fbpx

การศึกษานโยบายต่างประเทศไทยตาม research program ontological security ของอาจารย์พีระ เจริญวัฒนนุกูล (หรือ ตามแนวคิด – ต่อทฤษฎี ฯ ตอนที่ 3)

ตามแนวคิด-ต่อทฤษฎี จากงานการต่างประเทศไทยของพีระ เจริญวัฒนนุกูล (ตอนที่ 1)

ตามแนวคิด-ต่อทฤษฎี จากงานการต่างประเทศไทยของพีระ เจริญวัฒนนุกูล (ตอนที่ 2)

ที่มา

ห่างหายไปจาก the101.world นานหลายเดือน จนกระทั่งข้ามปีใหม่มา ทั้งที่ตั้งใจจะเขียนบทความแนะนำวิธีอ่านแบบอิง research program ที่ได้เขียนออกโรงค้างไว้ 2 ตอน ยังไม่ทันจะได้เข้าถึงตอนสำคัญ คนเขียนก็มีงานจรมาแทรก จนต้องว่างร้างไป กองบรรณาธิการได้ติดตามถามไถ่ต้นฉบับอยู่หลายรอบ จนอ่อนใจไปกับคนเขียน

ส่วนคนเขียนก็เกรงใจอาจารย์พีระ เจริญวัฒนนุกูล ยิ่งนัก เพราะท่านกรุณาให้ยืมผลงานเรื่อง Ontological Security and Status-Seeking: Thailand’s Proactive Behaviors during the Second World War (2020) มาเป็นอุปกรณ์แสดงวิธีอ่านแบบหนึ่งในการตั้งประเด็น “คิดตามแนวคิด – คิดต่อจากทฤษฎี” โดยหวังให้นิสิตแรกเรียนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (IR) มีเครื่องมือช่วยทำความเข้าใจงานวิชาการที่อ่านได้ดียิ่งขึ้น และจากความเข้าใจนั้น จะได้ใช้กรอบความคิดและวิธีอธิบายปรากฏการณ์ที่พบในงานวิชาการ อ่านขยายผลต่อออกไปได้อีกหลายทาง

เพื่อไม่เป็นการรบกวน the101.world ที่จะส่งงานค้างข้ามปี ซึ่งความจริงไม่ใช่บทความ แต่เป็นเอกสารคำสอน ไปขอแทรกพื้นที่ลงในปีใหม่ และเพื่อเขียนงานที่ค้างอยู่ออกมาเป็นสื่อการเรียนวิชานโยบายต่างประเทศ ตามที่ขออนุญาตอาจารย์พีระไว้ให้สำเร็จออกมา จึงนำส่วนที่เขียน ซึ่งควรเป็นบทความตอนที่ 3 ไปเสนอไว้ทางเฟสบุ๊คแทน แต่คุณสมคิด พุทธศรี พี่ บ.ก. ผู้มีไมตรี ก็แจ้งให้ข้าพเจ้าทราบว่า อาจารย์ส่งมาเถิด ทางวันโอวันยินดีให้อภัยทุกประการในความล่าช้า ข้าพเจ้าเลยรีบคว้าโอกาส ฝากสื่อการเรียนทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเรื่องนี้กลับมาเผยแพร่ที่วันโอวันอีกครั้ง

บทความในรูปสื่อการเรียนตอนนี้จะพานิสิตแรกเรียนเข้าสู่การทำความรู้จักกับ research program โดยใช้ ontological security ในงานของอาจารย์พีระเล่มที่กล่าวถึงข้างต้น ทั้งส่วนที่เป็นฐานคิดหรือฐานคติแกนหลักที่พาผู้ศึกษามองความเป็นจริงในโลกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และส่วนที่เป็นข้อเสนอคำอธิบายจากสมมติฐานและแนวคิดที่มาจากฐานคติแกนหลักของ research program ดังกล่าว

อะไรคือ Research Program?

IR ได้วิธีจัดและวิธีติดตามการพัฒนาองค์ความรู้ที่แยกตาม research program มาจากนักปรัชญาวิทยาศาสตร์คนสำคัญคือ Imre Lakatos (1922-1974) ปีนี้เป็นวาระครบ 100 ปีเขาพอดี การอภิปรายเกี่ยวกับพัฒนาการองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และข้อโต้แย้งของ Lakatos รวมทั้งข้อโต้แย้งต่องานของ Lakatos ที่มีตามมมา มิใช่เรื่องหลักของเรา การนำเสนอในที่นี้มีเพียงองค์ประกอบสำคัญของ research program ที่นักจัดระบบและพัฒนาองค์ความรู้ในสาขาวิชา IR กลุ่มหนึ่งยืม Lakatos มาใช้เป็นกรอบติดตามและประเมินความก้าวหน้าขององค์ความรู้ใน research program หนึ่งๆ

อาจกล่าวได้ว่า research program เป็นศูนย์สร้างความรู้จากฐานคิดและการประกอบแนวคิดกลุ่มหนึ่งขึ้นมาใช้ทำความเข้าใจการทำงานของโลก และเสนอคำอธิบายปัญหาเกี่ยวกับโลกส่วนนั้น โดยแต่ละ research program จะมีฐานคิดแกนหลักแตกต่างกัน เรียกว่าถ้าจะเข้ามาศึกษาหาทางเข้าใจโลกการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและสร้างความรู้อยู่ใน research program ใด ก็จะต้องรับฐานคิดหรือฐานคติแกนหลักของ research program นั้นก่อน เมื่อรับฐานคิดแกนหลักสำหรับพิจารณาโลกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของ research program ใดแล้ว ฐานคิดดังกล่าวจะให้ทางพิเคราะห์แก่ผู้ศึกษา ว่าสภาวะของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศใน research program นั้นมีสภาพเป็นอยู่คืออย่างไร มีอะไรเป็นองค์ประกอบสำคัญ องค์ประกอบเหล่านั้นสัมพันธ์ต่อกันอย่างไรทั้งในส่วนที่รักษาการคงสภาพ และส่วนที่ก่อพลังหนุนให้เกิดความขัดแย้ง การเคลื่อนไหว และการเปลี่ยนแปลง ผู้ศึกษาจะสร้างความรู้ใน research program ขึ้นมาได้ก็โดยการเสนอคำอธิบาย –หรือโต้แย้งคำอธิบายที่มีอยู่ก่อนและเสนอคำอธิบายใหม่ที่ดีกว่ามาแทน– จากการประกอบแนวคิดและสมมติฐานที่มาจากการมองโลกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตามฐานคิดแกนหลักนั้น

research program ในทางวิทยาศาสตร์มีการวัดความก้าวหน้ากันอย่างเคร่งครัด ฝ่ายสังคมศาสตร์และ IR ที่ยืมกรอบการติดตามความก้าวหน้าขององค์ความรู้จากการศึกษาวิจัยในทางวิทยาศาสตร์ของ Lakatos มาใช้ ต่างก็เข้าใจความแตกต่างว่า จะยึดการวัดอันเคร่งครัดตามต้นแบบที่ Lakatos วางไว้ไม่ได้ถนัด แต่ก็เห็นว่ากรอบ research program ของเขาเสนอการจำแนกองค์ประกอบทางทฤษฎี ที่ชี้ให้เห็นว่า การที่องค์ความรู้และการสร้างความรู้เกี่ยวกับเรื่องหนึ่งๆ จะพัฒนาต่อไปได้ กลุ่มวิชาการที่ทำงานศึกษาในด้านนั้นด้วยฐานคิดทางทฤษฎีแบบหนึ่ง ควรสร้างความรู้ต่อทางกันไปอย่างไร [1] 

Lakatos เสนอว่าองค์ประกอบส่วนสำคัญที่สุดของ research program หนึ่งๆ ได้แก่ส่วนที่วางรากฐานวิธีคิดสำหรับการจับปัญหาหรือเรื่องราวในโลกขึ้นมาศึกษา ส่วนนี้จัดเป็นส่วนฐานคิดแกนหลักหรือ hard core ของ research program และดังที่กล่าวมาข้างต้น การทำงานศึกษาวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศใน research program ใด ถ้าหากยังต้องการอยู่ใน research program นั้นต่อไป จะทิ้งส่วนที่เป็น hard core นี้ไม่ได้

เช่น ถ้าหากจะอยู่ใน institutionalist research program จะมาเลิกมองว่าสถาบัน และแบบแผนวิถีปฏิบัติตลอดจนกฎเกณฑ์กติกาที่ลงหลักปักฐานจนกลายสถาบันขึ้นมาว่าไม่มีผลสำคัญต่อพฤติกรรมและการอธิบายพฤติกรรม หรือไม่มีความสำคัญต่อการกำหนดผลลัพธ์ในความสัมพันธ์ทางสังคมแต่อย่างใดเลย ทั้งหมดมาจากอำนาจบังคับล้วนๆ อย่างนี้ไม่ได้ ถ้าใครเสนอการอธิบายออกมาอย่างนี้ ก็เท่ากับว่าเขาได้ทิ้งหรือออกจาก institutionalist research program ไปแล้ว

ทีนี้เมื่อฐานคิดแกนหลักหรือ hard core เป็นส่วนที่ต้องเก็บไว้ไม่ไปแตะต้อง คำถามคือ ในการพัฒนาความรู้ต่อไป จะทำได้จากตรงไหน และจะต่อทางกัน โต้แย้งกัน และสานต่อจากกันในหมู่ผู้ที่ศึกษาอยู่ใน research program เดียวกันเพื่อสร้างความรู้นั้นให้ขยับขยายต่อออกไปได้อย่างไร ที่จะทำให้ research program นั้นมีความก้าวหน้า?

ตามข้อเสนอของ Lakatos ความก้าวหน้าของ research program หมายถึงมีการสร้างความรู้ใหม่ๆ ออกมาได้เรื่อยๆ จากฐานคิดแกนหลักของ research program โดยพิจารณาจากความสามารถที่ research program นั้นจะเสนอคำอธิบายปรากฏการณ์ในการเมืองระหว่างประเทศ ไขความเข้าใจปัญหาในนโยบายต่างประเทศ หรือจัดวิธีอธิบายที่เหมาะสมเพื่อแก้ anomaly หรือผลลัพธ์และเรื่องราวที่เหมือนว่าแย้ง ขัด หรือไม่เกิดไม่เป็นไปอย่างที่น่าจะเป็นตามที่ฐานคิดของ research program นั้นใช้ทำความเข้าใจโลก 

ความสามารถในการสร้างคำอธิบายของ research program จึงมาจากองค์ประกอบส่วนที่ชี้แนะให้แนวคิดและแนวทางไขปัญหาสำหรับพัฒนาและสร้างความรู้ เรียกกันในชื่อเฉพาะว่า positive heuristics แนวคิดที่ให้แนวทางสร้างความรู้ส่วนนี้จะนำไปสู่การสร้างข้อเสนอคำอธิบายออกมา ที่เรียกในภาษาของ Lakatos ว่า auxiliary hypothesis

และในส่วนหลังสุดนี้เองที่คนทำงานใน research program เดียวกันจะเสนอออกมาต่อทางกัน หรือโต้แย้งกัน เพื่อแก้จุดอ่อนในคำอธิบายเดิมที่มีอยู่ให้เป็นคำอธิบายที่มีเงื่อนไขชัดเจนและรัดกุมยิ่งขึ้น เพื่อขยายผลแนวคิดสำคัญของ research program ให้อธิบายได้กว้างขวางยิ่งขึ้น และสามารถเสนอมุมมองและความเข้าใจใหม่เข้าแทนที่ความเข้าใจและคำอธิบายเดิมๆ ที่มีอยู่ และยังอธิบายเกี่ยวกับปรากฏการณ์ใหม่ๆ ปัญหาใหม่ๆ ได้มากขึ้นอีก รวมทั้งจัดคำอธิบายเหตุการณ์ที่เป็น anomalies ของ research program นั้นได้อย่างหนักแน่นสมเหตุสมผล การจะวัดความก้าวหน้าของ research program เขาพิจารณากันที่ความสามารถเหล่านี้

เพื่อความเข้าใจดีขึ้น และคนเขียนหวังว่าจะไม่ก่อความสับสนให้แก่นิสิตแรกเรียน เราจะดูตัวอย่างการสร้างความรู้ใน research program จากงานของอาจารย์พีระ ที่ศึกษาการต่างประเทศไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายใต้การนำของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

Ontological Security Research Program ในงานของอาจารย์พีระ

เมื่อพิจารณาข้อเสนอทางทฤษฎีและคำอธิบายการต่างประเทศไทยในงานของอาจารย์พีระ เราจะเห็นองค์ประกอบของ research program ที่อาจารย์ใช้อย่างชัดเจนว่าส่วนไหนเป็นส่วนที่เป็นสมมติฐานในการสร้างความรู้ และดังนั้น จึงเป็นส่วนที่เปิดให้โต้แย้งได้ เพื่อให้ความรู้ของ research program ขยายออกไป ส่วนไหนจัดว่าเป็นส่วน hard core ของ research program ที่ถ้าหากเราเห็นว่า research program ที่อาจารย์ใช้ศึกษาการต่างประเทศไทยน่าสนใจ เราก็ต้องรับส่วนที่เป็น hard core หรือฐานคิดแกนหลักนี้ไว้ก่อน ไม่เปิดประเด็นแย้งในส่วนนี้  เพราะถ้าไปแย้งเข้า อาจารย์พีระก็อาจตอบกลับมาง่ายๆ ว่าอาจารย์กับเราไม่ได้อยู่ใน research program เดียวกันเสียแล้ว และคงไม่มีประโยชน์ที่จะคุยกันต่อเพราะไม่ได้ช่วยอาจารย์พัฒนาความรู้ตาม research program ที่อาจารย์สนใจให้ขยายก้าวหน้าต่อไปได้ แม้ว่าข้อโต้แย้งที่มุ่งโจมตีที่ข้อจำกัดในฐานคิดแกนหลักหรือ hard core ของ research program หนึ่งอาจมีประโยชน์ทางวิชาการอยู่บ้างก็ตาม เช่น การแสดงข้อจำกัดของ research program หนึ่งเพื่อเป็นเหตุผลที่จะข้ามไปเลือก research program อื่น  

ในการจัดข้อเสนอทางทฤษฎีและคำอธิบายการต่างประเทศไทยของอาจารย์พีระเข้ากรอบ research program ขอทบทวนอีกครั้งว่าอาจารย์เสนอความเข้าใจการดำเนินนโยบายต่างประเทศไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม (1938 – 1944) ออกมาใหม่  ที่ว่าใหม่ในที่นี้มิได้หมายความว่า มีข้อค้นพบใหม่ในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลสมัยนั้นในส่วนที่ไม่มีใครเคยทราบมาก่อน แต่ใหม่ในแง่ที่ว่า

  • อาจารย์พีระเสนอความหมายใหม่ให้แก่นโยบายต่างประเทศของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ใช้มาตรการทางการทหารเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมเกี่ยวกับเส้นเขตแดนและอำนาจการปกครองดินแดนในภูมิภาค ตามมาด้วยการเข้าร่วมสงครามฝ่ายเดียวกับญี่ปุ่นต่อประเทศสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 2 ว่าการดำเนินนโยบายเชิงรุก (proactive) ดังกล่าวเป็นการดำเนินนโยบายเพื่อแสวงหาสถานภาพระหว่างประเทศ
  • อาจารย์เสนอคำอธิบายนโยบายแสวงหาสถานภาพระหว่างประเทศของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามว่ามีที่มาจาก trauma หรือบาดแผลในใจผู้นำไทยอันเกิดจากประสบการณ์ความสัมพันธ์กับประเทศตะวันตกในอดีต ที่สร้างความกระทบกระเทือนต่อเกียรติภูมิและสถานะอำนาจของประเทศชาติ 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสียอำนาจปกครองเมืองประเทศราชที่เคยมีอยู่ในสมัยที่สยามยังเป็นรัฐแบบเดิม และไม่อาจผนวกเมืองเหล่านี้เข้ามาไว้ในพระราชอาณาเขตได้เมื่อสยามเปลี่ยนมาจัดอำนาจการปกครองรัฐตามตัวแบบรัฐอธิปไตยของตะวันตก โดยประสบการณ์อันสร้างความกระทบกระเทือนต่อสถานะและอำนาจอธิปไตยของสยามมากที่สุด เมื่อมองย้อนกลับคืนมา คือเหตุการณ์ ร.ศ. 112 บาดแผลทางใจนี้จะเยียวยาได้ก็โดยการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมของดินแดนที่ประเทศเจ้าจักรวรรดินิยมได้ยึดครองไว้และโดยการประกาศชัยชนะทางการรบและได้ดินแดนที่ควรอยู่ในพระราชอาณาเขตกลับคืนมา

และ

  • ข้อเสนอการตีความและคำอธิบายใหม่ของอาจารย์มาจาก research program ที่อาจารย์ใช้เป็นกรอบศึกษาการต่างประเทศไทย คือ ontological security ที่เสนอให้พิจารณาความมั่นคงของรัฐ ว่ามิได้มีแต่ส่วนที่เป็นเรื่องการรักษากายภาพของดินแดน ทรัพยากร หรือการรักษา แสวงหา และเพิ่มพูนขีดความสามารถอำนาจรัฐที่เป็นวัตถุรูปธรรมเท่านั้น แต่ส่วนสำคัญ –และต้องให้ความสำคัญไม่แพ้ด้านที่เป็นวัตถุกายภาพ– ยังอยู่ที่นามธรรมความหมายหลายชั้นที่มีอยู่ในความสัมพันธ์ทางสังคม และความหมายที่ก่อตัวขึ้นมาจากปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่แต่ละคนหรือแต่ละฝ่ายกระทำ-ดำเนินต่อกัน

ความหมายเหล่านี้ส่งผลต่อการก่อรูปอัตลักษณ์ตัวตน ต่อการรับรู้และความเข้าใจตนเอง ต่อสภาวะทางความคิด ความมุ่งมาดปรารถนา และความคาดหวังทั้งความสัมพันธ์ในส่วนที่ตนเองเห็นว่าน่าพอใจ และความสัมพันธ์ในส่วนที่ยังไม่น่าพอใจ  

ในแง่นี้ แทนที่จะตั้งต้นเหมือนงานศึกษาภัยคุกคามความมั่นคงใน realist research program ที่พิจารณาองค์ประกอบและเหตุปัจจัยจากด้านที่เป็นวัตถุรูปธรรมในสภาพแวดล้อมว่าสร้างปัญหาความมั่นคงต่อรัฐขึ้นมาแบบไหน research program ที่อาจารย์พีระใช้ เลือกตั้งต้นทำความเข้าใจความมั่นคงจากความคิดความเข้าใจเกี่ยวกับสภาวะของตนเอง อันมีที่มาจากความหมายในความสัมพันธ์ทางสังคม และจากความหวั่นไหวมากน้อยในความคิดจิตใจและอารมณ์ความรู้สึก อันเป็นผลมาจากความสัมพันธ์และจากความหมายและความเข้าใจตนเองดังกล่าว

ontological (in)security จึงเป็นสภาวะความรู้สึกนึกคิดภายในใจ ภายในตัวตน ที่ส่งผลต่อการพิจารณาความหมายของสภาวะเป็น-อยู่-คือที่ตนเองประสบพบผ่านมา ทั้งในด้านวัตถุรูปธรรมและในด้านนามธรรม ที่สร้างแรงมุขึ้นมาเป็นพลังขับดันให้คิดตั้งเป้าหมายที่จะเปลี่ยนแปลง และหาหนทางหาวิธีการที่เป็นไปได้ในการเปลี่ยนแปลงสภาวะดังกล่าวนั้นใหม่ ให้เป็นไปตามความหมายและเพื่อให้ได้มาซึ่งความหมาย ที่จะช่วยให้ตัวตนและสภาวะความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับตัวตนหลุดพ้นจากแรงกดดันและความบีบคั้น ที่สร้างความดิ้นรน ความรู้สึกว่ายังขาดพร่อง หรือความไม่มั่นคงภายในความคิดจิตใจของตนตลอดมา

ความสนใจที่จะศึกษาส่วนที่เป็นนามธรรมความรู้สึกนึกคิดเช่นนี้จึงตั้งโจทย์ยากในทางวิธีวิทยาให้อาจารย์ต้องหาทางแก้ ว่าจะศึกษาโดยใช้แนวทางใด

ข้อเสนอของอาจารย์พีระข้างต้น เมื่อเรานำมาจัดเรียงลงในองค์ประกอบส่วนต่างๆ ของ research program ตามแนวคิด/ภาษาแบบ Lakatos ก็จะได้ออกมาดังนี้

องค์ประกอบส่วนแรกที่เป็น Hard Core หรือฐานคิดหรือฐานคติแกนหลักได้แก่ส่วนที่เสนอว่า ความมั่นคงของรัฐมิได้มีแต่ด้านกายภาพ แต่ยังมีความมั่นคงด้านที่เกี่ยวข้องกับตัวตนและความเข้าใจตนเองของรัฐ ว่ามีความพอใจเพียงใดในสิ่งที่ตัวเองเป็น และมีความมั่นใจ/แน่ใจเพียงใดว่าจะกุมสภาพที่เป็นนั้นต่อไปได้อย่างไร (อ่านบทความตอนที่ 2 ประกอบ)

องค์ประกอบส่วนที่ 2 ที่ควรกล่าวถึง คือส่วนที่ Lakatos เรียกว่า Positive Heuristic อันเป็นองค์ประกอบส่วนที่ให้แนวทาง/ ชี้ประเด็นการสร้างความรู้ต่อจาก hard core หรือฐานคิดหลัก

ในงานของอาจารย์พีระ ส่วนนี้ได้แก่ เรื่องสถานภาพของรัฐในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กล่าวคือ เมื่อมีตัวตนและความเข้าใจตนเองของรัฐเป็น hard core ของ research program ส่วนที่ชี้ทางศึกษาต่อ คือการแนะให้ศึกษาการแสวงหาและรักษาสถานภาพของรัฐ กับการส่งผลของสถานภาพระหว่างประเทศต่อความเข้าใจตนเอง ที่จะก่อให้เกิดความมั่นใจพอใจ/ ไม่มั่นใจหรือยังไม่พอใจในตัวตนของรัฐตามมา

องค์ประกอบส่วนที่ 3 ของ research program คือส่วน hypotheses หรือสมมติฐานสำหรับสร้างความรู้เกี่ยวกับความมั่นคงเชิงภวสภาพหรือ ontological security ออกมา

เมื่อส่วนที่เป็น hard core ของ research program เป็นส่วนสำคัญที่ต้องรักษาไว้เสมอไม่นำมาพิสูจน์ถูกผิด งานของอาจารย์พีระจึงไม่ใช่การมาพิสูจน์ถึงการมีอยู่ของ ontological security โดยตรง แต่อยู่ที่การเสนอสมมติฐานเพื่อสร้างความรู้จากฐานคิดเรื่องนี้ และสมมติฐานส่วนนี้เอง ที่อาจารย์จะเสนอหลักฐานในเชิงประจักษ์ตามวิธีวิทยาที่อาจารย์เลือก เพื่อมายืนยันว่าเป็นไปตามที่คำอธิบายที่สมมติฐานเสนอไว้หรือไม่

ถ้าพิจารณาข้อเสนอสำคัญในงานศึกษาของอาจารย์พีระตามที่สรุป 3 ข้อข้างต้น ข้อที่ 3 คือส่วนที่จัดเป็นฐานคติแกนหลักหรือ hard core ของ research program ว่าด้วย ontological security ที่อาจารย์ใช้ศึกษาการต่างประเทศไทย ส่วนนี้คือฐานคิดในการมองรัฐในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศว่า ทุกรัฐต่างมีตัวตน มีการรับรู้และมีความเข้าใจเกี่ยวกับตัวตนของตนเองที่ได้มาจากปฏิสัมพันธ์ที่มีกับรัฐและตัวแสดงอื่นๆ ในความสัมพันธ์ทางสังคมในโลกส่วนที่เรียกรวมๆ ว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการทำความเข้าใจตัวตนของรัฐคือการหาทางเข้าใจแรงผลักดันภายในที่ส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิด ต่อความหวัง ความคาดหวัง ความปรารถนาและการกระทำของรัฐ ที่แสดงออกมาในการตัดสินใจของผู้นำ หรือการดำเนินการเพื่อนำนโยบายที่ตัดสินใจแล้วไปปฏิบัติ 

ส่วนด้านที่เป็นสาเหตุของ ontological insecurity ในการต่างประเทศไทยสมัยจอมพล ป. ในช่วงสงครามโลก (ข้อ 2) กับด้านที่เป็นผลที่ตามมาจากการคิดหาทางและการดำเนินการเพื่อแก้ไขความไม่มั่นคงนั้น (ข้อ 1) ถ้าว่าโดยภาษาของ research program ส่วนนี้เป็นสมมติฐานที่อาจารย์พีระเสนอขึ้นมาเพื่อสร้างความรู้เกี่ยวกับการต่างประเทศไทยจากฐานคิดเรื่อง ontological security และในส่วนที่เป็นสมมติฐานตรงนี้เอง ที่ใครสนใจต่อทางการศึกษาและสร้างความรู้ใน research program นี้ต่อไป จะเข้ามาร่วมอภิปรายกับอาจารย์พีระ ไม่ว่าจะเพื่อสนับสนุน ถกเถียง โต้แย้ง รวมทั้งเสนอสมมติฐานอื่นที่เห็นว่าน่าจะอธิบาย ontological insecurity ของไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ดีกว่าที่อาจารย์พีระเสนอไว้ได้  แล้วถ้าสมมติฐานใหม่ที่เสนอเข้ามาแทนนั้นไม่เพียงแต่จะอธิบายการดำเนินนโยบายต่างประเทศไทยของจอมพล ป. พิบูลสงครามสมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ แต่ยังสามารถอธิบายการต่างประเทศไทยในสมัยก่อนหน้าและที่ตามมาหลังจากนั้นได้ดีด้วย ก็ถือได้ว่าสมมติฐานที่เสนอเข้ามาแทนนี้ช่วยขยายความรู้ของ research program ให้มีความก้าวหน้าต่อไปจากที่อาจารย์พีระทำไว้

หรืออาจารย์พีระเอง ท่านอาจเลือกนำคำอธิบายตามสมมติฐานที่เสนอไว้ในเรื่อง trauma จากผลของการเผชิญกับจักรวรรดินิยมตะวันตกที่ทำให้ไทยเป็นฝ่ายสูญเสียดินแดน กับการดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบ proactive ที่มุ่งแสวงหาการยกระดับสถานะระหว่างประเทศเพื่อลบบาดแผลในใจ และฟื้นคืนความมั่นคงในความคิดจิตใจเกี่ยวกับตัวตนของไทยกลับคืนมา ไปขยายผลสร้างความรู้จาก research program นี้ต่อไปอีกเพื่ออธิบายพฤติกรรมการต่างประเทศไทยในช่วงเวลาอื่น ก็ทำได้เช่นกัน

เช่น ในช่วงปลายและภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยมีข้อริเริ่มนโยบายต่างประเทศที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมในประเทศเพื่อนบ้านในแนวทางที่แตกต่างไปจากการดำเนินนโยบายก่อนหน้านั้นของจอมพล ป. อย่างน่าสนใจ และเมื่อจอมพล ป. กลับคืนมามีอำนาจอีกครั้งหนึ่งหลังรัฐประหาร 2490 แนวทางการต่างประเทศไทยต่อประเทศเพื่อนบ้านก็จะพลิกเปลี่ยนไปอีกทาง แตกต่างจากที่อาจารย์ปรีดีได้ริเริ่มไว้ และที่สำคัญคือแตกต่างไปจากนโยบายที่จอมพล ป. ดำเนินในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วย นั่นคือเปลี่ยนจากการสู้กับฝรั่งเศสในอินโดจีนเปลี่ยนมาเป็นการสนับสนุนการกลับคืนมาของจักรวรรดินิยมฝรั่งเศส ถ้าเราเข้าใจว่าการดำเนินการเพื่อสู้กับฝรั่งเศสให้ได้ดินแดนคืนมาเกี่ยวกับ ontological security ของไทย การเปลี่ยนแปลงแนวทางนโยบายต่างประเทศโดยผู้นำคนเดียวกันในระยะห่างกันเพียงไม่กี่ปีไปในทางตรงข้าม ชวนให้ตั้งข้อกังขาขึ้นมาได้ว่า นี่อาจจะเป็น anomaly หรือข้อผิดปกติแบบหนึ่งหรือไม่ ที่ตั้งข้อเรียกร้องจากอาจารย์พีระและ ontological security research program ให้จัดคำอธิบายออกมาให้ลงตัวสำหรับอธิบายพฤติกรรมการต่างประเทศไทยอย่างน้อยในระยะ 15-16 ปีต่อจากปี 1940/41  

ประเด็นสำคัญสำหรับการสร้างความรู้ในจุดนี้คือ ถ้า ontological security research program มุ่งเสนอคำอธิบายให้แก่การต่างประเทศจากฐานคิดเกี่ยวกับความมั่นคงในเชิงภวสภาพหรือความเข้าใจและความมั่นใจเกี่ยวกับตัวตน คำอธิบายที่มาจาก research program นี้ จะมีขอบเขตการอธิบายได้กว้างขวางทั่วไป หรือจำเพาะกรณี/เฉพาะช่วงเวลา แค่ไหน เพียงใด สำหรับทำความเข้าใจพฤติกรรมการต่างประเทศของไทย (หรือของประเทศอื่นก็ตาม) การจะตอบคำถามนี้ได้จึงต้องการศึกษาเชิงเปรียบเทียบอีกหลายกรณีหรือข้ามช่วงเวลา เพื่อให้ได้ความชัดเจนว่า ตัวตนในฐานคติแกนหลักของ ontological security เป็นตัวตนแบบไหน เป็นความเข้าใจตัวตนของไทยของใครหรือของคนกลุ่มไหนเป็นสำคัญ และมีกระบวนการแบบใดบ้างที่สัมพันธ์กับการสร้างความมั่นคงให้แก่ตัวตนผ่านการดำเนินนโยบายต่างประเทศ การขยายผลแบบนี้คือวิธีที่ความรู้ใน research program หนึ่งจะต่อทางจากจุดแรกเริ่ม สร้างข้อถกเถียงภายใน พัฒนาแนวคิดให้ลงลึกยิ่งขึ้น และเสนอคำอธิบายจากการปรับปรุงแก้ข้อจำกัดในสมมติฐานเดิม หรือเสนอสมมติฐานใหม่ๆ เติมเข้ามา

การขยายผลแนวคิดสำคัญของสมมติฐานต่อจากที่อาจารย์พีระเสนอไว้เพื่อพัฒนาคำอธิบายของ ontological security research program ต่อความรู้ออกไปอีก ทำได้ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับแนวคิดสถานะระหว่างประเทศ และส่วนที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ทิ้งร้องรอยบาดแผลให้แก่ตัวตนของชาติ (หรือตัวตนของกลุ่มคนที่เราสนใจศึกษา เช่นคนที่ผ่านความสูญเสียร้ายแรงมาในเหตุการณ์ 6 ตุลา) การใส่ใจต่อแนวคิดหลักที่เราใช้เป็นแกนของคำอธิบาย และการให้ความเป็นจริงตามที่พบช่วยเบิกทางให้แนวคิดนั้นพาผู้ศึกษาติดตามลึกลงไปในกลไกก่อเกิดผล หรือมองเห็นกระบวนการอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกันอยู่กับเรื่องนั้นกระจายกว้างออกไป เป็นทางขยายความรู้ และต่อยอดจากสิ่งที่รู้ออกไปหาส่วนที่ควรรู้เพิ่มที่สำคัญมาก ใครทำได้ชำนาญจะมีวิธีต่อความรู้ออกไปหาความรู้ต่อไปได้เรื่อยๆ

ขอแสดงตัวอย่างวิธีการต่อทางความรู้โดยสังเขปจากแนวคิดที่อาจารย์พีระเสนอเป็นคำอธิบายพฤติกรรมการต่างประเทศของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

แนวคิดแรกคือเรื่อง สถานภาพระหว่างประเทศ

ถ้าเราพบว่าอาจารย์พีระศึกษาพฤติกรรมการต่างประเทศของไทยของจอมพล ป. พิบูลสงครามในด้านที่เป็นกระบวนการแสวงหาสถานภาพหรือ status-seeking ส่วนที่น่าคิดและน่าติดตามต่อเพื่อเติมองค์ความรู้ให้แก่ research program นี้ ก็คือการขยับออกมาหาพฤติกรรมการต่างประเทศที่สัมพันธ์กับสถานภาพในกระบวนการที่เกี่ยวข้องให้รอบด้านยิ่งขึ้น

เป็นต้นว่า สถานภาพ ไม่ว่าจะเป็นสถานภาพใด ย่อมเกี่ยวข้องกับการได้รับการยอมรับจากคนอื่นที่เป็นกลุ่มอ้างอิงของสถานภาพดังกล่าว ถ้าต้องการเป็นขวัญใจมวลชน มวลชนก็คือกลุ่มอ้างอิงสำคัญ ที่เมื่อมีกระแสตอบรับจากมวลชนทวีจำนวนมากขึ้นเท่าไร ก็ทำให้คนอยากเป็นขวัญใจมวลชนเคลื่อนเข้าใกล้สถานะนั้นยิ่งขึ้น หรือถ้าต้องการเป็นรัฐมหาอำนาจ หรือต้องการพาประเทศก้าวขึ้นเป็นผู้นำของภูมิภาค การจะสำเร็จความปรารถนาเช่นนี้ ผู้ที่มุ่งแสวงหาสถานะดังกล่าวจะยกย่องตัวเองขึ้นมาเองหาได้ไม่ แต่จะต้องดำเนินการเพื่อให้เข้าถึงหรือขึ้นถึงเกณฑ์บางอย่าง และให้ได้รับการยอมรับผ่านการแสดงออกหรือการตอบสนองในปฏิสัมพันธ์จากมหาอำนาจ หรือจากประเทศอื่นในภูมิภาคที่เป็นกลุ่มอ้างอิงสำคัญ  

ทั้ง 2 ส่วนนี้ คือเกณฑ์กำหนดสถานภาพ กับกระบวนการและการแสดงออกถึงการยอมรับในสถานภาพ ล้วนอยู่นอกอำนาจควบคุมของผู้แสวงหาสถานะ และเป็นส่วนที่ควรเปิดออกมาศึกษาต่อไปว่า สังคมระหว่างประเทศในแต่ละสมัยมีกลไกทางสังคมอะไรบ้าง ที่ทำงานส่งผลต่อการกำหนดหรือการเปลี่ยนแปรความหมายเกี่ยวกับสถานภาพหนึ่งๆ ต่อการรับรู้ การรับรอง และการวัดสถานะเทียบเคียงในสถานภาพนั้น ตามความเข้าใจที่ตัวแสดงผู้มีบทบาทบนเวทีระหว่างประเทศทั้งหลายยึดถือเชื่อใช้อยู่ร่วมกัน ที่ส่งผลต่อการคำนึงถึง – การแสดงออกให้สอดคล้องกับสถานภาพ หรือต่อกระบวนการรักษา – การถดถอยสูญเสีย – การหาทางฟื้นคืนสถานภาพ กับผลของกระบวนการเหล่านี้ที่มีต่อแนวทางดำเนินนโยบายต่างประเทศของประเทศนั้น และผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมา ทั้งต่อความรู้สึกมั่นคงหรือหวั่นไหวและการปรับความเข้าใจเกี่ยวกับตัวตน (ontological security) และต่อการหาทางปรับเปลี่ยนความเป็นจริงตามสภาพไปสู่การตั้งความคาดหวังและความมุ่งมั่นเพื่อให้สภาวะเป็นอยู่คือของตนดำเนินต่อไปได้อย่างมั่นคงลงตัว (แต่อาจสร้างปัญหาหรือความปั่นป่วนแก่ผู้อื่นต่อไป เช่น รัสเซียกับยูเครน)

กลไกทางสังคมที่ทำงานเกี่ยวข้องกับความหมายของสถานภาพระหว่างประเทศมีอยู่หลายแบบ กลไกทางการทูตเป็นกลไกหนึ่งที่ทำงานก่อเกิดผลได้ในหลายทางอย่างน่าสนใจมาก ขอยกเหตุการณ์จากการต่างประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 4 อันเป็นที่รู้จักกันดีมาเป็นตัวอย่างสักเรื่อง นั่นคือ การส่งคณะราชทูตไปเจริญทางไมตรีกับราชสำนักจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 เพื่อชี้ให้เห็นวิธีคิดเกี่ยวกับสถานภาพของราชสำนักกรุงฝรั่งเศสในเวลานั้น และการใช้การรับราชทูตจากสยามเป็นเครื่องแสดงออกถึงสถานภาพที่ราชสำนักฝรั่งเศสมีบรมราชินีนาถบนบังลังก์อังกฤษเป็นคู่เทียบ

อีฟส์ บรูเลย์ [2] บันทึกข้อคำนึงถึงสถานภาพของฝ่ายฝรั่งเศสการรับราชทูตสยามไว้อย่างแจ่มชัด

… มีประเด็นหนึ่งที่กงสุลฝรั่งเศสใคร่ครวญอยู่คือจะให้รับราชทูตครั้งนี้เป็นไปเช่นใด กงสุลกัสเตโนยืนยันว่า เมื่ออยู่ต่อหน้าพระพักตร์พระจักรพรรดิและพระจักรพรรดินี ‘ธรรมเนียมชาวสยามคือการหมอบราบกับพื้น ตั้งแต่พระทวารทางเข้าห้องท้องพระโรงและจะเคลื่อนตัวเช่นนี้จนกระทั่งถึงพระแท่นราชบัลลังก์ … แม้ว่าธรรมเนียมแบบนี้อาจถูกปฏิเสธที่ปารีส แต่ทว่าที่ลอนดอนกลับเป็นธรรมเนียมที่ได้รับการยอมรับ … ประเด็นนี้ข้าพเจ้าเห็นว่ามีความสำคัญอยู่ไม่น้อยทีเดียว’ หลังจากที่ได้ศึกษาขั้นตอนการรับราชทูตซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียพระราชทานพระราชานุญาตให้ให้ราชทูตเข้าเฝ้าฯ ที่ลอนดอนเป็นตัวอย่างแล้ว กระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสระบุว่า จะต้องรับราชทูตสยามที่พระราชวังฟงแตนโบล เพื่อว่าชาวสยามจะมิต้องคิดว่าพระมหากษัตริย์แห่งฝรั่งเศสทรงด้อยพระเกียรติยศกว่าสมเด็จพระราชินีแห่งประเทศอังกฤษ

ตัวอย่างจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่ถูกบันทึกไว้ในภาพวาดข้างต้นนี้เบิกทางเราไปสู่ความเข้าใจการทำงานของแบบแผนพิธีการทูตของสังคมระหว่างประเทศในสมัยที่ราชาธิราชยังคงมีบทบาทสำคัญในการจัดการปกครอง และสะท้อนให้เห็นบทบาทของการทูตในด้านที่เป็นกลไกเทียบเคียงสถานภาพของรัฐ และเห็นพร้อมกันว่า แบบแผนธรรมเนียมและพิธีการทูตอาจมีเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่การทูตในฐานะที่เป็นกลไกบ่งชี้สถานภาพระหว่างประเทศยังคงทำงานสืบเนื่องต่อมา และน่าติดตามว่าผู้คุมการทำงานของกลไกนี้ใช้มันในทางใดได้บ้างในการตั้งความปรารถนาแก่การแสวงหาสถานภาพที่จะได้รับการยอมรับ การรับรอง หรือวางเงื่อนไขต่อการปรับตัวของผู้แสวงหาสถานภาพเพื่อที่จะขึ้นให้ถึงมาตรฐานอันจะได้รับการยอมรับและการรับรอง   

เมื่อจำแนกแต่ละกระบวนการและกลไกก่อเกิดผลในกระบวนการที่น่าสนใจออกมาได้แล้ว ขั้นต่อไปก็คือ การทำความเข้าใจสถานภาพระหว่างประเทศที่เป็น positive heuristic ของ ontological security research program ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นสำหรับใช้เป็นแนวทางหรือกรอบการวิเคราะห์การต่างประเทศต่อไป ประเด็นที่ผู้ศึกษาอาจเปิดออกมาพิจารณา เป็นต้นว่า 

  • ความสัมพันธ์ระหว่างตัวผู้กระทำการ กับโครงสร้างความคิดในสังคมระหว่างประเทศเกี่ยวกับความหมายความสำคัญของสถานภาพ ที่มาจากความเข้าใจและความคาดหวังสอดคล้องกันระหว่างตัวแสดง และการยึดถือเกณฑ์กำหนดชี้วัดสถานภาพระหว่างประเทศในช่วงเวลาแต่ละสมัย ซึ่งมีทั้งส่วนที่ต่อเนื่อง และส่วนที่เปลี่ยนแปลงได้
  • กลไกที่สังคมระหว่างประเทศ (ตะวันตก) ใช้ถ่ายทอดปลูกฝัง – อบรมกล่อมเกลาคุณค่า/ค่านิยมของสังคมระหว่างประเทศ ที่มีแปรเปลี่ยนมาเป็นระยะ กับการแปรและแปลงคุณค่า/ค่านิยมเกี่ยวกับสถานภาพที่รัฐรับมาจากภายนอกลงสู่ความเข้าใจของประชาชนพลเมือง
  • กระบวนการที่นานาประเทศให้การยอมรับ – รับรองสถานภาพของรัฐ กับแนวทางที่รัฐหนึ่งๆ สามารถทำได้ และเป็นแนวทางที่เป็นไปได้ ในการเปลี่ยน – ยกระดับสถานภาพของรัฐ ซึ่งในช่วงเวลาแต่ละระยะอาจมีความแตกต่างกันได้มากตามแต่เงื่อนไขของสังคมระหว่างประเทศในยุคสมัยนั้น 
  • จำแนกสถานภาพประเภทต่างๆ ในสังคมระหว่างประเทศ ทั้งทางบวก/น่าพึงปรารถนา และทางลบ/ไม่พึงปรารถนา กับกลไก/เครื่องมือดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการกำหนด/แสวงหา/รับรอง/เปลี่ยนระดับสถานภาพ 

และ

  • กระบวนการพัฒนาสมรรถนะขีดความสามารถของตนเองเพื่อเป้าหมายการขยายอำนาจรัฐในทางวัตถุรูปธรรมและนามธรรม กับสถานภาพของรัฐในสังคมระหว่างประเทศที่จะได้มาก็โดยการได้รับการยอมรับสถานะจากนานาประเทศที่เป็นสมาชิกของสังคมระหว่างประเทศนั้น รวมทั้งความตึงเครียดที่อาจเกิดขึ้นได้ เมื่อมีรัฐที่มีขีดความสามารถถึงระดับมหาอำนาจ แต่ไม่ได้รับการยอมรับสถานะจากสมาชิกในสังคมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถูกสกัดกั้นจากมหาอำนาจเดิม

เพื่อไม่ให้บทความนี้ยาวเกินไปมาก ขอแนะนำวิธีต่อทางแนวคิดที่ 2 ในสมมติฐานที่อาจารย์พีระเสนอคำอธิบายอย่างสั้นๆ เพราะใช้แนวทางเดียวกันกับแนวคิดสถานภาพข้างต้น นั่นคือ ติดตามจากกระบวนการและกลไกก่อเกิดผล

แนวคิดว่าด้วย trauma ที่ส่งผลต่อการสูญเสียความมั่นคงทางภวสภาพของไทย

เราทราบแน่ชัดว่าเหตุการณ์ ร.ศ. 112 สร้างผลกระทบในทางความรู้สึกอย่างมากต่อรัชกาลที่ 5 ดังทรงพระราชนิพนธ์บันทึกความรู้สึกส่วนพระองค์ว่า “กลัวเป็นทวิราช บ่ตริป้องอยุธยา เสียเมืองจึงนินทา บ่ละเว้นฤวางวาย” แต่เหตุการณ์นี้จะถึงขั้นที่มีผลตกค้างจนสร้างบาดแผลในพระราชหฤทัยหรือไม่ ข้าพเจ้าไม่แน่ใจ แต่เรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็น เพราะ ‘ตัวตน’ ของไทย และ trauma ที่เป็นบาดแผลทางใจในคำอธิบายการต่างประเทศไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ของอาจารย์พีระ เป็นตัวตนของชาติ ไม่ใช่ของส่วนพระองค์พระมหากษัตริย์ ดังนั้นการคิดในเรื่อง trauma และการใช้เรื่องนี้มาอธิบายพฤติกรรมการต่างประเทศไทยในสมัยหลัง จำเป็นต้องแสดงให้เห็น

  • กระบวนการที่ก่อเกิดประชาชาติไทยขึ้นมารับความรู้สึกสูญเสียของชาติร่วมกัน ซึ่ง ณ ร.ศ. 112 ประชาชาติไทยที่จะเป็นผู้ร่วมกันรับรู้และทรงจำความหมายของการเสียดินแดนเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น กระบวนการนี้จะมาเข้มข้นขึ้นเมื่อเข้ารัชกาลที่ 6 แล้ว และพระมหากษัตริย์รัชกาลนี้ทรงมีบทบาทสำคัญในการสร้างจิตสำนึกความเป็นชาติและความเป็นไทยขึ้นมา

  • ทำให้ต้องติดตามกระบวนการต่อไปว่าในการสร้างความหมายเกี่ยวกับชาติและเกี่ยวกับไทยในส่วนของการสร้างประวัติศาสตร์ความทรงจำร่วมของชาตินั้น รัชกาลที่ 6 และราชการไทยในรัชสมัยของพระองค์ได้นำการสูญเสียดินแดนที่เกิดขึ้นใน 2 รัชกาลก่อนหน้ามาปรุงความหมายออกมาในทางที่ชักนำประชาชาติเกิดความทรงจำอันเจ็บปวดอย่างไรหรือไม่ หรือว่าแท้ที่จริงแล้ว การปรุงความหมายในทางที่เป็น trauma แบบนี้เกิดขึ้นภายหลังจากนั้นอีก

  • อีกส่วนที่น่าสนใจคือความเข้าใจเกี่ยวกับดินแดนที่เสียไปว่าเป็นดินแดนของคนไทยทั้งนั้น คำถามคือในรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเริ่มต้นจัดระเบียบบ้านเมืองตามแบบแผนรัฐสมัยใหม่นั้น ราชการเวลานั้นยอมรับความเป็นจริงเกี่ยวกับคนกลุ่มต่างๆ ในพระราชอาณาเขตตามสภาพความเข้าใจที่มีอยู่เดิม ว่ามีส่วนที่ลาวพุงขาว ลาวพวน ลาวพุงดำ หรือหัวเมืองแขก ก็เข้าใจตามที่เคยรับกันมาเช่นนั้น ดังนั้น จึงน่าติดตามเหมือนกันว่ากระบวนการเปลี่ยนความเข้าใจในการมองคนนานาชาติหลากหลายภาษาในบรมโพธิสมภาร มาเป็นการเห็นว่าเป็นคนไทยและเป็นคนไทยที่ถูกตัดออกไปอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐอื่นชาติอื่น เกิดขึ้นมาตอนไหน ในกระบวนการอย่างไร และโดยกลไกถ่ายทอดความเข้าใจนี้แบบใด

  • ประสบการณ์ตรงที่สร้าง trauma แก่คนที่ประสบเหตุการณ์นั้นมาเองก็ส่วนหนึ่ง แต่คนที่ไม่เคยผ่านเหตุการณ์นั้นมาโดยตรง ที่จะรับรู้และเกิดความรู้สึกร่วมกับ trauma นั้นจนก่อให้เกิดแรงผลักดันที่ส่งผลต่อการกระทำ หรือการตอบสนองทั้งด้านที่เป็นความปรารถนาจะรับเข้ามาและการผลักไสออกไป ต้องการกลไกทางสังคมแบบหนึ่งในการสืบทอดความเข้าใจต่ออดีตในลักษณะการสร้างประสบการณ์จากการทรงจำรำลึกหรือ commemoration ที่จะทำให้หมู่ชนนั้น ‘moved by the past’ ขึ้นมา (Runia 2014) [3]

การสร้างความรู้ใน Research Program

นิสิตที่อ่านมาถึงตอนนี้อาจมีข้อสงสัยขึ้นมาว่าส่วนที่เป็น hard core ของ research program ที่ว่าต้องปกป้องรักษาไว้ ถ้ารักจะทำงานสร้างความรู้ใน research program นั้นต่อไป มีตั้งไว้เป็นเจว็ดโดยไม่มีบทบาทอะไรเลยหรือ คำตอบเป็นตรงข้าม คือมีบทบาทอย่างมาก เพราะในการสร้างความรู้อย่างน้อยเราต้องการวิธีวิทยา และแนวทางการศึกษาที่เหมาะสมกับฐานคิดแกนหลักหรือ hard core ที่เป็นศูนย์กลางของ research program นั้น จุด hard core จึงเป็นส่วนที่ต้องทำความเข้าใจให้กระจ่างเกี่ยวกับสภาวะเป็นอยู่คือที่ประกอบอยู่ในตัวของมันเพื่อที่จะทราบข้อเรียกร้องที่มันตั้งเอากับแนวทางการศึกษาและวิธีวิทยาที่จะนำมาใช้สร้างความรู้

หรือพิจารณาในทางกลับกันในการลงมือทำงานวิจัย เราต่างต้องเผชิญกับการตอบคำถามให้ได้อย่างน่าพอใจก่อน เป็นต้นว่า จะรู้ได้อย่างไร? ถ้าจะเสนอหรือถ้าจะสรุปแบบนี้ ใช้ได้หรือไม่? มีที่ให้แย้งตรงไหนได้บ้าง? ในเรื่องที่ทำ ในปัญหาที่ตั้งเป็นโจทย์ ในหน่วยการวิเคราะห์ที่ใช้  ในจุดสังเกตที่เลือกมา ในกรอบความคิดที่เรียกร้องข้อยืนยันสนับสนุนให้แก่คำอธิบายที่เสนอ มีข้อมูลที่ใช้ได้อยู่ที่ไหน? จะใช้ข้อมูลนั้นภายใต้ข้อจำกัดที่มีอยู่อย่างไร และภายใต้ความจำกัดนั้น จะแก้ปัญหายากทางวิธีวิทยาที่คำอธิบายตามกรอบแนวคิดที่เลือกมาตั้งข้อเรียกร้องเอาไว้อย่างไร?

การจะไขปัญหาทางวิธีวิทยาและแนวทางการศึกษาเพื่อตอบโจทย์ข้างต้นได้ ต้องเข้าใจสภาวะของ hard core ของ research program ให้ดี   

ในเรื่อง ontological security ที่อาจารย์พีระได้ตั้งต้นขึ้นมาศึกษาการต่างประเทศไทยชวนเราให้มองรัฐในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มองปัญหาความมั่นคงของไทยหรือของรัฐไหนก็ตาม ในบริบทของความสัมพันธ์ทางสังคม ที่ส่งผลต่อความคิดเกี่ยวกับตัวตนของรัฐนั้น ว่าในการจะเป็นไทย หรือการจะเป็นอินเดีย เป็นจีน เป็นอเมริกัน เป็นรัสเซีย เป็น GREAT Britain หรือเป็นสหภาพยุโรป จะเป็นกันที่ไหน และจะเป็นกันขึ้นมาได้อย่างไร 

ที่ไหนที่ว่านี้ มีอย่างน้อย 2 ส่วน [4]

ส่วนแรก คือด้านที่เป็นจิตวิสัย ที่มาจากความเข้าใจตนเองและความต้องการจะเลือกระบุตนเองอยู่กับคุณค่า บทบาท สถานภาพแบบไหน ความสอดคล้องระหว่างคุณค่าที่ยึดมั่นและที่มุ่งมั่นปรารถนา กับการแสดงออกได้ตามบทบาทในสถานภาพอันเป็นที่ต้องการเป็นที่น่าพอใจหรือไม่ ได้ดังที่ใจนึกหรือยัง  และความสอดคล้องกันระหว่างสิ่งที่คิดสิ่งที่ปรารถนา กับสิ่งที่ทำและวิธีที่ทำ กับผลที่เกิดขึ้นและความหมายที่ประจักษ์แก่คนอื่นๆ มีช่องว่างที่สั่นคลอนความมั่นใจ ความแน่ใจอยู่บ้างไหม หรือสร้างปมปัญหาทางใจไว้ในความรับรู้ ในความทรงจำร่วมกันของสังคม และความรู้สึกนึกคิดเมื่อย้อนระลึกหรือหวนนึกถึงความหมายที่ประทับรอยในความทรงจำร่วมกันนั้นสร้างความเข้าใจภาวะของตนเองในช่วงเวลาหนึ่งๆ ขึ้นมาแบบไหน เป็นบาดแผลความขมขื่น หรือเป็นความภาคภูมิใจ และความเข้าใจเช่นนั้นได้ปลุกแรงกระตุ้น แรงเร้าการกระทำ แบบไหนขึ้นมา

ส่วนที่ 2 เป็นการพิจารณาตัวตนในการจะเป็นไทย หรือเป็นอินเดียเป็นพม่าเป็นจีนเป็นอเมริกันเป็นรัสเซียเป็นญี่ปุ่นเป็นเกาหลี ตามความหมายที่มุ่งอยากจะเป็น ตามความเข้าใจที่คิดว่าเป็น และตามสภาพที่เป็นจริงๆ นั้น ประเทศอื่น คนอื่นที่ร่วมอยู่ในสังคม ทั้งสังคมของรัฐและสังคมโลกยอมรับการเป็น ตามภาพ ตามสถานภาพในสภาวะเงื่อนไขอย่างที่เจ้าตัวปรารถนาจะระบุตนเองหรือไม่ 

ในส่วนที่ 2 นี้ เป็นการพิจารณาความมั่นคงเชิงภวสภาพจากความสัมพันธ์ทางสังคมแบบปรวิสัย ตามสภาพความเป็นจริงที่ความสัมพันธ์ทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมภายในรัฐ สังคมของรัฐระหว่างนานาประเทศ หรือสังคมโลกระหว่างผู้คนต่างถิ่นที่ที่มีความสัมพันธ์ถึงกัน ได้ร่วมกันสร้างความเป็นจริงทางสังคมขึ้นมาจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ความเป็นจริงทางสังคมที่ว่านี้ปรากฏออกมาและดำรงอยู่ในรูปของแบบแผนวิถีปฏิบัติ ทำงานผ่านภาษาการสื่อสาร การอบรมถ่ายทอด การเรียนรู้คุณค่าหลักการบรรทัดฐาน กฎเกณฑ์กติกา ตลอดจนกลไกเชิงสถาบันรูปแบบต่างๆ ที่ผลิตความรู้ ผลิตความหมาย สืบสร้างรักษาคุณค่า ที่จะมาตีกรอบความหมายว่าอะไรถูกหรือผิด  อะไรเจริญหรือเถื่อน อะไรสมบูรณ์แบบหรือว่าบกพร่อง แบบไหนที่เหมาะสมควรยกย่อง แบบไหนที่ไม่เหมาะสมและควรแก้ไขหรือควรประนาม อย่างไรคือดีงามทรามชั่วตรงไหน ที่จะเอาไปเป็นเกณฑ์วินิจฉัยตัดสินการกระทำ ความคิด ความคาดหวัง และรูปแบบความสัมพันธ์ที่แต่ละคนแต่ละฝ่ายแต่ละกลุ่มมีอยู่ระหว่างกันหรือดำรงอยู่ร่วมกัน 

การทำความเข้าใจตนเองตามความหมายแบบไหน การเลือกระบุตนเองเข้ากับคุณค่า บทบาท สถานภาพแบบใด การเลือกตั้งเป้าหมายเลือกวิธีกระทำอย่างไร การบรรลุถึงความพอใจในความเป็นตัวตนของตนเอง หรือการดิ้นรนเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงตัวตนของตน จึงมิได้เกิดขึ้นในสุญญากาศ แต่เกิดขึ้นในสภาพความเป็นจริงทางสังคมที่ดำรงอยู่อย่างเป็นปรวิสัย (หรือทฤษฎีบางสำนักมองว่าเป็นสหอัตวิสัย) ที่จะไม่เป็นไปตามการนึกคิดคาดหวังโดยลำพังของใครคนใดคนหนึ่ง  ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ของรัฐใดรัฐหนึ่ง ของชุมชนใดชุมชนหนึ่ง แม้ว่าความเป็นจริงทางสังคมเช่นนี้จะมาจากการร่วมกันยึดถือเชื่อใช้โดยคนทั้งหลาย จนกระทั่งมันตั้งมั่นขึ้นมาส่งผลต่อทุกส่วนได้ก็ตาม 

การพิจารณา research program ที่อาจารย์พีระตั้งขึ้นมาศึกษาการต่างประเทศไทยจึงพาเราไปสำรวจหาภูมิทัศน์หรือแผนที่ทางใจในความรู้สึกนึกคิด ในจินตนาการที่เกี่ยวกับเวลาและพื้นที่ที่ถ่ายทอดเป็นความรู้เป็นความทรงจำร่วมกัน และการสำรวจหาภูมิทัศน์หรือแผนที่ของความเป็นจริงทางสังคมที่ดำรงอยู่อย่างเป็นปรวิสัย/สหอัตวิสัย แต่วางเงื่อนไขจากภายนอกต่อการก่อรูปความเข้าใจภายในเกี่ยวกับปัญหาว่าฉันเป็นใคร อยากจะเป็นอะไร และความต้องการและการลงมือกระทำรุกไปหาเป้าหมายตามที่ต้องการนั้นได้ผลเป็นอย่างไร ทั้งส่วนที่เป็นการยอมรับยกย่องจากคนอื่นๆ ที่จะมาเติมเต็มความรู้สึกเกี่ยวกับตัวตนของตนเองให้สมบูรณ์ และความพอใจในสิ่งที่เป็นในสิ่งที่ได้รับแล้วก็หยุดการดิ้นรนแข่งขัน หรือว่ายังคงมองคู่เปรียบที่มีโอกาสจะขึ้นมาทัดเทียมอย่างไม่ไว้วางใจ และกำหนดเป้าหมายใหม่สำหรับแข่งขันเบียดขับกับรัฐอื่นๆ หรือรัฐที่ยังไม่ยอมลงให้ต่อไปโดยไม่มีหยุดยั้ง

ในแง่นี้ research program เรื่องความมั่นคงเชิงภวสภาพที่อาจารย์พีระนำมาตั้งต้นศึกษาการต่างประเทศไทย เมื่อพิจารณาจากปมปัญหาด้านสถานภาพ ที่มองรัฐในการเมืองระหว่างประเทศว่าเป็นตัวแสดงที่คำนึงถึง relative position ของตนโดยเปรียบเทียบกับรัฐอื่น และอีกด้านหนึ่งสัมพันธ์กับฐานคติที่มองว่าการก่อรูปความเข้าใจตนเอง และความเข้าใจรัฐอื่นว่าเป็นรัฐแบบไหน ฝ่ายไหน ประเภทไหน และจะดำเนินความสัมพันธ์กันไปในรูปใดในสภาวะอนาธิปไตย เกิดขึ้นมาจากและเกิดขึ้นมาในกระบวนการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม การมองโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจึงไม่อาจตัดด้านที่เป็นการกำหนดความหมายและจัดลักษณะแบบแผนความสัมพันธ์ทางสังคม และลดลงมาเหลือแต่เฉพาะส่วนโครงสร้างอำนาจทางวัตถุแต่เพียงด้านเดียวได้

ทั้งหมดนี้คือหัวใจสำคัญที่เป็นรากฐานของความมั่นคงทางภวสภาพ ที่ research program ของอาจารย์พีระเสนอว่าก่อตัวขึ้นมาและดำรงอยู่ในความสัมพันธ์ทางสังคม ทั้งสังคมของรัฐและสังคมของโลก โดยมีสภาพของสภาวะระหว่างประเทศ ในช่วงเวลาหนึ่งเป็นส่วนกำหนดลักษณะความสัมพันธ์ทางสังคมนี้ทั้งส่วนที่เป็นปรวิสัย/สหอัตวิสัยและจิตวิสัย  

จากความเข้าใจสภาพสภาวะใน hard core ของ research program  ดังกล่าวที่ประกอบด้วยส่วนจิตวิสัยของรัฐหรือของประชาชาติในรัฐนั้น กับส่วนปรวิสัยที่เป็นความหมายที่สังคมระหว่างประเทศยึดถือเชื่อใช้เข้าใจอยู่ร่วมกัน คำถามที่น่าสนใจก็คือ ในเวลาที่สภาพของสภาวะระหว่างประเทศมีความเสถียรอยู่ตัวในทางที่ทำให้แบบแผนความสัมพันธ์ แบบแผนวิถีปฏิบัติ และความหมายที่ช่วยรักษาความชอบธรรมของแบบแผนความสัมพันธ์ และแบบแผนวิถีปฏิบัติดำรงอยู่เป็นหลักในการเป็นกรอบความสัมพันธ์ทางสังคม ในทางที่ทุกฝ่ายรู้และเข้าใจเหตุ ยอมรับผล รู้จักบุคคลบทบาทสถานภาพ รู้ความหมายของกาละและเทศะ รับความหมายของพิธีการและวิธีการ กระบวนการกำหนดตัวตน การเลือกระบุตนเองเข้ากับคุณค่า บทบาท สถานภาพ ก็จะดำเนินในพลวัตในวงจรแบบหนึ่งและคงสภาพไว้ได้นาน

แต่ช่วงเวลาที่อาจารย์พีระตั้งต้นศึกษาการต่างประเทศไทยคือช่วงเวลา 100 ปี จากปลายรัชกาลที่ 3 มาจนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ใช่ช่วงเวลาที่สภาพของสภาวะระหว่างประเทศในบริบทที่สยามดำรงอยู่ จะมีความเสถียรอยู่ตัวและคงสภาพได้นานเหมือนช่วงเวลาก่อนหน้านั้น แต่เป็นสภาพแวดล้อมที่มีพลวัตเลื่อนไหลไม่คงตัว ทั้งในด้านวัตถุกายภาพเช่นเทคโนโลยีและอำนาจรัฐรูปธรรมอื่นๆ และในด้านนามธรรมความคิด คุณค่าความหมายที่ยึดถือสำหรับเป็นบรรทัดฐานแก่วิถีปฏิบัติและให้ความชอบธรรม หรือชี้ถูกชี้ผิดแก่การกระทำหรือแบบแผนความสัมพันธ์ทั้งหลาย และสุดท้าย เมื่อวัตถุก็เปลี่ยน ความคิดนามธรรมก็เปลี่ยน มันจึงพาให้การจัดตัวของความสัมพันธ์ระหว่างส่วนต่างๆ ขึ้นมาทำงานอย่างเป็นสถาบันก็พลอยถูกบีบคั้นให้ต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย  

เมื่อสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศดำเนินไปในสภาวะความเปลี่ยนแปลง ก็ส่งผลให้ความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างรัฐพลอยเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย จึงกลับมาเป็นปัญหาแก่รัฐต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย ว่าประเทศไทยจะค้นพบตัวตน ปรับเปลี่ยนตัวเองในทางแบบแผน บทบาท สถานภาพ และปรับความเข้าใจตนเองกับโลก ในโลกที่เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงไม่อยู่นิ่งคงตัวคงสภาพเดิมได้นานนี้อย่างไร และจากการค้นหา การปรับเปลี่ยนและจากความเข้าใจโลกและความสัมพันธ์ทางสังคมในโลกแบบนั้น จะมีวิธีมีกระบวนการทางสังคมของตัวเองแบบไหนที่จะมาร่วมกันตกลงว่า ควรกำหนดอะไรเป็นคุณค่าเป็นเป้าหมาย ควรมุ่งหมายทำอะไร และอะไรที่ควรทำนั้น อะไรควรทำก่อนหรือจะตามมาทีหลัง ด้วยเหตุผลอะไร และควรทำแบบไหน

ผลจากการทำความเข้าใจส่วน hard core ของ ontological security ของ research program ทำให้เราเห็นชัดถึงข้อเรียกร้องของ research program นี้ที่ตั้งเอากับผู้ศึกษาว่า จะต้องเลือกแนวทางการศึกษาและวิธีวิทยาที่สามารถเสนอคำตอบเกี่ยวกับ

  • กระบวนการทางสังคมที่ส่งผลต่อการสร้างความรับรู้เกี่ยวกับตัวตน และการรับความหมายจากภายนอกเข้ามาเป็นอารมณ์กระทบต่อตัวตนและยึดเหนี่ยวความเข้าใจเกี่ยวกับตัวตนนั้นไว้ในทางที่ส่งผลต่อความตั้งใจและการตั้งเป้าหมายกระทำการ

  • กระบวนการทางสังคมในการสร้างความหมายที่สังคมระหว่างประเทศรับเป็นบรรทัดฐาน ยึดถือเชื่อใช้เข้าใจอยู่ร่วมกันและกลไกต่างๆ ในสังคมที่ทำให้ความหมายเหล่านี้มีพลังในลักษณะที่เป็นโครงสร้างความคิด คุณค่า หรือค่านิยม ที่ดึงให้สมาชิกของสังคมนั้นเกิดความปรารถนาจะระบุ/กำหนดตนเองเข้ากับความคิด คุณค่า ค่านิยม และหาทางเปลี่ยนแปลงสมรรถนะและวิถีปฏิบัติของตนเองเพื่อให้เข้ากับหรือขึ้นถึงมาตรฐานตามความคิดหรือคุณค่าทั้งหลายเหล่านั้น

  • การเปลี่ยนแปลงทางความคิด คุณค่า ค่านิยมในสังคมระหว่างประเทศที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนบรรทัดฐานหรือความหมายความสำคัญของแบบแผนวิถีปฏิบัติที่เคยยึดถือเชื่อใช้และเข้าใจร่วมกันมา

ภายใน research program หนึ่งๆ ถ้าผู้ศึกษาเห็นตรงกันเกี่ยวกับแนวทางการศึกษาและวิธีวิทยาในการหาคำตอบตามข้อเรียกร้องที่ hard core ของ research program นั้นตั้งไว้ ก็จะไม่มีปัญหายุ่งยากทางญาณวิทยา/ภววิทยาอันใดให้ต้องถกเถียงกัน แต่ถ้าในหมู่ผู้ศึกษาเข้าใจสภาพสภาวะของ hard core ของ research program นั้นแตกต่างกันไปหลายทาง อันนี้จะยุ่ง และสร้างข้อถกเถียงขึ้นมาในวงวิชาการให้คนแรกเรียนมึนงงได้มาก หรืออาจจะไม่งง ถ้าคิดว่า รอให้พี่ๆ ทั้งหลายคุยกันให้เสร็จ ตกลงแนวทางการศึกษาและวิธีวิทยาในการหาความรู้ในเรื่องนี้กันได้เมื่อไร หนูจึงจะกลับมาตามพี่ๆ ต่อ

นิสิตแรกเรียนที่สนใจ ontological research program คงต้องหาโอกาสเรียนถามจากอาจารย์พีระว่าแนวทางการศึกษาและวิธีวิทยาสำหรับสร้างความรู้ใน research program นี้ลงตัวดีแล้วในหมู่ผู้ศึกษาหรือยัง วิธีการอย่าง process tracing ที่อาจารย์ใช้ศึกษาการตั้งเป้าหมายนโยบายต่างประเทศและความคิดคำนึงในหมู่คนชั้นนำไทยภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเกี่ยวกับตัวตนของชาติบ้านเมืองนั้น อาจารย์พบความยาก-ง่ายเพียงใดเมื่อเจอกับหลักฐานเท่าที่เหลือมาให้เข้าถึงได้ และจากการศึกษาด้วยวิธีนี้ ให้ผลดีหรือแตกต่างออกไปเพียงใด เมื่อเทียบกับวิธีอ่านแบบ double reading ที่ใช้การตีความตัวบทในแนวทาง deconstruction ของ Richard Ashley หรือการอ่านตีความตามแนวทาง Social Constructivism ของ Ted Hopf [5]

ผู้เขียนเอกสารคำสอนนี้ ขอถือโอกาสในย่อหน้าสุดท้ายขอบคุณอาจารย์พีระเป็นที่สุด ที่กรุณาอนุญาตให้ใช้ผลงานของท่านเป็นต้นแบบสำหรับนำเสนอสื่อการเรียนแนวคิดทฤษฎี และแนะนำทางสร้างความรู้จากแนวคิดทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบหนึ่งที่คนเรียน IR ควรรู้   


รายการอ้างอิง

[1] โปรดดู Keohane and Martin (2003) สำหรับ Institutionalist Research Program เป็นตัวอย่าง ผู้สนใจงานนำเสนอความก้าวหน้าของ research program ดังกล่าว รวมทั้ง research programs อื่นๆ ติดตามได้ที่นี่ Progress in International Relations Theory: Appraising the Field (Cambridge, M.A. : MIT Press, 2003) Progress in International Relations Theory: Appraising the Field (BCSIA Studies in International Security) (typepad.com)

[2] อีฟส์ บรูเลย์, “ฝรั่งเศสและสยาม : จากรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ถึงพระจักรพรรดินโปเลียนที่ 3,” ใน ซาวิเยร์ ซัลมง, บรรณาธิการ, ราชอาณาจักรสยาม ณ พระราชาวังฟงแตนโบล ปรีดี พิศภูมิวิถี แปล (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สยามเรเนซองส์, 2556), 14.

[3] ตรงนี้มิใช่ที่เหมาะสำหรับขยายความข้อเสนอเรื่อง history and commemoration ของ Eelco Runia แต่สมมติฐาน 10 ข้อของเขาอาจจุดความสนใจนิสิตให้หางานของเขามาพิจารณาต่อไป จึงขอคัดบางส่วนมาลงไว้ในเชิงอรรถนี้

[4] ผู้เขียนอาศัยความเข้าใจเรื่อง Social Construction of Reality เขียนตอนนี้จากงานคลาสสิกของ Berger and Luckman นิสิตผู้สนใจเข้าไปอ่านได้ที่นี่ Berger social-construction-of-reality.pdf (perflensburg.se)

[5] Richard K. Ashley, “Untying the Sovereign State: A Double Reading of the Anarchy Problematique.” Millennium 17:2 (1988), 227 – 262.  Ted Hopf, Social Construction of International Politics: Identities & Foreign Policies, Moscow, 1955 and 1999 (New York: Cornell University Press, 2002) โดยเฉพาะบทต้น.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save