fbpx

‘#หลงยุคหลุดสมัย’ ว่าด้วยความใหม่ที่ไม่ได้แปลว่าดี แปลกก็ไม่ได้หมายถึงสร้างสรรค์

ไม่ว่าเราจะก้าวหน้าจนล้ำโลกหรืออยู่ในอัตราเร่งที่เท่าๆ ทันๆ กับโลกใบนี้ ดูเหมือนว่าสิ่งที่จะยอมรับกันไม่ได้เลยไม่ว่าจะในมิติไหนก็ตามคือการตามไม่ทันโลกและพยายามเหนี่ยวรั้งการเติบโตของผู้คน แม้แต่คำว่า ไม่ทันโลก ก็ดูเหมือนจะเป็นคำดูถูกและคำด่าอยู่กลายๆ[1] คำพังเพยคำหนึ่งที่ใช้ในการอธิบายคนไม่ทันโลกซึ่งผมได้ยินมาตั้งแต่เด็กคำหนึ่งก็คือ ‘หลงยุคหลงสมัย’ คำพังเพยนี้เอาไว้อธิบายคนประเภทหนึ่งที่ไม่อนุวัติตนเองไปตามยุคสมัยด้วยมีความเชื่อ ความยึดถือในแบบเก่าหรือแบบที่ตัวเองคุ้นเคยและไม่ยอมให้สิ่งใหม่ๆ เข้ามารบกวนหรือเปลี่ยนแปลงระเบียบในชีวิตของตนเอง เป็นคนที่ตามยุคสมัยไม่ใคร่จะทัน เพราะไม่รู้จะตามไปทำไม ทำตัวเป็นคนยุคเก่าในยุคใหม่จึงทำให้ดูเป็นคนที่ ‘หลงยุคหลงสมัย’

หากจะมีคำพังเพยที่แสดงให้เห็นความแตกต่างของยุคสมัยได้แตกต่างกว่านี้ ให้ความรู้สึกที่รุนแรงมากกว่า ก็เห็นจะเป็นคำว่า “หลงยุคหลุดสมัย” นั่นเอง เพราะคนที่มีลักษณะ “หลงยุคหลุดสมัย” นี้ไม่เพียงแต่ดูเป็นคน ‘หลงยุค’ เท่านั้นแต่มัน ‘หลุด’ ออกจากสมัยที่ตัวเองอยู่ไปเลยทีเดียว คำว่าหลุดแสดงให้เห็นภาพของความไม่ยึดโยง ความขาดอย่างหลุดลุ่ย ขาดหรือออกจากกันอย่างเด็ดขาด อย่างรุนแรง เมื่อนำมาผสมกับคำว่า ‘สมัย’ การหลุดสมัยจึงกลายเป็นกระชากตัวหรือหลุดจากวงโคจรของเวลาในปัจจุบันไปอย่างสิ้นเชิง

‘หลงยุคหลุดสมัย’ ยังเป็นคำที่แสดงให้เห็นความรู้สึกที่ตรงกันข้ามอย่างรุนแรงกับคำว่า ‘ล้ำยุคล้ำสมัย’ กล่าวคือ ล้ำยุคล้ำสมัย มีความหมายที่ก้าวไปข้างหน้าอย่างเต็มที่ ในขณะที่หลงยุคหลุดสมัยคือ คือนอกจากจะไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ในห้วงเวลาแบบไหนแล้วยังหลุดไปจากพื้นที่และเวลาที่เป็นปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง อันที่จริงแล้ว หลุดไปจากกรอบของพื้นที่และเวลาใดๆ จนไม่สามารถหาทางกลับมาเชื่อมต่อกันได้อีกต่อไป

ประโยค ‘หลงยุคหลุดสมัย’ ถูกนำมาเป็นชื่อรวมเรื่องสั้นที่มีเรื่องสั้นเพียง 3 เรื่อง ของ วัน รมณีย์ นักเขียนลึกลับคนหนึ่งที่สำนักพิมพ์แนะนำเอาไว้ว่า

“เราไม่รู้มาก่อนเลยว่าเขาคือใคร หันซ้ายหันขวาถามไถ่จากคนรอบตัวก็ไม่มีใครเคยคุ้น สอบถามข้อมูลในอินเตอร์เน็ตก็มีชื่อของเขาปรากฏอยู่เพียงน้อยนิด และเมื่อพยายามติดต่อเพื่อพูดคุยถึงการนำงานมาตีพิมพ์ เขาก็ไม่ยอมปรากฏกาย…”

ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ผลงานของเขามีความเย้ายวนใจนักอ่านที่สนใจประเด็นสังคมและวรรณกรรม โดยเฉพาะ ‘วรรณกรรมซีเรียส’ หรือวรรณกรรมที่ดูขึงขังจริงจังทั้งหลาย การจิกกัด เซาะแซะ เกา ขยี้ ประเด็นที่ดูจะล้ำยุคล้ำสมัยในเรื่องสั้นชุดนี้ได้กระตุ้นให้เรากลับมาใคร่ครวญและพินิจพิจารณาบรรดาความ ‘ก้าวหน้า’ และ ‘ล้ำยุคล้ำสมัย’ ด้วยสายตาและอารมณ์ทั้งขำขื่นๆ ชวนให้ฉงนและพร้อมจะตั้งคำถามกับประเด็นเหล่านั้นเพื่อทำความเข้าใจความ ‘ล้ำๆ’ ทั้งหลายที่เอิกเกริกอยู่ในสังคมไทยนี้

อัลกอริทึ่มและบุพเพสันนิวาส

ประเด็นที่น่าสนใจในเรื่องนี้ก็คือ ความรักที่เกิดขึ้นระหว่างชายคนรักกับจ๊ะเอ๋นั้นถูกเล่าทั้งจากปากของชายรักและจากผู้เล่าเรื่องที่รู้เห็นการกระทำของจ๊ะเอ๋ทุกอย่างเอง พวกเขาค่อยๆ เล่าความสัมพันธ์ที่ถูกพัฒนาขึ้นทีละเล็กละน้อยจนกลายเป็นความรักที่ผูกพันลึกซึ้ง แต่แท้จริงแล้วสิ่งที่พวกเขามีเหมือนกันก็คือการใช้บริการจาก ‘บริษัทจัดหาคู่’ ที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์มาช่วยในการ ‘คำนวณ คัดสรร จัดวาง’ ทำให้คนสองมารักกันได้ เช่น การทำให้จ๊ะเอ๋รู้สึกว่าชายหนุ่มเป็นผู้ชายในฝันของเธอ มีความบังเอิญที่อยากจะดูหนังเรื่องเดียวกัน อยากกินอาหารในร้านที่เพิ่งเปิดเจอรีวิว เหล่านี้คือสิ่งที่ได้จากการเก็บข้อมูลวิถีชีวิตของผู้คนที่ทิ้งร่องรอยเอาไว้ในดิจิทัลฟุตปรินต์ข้อมูลที่เป็นส่วนตัวเหล่านี้เองเป็นสิ่งที่บริษัทจัดหาคู่สามารถเข้าถึงและนำเอามาขายแก่ลูกค้า

ยิ่งไปกว่านั้น การชี้นำพฤติกรรมยังเป็นสิ่งที่ ‘บริษัทจัดหาคู่’ สามารถทำได้อีกด้วย ดังที่ชายคนรัก ‘สารภาพ’ เอาไว้ว่า

“ตอนจ๊ะเอ๋เรียนจบใหม่ ผลลัพธ์การค้นหาในเว็บไซต์สมัครงาน จะปรากฏชื่อทำงานพี่ทุกครั้ง ส่วนอันดับสองสามรองลงมา ก็คือบริษัทที่ตั้งอยู่ในละแวกเดียวกัน อย่างน้อย หากเธอเกิดเปลี่ยนใจ ขอแค่เรามีโอกาสเฉียดใกล้ก็ยังดี… นัดสัมภาษณ์เอ๋ในช่วงไข่ตก แรงขับทางเพศพุ่งสูงขึ้น ชุดที่พี่ใส่ ทรงผม รองเท้า นาฬิกา คือภาพลักษณ์อย่างที่จ๊ะเอ๋ถูกทำให้เชื่อว่า นี่คือคนที่จ๊ะเอ๋อยากครองคู่ ผ่านอินฟลูเอนเซอร์ คลิปข่าว โฆษณา สิ่งที่เธอเสพ ไม่ใช่สิ่งที่เธอเลือก แต่คือสิ่งที่ถูกทำให้เชื่อว่าตัวเองเลือก” (หน้า 11)

ในความสัมพันธ์เช่นนี้เองดูเหมือนชายคนรักจะเป็นผู้กำหนดและสร้างกติกาในเรื่องความสัมพันธ์ขึ้นมาเพื่อหล่อหลอมให้จ๊ะเอ๋มารักเขา หากจะพูดให้ง่ายขึ้นก็คือชายหนุ่มวางยาเสน่ห์ใส่จ๊ะเอ๋ แต่เป็นยาเสน่ห์ ‘สมัยใหม่’ ที่มีอัลกอริทึ่มเป็นเครื่องมือสำคัญ จ๊ะเอ๋ดูเหมือนจะเป็นเหยื่อในความสัมพันธ์เช่นนี้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง…สำหรับจ๊ะเอ๋เองแล้ว การได้รักกับชายหนุ่มนั้น

“ในฤดูหนาว คุณอยู่ชั้นประถมปลายและบังเอิญเจอเขาตอนถูกเกณฑ์ไปยืนรับเสด็จ เขาจำคุณไม่ได้ แต่ คุณจำเขาไม่ได้เคยลืม… ไม่ คุณจะไม่พูดว่าหลังจากวันนั้น คุณพยายามค้นหาเขาในโซเชียลเน็ตเวิร์ก คุณแอบสร้างแอ็กเคานต์หลุม เพื่อซุ่มติดตามชีวิตเขา…คุณจะไม่พูด ไม่พูดว่าหมดเงินไปเท่าไหร่กับแอพหาคู่… นัดสัมภาษณ์ก็เช่นกัน เกิดขึ้นช่วงเขาจิตตก อ่อนไหว กลิ่นน้ำยาปรับผ้านุ่มจากชุดที่คุณใส่ ทรงผมที่เพิ่งไปตัดมา รองเท้า แว่นตา คือโมเดลซึ่งเขาถูกทำให้เชื่อว่า นี่แหละ หญิงสาวที่ตนปรารถนาจะครองคู่ ผ่านบทความ เว็ปไซต์ข่าว หนังโป๊ สิ่งเขาเสพ ไม่ใช่สิ่งที่เขาเลือก แต่คือสิ่งที่ถูกทำให้เชื่อว่าตัวเองเลือก” (หน้า 15-17)

ความสัมพันธ์ที่ ‘สร้างขึ้นได้’ ผ่าน ‘อัลกอริทึ่ม’ นี้ยังคงดำเนินต่อมาจนถึงรุ่นหลานของจ๊ะเอ๋และชายคนรัก หลานชายที่เป็นศูนย์กลางของเรื่องส่วนที่สามแม้จะเป็นการเล่าเหตุการณ์ว่าแท้จริงแล้วปู่ของเขายังคงติดอยู่ใน ‘ความทรงจำ’ ที่ถูกสร้างขึ้นผ่านเทคโนโลยีอย่างใหม่ช่วยให้คนตายสามารถติดต่อกับคนเป็นได้และแม้ว่าคนตายเหล่านั้นจะยังคงดำรงอยู่เพียงแค่จิตสำนึกที่ไม่อาจตอบโต้เหมือนคนปกติ เพราะเทคโนโลยีของ ‘เหรียญ ร. คอยน์’ นั้นสร้าง ‘ตัวตนจำลอง’ ขึ้นจากรหัสพันธุกรรมของผู้ตาย แต่ตัวตนจำลองเช่นนั้นไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นเพราะปัญญาประดิษฐ์ได้คิดคำนวณจากดีเอ็นเอและเก็บข้อมูลจากอัลกอริทึ่มแล้วว่าผู้ตายควรจะมีบุคลิกลักษณะอย่างไร ดังนั้นสิ่งที่ปู่ของหลานชายในเรื่องตอนที่สามนี้กำลังสนทนาด้วยยาวนานนับปีในตู้โทรศัพท์คือหุ่นยนต์หรือ ‘จ๊ะเอ๋’ ในเวอร์ชั่นของปัญญาประดิษฐ์นั่นเอง และตัวหลานชายเองเมื่อได้เห็นข่าวบริษัทจัดหาคู่ถูกฟ้องร้องเขาได้บอกแฟนสาวของเขาว่า “หวังว่าคู่เรา จะมีเค้าเป็นคนจ่ายฝ่ายเดียว” (หน้า 19)

ความรัก ความสัมพันธ์ของผู้คนในโลกสมัยใหม่ – โลกแห่งดิจิตัลฟุตปรินต์/โลกแห่งอัลกอริทึ่ม/ โลกแห่งปัญญาประดิษฐ์ – นั้นเป็นสิ่งที่ชวนให้เราตั้งคำถามถึง ‘ตัวตน’ ของปัจเจกบุคคลได้อย่างน่าสนใจ เรามักจะเข้าใจไปว่าความเป็น ‘อัตตบุคคล’ นั้นเกิดขึ้นจากการกำหนดของตัวเราทั้งสิ้น อาหารที่เราชอบกิน เพลงที่เราชอบฟัง โลกทัศน์ทางสังคม การเมือง ทุกสิ่งทุกอย่างเหล่านี้เกิดขึ้นจาก ‘ประสบการณ์’ ส่วนบุคคลของตัวเราทั้งสิ้น แต่ในโลกสมัยใหม่ ความสนใจด้านต่างๆ ในชีวิตของเราล้วนเป็นสิ่งที่ ‘สร้างขึ้นได้’ และเป็นการสร้างจากสิ่งที่อยู่นอกตัวเรา ในกรณีนี้คือ อัลกอริทึ่มและปัญญาประดิษฐ์

ชายหนุ่มสารภาพกับจ๊ะเอ๋จำลองว่า “หากใช้อัลกอริทึ่มที่เหมาะสม ตีกรอบโลกทัศน์ การกำหนดพฤติกรรมมนุษย์ก็ไม่ยาก” (หน้า 11) ในขณะเดียวกันผู้เล่าเรื่องที่เล่าความคิดของจ๊ะเอ๋ก็บอกว่า “หากใช้อัลกอริทึ่มที่เหมาะสม เราสามารถกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ล่วงหน้า” (หน้า 17)

ไม่เพียงแต่ความรักเท่านั้นที่ไม่โรแมนติคอีกต่อไป ชีวิตมนุษย์ก็ไม่มีอะไรที่น่าพิสมัยหรือควรค่าแก่การแสวงหาความหมายอีกด้วยหากเรายังหายใจภายใต้การกำกับของอัลกอริทึ่มและปัญญาประดิษฐ์ สิ่งที่ผมสนใจประการหนึ่งก็คือ การทำงานของอัลกอริทึ่มและปัญญาประดิษฐ์นั้นมีคุณลักษณะที่เหมือนกับอำนาจของเผด็จการ ความแตกต่างที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ เผด็จการมักจะแสดงตัวให้เห็นอย่างชัดเจน เวลาที่เราต่อสู้หรือต่อต้านเผด็จการเรารู้ว่าเรากำลังสู้อยู่กับอะไรเพราะเวลาเผด็จการ (ที่ไม่ค่อยฉลาดนัก) ใช้อำนาจก็จะใช้ลงมาอย่างทื่อๆ ตรงไปตรงมา ในขณะที่อัลกอริทึ่มและปัญญาประดิษฐ์คือสิ่งที่เราไม่อาจเห็นได้ (อย่างน้อยก็ไม่เห็นว่ามีตัวเป็นๆ อยู่ตลอดเวลา) และมันทำให้เราเชื่อ สมยอมและปฏิบัติตามอย่างคนว่านอนสอนง่ายกว่าที่คิด ด้วยวิธีการที่ละมุนละม่อม ไม่มีตะคอก ไม่มีปืนมาจ่อหัว ต่างคนต่างยิ้มให้กันและกัน อัลกอริทึ่มและปัญญาประดิษฐ์สร้างสิ่งแวดล้อมให้เราเชื่อได้ว่าทุกๆ การกระทำเกิดจากเราเป็นผู้เลือกทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วเราเลือกอะไรไม่ได้เลยสักอย่างเดียว

คำถามที่อาจจะน่าสนใจก็คือ ระหว่างเผด็จการกับอัลกอริทึ่มและปัญญาประดิษฐ์ อะไรน่ากลัวกว่ากัน แต่คำถามที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ หากทั้งสองอย่างนี้ร่วมมือกันแล้วจะมีอะไรน่ากลัวไปกว่านี้อีกต่างหาก

เราอาจลองคิดดูเล่นๆ ก็ได้ ถ้าหากเผด็จการใช้อำนาจอย่างที่อัลกอริทึ่มและปัญญาประดิษฐ์ทำเหมือนกับบริษัทหาคู่ คือ “สร้างความสนใจร่วม ผ่านเนื้อหาที่ยัดเยียดให้เสพ อาทิ ประเด็นสุดโต่งทางการเมือง แมว ดนตรี ของสะสม บางรายพบว่าตนตกเป็นเหยื่อตั้งแต่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ” (หน้า 18) ผลที่ได้ก็คือผู้คนที่เชื่อไปว่าความสนใจ โลกทัศน์ รสนิยมที่พวกเขามีนั้นล้วนเป็นประสบการณ์ตรงของพวกเขาและเป็นสิ่งที่พวกเขาได้คัดเลือกกันเองทั้งสิ้น หรือไม่ก็อาจจะคิดเล่นๆ อีกได้ว่า หากเผด็จการใช้อำนาจในการประโคมโหมโฆษณาคุณความดีของใครสักคนหนึ่งเป็นระยะเวลายาวนานและนำเสนอเพียงด้านเดียว ผ่านสื่อทุกประเภท เดินไปทุกหัวถนนก็เห็น มีสารคดี มีการนำเสนอข่าวอย่างเป็นระบบ ผลลัพธ์ที่ได้ก็น่าจะเป็นเราๆ ท่านๆ ที่เชื่อไปว่าเรากำลังรักใครสักคนด้วยความดีที่เขามีอยู่ในตัวเอง

(ในขณะที่กำลังเขียนบทความนี้ อัลกอริทึ่มในเฟซบุ๊กได้นำเสนอโพสต์ ‘แนะนำสำหรับคุณ’ เป็นโพสต์ของเพจหนึ่งที่ถ่ายรูปข้อความในหนังสือที่สอนเรื่องชีวิตที่มีความสุขนั้นควรทำอย่างไรโดยเป็นข้อเทศนาสั้นๆ เก้าข้อ แน่นอนว่าทุกข้อนั้นผมไม่อาจทำได้เลย แต่มันน่าสนใจว่า อะไรทำให้อัลกอริทึ่มในเฟซบุ๊กคิดว่าผมควรจะมีความสุขบ้าง มันรู้ได้อย่างไรว่าผมมีความทุกข์)

วรรณกรรมไทยสุดล้ำนำสมัยกับคนหลงยุคหลุดสมัย

‘#หลงยุคหลุดสมัย’ เป็นเรื่องสั้นเรื่องที่ 3 ในเล่มที่เล่าถึงความกังวลใจของ ‘จรูญ สายจำเริญ’ นักเขียนที่ผ่านสมรภูมิวรรณกรรมไทยร่วมสมัยมายาวนาน ผ่านความเปลี่ยนแปลงในแวดวงวรรณกรรมไทย ไม่ว่าจะเป็นขาขึ้น ขาลง ของวรรณกรรมไทย ชีวิตและความตายของวรรณกรรม สื่อสิ่งพิมพ์ รวมถึงรูปแบบและเนื้อหาของวรรณกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดยั้ง ความกังวลใจของเขาในครั้งนี้สะเทือนไปถึงศรัทธาที่มีต่อการทำงานวรรณกรรมอีกด้วย นั่นคือการปรากฏตัวของวรรณกรรมแบบใหม่ที่เขียนด้วยภาษา ‘โค้ดดิ้ง’ และมีขนาด “เท่ากับดวงตราไปรษณียากร”

วรรณกรรมรูปแบบใหม่นี้มีวิธีการใน ‘เสพ’ ที่น่าสนใจก็คือ

“เพียงแต่ว่าวางลงบนลิ้น ปิดปาก ปิดตา ปิดหู ปล่อยให้กลไกซึ่งเขียนด้วยคอมพิวเตอร์ทำปฏิกิริยากับสมอง แผ่นกระดาษบางๆ ใส่ปากพักไว้สองสามนาที นั่ง หรือนอนทอดกายา ปล่อยใจซึมซาบความรู้สึกของการอ่านผ่านอักษรแต่ละตัวที่ปรากฏในอาการกึ่งฝัน นวัตกรรมใหม่ใช้ทำลายกำแพงทางภาษา ไม่ว่าเชื้อชาติเผ่าพันธุ์หรืออยู่ในวัฒนธรรมใดเมื่ออมแผ่นนี้ไว้ ถ้อยคำอันอุ้มโอบเนื้อหากับอารมณ์ก็จะปรากฏตามความเข้าใจของปัจเจกนั้นๆ ทำให้วรรณกรรมสำหรับแต่ละคน แทบจะไม่มีความแตกต่างกันเลย แถมทั้งยังช่วยให้รับรู้ได้ดีขึ้น ด้วยเจ้าแผ่นกระดาษมีฤทธิ์กระตุ้นรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ช่วยทำให้ความรู้สึกต่างๆ ดูเข้มชัด ช่วยให้ผู้อ่านได้เสพอรรถรสอย่างที่วรรณกรรมชิ้นนั้นควรจะเป็น” (หน้า 58-59)

ความกังวลของจรูญแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างโลกแบบเก่ากับโลกสมัยใหม่ จรูญมีความเชื่อมั่นใน ‘วรรณกรรมแบบดั้งเดิม’ ที่ในตัวเรื่องสั้นเองก็ไม่ได้บอกว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร แต่เราจะได้เห็นว่า ‘วรรณกรรมแบบดั้งเดิม’ ของจรูญนั้นเป็นคู่ตรงกันข้ามกับกระแสวรรณกรรมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ในตลอดเวลาในยุคสมัยใหม่ผ่านการเปรียบต่างและการวิพากษ์วิจารณ์แนววรรณกรรมสมัยใหม่ ผู้เล่าเรื่องนำเอากระแสการไชโยโห่ร้องต้อนรับแนวทางและความคิดอย่างใหม่ของวรรณกรรมมาวางปะทะกับความคิดของจรูญที่มีต่อความเปลี่ยนแปลงของวรรณกรรม   

“ “จบสิ้นเสียทียุคของวรรณกรรมที่ต้องขรึมขลัง ชอบสั่งสอน ยุคที่ถูกปกครองโดยผู้ทรงคุณวุฒิ” นายจรูญทุกข์ใจ ด้วยนี่คือช่วงเวลาแห่งอนาธิปไตย โกลาหล แตกกระจาย “มีนักเขียนหน้าใหม่และสำนักพิมพ์คลื่นลูกมใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก” ไม่หรอก แค่มีเงินก็ตั้งสำนักพิมพ์พิมพ์งานตัวเองได้ “หลากหลาย” แบ่งฝักฝ่าย มีกลุ่มก้อน… “นี่คือยุคพระศรีอาริย์ของเหล่างานประพันธ์อย่างแท้จริง” ไม่จริง… “ไม่มีนักจับผิดมานั่งติงว่าเรื่องสั้นเรื่องนี้ใช้คำว่าวรรณกรรมไปทั้งสิ้นยี่สิบครั้งแล้วนะ และจะตัดตรงไหนออกได้บ้าง” นักเขียนที่ดีต้องรู้จักใช้ภาษาอย่างถูกต้อง…”มีการเขียนถึงมุมมองต่างๆ อยากหลากมิติเมื่อศิลปะไม่ถูกปิดกำกับด้วยศีลธรรมเฉพาะบุคคล” โลกกำลังล่มจมเพราะคนไร้ศีลธรรม “กลวิธีทางวรรณศิลป์พัฒนา” เขาเรียกภาษาวิบัติ” (หน้า 52-53) (ข้อความตัวเอนเป็นการเน้นของผมเพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นข้อความที่เป็นความรู้สึกนึกคิดของจรูญ)

เราอาจสรุปหรือเข้าใจได้ว่าวรรณกรรมแบบดั้งเดิมที่จรูญยึดถือและศรัทธานั้น เป็นวรรณกรรมที่มีความขรึมขลัง นำเสนอข้อคิดที่ดีให้กับผู้อ่าน ไม่นำพาผู้อ่านไปสู่โลกอันไร้ศีลธรรม ใช้ภาษาที่ดี ถูกต้อง เหมาะสม งานเขียนต้องการบรรณาธิการเพื่อคอยขัดเกลาต้นฉบับและต้องการนักวิจารณ์ อาจารย์ทางด้านวรรณกรรมเพื่อคอยทำหน้าที่ตัดสินว่าผลงานวรรณกรรมชิ้นใดมีคุณค่า เพราะ “เราจะเชื่อรสนิยมคนรุ่นเราที่เสพแต่สื่อบันเทิงอันน่าเวทนาได้อย่างไร” (หน้า 52)

แน่นอนที่สุดว่าในฐานะคนรุ่นใหม่กว่าจรูญ เมื่อได้อ่านและเห็นทัศนคติที่มีต่อความเปลี่ยนแปลงทางด้านวรรณกรรมของเขา เราๆ และท่านๆ ผู้เจริญแล้วทั้งหลายอาจร้องยี้หรือทำหน้าเหม็นเบื่อคนอย่างจรูญ แต่ในบรรดาความเฉยเฉิ่มของจรูญเหล่านั้นมีสิ่งที่น่าสนใจและชวนให้คิดอยู่ประการหนึ่งนั่นคือ

“ “ในตอนนั้นภายหลังการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ ไม่มีใครอิจฉาใคร ต่างคนต่างอยู่ ไม่รุกราน นิยายหวานแหววประโลมใจไม่ถูกนักเขียนนักอ่านวรรณกรรมเพื่อชีวิตก่นด่าว่าไร้สาระอีกต่อไป และงานวรรณกรรมที่เรียกตัวเองว่าสายแข็งก็ผลิบาน ไม่ขืนค้าง มีเทคนิควิธีใหม่ๆ ร่วมสมัยไว้ใช้เล่า” นายจรูญถอนหายใจ ใหม่ไม่ได้แปลว่าดี และสักแต่แปลกก็ไม่ได้แปลว่าสร้างสรรค์” (หน้า 53)

ผมคิดว่านี่คือการจิกกัดแวดวงวรรณกรรมไทยได้อย่างน่าสนใจที่สุดประเด็นหนึ่ง ในหมู่นักเขียน และผู้เกี่ยวข้องกับแวดวงวรรณกรรมไทยทั้งหลายนั้นอาจจะยืนหรือนั่งเต๊ะท่าอยู่ที่ไหนสักแห่งนั่งดริปกาแฟและปรายสายตามองมาที่ความเปลี่ยนแปลงของวรรณกรรมไทยด้วยสายตาราวกับเข้าใจเสียเต็มประดาว่า

“นี่แหละ วรรณกรรมมันก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปแบบนี้แหละนะ ไอ้ท่าทีที่ชอบสั่งสอนคนอื่น หรือการออกท่าทางผ่านตัวหนังสือว่าวรรณกรรมมันควรจะนำผู้อ่านไปสู่ชีวิตที่ดีบ้าง หรือเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมือง เป็นแนวรบทางด้านวัฒนธรรมแบบพวกฝ่ายซ้าย มันก็ต้องถูกบดขยี้ลงไปแบบนี้นั่นแหละนะ พวกนี้แข็งทื่อ ไม่ยอมรับเทคนิคใหม่ๆ เล่าเรื่องแบบเก่าๆ แบบโบราณ มันไม่สับ มันไม่ว้าว มันไม่นำพา มันดูไม่คูลเอาเสียเลย เฮนโหล พี่คะ วรรณกรรมเพื่อชีวิต/วรรณกรรมฝ่ายซ้าย ตายห่าไปหมดแล้วค่า ตื่นค่ะตื่น woke นะคะๆๆ” (โควตทั้งหมดนี้เป็นของผมไม่มีในหนังสือ)

ผมยอมรับว่าผมสนใจประโยคที่ว่า “ใหม่ไม่ได้แปลว่าดี และสักแต่แปลกก็ไม่ได้แปลว่าสร้างสรรค์” ผมคิดว่านี่คือปัญหาที่นักเขียนไทยจำนวนมากจะต้องเผชิญ อยากหาวิธีการเล่าใหม่ๆ สังคมก็อยากสะท้อน เหตุบ้านการเมืองก็อยากวิพากษ์ ฝ่ายซ้ายก็ตายไปแล้ว เพื่อชีวิตก็เป็นได้แค่ผีตายซาก ทฤษฎีใหม่ๆ ทั้งในการเขียนการอ่านการวิจารณ์ก็เกิดขึ้นใหม่และหายใจรดต้นคออยู่ทุกวัน ความเปลี่ยนแปลงในแวดวงวรรณกรรมนั้นเกิดขึ้นอย่างบ้าคลั่งและรวดเร็ว ไหนจะนิยายออนไลน์ นิยายวาย นิยายแชต ที่ได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่นอีก หรือในอนาคต อาจมีวรรณกรรมที่เขียนด้วยปัญญาประดิษฐ์อีกด้วย  

ในความเห็นของผมนักเขียนไทย โดยเฉพาะนักเขียนสาย ‘วรรณกรรมซีเรียส’ หรือ ‘วรรณกรรมจริงจัง’ ทั้งหลายนั้นพยายามอย่างยิ่งที่จะหาแนวทางใหม่ๆ วิธีการใหม่ๆ เรื่องเล่าใหม่ๆ โครงเรื่องใหม่ๆ หาทุกอย่าง ‘ใหม่ๆ’ ทั้งหมดเป็นเรื่องที่ผมเข้าใจได้ มันเป็นสภาวะที่ดูเหมือนเป็นการดิ้นรนเพื่อออกจากกรอบคิดบางอย่างอยู่ซึ่งก็ไม่ชัดเจนว่าจะเป็นกรอบแบบไหน จะเพื่อชีวิต จะเพื่อสังคม จะเพื่อเงินทอง เพื่อรางวัล หรือเพื่อแสวงหาความพิสุทธิ์ของวรรณกรรมสร้างสวรรค์ ทั้งหมดนี้ที่ผมอยากจะกล่าวก็คือถ้าพวกเขาไม่พยายามจะหาอะไรใหม่ๆ เสียแล้วพวกเขาอาจตกอยู่นสภาวะแบบเดียวกับจรูญก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม ความ “ใหม่ไม่ได้แปลว่าดี และสักแต่แปลกก็ไม่ได้แปลว่าสร้างสรรค์” ที่เกิดขึ้นในเรื่องสั้นเรื่องนี้ อาจเป็นตัวนำทางที่นำไปสู่เหตุการณ์ในตอนท้ายเรื่องที่จรูญได้รับเกียรติให้เป็นคณะกรรมการพิจารณาต้นฉบับเรื่องสั้นในโครงการที่จัดขึ้นโดยรัฐ เขาจะต้องลอง ‘เสพ’ วรรณกรรมแบบใหม่ที่ส่งมาประกวดด้วยความรู้สึกหวาดหวั่น เพราะถ้าหากมันดีจริงๆ ก็เท่ากับว่าวรรณกรรมแบบใหม่ที่จรูญไม่เชื่อถือและตั้งคำถามนั้นจะเป็นรูปแบบและเนื้อหาของวรรณกรรมที่เข้ามาแทนที่วรรณกรรมแบบที่เขาศรัทธามาตลอดชีวิต นั่นเท่ากับว่าชีวิตทางวรรณกรรมที่เขาเชื่อมาโดยตลอดจะล่มสลายไปตรงหน้า โลกแบบเก่าถูกพิชิตอย่างราบคาบโดยโลกแบบใหม่ นั่นคือสิ่งที่จรูญไม่อาจยอมรับได้

จรูญยังคงมีความเชื่ออยู่ว่าวรรณกรรมแบบที่เขารู้จักนั้นจะยังคงอยู่ตลอดไป ในขณะเดียวกันเขาเองก็พยายามบอกกับตัวเองให้ลองอะไรใหม่ๆ ปล่อยให้ชีวิตได้พบกับสิ่งใหม่ๆ เขากล่าวว่า “ไหน สุดอัศจรรย์ล้ำเหลือสักแค่ไหน เขาท้าทาย และหวังว่าสุดท้ายมันจะเป็นแค่เศษกระดาษรสชาติแย่ อย่ากลัวอนาคต” (หน้า 60-61) จากนั้นเขาก็นำต้นฉบับเรื่องสั้นเรื่องแรกที่ชื่อว่า “อุจจาระ” เข้าปากไป

“นักเขียนใหญ่เอาอุจจาระเข้าปาก” (หน้า 61)

“ใหม่ไม่ได้แปลว่าดี และสักแต่แปลกก็ไม่ได้แปลว่าสร้างสรรค์” (หน้า 53)

“อย่ากลัวอนาคต” (หน้า 61)

“นักเขียนใหญ่เอาอุจจาระเข้าปาก” (หน้า 61)

ทำงานหนึ่งวันได้เงินเจ็ดปี = ทำงานเจ็ดปีได้เงินเท่ากับหนึ่งวัน = ?

เรื่องสั้น ‘บุษบา’ เล่าเรื่องของบุษบาหญิงสาวที่จบปรัชญาแต่ยังไม่สามารถหางานทำที่พอจะเลี้ยงตัวเองได้ ในวันหนึ่งเธอได้รับการชักชวนให้มาทำงานที่ ‘พิเศษ’ งานหนึ่ง นั่นคืองานแม่บ้านทำความสะอาดในห้องคลังเก็บวัตถุของเก่า เป็นงานที่ทำเพียงเจ็ดชั่วโมงต่อวัน แต่ได้ค่าจ้างเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำเจ็ดปี เธอสงสัยว่างานเช่นนี้ใครๆ ก็ทำได้ จ้างใครที่ไม่จำเป็นต้องจบปริญญาตรีด้านปรัชญาอย่างเธอก็ได้ แต่ความพิเศษของงานนี้ก็คือ  “อันที่จริง หนึ่งวัน…มันก็คือเจ็ดปี” (หน้า 22)

บุษบาจะต้องเข้าไปทำงานในห้องเก็บวัตถุโบราณที่ ‘เวลา’ ถูกยืดออกให้ยาวนานกว่าปกติ มีกล้องวงจรปิดอยู่ในทุกๆ มุมของห้องและสามารถแลเห็นกิจกรรมของเธอทั้งหมดในลักษณะที่เป็น ‘สโลโมชั่น’ การเคลื่อนไหว จังหวะการเต้นของหัวใจ ระบบไหลเวียนโลหิต เม็ดเลือด สารสื่อประสาท ทุกอย่างจะถูกยืดออก ทั้งหมดนี้เป็นเทคโนโลยีเพื่อคงสภาพวัตถุทั้งหลาย “ที่ผ่านการวิเคราะห์เก็บจำลองข้อมูลในรูปดิจิทัลไว้เรียบร้อยแล้ว และแทบไม่มีความจำเป็นใดแล้วที่ต้องนำออกมาใช้อีกต่อไป” (หน้า 23) (แม้ว่าวัตถุหลายๆ ชิ้นในห้องแห่งนี้จะไม่ใช่ของจริงก็ตามเพราะถูกสลับสับเปลี่ยนไปจำนวนมากแล้ว) หน้าที่ของบุษบาคือการเข้าไปทำความสะอาดตู้ที่เก็บของเหล่านั้นเป็นเวลาเจ็ดชั่วโมงในห้องแต่เท่ากับเจ็ดปีในโลกความเป็นจริง

ค่าจ้างของบุษบามีมูลค่าเป็นค่าแรงขั้นต่ำเจ็ดปี แม้ว่าเวลาในโลกการทำงานของบุษบาจะต่างจากคนทั่วไป แต่เมื่อเธอออกมาจากห้องทำงานเงินที่มีจำนวนเท่ากับค่าแรง ‘ขั้นต่ำ’ ถึงเจ็ดปีนั้นกลับกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีค่าอันใดเลย เพราะเวลาที่แตกต่างกันสองแบบทำให้เกิดความไม่สมดุลกันระหว่างโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาทั้งในด้านเทคโนโลยี ค่าครองชีพ กับ โลกที่ค่าแรงหยุดนิ่งเป็นเวลาเจ็ดปี ในตัวเรื่องเราจะเห็นได้ว่าทุกๆ ครั้ง (หรือทุกเจ็ดปี) ที่บุษบาออกมาจากห้องทำงาน เธอจะพบว่าทุกสิ่งเปลี่ยนไปมากมาย เธอค้นพบว่า

“ผู้คนแต่งตัวแปลกประหลาดจากเมื่อเช้า ทั้งในชีวิตจริงระหว่างเดินเท้าเข้าโรงแรม และในจอโทรทัศน์ยิ่งแปลกเข้าไปใหญ่ เทรนด์เสื้อผ้าเปลี่ยนสีได้กำลังมา โดยเฉพาะในหมู่ดารานักร้อง มีโฆษณาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ รถยนต์รุ่นใหม่ โทรศัพท์รุ่นใหม่ ยาสระผมสูตรใหม่ และการเขียนคิ้วสไตล์ใหม่” (หน้า 38) แม้ทุกอย่างจะดูใหม่จนบุษบาเกือบจะต่อตัวเองไม่ติดกลายเป็นคนหลุดสมัยไปแล้ว แต่สิ่งที่ทำให้เธอรู้สึกว่ายังคงเหมือนเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงก็คือ “ในโทรทัศน์ยังมีนักการเมืองแก่ๆ หน้าใหม่ให้สัมภาษณ์โง่ๆ เหมือนเก่า ผู้บัญชาการทหารคนใหม่ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ รัฐประหลาด รัฐประหารครั้งใหม่อีกแล้ว ครั้งที่เท่าไหร่นะ จำไม่ได้ ช่างน่าเศร้า นอกจากละครน้ำเน่า – เจ็ดปีที่ผ่านไป ก็ยังไม่ทำให้ประเทศนี้พัฒนา” (หน้า 38)

ตัวเรื่องอีกส่วนของเรื่อง ‘บุษบา’ ที่น่าสนใจก็คือชีวิตของเธอและครอบครัวของเธอ บุษบาปรารถนาที่จะมีชีวิตที่ดีแต่ครอบครัวของเธอไม่อาจให้ได้ด้วยความยากจน พ่อแม่ของเธอต้องตรากตรำทำงานหนักจนพ่อของเธอล้มป่วยเป็นโรคมะเร็งเนื่องจาก “พ่อใส่ใจการงานแต่ไม่เคยสนใจสุขภาพตัวเอง พ่อไม่สวมใส่หน้ากากอนามัยเพื่อกันใยละอองของเศษผ้าซึ่งฟุ้งกำจายจรอยู่เป็นตะกอนในอากาศ พ่อไม่สูบบุหรี่หรือยาเส้น แต่เพราะการทำงานในห้องผ้ามานับหมื่นพันชั่วโมง ส่งผลให้พ่อเป็นมะเร็งปอด” (หน้า 29) บุษบารู้ดีว่าการเรียนจะช่วยให้เธอไปพ้นจากความยากลำบากได้ เธอเคยขอพ่อแม่ไปเรียนภาษาต่างประเทศที่ต่างประเทศกับเพื่อน แต่พ่อแม่ก็ไม่มีกำลังพอที่จะส่งไป

บุษบาสงสัยว่าเหตุใดพ่อและแม่ “ไม่ไปหางานการที่ดีกว่าที่เป็นอยู่นี้ เหอะ ทำมาทั้งปีทั้งชาติแต่ก็ไม่อาจร่ำรวย งานในบริษัทต่างชาติคงจะได้เงินเดือนสวยกว่า ทั้งหมดเป็นเรื่องที่อดสงสัยไม่ได้” (หน้า 29) ความสงสัยของบุษบามาคลี่คลายเอาในตอนท้าย คือ เมื่อเธอเลิกงานครั้งสุดท้ายซึ่งเป็นปีที่ 35 ในเวลาของโลกจริง “เงินเดือนของแรงงานขั้นต่ำที่ทำมาตลอดหลายสิบปีใช้ซื้อน้ำอัดลมกินได้แค่สี่ขวด…” (หน้า 44) งานที่ทำมาเกือบทั้งชีวิตไม่ได้ทำให้ร่ำรวยหรือมีชีวิตที่ดีขึ้นแม้แต่น้อย แต่บุษบาตัดสินใจทำด้วยความเชื่อที่ว่าชีวิตจะดีขึ้น เพราะเธอคิดว่าใช้แรงทำงานอยู่เพียงเจ็ดชั่วโมงเท่านั้นแต่อันที่จริงแล้วในโลกความเป็นจริงเวลาที่หมุนไปข้างหน้าตลอดเวลาได้พรากเอาอนาคตที่ดีของเธอไปด้วย นี่ไม่ใช่ความผิดของเวลา แต่มันชวนให้เราตั้งคำถามว่า สังคมแบบไหนที่ทำให้คนรู้สึกว่ามีค่า/มูลค่าในชีวิตน้อยลงๆ

นี่อาจเป็นสิ่งที่ทำให้บุษบาได้เข้าใจด้วยตนเองอย่างถ่องแท้แล้วก็ได้ว่าเหตุใดพ่อกับแม่เธอถึงไม่หางานการที่ดีกว่านี้ เพราะต่อให้งานที่ดีกว่านี้ ชีวิตก็ไม่อาจจะดีขึ้นเลยก็ได้

ดังนั้นคำถามที่สำคัญก็คือ “สังคมแบบไหนกันที่ลดค่าของผู้คนลงไปทุกวันๆ”

ส่งท้าย

แม้ ‘#หลงยุคหลุดสมัย’ ดูเหมือนจะมีทีท่าวิพากษ์วิจารณ์คนที่หลงยุคและหลุดสมัย ไม่ทันโลก ไม่ทันความเปลี่ยนแปลง แต่ผมกลับคิดว่า ประเด็นที่สำคัญของเรื่องสั้นทั้งสามเรื่องนี้ชี้ชวนให้เราตั้งคำถามและพินิจพิจารณา ‘ความล้ำยุคล้ำสมัย’ อย่างละเอียดลออ ดังที่นายจรูญบอกว่า “ใหม่ไม่ได้แปลว่าดี และสักแต่แปลกก็ไม่ได้แปลว่าสร้างสรรค์” ผมคิดว่ามันแสดงให้เห็นถึงความกังวลต่อโลกสมัยใหม่อยู่พอสมควร เราจะก้าวไปข้างหน้าอย่างไร สมัยใหม่ย่อมดีกว่าสมัยเก่าที่พ้นสมัยไปแล้วแน่ๆ แต่มันจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ท้ายที่สุดแล้วการกลืน ‘อุจจาระ’ ลงปากไปเหมือนนายจรูญนั้นมันคือการต้อนรับต่อสิ่งใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในสังคมใช่หรือไม่ เราจะอยู่ภายใต้การปกครองของอัลกอริทึ่มและปัญญาประดิษฐ์ได้หรือไม่ เราจะยังคงทำงานเจ็ดปีแต่เงินค่าจ้างเท่าทำงานเจ็ดชั่วโมงได้หรือไม่ สำหรับผมแล้วเรื่องเหล่านี้มันสะท้อนความกังวลของผู้เขียนที่มี่ต่ออนาคตได้อย่างน่าสนใจที่สุดในวรรณกรรมไทยร่วมสมัยที่เกลื่อนกลาดและเอิกเกริกอยู่ในปัจจุบัน

ประเด็นของเรื่องสั้นเล่มนี้ดูเหมือนจะไม่ใช่ประเด็นใหม่ โดยเฉพาะเรื่องความกังวลที่มีต่อโลกอนาคต แต่ผมคิดว่าด้วยวิธีการนำเสนอ การเสียดสีที่ลุ่มลึก มีอารมณ์ขันอย่างร้ายกาจ มันช่วยทำให้เราได้ทบทวนและฉุกคิดต่อสภาวะที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต จริงอยู่ว่าเราไม่ควรกลัวอนาคต

ลองกลืนอุจจาระสักหน่อยจะเป็นไรไป…


[1] ขอความกรุณากองบรรณาธิการไม่ตัดหรือแก้คำว่า “กลายๆ” ครับ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save