วรากรณ์ สามโกเศศ เรื่อง
สนามบินอินชอน (Inchon) ของเกาหลีใต้เป็นที่คุ้นหูของนักท่องเที่ยวไทยที่ไปเที่ยวเกาหลี ในยุคก่อนที่ญี่ปุ่นจะยอมให้คนไทยเข้าประเทศโดยไม่ต้องขอวีซ่า อย่างไรก็ดี ถ้าพลิกประวัติศาสตร์ไปเกือบ 67 ปี ก็จะพบว่า “อินชอน” แห่งนี้คือสถานที่ประวัติศาสตร์ที่ทำให้ยังคงมีเกาหลีใต้อยู่ในวันนี้
ในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1910-1945 ญี่ปุ่นยึดครองเกาหลีทั้งประเทศ แต่เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ในเดือนสิงหาคม 1945 หลังจากเยอรมันพ่ายสงครามไม่กี่เดือน ฝ่ายพันธมิตร ผู้ชนะ ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาเป็นหัวหอก ก็เข้าไปจัดการกับ “เมืองขึ้น” นี้ของญี่ปุ่นทันที แต่เรื่องไม่ง่ายอย่างนั้น
ก่อนหน้านั้นสหภาพโซเวียตซึ่งได้ตกลง “แบ่งเค้ก” กับเพื่อนพันธมิตรในเดือนกุมภาพันธ์ 1945 เพราะมั่นใจว่าชนะญี่ปุ่นแน่นอน ก็ประกาศสงครามกับญี่ปุ่น 2 วันหลังจากที่สหรัฐอเมริกาหย่อนระเบิดปรมาณูลงเมืองฮิโรชิมาในวันที่ 8 สิงหาคม 1945 และหลังจากนั้นอีกไม่กี่วันก็บุกเข้ายึดส่วนเหนือของคาบสมุทรเกาหลี ฝ่ายสหรัฐอเมริกาบุกเข้ายึดพื้นที่ทางใต้ ต่างฝ่ายต่างตั้งป้อมกันทั้งๆ ที่ได้ร่วมมือกันรบกับเยอรมัน แต่เนื่องด้วยอุดมการณ์ที่แตกต่างกันมาก หลังสงครามแล้วจึงเกิดบรรยากาศเริ่มต้นของสงครามเย็น
ฝ่ายสหภาพโซเวียตสนับสนุนระบอบคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของคิมอิลซุง ฝ่ายสหรัฐอเมริกาสนับสนุนซิงมันรี ต่างฝ่ายต่างไม่รับรองสถานะของกันและกัน แต่ไม่มีการรบกันอย่างเปิดเผย ต่อมา สหรัฐอเมริกาลาก “เส้นขนาน 38” แบ่งคาบสมุทรเกาหลีออกเป็นเหนือ-ใต้ สหภาพโซเวียตก็เห็นชอบ ประชาชนเกาหลีจึงถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน
การเมืองภายในเกาหลีและ “สงครามเย็น” ร้อนขึ้นเป็นลำดับ ภายใต้ความหวาดหวั่นว่าสหภาพโซเวียตจะใช้กำลังฮุบทั้งคาบสมุทรให้เป็นประเทศคอมมิวนิสต์ การปลดปล่อยเกาหลีให้เป็นอิสระโดยไม่มีการแบ่งแยกจึงล้มเหลว
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 องค์การสหประชาชาติถูกก่อตั้งขึ้น โดยสหรัฐอเมริกาและประเทศพันธมิตรเป็นผู้ผลักดัน สหภาพโซเวียตก็เป็นสมาชิกใหญ่อยู่ด้วย องค์การสหประชาชาติถูกใช้เป็นเครื่องมือในการหยุดอิทธิพลของสหภาพโซเวียตในคาบสมุทรเกาหลี
อย่างไรก็ดี ถึงแม้จะใช้มติองค์การสหประชาชาติที่สหภาพโซเวียตไม่ร่วมลงมติด้วยในการสร้างแรงผลักดันให้เป็นเกาหลีเดียวภายใต้อิทธิพลของโลกตะวันตก แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ในวันที่ 25 มิถุนายน 1950 กองกำลังเกาหลีเหนือภายใต้การสนับสนุนของสหภาพโซเวียตและจีนอย่างไม่ปิดบัง ก็บุกข้ามเส้นขนาด 38 เพื่อฮุบทั้งคาบสมุทร
ฝ่ายใต้ ถึงแม้จะมีสหประชาชาติ (ลบสหภาพโซเวียต) สนับสนุนก็ตั้งตัวไม่ติด เกาหลีเหนือบุกเข้ายึดเมืองต่างๆ อย่างรวดเร็วด้วยกำลังพล 1.7 ล้านคน (1.4 ล้านคน จากจีน, 266,000 คน จากเกาหลีเหนือ และ 26,000 คน จากสหภาพโซเวียต) ส่วนฝ่ายตรงข้ามที่ตั้งรับ มีกำลังน้อยกว่า แค่ประมาณ 1 ล้านคน (600,000 คน จากเกาหลีใต้ และ 326,000 คน จากสหรัฐอเมริกา ส่วนที่เหลืออีกเป็นหลักพันและหลักร้อยมาจากสมาชิกแต่ละประเทศ ไทยก็ส่งกำลังพลเข้าร่วมด้วยจำนวน 1,290 คน) แถมระดมมาได้ช้ากว่า จึงถอยร่นไม่เป็นขบวน
ถึงจุดนี้ ผู้เขียนอยากเล่าถึงภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่ออกฉายเมื่อปี 2016 ชื่อ Operation Chromite ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างจากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในเดือนกันยายน 1950 ในยามที่เกาหลีใต้ถูกบุกอย่างหนัก และถูกยึดพื้นที่เกือบหมดแม้กระทั่งโซลซึ่งเป็นเมืองหลวง
นายพล ดักลาส แมกอาร์เธอร์ (Douglas MacArthur) วีรบุรุษสงครามของสหรัฐอเมริกา ซึ่งกำลังดูแลงานยึดครองญี่ปุ่น ถูกส่งให้มาช่วยบัญชาการเพื่อยึดพื้นที่เกาหลีใต้คืนมาในนามของกองกำลังสหประชาชาติ
แมกอาร์เธอร์ตัดสินใจยกพลขึ้นบกที่เมืองอินชอน ซึ่งอยู่ห่างจากโซลประมาณ 27 กิโลเมตร บริเวณนี้คลื่นลมแรงมาก จนทำให้นายพลหลายคนไม่เห็นด้วย เพราะเต็มไปด้วยความเสี่ยง แต่แมกอาร์เธอร์แย้งว่านั่นยิ่งทำให้เกาหลีเหนือคาดไม่ถึง

กำลังสำคัญของแมกอาร์เธอร์ก็คือกลุ่มทหารเกาหลีใต้สิบกว่าคน ซึ่งถูกส่งเข้าไปเป็นจารชนแทรกซึมอยู่ในกลุ่มผู้นำเกาหลีเหนือมาตั้งแต่ช่วงก่อนหน้านี้
จากการประสานงานของซีไอเอ กองทัพอเมริกัน และทหารเกาหลีใต้ที่ยอมเสี่ยงตายกลุ่มนี้ (ซึ่งสุดท้ายก็ตายทั้งหมด) ทำให้กองกำลังสหประชาชาติสามารถยกพลขึ้นบกที่อินชอนได้สำเร็จ โดยมีทหารเกาหลีใต้แอบช่วยเหลืออยู่บนชายฝั่ง

ศึกครั้งนี้มีชื่อว่า Battle of Inchon สู้รบกันเป็นเวลา 5 วัน (15-19 กันยายน 1950) ชัยชนะของฝ่ายสหประชาชาติในศึกครั้งนี้เป็นตัวเปลี่ยนโมเมนตัมของสงครามเกาหลีโดยแท้ ถือได้ว่าเป็นชัยชนะเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญ เพราะอีก 2 อาทิตย์ต่อมาก็สามารถยึดโซลคืนมาได้ และในที่สุดฝ่ายกองกำลังสนับสนุนเกาหลีเหนือทั้งหมดต้องถอยร่นกลับไปในเวลา 3 ปีต่อมา เป็นการสิ้นสุดสงครามเกาหลี (ค.ศ. 1950-1953)

Operation Chromite เป็นชื่อโค้ดของปฏิบัติการที่อินชอนในครั้งนั้น ใช้เรือทั้งสิ้น 261 ลำ ใช้กองกำลังทหาร 75,000 คน ฝ่ายสหประชาชาติเสียชีวิต 222 คน บาดเจ็บ 800 คน ส่วนฝ่ายเกาหลีเหนือเสียชีวิต 1,350 คน

เมืองอินชอนจึงถือได้ว่าเป็นเมืองประวัติศาสตร์สำคัญของเกาหลีใต้ ถ้าไม่ได้รับชัยชนะที่อินชอน ก็มีความเป็นไปได้ว่าเกาหลีใต้จะถูกยึดครองทั้งหมด ทั้งคาบสมุทรอาจกลายเป็นประเทศเกาหลีเหนือไป
ในช่วงสงครามเกาหลีครั้งนั้น คนไทยได้รู้จักเกาหลีผ่านเพลงรัก “อารีดัง” และได้ยินเรื่องราวแห่งความทุกข์ยากลำบากของคนเกาหลี ต่อมาในยุคทศวรรษ 1970 คนไทยรู้จักการพัฒนาชนบทแนว “แซมมวล อุนดอง” วันเวลาผ่านมาถึงวันนี้ นับจากสิ้นสงครามเกาหลีก็ 64 ปี คนเกาหลีใต้มีรายได้เฉลี่ยต่อปีสูงประมาณ 5 เท่าของคนไทย
คำถามน่าคิดก็คือคนไทยทำอะไรกันอยู่ในช่วง 64 ปีนี้
สงครามเกาหลีทำให้ฝ่ายเกาหลีเหนือเสียชีวิตประมาณ 360,000-750,000 คน ในจำนวนนั้นมีคนจีนเสียชีวิต 152,000-183,000 คน คนเกาหลีเสียชีวิต 215,000-350,000 คน และสูญหาย 120,000 คน ส่วนผู้บาดเจ็บมีประมาณ 686,000-789,000 คน ส่วนฝ่ายเกาหลีใต้เสียชีวิตประมาณ 178,000 คน บาดเจ็บ 566,434 คน ในจำนวนนั้นมีคนเกาหลีเสียชีวิต 137,899 คน คนอเมริกันเสียชีวิต 36,574 คน และคนชาติอื่นรวมเสียชีวิตไม่เกิน 10,000 คน มีคนไทยอยู่ด้วย 129 คน
ไม่รู้ว่าสงครามเกาหลีทำให้มีผู้คนเสียน้ำตากี่ล้านคน ครอบครัวต้องสูญเสียลูกหลานกี่ครอบครัว ญาติพี่น้องต้องพลัดพรากจากกันกี่ครอบครัว และคนเกาหลีไม่ว่าฝ่ายเหนือหรือใต้เสียชีวิตรวมกันทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 5 แสนคน ความสูญเสียทั้งหมดนี้เป็นสิ่งจำเป็นหรือไม่ และจะต้องตายกันอีกมากเท่าใด คาบสมุทรนี้จึงจะมีสันติภาพอย่างถาวร
ความสูญเสียทั้งหมดนี้คุ้มค่ากับสิ่งที่ได้รับตอบแทนกลับมาในวันนี้หรือไม่?