fbpx
Our Floating Dreams : ตลาดน้ำ ดิสนีย์ และความเป็นไทยในสมัยสงครามเย็น

Our Floating Dreams : ตลาดน้ำ ดิสนีย์ และความเป็นไทยในสมัยสงครามเย็น

ธนาวิ โชติประดิษฐ เรื่อง

 

“ชิพกะเดลนี่สองพี่น้อง

ขายของในคลอง

ในกองเรามีแต่ถั่วดีๆ

เพิ่งเด็ดสดๆ มากินให้หมด”

 

เมื่อไม่นานมานี้ ดิสนีย์ได้เผยแพร่การ์ตูนสั้น Our Floating Dreams ความยาว 3.46 นาที ว่าด้วยเรื่องตลาดน้ำในเมืองไทย และการถือกำเนิดของข้าวผัดสับปะรด เมนูที่เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ  มิคกี้ เมาส์ เล่นบทพ่อค้าขายสับปะรด มินนี่ เม้าส์เป็นแม่ค้าขายข้าวผัด ส่วนชิพกับเดลก็พายเรือร้องเพลงขายถั่ว (วอลนัท) จนติดหูชาวบ้านชาวเมืองไปทั่ว

ทำไมจึงเป็นตลาดน้ำ?

Our Floating Dreams ไม่ใช่ผลงานเกี่ยวกับตลาดน้ำในเมืองไทยชิ้นแรกของดิสนีย์ เมื่อปี 2497 ภาพยนตร์สารคดีสั้นเรื่อง Siam ความยาว 33.25 นาที ก็มีเนื้อหาเกี่ยวกับวิถีชีวิตริมน้ำและการพายเรือขายของในคลองเช่นกัน Siam ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสารคดีชุด People and Places เปิดเรื่องด้วยภาพลูกโลกที่ค่อยๆ เคลื่อนเข้ามาหาผู้ชมจนมองเห็นแผนที่ประเทศไทยรูปขวานทอง เสียงบรรยายเล่าถึงบรรยากาศอันเต็มไปด้วยน้ำของฤดูมรสุมและเรื่องราวที่สารคดีจะเล่าต่อมา “For this is the story of a people who from childhood have learned to accept the flood as part of their daily lives.” ดังขึ้นพร้อมภาพเด็กน้อยพายเรืออยู่กลางน้ำ ตลอดระยะเวลาครึ่งชั่วโมง สารคดีเล่าเรื่อง ‘ผู้คน’ และ ‘สถานที่’ ของดินแดนอันแสนจะห่างไกลจากอเมริกาแห่งนี้ผ่านเรื่องราวของครอบครัวเล็กๆ ที่ประกอบไปด้วยพ่อ แม่ และลูกชายที่อาศัยอยู่ในเรือที่ล่องผ่านแม่น้ำลำคลอง สอดแทรกด้วยภาพศิลปวัฒนธรรม ประเพณี นาฏศิลป์ การกินอยู่ งานหัตถกรรม และมวยไทย Siam ยังปิดท้ายด้วยฟุตเทจเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์หลายเหตุการณ์ เช่น เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ลอยลำในแม่น้ำเจ้าพระยา พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ รัชกาลที่ 8 และพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 9 เมื่อปี 2493

65 ปีผ่านไป ภาพที่นำเสนอ ‘ความเป็นไทย’ ในสายตาของดิสนีย์ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเท่าไรนัก เราเห็นความทับซ้อนกันหลายประการระหว่าง Siam กับ Our Floating Dreams เพียงแต่เปลี่ยนจากภาพยนตร์สารคดีเป็นการ์ตูน เปลี่ยนจากความสมจริงของสารคดีประเภท ‘edutainment’ (education + entertainment คำที่ดิสนีย์สร้างขึ้นในปี 2491 เพื่อใช้อธิบายผลงานที่เป็นทั้งการให้ความรู้และความบันเทิง ท่ามกลางความสมจริงแบบสารคดีใน Siam ก็ยังมีเรือลำหนึ่งที่มีแตรรูปโดนัลด์ ดั๊ก) เป็นความเกินจริงของแฟนตาซีแบบการ์ตูน ทั้งสองเรื่องมีแกนหลักอยู่ที่การนำเสนอวิถีชีวิตอันผูกพันกับสายน้ำของชาวไทย

ทั้งนี้ นอกจาก Siam ของดิสนีย์แล้ว ภาพยนตร์สัญชาติอเมริกันอีกเรื่องหนึ่งคือ Around the World in 80 Days (2499) ที่มีไมเคิล ทอดด์ (Michael Todd) พระสหายของรัชกาลที่ 9 เป็นผู้อำนวยการสร้าง ก็มีฉากเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ลอยอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเวลาราว 12 วินาที (ดูนาทีที่ 2:16 https://www.youtube.com/watch?v=bhibgBDXtd8)

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอเมริกาเป็นไปอย่างแน่นแฟ้นในฐานะพันธมิตรผู้ร่วมกันต่อต้านการแผ่ขยายของคอมมิวนิสต์ในอินโดจีน ในยุคสงครามเย็น การเมืองเชิงวัฒนธรรมเป็นปริมณฑลหนึ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการทหารและเศรษฐกิจ ในขณะที่สำนักข่าวสารอเมริกันหรือยูซิส (United States Information Services – USIS) ทำการเผยแพร่อุดมการณ์ต้านคอมมิวนิสต์และ วัฒนธรรมอเมริกันในไทยผ่านสื่อหลากหลายชนิด ทางการไทยเองก็มีหน่วยงานต่างๆ ที่ดำเนินการโดยสอดคล้องกับนโยบายนี้ด้วยเช่นกัน หนึ่งในนั้นก็คือ องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (อ.ส.ท.) ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2503 ในสมัยที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี อ.ส.ท. มีกลุ่มเป้าหมายสำคัญกลุ่มหนึ่งคือนักท่องเที่ยวชาวอเมริกันที่เดินทางมาที่นี่ในฐานะดินแดนแปลกใหม่น่าสนใจ มีธรรมชาติ วิถีชีวิต และศิลปวัฒนธรรมที่ “แตกต่างไปจากบ้านของตัวเอง”

รัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ไม่เพียงโปรโมทการท่องเที่ยวทางน้ำอย่างบ้านๆ แบบตลาดน้ำและการล่องเรือชมวิถีชีวิตริมคลอง หรือรื้อฟื้นประเพณีทางน้ำชั้นสูงอย่างขบวนพยุหยาตราทางชลมารค โดยควบรวมบทบาทการเป็นมหรสพทางวัฒนธรรมสำหรับสายตาของนักท่องเที่ยวผ่าน อ.ส.ท. เท่านั้น หากยังมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนศิลปินไทยให้สร้างผลงานโปรโมทการท่องเที่ยวอีกด้วย

ในปี 2505 อ.ส.ท. ร่วมกับบริษัท เชลล์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดประกวดจิตรกรรมโดยมีวัตถุประสงค์สองประการ คือ ส่งเสริมภาพความสวยงามของประเทศไทยสู่สายตาของนักท่องเที่ยวผ่านงานศิลปะ และสนับสนุนการทำงานของศิลปินรุ่นใหม่ ในการประกวดครั้งนั้น รางวัลที่ 1 ประเภทสีน้ำ ตกเป็นของสวัสดิ์ ตันติสุข กับภาพ ตลาดน้ำ

 

ภาพจาก สิทธิธรรม โรหิตะสุข

 

จอมพลสฤษดิ์กล่าวถึงการประกวดครั้งนั้นอย่างชื่นชมว่า “ศิลปินรุ่นใหม่ได้ช่วยพัฒนาและแสดงออกถึงมรดกของชาติและวัฒนธรรมของเรา มากไปกว่านั้น ข้าพเจ้าพอใจเป็นอย่างมากที่ได้เรียนรู้ถึงความทุ่มเทในทางปฏิบัติ และการเห็นคุณค่าซึ่งถูกแสดงออกมาในการประกวดนี้ โดยคนรุ่นใหม่โน้มน้าวให้ข้าพเจ้าเชื่อว่า เยาวชนของชาติได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ข้าพเจ้ามีความมั่นใจถึงการปรับปรุงวัฒนธรรมแห่งชาติของเราให้ดียิ่งขึ้นไป” ความสำเร็จของสวัสดิ์ส่งผลให้ภาพแนวตลาดน้ำแพร่หลายในตลาดศิลปะในเวลาต่อมา เป็นงานศิลปะที่ขายดิบขายดีในฐานะของที่ระลึก ที่ทั้งทหารอเมริกันที่เข้ามาพำนักอยู่ในกรุงเทพฯ และตามฐานทัพในจังหวัดต่างๆ รวมถึงนักท่องเที่ยวนิยมซื้อหากลับบ้าน

จากที่ได้เกริ่นมา คงทำให้พอมองเห็นได้ว่าการ “ขายของในคลอง” ในเพลงฮิตติดหูจาก Our Floating Dreams ที่เป็นประเด็นตั้งต้นของเรานั้นมีรากฐานมาจากภาพลักษณ์ความเป็นไทยที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในยุคสงครามเย็นอย่างชัดเจน สิ่งแรกที่ปรากฏบนจอก่อนจะเข้าสู่เนื้อเรื่อง คือภาพกรอบสีทองลวดลายมีเค้าโครงมาจากลายไทย ด้านบนเป็นช้างคู่ขนาบธงชาติไทยในกรอบเล็กทรงกลม ด้านในเป็นฉากสีฟ้าพร้อมตัวหนังสือบอกชื่อเรื่อง Mickey Mouse in Our Floating Dreams 

ฉากที่ว่าค้างอยู่บนหน้าจอเพียงครู่เดียวก่อนจะเคลื่อนถอยไปอย่างรวดเร็ว จนทำให้กรอบทองนั้นลอยขึ้นไปกลายเป็นซุ้มประตูทางเข้าตลาดน้ำ ลึกเข้าไปในพื้นที่ด้านหลัง เป็นภาพวัดอยู่ที่ตำแหน่งกึ่งกลาง รายล้อมด้วยบ้านเรือนทรงหลังคาจั่วน้อยใหญ่ จากนั้นจึงตามด้วยภาพพ่อค้าแม่ค้าในร่างสิงสาราสัตว์กำลังพายเรือขายของให้กับนักท่องเที่ยว ประโยคแรกที่ออกจากปากตัวการ์ตูนช้างขายไอศกรีมกะทิคือ “ขอบคุณค่ะ” เมื่อเธอยกมือไหว้ขอบคุณนักท่องเที่ยวที่มาอุดหนุน

 

 

การเคลื่อนจากภาพหนึ่งไปสู่อีกภาพหนึ่งโดยแปรสภาพจากภาพเดิมไปเป็นภาพอื่น หรือการผสมผสานกันระหว่างสองรูปทรงจนกลายเป็นรูปทรงของสิ่งใหม่ เป็นลักษณะที่เห็นได้ชัดในการ์ตูนเรื่องนี้ ในตอนแรก มินนี่พายเรือแจวสีแดงขายข้าวผัด (อันที่จริง ผู้เขียนฟังไม่ค่อยออกว่ามินนี่พูดว่า “ข้าวผัดค่ะ” หรือ “ข้าวผัดไข่” กันแน่ แต่น่าจะเป็น “ข้าวผัดค่ะ” มากกว่า “ข้าวผัดไข่” เพราะมันเป็น “ข้าวผัดกุ้ง”) ส่วนมิกกี้ขับเรือยนต์สีน้ำเงินขายสับปะรด

 

 

ตอนที่ทั้งสองกำลังทะเลาะกันเพื่อแย่งที่จอดเรือหมายเลข 999 อยู่นั้น ชิพกับเดลที่พายเรือเข้าฉากมาอย่างชิลๆ ก็มาจอดแทนจนขายถั่วได้เงินไปเป็นกอบเป็นกำ เมื่อความโกรธทวีคูณ ตลาดน้ำที่สุขสงบก็กลายเป็นดั่งเวทีต่อสู้ระหว่างนักมวยมุมแดง-มุมน้ำเงิน หลังจากเรือทั้งสองลำชนกันจนแตกกระจาย มิกกี้และมินนี่ต่างตกน้ำเปียกปอน ชิ้นส่วนของข้าวผัดกับสับปะรดลอยผสมกันกลางอากาศก่อนจะร่วงหล่นลงบนผิวน้ำ แต่ในขณะที่พระเอกนางเอกกำลังลอยคอเกาะขอนไม้ทำหน้าจ๋อย พลางพูดว่า “ไม่เป็นไร” สิ่งมหัศจรรย์ก็บังเกิด มีเรือสับปะรดลอยมา ข้างในเรือบรรจุข้าวผัด เศษอาหารที่น่าจะเป็นขยะกลับกลายเป็นอาหารจานใหม่ที่เกิดจากการรวมร่างของสิ่งที่เคยเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ข้าวผัดสับปะรด!

 

 

ฉากต่อมา ข้าวผัดสับปะรดกลายเป็นเรือข้าวผัดสับปะรดที่มีรูปร่างชวนให้คิดถึงเรือสุพรรณหงส์ อาจตีความอย่างเพ้อเจ้อประสานักประวัติศาสตร์ศิลป์จิตไม่ว่างได้ว่า นี่คือผลลัพธ์ของการสมานฉันท์ปรองดองในสไตล์แบบไทยๆ อย่างแท้จริง ความขัดแย้งได้รับการคลี่คลายอย่างง่ายๆ เมื่อเราพูดว่า “ไม่เป็นไร” เมื่อนั้นสิ่งดีงามจึงถือกำเนิด ข้าวผัดสับปะรดที่กลายร่างเป็นเรือสุพรรณหงส์นี้แท้จริงแล้วเป็นนิมิตของคู่พระนาง ในที่สุดดวงตาก็เห็นธรรม บ้านเมืองจะเดินหน้าก็ด้วยความสามัคคี ทั้งสองจึงช่วยกันต่อเรือลำใหม่เพื่อขายเมนูข้าวผัดสับปะรด แล้วเรือลำใหม่นี้จะสีอะไรถ้าไม่ใช่สีแดง ขาว น้ำเงิน สีของธงชาติไทย สัญลักษณ์ของศูนย์รวมใจทั้งสาม ชาติ ศาสนา และสถาบันกษัตริย์

 

 

อย่างไรก็ดี เพื่อที่จะดีเฟนด์ว่าการเชื่อมโยงอุดมการณ์ต้านคอมมิวนิสต์ที่ปรากฏในวัฒนธรรมกระแสนิยมอเมริกันยุคสงครามเย็นนี้ไม่ใช่การละเมอเพ้อพก จินตนาการทึกทักไปเอง แม้จะจิตไม่ค่อยว่าง แต่ปฏิบัติการขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่งที่นักประวัติศาสตร์ศิลปะไม่อาจละทิ้ง ก็คือการสืบค้นข้อมูลและหลักฐาน การ ‘ตีความ’ จะฟังขึ้นหรือไม่จึงขึ้นอยู่กับข้อมูลที่รายล้อมเป็นสำคัญ สิ่งเหล่านี้ไม่อาจได้มาด้วยการมโน การเปิดแฟ้มของดิสนีย์ของเอฟบีไอ (Federal Bureau of Information – FBI) เมื่อปี 2536 ภายใต้หลัก Freedom of Information Act ได้เผยให้เห็นว่าวอลท์ ดิสนีย์ มีความสัมพันธ์กับเอฟบีไอมาเป็นระยะเวลายาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเจ เอดการ์ ฮูเวอร์ (J. Edgar Hoover) ผู้อำนวยการคนแรกของเอฟบีไอ

มีหลักฐานว่าฮูเวอร์สามารถเข้าถึงบทหนังและรายการโทรทัศน์ของดิสนีย์เพื่อเปลี่ยนแปลงเนื้อหาเล็กๆ น้อยๆ ได้ นอกจากนี้ ดิสนีย์ยังเป็นสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้ง Motion Picture of Alliance for the Preservation of American Ideals ซึ่งคอยสำรวจตรวจสอบร่องรอยที่แสดงความเป็นคอมมิวนิสต์ของผู้คนในฮอลลีวู้ด เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็น Special Agent in Charge Contact (S.A.C. Contact) ซึ่งก็คือสายที่คอยรายงานข้อมูลต่างๆ ให้กับเอฟบีไอ เวทมนตร์ของดิสนีย์จึงไม่ใช่แฟนตาซีสนุกสนานอันปราศจากอุดมการณ์บางอย่างเคลือบแฝง

สำหรับความสัมพันธ์ระว่างดิสนีย์กับประเทศไทย สมาชิกในราชวงศ์จักรีก็ทรงมีความคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของดิสนีย์ โดยเฉพาะมิกกี้ เมาส์ เป็นอย่างดี ในพระนิพนธ์ เวลาเป็นของมีค่า ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มีตอนหนึ่งเล่าว่า “เมื่อลูกชายอายุ 6-8 ขวบ แม่ [หมายถึงสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี]ได้ซื้อตุ๊กตา Mickey Mouse เป็นยางให้คนละตัว เวลานั้นเป็นของใหม่ ทั้งสองคนชอบมาก จนเมื่อไปถ่ายรูปที่ร้านก็เอาไปถ่ายด้วย เมื่อแม่เห็นแบบปักเป็นรูป Mickey Mouse ก็รีบซื้อมาปักให้ลูกชายคนเล็ก” และก็เป็นที่ทราบกันดีว่า เมื่อครั้งในหลวงรัชกาลที่ 9 สมเด็จพระบรมราชินีนาถ (สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง) พร้อมทั้งพระราชโอรสและพระราชธิดา เสด็จเยือนอเมริกาอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2503 ได้ทรงเสด็จไปที่ดิสนีย์แลนด์โดยมีวอลท์ ดิสนีย์ รับเสด็จด้วย

ในครั้งนั้น ดิสนีย์ได้ทูลถวายธงซึ่งมีรูปมิกกี้แด่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ (พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว) และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี (ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี) ถึงตรงนี้ก็คงไม่เป็นที่น่าประหลาดใจว่าเพราะเหตุใดเรือของมิกกี้ใน Our Floating Dreams จึงเป็น ‘สีน้ำเงิน’

อาจเป็นหรือไม่เป็นความบังเอิญ แต่แม้กระทั่งความบังเอิญก็ยังเป็นเรื่องชวนให้ครุ่นคิดได้เสมอ

 


 

อ่านเพิ่มเติม

กัลยานิวัฒนา, สมเด็จเจ้าฟ้า. เวลาเป็นของมีค่า. กรุงเทพ: กระทรวงศึกษาธิการ, 2530.

สิทธิธรรม โรหิตะสุข. ศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทย: มองผ่านความเคลื่อนไหวของหอศิลป์เอกชนและการศื้อขายงานศิลปะในกรุงเทพมหานคร ทศวรรษ 2500 ถึงทศวรรษ 2530. กรุงเทพ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2560.

Phillips, Matthew. Thailand in the Cold War. London and New York: Routledge, 2015.

Van Riper, Bowdoin A. ed. Learning from Mickey, Donald and Walt: Essays on Disney’s Edutainment Films. North Carolina: McFarland, 2011.

Watts, Steven, “Walt Disney: Art and Politics in the American Century.” The Journal of American History 82, no. 1 (June 1995): 84-110. DOI: 10.2307/2081916.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save