fbpx

เมื่อการดูหนัง-ฟังเพลงไม่ใช่แค่รสนิยมส่วนตัว: การผงาดขึ้นของทุนนิยมดิจิทัล และลัทธิเสรีนิยมใหม่

ทุกวันนี้ผู้บริโภคสื่อส่วนใหญ่ย่อมคุ้นเคยกับการดูหนัง ฟังเพลง และรับรู้ข้อมูลข่าวสารผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นอย่างดี หากใครยังบอกว่านี่เป็นเรื่องใหม่ ก็คง ‘เชย’ อยู่ไม่น้อย แต่หากมองย้อนกลับไป การให้บริการเสียงและภาพผ่านอินเทอร์เน็ตหรือที่เรียกเป็นภาษาวิชาการนิเทศศาสตร์ว่า Over-the-Top (OTT) เพิ่งเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงระยะเวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมาเท่านั้นเอง

โดยทั่วไป การวิเคราะห์ OTT ในฐานะเทคโนโลยีแพลตฟอร์ม มักให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์เทคโนโลยีและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ผลิตและผู้บริโภคเป็นหลัก เช่น การศึกษากฎหมายและระบบกำกับดูแล การวิเคราะห์เครื่องจักรกลและความสามารถของเครื่องจักรกล เป็นต้น ทว่ายังมีงานศึกษาอีกแนวหนึ่งที่สนใจเทคโนโลยีผ่านมุมมองของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสังคม นั่นคืองานศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองที่สนใจวิเคราะห์พัฒนาการและพลังของบริษัทเทคโนโลยี (และบริการ OTT) ผ่านความสัมพันธ์ระหว่างแพลตฟอร์มเหล่านี้กับตลาด (market) และรัฐ (state) ซึ่งจะทำให้เห็นแรงจูงใจอื่นที่พ้นไปจากเหตุผลด้านเทคโนโลยีของบริษัทเทคโนโลยีและการให้บริการ OTT เพียงอย่างเดียว

พูดให้ถึงที่สุด บริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ไม่ได้ทำกำไรอย่างเดียว ทว่าอาจยังมีเป้าหมายทางการเมืองและอุดมการณ์แห่งรัฐอีกด้วย

บริการ OTT กับการถดถอยของรัฐ

การให้บริการภาพและเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต (จากนี้ไปจะเรียกว่า ‘บริการ OTT’) เป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมโลก (Global Capitalism) ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงต้นทศวรรษ 1990s ซึ่งเป็นช่วงตั้งแต่ยุคโลกาภิวัตน์เฟื่องฟูหลังจากยุคสงครามเย็น (post-Cold War) ด้วยแรงขับเคลื่อนส่วนหนึ่งมาจากลัทธิเสรีนิยมใหม่

ในภาพใหญ่ การถดถอยของรัฐในช่วงทศวรรษ 1990s มีส่วนผลักดันให้กลุ่มทุนระดับโลกเติบโตและเข้มแข็งอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะกลุ่มทุนเทคโนโลยี (technology capital) Robert Cox นักเศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศผู้เลื่องชื่อเสนอว่า ทุนข้ามชาติ (multinational capital) ได้ทำลายบทบาทของรัฐ-ชาติ (Nation-State) ที่แสดงตนทางการเมืองในรูปแบบทุนชาติ (national capital)

ในเวลาเดียวกัน นักเศรษฐศาสตร์และนักรัฐศาสตร์จำนวนมากก็นำเสนอสิ่งที่ Susan Strange เสนอ นั่นคือเรื่อง ‘รัฐล่าถอย’ (the retreat of the state) ซึ่งเป็นภาวะที่รัฐเผชิญหน้าอำนาจที่เติบโตขึ้นของพลังตลาด โดย Susan เสนอว่า การที่เทคโนโลยีและการเงินซึ่งมีปริมาณมากและไหลเวียนอย่างเสรีทั่วโลก ทำให้รัฐสูญเสียอำนาจของตนไปอย่างมาก

Susan ขยายในประเด็นนี้ต่อว่า อำนาจบางอย่างเคลื่อนออกจากรัฐเล็กๆ และยากจน ไปสู่สิ่งที่มีอำนาจใหญ่ขึ้น บางอำนาจย้ายไปสู่สถาบันที่ควบคุมตลาด เช่น ธนาคารโลก กลุ่มผูกขาดการขนส่งทางเรือ สถาบันของเทคโนแครตทางเศรษฐกิจ อย่างองค์การการค้าโลก และองค์กรอาชญากรรมอย่างพวกมาเฟีย ขณะที่อำนาจของรัฐค่อยๆ เลือนหายไป (Susan Strange, 1996)

ผู้เขียนเสนอว่า ‘อำนาจบางอย่าง’ ที่ว่า เคลื่อนไปอยู่ที่บริการ OTT ด้วย

เสรีนิยมใหม่และทุนนิยมดิจิทัล

ลัทธิเสรีนิยมใหม่ไม่ใช่แนวคิดใหม่แต่มีรากฐานมาจากลัทธิเสรีนิยม (Liberalism) ในยุคศตวรรษที่ 17 แต่ต่อมาได้ถูกนำมาใช้อย่างมากในช่วงทศวรรษ 1980s เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงเวลานั้น โดยผู้ที่นำลัทธิเสรีนิยมใหม่มาดัดแปลงกับนโยบายเศรษฐกิจของตนคือสองผู้นำโลกในตอนนั้นอย่าง Margaret Thatcher นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร และ Ronald Reagan ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

แนวคิดหลักของเสรีนิยมใหม่คือการสนับสนุนตลาดเสรี (free market) การลดบทบาทของรัฐ (deregulation) การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (privatization) การรัดเข็มขัดทางการเงิน (fiscal austerity) ถึงกระนั้นก็ตาม ความเป็นจริงแล้ว ความเป็นเสรีจริงๆ ของลัทธินี้คือ ‘ทุน’ (capital) ซึ่งต่อมาก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมสูงและก่อให้เกิดการผูกขาด (monopoly) ในระบบเศรษฐกิจ ดังนั้นหากใช้ลัทธิเสรีนิยมใหม่อธิบายบทบาทของบริการ OTT ทั้งในแง่ช่วงเวลาของพัฒนาการ แนวนโยบายของรัฐบาล และกระแสโลก เราอาจมองมองบริการ OTT ในฐานะ ‘ทุนนิยมดิจิทัล’ (Digital Capitalism) ได้

แต่ก่อนจะไปต่อ เราต้องเข้าใจก่อนว่าทุนนิยมดิจิทัลคืออะไร?

Dan Schiller ศาสตราจารย์ด้าน Communication แห่ง University of California, San Diego สหรัฐอเมริกา ทำการศึกษาถึงทุนนิยมดิจิทัล และได้มองเห็นว่าพัฒนาการของมันสัมพันธ์กับลัทธิเสรีนิยมใหม่ โดยเป็นความสัมพันธ์ของโครงสร้างและระบบลัทธิเศรษฐกิจ-การเมืองที่ก่อตัวและพัฒนาในระบบทุนนิยมในสหรัฐอเมริกามายาวนาน ก่อนจะครอบคลุมไปถึงยุโรปและที่อื่นๆ ในเวลาต่อมา

ในหนังสือ Digital Capitalism: Networking the Global Market System ของ Schiller[1] เขาอธิบายว่าระบบทุนนิยมดิจิทัลไม่ใช่ ชนชั้นนายทุน ไม่ได้หมายถึงบรรษัทขนาดใหญ่ที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีดิจิทัลที่ร่ำรวยและทรงอิทธิพลรายใดรายหนึ่งเป็นการเฉพาะ แต่เป็น ‘ระบบเครือข่ายแนวเสรีนิยมใหม่’ หรือที่เรียกว่า ‘the Neoliberal Networking’ ซึ่งกำเนิดและผลักดันระบบอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลกมายาวนานร่วมศตวรรษ โดยมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ร่วม 40 กว่าปีที่ผ่านมา (Dan Schiller, 1999 บทที่ 1) ระบบเครือข่ายที่ว่านั้นหมายรวมตั้งแต่ความสัมพันธ์ระหว่างระบบของเทคโนโลยีทั้งคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต โทรคมนาคม บรรษัทเอกชนด้านเทคโนโลยี มลรัฐ รัฐต่างๆ ในสหภาพยุโรปและทั่วโลก ไปจนถึงองค์กรเหนือรัฐ เช่น องค์กรการค้าโลก ตลาดหุ้น Wall Street และ Silicon Valley

ยิ่งไปกว่านั้น การที่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมข้ามชาติสามารถก้าวขึ้นสู่ระบบโลกภายใต้ระบบเสรีนิยมใหม่ ได้ทำให้เกิดการพัฒนาสู่การเป็นทุนนิยมดิจิทัล ดังปรากฏในบทที่ 2 ของหนังสือของ Dan Schiller[2]

Schiller มองเห็นว่าจุดเริ่มต้นสำคัญของทุนนิยมดิจิทัลมาจากพัฒนาการของอินเทอร์เน็ตผ่าน computerization ที่ทำให้อินเทอร์เน็ตเป็นเทคโนโลยีใหม่ ก่อนจะกลายเป็นกลไก (mechanism) ที่ตายตัว (rigidity) มีอำนาจชอบธรรม (authority) และมีอำนาจครอบงำ (domination) จนทำให้ทุนนิยมดิจิทัลสามารถเข้ามาแทนที่ระบบต่างๆ ที่มีมาก่อนหน้านั้นได้

Schiller ชูให้เห็นถึงตัวอย่างของอิทธิพลของทุนนิยมดิจิทัลที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบต่างๆ โดยยกตัวอย่างถึงระบบการศึกษาของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดช่วงเวลาเกือบศตวรรษที่ผ่านมาด้วยผลพวงของทุนนิยมดิจิทัล

เขาชี้ว่าระบบการศึกษาของสหรัฐอเมริกา ทั้งโรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัย ล้วนเติบโตจากการลงทุนโดย in-house factory ของบรรษัทชั้นนำหลายแห่ง มากกว่าที่จะมาจากการลงทุนของรัฐหรือมลรัฐต่างๆ เนื่องจากบรรษัทเอกชนแต่ละเจ้าพยายามแสวงหาคิดค้นนวัตกรรมและลงทุนในผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นบริษัท General Electric, Good Year, IBM, AT&T, Arthur D. Little, Bell Atlantic, Dell, Anheuser-Busch, Disney, Ford, GM, Intel, MasterCard, McDonnell Douglas, Oracle, SBC, Sears Roebuck, Sprint, Sun Microsystem หรือ Xerox เป็นต้น ( Dan Schiller, 1999 บทที่ 4)[3]) บริษัทเหล่านี้จึงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยเริ่มจากส่งเสริมการเรียนด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน (basic science) ในมหาวิทยาลัย ต่อจากนั้นก็จะให้ทุนสนับสนุนการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เคมี วิศวกรรม วิศวกรรมเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีด้านข้อมูล และเทคโนโลยีการสื่อสารมากขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งมาถึงยุคที่ระบบการศึกษาแบบออนไลน์กลายเป็นรูปแบบการศึกษาหลักของสหรัฐอเมริกา Schiller ก็พบว่าพัฒนาการของรูปแบบการศึกษาดังกล่าวมความเชื่อมโยงกับการเติบโตของบรรษัทด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีการสื่อสาร ฯลฯ Schiller จึงสรุปได้ว่าระบบการศึกษาของสหรัฐอเมริกาก็ตกอยู่ภายใต้ทุนนิยมดิจิทัลด้วยเช่นกัน                                    

สหรัฐอเมริกาในฐานะศูนย์กลางของระบบทุนนิยมดิจิทัล

พัฒนาการของทุนนิยมดิจิทัลเกิดจากความพยายามอย่างมหาศาลของบรรษัทธุรกิจข้ามชาติ (transnational business firms) และบรรดาเทคโนโลยีต่างๆ ที่เป็นอิสระจากรัฐ ซึ่งช่วยกันผลักดันนโยบายโทรคมนาคมให้เป็นไปตามแนวทางลัทธิเสรีนิยมใหม่ โดยจุดเริ่มต้นที่ประมาณ 40 ปีที่แล้ว ในตลาดขนาดใหญ่ของสหรัฐอเมริกา

การเริ่มต้นของระบบเครือข่าย (networking) ต่างๆ เป็นตัวผลักดันให้นโยบายโทรคมนาคมเกิดการเปลี่ยนแปลงทีละน้อย บวกกับการที่ผู้รับผิดชอบในหน่วยงานต่างๆ ของแต่ละมลรัฐในสหรัฐอเมริกา พยายามเดินหน้าพัฒนาระบบต่างๆ โดยในช่วงเวลานั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงหลักของการกำกับดูแลอุตสาหกรรมโทรคมนาคมแห่งชาติ ด้วยการนำระบบเครือข่ายและเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อผสมผสานความต้องการของบรรษัทเอกชนและการวางแผนทางยุทธศาสตร์การทหารของกองทัพสหรัฐอเมริกาเข้าด้วยกัน

ในช่วงสองทศวรรษระหว่างปี 1980-2000 การผลักดันการพัฒนาระบบเครือข่ายในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเพื่อเป้าหมายการตลาดถูกเร่งรัดขึ้นอย่างเด่นชัด ด้วยแรงผลักดันอย่างไม่หยุดยั้งของบรรษัทขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา การริเริ่มต่างๆขององค์กรเหนือรัฐ (supranational) ภายในสหภาพยุโรปและองค์การการค้าโลก การเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวเนื่องระหว่างผู้นำของชาติต่างๆ หลังการล่มสลายของสังคมนิยมโซเวียต และที่สำคัญคือด้วยแรงระเบิดและศักยภาพของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเอง ซึ่งมีส่วนหนุนเสริมลัทธิเสรีนิยมใหม่ และผลักดันการเติบโตของทุนนิยมดิจิทัลในช่วงนั้นให้เข้มแข็งและก้าวกระโดด

ช่วงเวลานั้น การแปรรูปรัฐวิสาหกิจด้านโทรคมนาคมเป็นเอกชน (telecommunication privatization) เกิดขึ้นทั่วโลกนับจากกรุงบัวโนไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ในทวีปลาตินอเมริกา ไปจนถึงถึงกรุงบูดาเปส ประเทศฮังการี ในทวีปยุโรปตะวันออก โดยมีเครือข่ายอธิปไตยแห่งชาติทั่วโลกที่ทำหน้าที่จัดระบบและกติกาให้สอดคล้องกับการแปรรูปเป็นของเอกชน (Dan Schiller, 1999: 203)

พาหะของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในช่วงนั้นคือ World Wide Web ที่ได้แปลงองค์ (refashion) เป็นตัวกลาง (medium) ของผู้บริโภค ทั้งในด้านความแข่งขันกระจายสินค้าและในแง่เนื้อหาดั้งเดิม World Wide Web เข้ามาท้าทายวิถีทางแนวใหม่ด้วยการบูรณาการแนวดิ่ง (vertical) ของอภิบรรษัทด้านสื่อ (mega media firms)   

ดังนั้น การแข่งขันที่รุนแรงขึ้นระหว่างบรรดาบริษัทคอมพิวเตอร์ชั้นนำอย่าง Microsoft และ Intel หรือการแข่งขันระหว่าง media power house อย่าง Time Warner และ Disney แสดงให้เห็นว่า World Wide Web ตอบสนองระบบทุนนิยมได้มากและสามารถทำกำไรมาก

พัฒนาการที่เป็นเครือข่ายและพลังของเทคโนโลยีทำให้ทุนนิยมดิจิทัลไม่มีข้อจำกัดทางสังคม เศรษฐกิจ และรัฐชาติ จนเริ่มก้าวเข้าไปสู่พื้นที่ชีวิตประจำวันของผู้คนผ่านบริการที่คุ้นเคยต่างๆ โดยเฉพาะการบันเทิงที่บ้าน (home entertainment)

สำหรับ Schiller สิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ใหม่อย่างยิ่งไม่ใช่ตัว ‘บริการ’ หากแต่คือการเปลี่ยนแปลงกติกากำกับดูแลของรัฐต่อบรรษัทเทคโนโลยี โดยเขาเสนอว่า ระบบนี้เกิดขึ้นได้เป็นครั้งแรก เมื่อบรรษัทสามารถมุ่งทำกำไรสูงสุดโดยไม่ต้องเผชิญหน้ากับระบบสังคมนิยมในโลกที่เป็นอุดมการณ์และระบบการเมืองสกัดกั้นภายใต้ระบบทุนนิยม และในความเป็นจริง ทุนนิยมดิจิทัลก็สามารถเกิดขึ้น พัฒนา และเฟื่องฟูได้แม้ในประเทศสังคมนิยมหรือประเทศที่ถูกปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ (Dan Schiller, 1999: 205)

นอกจากนี้ ทุนนิยมดิจิทัลยังเป็นอิสระเหนือรัฐและสังคมในเชิงกายภาพ (physical) อีกด้วย กล่าวคืออำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนและข้อจำกัดทางภูมิรัฐศาสตร์ไม่ใช่อุปสรรคต่อการพัฒนาของทุนนิยมดิจิทัลแต่อย่างใด ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่บรรษัทเหล่านี้สามารถก้าวสู่ภาคสังคมได้ด้วย ช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เราจึงเห็นทุนนิยมดิจิทัลมีฐานะเป็นหุ้นส่วนใหญ่ (senior partner) ของสถาบันที่ไม่ใช่ธุรกิจ เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย พิพิธภัณฑ์ สังคมนักวิชาชีพ และหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ และในทุกวันนี้ ทุนนิยมดิจิทัลก็ไม่ได้เป็นเพียงแค่หุ้นส่วนเท่านั้น แต่ยังสามารถพัฒนาไปสู่การยึดบทบาทของสถาบันเหล่านั้นโดยตรง (direct take over) ทุนนิยมดิจิทัลจึงเข้ามาทำหน้าที่ผลิตซ้ำทางสังคมแทนที่สถาบันทางสังคมแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะสถาบันการศึกษา มากขึ้นเรื่อยๆ (Dan Schiller, 1999: 206)

ทุนนิยมดิจิทัลครองอำนาจนำด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบการศึกษา อุตสาหกรรมบันเทิงในบ้าน ระบบสาธารณสุข ตลาดทุน ระบบป้องกันประเทศ การทูตและนโยบายต่างประเทศ ไปจนถึงซอฟต์พาวเวอร์ของสหรัฐอเมริกา รวมถึงชาติมหาอำนาจอื่นๆ ในยุโรปและเอเชีย

ไม่เพียงเท่านั้น ทุนนิยมดิจิทัลยังเป็นจักรวรรดินิยมในศตวรรษที่ 21 ที่ล่าเมืองขึ้นทั่วโลก รวมทั้งบ้านเราด้วย นี่เป็นเรื่องที่ยังคงต้องจับตากันต่อไป


อ้างอิง

Dan Shilley, Digital Capitalism: stagnation and contention? October 13, 2015 https://www.opendemocracy.net/en/digital-capitalism-stagnation-and-contention/

Dan Schiller, Digital Capitalism : Networking the Global Market System, Massachusetts Institute of Technology, 1999

Robert W. Cox, “Critical Political Economy” in B. Hettne (ed.) International Political Economy: Understanding Global Disorder (London: Zed Books, 1995).

Susan Strange, The Retreat of the State: The Diffusion of Power in the World Economy (Cambridge Studies in International Relation 1996).


บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ รายงานผลการศึกษาขั้นต้น โครงการ ‘ศึกษาผลกระทบของ OTT ต่อกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์และแนวทางส่งเสริมและกำกับดูแล’, คณะผู้วิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มิถุนายน 2563

References
1 Massachusetts Institute of Technology, 1999
2 ชื่อบท Going Global : The Neoliberal Project in Transitional Telecommunication
3 Dan เรียกปรากฎการณ์นี้ว่า corporate university มีการค้นพบว่า ในปี มีบริษัทเอกชนราว 400 บริษัทในสหรัฐอเมริกาสร้างสิ่งที่เรียกว่า college, university, institute หรือ education center (Dan Schiller, 1999 : 150-151

MOST READ

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save