมาะสม การแต่งงานและบทบาทความรับผิดชอบในการเลี้ยงดูเด็ก นอกจากนี้แบบแผนความสัมพันธ์มิติอื่น อย่างระบบเศรษฐกิจและชาติพันธุ์ยังส่งผลต่อสถานการณ์การตั้งครรภ์ของผู้หญิงด้วย การตั้งครรภ์/คลอดและเลี้ยงดูทารกจึงมีความหมายที่แตกต่างกันไปสำหรับผู้หญิงแต่ละคน และพวกเธอแต่ละคนต้องตัดสินใจเลือกทางเลือกท่ามกลางข้อจำกัดเฉพาะเหล่านั้น 

ปรากฏการณ์ท้องไม่พร้อมและการเลือกยุติการตั้งครรภ์เป็นเรื่องเฉพาะมากของคนแต่ละคน และไม่สามารถจะถูกจำกัดได้โดยกติกาที่ไม่ได้โอบรับความซับซ้อนของประสบการณ์ไว้ แต่การถกเถียงเรื่องแท้งก็ยังวนเวียนอยู่กับวิธีคิดที่แบ่งแยกผลประโยชน์และสิทธิของผู้หญิงกับตัวอ่อนออกจากกัน มากกว่าจะเห็นความซับซ้อนและการเลือกทางเลือกที่ผูกพันกับศีลธรรมและข้อจำกัดเฉพาะของมนุษย์แต่ละคน


[1] คลิกเพื่ออ่านความเห็นของเสียงข้างมากกรณี Roe VS Wade 

[2] อ่านเรื่องราวของ ‘Jane Roe’ ได้ที่ Who Was Norma McCorvey, the Woman Behind Roe v. Wade?

[3] “nor shall any State deprive any person of life, liberty, or property, without due process of law;” Fourteenth Amendment – ดูบทบัญญัติมาตรานี้ได้ที่เว็บไซต์ The Constitution Annotated

[4] คลิกเพื่ออ่านคำวินิจฉัยกรณี Casey VS Planned Parenthood

[5] คลิกเพื่ออ่านคำวินิจฉัยกรณี Dobbs v. Jackson Women’s Health Organization 

[6] ดูรายละเอียดของกรณีนี้ได้ที่เว็บไซต์ The Center for Reproductive Rights

[7]ร่างคำวินิจฉัยถูกเผยแพร่โดย Politico

[8]“…the right of the people to keep and bear Arms”  

[9] ดูแนวทางการวินิจฉัยของศาลสูงแห่งสหรัฐอเมริกาในกรณีต่างๆ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับกรณี Dobbs ได้ที่ Supreme Court finds N.Y. law violates right to carry guns outside home และ How the Supreme Court ruled in the major decisions of 2022

[10]  Guttmacher Institute,  “US Supreme Court Overturns Roe v. Wade,” 24 June, 2022. 

[11] Texas laws say treatments for miscarriages, ectopic pregnancies remain legal but leave lots of space for confusion

[12] Indiana doctor moves toward suing AG who threatened to charge her over 10-year-old’s abortion

[13] Thousands Protest End of Constitutional Right to Abortion, New York Times, July 1, 2022.

[14] Democratic lawmakers including Ocasio-Cortez, Tlaib, Speier and more arrested in abortion rights protest in front of the Supreme Court 

[15] Darragh Roche, “GOP Push for Nationwide Abortion Ban,” Newsweek, July 12, 2022.

[16] Jeff Mason and Nandita Bose, “Biden signs executive order on abortion, declares Supreme Court ‘out of control’,” Reuters, July 9, 2022.

[17] Madeleine  Carlisle, “Fetal Personhood Laws Are a New Frontier in the Battle Over Reproductive Rights,” Time, June 28, 2022.

[18] House passes bill to protect same-sex marriage in effort to counter Supreme Court

[19] คำวินิจฉัย Obergefell VS Hodges

[20] Anthony Zurcher, “Roe v Wade: What the Supreme Court decision means for US mid-terms,” BBC News, June 26, 2022.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save