fbpx

“เมื่อสหรัฐใช้ช็อคโกแลตเอาชนะโซเวียต” รำลึก 74 ปี Operation Vittles

เนื่องในโอกาสครบรอบ 74 ปี ปฏิบัติการ Operation Vittles ปฏิบัติการทางทหารในภารกิจด้านมนุษยธรรมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติและเพื่อเป็นการรำลึกถึงการจากไปของพันเอก Gail Halvorsen เจ้าของฉายา ‘Berlin Candy Bomber’ หรือ ‘Chocolate pilot’ จากอาการป่วยสืบเนื่องจาก COVID-19 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ด้วย วัย 101 ปี

Operation Vittles คือปฏิบัติการทางทหาร สืบเนื่องจากการปิดล้อมเส้นทางส่งกำลังบำรุงของฝ่ายโลกเสรีทางบกสู่กรุงเบอร์ลินของสหภาพโซเวียต ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 1948 ตามดำริของโจเซฟ สตาลิน ผู้นำสหภาพโซเวียตซึ่งเชื่อว่า การขาดการส่งกำลังบำรุงที่ดีของฝ่ายโลกเสรีสู่ฝั่งกรุงเบอร์ลินตะวันตกจะสร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชนฝั่งตะวันตก กำลังพลของชาติโลกเสรีจะเสียขวัญกำลังใจจนต้องถอนตัวออกไป

ความรู้สึกไม่มั่นคงของโซเวียตต่อผลการเลือกตั้งทั่วไปในปี 1946 ทำให้โซเวียตมองว่าปฏิบัติการปิดล้อมเบอร์ลิน (Berlin blockade) ที่เปรียบเสมือนไข่แดงของเขตอิทธิพลของโซเวียตในเยอรมันจะสำเร็จได้ด้วยการถอนตัวออกจากเบอร์ลินของโลกเสรี ปูทางไปสู่การรวมชาติเยอรมันในฐานะประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ในฝั่งยุโรปตะวันตก โซเวียตจึงเริ่มยุติการส่งอาหารให้เบอร์ลินตะวันตกในปี 1946 โซเวียตไม่พอใจต่อความพยายามปฏิรูปค่าเงินสกุลดอยช์มาร์กและเริ่มขัดขวางปฏิบัติการของฝ่ายโลกเสรีมากขึ้นเป็นลำดับ กระทั่งเริ่มปิดล้อมอย่างเป็นทางการในปี 1948 โดยไม่อนุญาตให้มีการคมนาคมสู่เบอร์ลินตะวันตก อนุญาตแต่เพียงเส้นทางการบินสู่กรุงเบอร์ลิน 3 เส้นทางเท่านั้น

ฝ่ายโซเวียตภายใต้การนำของจอมพล Vasily Sokolovsky ลูกศิษย์ก้นกุฏิของจอมพล Georgy Zhukov ผู้สร้างผลงานในการวางแผนเข้ายึดกรุงเบอร์ลินในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้ได้รับความไว้วางใจจากสตาลินให้เป็นผู้บัญชาการสูงสุดกองกำลังโซเวียตและส่วนปกครองของโซเวียตในเยอรมัน และผู้หาญกล้าเดินออกจากที่ประชุมสภาชาติพันธมิตรปกครองเยอรมัน (Allied Control Council) ในปี 1948 มองว่าฝ่ายโลกเสรีไม่มีทางที่จะส่งกำลังบำรุงทางอากาศได้อย่างรวดเร็วและเพียงพอจะเลี้ยงปากคนทั้งกรุงเบอร์ลินและกำลังทหารของตนเองในพื้นที่ได้ ความไม่พึงพอใจของประชาชนต่อฝ่ายโลกเสรีจะเพิ่มขึ้นจนชาติพันธมิตรต้องถอนตัวออกจากกรุงเบอร์ลิน ส่วนเส้นทางส่งกำลังบำรุงของโซเวียตในเขตปกครองของชาติพันธมิตรสู่ฝั่งเยอรมันตะวันออกนั้นไม่ได้สร้างผลกระทบอะไรให้โซเวียตมากนัก และคุ้มที่จะเสี่ยงเพราะหากฝ่ายโลกเสรีถอนตัวออกจากเบอร์ลิน จะแสดงถึงนัยสำคัญของพันธสัญญา (Commitment) ของสหรัฐอเมริกาและโลกเสรีต่อยุโรป ชัยชนะของโซเวียตจะทำให้ยุโรปตระหนักถึงพลังอำนาจของโซเวียตในยุโรปและเวทีโลกมากขึ้น

ฝ่ายสหรัฐอเมริกาเองก็ตระหนักดีถึงความสำคัญของกรุงเบอร์ลินในการรักษาสถานะของสหรัฐอเมริกา ความเป็นไปไม่ได้ของปฏิบัติการทางทหารที่จะส่งกำลังบำรุงทางอากาศที่มีต้นทุนปฏิบัติการสูงมีแนวโน้มอย่างมากที่ทำให้สหรัฐอเมริกาจำต้องถอนตัวออกจากกรุงเบอร์ลินในท้ายที่สุด กระนั้นพลเอก Lucius D. Clay กล่าวย้ำถึงความสำคัญว่าในเวลาคับขัน สหรัฐอเมริกามีทุกเหตุผลในการทอดทิ้งกรุงเบอร์ลิน แต่นั่นหมายถึงการเสื่อมเกียรติภูมิของสหรัฐอเมริกา ไม่ใช่แค่เยอรมันหรือทั้งยุโรป การวางแผนส่งกำลังบำรุงทางอากาศครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติจึงเริ่มขึ้น

ในขั้นต้นจากการประเมินของสหรัฐ การส่งกำลังบำรุงในแต่ละวันจะต้องประกอบด้วยสิ่งอุปโภคบริโภคน้ำหนัก 1,534 ตัน เพื่อเลี้ยงกำลังพลฝ่ายโลกเสรีและชาวเบอร์ลินกว่า 2 ล้านคน และสิ่งอุปโภคเพื่อพลังงานและสร้างความอบอุ่นอีก 3,475 ตัน รวมทั้งสิ้น ฝ่ายโลกเสรีต้องส่งกำลังบำรุงเข้าสู่กรุงเบอร์ลินวันละ 5,009 ตันเป็นพื้นฐาน ซึ่งแม้จะยากระดับเป็นไปไม่ได้ แต่โชคยังดีที่สหรัฐมีพลเอก Albert Wedemeyer แม่ทัพที่เคยวางแผนส่งกำลังบำรุงขนานใหญ่เข้าสู่จีนเพื่อสนับสนุนการรบของจีนในสงครามต่อต้านญี่ปุ่นโดยการข้ามเทือกเขาหิมาลัยมาแล้วช่วยวางแผนให้ภารกิจนี้เป็นไปได้

ชาวเบอร์ลินขณะมองเครื่องบิน C-54 ลงจอดบริเวณฐานบิน Tempelhof ในเบอร์ลิน ปี 1948 | ภาพจาก United States Air Force Historical Research Agency ถ่ายโดย Cees Steijger

กองกำลังเฉพาะกิจส่งกำลังบำรุง (Provisional Task Force) ถูกจัดตั้งขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน 1948 ภายใต้การกำกับของพลจัตวา Joseph Smith เที่ยวบินปฐมฤกษ์จำนวน 32 ลำ ทะยานสู่กรุงเบอร์ลิน ทิ้งสัมภาระได้จำนวน 80 ตัน ในขั้นต้นปฏิบัติการนี้ถูกจำกัดกรอบเวลาไว้เพียง 3 สัปดาห์เท่านั้น ท่ามกลางการเย้ยหยันของฝ่ายโซเวียตที่ไม่เชื่อว่าปฏิบัติการนี้จะอยู่รอดได้นานและจะจบลงด้วยความอับอายของฝ่ายโลกเสรี

ท่ามกลางความเป็นไปไม่ได้ของภารกิจและความท้าทายของวิกฤตศรัทธาของหัวใจเสรีที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ร้อยโท Gail Halvorsen นักบินหนุ่มจากเมือง Salt Lake City จุดไฟแห่งความหวังของชาวเบอร์ลินจนทำให้ปฏิบัติการนี้เป็นที่รู้จักและได้รับการสนับสนุนจากประชาชนชาวอเมริกันและชาวเยอรมัน และทำให้โซเวียตพ่ายแพ้ในเกมปากท้องนี้อย่างย่อยยับด้วย “ช็อคโกแลต ขนม ลูกกวาด”

เดือนกรกฎาคม ปี 1948 ผู้หมวด Gail นักบินเครื่องบิน C-54 หลังเสร็จสิ้นภารกิจการทิ้งสัมภาระมีโอกาสจอดพัก ณ ฐานบิน Tempelhof กำลังเดินถ่ายวิดีโอการขึ้น-ลง ของเครื่องบิน เห็นเด็กๆ ชาวเยอรมันกว่า 30 คนจับกลุ่มอยู่ริมรั้วลวดหนามฐานบิน ตามวิสัยใคร่รู้ของนักบินหนุ่มกับภารกิจเพื่อชาติแรกในต่างแดน ผู้หมวด Gail เดินเข้าทักทายเด็กๆ ความเวทนากับเนื้อตัวที่แทบไม่มีอะไรของเด็กๆ ชาวเยอรมัน ทำให้หมวด Gail กลับเวทนาตัวเองเสียเองเมื่อมีเด็กชาวเยอรมันคนหนึ่งกล่าวกับนักบินหนุ่มว่า “ถ้าสภาพอากาศย่ำแย่จนร่อนลงทิ้งของไม่ได้ ขออย่าได้ห่วง พวกเราอยู่อย่างอดๆ อยากๆ ได้ แต่อิสรภาพถ้าเสียไปอาจไม่มีทางได้คืน” ความสะเทือนใจระคนเวทนาบังเกิด หมวด Gail ผู้มีหมากฝรั่งติดตัวเพียงสองชิ้นแจกเด็กๆ ในคราวนั้นบังเกิดความคิดว่าจะต้องทำอะไรสักอย่าง จึงได้สัญญากับเด็กๆ ว่าจะทิ้งหมากฝรั่งลงมาให้มากกว่านี้ ถ้าเด็กๆ อยากรู้ว่าเป็นเครื่องบินลำไหน ให้สังเกตเครื่องบินที่บินส่ายปีกก่อนร่อนลงจอดให้ดี เพราะผู้หมวด Gail เคยทำแบบนั้นเพื่อเป็นเกียรติแก่พ่อแม่ของเขาเมื่อครั้งได้ใบอนุญาตขับเครื่องบินในปี 1941 ภารกิจโปรยขนมลับจึงเริ่มต้นขึ้นแต่นั้น

ผู้หมวด Gail กับนักบินผู้ช่วย และช่างเครื่อง ช่วยกันแกะเอาขนมออกจากเรชั่น (Ration – อาหารชุดพร้อมรับประทานของทหารสหรัฐ) รวบรวมให้มากที่สุดเพื่อทิ้งให้เด็กๆ ซึ่งเมื่อรวบรวมแล้วกล่องขนมมีน้ำหนักมากจนอาจเป็นอันตรายกับเด็กๆ ได้ จึงได้ประดิษฐ์ร่มชูชีพกลมจากผ้าเช็ดหน้าที่จะช่วยลดความเร็วและแรงกระแทกก่อนตกสู่พื้น การแกะขนมแบบหามรุ่งหามค่ำ หมวด Gail รวบรวมขนมได้ถึง 3 ลัง ผูกติดกับร่วมชูชีพและเริ่มต้นทิ้งลงที่ริมรั้วสนามบินก่อนร่อนลงจอดตามสัญญาโดยไม่ลืมที่จะส่ายปีกไปมาโดยจะทิ้งลงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และทิ้งลงก่อนร่อนลงจอดที่ Tempelhof ซึ่งในลังขนมจะมีช็อกโกแลตเฮอร์ชีย์ หมากฝรั่ง ขนมเท่าที่จะพอหาได้จากอาหารสำเร็จรูปของกองทัพอเมริกัน ภารกิจลักของหลวงแจกเด็กๆ ดำเนินไปถึง 3 สัปดาห์ ในแต่ละสัปดาห์จำนวนเด็กๆ ริมรั้วสนามบิน Tempelhof เพิ่มจำนวนจากหลักสิบเป็นหลักร้อย รวมถึงผู้ใหญ่ที่ระแคะระคายถึงรสชาติหอมหวานที่เครื่องบินอเมริกันลำหนึ่งทิ้งลงแจกเด็กๆ ก่อนลงจอดทุกสัปดาห์

เด็กๆ ในเบอร์ลินมองเครื่องบินจากกองทัพอากาศสหรัฐฯ ขณะลงจอดบริเวณฐานบิน Tempelhof ช่วงที่มีการดำเนินปฏิบัติการขนส่งทางอากาศเบอร์ลิน ปี 1948 | ภาพจาก U.S. Air Force photo

ปริมาณเด็กๆ ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นริมรั้วสนามบินสร้างความระแคะระคายสงสัยถึงผู้บังคับบัญชาระดับบนของทั้งฝั่งอเมริกันและโซเวียต กระทั่งพลโท William H. Tunner ผู้บังคับบัญชาปฏิบัติการล่วงรู้ความจริงเกี่ยวกับปฏิบัติการลับนี้ แต่แทนที่จะลงโทษหมวด Gail จากการปฏิบัติโดยไม่ได้รับอนุญาต เขากลับสนับสนุนด้วยการจัดเป็นปฏิบัติการทางทหารย่อย ‘Operation Little Vittiles’ ที่นักบินมีภารกิจทิ้งช็อคโกแลต ลูกกวาด หมากฝรั่ง ในวันที่ 22 กันยายน 1948 นักบินอเมริกัน กำลังพลสหรัฐที่ประจำการในเยอรมัน กำลังพลในหน่วยบินจึงพร้อมใจกันบริจาคขนม ช็อกโกแลต หมากฝรั่งที่ได้รับในแต่ละวันให้ผู้หมวด Gail ทิ้งลงให้เด็กๆ ถึงขนาดมีเครื่องบินลำอื่นๆ ทำแบบเดียวกันด้วย

มิหนำซ้ำข่าวการทิ้งระเบิดขนมของผู้หมวด Gail ดังไกลไปถึงแผ่นดินสหรัฐถึงขั้นที่เด็กๆ จากทั่วสหรัฐ ผู้ผลิตขนม ช็อคโกแลต ลูกอม ลูกกวาด หมากฝรั่ง ต่างพร้อมใจกันส่งขนมไปให้หมวด Gail เพื่อสนับสนุนปฏิบัติการ Little Vittles มีการรณรงค์ National Project ในสหรัฐโดยนักเรียนมหาวิทยาลัย ประดิษฐ์ร่มชูชีพจากผ้าเช็ดหน้า ทั่วสหรัฐเพื่อส่งไปให้หมวด Gail จนมากเกินกว่าที่เครื่องบินลำเดียวจะทิ้งไหว การทิ้งขนม ลูกอม ลูกกวาด ของเล่น เหลือเฟือที่จะทิ้งลงทั่วกรุงเบอร์ลินทุกวัน จดหมายขอบคุณ ภาพวาดฝีมือเด็กๆ ชาวเบอร์ลินถูกส่งไปยังฐานบินของสหรัฐขอบคุณน้ำใจชาวอเมริกันที่มีต่อชาวเบอร์ลิน ปฏิบัติการได้รับการตอบรับอย่างดีจากชาวเยอรมัน นักข่าวได้ภาพโฆษณาชวนเชื่อสนับสนุนฝ่ายโลกเสรีในปฏิบัติการเพื่อปากท้องนี้มากขึ้น ขณะที่ปฏิบัติการส่งกำลังบำรุงมีความก้าวหน้าอย่างมาก สามารถส่งกำลังบำรุงทางอากาศได้ถึง 4,500 ตันต่อวันในปลายปี 1948 และมากกว่า 5,000 ตันต่อวันในต้นปี 1949 บรรดาเครื่องบินโปรยช็อคโกแลต หมากฝรั่งทั่วกรุงเบอร์ลินได้รับสมญานามจากชาวเยอรมันว่า “Rosinenbomber (Raisin Bombers)” และผู้หมวด Gail ได้รับฉายาต่างๆ อาทิ “Uncle Wiggly Wings”, “The Chocolate Uncle”, “The Gum Drop Kid” และ “The Chocolate Flier”

ฝ่ายทางการโซเวียตแม้จะส่งทหารออกมาเก็บกวาด ไล่ต้อนเด็กๆ ไม่ให้เก็บขนมที่ถูกทิ้งลงมา แต่ก็ต้องเผชิญแรงกดดันครั้งใหญ่ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ภาพชาวกรุงเบอร์ลินยืนแออัดริมฐานบิน Tempelhof เพื่อรอขนมของอเมริกันจนไม่สนใจคูปองอาหารของโซเวียต ภาพการลักลอบหนีจากความอดอยากในเยอรมันตะวันออกของชาวเยอรมัน ความแนบแน่นของชาวกรุงเบอร์ลินที่ส่งจดหมายขอบคุณไปยังชาวอเมริกัน เสียงร่ำลือถึงความมหัศจรรย์ของช็อกโกแลตเฮอร์สชีส์  ความเคียดแค้นของชาวเยอรมันต่อการรบกวนเครื่องบินฝ่ายโลกเสรีที่มาทิ้งอาหารของกองทัพอากาศโซเวียตและกองกำลังภาคพื้น ความพยายามแทรกแซงการเมืองท้องถิ่นเพื่อให้พรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันตะวันออกชนะการเลือกตั้ง เริ่มสร้างปัญหาให้กับทางการโซเวียตที่ขณะเดียวกันสถาวะแร้นแค้นจากการส่งกำลังบำรุงที่ไม่เพียงพอเริ่มทำให้ทหารโซเวียตจำนวนหนึ่งลักกินขโมยกินของที่ฝ่ายโลกเสรีทิ้งลงมาด้วย

หมัดน็อกของฝ่ายโลกเสรีเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลอีสเตอร์ เมื่อพลโท William ประกาศสร้างสถิติในการส่งกำลังบำรุงในกิจกรรม Easter Sunday ในเดือนเมษายน ปี 1949 ภารกิจเริ่มต้นจากบ่ายวันที่ 15 เมษายน 1949 – บ่ายวันที่ 16 เมษายน 1949 เครื่องบินของสหรัฐ อังกฤษ และฝรั่งเศส ร่วมกันส่งกำลังบำรุงทางอากาศได้สูงถึง 12,941 ตัน ด้วย 1,383 เที่ยวบิน และหลังจากนั้นฝ่ายโลกเสรีสามารถส่งกำลังบำรุงในระวาง 6,729 – 8,893 ตันต่อวันในภารกิจตามรอบปกติ ในเดือนเมษายน 1949 ฝ่ายโลกเสรีส่งกำลังบำรุงเข้าสู่กรุงเบอร์ลินถึง 234,476 ตัน รวมกันแล้วมากกว่าการส่งกำลังบำรุงมากกว่าด้วยระบบราง

ร้อยโท Gail Halvorsen เจ้าของฉายา The Candy Bomber พบปะเด็กๆ ชาวเบอร์ลินตะวันตกหลังร่อนขนมลงมาจากเครื่องบิน | ภาพจาก U.S. Air Force photo

ปฏิบัติการ Operation Vittles จบด้วยด้วยชัยชนะของฝ่ายโลกเสรี เมื่อฝ่ายโซเวียตแสดงความจำนงขอเจรจาเพื่อยุติการปิดล้อมในวันที่ 15 เมษายน 1949 และบรรลุข้อตกลงในวันที่ 4 พฤษภาคม 1949 โดยมีผลบังคับในวันที่ 12 พฤษภาคม 1949 เส้นทางคมนาคมทุกช่องทางจะกลับคืนสภาวะปกติ ฝ่ายโซเวียตไม่ได้อะไรนอกจากความเกลียดชังจากชาวเยอรมันและความพ่ายแพ้อย่างอับอาย ทั้งหมดนี้เพราะขวัญกำลังใจที่ดีของชาวกรุงเบอร์ลิน และความรังเกียจเดียดฉันท์โซเวียตที่มีรสชาติหอมหวานของช็อคโกแลตเป็นสื่อกลางที่ทำให้ทั้งโลกหันมาสนใจความเป็นอยู่ของชาวกรุงเบอร์ลิน

ปฏิบัติการ Operation Vittles มีสัมภาระถูกทิ้งลงยังกรุงเบอร์ลินจำนวนทั้งสิ้น 2.3 ล้านตัน ฝ่ายสหรัฐทิ้ง 1.7 ล้านตัน กองทัพสหรัฐขึ้นบินปฏิบัติการกว่า 189,963 เที่ยวบิน มีนักบินของกองทัพอากาศอังกฤษทำสถิติขึ้นบินกว่า 404 เที่ยวบิน มากที่สุดในประวัติศาสตร์การบินทั้งทางทหารและพลเรือน ระยะทางเที่ยวบินทำการตั้งแต่เริ่มจนสิ้นสุดปฏิบัติการรวมไกลถึง 148,000,000 กิโลเมตร เท่ากับระยะทางระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ รวมถึงสถิติเครื่องบิน 1 ลำ บินถึงน่านฟ้ากรุงเบอร์ลินทุก 30 นาที สำหรับปฏิบัติการ Operation Little Vittles มีขนมถึงมือชาวกรุงเบอร์ลินกว่า 23 ล้านตัน ใช้ร่มชูชีพผ้าเช็ดหน้าไปทั้งสิ้น 250,000 ชุด ถือเป็นปฏิบัติการด้านมนุษยธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกในทางทหารและการทูต

ผู้หมวด Gail แม้จะถูกเรียกกลับสหรัฐเพื่อรับหน้าที่ใหม่ก่อนปฏิบัติการจะสิ้นสุด แต่ก็ริเริ่มจนปฏิบัติการแจกขนมดำเนินต่อไปจนสิ้นสุดการปิดล้อม ก่อนจะมีโอกาสได้กลับมาฐานบิน Tempelhof อีกครั้งในปี 1970 ในฐานะผู้บัญชาการฐานบิน รับตำแหน่งสุดท้ายในฐานะจเรฐานทัพอากาศฮิล มลรัฐยูทาห์ บ้านเกิดจนเกษียณอายุราชการในปี 1974 ก่อนถึงแก่กรรมจากภาวะแทรกซ้อนหลังหายจากป่วยด้วยโรค COVID-19 ด้วยวัย 101 ปี

พันเอก Gail Halvorsen หลังเกษียณอายุกำลังถือร่มชูชีพแบบเดียวกันกับที่เขาใช้ร่อนขนมส่งให้เด็กๆ ชาวเบอร์ลินช่วงปฏิบัติการขนส่งทางกาศ | ภาพจาก U.S. Air Force photo โดย Bennie J. Davis III)

อ้างอิง

Famed ‘Candy Bomber’ Gail Halvorsen Dies at 101

Operation Vittles

Berlin Blockade

404 FLIGHTS FROM WUNSTORF TO GATOW AND RETURN DURING THE BLOCKADE: A RECORD FOR ANY PILOT OF ANY NATIONALITY, CIVILIAN OR MILITARY

Roger G. Miller (2008). To Save a City: The Berlin Airlift, 1948–1949

Burgan, Michael (2008). The Berlin Airlift: Breaking the Soviet Blockade

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save