fbpx
การอุ้มหายในลาตินอเมริกาในช่วงสงครามเย็น: กรณีศึกษา Operation Condor (2)

การอุ้มหายในลาตินอเมริกาในช่วงสงครามเย็น: กรณีศึกษา Operation Condor (2)

เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

คราวที่แล้วผมได้เล่าเรื่องที่มาของ Operation Condor ซึ่งเป็นความร่วมมือของรัฐบาลต่างๆ ในลาตินอเมริกาในช่วงสงครามเย็น เพื่อที่จะกำจัดผู้เห็นต่างในขณะนั้น โดยเฉพาะผู้ที่มีแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ รวมถึงนักศึกษาที่มีหัวเอียงซ้าย ต่างก็ถูกอุ้มหายสาบสูญในช่วงระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 1970-1980 ในคราวนี้ผมจะลงรายละเอียดของ Operation Condor ว่ามีลักษณะเช่นใด มีความโหดเหี้ยมเพียงใด จนกลายเป็นจุดด่างทางประวัติศาสตร์ของลาตินอเมริกาในการละเมิดสิทธิมนุษยชน อุ้มฆ่าพลเมืองของตนเองและร่วมภูมิภาค

ระบบ Condor เป็นการเชื่อมโยงหน่วยสืบราชการลับของกองทัพต่างๆ ของประเทศสมาชิก ซึ่งประกอบไปด้วยอาร์เจนตินา โบลิเวีย บราซิล ชิลี ปารากวัย และอุรุกวัย และต่อมามีเอกวาดอร์กับเปรูเข้าร่วม กล่าวได้ว่าเป็นองค์กรข้ามชาติที่มีหน้าที่จัดการผู้เห็นต่างทั้งในและนอกประเทศของตนเอง ในแต่ละประเทศสมาชิก ผู้ปฏิบัติการของ Operation Condor มาจากทหารในกองทัพ หน่วยข่าวกรอง ตำรวจ รวมทั้งพลเรือนที่มีแนวคิดขวาจัด โดยทั้งหมดอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพรัฐบาลกลาง

ทั้งนี้ แม้อาจกล่าวได้ว่า Operation Condor เป็นนโยบายของรัฐในช่วงเผด็จการทหาร แต่การดำเนินการส่วนใหญ่ที่กระทำโดยกองทัพเฉพาะกิจถือเป็นความลับขั้นสูงสุด และไม่มีการเปิดเผยตัวให้ทราบต่อสาธารณะ ภายใต้กรอบการดำเนินงานของ Operation Condor รัฐบาลเผด็จการทหารดำเนินนโยบายในการกำจัดศัตรูทางการเมืองของตนที่มีอยู่โดยไม่จำกัดเฉพาะในพรมแดนประเทศของตนเองเท่านั้น ส่งผลให้ต่อมา อาชญากรรมข้ามชาติลักษณะนี้ถูกตั้งข้อกล่าวหาทั้งจากประเทศในลาตินอเมริกา รวมถึงนอกภูมิภาค เช่น ในยุโรป เพื่อดำเนินการนำผู้สั่งการมาลงโทษ

ระบบ Condor มีอยู่สามระดับ ระดับแรกเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยสืบราชการลับของกองทัพต่างๆ ช่วยกันเฝ้าระวังผู้เห็นต่างทางการเมือง และแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารทางด้านความมั่นคง ระดับที่สองเป็นการกระทำอย่างลับๆ มีลักษณะของการดำเนินการทางทหารอย่างไม่เป็นทางการ โดยที่ยังไม่มีการเปิดเผยตัวผู้กระทำหรือสั่งการ โดยหน่วยงาน Condor จะแอบแฝงตัวเข้าไปลักพาตัวผู้เห็นต่างที่หนีออกจากประเทศของตัวเองแล้วส่งกลับไปยังประเทศต้นทาง ซึ่งต่อมาเกือบทั้งหมดก็จะถูกกำจัดหรือทำให้สาบสูญอย่างถาวร และสุดท้าย ระดับที่สามหรือระดับลับสุดยอด เป็นการส่งทีมสังหารไปกำจัดผู้ที่เห็นต่างในต่างประเทศ โดยพุ่งเป้าหมายไปยังผู้นำทางการเมืองที่เป็นศัตรูกับรัฐบาลเผด็จการทหาร เนื่องจากผู้นำทางการเมืองเหล่านี้อาจสร้างแรงกระเพื่อมของประชาคมโลกที่มีผลในทางลบต่อรัฐบาลเผด็จการทหารได้

การล่าสังหารดังกล่าวถือเป็นความลับขั้นสูงสุดที่จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อผู้นำเผด็จการทหาร กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ จะต้องไม่สามารถสาวไปยังตัวผู้บงการได้เป็นอันขาด ตัวอย่างของการล่าสังหารที่เกิดขึ้น อาทิ ในกรุงบัวโนสไอเรสของอาร์เจนตินาในปี ค.ศ. 1976 นักการเมืองอุรุกวัยสองคนได้แก่ Zelmar Michelini และ Héctor Gutiérrez Ruiz ซึ่งต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารในประเทศของตัวเอง ถูกลักพาตัวในเวลาพร้อมกันโดยกองกำลังติดอาวุธ ต่อมาทั้งคู่ถูกพบเป็นศพถูกฆาตกรรมอย่างอนาถ โดยหนึ่งอาทิตย์ก่อนหน้านั้น ทั้งคู่ได้เข้าร่วมประชุมกับกลุ่มผู้เห็นต่างที่ลี้ภัยทางการเมืองในกรุงบัวโนสไอเรสเพื่อรณรงค์ให้มีการเลือกตั้ง อันจะนำไปสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริงในอุรุกวัย หลังจากข่าวการฆาตกรรมของทั้งคู่ได้รับการเผยแพร่ ได้เกิดแรงกระเพื่อมทางการเมืองอย่างมากในลาตินอเมริกา ผู้นำเผด็จการทหารในอาร์เจนตินาออกมาแสดงความเสียใจ โดยประธานาธิบดี Jorge Rafael Videla ที่ออกคำสั่งให้ตำรวจหาตัวผู้บงการมารับผิดให้ได้ แต่การกระทำเหล่านี้ล้วนเป็นการเสแสร้ง เพราะในภายหลัง การกระทำดังกล่าวถูกเปิดเผยว่า เป็นความร่วมมือของหน่วยราชการลับทั้งของอาร์เจนตินาและอุรุกวัย โดยทางรัฐบาลทหารของอาร์เจนตินาเปิดไฟเขียวให้คนของกองทัพอุรุกวัยเข้ามาปฏิบัติการสังหารโหดดังกล่าว อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเผด็จการทหารของอาร์เจนตินาในขณะนั้นก็ปฏิเสธเสียงแข็งว่าตัวเองไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำครั้งนี้

นอกจากเหตุการณ์ข้างต้นแล้ว การล่าสังหารในระดับที่สามยังเกิดขึ้นกับผู้นำการต่อต้านการรัฐประหารในชิลี โดยในปี ค.ศ. 1973 Carlos Prats และภรรยา Sofía Cuthbert ถูกสังหารในกรุงบัวโนสไอเรส ในปี ค.ศ. 1974 ส่วนผู้นำการต่อต้านชิลีอีกคนหนึ่งคือ Bernardo Leighton และภรรยา Ana Fresno ถูกฆาตกรรมในกรุงโรม อิตาลี ในปี ค.ศ. 1975 และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในสมัยรัฐบาลสังคมนิยมของ Salvador Allende ของชิลี Orlando Letelier และสหายชาวอเมริกัน Ronni Moffitt ถูกวางระเบิดรถที่ทั้งคู่ขับขี่จนถึงแก่ความตายในกรุงวอชิงตันดีซี สหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 1976 ขณะที่อดีตประธานาธิบดีโบลิเวียที่มีแนวคิดชาตินิยมต่อต้านอเมริกาอย่าง Juan José Torres ก็ถูกลอบสังหารในกรุงบัวโนสไอเรสในปีเดียวกันนั้นเอง

ผู้ที่ลงมือปฏิบัติการลอบสังหารใน Operation Condor เป็นนักฆ่าที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี ในกรณีการฆาตกรรม Bernardo Leighton และภรรยานั้น หน่วยสืบราชการลับของชิลีได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มนีโอฟาสซิสต์สองกลุ่มในอิตาลีได้แก่ Ordine Nuovo และ Avanguardia Nazional ส่วนการลอบสังหาร Orlando Letelier และ Ronni Moffitt หน่วยสืบราชการลับของชิลีได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มฝ่ายขวาชาวคิวบาที่ลึ้ภัยไปอยู่ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งกลุ่มดังกล่าวต่อต้านรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของฟิเดล คาสโตร ซึ่งมีความใกล้ชิดกับ Salvador Allende สำหรับการลอบสังหาร Carlos Prats และภรรยานั้น กลุ่มนีโอฟาสซิสต์ที่มีความใกล้ชิดกับหน่วยสืบราชการลับของอาร์เจนตินา ร่วมมือกับหน่วยสืบราชการลับของชิลีและกองทัพของอาร์เจนตินา โดย Michael Townley ชาวอเมริกันที่ทำงานให้กับหน่วยสืบราชการลับของชิลีและมีความใกล้ชิดกับ The Central Intelligence Agency (CIA) ของสหรัฐอเมริกาสารภาพว่า ตัวเขาเองมีบทบาทสำคัญในการลอบสังหารผู้เห็นต่างชาวชิลีดังกล่าว ขณะที่ทั้งหน่วยสืบราชการลับของชิลีและ CIA ต่างปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับเขา และระบุว่า Michael Townley ทำงานให้กับหน่วยงานอื่น ไม่มีความเกี่ยวข้องกับสององค์กรดังกล่าวเลย

Operation Condor ถือเป็นหน่วยงานที่มีการจัดองค์กรเป็นอย่างดี มีความสลับซับซ้อนและมีเครือข่ายสนับสนุนที่สมบูรณ์ทั้งการวางกลยุทธ์ การฝึกฝน มีหน่วยงานการจัดการและการสื่อสารที่ดีเยี่ยม รวมทั้งระบบการสั่งการตามลำดับชั้นในแต่ละประเทศสมาชิก อดีตเจ้าหน้าที่หน่วยสืบราชการลับของชิลี Marcelo Moren Brito ได้สารภาพว่า Operation Condor เป็นการจัดการเชิงกลยุทธ์ที่อยู่ภายใต้การดำเนินการของประธานาธิบดี Augusto Pinochet และหัวหน้าหน่วยสืบราชการลับ Manuel Contreras ซึ่งศาลของชิลีได้ระบุว่า Operation Condor เป็นองค์การพิเศษนอกกฎหมายที่รวบรวมหน่วยข่าวกรองของประเทศสมาชิก การดำเนินงานของ Condor ใช้ระบบการสื่อสารที่มีการวางแผนมาเป็นอย่างดีและได้รับการฝึกปรืออย่างต่อเนื่องในช่วงระหว่างการดำเนินการ มีการจัดตั้งคุกลับและศูนย์ทรมานเหยื่อในกรุงบัวโนสไอเรสสำหรับผู้เห็นต่างทางการเมืองชาวต่างชาติ คุกลับที่มีชื่อเสียงในความโหดร้ายได้แก่ Orletti Motors ซึ่งเป็นโรงงานผลิตรถยนต์เก่าที่ถูกนำมาดัดแปลงเป็นสถานที่ทรมานเหยื่อ โดยมีเจ้าหน้าที่ทางการทหารทั้งของอาร์เจนตินาและอุรุกวัยเป็นผู้ดูแลควบคุม มีนักโทษทางการเมืองชาวอุรุกวัย โบลิเวีย และชิลีนับร้อยที่ถูกคุมขังและทรมานที่ Orletti Motors หนึ่งในผู้ที่รอดชีวิตจากการถูกทรมานในสถานที่ดังกล่าวได้ให้ข้อมูลว่า ผู้คุมไม่ได้มีแค่เจ้าหน้าที่ทหารของอาร์เจนตินาและอุรุกวัย แต่ยังมีเจ้าหน้าที่ของโบลิเวีย ชิลี และปารากวัยอีกด้วย

หนึ่งในคำถามของผู้ที่ศึกษาเรื่องความรุนแรงคือ เพราะเหตุใดและเมื่อไหร่ที่รัฐหันไปใช้ความรุนแรงโหดร้ายเป็นเครื่องมือโต้ตอบ เมื่อรัฐคิดว่าตัวเองกำลังเผชิญกับภัยคุกคาม ซึ่ง E.V. Walter เสนอว่า ผู้นำรัฐบาลจะใช้ความหวาดกลัวเป็นเครื่องมือในการควบคุมสังคมและเพื่อสืบทอดอำนาจของตนเอง ความโหดร้ายบ้าเถื่อนถูกนำมาใช้เพื่อเป็นบทเรียนกำราบ ไม่ใช่เฉพาะเหยื่อเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้คนในสังคมเพื่อไม่ให้ทำตามในสิ่งที่รัฐไม่ปรารถนา ขณะที่แม้เหยื่อจะได้รับผลกระทบจากการใช้ความรุนแรงของรัฐโดยตรง แต่รัฐยังต้องการสื่อสารไปถึงประชาชนของตนถึงแบบอย่างที่จะได้รับถ้าขัดขืนอำนาจรัฐ ดังนั้น ถ้าถามถึงเป้าหมายพื้นฐานของการใช้ความรุนแรงโดยรัฐ E.V. Walter มองว่า เป็นการป้องปรามผู้ที่คิดจะต่อกรกับรัฐ เป็นการปิดปากให้เกิดความเงียบทางการเมืองและทำให้การเมืองเป็นอัมพาต เพื่อที่ผู้นำทางการเมืองในขณะนั้นจะได้ควบคุมสถานการณ์ให้อยู่ใต้เงื้อมมือของตนเองได้อย่างปราศจากเสียงโต้แย้ง

ดังนั้น เหยื่อของ Operation Condor จึงเป็นคนที่คิดต่างจากนโยบายของรัฐเผด็จการทหาร ชนชั้นผู้ปกครอง และสหรัฐอเมริกาในขณะนั้นซึ่งเป็นช่วงสงครามเย็น ไม่ว่าจะเป็นประเด็นทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคม การใช้ความรุนแรงกลายเป็นเครื่องมือของรัฐเผด็จการทหารในลาตินอเมริกาเพื่อล้มความพยายามที่จะเรียกร้องความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม รวมถึงการเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 1960-1970 จึงอาจกล่าวได้ว่า จากการดำเนินงานภายใต้ Operation Condor ในช่วงสงครามเย็นในลาตินอเมริกา เป็นการแสดงให้เห็นถึง ‘หนทางแก้ไขปัญหา’ ทางการทหารกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมลาตินอเมริกาเป็นเวลานาน คือการกระจายอำนาจและความมั่งคั่งในสังคมมนุษย์ ว่าใครจะเป็นผู้ที่ได้รับสิทธินั้น ได้รับอะไร ได้รับอย่างไร และทำไมถึงได้รับ หรืออาจจะสรุปได้เพียงคำเดียวว่า ‘ความเหลื่อมล้ำ’ คือต้นตอของปัญหาทั้งหมดในลาตินอเมริกา และมีผลสืบเนื่องในการก่อให้เกิด Operation Condor อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงและป่าเถื่อนเป็นที่สุดนั่นเอง

เมื่อมองย้อนกลับมายังสังคมไทยในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ยังมีอยู่มากไม่แตกต่างจากลาตินอเมริกา แต่ที่น่าประหลาดใจคือ ‘การอุ้มหาย’ ในสังคมไทยยังคงมีมาอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่รุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน แตกต่างจากลาตินอเมริกาในขณะนี้ที่มีการคืนความเป็นธรรมให้กับเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายเหล่านั้น มีการนำตัวผู้สั่งการมาลงโทษอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นในชิลีหรืออาร์เจนตินา เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย ทำไมเรายังปล่อยให้เกิดความรุนแรงอย่างนี้ต่อไปได้ไม่มีวันสิ้นสุด ผมขอฝากเป็นคำถามปลายเปิดให้ทุกคนช่วยกันคิด และหวังว่าสักวันหนึ่งในไม่ช้า เราจะมีคำตอบร่วมกันว่า ‘การใช้ความรุนแรง’ ทุกรูปแบบควรจะหมดไปจากสังคมไทยโดยเร็วที่สุด

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save