fbpx
นามนั้นสำคัญไฉน: ภัยแฝงการให้ชื่อโรคระบาด กรณีศึกษา ‘โรคห่าตะวันออก’

นามนั้นสำคัญไฉน: ภัยแฝงการให้ชื่อโรคระบาด กรณีศึกษา ‘โรคห่าตะวันออก’

ชลิดา หนูหล้า เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา เจสตอร์ เดลี่ (JSTOR Daily) ได้เผยแพร่บทความว่าด้วยกระแสเหยียดเชื้อชาติต่อชาวเอเชียระหว่างการระบาดของอหิวาตกโรคในภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออกเฉียงใต้ในศตวรรษที่ 19 หรือเมื่อการแสวงอาณานิคมของมหาอำนาจยุโรปทวีความเข้มข้น โดยที่มาของกระแสเหยียดเชื้อชาตินั้นเล็กกระจ้อยจนหลายคนอาจไม่นำพา และผลิตซ้ำความเกลียดชังดังกล่าวโดยไม่ระวัง

ตลอดศตวรรษที่ 19 มีการระบาดใหญ่ของอหิวาตกโรคอย่างน้อย 6 ครั้ง โดย 5 ครั้งแรกคร่าชีวิตชาวตะวันตกมากที่สุด ก่อนการสาธารณสุขในยุโรปและอเมริกาเหนือพัฒนาอย่างก้าวกระโดด และรับมือการระบาดของอหิวาตกโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระทั่งการระบาดนอกเอเชียในทศวรรษ 1890 สร้างความเสียหายต่อเมืองใหญ่ในจักรวรรดิรัสเซียและออตโตมันเท่านั้น[i]

 

ภาพพิมพ์ซึ่งถูกเผยแพร่ในปุตสก์ (Puck) โปแลนด์ ค.ศ.1883
แสดงความกังวลของชาวยุโรปต่ออหิวาตกโรคซึ่งระบาดผ่านการเดินทางระหว่างสองทวีป[ii]

 

การระบาดใหญ่ครั้งแรกในศตวรรษที่ 19 ของอหิวาตกโรคเริ่มต้นไม่ไกลจากกัลกัตตาและธากาใน ค.ศ.1817 ก่อนลุกลามข้ามอนุทวีป เดินทางถึงพม่า ศรีลังกา ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อิรัก และชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนใน 5 ปี อย่างไรก็ตาม การระบาดที่สร้างความวิตกในหมู่ชาวตะวันตกมากที่สุดเริ่มต้นใน ค.ศ.1829 ด้วยการติดต่อและเดินทางระหว่างทวีปอันเฟื่องฟู อหิวาตกโรคจึงรอนแรมจากพื้นที่รอบอ่าวเบงกอลสู่ยุโรปและอเมริกาเหนือในไม่กี่ปี คร่าชีวิตชาวยุโรปอย่างน้อย 300,000 คน[iii]

ด้วยความกลัวภัยที่ไม่รู้จักจากดินแดนโพ้นทะเล ในทศวรรษ 1830 แพทย์ชาวตะวันตกจึงเร่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอหิวาตกโรคเพื่อยับยั้งการระบาดอย่างรวดเร็วที่สุด โดยคณะกรรมการสุขภาพแห่งนครนิวยอร์ก (New York City Board of Health) เรียกโรคระบาดนี้ว่าโรคห่าตะวันออก หรืออหิวาต์ตะวันออก (Oriental Cholera) คล้ายชื่อที่ให้โดยบุคลากรสาธารณสุขอังกฤษ คือโรคห่าเอเชีย (Asiatic Cholera) บ่อยครั้ง ชาวอังกฤษเรียกอหิวาตกโรคว่าราชาโรคห่า (King Cholera) เพื่อจำแนกอหิวาตกโรคจากโรคระบบทางเดินอาหารอื่นที่มีอาการคล้ายกัน และบ่อยครั้งเช่นกันที่ชื่อโรคห่าอินเดีย (Indian Cholera) ถูกใช้อย่างเจาะจง[iv]

 

ประกาศซึ่งถูกเผยแพร่ในลอนดอน ค.ศ.1931 บอกอาการและวิธีรักษาอหิวาตกโรค
โดยรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้อบอุ่น แสดงการขาดความเข้าใจเกี่ยวกับโรคอย่างชัดเจน[v]

 

เพราะการให้ชื่ออหิวาตกโรคโดยเน้นว่าเป็นโรคซึ่งมีแหล่งกำเนิดในอนุทวีป การระบาดใหญ่ในศตวรรษที่ 19 จึงแตกต่างจากการระบาดอื่นที่เขย่าขวัญชาวตะวันตกในอดีตไม่ว่าการระบาดของกาฬโรคหรือโรคฝีดาษ เพราะการให้ชื่อในลักษณะดังกล่าวไม่เพียงบอกแหล่งกำเนิดของโรค ทว่านำมาซึ่งความเดียดฉันท์และทัศนคติเชิงลบต่อชนพื้นเมืองและวิถีชีวิตของชนพื้นเมืองในแหล่งกำเนิดของโรคโดยปริยาย อนุทวีปในความรับรู้ของเจ้าอาณานิคมขณะนั้นจึงเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยเชื้อโรค ขาดสุขลักษณะ และควรถูกประณามว่าเป็นพาหะของโรคห่าเอเชีย แม้อหิวาตกโรคจะคร่าชีวิตชนพื้นเมืองในภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออกเฉียงใต้ เท่ากับหรือมากกว่าที่คร่าชีวิตผู้มาใหม่ก็ตาม

ทัศนคติต่อชนพื้นเมืองและอนุทวีปในลักษณะนี้ เติบโตจากความเข้าใจของชาวตะวันตกจำนวนมากเกี่ยวกับการระบาดของโรคด้วย โดยในต้นศตวรษที่ 19 ผู้คนยังเชื่อว่าเชื้อโรคแพร่กระจายผ่าน ‘ความเป็นพิษ’ ในอากาศที่อับ ทึบ และไม่บริสุทธิ์ ดังเห็นได้จากการ์ตูนพระราชฐานของราชาโรคห่า (A Court for King Cholera) ที่ถูกเผยแพร่โดยนิตยสารพันช์รายสัปดาห์ (Punch) ในค.ศ.1852 ซึ่งแสดงความแออัดในสลัมแห่งหนึ่งในนครลอนดอน ความสกปรกและวิถีชีวิตของชนชั้นล่างอันรวมถึงผู้อพยพเพื่อใช้แรงงาน ถูกนำเสนอว่าเร่งการระบาดของอหิวาตกโรคในยุโรป ความเชื่อดังกล่าวถูกหักล้างหลังการค้นพบใน ค.ศ.1854 ว่าอหิวาตกโรคระบาดในเมืองหลวงผ่านน้ำดื่มสกปรก ไม่ใช่อากาศที่ไม่สะอาด หรือวิถีชีวิตของผู้ใช้แรงงานในชุมชนแออัด

 

การ์ตูนพระราชฐานของราชาโรคห่า (A Court for King Cholera) เผยแพร่ใน ค.ศ.1852[vi]

 

ทว่าแม้ความเข้าใจเกี่ยวกับอหิวาตกโรคจะเพิ่มพูน ‘โรคห่าเอเชีย’ กลับไม่ถูกพิจารณาว่าเป็นความป่วยไข้ที่ระบาดได้โดยไม่แยแสพรมแดนและเชื้อชาติตลอดศตวรรษที่ 19 และแม้อหิวาตกโรคจะไม่มีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่งอย่างเจาะจง การถูกจดจำด้วยชื่อโรคห่าตะวันออก โรคห่าเอเชีย และโรคห่าอินเดียแต่ต้น กลับสนับสนุนอคติและการดูแคลนของผู้ตั้งรกรากชาวตะวันตกต่อวิถีชีวิตของชนพื้นเมืองในอนุทวีป จนนำมาซึ่งการชี้ความเชื่อมโยงระหว่างการระบาดของอหิวาตกโรคและพิธีกรรมทางศาสนาในอินเดีย โดยเฉพาะพิธีกรรมซึ่งปฏิบัติโดยผู้แสวงบุญศาสนาฮินดู ดังที่เดวิด อาร์โนลด์ (David Arnold) นักประวัติศาสตร์ กล่าวในบทความ Cholera and Colonialism in British India ของเขาว่า อหิวาตกโรคในศตวรรษที่ 19 ได้เป็น ‘ภาพแทนอันเหมาะเจาะ’ (convenient symbol) ของทุกสิ่งที่ชาวตะวันตกกลัวและเหยียดหยามในสังคมที่แตกต่างจากสังคมที่พวกเขาคุ้นเคยอย่างสิ้นเชิง

ความเชื่อดังกล่าวเข้มข้นแม้ในหมู่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข โดยอาร์โนลด์ได้ให้ตัวอย่างบันทึกของคณะกรรมการสุขาภิบาลชาวตะวันตก ซึ่งกล่าวถึงการบวงสรวงพระจกันนาถ (Jagannath) ในเขตปูริ รัฐโอริศาว่าเป็น ‘ความเสื่อมทรามอย่างน่าสะพรึงกลัว’ (appalling degeneration) แม้ในทศวรรษ 1890 ที่ความรุนแรงของการระบาดเริ่มทุเลา ทัศนคติดังกล่าวในหมู่ชาวตะวันตกก็เกือบไม่เปลี่ยนแปลง

บทความหนึ่งในวารสาร The North American Review ฉบับเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1892 ชี้ว่าการนำสุขลักษณะที่เหมาะสมมาสู่อินเดียนั้น ‘เกินเอื้อมของมนุษย์’ (beyond human possibility) และการบังคับให้ผู้แสวงบุญซึ่งทำความสะอาดร่างกาย ซักเครื่องนุ่งห่มสกปรก และดื่มน้ำจากแหล่งเดียวกัน เรียนรู้กฎสามัญที่สุด (commonest rules) ของการรักษาสุขอนามัยนั้น อาจต้องใช้ทหารถึงสองนายต่อผู้แสวงบุญหนึ่งคน โดยตราบที่การแสวงบุญยังดำเนินต่อไป ยุโรปย่อมอยู่ในอันตราย และโรคห่าจะเยี่ยมเยือนร่ำไป ซึ่งตลอดความยาวของบทความนั้น ผู้เขียนเน้นอย่างต่อเนื่องว่าแม้เมื่อพบพาหะของอหิวาตกโรคนอกอนุทวีป ก็สามารถหาความสัมพันธ์ระหว่างพาหะนั้นและภูมิภาคเอเชียใต้ได้เสมอ[vii]

ทัศนคติดังกล่าวสะท้อนอีกข้อเสนอหนึ่งของอาร์โนลด์ที่ว่า มุมมองและการตอบสนองของเจ้าอาณานิคมต่อโรคระบาดนี้ ไม่ได้ถูกประกอบสร้างโดยมุมมองของชาวตะวันตกต่ออหิวาตกโรคอย่างตรงไปตรงมา ทว่าโดยมุมมองอย่างเจ้าอาณานิคม (colonial gaze) ต่อความแตกต่างทางวัฒนธรรมระหว่างวัฒนธรรมของตนเองและของชนพื้นเมืองซึ่งถูกสันนิษฐานว่า ‘ล้าหลัง’ และ ‘ด้อยอารยธรรม’ กว่า การให้ชื่อโรคระบาดโดยเน้นถิ่นกำเนิดของโรค โดยเฉพาะเมื่อความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมอื่นยังไม่เติบโตเต็มที่ จึงหลีกเลี่ยงการเชื่อมโยงทัศนคติเชิงลบต่อโรค คือความกลัวและความรังเกียจกับวิถีชีวิตที่แตกต่างไม่ได้ แม้สุขลักษณะที่ไม่เหมาะสมอาจเป็นบ่อเกิดของโรคจริง ทว่า ‘อคติ’ ต่อวัฒนธรรมที่ไม่คุ้นเคยย่อมไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน คือการอยู่ร่วมกันอย่างปลอดภัยและเท่าเทียมในสังคมพหุวัฒนธรรม

การให้ชื่อโรคระบาดด้วยแหล่งกำเนิด หรือเชื้อชาติของผู้ป่วยรายแรกไม่ว่าในกรณีใด จึงเป็นภัยแฝงที่เป็นอันตรายไม่ยิ่งหย่อนกว่าโรคระบาด และไม่อาจเป็นเพียง ‘การระบุที่มาของโรค’ อย่างที่ครั้งหนึ่งโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาและหลายคนอ้าง[viii] เพราะด้วยการให้ชื่อเช่นนั้น ทัศนคติต่อโรคย่อมถูกผูกกับทัศนคติต่อเชื้อชาติและวัฒนธรรมหนึ่งโดยไม่ยุติธรรมและไม่จำเป็น ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านได้ยินข่าวกระแสเหยียดเชื้อชาติต่อชาวเอเชียระหว่างการระบาดของโควิด-19 แล้วไม่มากก็น้อย

ครั้งหนึ่ง ชาวอินเดียเป็นเหยื่อของการขาดความเข้าใจเกี่ยวกับโรคระบาด และการขาดขันติธรรมต่อวัฒนธรรมที่แตกต่าง ซึ่งเป้าหมายของการรู้จักและเข้าใจความเกลียดชังนี้คงไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากเพื่อยับยั้งการระบาดของความเกลียดชังเดียวกัน

ดังที่เดวิด อาร์โนลด์ทิ้งท้ายบทความของเขาว่าชื่อของโรคนั้นไร้ความหมาย ไม่ใช่อะไรนอกจากจุลินทรีย์ ชื่อเหล่านั้นจะมีความหมายจำเพาะได้ ก็ด้วยบริบทของ ‘มนุษย์’ ที่ห้อมล้อมมันนั่นเอง[ix]

 

เชิงอรรถ

[i] The Editors of Encyclopaedia Britannica, “cholera,” Encyclopædia Britannica, published June 26, 2009, britannica.com/EBchecked/topic/114078/cholera.

[ii] ที่มา: Moral Judgment in Evaluating Disease: Some Pictures for Discussion

[iii] Mariam Claeson and Ronald Waldman, “Cholera Through History,” Encyclopædia Britannica, published August 9, 2019, britannica.com/science/cholera/Cholera-through-history.

[iv] ที่มา: Anti-Asian Racism in the 1817 Cholera Pandemic

[v] ที่มา: Broadsheet warning about Indian cholera 1831

[vi] ที่มา: ‘Checking the evil’: ways to halt the advance of a cholera pandemic – archive, 1866

[vii] William G. Eggleston, “Oriental Pilgrimages and Cholera,” The North American Review 155, no. 428 (1892): 128, www.jstor.org/stable/25102418.

[viii] ที่มา: Trump defends calling coronavirus the ‘Chinese virus’

[ix] David Arnold, “Cholera and Colonialism in British India,” Past & Present, no. 113 (1986): 118-51, www.jstor.org/stable/650982.

MOST READ

Life & Culture

1 Feb 2019

ทรมานแสนสุขสม : เปิดโลก ‘BDSM’ รสนิยมทางเพศที่ตั้งต้นจากความยินยอมพร้อมใจ

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ ชวนสำรวจรสนิยมทางเพศแบบ BDSM ผ่านการพูดคุยกับสองสาวเจ้าของเพจ Thailand BDSM : Let’s Play and Learn ว่าด้วยนิยาม รูปแบบ คำอธิบายของความสุขในความเจ็บปวด ไปจนถึงความเสี่ยงในการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อตามหาผู้มีรสนิยมแบบเดียวกัน พร้อมเก็บบรรยากาศการแสดง ‘ชิบาริ’ โดยศิลปินชาวญี่ปุ่นมาเล่าสู่กันฟังอย่างถึงเนื้อถึงหนัง

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

1 Feb 2019

Life & Culture

8 Sep 2021

คนกระโปกแห่งยุคสมัย 199x ทำไมเด็กเจนวายไม่ยอมโต

คอลัมน์ PopCapture พิมพ์ชนก พุกสุข เขียนถึงสาเหตุสำคัญว่าเพราะอะไร ‘ชาวมิลเลนเนียลส์’ ถึงไม่อาจเติบโตได้อย่างที่ใจหวัง

พิมพ์ชนก พุกสุข

8 Sep 2021

Life & Culture

24 Dec 2018

‘สิงโตนอกคอก’ กับมุมมองต่อความเหลื่อมล้ำของ อดัม สมิธ

ธร ปีติดล เขียนถึงเรื่องสั้น ‘สิงโตนอกคอก’ ของจิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท ที่ตั้งคำถามกับประเด็นจริยธรรม เชื่อมโยงกับมุมมองเรื่องความเหลื่อมล้ำของ อดัม สมิธ

ธร ปีติดล

24 Dec 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save