fbpx

อ่านฮังการี กับ อรวรา วัฒนวิศาล

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล เรื่อง

 

 

‘ฮังการี’ เป็นหนึ่งในประเทศที่เคยตกอยู่ ‘หลังม่านเหล็ก’ ภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียตในช่วงสงครามเย็น แต่เพียงไม่กี่ทศวรรษหลังม่านเหล็กล่มสลาย ประชาธิปไตยที่เพิ่งย่างก้าวเข้ามาทั้งในฮังการี รวมถึงกลุ่มประเทศวิเชกราดก็ต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่จากกระแสการเมือง ‘ประชาธิปไตยอเสรีนิยม’ (illiberal democracy)

ในกรณีฮังการี ภาพของกระแสการเมืองเช่นนี้เด่นชัดขึ้นเมื่อวิกเตอร์ ออร์บานแห่งพรรคฟิเดซ (Fidesz) ขึ้นมามีอำนาจในปี 2010

“เราไม่มองว่าคนเหล่านี้เป็นผู้ลี้ภัยชาวมุสลิม เรามองพวกเขาเป็นผู้บุกรุก เราเชื่อว่าท้ายที่สุดแล้ว การมีคนมุสลิมจำนวนมากในยุโรปจะนำไปสู่การสร้างสังคมคู่ขนานแยกออกไป เพราะสังคมคริสเตียนกับสังคมมุสลิมจะไม่มีวันหลอมรวมเป็นหนึ่งได้ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมเป็นเพียงแค่ภาพลวงหลอกเท่านั้นแหละ” วิกเตอร์ ออร์บาน กล่าว

เหตุใดรัฐบาลที่ได้ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยจึงกล่าวเช่นนี้? ประชาธิปไตยอเสรีนิยมคือการเมืองหน้าตาแบบไหน? ทำไมต้องมีการรวบสื่อให้อยู่ในมือรัฐบาล ทั้งๆ ที่ได้ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตย? ทำไมการเมืองเช่นนี้จึงมองผู้อพยพเป็นภัย จนนำมาสู่นโยบายต่อต้านผู้อพยพและสหภาพยุโรปในช่วงปี 2016 เป็นต้นมา? อะไรคือเบื้องหลังวิธีคิดของฮังการีที่ตกอยู่ภายใต้กระแสการเมืองเช่นนี้?

101 สนทนากับ ดร.อรวรา วัฒนวิศาล ผู้สนใจศึกษาฮังการี เจ้าของวิทยานิพนธ์ ‘กลุ่มประเทศวิเชกราดกับวิกฤตผู้อพยพในยุโรป: ปัจจัยและกรณีศึกษาฮังการี’ (‘THE VISEGRÁD GROUP AND THE EUROPEAN MIGRANT CRISIS: CAUSE FACTORS AND THE CASE OF HUNGARY’) ว่าด้วยฮังการีภายใต้ออร์บาน จนถึงความตึงเครียดที่ตามมาจากการเมืองแบบ illiberal democracy

เรียบเรียงจาก 101 One-On-One Ep.181 : อ่านฮังการี กัย อรวรา วัฒนวิศาล เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 29 ก.ย. 2563

What is Visegrad?

 

กลุ่มประเทศวิเชกราด (The Visegrád Group / The Visegrád Four / V4) คือ กลุ่มพันธมิตรที่ร่วมมือกันในประเด็นต่างๆ ทั้งในด้านการเมือง การทหาร เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และพลังงานระหว่างประเทศสมาชิก 4 ประเทศ ซึ่งประกอบไปด้วย สาธารณรัฐเช็ก โปแลนด์ สโลวาเกีย และฮังการี

การรวมกลุ่มเริ่มในปี 1991 จากการประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำเชโกสโลวาเกีย (ภายหลังเชโกสโลวาเกียแยกออกมาเป็นสาธารณรัฐเช็กและสโลวาเกียในปี 1993) โปแลนด์ และฮังการี โดยการประชุมจัดขึ้นที่ประสาทวิเชกราด ประเทศฮังการี นี่จึงกลายเป็นที่มาของชื่อกลุ่ม

แม้ว่าหลายครั้งเราจะเรียกทั้ง 4 ประเทศนี้อย่างคร่าวๆ ว่าเป็น ‘ประเทศยุโรปกลาง’ หากกางแผนที่ดู ก็จะเห็นว่าภูมิภาคยุโรปกลางคือบริเวณที่ตั้งของทั้ง 4 ประเทศ แต่ที่จริงแล้ว ยุโรปกลางหมายรวมหลายประเทศมากกว่าเพียงแค่เช็ก โปแลนด์ สโลวาเกีย และฮังการี เท่านั้น เพราะอย่างเยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ หรือก็ถูกจัดว่าเป็นประเทศยุโรปกลางเช่นกัน ซึ่งเมื่อได้ยินเช่นนี้แล้ว อาจขัดกับความรู้สึกของหลายๆ คน เพราะเรามักจะมองประเทศเหล่านี้ว่าเป็นประเทศยุโรปตะวันตกด้วยความคุ้นชิน การจัดว่าประเทศไหนอยู่ในกลุ่มยุโรปตะวันตก ยุโรปกลาง ยุโรปตะวันออกจึงไม่ได้ขึ้นอยู่เพียงแค่ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเกี่ยวกับพัฒนาการในแต่ละช่วงเวลาประวัติศาสตร์ซึ่งมีความละเอียดอ่อนมากด้วยเช่นกัน ด้วยสาเหตุนี้เอง เราจึงไม่สามารถมองประเทศกลุ่มวิเชกราดเหมารวมไปกับประเทศยุโรปกลางอื่นๆ ได้ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ช่วงสงครามเย็นที่ประเทศกลุ่มวิเชกราดตกอยู่ภายใต้การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ ทำให้ ‘ความเป็นวิเชกราด’ มีความเฉพาะ

อย่างไรก็ตาม ในประเทศกลุ่มวิเชกราดเองย่อมมีทั้งจุดร่วมและจุดที่ต่างกัน จุดร่วมที่สำคัญนอกเหนือจากประวัติศาสตร์ร่วมที่เคยตกอยู่ภายใต้ร่มเงาของระบอบคอมมิวนิสต์ช่วงสงครามเย็นอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วคือ ทั้ง 4 ประเทศต่างมีหมุดหมายร่วมว่าจะต้องร่วมกระบวนการบูรณาการยุโรปผ่านการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป เพื่อเอาตัวเองออกมาให้พ้นเงาอิทธิพลของรัสเซีย อดีตสหภาพโซเวียตซึ่งเป็นมหาอำนาจคอมมิวนิสต์ และมีกระแสการเมืองที่เรียกว่า ‘ประชาธิปไตยอเสรีนิยม’ หรือ ‘illiberal democracy’ ซึ่งกลายเป็นกระแสการเมืองหลักหลังช่วงทศวรรษที่ 2010 แต่เราก็ไม่สามารถสรุปได้เช่นกันว่าทั้ง 4 ประเทศเป็นเนื้อเดียวกันโดยสิ้นเชิง เพราะแค่ภาษา ทั้ง 4 ประเทศก็ใช้ไม่เหมือนกันแล้ว ซึ่งก็นำไปสู่ความต่างทางวัฒนธรรม หรือหากมองผ่านมุมมองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ก็มีทั้งประเด็นที่ทั้งวิเชกราดเห็นพ้องต้องกันเป็นเสียงเดียวเลยคือนโยบายต่อต้านการรับผู้อพยพและผู้ลี้ภัย และทั้งนโยบายไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกันเสมอไป เลือกจะดำเนินนโยบายแตกต่างกันตามสถานการณ์ อย่างเช่นนโยบายเกี่ยวกับพลังงาน เป็นต้น

 

ประชาธิปไตย ‘ไม่นิยมเสรี’?

 

ทราบกันดีว่าฮังการีเป็นหนึ่งในประเทศหลังม่านเหล็กฝั่งสหภาพโซเวียตในช่วงสงครามเย็น และเมื่อสงครามเย็นสิ้นสุด ก็มีการเปลี่ยนผ่านการปกครองจากระบอบคอมมิวนิสต์ไปสู่เสรีนิยมประชาธิปไตย รวมทั้งเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 2010 เราเห็นกระแสการเมืองแบบ illiberal democracy ทะยานขึ้นมา นายกรัฐมนตรีวิกเตอร์ ออร์บาน (Viktor Orbán) ซึ่งครองตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2010 จนถึงปัจจุบันก็มักจะกล่าวเน้นคำว่า illiberal democracy อยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นในสุนทรพจน์ บทสัมภาษณ์ หรือข้อเขียนของเขา นี่คือแนวคิดพื้นฐานที่อธิบายพลวัตของการเมืองฮังการีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

โดยทั่วไป เราน่าจะคุ้นกันดีกับแนวคิด ‘เสรีประชาธิปไตย’ ซึ่งเป็นระบอบการเมืองที่ไม่ได้มีแค่การเลือกตั้งบนฐานของกติกาที่เป็นธรรมเท่านั้น แต่ยังต้องให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค และหลักนิติธรรมด้วย จึงจะได้ชื่อว่าเป็นระบอบการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ในขณะที่การเมืองแบบ ‘ประชาธิปไตยอเสรีนิยม’ แม้ดูเผินๆ แล้วจะไม่ต่างจากระบอบประชาธิปไตยที่เราเข้าใจกัน เพราะมีกระบวนการทางการเมืองต่างๆ ที่ได้ชื่อว่า ‘เป็นประชาธิปไตย’ ไม่ว่าจะเป็นการจัดให้มีการเลือกตั้งรัฐสภา หรือลงประชามติเพื่อให้ความสำคัญกับ ‘เสียง’ ของประชาชน แต่สิ่งที่กลับขาดหายไปอย่างเห็นได้ชัดเจนคือ คุณค่าแบบ ‘เสรีนิยม’ อย่างหลักนิติธรรม สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หรือสิทธิเสรีภาพของสื่อ รวมทั้งปฏิเสธความหลากหลายทางวัฒนธรรม (multiculturalism) ซึ่งในกรณีของฮังการี การแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วงปี 2015 กลับนำไปสู่การบ่อนทำลายความเป็นอิสระของตุลาการ ประชาชนถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ซ้ำร้าย สื่อก็ถูกรัฐบาลควบคุมอย่างหนักหน่วง และนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อให้สอดรับกับวาระและอุดมการณ์ของรัฐบาล

 

โฉมหน้า ‘ประชาธิปไตยไม่นิยมเสรี’ แบบฮังกาเรียน : Billboard Campaign

 

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2015 ณ เวลานั้น ยุโรปคือปลายทางของผู้ลี้ภัยจากตะวันออกกลาง เราเห็นภาพน่าสลดใจอย่างภาพผู้อพยพจำนวนมหาศาลหนีตายจากสงครามในซีเรีย พยายามเข้ามายังชายแดนยุโรปทั้งจากทางบกและทางทะเล สหภาพยุโรปตัดสินใจออกนโยบายแก้ไขปัญหาวิกฤตมนุษยธรรมโดยการจัดสรรโควตารับผู้ลี้ภัยให้บรรดาประเทศสมาชิก อย่างไรก็ตาม วิกฤตผู้ลี้ภัยครั้งนี้เปลือยให้เห็นถึงการเมืองแบบ ‘ประชาธิปไตยไม่นิยมเสรี’ อย่างชัดเจน รัฐบาลออร์บานมีนโยบายต่อต้านการรับผู้อพยพ ซึ่งไม่ได้เพียงแค่ใช้ลวดหนามกั้นชายแดนไม่ให้ผู้อพยพเดินทางเข้ายุโรปผ่านชายแดนฮังการี และปฏิเสธการรับโควตาร่วมกับสหภาพยุโรปเท่านั้น แต่ยังแสดงออกให้เห็นอย่างชัดเจนผ่านการใช้สื่อต่างๆ จัดทำแคมเปญ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 เฟสด้วยกัน ทั้งข้อความและวิธีการต่างๆ ที่รัฐบาลใช้ในแคมเปญนี้ คือมิติหนึ่งของกระแสการเมือง ‘ประชาธิปไตยไม่นิยมเสรี’ แบบฮังการเรียนที่แสดงออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรม

Phase 1 : ‘If You Come To Hungary’

สิ่งที่รัฐบาลฮังการีทำคือ ติดป้ายบิลบอร์ดตาพื้นที่สาธารณะต่างๆ ที่ประชาชนทั่วไปจะเห็นได้ เช่น ตามป้ายรถเมล์ สถานีรถไฟใต้ดิน หรือทางเดิน มีข้อความที่ปรากฏบนบิลบอร์ด เช่น

“ถ้าคุณเข้ามาในฮังการี คุณห้ามแย่งงานคนฮังกาเรียน!” (“If you come to Hungary, you cannot take away the work of the Hungarians!”)

“ถ้าคุณเข้ามาในฮังการี คุณต้องเคารพวัฒนธรรมฮังกาเรียน!” (“If you come to Hungary, you have to respect our culture!”)

“ถ้าคุณเข้ามาในฮังการี คุณต้องเคารพกฎหมายของเรา!” (“If you come to Hungary, you have to respect our law!”)

หากมองอย่างผิวเผิน ข้อความต่างๆ เหล่านี้ อาจเป็นเพียงแค่สารที่รัฐบาลต้องการจะส่งถึงผู้อพยพ แต่หากพิจารณาป้ายเหล่านี้ให้ดี คำถามสำคัญคือ เขียนให้ใครอ่าน? เพราะรัฐบาลเลือกเขียนป้ายเป็นภาษาฮังกาเรียน แน่นอนว่าหากมีผู้ลี้ภัยที่เพิ่งเข้ามา พวกเขาย่อมอ่านภาษาฮังกาเรียนไม่ออกแน่นอน ดังนั้น ผู้รับสารที่แท้จริงที่รัฐบาลฮังการีพยายามจะสื่อสารด้วยคือประชาชนชาวฮังกาเรียน และเมื่อประชาชนรับสารเช่นนี้ในชีวิตประจำวันทุกวัน ย่อมสร้างทัศนคติต่อต้านผู้อพยพในหมู่ประชาชน และสร้างความเข้าใจในแบบที่รัฐบาลอยากให้ประชาชนเข้าใจผู้อพยพว่าจะเข้ามาแย่งงานคนฮังการี บ่อนทำลายเศรษฐกิจ ทำลายวัฒนธรรมคริสเตียนของฮังการีด้วยการนำวัฒนธรรมอิสลามเข้ามาผ่านผู้อพยพ

ยิ่งไปกว่านั้น ออร์บานยังสื่อสารกับประชาชนชาวฮังกาเรียนโดยตรงผ่านเอกสาร national consultation ฉบับแรกโดยแนบแบบสอบถามไปพร้อมกันด้วย ซึ่งคำถามที่อยู่ในแบบสอบถาม มีลักษณะการตั้งคำถามที่ชี้นำคำตอบให้เป็นไปในทางที่รัฐบาลอยากให้เป็น รวมทั้งเป็นคำถามที่สร้างวาทกรรมต่างๆ ที่สร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับผู้อพยพชาวมุสลิมแก่สังคม เช่น

“คุณจะสนับสนุนการปรับนโยบายรับผู้อพยพของรัฐบาลฮังการีให้เข้มงวดขึ้น ซึ่งตรงกันข้ามกับนโยบายที่หละหลวมของบรัสเซลส์หรือไม่” (“Would you support the Hungarian government in the introduction of more stringent immigration regulation, in contrast to Brussels’ policies?”)

“คุณเห็นด้วยหรือไม่ที่รัฐบาลฮังการีจะออกนโยบายสนับสนุนครัวเรือนฮังการีมากกว่าผู้อพยพ” (“Do you agree with the Hungarian government that support should be focus more on Hungarian’s family and children they have, rather than on immigration?”) เป็นต้น

Phase 2 : ‘Did You Know?’ and ‘Let’s Stop Brussels’

ในระยะต่อมา แคมเปญ ‘Did You Know?’ มุ่งเป้าโจมตีไปที่สหภาพยุโรป ซึ่งออกระบบจัดสรรโควตาผู้ลี้ภัย บังคับให้ประเทศสมาชิก รวมทั้งฮังการีต้องรับผู้ลี้ภัยที่เข้ามาอาศัยในยุโรป ตัวอย่างข้อความจากป้ายบิลบอร์ดของแคมเปญนี้ ได้แก่

“ทราบหรือไม่ว่า บรัสเซลส์กำลังจะส่งผู้ลี้ภัยจำนวนเท่าประชากรในเมืองเมืองหนึ่งเข้ามาในฮังการี?” (“Did you know that Brussels wants to deport the equivalent of a town of migrants to Hungary?”)

“ทราบหรือไม่ว่า ตั้งแต่มีวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัย จำนวนคดีล่วงละเมิดผู้หญิงเพิ่มขึ้นอย่างมากในยุโรป?” (“Did you know that since the start of the migration crisis, there has been a sharp increase in the cases of harassment against women in Europe?”)

ปัญหาอยู่ที่ว่า ข้อมูลที่รัฐบาลนำมาประกอบคำถามเหล่านี้ ไม่ได้มีหลักฐานเชิงสถิติที่ชัดเจนมารองรับว่าเป็นความจริง และในความเป็นจริง นโยบายเฉลี่ยโควตาของสหภาพยุโรปเป็นไปเพื่อแบ่งเบาภาระของประเทศที่เป็นหน้าด่านของยุโรปอย่างอิตาลีและกรีซ ตามกฎบัตรสหภาพยุโรปที่บอกไว้ว่าประเทศสมาชิกต้องมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน พูดอีกอย่างหนึ่งคือ รัฐบาลกำลังกล่าวอ้างว่าสหภาพยุโรปคือ ‘ชนชั้นนำทางการเมือง’ (elites) ที่ออกนโยบายเป็นปฏิปักษ์กับฮังการี คุกคามประชาชนชาวฮังกาเรียน โดยการบีบบังคับให้ฮังการีรับผู้ลี้ภัยต่างชาติต่างศาสนาเข้ามารุกรานประเทศ และวิธีการตั้งคำถามยังสะท้อนอีกว่า รัฐบาลออร์บานพยายามวางตนเองว่ายืนเคียงข้างประชาชน ปกป้องประชาชนจากสหภาพยุโรปและผู้อพยพ ซึ่งสะท้อนแนวคิดแบบขวาประชานิยมได้อย่างดี

หลังจากออกแคมเปญ ‘Did You Know?’ ออกมาแล้ว ต่อจากนั้นรัฐบาลก็ออกแคมเปญภายใต้ซีรีส์เดียวกันในชื่อ ‘Let’s Stop Brussels’ แต่จุดที่น่าสังเกตคือ แคมเปญนี้ออกมาในช่วงก่อนการลงประชามติว่าฮังการีจะยอมรับหรือไม่ยอมรับโควตาผู้ลี้ภัยที่สหภาพยุโรปจัดสรรให้ และแน่นอนว่า รัฐบาลก็ส่งเอกสาร national consultation ฉบับที่สองตรงไปยังประชาชนทุกคน ซึ่งชุดคำถามก็ยังคงเกี่ยวกับปัญหาผู้อพยพในลักษณะที่ชี้นำให้เกลียดกลัวผู้ลี้ภัยเช่นเดียวกัน และยังเลือกคำตอบได้แค่ ‘ใช่หรือไม่’  ตัวอย่างคำถามจากชุดคำถาม เช่น

“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายขึ้นทั่วยุโรปซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่กระนั้น บรัสเซลส์ยังบีบบังคับให้ฮังการีต้องรับผู้อพยพผิดกฎหมาย คุณคิดว่าฮังการีควรทำอย่างไร?” (“Terrorist attacks have followed one after another in Europe over the recent period. In spite of this, Brussels wants to force Hungary to receive illegal immigrants. What do you think Hungary should do?”)

Phase 3 : ‘Stop Soros’

นอกจากโจมตีไปยังผู้อพยพโดยตรง และโจมตีไปที่สหภาพยุโรปซึ่งเป็นเจ้าของนโยบายเปิดรับผู้อพยพแล้ว ในปี 2018 หลังจากออร์บานได้รับเลือกตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีติดต่อกันเป็นสมัยที่สาม รัฐบาลยังออกแคมเปญกล่าวหาจอร์จ โซรอส มหาเศรษฐีนายทุนระดับโลกชาวอเมริกันฮังกาเรียนเชื้อสายยิว เจ้าของฉายาพ่อมดการเงินผู้สนับสนุนสิทธิมนุษยชนว่า เขาคือผู้อยู่เบื้องหลังแผนการรับผู้ลี้ภัยของสหภาพยุโรป หนุนหลังให้สหภาพยุโรป “ทลายรั้วลวดหนามที่กั้นชายแดน” เพื่อให้ฮังการีเปิดประตูรับผู้อพยพจำนวนมหาศาลเข้ามาบ่อนทำลายสังคมฮังการี ‘ความเป็นโซรอส’ ที่ทั้งร่ำรวยจากการเล่นแร่แปรธาตุค่าเงิน จนเศรษฐกิจหลายประเทศอ่อนแอลง และจุดยืนที่สนับสนุนสิทธิเสรีภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม รวมทั้งภาพซ้อนทับจากมายาคติที่ว่าคนยิวคือนายทุนหน้าเลือด จึงทำให้โซรอสตกเป็นเป้าของรัฐบาลออร์บานในการออกแคมเปญต่อต้านแผนการหนุนหลังสหภาพยุโรปของโซรอส

เช่นเดียวกันกับ 2 แคมเปญก่อนหน้านี้ รัฐบาลออร์บานก็ไม่พลาดที่จะส่ง national consultation ฉบับที่ 3 เพื่อระดมความเห็นต่อ ‘แผนการของโซรอส’ จากประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่ ตัวอย่างคำถามจากชุดคำถาม เช่น

“จอร์จ โซรอสต้องการโน้มน้าวให้บรัสเซสล์พาผู้อพยพจากทวีปแอฟริกาและตะวันออกกลางเข้ามาตั้งถิ่นฐานในยุโรป รวมไปถึงในฮังการีด้วย คุณเห็นด้วยกับประเด็นนี้ในแผนการโซรอสหรือไม่?” (“George Soros wants to convince Brussels to resettle at least one million immigrants from Africa and the middle east annually on the territory of the European Union, including Hungary as well” Do you support this point of the Soros plan?)

เมื่อพิจารณาทั้ง 3 แคมเปญที่รัฐบาลสื่อสารผ่านป้ายบิลบอร์ด จะพบว่าสิ่งที่รัฐบาลทำนั้น คือการ ‘โฆษณาชวนเชื่อ’ ทางการเมืองอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างวาทกรรมความเกลียดกลัวต่อผู้อพยพชาวมุสลิมในแคมเปญครั้งแรก และสร้างวาทกรรมกล่าวหาว่าสหภาพยุโรปคือต้นเหตุที่เปิดให้กระแสผู้อพยพเข้ามาบ่อนทำลายฮังการี โดยร่วมมือกับนายทุนหน้าเลือดอย่างจอร์จ โซรอส ในครั้งที่ 2 และ 3 และทุกครั้งที่รัฐบาลออกแคมเปญโฆษณาชวนเชื่อ ก็จะต้องตามมาด้วยการส่งแบบสอบถามในนาม national consultation เพื่อนำผลคำตอบจากประชาชนมาสร้างความชอบธรรมให้กับนโยบายต่อต้านผู้อพยพของรัฐบาลว่า ประชาชนได้ยืนยันกับรัฐบาลโดยตรงแล้วว่า นี่คือเสียงที่แท้จริง ความต้องการที่แท้จริงของประชาชนที่จะปฏิเสธผู้อพยพ นี่คือการปฏิเสธคุณค่าแบบเสรีนิยมผ่านกระบวนการที่ดูเหมือนว่าเป็นประชาธิปไตย

 

ผู้อพยพ : แพะรับบาปทางการเมือง?

 

แม้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กระแสคลื่นการต่อต้านผู้อพยพจะสาดซัดทั่วยุโรป แต่เมื่อเทียบกับประเทศยุโรปตะวันตกอื่นๆ กระแสการต่อต้านผู้อพยพและความหลากหลายทางวัฒนธรรมอาจเรียกได้ว่าไม่เข้มแข็งเท่าบรรดากลุ่มประเทศวิเชกราดที่กระแสการเมืองเช่นนี้เติบโตได้ดีจนมีรัฐบาลที่แสดงจุดยืนและออกนโยบายมาอย่างชัดเจน

เหตุที่แนวคิดต่อต้านผู้อพยพและความหลากหลายทางวัฒนธรรมเติบโตได้ดีนั้น คิดว่าเป็นเพราะประชาชนในฮังการีและประเทศอื่นๆ ในกลุ่มวิเชกราดไม่รู้จักคนมุสลิมหรือคุ้นเคยกับวัฒนธรรมมุสลิมเท่าไหร่นัก สังเกตได้จากจำนวนมัสยิดที่มีน้อยมาก หรือกลุ่มคนมุสลิมที่อาศัยอยู่ในประเทศเหล่านี้ก็มีจำนวนอยู่เพียงหยิบมือหนึ่งเท่านั้น ในเมื่อไม่มีความเข้าใจต่อคนกลุ่มนี้ พอรัฐบาลใช้นโยบายควบคุมสื่อในการโฆษณาทางการเมืองเพื่อสร้างภาพจำว่าผู้อพยพคือผู้ที่จะเข้ามาบ่อนทำลายฮังการีทั้งในทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และความเป็นชาติ สิ่งที่รัฐบาลสื่อสารจึงกลายเป็นการสร้างวิธีมองชาวมุสลิมไปในทางลบให้แก่ประชาชน เพราะฉะนั้น ความเกลียด ความกลัวที่กล่าวมา จึงเป็น ‘the fear of unknown’ หรือความกลัวจากความไม่รู้ โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลคุมสื่ออื่นๆ อย่างเบ็ดเสร็จด้วยเช่นกัน ยิ่งทำให้รัฐบาลควบคุมสารที่จะส่งไปหาประชาชนได้ รวมทั้งควบคุมข้อมูลอื่นๆ ด้วยอีกเช่นกัน

เช่นเดียวกับประเทศวิเชกราดอื่นๆ ตลอดระยะเวลาประวัติศาสตร์ ฮังการีต้องเผชิญการบุกรุกจากต่างชาติมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นจากจักรวรรดิฮับส์บวร์ก นาซีเยอรมนี หรือสหภาพโซเวียต จะเห็นว่าชะตากรรมของประเทศมักมีจุดเปลี่ยนจากอิทธิพลภายนอก อย่างที่เราเห็นออร์บานออกมารำลึกครบรอบสนธิสัญญาทรียานง ซึ่งมีผลให้ฮังการีสูญเสียเขตแดนมหาศาล ประวัติศาสตร์เหล่านี้ถูกรัฐบาลออร์บานนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในฐานะ ‘ความเจ็บปวดสูญเสียร่วมของชาติ’ (national collective trauma) เพื่อสร้างความไม่พอใจต่อชาวต่างชาติและอิทธิพลจากต่างชาติในหมู่คนฮังการี โดยเฉพาะผู้อพยพชาวมุสลิมท่ามกลางบริบทของวิกฤตผู้ลี้ภัย และดำเนินนโยบายต่อต้านผู้อพยพที่ความไม่พอใจไปไกลถึงสหภาพยุโรป ซึ่งก็อาจมองได้ว่าเป็นอิทธิพลต่างชาติเช่นกัน หากมองด้วยสายตาแบบออร์บาน

อาจกล่าวได้ว่า แรงจูงใจของรัฐบาลพรรคฟิเดซภายใต้การนำของออร์บานในการหยิบยกประเด็นต่อต้านผู้ลี้ภัยขึ้นมานั้น มาจากเหตุผลทางการเมืองเพื่อรักษาอำนาจของตนเองให้อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปอีกได้หลายสมัย ก่อนหน้าที่ออร์บานและพรรคฟิเดซจะชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในปี 2010 หลังจากพรรคสังคมนิยมซึ่งเป็นรัฐบาลมาก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2002-2010 เพลี่ยงพล้ำเสียความนิยมลงอย่างมากหลังจากมีสปีชที่มีเนื้อหากระทบต่อความรู้สึกของประชาชนหลุดออกมาจากการประชุมพรรค และยอมรับว่าโกหกเกี่ยวกับการบริหารประเทศเพื่อให้ชนะการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ออร์บานได้คะแนนเสียงอย่างท่วมท้นในปี 2010 นโยบายปฏิรูปปรับเปลี่ยนกฎหมายเพื่อลดทอนอำนาจของสถาบันทางการเมืองอื่นๆ และให้ดุลอำนาจเอนมาอยู่ที่นายกรัฐมนตรีมากขึ้น ทำให้ความนิยมของประชาชนต่อรัฐบาลพรรคฟิเดซลดต่ำลง แต่วิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยในปี 2015 อาจเรียกได้ว่าโชคชะตาเข้าข้างออร์บานให้เขานำประเด็นการต่อต้านผู้ลี้ภัยมาใช้ในการสร้างการเมืองบนความหวาดกลัวและความเกลียดชัง รัฐบาลสามารถออกนโยบายที่ ‘ดูเหมือน’ จะเข้าข้างและปกป้องประชาชน ทั้งๆ ที่ความตั้งใจจริงที่ซ่อนอยู่คือเพื่อสร้างฐานเสียงให้เขาและพรรคชนะการเลือกตั้งต่อไป จนถึงปัจจุบัน พรรคฟิเดซเป็นรัฐบาลมา 10 ปีติดต่อกันแล้ว และสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ก็ยังเปิดโอกาสในการสืบทอดอำนาจอีก โดยการป้ายสีความผิดให้แก่ชาวต่างชาติว่าเป็นผู้ที่นำโรคระบาดมาสู่ฮังการี ยิ่งเมื่อเคสผู้ป่วยรายแรกๆ นั้นเป็นนักศึกษาชาวอิหร่านที่เข้ามาศึกษาต่อในกรุงบูดาเปสต์ ยิ่งทำให้การกล่าวอ้างเพื่อสร้างความกลัวต่อชาวต่าวชาติของรัฐบาลดูมีน้ำหนักขึ้น

กระแสการเมืองเสรีนิยม?

กระแสการเมืองแบบเสรีนิยมในฮังการียังพอมีที่ทางอยู่บ้าง เราอาจเห็นการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในสื่อกระแสรอง หรืออาจปรากฏอยู่ในรูปของการล้อเลียนนโยบายรัฐบาลของกลุ่มต่อต้านอย่างพรรค Two-Tailed Dog Party (MKKP) ซึ่งที่จริงแล้วเป็นพรรคการเมืองที่สร้างขึ้นมาเพื่อความบันเทิงขำขัน แต่ก็มีการส่งผู้แทนลงสมัครรับเลือกตั้งจริง สิ่งที่พรรคนี้ทำและโดดเด่นมากคือ ใช้สตรีตอาร์ตในการแสดงออกเพื่อต่อต้านรัฐบาล มีการพ่นกราฟิตีตามบริเวณต่างๆ ในกรุงบูดาเปสต์ หรือมีแม้กระทั่งติดป้ายบิลบอร์ดล้อเลียนแคมเปญของรัฐบาล ข้อความที่ล้อรัฐบาลก็เช่น “ขอโทษแทนนายกของเราด้วย” (“Sorry about our Prime Minister”) หรือ “เข้ามาในฮังการีได้เลย ยังไงคนฮังการีก็ทำงานอยู่ที่อังกฤษอยู่แล้ว” (“Feel free to come to Hungary, we already work in England anyway!”) ล้อไปกับข้อความจากแคมเปญของออร์บานที่พยายามจะบอกว่า ผู้อพยพจะเข้ามาแย่งงานคนฮังการี นอกจากนี้ยังมีการรณรงค์หรือทำกิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในหมู่ประชาชนชาวฮังการี

 

สหภาพยุโรปกับฮังการี: Love-Hate Relationship

 

หากถามว่าความสัมพันธ์ระหว่างฮังการีและสหภาพยุโรปเป็นอย่างไรนั้น เรียกได้ว่าเป็นความสัมพันธ์แบบย้อนแย้ง แม้ว่าออร์บานจะกล่าวโทษ หรือต่อว่าสหภาพยุโรปว่าเป็นผู้ที่บังคับให้ฮังการีเปิดประตูรับผู้อพยพ แต่ในขณะเดียวกัน ฮังการีก็ยังต้องพึ่งพางบประมาณจากสหภาพยุโรปในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ มาโดยตลอด และยิ่งไปกว่านั้น ฮังการีเป็นประเทศที่รับเงินสนับสนุนต่อหัวประชากรที่มากกว่าประเทศสมาชิกอื่นๆ ด้วย ความตลกร้ายก็คือ ป้ายแคมเปญต่อต้านสหภาพยุโรปของรัฐบาลติดอยู่บนรถไฟที่สร้างด้วยเงินทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรปเสียด้วยซ้ำ รวมทั้งสหภาพยุโรปยังเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของฮังการี แม้ว่าหน้าฉากหน้าจะโจมตีกันไปมา หรือกระทบกระทั่งกัน แต่ที่จริงแล้วจะเห็นได้ว่า ฮังการียังต้องพึ่งพาสหภาพยุโรปในทางเศรษฐกิจอย่างมาก ทั้งในเรื่องงบประมาณและการค้า ฮังการีมองสหภาพยุโรปเป็นแหล่งเงินทอง เป็นเพราะฉะนั้น ‘Hungaleave’ ที่เคยเป็นหนึ่งในกระแสร่วมกับปรากฏการณ์ Brexit จะไม่มีทางเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ส่วนสหภาพยุโรปในระยะหลังก็มีการตอบโต้การกระทำของออร์บานเช่นกัน เช่น ออกหนังสือชี้แจงตอบโต้ประเด็นที่ออร์บานกล่าวหา ปรับเงินจากการใช้งบประมาณที่ได้รับจากสหภาพยุโรป หรือการปฏิรูปกฎหมายจนหลักนิติธรรมและการคานอำนาจบิดเบี้ยว สหภาพยุโรปก็ใช้เป็นข้อต่อรองเรื่องงบประมาณได้เช่นกัน

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save