fbpx
โควิด-19: ความเห็นปะทะความจริง

โควิด-19: ความเห็นปะทะความจริง

นำชัย ชีววิวรรธน์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

โรคโควิด-19 แสดงให้เห็นถึงปัจจัยหลายอย่างที่คาดไม่ถึงกันว่า มีส่วนช่วยให้ ‘โรคระบาดใหญ่ทั่วโลก (pandemic)’ ชนิดนี้ระบาดไปกว้างไกล มีผู้ติดเชื้อ ป่วย และเสียชีวิตมากมายอย่างไม่น่าเชื่อ

ในจำนวนปัจจัยต่างๆ นี้ ก็รวมทั้งข้อมูลความรู้ที่ล้าสมัย ความเชื่อผิดๆ อคติในรูปแบบต่างๆ ตลอดไปจนถึงความเชื่อทางการเมือง

เราจะมาดูกันถึงตัวอย่างปัจจัยต่างๆ เหล่านี้กันครับ

 

ใครกันที่ต้องสวมหน้ากาก?

 

ในตำราของทางประเทศตะวันตกนั้น ผู้ที่สวมหน้ากากคือผู้ป่วย เรื่องนี้เป็นมาตรฐานที่รู้กันดี จึงไม่น่าแปลกใจที่มีรายงานข่าวว่า มีคนอเมริกันด่าทอและทำร้ายคนอเมริกันเชื้อสายเอเชียหรือคนเอเชียในสหรัฐอเมริกาที่ใส่หน้ากากว่า นำเชื้อโรคมาสู่ประเทศตน

แน่นอนว่าเรื่องนี้อาจผสมโรงด้วยความคิดเรื่องการเหยียดเชื้อชาติที่มีอยู่แล้วด้วย

หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนของอังกฤษ รายงานในวันที่ 1 เมษายน 2020 ว่า ทางองค์การอนามัยโลก ‘กำลังพิจารณา’ จะออกคู่มือแนะนำให้ประชาชนสวมหน้ากากในที่สาธารณะ หลังจากมีผลการวิจัยยืนยันจากคณะนักวิจัยที่ฮ่องกงว่า การทำเช่นนั้นมีส่วนช่วยลดการแพร่เชื้อได้จริง

โดยหากทำกันทุกประเทศจะช่วยให้เรารับมือกับโควิด-19 ได้ดีขึ้น

เดิมองค์การอนามัยโลก (และรัฐบาลอังกฤษเอง) ยืนยันมานานสองนานว่า การสวมหน้ากากอนามัยนอกสถานรักษาพยาบาลต่างๆ เป็นเรื่อง ‘เกินจำเป็น’ และไม่ได้มีส่วนช่วยอะไรมากนัก จึงไม่น่าแปลกใจอะไรเลยที่มีรายงานการติดเชื้อของผู้นำระดับโลกอย่างนายกรัฐมนตรีอังกฤษ นายบอริส จอห์นสัน ในวันที่ 31 มีนาคม 2020 นอกเหนือไปจากการที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ป่วยไปก่อนหน้านี้แล้วหลายคน

การเปลี่ยนความรู้เก่าๆ ให้ตรงกับข้อเท็จจริงและความรู้แบบใหม่ๆ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

ในรายงานฉบับดังกล่าว ของทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยระบุว่าจากการสำรวจผ่านทางโทรศัพท์ รวม 2 ครั้งระหว่าง 20-23 มกราคม และ 11-14 กุมภาพันธ์ ร่วมกับข้อมูลการติดเชื้อ พบว่าทั้งสองครั้งนั้น การสวมหน้ากากและการเว้นระยะห่างช่วยลดการติดเชื้อได้ 44% และ 33% ตามลำดับ

ถือเป็นผลวิจัยที่เด่นชัดพอจะโน้มน้าวใจให้องค์การอนามัยโลกเปลี่ยนใจเรื่องมาตรการรับมือได้ หลังจากลังเลเรื่องนี้อยู่นานนับเป็นเดือนๆ

 

ความเชื่อผิดๆ พบได้ทุกที่

 

มีงานวิจัยน่าสนใจที่ตีพิมพ์ในเว็บไซต์ Annals.org วันที่ 20 มีนาคม 2020 อาศัยการสำรวจออนไลน์ในคนอเมริกันและคนอังกฤษ

ในรายงานมีจุดมุ่งหมายเพื่อสำรวจความรู้และการรับรู้ของคนในสองประเทศดังกล่าว โดยให้สมัครกันเข้ามาทดสอบ ซึ่งก็มีมากถึง 80,000 คนที่สมัครเข้ามา จากนั้นนักวิจัยก็คัดเลือกเอา 3,000 คนมาจากแต่ละประเทศ โดยให้มีการกระจายของอายุ เพศ และชาติพันธุ์คละกันไป

สำหรับแบบสอบถามนั้นมีอยู่รวม 22 คำถาม ซึ่งถามทั้งเรื่องความรู้ ความคิดความเห็น และทดสอบว่าเชื่อเรื่องผิดๆ ที่พบได้แพร่หลายหรือไม่ สิ่งที่พบก็คือโดยทั่วไปแล้วผู้ตอบคำถามมีความรู้เรื่องการติดเชื้อและอาการของโรคดีพอสมควร

แต่ก็ยังมีความเชื่อผิดๆ ที่สำคัญอยู่หลายเรื่อง เช่น แม้จะเข้าใจว่าผู้สูงอายเป็นกลุ่มที่ติดเชื้อแล้วเสียชีวิตมากที่สุด (96.3% ของคนอเมริกัน และ 98.3% ของคนอังกฤษตอบถูก) แต่ก็มักเชื่ออย่างผิดๆ ว่า เด็กก็เป็นอีกกลุ่มที่ติดเชื้อและเสียชีวิตมากที่สุด ซึ่งไม่จริง (53.8% ของคนอเมริกันและ 39.1% ของคนอังกฤษตอบผิด)

นอกจากนี้ ยังเชื่อผิดๆ เรื่องวิธีการป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อ เช่น ใช้น้ำเกลือล้างจมูกเป็นประจำช่วยได้ กินยาปฏิชีวนะป้องกันโรคนี้ได้ และการใช้น้ำยาบ้วนปากช่วยฆ่าเชื้อนี้ได้

ทั้งหมดที่ว่ามาไม่ช่วยอะไรเลย

แต่ที่แย่กว่านั้นก็คือ แบบสอบถามยังเผยให้เห็นถึงอคติที่มีต่อคนเชื้อสายเอเชีย เช่น มีคนอเมริกันราว 1 ใน 3 และคนอังกฤษราว 2 ใน 5 ที่เชื่อว่า การตัดสินใจยกเลิกรถอูเบอร์ หากพบว่าคนขับดูคล้ายเป็นคนเอเชียตะวันออก หรือการไม่ไปกินอาหารในร้านจีน จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ ฯลฯ

แน่นอนว่าการสำรวจแบบนี้มีช่องโหว่ให้โจมตีได้ไม่ยาก เช่น กลุ่มตัวอย่างอาจไม่ใช่ตัวแทนที่ดีสำหรับคนอเมริกันและคนอังกฤษ หรือคนทำแบบสอบถามอาจแอบดูคำตอบโดยการใช้กูเกิลค้นเพื่อมาตอบก็ได้ ฯลฯ

แต่อย่างน้อยก็ชี้ให้เห็นถึงช่องว่างเรื่องความรู้และการรับรู้ รวมไปถึงอคติที่อาจจะมีอยู่บ้าง

 

ถ้าเชื่อว่าหายแล้ว จะทำตัวชุ่ย

 

มีรายงานฉบับหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน medRxiv วันที่ 5 พ.ค. 2020 จากทีมวิจัยที่คิงส์คอลเลจและมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ร่วมมือกัน ผมว่าน่าสนใจดี คือ นักวิจัยสองกลุ่มนี้พยายามสำรวจตรวจสอบดูว่า จะมีความแตกต่างกันทางพฤติกรรมระหว่างคนที่คิดว่าเป็นโรคโควิด-19 แล้ว กับคนที่ไม่คิดว่าตัวเองติดเชื้อหรือไม่

การทดลองนี้ก็ใช้วิธีทำแบบสอบถามอีกเหมือนกัน (ช่วงโรคระบาดก็จะมีงานวิจัยลักษณะนี้เยอะหน่อย) โดยอาสาสมัครทั้งหมดเป็นคนอังกฤษรวม 6,149 คน อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ในจำนวนนี้มีอยู่ 24.3% (1,493 คน) ที่คิดว่าตัวเองติดเชื้อโควิด-19 ไปแล้ว ไม่ว่าจะมีการยืนยันจากห้องปฏิบัติการหรือเป็นความเชื่อที่วินิจฉัยเองจากอาการต่างๆ

ผลการทดลองหลักๆ ที่พบก็คือ คนที่เชื่อว่าตัวเองติดเชื้อและหายแล้ว มีจำนวนมากกว่าที่ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ประเมินไว้ถึงเท่าตัว จึงน่าจะมีคนวินิจฉัยตัวเองผิดไม่น้อย โดยมีแค่ 245 คน (4.0%) ที่ไปตรวจและพบว่าเคยติดเชื้อแล้วจริงๆ

แต่ที่ชวนอึ้งไปกว่านั้นก็คือ คนกลุ่มนี้มักจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่า การไอและมีไข้เป็นสองอาการที่พบได้บ่อยที่สุดของคนป่วยเป็นโรคนี้ และเนื่องจากคนกลุ่มนี้เชื่อมั่นว่าตัวเองน่าจะมีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้แล้ว (ก็เป็นแล้วและหายแล้วนี่นา) จึงไม่ค่อยกังวลใจและไม่สนใจจะทำตามมาตรการการเว้นระยะห่างสักเท่าไหร่

ความเชื่อผิดๆ จึงนำไปสู่การทำตัวผิดๆ ต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ฉะนี้

 

ผู้นำโง่เราจะตายกันหมด

 

อันที่จริงผู้นำที่มีพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์น้อยหรือไม่เชื่อในวิทยาศาสตร์ ล้วนเป็นตัวอย่างสำหรับเรื่องเล่าในอีกร้อยปีข้างหน้าว่า มีใครทำอะไรประหลาดๆ อย่างไม่น่าเชื่อเอาไว้บ้าง ราวกับโควิด-19 จะมาทดสอบวัด ‘มาตรฐานความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์’ ของผู้นำประเทศต่างๆ

ขอยกตัวอย่างพอเป็นสังเขปดังนี้

ประธานาธิบดีทรัมป์สั่งการรับมือโควิด-19 ช้ามาก (ดังที่กล่าวไปข้างต้น และยังกล่าวตำหนิองค์การอนามัยโลกว่าแจ้งช้า จนนำมาเป็นเรื่องตัดเงินหนุนอุดหนุนอีก–แถสุดๆ จริงๆ รายนี้) และมีคำแนะนำหรือข้อสังเกตส่วนตัวที่ล้วนสร้างความขบขันหรือตกใจไปทั่วโลก เช่น เขาแนะนำให้กินยารักษามาลาเรียดังคำให้สัมภาษณ์ “คุณคงไม่เชื่อว่ามีคนมากมายแค่ไหนที่กินยานี้เพื่อเป็นการป้องกัน โดยเฉพาะบุคลากรการแพทย์ที่ต้องเผชิญโรคในแนวหน้าจำนวนมากมายเหลือเกินที่กินยานี้….ผมก็กินอยู่”

หลังจากคำสัมภาษณ์ดังกล่าว คำสั่งซื้อและใบสั่งยาในสหรัฐฯ ก็เพิ่มขึ้นราว 10 เท่า แม้ว่าจะไม่มีข้อพิสูจน์ชัดเจนว่ายานี้รักษาโรคโควิด-19  (แต่ ณ วันที่เขียนนี้ องค์การอนามัยมีแผนจะทดลองอย่างเป็นระบบว่าช่วยรักษาได้จริงหรือไม่) และยังอาจมีผลข้างเคียงทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ และอาจทำให้เสียชีวิตได้

แต่ที่หนักไปกว่านั้นคือ ในวันที่ 24 เมษายน 2020 เขากล่าวว่าน่าจะรักษาโควิด-19 ได้ด้วยการฉีดสารฆ่าเชื้อ (disinfectant) ให้เข้าสู่ร่างกายผู้ป่วย หรือฉายรังสียูวีให้ทั่วร่างกาย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นคำแนะนำผิดๆ ที่แพทย์ต้องกุมขมับ เพราะอาจทำให้เสียชีวิต ตาบอด หรือเป็นมะเร็งผิวหนัง ฯลฯ ได้ทั้งสิ้น

เป็นไปได้ว่าแนวคิดดังกล่าวของประธานาธิบดีทรัมป์มาจาก ข้อมูลก่อนหน้าที่เขาได้รับว่าแสงแดดและสารฆ่าเชื้อ (เช่น แอลกอฮอล์หรือน้ำยาฟอกขาว) ฆ่าไวรัสได้

ประธานาธิบดีฌาอีร์ โบลโซนารู แห่งบราซิล ที่เติบโตมาในสายทหารก่อนมาลงเล่นการเมือง ในช่วงแรกของการระบาดในประเทศ เขาปฏิเสธความรุนแรงของโรคนี้ว่าเป็นเรื่อง “เพ้อฝัน” และเป็นแค่ “ไข้หวัดใหญ่ธรรมดาๆ” ช่วงต้นเดือนเมษายน เขาถึงกับไม่ฟังคำทัดทานเรื่องให้เว้นระยะห่างจากทีมที่ปรึกษาของตัวเอง ออกเดินรณรงค์พบปะผู้คนในเมืองหลวง พร้อมกับแนะนำให้ผู้คนกลับไปทำงาน

ขณะที่ในช่วงใกล้เคียงกัน ประธานาธิบดีเม็กซิโก แอนเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ ก็ทำไม่ต่างกันคือ เดินในขบวนแรลลีทางการเมือง จูบผู้สนับสนุนและกระตุ้นให้คนเม็กซิกัน “ใช้ชีวิตตามปกติ” แม้ว่ารัฐมนตรีสาธารณสุขของเขาจะเรียกร้องให้ผู้คนอยู่บ้าน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคก็ตาม

ถอยกลับมาใกล้ประเทศเราหน่อย คงยังจำกันได้ว่าสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ต้อนรับนักท่องเที่ยวจากเรือสำราญเวสเทอร์แดมที่ถูกบังคับไม่ให้เทียบท่าที่ประเทศไทยอย่างใกล้ชิด

ขณะที่ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ยอมรับในช่วงปลายเดือนมีนาคมว่าเขาปิดข้อมูลเรื่องการระบาดของโควิด-19 เอาไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความแตกตื่นของคนอินโดนีเซีย

ยังมีอีกมากนะครับ เขียนถึงได้ไม่จบสิ้น

 

การเมืองเรื่องโควิด-19

 

การรับมือกับโรคระบาดก็ได้รับผลกระทบจากความคิดและความเชื่อทางการเมืองของพรรคและผู้นำอย่างเห็นได้ชัด…อย่างไม่น่าเชื่อ

ผลสารพัดโพลในสหรัฐอเมริกา (Poll Watch, Quinnipiac University poll, Fox News poll ฯลฯ) สรุปตรงกันว่า การสำรวจความคิดความเห็นกลุ่มประชากรที่สนับสนุนพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน แสดงให้เห็นตราบจนกระทั่งต้นเดือนมีนาคม ซึ่งตัวประธานาธิบดีคือ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ยังไม่แสดงความตื่นตัวใดๆ เกี่ยวกับการระบาดของโรคโควิด-19 นั้น

คนที่เลือกรีพับลิกันราว 40% ไม่คิดว่าโควิด-19 จะส่งผลกระทบอะไรกับตัวเองนัก และในทุกโพลฝั่งคนที่เลือกเดโมแครตจะสนใจหรือห่วงใยเรื่องการระบาดของโรคมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งนั่นก็มีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับเรื่องการที่มีคนอเมริกันที่เลือกรีพับลิกันของประธานาธิบดีทรัมป์ ออกมาต่อต้านการล็อกดาวน์มากกว่า

นอกจากนี้แล้ว การสำรวจหลายๆ ครั้งก็แสดงให้เห็นว่า คนอเมริกันเชื่อ ‘ทฤษฎีสมคบคิด’ กันอย่างจริงๆ จังๆ เช่น มีราว 13% ที่เชื่อว่า โรคนี้ไม่มีจริงที่เห็นกันเป็นแค่เรื่องลวงโลก หรือมีมากกว่าครึ่งหนึ่งของคนอเมริกันที่เชื่อว่า เชื้อโรคชนิดนี้เป็นอาวุธที่คนจีนตั้งใจทำขึ้น และมีบางคนที่เชื่อว่าเทคโนโลยี 5G ช่วยให้ไวรัสแพร่กระจาย จึงต้องช่วยกันป้องกันเทคโนโลยี 5G จากจีน

โควิด-19 เป็นโรคที่มีอยู่จริง และคนจำนวนมากต้องตายโดยไม่มีตัวแสดงแทน จึงเป็นวิบากกรรมของคนแต่ละชาติว่ามีผู้นำเป็นแบบใด และจะเลือกเชื่อใคร เชื่ออะไรแค่ไหน จึงจะปลอดภัยกับชีวิตตัวเอง

 

 

เอกสารอ้างอิง

Impact assessment of non-pharmaceutical interventions against COVID-19 and influenza in Hong Kong: an observational study

Knowledge and Perceptions of COVID-19 Among the General Public in the United States and the United Kingdom: A Cross-sectional Online Survey

The impact of believing you have had COVID-19 on behaviour: Cross-sectional survey

Afraid of Coronavirus? That Might Say Something About Your Politics

Red vs. Blue on Coronavirus Concern: The Gap Is Still Big but Closing

The Economist/YouGov Poll

Nursery school personality and political orientation two decades later

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save