fbpx
การอุ้มหายในลาตินอเมริกาในช่วงสงครามเย็น: กรณีศึกษา Operation Condor

การอุ้มหายในลาตินอเมริกาในช่วงสงครามเย็น: กรณีศึกษา Operation Condor (1)

เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

วันที่ 30 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันรำลึกถึงผู้สูญหายสากล (International Day of Disappeared) ซึ่งตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา มีผู้สูญหายชาวไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะนับตั้งแต่การก้าวขึ้นมามีอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่อยมาจนถึงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีชาวไทยหลายคนที่ลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่นอกประเทศ ถูกลักพาตัว และบางคนถูกพบกลายเป็นศพที่ถูกกระทำอย่างโหดร้ายป่าเถื่อน นับเป็นการกระทำที่ไร้ซึ่งความยุติธรรมอย่างสิ้นเชิง อย่างกรณีที่เกิดขึ้นล่าสุดกับวันเฉลิม หรือต้าร์ สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่ถูกชายมีอาวุธปืนเข้ามาลักพาตัวเขาไปจากที่พัก ในขณะที่ลี้ภัยทางการเมืองอยู่ในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา

ดังนั้น ในโอกาสนี้ ผมจะขอนำเสนอการกระทำในลักษณะเดียวกันที่เกิดขึ้นในลาตินอเมริกาช่วงสงครามเย็น ซึ่งได้รับการเรียกขานกันในนาม ‘Operation Condor’

Operation Condor เป็นความร่วมมือและการกระทำทางยุทธวิธีทางทหารอย่างลับๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 1970 โดยการที่กองทัพในลาตินอเมริกาแบ่งปันข้อมูลข่าวสารของผู้เห็นต่างทางการเมืองให้กับประเทศสมาชิก ซึ่งประกอบไปด้วยอาร์เจนตินา โบลิเวีย บราซิล ชิลี ปารากวัย และอุรุกวัย รวมถึงเอกวาดอร์กับเปรูที่เข้าร่วมในภายหลัง โดยมีสหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุน เพื่อที่จะจับกุมผู้ที่ลี้ภัยเข้าไปในประเทศเหล่านี้มาทรมาน หรือถึงขั้นทำให้เสียชีวิต แรงบันดาลใจของความร่วมมือนี้มาจากหลักการความมั่นคงทางการเมืองร่วมกันในภูมิภาคที่จะทำลายศัตรูทางการเมือง โดยมองว่า อุดมการณ์สังคมนิยมคอมมิวนิสต์เป็นอันตรายต่อ ‘ความเป็นตะวันตกและวัฒนธรรมคริสเตียน’

ในลาตินอเมริกา Operation Condor ถือเป็นความพยายามกำราบผู้ที่ต้องการจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมลาตินอเมริกา ซึ่งในขณะนั้นมีความเหลื่อมล้ำอย่างยิ่ง ผู้ที่เห็นต่างถูกมองว่า เป็นพวกที่มีแนวคิดอันตรายที่จะบ่อนทำลายระบบดั้งเดิมที่เป็นอยู่ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ต่อต้านอย่างสันติวิธี นักเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือผู้ที่จับอาวุธขึ้นมาต่อสู้กับรัฐบาล ต่างก็ถูกเหมารวมว่าเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของประเทศทั้งนั้น ดังที่ Jorge Rafael Videla  ผู้นำเผด็จการทางการทหารของอาร์เจนตินาในขณะนั้นกล่าวไว้ว่า “ผู้ก่อการร้ายไม่ใช่เพียงแต่ผู้ที่จับอาวุธปืนหรือระเบิดต่อสู้กับรัฐบาล แต่ยังนับรวมถึงผู้ที่แพร่กระจายความคิดที่ต่อต้านค่านิยมและอารยธรรมตะวันตก รวมถึงคริสเตียนด้วย” และสำหรับกองทัพในลาตินอเมริกาซึ่งมีสหรัฐอเมริกาคอยหนุนหลัง การต่อต้านคอมมิวนิสต์ถือเป็น ‘สงครามโลกครั้งที่ 3’ เป็นสงครามแห่งอุดมการณ์

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สังคมลาตินอเมริกาเกิดความแตกแยกเป็นอย่างมาก เนื่องจากประชาชนจำนวนมากได้ออกมาเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของพวกเขาให้ดีขึ้น ซึ่งพวกเขาได้รับอิทธิพลทางความคิดจาก Franklin D. Roosevelt ในแนวคิดเรื่องเสรีภาพ 4 ประการ ได้แก่ เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการนับถือศาสนา เสรีภาพในการเรียกร้อง และเสรีภาพในการหลุดพ้นจากความหวาดกลัว ซึ่งกระบวนการเคลื่อนไหวเพื่อความยุติธรรมนี้เป็นที่รู้จักในนาม ‘New Deal’

สำหรับลาตินอเมริกา ภูมิภาคนี้เป็นภูมิภาคที่ได้รับการกล่าวถึงว่า มีความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้และการถือครองที่ดินมากที่สุดภูมิภาคหนี่งของโลก ซึ่งเป็นมรดกตกทอดจากอดีตที่การถือครองที่ดินอยู่ในมือเจ้าของที่ดินจำนวนน้อย ขณะเดียวกัน ก็มีผู้ที่ไร้ที่ดินทำกินเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำคงอยู่เรื่อยมาและขยายตัวมาโดยตลอด ส่วนรัฐบาลในลาตินอเมริกาต่างก็เพิกเฉยหรือไร้ความสามารถในการแก้ปัญหา เนื่องจากรัฐบาลเต็มไปด้วยชนชั้นนำเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่ ขณะที่คนจำนวนนับล้าน ไม่ว่าจะในชนบทหรือแรงงานในเมือง ต่างอยู่อาศัยกันในสภาพที่แออัด ขาดสวัสดิการที่ดี รวมถึงขาดโอกาสทางการศึกษา อดอยาก และมีอัตราการตายของเด็กแรกเกิดสูงมาก

นอกจากนี้ ประชาชนยังแทบจะไม่มีพลังทางการเมืองในการเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างสันติวิธี การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องต่างๆ มักถูกรัฐบาลปราบปราม อีกทั้งรัฐบาลต่างชาติ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ยังคอยสนับสนุนผู้นำเผด็จการในประเทศต่างๆ และมักจะส่งกองทัพเรือเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของลาตินอเมริกา เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองของตนด้วย

ปัญหาดังกล่าวนำไปสู่แนวความคิดเรื่องชาตินิยมในลาตินอเมริกา ผู้นำทางความคิดหลายคนอธิบายความด้อยพัฒนาในโลกที่สาม ซึ่งรวมถึงลาตินอเมริกากับแนวคิดอาณานิคมใหม่ที่ประเทศมหาอำนาจในตะวันตกพยายามครอบงำ พวกเขาเรียกร้องว่า ลาตินอเมริกาควรมีอำนาจตัดสินใจด้วยตนเอง และมีอำนาจอันชอบธรรมในทรัพยากรของประเทศ อีกทั้งยังต้องการให้ยึดเอากิจการของต่างชาติมาเป็นของรัฐ พร้อมๆ กับการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง การปฏิรูปที่ดิน ยกเลิกการกดขี่ ให้รัฐสนับสนุนด้านการศึกษา รวมถึงคืนความยุติธรรมให้กับผู้ที่เห็นต่าง เสียงเรียกร้องดังกล่าวก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในหลายประเทศ อาทิ ในกัวเตมาลา ผู้นำชาตินิยมหัวก้าวหน้าอย่าง Jacobo Arbenz ได้รับการเลือกตั้งในปี ค.ศ. 1950 ถือเป็นตัวแทนของผู้นำรุ่นใหม่ในลาตินอเมริกา เขาได้เสนอให้ปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนงาน ชนพื้นเมือง รวมถึงการปฏิรูปที่ดิน ซึ่งรัฐบาลของ Arbenz ซื้อที่ดินที่ว่างเปล่าและแบ่งให้กับผู้ที่ไม่มีที่ดินทำกิน เป็นความพยายามที่จะยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของคนยากจน อย่างไรก็ดี นโยบายของเขาไม่เป็นที่พอใจของสหรัฐอเมริกาในสมัยประธานาธิบดี Dwight D. Eisenhower ที่มองว่า การกระทำดังกล่าวมีลักษณะเป็นคอมมิวนิสต์ การปฏิรูปที่ดินในกัวเตมาลาจึงนำไปสู่การแทรกแซงของสหรัฐอเมริกาในเวลาต่อมา

นโยบายการปฏิรูปที่ดินของ Arbenz กระทบต่อผู้ถือครองที่ดินรายใหญ่ที่สุดในกัวเตมาลาอย่าง The United Fruit Company ซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติของสหรัฐอเมริกา รัฐบาลของ Eisenhower จึงอนุมัติให้ The Central Intelligence Agency (CIA) ทำการรัฐประหารเพื่อโค่นล้มรัฐบาลของ Arbenz ในปี ค.ศ.1954 โดยร่วมมือกับพวกอนุรักษนิยมในกัวเตมาลา ก่อตั้งรัฐบาลเผด็จการทหารใหม่ที่มีสหรัฐอเมริกาให้การหนุนหลัง ขณะเดียวกัน ก็ทำการปราบปรามผู้ที่ให้การสนับสนุน Arbenz

เมื่อเป็นเช่นนี้ การรัฐประหารในกัวเตมาลาจึงกลายเป็นสัญญาณเตือนให้ผู้นำคนอื่นๆ ที่คิดเปลี่ยนแปลงสังคมในลาตินอเมริกาเห็นว่า การกระทำอันใดก็ตามที่ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาจะได้รับการต่อต้านอย่างถึงที่สุด นักเคลื่อนไหวบางคนเห็นว่า ช่องทางเดียวที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมลาตินอเมริกาได้คือ การใช้กำลังในการโค่นล้มชนชั้นนำ และปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของลาตินอเมริกาแบบถอนรากถอนโคน

ในปี ค.ศ.1959 เกิดการปฏิวัติในคิวบา ส่งผลให้ผู้นำเผด็จการคิวบา และยังเป็นพันธมิตรของสหรัฐอเมริกาอย่าง Fulgecio Batista ต้องลงจากตำแหน่ง นี่ถือเป็นการท้าทายอำนาจและอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคนี้เป็นอย่างมาก การปฏิวัติคิวบาก่อให้เกิดความตื่นตระหนกไปทั่วทั้งภูมิภาค ขณะเดียวกัน ก็ส่งผลให้มีการเคลื่อนไหวในแนวทางเดียวกันกับการปฏิวัติคิวบาเกิดขึ้นในลาตินอเมริกา พร้อมๆ กับแรงต่อต้านจากพวกอนุรักษนิยม เกิดกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง อาทิ ชนชั้นแรงงาน เกษตรกร นักศึกษา นักวิชาการ รวมถึงองค์กรทางศาสนา ได้ลุกขึ้นมาเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม พวกผู้นำเหล่านี้ดึงดูดมวลชนจำนวนมากในลาตินอเมริกาว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีทางออกให้กับปัญหาการด้อยพัฒนา ความไม่มั่นคงของประชาธิปไตย และความอยุติธรรมในภูมิภาค

ขณะที่องค์กรทางศาสนาคาทอลิกก็มีมุมมองที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเป็นไปตามแนวคิดเทววิทยาแห่งการปลดปล่อย ในฐานะที่เป็นปฏิกิริยาตอบโต้ต่อโครงสร้างแห่งการเอารัดเอาเปรียบของโลกที่หนึ่งที่มีต่อโลกที่สาม เทววิทยาแห่งการปลดปล่อยได้นำความหวังมาสู่คนยากจนและผู้ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ กล่าวคือ ท่ามกลางบรรยากาศการเปลี่ยนแปลงของลาตินอเมริกาในช่วงระยะเวลาดังกล่าว เทววิทยาแห่งการปลดปล่อยเป็นการตีความหลักความเชื่อในศาสนาคริสต์จากประสบการณ์ของความทุกข์ยาก การต่อสู้และความหวังของคนจน เป็นความพยายามที่จะอ่านคัมภีร์ไบเบิล และหลักธรรมในศาสนาคริสต์จากทรรศนะของคนยากคนจน ซึ่งเรียนรู้ที่จะอ่านพระคัมภีร์ในลักษณะที่ย้ำถึงศักดิ์ศรีและสิทธิของตนเองในการต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีกว่า เทววิทยาแห่งการปลดปล่อยจึงนับเป็นบทวิพากษ์การกระทำของโบสถ์และชนชั้นผู้นำในศาสนาคริสต์จากแง่มุมของคนยากจน จึงอาจกล่าวได้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งในองค์กรทางศาสนาคาทอลิกและในสังคมส่วนร่วมของลาตินอเมริกา ต่างเกิดขึ้นโดยแยกจากกันไม่ได้

นอกจากนี้ วิกฤตการณ์ในลาตินอเมริกานับตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1960 เป็นต้นมา ได้ก่อให้เกิดคำถามใหม่ๆ เกี่ยวกับระเบียบโครงสร้างของสังคม และต้องการคำตอบใหม่อย่างเร่งด่วน นักเทววิทยาลาตินอเมริกันรู้สึกถึงเสรีภาพอย่างใหม่ในการตอบคำถามเหล่านี้ เช่น คนเรามิได้ยากจนเพราะความบังเอิญ แต่ความยากจนเกิดจากโครงสร้างทางสังคมที่ไม่เป็นธรรม ขณะเดียวกัน นักสังคมวิทยาลาตินอเมริกาได้สร้างแนวความคิดเรื่องทฤษฎีการพึ่งพา ซึ่งมองว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกาหรือยุโรปได้ขูดรีดเอาทรัพยากรไปจากประเทศด้อยพัฒนา ทำให้ประเทศเหล่านี้ไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ จากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ได้กล่าวไปข้างต้น ส่งผลให้เกิดเสียงเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงในลาตินอเมริกา

ท่ามกลางกระแสการเรียกร้องนี้ ผู้นำของสหรัฐอเมริกาและผู้นำเผด็จการในลาตินอเมริกามองว่า กระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเหมือนที่เกิดขึ้นในคิวบาอีก ซึ่งสหรัฐอเมริกาไม่สามารถปล่อยให้เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นได้ พวกเขาจึงมองการเคลื่อนไหวเหล่านี้ว่า เป็นภัยอันตรายต่อความมั่นคงของภูมิภาค พวกเขากลัวที่ลาตินอเมริกาจะมีผู้นำประเทศที่มีแนวคิดเอียงซ้ายไปในทางสังคมนิยม สหรัฐอเมริกาจึงได้ส่งเสริมความเข้มแข็งให้กองทัพในภูมิภาคเพื่อขจัดผู้เห็นต่าง ซึ่งก็เป็นคนในประเทศนั่นเอง แนวความคิดเรื่องความมั่นคงของประเทศถูกปรับว่า ศัตรูของประเทศที่สำคัญไม่ได้มาจากภายนอกประเทศ แต่คือคนในประเทศที่มีแนวความคิดแตกต่างไปจากรัฐบาล ดังนั้น จึงถือเป็นความชอบธรรมที่กองทัพจะเข้ามามีบทบาทในการกำจัดบุคคลเหล่านั้นเสีย โดยความคิดเห็นที่แตกต่างทางการเมืองและสังคมถูกมองว่า เป็นสิ่งที่บ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศ กองทัพมองว่าลัทธิคอมมิวนิสต์กำลังแทรกซึมเข้ามาในภูมิภาค ทำให้กองทัพต้องใช้ทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะถูกหรือผิดกฎหมาย เพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้ให้ออกไปจากสังคมลาตินอเมริกา

ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 1960 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 1980 สหรัฐอเมริกาสนับสนุนให้มีการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาล หรือผู้นำที่มีหัวเอียงซ้ายทั่วทั้งภูมิภาคลาตินอเมริกา โดยสหรัฐอเมริกาได้กำหนดบรรทัดฐานให้ผู้นำเผด็จการที่ขึ้นมาใหม่ภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐอเมริกาจะต้องปราบปรามผู้ที่เห็นต่าง และสลายการเคลื่อนไหวของกลุ่มพลังทางการเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มแรงงาน นักศึกษา เกษตรกร และปัญญาชน ซึ่งถูกมองว่าเป็น ‘ปฏิปักษ์ต่อประเทศ’ กองทัพในลาตินอเมริกาจะต้องเปลี่ยนแปลงหรือลบล้างแนวความคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ให้ออกไปจากภูมิภาคให้ได้ และต้องสลายพลังการเปลี่ยนแปลงของมวลชน จะเห็นได้ว่า บรรทัดฐานใหม่ที่สหรัฐอเมริกาตั้งขึ้นมาไปไกลว่าการปราบปรามผู้ที่ใช้กำลังอาวุธลุกขึ้นสู้กับรัฐบาล แต่ยังรวมถึงผู้เห็นต่างอื่นๆ อีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ Operation Condor จึงได้ถูกจัดตั้งขึ้นมาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 1970 เพื่อกำจัดผู้ที่เห็นต่าง ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะในประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นความร่วมมือของรัฐบาลเผด็จการทหารหลายๆ ประเทศในลาตินอเมริกาดังทึ่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น โดย Operation Condor ได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาในการวางรูปแบบองค์กร ยุทธวิธี เงินทุนและเทคโนโลยี การทำงานของ Operation Condor มีความสลับซับช้อนโดยมีเป้าหมายเพื่อกำจัดฝ่ายซ้าย พวกหัวก้าวหน้า และผู้เห็นต่าง โดย Operation Condor ประกอบด้วยทหารทั้งในและนอกราชการ ทำหน้าที่ในการอุ้มหายผู้ที่ลี้ภัยทางการเมือง รวมถึงผู้นำประชาธิปไตยที่หนีการรัฐประหารไปอยู่นอกประเทศ ซึ่งก็ตกเป็นเป้าหมายของ Operation Condor เช่นกัน บางคนถูกอุ้มหาย แม้ตัวเองจะลี้ภัยไปอยู่ในยุโรปหรือสหรัฐอเมริกาแล้วก็ตาม และในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 1980 Operation Condor ยังได้ขยายไปสู่ประเทศในอเมริกากลางอีกด้วย จนกล่าวได้ว่า Operation Condor กลายเป็นยุทธวิธีทางการทหารนอกกฎหมายที่สำคัญในลาตินอเมริกา เพื่อปราบปรามผู้ที่เห็นต่างทั่วทั้งภูมิภาคนี้

สำหรับรายละเอียดของผู้ที่เป็นเหยื่อและการกระทำภายใต้ Operation Condor นั้นมีลักษณะอย่างไร ผมจะขอนำเสนอในครั้งต่อไป เพราะมีรายละเอียดที่แสดงให้เห็นถึงความโหดร้ายของ Operation Condor มากเกินกว่าจะเล่าให้จบในคราวเดียว

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save