fbpx

ตามแนวคิด-ต่อทฤษฎี จากงานการต่างประเทศไทยของพีระ เจริญวัฒนนุกูล (ตอนที่ 2)

อ่านบทความ ‘ตามแนวคิด-ต่อทฤษฎี จากงานการต่างประเทศไทยของพีระ เจริญวัฒนนุกูล (ตอนที่ 1)’ ได้ที่นี่

1

บทความนี้เป็นตอนต่อจากเดือนที่แล้ว  เพื่อแนะนำแนวทางอ่านงานวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (IR) แก่คนแรกเรียนให้พอมีหลักตั้งต้นได้อย่างกระฉับกระเฉงยิ่งขึ้นเมื่อต้องเจองานแนวคิดทฤษฎี  ข้าพเจ้าได้ขออนุญาตอาจารย์พีระ เจริญวัฒนนุกูลนำหนังสือ Ontological Security and Status-Seeking: Thailand’s Proactive Behaviors during the Second World War (2020) ของอาจารย์มาเป็นอุปกรณ์แสดงวิธีการบางอย่างที่เห็นว่าน่าจะช่วยคนมาใหม่ให้คิดตามแนวคิด และคิดต่อทฤษฎีในงานที่อ่าน ได้ความเข้าใจละเอียดยิ่งขึ้น และจากความเข้าใจนั้นจะได้มุมมองต่อประเด็นปัญหาในปรากฏการณ์และวิธีอธิบายปรากฏการณ์ที่งานนำเสนอ อ่านขยายต่อออกไปได้อีกหลายทาง

บทความเดือนก่อนแนะนำวิธีหนึ่งในการพิจารณาแนวคิดหลักที่ผู้เขียนใช้ในการตั้งโจทย์หรือเสนอคำอธิบายปรากฏการณ์ที่ศึกษา นั่นคือ การใช้ชุดคำถามบางอย่างมาช่วยสกัดลักษณะสำคัญในแนวคิดนั้นออกมาตั้งประเด็น  การอ่านงานวิชาการ ถ้าอ่านโดยมีประเด็นในใจอยู่ก่อนจะติดตามสังเกตการใช้แนวคิดและทางอธิบายของผู้เขียนในระหว่างที่อ่านได้ดีกว่าการอ่านแบบให้แต่ละย่อหน้าพาเราไหลจากย่อหน้าแรกไปเรื่อย  ประเด็นในใจที่ว่านี้มิได้หมายถึงอคติซึ่งเราทุกคนต่างมีอยู่ในตัวไม่มากก็น้อย และการอ่านก็ไม่ใช่การมองหาสิ่งที่สอดคล้องมายืนยันความเชื่อเดิมของเรา ประเด็นในใจที่ควรมีในเวลาที่อ่านงานวิชาการได้มาจากการหยุดตั้งคำถามเป็นระยะต่อกรอบแนวคิด ต่อข้อเสนอทางทฤษฎี ต่อทางอธิบายที่ผู้เขียนนำเสนอ การอ่านโดยมีคำถามตั้งไว้ในใจช่วยให้เราเกิดเอ๊ะเกิดเออหรือเกิดสงสัย-ฉุกใจคิดได้เร็วขึ้น เมื่อพบกับความหมายของแนวคิดหลักที่ผู้เขียนใช้เปิดประเด็นกับสภาพปัญหาเพื่อตั้งโจทย์ หรือในอรรถาธิบายจากแนวคิดทฤษฎีที่ผู้เขียนเสนอเป็นคำตอบต่อโจทย์ที่ตั้งขึ้นมาศึกษา  

บทความเดือนก่อน แนะนำชุดคำถามพื้นฐาน Who, What, Where, When, Why, How จาก “Specifying the Security Problematique” ของ David A. Baldwin มาตั้งประเด็นต่อแนวคิดหลักที่อาจารย์พีระใช้ตั้งโจทย์วิจัยคือ ontological security  เมื่อเห็นแนวคิดสำคัญมีคุณศัพท์มีคำขยายติดตัวมาด้วยแบบนี้เข้าที่ไหน คำแนะนำหนึ่งคือขอให้ลองใช้คำหลักที่ไม่มีคำคุณศัพท์ตามประกบ เป็นหลักในการตั้งคำถามตั้งประเด็นจากแนวคิดนั้นก่อนที่จะอ่านต่อไป ในกรณีนี้คือสกัดออกมาว่า ontological security มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจาก security เฉยๆ ทั่วไปในจุดไหน อย่างไรบ้าง เห็นความแตกต่างแล้วให้โน้ตส่วนที่น่าสนใจเกี่ยวกับ ontological security ตั้งประเด็นไว้ ก่อนจะลงมืออ่านงานของอาจารย์พีระต่อไป[1]

ตัวอย่างชุดคำถามเพื่อทำความเข้าใจปัญหา security
จาก “specifying the security problematique” ของ Baldwin

มีอะไรเป็นภัยคุกคาม?
เป็นปัญหาความมั่นคงของใคร?

คำถาม 2 ข้อนี้ ชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่าง security ทั่วๆ ไป กับ ontological security ในแง่ที่ว่าแนวคิด ontological security ในงานของอาจารย์พีระนั้นไม่มีระบุถึงภัยคุกคามที่สร้างปัญหาความมั่นคง ปัญหาต่อความมั่นคงของรัฐแบบ ontological ไม่ใช่ threat แต่เป็น trauma

เมื่อเป็นเช่นนี้ประเด็นที่ควรตั้งไว้ในใจสำหรับติดตามแนวคิด ontological security ในงานอาจารย์พีระต่อไปคืออะไรคือ trauma ที่กระทบความมั่นคงของรัฐ? รัฐมีประสบการณ์ trauma ได้อย่างไร? และประสบการณ์นั้นกระทบความมั่นคงส่วนไหนของรัฐ? และวิธีแก้ไขให้มั่นคงทำอย่างไรได้บ้าง?

บทความตอนที่แล้วค้างไว้ตรงที่เตรียมขยับจากการอ่านตั้งประเด็นในใจจากแนวคิดหลักขึ้นไปหาสิ่งที่ขอใช้ทับศัพท์ว่า research program อันเป็นแนวคิดที่นักพัฒนาทฤษฎี IR อย่าง Waltz (1979) และ Keohane (1986)  นำมาจากข้อเสนอของ Imre Lakatos (1970) สำหรับเป็นแนวทางหนึ่งในการติดตามผลการสร้างความรู้ทางทฤษฎีใน IR เพื่อประเมินการอธิบายของทฤษฎีหนึ่งๆ ว่าทฤษฎีไหนจะดีกว่าทฤษฎีไหน แน่นอนว่า ทฤษฎีย่อมต้องถูกทดสอบพลังความน่าเชื่อถือในเบื้องต้นจากความสามารถในการอธิบายปัญหาที่ทฤษฎีนั้นเสนอตัวออกมาอธิบายได้อย่างแจ่มแจ้ง แสดงความสัมพันธ์ที่โยงการทำงานของปัจจัยก่อเหตุไปสู่การส่งผลได้อย่างชัดเจน และการอธิบายย่อมรวมถึงความสามารถที่จะคาดการณ์ได้ไม่ผิดเกี่ยวกับพิสัยของผลลัพธ์โดยทั่วไปที่จะเกิดขึ้นจากการทำงานของเหตุปัจจัยตามสภาพเงื่อนไขที่ทฤษฎีนั้นได้ระบุไว้ แม้ว่าทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ยังไม่มีความสามารถถึงขั้นที่จะคาดการณ์ล่วงหน้าเกี่ยวกับเหตุการณ์เฉพาะว่าจะเกิดเมื่อใดอย่างแม่นยำได้ก็ตาม (Waltz 1979)

แต่โดยลักษณะของมัน ทฤษฎีย่อมมีส่วนที่เป็นฐานคิดหรือแนวพินิจที่ทฤษฎีเลือกใช้ในการมองโลกและสร้างทางอธิบายออกมาจากฐานคิดและแนวพินิจนั้น ฐานคิดหรือแนวพินิจที่ว่านี้ ย่อมไม่ใช่การมองโลกตามความเป็นจริงทั้งหมด ไม่ใช่การหาทางจะบรรยายความเป็นจริงในทุกแง่มุมออกมาอย่างหมดจด เช่น ในการมองคน มองรัฐ และมองการกระทำของคนและของรัฐ  ทฤษฎีจะต้องเลือกแนวพินิจแบบใดแบบหนึ่งมาเป็นฐานคิดตั้งต้น เช่น เลือกที่จะมองโดยสมมุติว่า คนใช้เหตุผลและคิดอย่างมีเหตุผลในการตัดสินใจและกระทำการ  แม้จะรู้ว่าในความเป็นจริงตามสภาพของคนทั่วไป ไม่มีใครที่จะทำอะไรทุกอย่างด้วยเหตุผลและด้วยการคิดคำนวณอย่างมีเหตุผลอยู่ตลอดเวลา  แต่ทฤษฎีเลือกแนวพินิจการมองคนหรือมองรัฐแบบมนุษย์ที่ใช้เหตุผลมาเป็นฐานคิดในการเสนอทางอธิบาย  ฐานคิดนี้ไม่ถูกต้องเสมอไป แต่เป็นแนวพินิจที่ทฤษฎีเลือกมาใช้ การจะบอกว่าทฤษฎีหนึ่งใช้ไม่ได้ ไม่ใช่การไปชี้ที่ฐานคิดตั้งต้นนี้ว่าไม่ถูกต้อง เพราะถ้าจะหาทางบรรยายทุกส่วนในโลกให้ได้ตรงตามที่เป็นจริงอย่างถ้วนทั่ว ก็ไม่มีทฤษฎีไหนจะตั้งต้นขึ้นมาได้ ทฤษฎีตั้งต้นขึ้นได้จากฐานคิดที่เป็นข้อสมมุติ ที่ได้มาจากแนวพินิจที่ทฤษฎีเลือกมาใช้พิจารณาคน พิจารณาโลกและพิจารณาส่วนที่ทฤษฎีเห็นว่าสำคัญในโลกหรือในสังคม แล้วจัดทางอธิบายออกมาจากฐานคิดนั้น  ส่วนสำคัญจึงไปอยู่ที่ข้อเสนอทางทฤษฎีที่ออกมาจากฐานคิดตั้งต้นนี้ ว่าสามารถให้คำอธิบายปัญหาและคาดการณ์ได้ดีเพียงใดเกี่ยวกับผลในลักษณะทั่วไปซึ่งเกิดขึ้นจากการทำงานของเหตุปัจจัยที่อยู่ในทางอธิบายของทฤษฎี และตามเงื่อนไขที่ทฤษฎีได้แสดงความความสัมพันธ์ระหว่างเหตุปัจจัยเหล่านั้นไว้

ปัญหาที่ตามมาก็คือ บางทีทฤษฎีที่มาจากต่างฐานคิดต่างแนวพินิจและแตกต่างกันในทางอธิบาย ก็เสนอคำอธิบายปัญหา ผลลัพธ์ หรือปรากฏการณ์ประเภทเดียวกันออกมา แล้วจะตัดสินได้อย่างไรว่าควรรับคำอธิบายของทฤษฎีไหนมากกว่ากัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าหากทฤษฎีนั้นๆ ต่างก็มีความสอดคล้องสมเหตุสมผลในทางตรรกะระหว่างข้อเสนอส่วนต่างๆ ภายในตัวทฤษฎี   นักพัฒนาทฤษฎีบางคนเช่น Kenneth Waltz เสนอว่า นอกจากความสามารถในการอธิบายและคาดการณ์เกี่ยวกับผลที่จะเกิดขึ้นได้จากเหตุปัจจัยที่ทำงานตามที่ทฤษฎีเสนอไว้แล้ว อีกส่วนหนึ่งที่ควรใช้เป็นเกณฑ์ตัดสินทฤษฎี คือ elegance และ parsimony  คือทฤษฎีที่สามารถเสนอคำอธิบายที่มีลักษณะทั่วไป และเป็นคำอธิบายที่ง่ายในความหมายว่า การอธิบายนั้นมีข้อสมมุติหรือข้อเสนอเกี่ยวกับเหตุปัจจัยเท่าที่จำเป็นสำหรับพิจารณาหลักฐานข้อเท็จจริงเพื่อนำไปหาข้อสรุปที่เป็นไปได้  มีความบันยะบันยังที่จะไม่สร้างคำอธิบายซับซ้อนพะรุงพะรุงเติมปัจจัยเติมเงื่อนไขต่างๆ เข้ามาเต็มไปหมด แต่นักพัฒนาทฤษฎีบางคนก็วิจารณ์ความพยายามสร้างทฤษฎีที่ elegant และ parsimonious แบบนี้ว่า อาจทำให้ได้ทฤษฎีที่เสนอคำอธิบายแบบฉาบฉวยลวกง่ายจนเกินไป

ท่ามกลางข้อถกเถียงเช่นนี้ นักพัฒนาทฤษฎีใน IR จำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะในวงวิชาการ IR ของสหรัฐอเมริกา สนใจข้อเสนอของ Lakatos ในการประเมินความก้าวหน้าของความรู้จากทฤษฎีในสายวิทยาศาสตร์ที่อิงกับ research program แม้ว่าในข้อเสนอต้นทางของ Lakatos สำหรับทฤษฎีสายวิทยาศาสตร์ จะมีความเข้มงวดในการประเมิน แต่นักพัฒนาทฤษฎี IR ก็เห็นว่าหลักการที่ Lakatos วางไว้สามารถปรับมาใช้กับ IR ได้  จากข้อเสนอของ Lakatos ที่ IR นำมาใช้  ในแต่ละ research program จะประกอบด้วยกลุ่มทฤษฎีจำนวนหนึ่ง ที่ผู้ร่วมวงอยู่ใน research program นั้นได้พัฒนาข้อเสนอในทางทฤษฎีออกมาอธิบายปัญหาสำคัญที่คนในวงนั้นสนใจศึกษาร่วมกัน และหาทางพิสูจน์คำอธิบายของทฤษฎีในทางที่แสดงให้เห็นได้ว่า ทฤษฎีใน research program นั้นมีลักษณะที่ Lakatos เรียกว่า “progressive”  ในความหมายต่อไปนี้ :

  1. ทฤษฎีจาก research program นั้นนอกจากจะอธิบายปัญหาที่ตัวมันตั้งขึ้นมาเป็นโจทย์และที่ทฤษฎีจาก research program อื่นก็อธิบายได้เช่นกันแล้ว ฐานคิดและคำอธิบายของทฤษฎีนั้นยังขยายไปสู่การทำความเข้าใจ และเปิดทางอธิบายให้แก่ปัญหาใหม่ ๆ / ปรากฏการณ์อื่น ๆ ที่ยังไม่สู้จะเป็นที่เข้าใจชัดเจน หรือยังมีข้อถกเถียงกันอยู่เพื่อเติมต่อออกไปได้อีก
  2. เป็นไปได้เช่นกันที่ทฤษฎีใน research program ที่มาจากฐานคิดในการมองปรากฏการณ์ และทางอธิบายปัญหาตามที่ research program หนึ่งยึดถืออยู่[2] ในไม่ช้าก็เร็ว “in the wake of facts” (Lakatos 1970, อ้างถึงใน Waltz 1979, หน้า 29) จะเจอกับข้อหักล้างจากความเป็นไปในโลกที่เกิดขึ้นไม่ตรง ไม่สอดคล้อง ไม่ได้เป็นไปตามทฤษฎีที่มาจากฐานคิดและทางอธิบายแบบนั้นว่าไว้ (anomaly)  เมื่อเจอกับความเป็นไปที่ไม่สอดคล้องกับฐานคิดทางอธิบายของ research program แบบนี้ขึ้นมาเมื่อไร ทฤษฎีใน research program นั้นจะผลิตข้อเสนอในรูปสมมุติฐานออกมาเป็นตัวช่วย (auxiliary hypotheses) เพื่อทำให้ความสามารถในการอธิบายความเป็นไปที่เกิดไม่ตรง ไม่สอดคล้อง ไม่ได้เป็นไปตามฐานคิดทางอธิบายที่ทฤษฎีคาดไว้กลับคืนมาได้ และสามารถอธิบายได้อย่างลงตัวดียิ่งขึ้น และนอกจากจะอธิบายปัญหาที่เป็น anomaly ได้สำเร็จโดยไม่เปลี่ยนฐานคิด แนวพินิจและทางอธิบายตามที่ research program ยึดถือแล้ว ถ้าหากมันพาให้ได้ข้อค้นพบใหม่ๆ ในการอธิบายปรากฏการณ์อื่นต่อไปได้อีก  Lakatos ถือว่า research program นั้นมีลักษณะหรืออยู่ในระยะก้าวหน้า แต่ถ้าข้อเสนอทางทฤษฎีที่จัดมาเป็นตัวช่วยทำได้เพียงแค่การเติมเงื่อนไขข้อยกเว้น หรือหาทางขยายนิยามหรือนิยามปฏิบัติการของแนวคิดหลักออกไปเรื่อย ๆ จนไม่มีทางที่จะพิสูจน์ถูกผิดจับมั่นคั้นหมายได้  หรือเป็นการอธิบายแก้ต่างแบบเฉพาะกิจ ถ้า research program ไหนแก้ปัญหา anomalies ทั้งหลายด้วยตัวช่วยที่เป็นสมมุติฐานทางทฤษฎีในลักษณะดังที่ว่ามานี้  research program นั้นก็จัดอยู่ในระยะถดถอยเสื่อมโทรมหรือ“degenerating”   

การประเมินทฤษฎีตามกรอบ research program ของ Lakatos ดังที่นำเสนอไว้อย่างสังเขปข้างต้น ถ้าจะพิจารณาจากมุมของคนอ่าน ก็กล่าวได้ว่า การอ่านงานวิชาการจาก research program เป็นการอ่านที่จะช่วยให้คนอ่านเข้าใจและประเมินผลทางอธิบายของผู้เขียนในเชิงทฤษฎีได้กว้างขวางลึกซึ้งมากขึ้น

ในเบื้องต้นที่นิสิตแรกเรียน IR ควรทราบเพิ่มเติมก่อนที่จะขยับการอ่านหาความรู้ความเข้าใจจาก concepts หรือแนวคิดหลักขึ้นมาหาการอ่านงานวิชาการในระดับ research program คือ งานวิขาการที่จะอ่านอย่างเป็นส่วนหนึ่งของ research program ได้ งานนั้นต้องเป็นงานที่นำเสนอบทวิเคราะห์และคำอธิบายออกมาในกรอบของทฤษฎี งานวิชาการใดที่ไม่ได้เขียนในกรอบทฤษฎี จะอ่านเข้ากับ research program ไม่ได้หรือไม่ได้ถนัด  และถ้าคนเขียนไม่ได้นำเสนองานนั้นบนฐานทางทฤษฎีใดอย่างชัดเจน ก็ต้องอนุมานว่าจุดมุ่งหมายของงานนั้นไม่ได้ตั้งใจสร้างความก้าวหน้าขององค์ความรู้ใน research program ต้องหาวิธีอื่นที่เหมาะๆ มาอ่านงานนั้นต่อไป แต่งานของอาจารย์พีระที่ศึกษาการต่างประเทศไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เล่มนี้ อาจารย์ตั้งใจใช้ทฤษฎีเป็นทั้งกรอบตั้งคำถามและเสนอแนวพินิจและทางอธิบายการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยอย่างชัดเจนตั้งแต่ต้นจนปลาย  จึงทำให้งานนี้ไม่เพียงแต่ให้ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายต่างประเทศของผู้นำคณะราษฎร แต่อาจารย์ยังนำการศึกษาการต่างประเทศไทยในระยะดังกล่าวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงพลังการอธิบายของทฤษฎีเพื่อสร้างความก้าวหน้าให้แก่ research program หนึ่งในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่อาจารย์สนใจ

เมื่องานที่อ่านเป็นงานเชิงทฤษฎี และผู้เขียนงานได้วางกรอบทฤษฎีประกอบกับวิธีวิทยาในการศึกษาตามแนวทางของ research program ไว้ในตัวบทอย่างชัดเจน เช่นงานของอาจารย์พีระที่บทความใช้เป็นตัวอย่างนี้ เครื่องมือสำหรับการอ่านงานวิชาการอย่างเป็นส่วนหนึ่งของ research program ก็ไม่มีอะไรซับซ้อนหรือเป็นเครื่องมือที่ใช้ยาก  ถ้านิสิตใช้ได้คล่องแล้ว การจัดการกับงานวิชาการที่ต้องอ่านฝ่าไปตลอดชีวิตการเรียนก็ไม่ใช่ของยาก เครื่องมือที่ขอแนะนำในที่นี้ซึ่งขออนุญาตใช้ทับศัพท์ภาษาอังกฤษ ได้แก่ classification (การแบ่งพวกจัดประเภท), differentiation (การจำแนกความแตกต่าง), specification (การระบุลักษณะเฉพาะหรือคุณสมบัติสำคัญ), และ compare and contrast (การเปรียบเทียบความคล้ายและความผิดแผกแตกต่างระหว่างกัน)  ที่ขอใช้ทับศัพท์นำคำไทยเพราะเชื่อว่า นิสิตที่เรียนการอ่านการเขียนจากวิชาภาษาอังกฤษพื้นฐานมาแล้วย่อมรู้จักเครื่องมือสกัดหาความหมายความเข้าใจออกมาจากตัวบทที่อ่านเหล่านี้เป็นอย่างดี  อุปกรณ์พื้นฐานสำหรับการอ่านเอาเรื่องหรือการเขียนความเรียง ไม่ว่าจะเป็นชุดคำถาม 5Ws1H หรือเครื่องมือในการอ่านสกัดความหมายมีประโยชน์มหาศาลสำหรับนำคนเรียนเข้าหาความรู้  ถ้าหากใช้คล่องอ่านเป็นก็จะเห็นกระจ่าง

นอกจากนั้น การสกัดสารัตถะออกมาจากตัวบทเพื่ออ่านงานวิชาการอย่างเป็นส่วนหนึ่งของ research program ด้วยอุปกรณ์พื้นฐานข้างต้น จะดีที่สุดถ้าเราเปลี่ยนสิ่งที่สกัดได้ออกมานำเสนอใหม่แทนการเขียนแบบปกติที่ให้แต่ละย่อหน้าพาไหลไป เช่น นำเสนอโดยแผนภาพ  การมีปฏิสัมพันธ์กับตัวบทในระหว่างที่อ่านด้วยการเปลี่ยนความเข้าใจที่ได้มานำเสนอในรูปใหม่ จะช่วยการอ่านในทางที่ถ้ายืมคำในชื่อหนังสือของอาจารย์พีระมาใช้ก็คือจะอ่านได้อย่าง proactive มากขึ้น อาจารย์พีระนิยามนโยบายต่างประเทศแบบ proactive ว่าเป็นการดำเนินนโยบายให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายอย่างคาดหวังถึงผลลัพธ์ และผลลัพธ์ที่คาดหวังของการดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบ proactive อาจารย์พีระว่าคือการ “transform status-quo” การอ่านแบบ proactive ก็เป็นเช่นเดียวกัน  แต่อะไรคือ status-quo ที่จะถูกเปลี่ยนรูปไปจากการอ่าน ข้าพเจ้าขอละไว้ให้นิสิตพิจารณาด้วยตัวเอง

สุดท้าย ควรกล่าวด้วยว่า นิสิตแรกเรียนที่สมัครใจติดตามบทความนี้เพราะสนใจวิธีอ่าน หรือจะเป็นเพราะถูกผู้สอนที่เป็นคนเขียนบทความนี้บังคับให้อ่านก็ตาม จะได้ความเข้าใจวิธีอ่านงานวิชาการจาก research program และสังเกตการใช้อุปกรณ์สกัดสารัตถะที่จะนำเสนอต่อไปนี้ได้ดียิ่งขึ้น ถ้าหากได้อ่านงานของอาจารย์พีระไปด้วย

2

เกริ่นนำเรื่องมานาน ถึงตอนนี้ ได้เวลานำเสนอแผนภาพแรกจากเครื่องมือ classification และ specification  ที่ใช้จำแนกงานวิชาการมาตรฐานด้านการต่างประเทศไทย อาจารย์พีระนำมาจัดประเภทได้ออกมาเป็น 3 กลุ่มใหญ่ พร้อมกับงานสำคัญๆ ที่เป็นตัวแทนของแต่ละกลุ่ม และระบุลักษณะร่วมที่พบในงานส่วนใหญ่ของทั้ง 3 กลุ่ม เพื่อกำหนดพิกัดความแตกต่างระหว่างงานเหล่านี้ กับการศึกษาการต่างประเทศไทยตาม research program ที่อาจารย์เลือกมาใช้เป็นฐานคิดและทางอธิบาย (differentiation)  การจัดประเภทงานวิชาการด้านการต่างประเทศไทยที่มีอยู่อาจจัดแตกต่างจากที่อาจารย์เสนอได้ แต่นั่นอยู่นอกขอบข่ายที่เราจะพิจารณา เพราะความสนใจของเราในที่นี้ คือ research program และทฤษฎีที่อาจารย์พีระใช้

แผนภาพที่ 1 : การศึกษาการต่างประเทศไทยจำแนกตามแนวทาง

เมื่อจุดมุ่งหมายในการอ่านของเราคือการอ่านเพื่อติดตามทำความเข้าใจ research program ที่กำกับการศึกษาการต่างประเทศไทยในงานของอาจารย์ ดังนั้น ส่วนที่น่าสนใจในแผนภาพแรกที่ได้มาจากการคัดแยกประเภทคือส่วนที่ระบุถึงลักษณะสำคัญของงานและแนวทางศึกษาที่อาจารย์ใช้ ซึ่งแตกต่างจากงานทั้ง 3 กลุ่มที่มีมาก่อน ลักษณะที่ระบุว่าเป็นการศึกษาแบบมีทฤษฎีคัดท้ายและให้แนวทางการวิเคราะห์เป็นเหตุให้เราสนใจอ่านงานของอาจารย์เป็นส่วนหนึ่งของ research program ดังนั้น คำถามสำคัญที่ต้องพิจารณาต่อก็คือ ทฤษฎีที่อาจารย์ใช้จัดอยู่ใน research program ไหน และใน research program นั้น มีอะไรเป็นลักษณะสำคัญ

อาจารย์ระบุให้ผู้อ่านทราบลักษณะสำคัญของแนวทางการศึกษาที่อาจารย์ใช้ ว่าเมื่อพิจารณาในเชิงทฤษฎี จุดสำคัญที่งานนี้มีความแตกต่างจากงานมาตรฐานด้านการต่างประเทศไทยตรงที่ (1) งานก่อนหน้านั้นมีลักษณะที่อาจารย์ใช้คำว่า materialist คือเน้นอธิบายการกำหนดและดำเนินนโยบายต่างประเทศจากผลประโยชน์ที่เป็นวัตถุรูปธรรม เช่น การเปลี่ยนแปลงอำนาจด้านการทหาร แรงจูงใจด้านเศรษฐกิจ ระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ภัยคุกคามที่เห็นเป็นรูปธรรม การศึกษาการต่างประเทศไทยของอาจารย์เป็นการเลี้ยวเข้าหามิติด้านที่เป็นความคิด ความรู้สึกนึกคิด หรือสิ่งที่อยู่ในความคิดจิตใจคน (ideational turn) ไม่ว่าจะเป็นความคิด ความรู้สึกนึกคิดของผู้นำในการตัดสินใจดำเนินนโยบาย ของประชาชนพลเมืองที่ให้การสนับสนุน เรียกร้อง หรือขัดขวางนโยบาย หรือความคิดที่อยู่ในรูปปทัสถานซึ่งได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ และ (2) คือการจัดเรื่องเพื่อเสนอความเข้าใจการต่างประเทศไทยออกมา งานของอาจารย์จะมีแกนเรื่องที่ต่างออกไปจากแกนเรื่องเดิมที่เคยรับรู้เข้าใจกันว่าการทูตไทยเป็นการทูตแบบลู่ตามลม โดยข้อ (2) นี้ได้มาจากการเปลี่ยนทางพิจารณาและทางอธิบายการต่างประเทศไทยไปหา Ideational turn ที่อาจารย์จะเสนอ    

ดังนั้น ถ้าจะอ่านเพื่อตามหา research program ที่อาจารย์ใช้  Ideational turn ก็คือเบาะแสแรกให้เราตามต่อ เมื่ออ่านได้ข้อค้นพบอย่างนี้ จุดนี้คือจุดที่ควรหยุดตั้งประเด็น

ขออนุญาตกล่าวแทรกไว้ตรงนี้ว่า ในตำราพื้นฐานที่ออกแบบมาดีที่ให้คนอ่านศึกษาเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ ตำราหลายเล่มจะให้สัญญาณว่าเมื่ออ่านถึงตอนไหนที่คนอ่านควร Stop and Think หรือ Do เพื่อแนะนำให้ลองฝึกหัดบางอย่าง หรือมีกล่องข้อความแทรกเพื่อให้บริบทหรือภูมิหลังหรือกรณีศึกษาแก่เรื่องตอนนั้น แต่ในหนังสือทฤษฎีวิชาการจะไม่มีเครื่องช่วยอ่านแบบนี้ มีแต่เนื้อหาเรียงต่อกันไปเป็นพืดจากย่อหน้าสู่ย่อหน้า จากตอนสู่ตอน จากบทสู่บท ในการอ่านงานทางทฤษฎี หรืองานทางวิชาการแบบอื่นก็ตาม การอ่านแบบมีปฏิสัมพันธ์กับตัวบทต้องไม่ปล่อยให้ตัวบทนั้นพาไหลไปเรื่อยเป็นอันขาด เราคนอ่านต้องหาจุดหยุด เพื่อคิด เพื่อตั้งคำถาม ตั้งประเด็นต่อข้อเสนอในตัวบทเป็นระยะ หาแนวเทียบหรือหาบริบทภูมิหลังมาช่วยส่งเนื้อหาที่กำลังอ่านให้เห็นความหมายเด่นชัดขึ้นมา นั่นคือ เราควรชะลอเครื่องมืออย่าง Stop and Think ที่พบในตำราพื้นฐานทั่วไปมาใช้ในการอ่านงานเชิงทฤษฎีด้วย โดยอาจเรียกของเราว่า Stop and Ask

STOP and ASK  ในจุดแรก เมื่อพบว่าอาจารย์พีระเสนอพาการศึกษาการต่างประเทศไทยเลี้ยวเข้าหา ideational turn เห็นการแยกงานของอาจารย์ว่าแตกต่างจากงาน 3 กลุ่มที่เป็นการศึกษาการต่างประเทศไทยแบบมาตรฐานตรงที่งานเหล่านั้นอธิบายจากปัจจัยด้านวัตถุรูปธรรมเป็นหลัก ในขณะที่อาจารย์จะอธิบายโดยให้ความสำคัญแก่ idea   จุดเริ่มต้นที่ผู้เขียนจำแนกงานของเขาว่าต่างจากงานของคนอื่นอย่างมีนัยสำคัญตรงไหน การใช้เครื่องมือตั้งคำถามพื้นฐาน 5Ws1H จะเปิดประเด็นให้เราคนอ่านมีจุดติดตามงานของผู้เขียนต่อไปว่าเขามีคำตอบให้แก่ประเด็นเหล่านี้ไหม ถ้ามี เขาตอบอย่างไร ถ้าอ่านแล้วไม่มี ช่องว่างนี้บอกให้เราคนอ่านเห็นอะไร  ดังนั้น ก่อนจะเลี้ยวตามอาจารย์พีระไป ควรจัดคำถามต่อ Ideational turn ออกมาตั้งประเด็นในใจไว้ก่อน เช่น

คำถามเตรียมการเบื้องต้นสำหรับติดตาม Ideational Turn

  1. Ideas อะไร/แบบไหนบ้าง ที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดและดำเนินนโยบายต่างประเทศ ทั้งโดยทั่วไป และต่อการต่างประเทศไทยที่ผู้เขียนเลือกมาเป็นกรณีศึกษา?  Ideas เหล่านั้นมาจากไหน?
  2. Ideas ทำงานส่งผลต่อใคร? ผ่านใคร? ส่งผลทางไหน – อย่างไรได้บ้าง? 
  3. ideas อธิบายได้แค่ไหน, แทนที่ปัจจัยด้านที่เป็น materialist ได้หมดหรือไม่, หรือว่าอิงอาศัยกันในการส่งผลต่อนโยบายอย่างไร?
  4. มีวิธีศึกษาการทำงานส่งผลของ ideas ต่อผลลัพธ์ที่ต้องการอธิบายได้กี่แบบ? ผู้เขียนเลือกวิธีไหน? ภายใต้ข้อจำกัดของข้อมูลหลักฐานที่มีเหลือให้เข้าถึงได้ วิธีดังกล่าวเหมาะสำหรับ idea ที่ผู้เขียนศึกษาหรือไม่?   

การตั้งคำถามตั้งประเด็นด้วยเครื่องมือพื้นฐานอย่าง 5Ws1H  เป็นคำถามที่ง่ายสำหรับคนตั้ง แต่สำหรับคนตอบ บางทีคำถามที่ตั้งมาง่ายๆ ก็ไม่ใช่คำถามที่จะตอบกันได้โดยง่าย คำถามข้อแรกที่ตั้งมาข้างต้นนั้นว่าไปแล้วเป็นการถามถึงการศึกษา ideas ในนโยบายต่างประเทศ ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การเมืองเปรียบเทียบ และนโยบายสาธารณะเท่าที่มีอยู่ทั้งหมด ซึ่งก็มีอยู่มากมายหลายรูปแบบหาใครที่จะรู้หมดยาก ถ้าจะให้รู้จริงก็ต้องลงมือสำรวจองค์ความรู้และหาวิธีจำแนกประเภทออกมาเปรียบเทียบกัน แต่งานที่เราอ่านอยู่นั้นอาจนำเสนอองค์ความรู้แต่เฉพาะแต่ส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นหลักของหัวข้อวิจัย เพราะไม่ใช่จุดมุ่งหมายของงานนั้นที่จะสำรวจสถานะองค์ความรู้ที่มีอยู่ทั้งหมดเกี่ยวกับการศึกษา ideas  

อย่างไรก็ดี ในการอ่านงานทางทฤษฎีในการเรียนขั้นสูงต่อไป นิสิตจะตั้งหลักได้ดีขึ้นถ้าเห็นภาพรวมขององค์ความรู้ด้านนั้นในมุมกว้าง เห็นการจัดระบบจำแนกประเภทบอกลักษณะเปรียบเทียบจุดร่วมและความแตกต่างที่มีอยู่ในสนามความรู้ด้านนั้นจากบทความปริทัศน์ จากหนังสือวิชาการที่นำเสนอกรอบแนวคิดหรือแนวทางการศึกษา หรือจากการเทียบเคียงเนื้อหาในบทที่เสนอการสำรวจองค์ความรู้ทบทวนวรรณกรรมในงานที่ใช้แนวทางทฤษฎีเดียวกัน  

ตัวอย่างบทความปริทัศน์งานวิชาการรัฐศาสตร์ที่จับความสำคัญของ ideas

ตัวอย่างหนังสือวิชาการที่นำเสนอการศึกษา ideas ในการต่างประเทศ

  • Judith Goldstein and Robert O. Keohane, eds., Ideas and Foreign Policy: Beliefs, Institutions, and Political Change (Ithaca: Cornell University Press, 1993).
  • Valerie M. Hudson, ed., Culture and Foreign Policy (Boulder: L. Rienner Publishers, 1997).

จากบทปริทัศน์ของ Berman เพียงนิสิตดูจากหัวเรื่องในแต่ละตอนก็ได้ประเด็นน่าสนใจสำหรับติดตามการศึกษา ideas ต่อไปได้มากแล้ว Berman ใช้ 5Ws1H ตั้งประเด็นสำหรับติดตาม Ideational turn ไว้ดังนี้ :

  • “Why and How Do Particular Ideas Become Politically Significant?” ไม่ว่างานอาจารย์พีระเสนอการศึกษาการต่างประเทศไทยใน ideational turn ไว้อย่างไร คำถามของ Berman ข้อนี้เรานำมาตั้งถามต่อ idea ที่อยู่ในงานของอาจารย์พีระได้เช่นกัน
  • “Why and How Do Some Ideas Remain Significant Over Time?” ทำให้เราได้ข้อสังเกตสำหรับติดตามอีกแบบว่า idea ที่ส่งผลต่อการต่างประเทศไทยในงานของอาจารย์พีระยืนระยะความสำคัญและสืบเนื่องต่อมาอย่างเป็นสถาบันได้หรือไม่ ถ้าได้ เพราะอะไร ถ้าไม่ได้ เพราะอะไร
  • “How Do Ideas, Norms, and Culture Affect Political Life?” คำถามและการสำรวจวรรณกรรมของ Berman ข้อนี้ให้เบาะแสสำหรับการตั้งหลักตอบคำถามข้อ 4 ที่เราตั้งไว้ข้างต้นได้

หรือในงานที่ Goldstein and Keohane เป็นบรรณาธิการ ให้ความเปรียบที่น่าสนใจเกี่ยวกับการทำงานส่งผลของ Ideas แบบต่างๆ คือ “Ideas as Roadmaps”; “Ideas as Focal Points”; “Ideas as Glue” และบทปริทัศน์ของ Jacobsen ได้เติมความเปรียบเพิ่มเข้ามาให้เราพิจารณาอีกหนึ่ง คือ “Ideas as Weapons” ทำให้เราได้ทางคิดเกี่ยวกับการทำงานส่งผลของ ideas หลายแบบสำหรับตั้งหลักในการตอบคำถามข้อ 2 ข้างต้น หรือได้ประเด็นในใจไปตามหาว่าการทำงานส่งผลของ idea ในงานของอาจารย์พีระสะท้อนความเปรียบแบบไหนได้บ้างไหม

โดยสรุปก็คือ เมื่อเราอยู่ฝ่ายคนอ่าน การตอบคำถามข้างต้นไม่ถึงกับจะเป็นภารกิจของเราโดยตรง แต่การหยุดตั้งคำถามเหล่านี้ในจุดเริ่มต้น ตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยให้เรา (1) ติดตามการทบทวนสถานะองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นจากงานที่อ่านได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น (2) เห็นพิกัดตำแหน่งทางทฤษฎีของงานที่อ่านเมื่อเทียบกับงานอื่นที่อยู่ในแนวทางเดียวกันชัดขึ้น ในที่นี้คือ แนวทางที่เลี้ยวเข้ามาทาง Ideational turn ด้วยกันว่างานของอาจารย์พีระ เมื่อเทียบกับงานที่จับความสำคัญของ ideas ในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและนโยบายต่างประเทศแล้ว อาจารย์วางพิกัดงานนี้ลงในจุดไหน ใน research program ใด (3) เมื่อทราบพิกัดงานและ research program ของผู้เขียนชัดแล้ว ถ้าเราสนุกที่จะตามอ่านต่อเลยจากงานของเขาออกไป เราก็มีแผนที่เส้นทางที่จะต่อออกไปได้หลายทาง  แต่ความมุ่งหมายหลักของเราอยู่ที่การพิจารณางานอาจารย์พีระใน research program ซึ่งเราสกัดจากการอ่านบทแรกออกมานำเสนอในแผนภาพที่ 2 และแผนภาพที่ 3 ได้ดังนี้

แผนภาพที่ 2: ทางอธิบายของอาจารย์พีระจาก research program ว่าด้วย ontological security
แผนภาพที่ 3: การต่างประเทศไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ตามทางอธิบายของอาจารย์พีระ

แผนภาพที่ 2 และแผนภาพที่ 3 ข้างต้นบอกเราคนอ่านว่าอาจารย์พีระได้คิดการณ์ใหญ่ที่จะตั้ง research program ชุดหนึ่งขึ้นมาไว้สำหรับศึกษาการต่างประเทศไทย แต่อาจารย์เลือกทำในสเกลเล็ก และจากกรณีศึกษากรณีเดียว คือศึกษาออกจากด้านที่เป็นความเป็นจริงทางจิตวิสัยมาหาการแสดงออกทางพฤติกรรมในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2  

อาจารย์เสนอว่าผู้นำรัฐไทยเลือกดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบ “proactive” ที่รวมถึงการรุกด้วยกำลังทหารต่อฝรั่งเศส ประเทศมหาอำนาจที่ความสัมพันธ์ในอดีตกับสยามเคยสร้างประสบการณ์ที่เป็นบาดแผลทางจิตใจไว้ในความทรงจำร่วมกันของสังคม และเป็นที่มาของความไม่มั่นคงเชิงภวสภาพจากการสูญเสียเกียรติภูมิของประเทศชาติ ที่จะปรับให้ฟื้นคืนความมั่นคงขึ้นมาได้ ก็ต่อเมื่อปมทางจิตวิทยานี้ถูกเยียวยาแก้ไขโดยเกียรติภูมิที่ได้รับจากความสำเร็จในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ซึ่งนอกจากจะช่วยยกระดับสถานะระหว่างประเทศของไทยให้สูงขึ้นมาแล้ว ยังมุ่งหมายไปถึงการหวังจะได้มาซึ่งสัญลักษณ์แห่ง “ชัยสมรภูมิ” ต่อประเทศมหาอำนาจที่เคยสร้างประสบการณ์เลวร้ายในอดีตที่ผ่านมา คำว่า proactive ที่อาจารย์เลือกมาใช้ระบุแนวทางการดำเนินนโยบายแบบนี้มีนัยทั้งการคาดหวัง และการลงมือรุกเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิม ทำให้สิ่งที่หวังนั้นเกิดขึ้นมาโดยไม่รีรอ

research program ชุดนี้ หรือชุดไหนก็ตาม ส่วนสำคัญตามที่ Lakatos เสนอให้พิจารณา scientific research program ได้แก่ส่วนที่เป็นฐานคติแกนหลัก ฐานคติแกนหลักของ research program ในเรื่อง ontological security ที่อาจารย์พีระได้ตั้งต้นขึ้นมาศึกษาการต่างประเทศไทยชวนเราให้มองรัฐในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มองปัญหาความมั่นคงของไทย หรือของรัฐไหนก็ตาม ในบริบทของความสัมพันธ์ทางสังคม (Berger and Luckmann, 1966)   ที่ส่งผลต่อความคิดเกี่ยวกับตัวตนของรัฐนั้นว่า ในการจะเป็นไทย หรือการจะเป็นอินเดีย เป็นจีน เป็นอเมริกัน เป็นรัสเซีย เป็น GREAT Britain หรือเป็นสหภาพยุโรป จะเป็นกันที่ไหน และจะเป็นกันขึ้นมาได้อย่างไร 

ที่ไหนที่ว่านี้ มีอย่างน้อย 2 ส่วน ส่วนแรก คือความมั่นคงทางภวสภาพ ด้านที่เป็นจิตวิสัย ที่มาจากความเข้าใจตนเองและความต้องการจะเลือกระบุตนเองอยู่กับคุณค่า บทบาท สถานภาพแบบไหน ความสอดคล้องระหว่างคุณค่าที่ยึดมั่นและที่มุ่งมั่นปรารถนา กับการแสดงออกได้ตามบทบาทในสถานภาพอันเป็นที่ต้องการเป็นที่น่าพอใจหรือไม่ ได้ดังที่ใจนึกหรือยัง  และความสอดคล้องกันระหว่างสิ่งที่คิดสิ่งที่ปรารถนา กับสิ่งที่ทำและวิธีที่ทำ กับผลที่เกิดขึ้นและความหมายที่ประจักษ์แก่คนอื่นๆ มีช่องว่างที่สั่นคลอนความมั่นใจ ความแน่ใจอยู่บ้างไหม หรือสร้างปมปัญหาทางใจไว้ในความรับรู้ ในความทรงจำร่วมกันของสังคม และความรู้สึกนึกคิดเมื่อย้อนระลึกหรือหวนนึกถึงความหมายที่ประทับรอยในความทรงจำร่วมกันนั้นสร้างความเข้าใจภาวะของตนเองในช่วงเวลาหนึ่งๆ ขึ้นมาแบบไหน และความเข้าใจเช่นนั้นได้ปลุกแรงกระตุ้น แรงเร้าการกระทำ แบบไหนขึ้นมา

ส่วนที่ 2 เป็นการพิจารณาตัวตนในการจะเป็นไทย หรือเป็นอินเดียเป็นพม่าเป็นจีนเป็นอเมริกันเป็นรัสเซียเป็นญี่ปุ่นเป็นเกาหลี ตามความหมายที่มุ่งอยากจะเป็น ตามความเข้าใจที่คิดว่าเป็น และตามสภาพที่เป็นจริงๆ นั้น ประเทศอื่น คนอื่นที่ร่วมอยู่ในสังคม ทั้งสังคมของรัฐและสังคมโลกยอมรับการเป็น ตามภาพ ตามสถานภาพในสภาวะเงื่อนไขอย่างที่เจ้าตัวปรารถนาจะระบุตนเองหรือไม่ 

ในส่วนที่ 2 นี้ เป็นการพิจารณาความมั่นคงเชิงภวสภาพจากความสัมพันธ์ทางสังคมแบบปรวิสัย ตามสภาพความเป็นจริงที่ความสัมพันธ์ทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมภายในรัฐ สังคมของรัฐระหว่างนานาประเทศ หรือสังคมโลกระหว่างผู้คนต่างถิ่นที่ ที่มีความสัมพันธ์ถึงกัน ได้ร่วมกันสร้างความเป็นจริงทางสังคมขึ้นมาจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ความเป็นจริงทางสังคมที่ว่านี้ปรากฏออกมาและดำรงอยู่ในรูปของแบบแผนวิถีปฏิบัติ ทำงานผ่านภาษาการสื่อสาร การอบรมถ่ายทอด การเรียนรู้คุณค่าหลักการบรรทัดฐาน กฎเกณฑ์กติกา ตลอดจนกลไกเชิงสถาบันรูปแบบต่างๆ ที่ผลิตความรู้ ผลิตความหมาย สืบสร้างรักษาคุณค่า ที่จะมาตีกรอบความหมายว่าอะไรถูกหรือผิด  อะไรเจริญหรือเถื่อน อะไรสมบูรณ์แบบหรือว่าบกพร่อง แบบไหนที่เหมาะสมควรยกย่อง แบบไหนที่ไม่เหมาะสมและควรแก้ไข หรือควรประนาม อย่างไรคือดีงามทรามชั่วตรงไหน ที่จะเอาไปเป็นเกณฑ์วินิจฉัยตัดสินการกระทำ ความคิด ความคาดหวัง และรูปแบบความสัมพันธ์ที่แต่ละคนแต่ละฝ่ายแต่ละกลุ่มมีอยู่ระหว่างกันหรือดำรงอยู่ร่วมกัน 

การทำความเข้าใจตนเองตามความหมายแบบไหน การเลือกระบุตนเองเข้ากับคุณค่า บทบาท สถานภาพแบบใด การเลือกตั้งเป้าหมายเลือกวิธีกระทำอย่างไร การบรรลุถึงความพอใจในความเป็นตัวตนของตนเอง หรือการดิ้นรนเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงตัวตนของตน จึงมิได้เกิดขึ้นในสุญญากาศ แต่เกิดขึ้นในสภาพความเป็นจริงทางสังคมที่ดำรงอยู่อย่างเป็นปรวิสัย ที่จะไม่เป็นไปตามการนึกคิดคาดหวังโดยลำพังของใครคนใดคนหนึ่ง  ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ของรัฐใดรัฐหนึ่ง ของชุมชนใดชุมชนหนึ่ง แม้ว่าความเป็นจริงทางสังคมเช่นนี้จะมาจากการร่วมกันยึดถือเชื่อใช้โดยคนทั้งหลาย จนกระทั่งมันตั้งมั่นขึ้นมาส่งผลต่อทุกส่วนได้ก็ตาม 

การพิจารณา research program ที่อาจารย์พีระตั้งขึ้นมาศึกษาการต่างประเทศไทยจึงพาเราไปสำรวจหาภูมิทัศน์หรือแผนที่ทางใจในความรู้สึกนึกคิด ในจินตนาการที่เกี่ยวกับเวลาและพื้นที่ที่ถ่ายทอดเป็นความรู้เป็นความทรงจำร่วมกัน และการสำรวจหาภูมิทัศน์หรือแผนที่ของความเป็นจริงทางสังคม ที่ดำรงอยู่อย่างเป็นปรวิสัยแต่วางเงื่อนไขจากภายนอกต่อการก่อรูปความเข้าใจภายในเกี่ยวกับปัญหาว่าฉันเป็นใคร อยากจะเป็นอะไร และความต้องการและการลงมือกระทำรุกไปหาเป้าหมายตามที่ต้องการนั้นได้ผลเป็นอย่างไร ทั้งส่วนที่เป็นการยอมรับยกย่องจากคนอื่นๆ ที่จะมาเติมเต็มความรู้สึกเกี่ยวกับตัวตนของตนเองให้สมบูรณ์ และความพอใจในสิ่งที่เป็นในสิ่งที่ได้รับแล้วก็หยุดการดิ้นรนแข่งขัน หรือว่ายังคงมองคู่เปรียบที่มีโอกาสจะขึ้นมาทัดเทียมอย่างไม่ไว้วางใจ และกำหนดเป้าหมายใหม่สำหรับแข่งขันเบียดขับกับรัฐอื่นๆ หรือรัฐที่ยังไม่ยอมลงให้ต่อไปโดยไม่มีหยุดยั้ง

เมื่ออ่านมาถึงจุดนี้ น่าตั้งคำถามอะไรบ้าง

STOP AND ASK



บทความเดือนต่อไป จะนำเสนอต่อว่า เมื่อใช้ research program ของอาจารย์พีระพิจารณาปัญหาการต่างประเทศไทย ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือเห็นแย้งกับการวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ของอาจารย์ตรงไหนก็ตาม research program นี้พาเราตั้งคำถามใหม่ๆ  พาเราย้อนฉุกใจคิดในสิ่งที่เคยมองผ่านไปเฉยๆ และเห็นวิธีพิจารณาใหม่ เห็นแนวทางอธิบายทำความเข้าใจปรากฏการณ์นั้นใหม่ รวมทั้งบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการต่างประเทศไทยที่ต่างออกไปจากเดิม

ขอต่อถึงตอนที่ 3 จึงจะจบได้


รายการอ้างอิง

Baldwin, D. A. (1997). The concept of security. Review of international Studies, 23(1), 5-26.

Berger, P. L. and Luckmann, T. (1966). The social construction of reality: A treatise in the sociology of knowledge. Anchor.

Charoenvattananukul, P. (2020). Ontological Security and Status-Seeking: Thailand’s Proactive Behaviours during the Second World War. Routledge.

Keohane, Robert O. (1986). Theory of world politics: structuralism and beyond. In Robert O. Keohane, ed., Neorealism and its critics. Columbia University Press: 158 – 203.  

Lakatos, Imre. (1970). Falsification and the methodology of scientific research programs. In I. Lakatos and A. Musgrave, eds. Criticism and the growth of knowledge. Cambridge University Press:  91-196.

Waltz, Kenneth N. (1979).  Theory of International Politics. Addison-Wesley.

เชิงอรรถขยายความท้ายบท

[1] เราอาจเปิดวงเล็บใหญ่ ๆ ไว้ในจุดนี้เพื่อขยายความต่ออีกสักหน่อยได้ว่า นอกจาก security แล้ว ยังมีแนวคิดพื้นฐานอีกมากที่ผู้เรียน IR ควรใส่ใจให้ความสำคัญ งานวิเคราะห์แนวคิดพื้นฐานของ Baldwin ที่เป็นประโยชน์มากสำหรับคนแรกเรียน IR คืองานที่เขาเสนอการวิเคราะห์ให้เราเข้าใจลักษณะและรูปการณ์ของ threat, power, interdependence และ social exchange เทียบเคียงกัน (Baldwin 1989) นอกจากนั้น งานวิเคราะห์แนวคิดอำนาจและอิทธิพลสำหรับผู้แรกเรียน IR อีกเล่มหนึ่งที่เหมาะในการจัดการสกัดประเด็นจากแนวคิดอำนาจที่มีคำคุณศัพท์ประกบไว้ เช่น อำนาจอ่อน อำนาจแข็ง หรืออำนาจชาญฉลาดแบบไหนก็ตาม คืองานของ John M. Rothgeb, Jr. (1993) และยังมีของคนอื่น ๆ อีก แต่นอกจากอาศัยเครื่องมือนำทางจากนักวิชาการที่ให้แนวทางพิจารณาแนวคิดพื้นฐานเหล่านี้แล้ว นิสิตเองก็สามารถทำความเข้าใจแนวคิดพื้นฐานด้วยตัวเองได้เช่นกัน ชุดคำถาม Who, What, Where, When, Why, How ดังที่ Baldwin (1991) นำมาใช้ในการ “Specifying the Security Problematique” ของเขาเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมากในการพาเข้าหาความเข้าใจแนวคิดพื้นฐานที่จะเปิดให้เห็นแง่มุมหลากหลายด้านในตัวแนวคิดนั้น การพยายาม “specifying X problematique” ด้วยชุดคำถามพื้นฐาน 5Ws+1H และการหาทางตอบคำถามเหล่านั้นด้วยตนเองยังมีส่วนช่วยนิสิตกำหนดท่าทีและมุมมองต่อแง่มุมต่างๆ ที่อยู่ในแนวคิดนั้นได้แจ่มชัดขึ้น รวมทั้งได้ประเด็นในใจสำหรับตามพิจารณางานวิชาการที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดนั้นต่อไป  ถ้าอยากทดสอบว่าจริงไหม ข้าพเจ้าขอชวนนิสิตแรกเรียนลองหาคำตอบให้แก่คำถาม “specifying the war problematique” ที่ตั้งขึ้นเป็นตัวอย่างตามแนวทางของ Baldwin  ต่อไปนี้

[2] เพื่อความเข้าใจองค์ประกอบใน research program หนึ่งๆ อย่างละเอียดยิ่งขึ้นตามที่นักวิชาการใน IR ยืมแนวคิดของLakatos มาพิจารณาทฤษฎีด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โปรดดูตัวอย่างจากข้ออภิปรายของ Robert O. Keohane เรื่อง realist research program ใน “Theory of World Politics: Structuralism and Beyond,” in Robert O. Keohane, ed., Neorealism and Its Critics (New York: Columbia University Press, 1986), 158 – 203.  

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save