fbpx
เรื่องร้อน OnlyFans จากเดียร์ลอง, ไข่เน่า ถึง Titus Low: สังคมอาเซียนไฉนใยจึงดัดจริตเรื่องเพศ

เรื่องร้อน OnlyFans จากเดียร์ลอง, ไข่เน่า ถึง Titus Low: สังคมอาเซียนไฉนใยจึงดัดจริตเรื่องเพศ

เมื่อวานนี้ (15 กุมภาพันธ์ 2022) เกิดกระแสข่าวครึกโครมบนโลกออนไลน์ว่า ‘เดียร์ลอง’ เซ็กส์ครีเอเตอร์ (sex creator) สาวชาวไทยชื่อดังบนแพลตฟอร์ม OnlyFans ย้ายประเทศไปยังเนเธอร์แลนด์สำเร็จแล้ว ก่อนที่เจ้าตัวจะออกมาแก้ข่าวว่าเป็นแค่ช่วงเริ่มต้นเท่านั้น แต่เธอก็มีความคิดที่จะย้ายไปลงหลักปักฐานอยู่ที่นั่นพร้อมขอสัญชาติจริง

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากที่เมื่อไม่นานนี้ มีข่าวว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเตรียมเรียกเธอสอบสวน เนื่องจากการเผยแพร่คลิปของเธอบน OnlyFans อาจเข้าข่ายกระทำลามกอนาจาร ซึ่งถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย จนนำไปสู่การถกเถียงอย่างเผ็ดร้อนบนโลกออนไลน์

หากท่านเติบโตในสังคมไทย คงรู้ดีว่ากรณีอย่างเดียร์ลอง ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก

ย้อนไปไม่นาน เมื่อเดือนกันยายน 2021 เจ้าหน้าที่ตำรวจบุกจับ ‘ไข่เน่า’ อีกหนึ่ง sex creator สาวบน OnlyFans โทษฐานผลิตสื่อลามกอนาจารบนโลกออนไลน์ โดยได้รับการประกันตัวในเวลาต่อมา

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับสองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ sex creator สาวชาวไทยสองคนนี้ ที่ประเทศอาเซียนอีกประเทศหนึ่งอย่าง ‘สิงคโปร์’ ก็เกิดเหตุการณ์คล้ายๆ กัน

ในเดือนตุลาคม 2021 เจ้าหน้าที่ตำรวจสิงคโปร์บุกที่พักของไททัส โหลว (Titus Low) ดาวหนุ่ม OnlyFans ที่จัดว่าประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งในสิงคโปร์ โดยเจ้าหน้าที่ทำการอายัดเครื่องมือสื่อสารและบัญชี OnlyFans ของเขา พร้อมเตือนไม่ให้เข้าใช้บัญชีดังกล่าวอีก หากแต่ไททัส โหลวเลือกขัดคำสั่งเจ้าหน้าที่ โดยเผยแพร่คลิปทางบัญชีเขาเองต่อไป กระทั่งนำมาสู่การจับกุมไปยังโรงพักในเดือนธันวาคม 2021 โดยดาวหนุ่ม OnlyFans คนนี้ถูกตั้งสองข้อหา ได้แก่ เผยแพร่สื่อลามกอนาจาร และขัดคำสั่งเจ้าหน้าที่เข้าไปใช้งานบัญชีที่ถูกสั่งห้าม ถ้าหากเขาถูกตัดสินว่าผิดจริง โทษสูงสุดที่จะได้รับคือ จำคุก 3 เดือน และจำคุก 6 เดือน พร้อมปรับเป็นเงิน 5,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 120,000 บาท) ตามลำดับข้อหา

เช่นเดียวกับในไทย กรณีนี้จุดประเด็นถกเถียงเป็นวงกว้างในสังคมสิงคโปร์ ว่าการกระทำแบบนี้ยังควรเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายอยู่หรือไม่ในยุคสมัยนี้

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เพียงไทยและสิงคโปร์เท่านั้นที่มีเรื่องราวลักษณะนี้เกิดขึ้น หากแต่ชาติอาเซียนทุกชาติล้วนมีกฎหมายที่เข้มงวดต่อการการกระทำหรือการเผยแพร่สื่อที่ถูกมองว่าส่อไปในทางลามกอนาจาร และเรื่องราวการเข้าปราบปรามจับกุมผู้ทำผิดเรื่องนี้ก็เกิดขึ้นต่อเนื่องในประเทศเหล่านี้

ยกตัวอย่างอินโดนีเซีย ก็มีกฎหมายรุนแรงมากในเรื่องนี้ ขนาดที่ว่าการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง ‘ชินจัง’ ยังถูกจัดเป็นสื่อลามก จนต้องมีการเซ็นเซอร์หลายฉากออกไป หรือเมื่อไม่นานนี้ ที่ประเทศลาว กระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรมและการท่องเที่ยวได้สั่งตรวจสอบบรรดาเพลงที่มีเนื้อหาสองแง่สองง่ามบนโลกออนไลน์ โดยเชื่อว่ามีต้นเหตุมาจากเพลง ‘เฮ็ดนาเด้อบ่ได้เฮ็ดนม’ ที่โด่งดังมากทั้งในลาวและไทย ซึ่งมีเนื้อเพลงส่อไปในทางลามกอนาจาร

ว่าแต่เพราะอะไรสังคมอาเซียนถึงได้อ่อนไหวนักกับเรื่องพวกนี้?

ก่อกำเนิด ‘ศีลธรรม’ มรดกเจ้าอาณานิคมตะวันตก

ย้อนไปในศตวรรษที่ 19 อีกฟากฝั่งของโลกบนแผ่นดินอังกฤษในตอนนั้น อยู่ในช่วงเวลาของยุค ‘วิกตอเรีย’ ตามชื่อของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียซึ่งครองอำนาจในขณะนั้น โดยจัดเป็นยุคที่มีการตีความศีลธรรมกันอย่างเข้มข้น จนก่อกำเนิดข้อห้ามทางศีลธรรมจรรยาขึ้นมามากมาย นั่นคือจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้เรื่องอย่างการแก้ผ้าโป๊เปลือย การเปิดเผยความรู้สึกทางเพศ การไม่รักนวลสงวนตัว การค้าประเวณี และการรักร่วมเพศ ถูกมองเป็นเรื่องผิดบาปต่ำตม ทั้งยังผิดกฎหมาย อย่างกฎหมายห้ามการเผยแพร่สื่อลามกอนาจารก็เกิดขึ้นในอังกฤษเป็นครั้งแรกในยุคสมัยนี้ ในชื่อ English Obscene Publications Act 1857 นับเป็นกฎหมายฉบับแรกของโลกที่จัดสื่อลามกอนาจารเป็นอาชญากรรม

ในเวลานั้นเป็นยุคที่จักรวรรดิอังกฤษกำลังเรืองอิทธิพลบนโลกถึงขีดสุด แนวคิดศีลธรรมในยุควิกตอเรียจึงไม่ได้จำกัดอยู่บนแผ่นดินแม่เท่านั้น แต่ยังแผ่ขยายไปยังดินแดนทั่วโลกที่ตกเป็นอาณานิคม รวมถึงพื้นที่บางส่วนบนดินแดนอุษาคเนย์ ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่ของประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน และพม่า

นั่นเองจึงเป็นหมุดหมายสำคัญที่เริ่มทำให้เรื่องทางเพศค่อยๆ กลายเป็นเรื่องต้องห้ามบนแผ่นดินแถบนี้ จากที่สังคมอุษาคเนย์ในยุคก่อนอาณานิคม ไม่ได้มีกรอบศีลธรรมเข้ามาขีดเส้นอย่างชัดเจน โดยก่อนหน้านั้นภาพผู้คนเดินล่อนจ้อนไม่ใส่เสื้อผ้าในที่สาธารณะก็มีให้เห็นทั่วไป กระทั่งอวัยวะเพศยังถูกยกเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แม้การเข้ามาของศาสนาจะมีส่วนช่วยกำหนดเส้นศีลธรรมอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้เข้ามาดิสรัปต์เด่นชัดเท่ากับอิทธิพลจากแนวคิดโลกตะวันตกในตอนนั้น

อิทธิพลของแนวคิดยุควิกตอเรียไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะบนดินแดนภายใต้อาณานิคมอังกฤษเท่านั้น ด้วยความเป็นมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ของโลก จึงเลี่ยงไม่ได้ที่แนวคิดจะแทรกซึมไปยังอีกหลายดินแดนทั่วโลก แม้กระทั่งดินแดนที่ขึ้นชื่อว่าไม่ได้ตกเป็นอาณานิคมของใครในช่วงเวลานั้นอย่างประเทศไทย ก็ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดแบบวิกตอเรียนมาไม่น้อย ทำให้การโป๊เปลือยเริ่มกลายเป็นเรื่องต้องห้ามในสมัยรัชกาลที่ 5 ตามมาด้วยกฎหมายห้ามสิ่งลามกอนาจารก็เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกหลังสงครามโลกที่ 1 และในเวลาไล่เลี่ยกัน กฎหมายลักษณะนี้ก็ทยอยเกิดขึ้นในหลายดินแดนของอุษาคเนย์ภายใต้การปกครองของเจ้าอาณานิคมตะวันตก

ถึงแม้ชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทุกวันนี้จะไม่ได้มีเจ้าอาณานิคมตะวันตกเข้ามาปกครองได้เกือบ 1 ศตวรรษแล้ว แต่ดูเหมือนว่าแนวคิดการมองเรื่องเพศเรื่องโป๊เปลือยเป็นสิ่งต้องห้าม อันเป็นมรดกจากยุควิกตอเรียนยังคงติดแน่นอยู่ คำถามคือ เพราะอะไร?

หากตอบอย่างง่ายๆ อาจตอบได้ว่า เป็นเพราะอิทธิพลทางความคิดฝังรากลึกจนยากที่จะปรับเปลี่ยน แต่ถ้าไปดูประเทศในซีกโลกตะวันตก โดยเฉพาะอังกฤษ อันเป็นต้นธารของแนวคิดวิกตอเรียน จะเห็นว่า ทุกวันนี้ประเทศเหล่านี้มูฟออนจากแนวคิดดังกล่าวไปมากแล้ว เรื่องโป๊เปลือยอนาจารก็จัดว่ามีความเสรีขึ้นมาก แต่ทำไมชาติอาเซียนถึงยังคงยึดมั่นถือมั่นกับแนวคิดแบบนี้อยู่?

สื่อลามก ภัยความมั่นคงแห่งรัฐและการสร้างชาติ

หลังผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เจ้าอาณานิคมทยอยปลดปล่อยดินแดนบนแผ่นดินอุษาคเนย์ให้เป็นประเทศเอกราช จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญของประเทศเหล่านี้ในการก่อร่างสร้างชาติให้เข็มแข็ง โดย Jones, G.W. (1995) เขียนไว้ว่า เครื่องมือสำคัญที่ประเทศแถบนี้นำมาใช้สร้างชาติ ก็คือแนวคิด ‘ความเป็นครอบครัว’ โดยมีภาพอุดมคติเป็นครอบครัวแบบ ‘นิวเคลียร์’ (nuclear family) ซึ่งหมายถึงการเป็นครอบครัวที่มีพ่อ แม่ และลูก

ในแง่หนึ่ง การใช้คอนเซปต์ ‘ครอบครัว’ เข้ามาปกครองพลเมือง คือการบ่งบอกว่าประชาชนแต่ละคนไม่อาจมองตัวเองเป็นศูนย์กลางเพียงคนเดียวได้ แต่ต้องให้ความสำคัญกับครอบครัวมาก่อน และที่ลึกซึ้งกว่านั้นคือการให้ความสำคัญกับประเทศชาติ เพราะประเทศชาติในแนวคิดของรัฐในตอนนั้นก็ไม่ได้ต่างจากสถาบันครอบครัว ที่มีผู้นำประเทศเป็นดั่งพ่อหรือแม่ ส่วนประชาชนก็เปรียบดั่งลูกๆ หรือพูดอย่างง่ายๆ การนำแนวคิดครอบครัวเข้ามาใช้ ก็เพื่อสร้างสำนึกร่วมกันในความเป็นพลเมืองของชาติ

ยิ่งไปกว่านั้น แนวคิดความเป็นครอบครัวยังเป็นหลักสำคัญที่แต่ละรัฐนำมาใช้กำกับกรอบหน้าที่ของความเป็น ‘พลเมืองที่ดี’ ของชาตินั้นๆ ที่สำคัญคือรัฐมองว่าพลเมืองในอุดมคติมีหน้าที่หนึ่งคือต้องแต่งงาน ต้องสร้างครอบครัวที่อบอุ่นเข้มแข็ง โดยแน่นอนว่านั่นต้องเป็นครอบครัวที่มีพ่อกับแม่อย่างละคนเท่านั้น ซึ่งเป็นผลผลิตจากแนวคิด ‘ผัวเดียวเมียเดียว’ ถ้าว่าตามจริงถือเป็นมรดกความคิดตกทอดมาจากอดีตเจ้าอาณานิคมตะวันตก

เพราะฉะนั้น สิ่งใดๆ ที่จะเย้ายวนให้คนมีพฤติกรรมทางเพศที่เบี่ยงเบนไปในทางร่าเริงสำส่อน ขัดกับหลักคิดผัวเดียวมาเดียว จึงถูกรัฐมองว่าเป็นภัยคุกคามอันสำคัญต่อความเป็นสถาบันครอบครัว ซึ่งเป็นเครื่องมือหลักของการสร้างชาติ ไม่ว่าจะโสเภณี หรือสิ่งลามกอนาจารต่างๆ จึงล้วนถูกทำให้ผิดทั้งกฎหมายและศีลธรรม

แนวคิด nuclear family ยังลามมาถึงการที่รัฐในแต่ละชาติอาเซียนพยายามเข้ามาควบคุมชี้แนะการแต่งกายของประชาชน โดยรัฐมักมีปัญหากับการแต่งตัวลักษณะวาบหวิว นุ่งน้อยห่มน้อย หรือโป๊เปลือย เพราะมองว่าจะนำไปสู่การยั่วยวนเพศตรงข้าม ซึ่งก็ถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อสถาบันครอบครัวตามแนวคิดรัฐเช่นกัน หรือบางประเทศถึงขั้นเข้ามาก้าวก่ายรูปลักษณ์ภายนอก เช่น เรื่องทรงผม โดยแนวคิดการประเมินคนจากภายนอกแบบนี้เป็นอีกมรดกตกทอดจากยุคอาณานิคมตะวันตกเช่นกัน ซึ่งในตอนนั้นมีการใช้รูปลักษณ์อย่างสีผิวหรือเส้นผม เป็นตัวจัดกลุ่มเชื้อชาติและอาชีพของผู้คนในภูมิภาค

ในช่วงเวลานั้น แต่ละชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องเผชิญความไม่แน่นอนและภัยคุกคามรอบด้านจากสงครามเย็น รัฐจึงยิ่งต้องพยายามสร้างชาติให้แข็งแกร่ง จนถึงขั้นเลือกที่จะเข้าไปแทรกแซงวิถีชีวิตและตัวตนของประชาชน โดยอ้างประเทศชาติขึ้นมาเป็นเหตุผล ขณะเดียวกันการเปรียบสถานะผู้ปกครองเป็นดั่งพ่อหรือแม่ก็เป็นเสมือนใบเบิกทางที่ทำให้รัฐมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปกำหนดกะเกณฑ์ตัวตนของประชาชนซึ่งเปรียบเสมือนลูกๆ ได้

นอกจากนั้น รัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมองเรื่องการเปิดกว้างทางเพศและการโป๊เปลือย คือสิ่งที่เป็นของโลกตะวันตก ไม่เหมาะไม่ควรกับสภาพสังคมแบบโลกตะวันออก ซึ่งเป็นอิทธิพลของแนวคิด ‘ความเป็นเอเชีย’ (Asian Values) ที่เกิดขึ้นมาทัดทานอิทธิพลแนวคิดเสรีนิยมแบบโลกตะวันตกที่หลั่งไหลเข้าสู่ภูมิภาค โดยเฉพาะในช่วงหลังสิ้นสุดสงครามเย็นที่โลกตะวันตกก้าวขึ้นครองระเบียบโลก โดยเป็นแนวคิดที่ปฏิเสธหลักการเสรีนิยมแบบโลกตะวันตก โดยเฉพาะในแง่สังคมและการเมือง ซึ่งผู้ปกครองของชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มองว่าเป็ยภัยคุกคามทั้งต่อตัวตนของชาติ และที่สำคัญคือต่ออำนาจรัฐเอง เพราะต้องอย่าลืมว่าชาติอาเซียนล้วนค่อนไปทางอำนาจนิยม แม้บางชาติจะบอกว่าตนเป็นประชาธิปไตย แต่ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยเสรี

แนวคิดการมองเรื่องโป๊เปลือยอนาจารเป็นตัวแทนของเสรีนิยมแบบโลกตะวันตก สะท้อนได้จากข้อความหนึ่งที่ทอมมี โคห์ (Tommy Koh) อดีตผู้แทนสิงคโปร์ประจำสหประชาชาติ เคยเขียนไว้ตั้งแต่ปี 1993 ว่า “ไม่มีเหตุผลที่ชาวเอเชียจะรับเอาโลกทัศน์แบบตะวันตกมามองว่าสื่อลามก พฤติกรรมหรือคำพูดที่ส่ออนาจาร และการโจมตีศาสนา ควรได้รับการปกป้องด้วยคำว่า ‘เสรีภาพในการแสดงออก’”

นอกจากการทะลักเข้ามาของแนวคิดซีกโลกตะวันตก อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญก็คือการเข้ามาของเทคโนโลยี โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย และสมาร์ตโฟน ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความตื่นตระหนกทางศีลธรรม (moral panics) ในกลุ่มชาติอาเซียน เพราะนั่นทำให้สิ่งที่รัฐมองว่าเป็นภัยคุกคาม รวมทั้งสื่อลามกอนาจารต่างๆ เคลื่อนไหวได้อย่างเสรี โดยที่รัฐไม่อาจเข้าไปกำกับควบคุมได้ง่าย จึงนำไปสู่การยกระดับการคุมเข้มสื่อลามกอนาจารขยายไปสู่โลกดิจิทัล ซึ่งเห็นได้จากการออกร่างกฎหมายต่างๆ ซึ่งระบุให้การเผยแพร่สื่อลามกอนาจารทางออนไลน์เป็นเรื่องผิดกฎหมาย รวมทั้งมีข้อกำหนดควบคุมที่เข้มงวดขึ้น เช่น ในปี 2008 อินโดนีเซียผ่านร่างกฎหมายต่อต้านสื่อลามกอนาจาร (Anti-pornography Law) ขึ้นมาโดยเฉพาะ

มอง พาลาติโน (Mong Palatino) อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฟิลิปปินส์ เคยวิเคราะห์ไว้ว่า ความพยายามเข้ามาเซนเซอร์สิ่งลามกอนาจารของรัฐในกลุ่มชาติอาเซียน ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องความตื่นกลัวทางศีลธรรมเท่านั้น หากแต่ยังมีแรงจูงใจทางการเมือง โดยการพยายามสอดส่องเซนเซอร์สื่อลามกอนาจารทางออนไลน์ ถือเป็นเพียงบันไดขั้นแรกของรัฐในการทดลองเข้ามาควบคุมผู้คนบนโลกออนไลน์ ซึ่งหากรัฐสามารถดำเนินการในขั้นแรกนี้ได้สำเร็จ ก็จะนำไปสู่การขยับขยายการควบคุมในเรื่องที่ใหญ่ขึ้นไปกว่านั้น

ถึงแม้การควบคุมสิ่งลามกอนาจารจะถูกมองเป็นเรื่องตลกสำหรับผู้คนจำนวนมากในยุคสมัยนี้ และยังมีการเรียกร้องจากประชาสังคมให้ทบทวนกฎหมาย แต่รัฐในกลุ่มชาติอาเซียนก็ยังเลือกที่จะคงแนวคิดเหล่านี้ไว้ เพราะหวาดเกรงว่าการยอมรับเรื่องนี้เป็นเรื่องถูกต้องตามกฎหมาย จะนำไปสู่การแบ่งขั้วทางสังคมรุนแรง จนเป็นภัยต่อการควบคุมอำนาจของรัฐ เนื่องจากพลังอนุรักษนิยมในสังคมอาเซียนก็ยังแรงกล้าอยู่

กรณีที่สามารถเทียบเคียงได้คือในปี 2007 ที่รัฐสภาสิงคโปร์มีการถกเถียงว่าควรทำให้การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน–ซึ่งถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายในสิงคโปร์ ให้ถูกกฎหมายหรือผ่อนคลายข้อห้ามลงหรือไม่ โดยตอนนั้นนายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุง โต้ว่า “การทำอย่างนั้นแทนที่จะทำให้สังคมบรรลุฉันทามติ จะกลับกลายเป็นทำให้สังคมแตกแยกมากกว่า” เขายังพูดต่อไปว่า “ยิ่งมีการพยายามผลักดันเรื่องนี้เท่าไหร่ กระแสตีกลับจากฝั่งอนุรักษนิยมก็จะแรงขึ้นเท่านั้น”

แม้การถกเถียงครั้งนั้นจะไม่ได้พูดถึงเรื่องสื่อลามกอนาจาร แต่บริบทของประเด็นก็มีความใกล้เคียงทับซ้อนกัน และไอเดียของผู้มีอำนาจที่มองต่อเรื่องนี้ก็คงไม่ได้ต่างจากเรื่องรักร่วมเพศมากนัก เพราะมองว่าเรื่องเหล่านั้นล้วนเป็นตัวแทนของความคิดเสรีนิยมโลกตะวันตกที่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางการเมืองของรัฐแบบอาเซียนเหมือนกัน

ประชาคมอาเซียน ประชาคมแห่งความย้อนแย้งคลุมเครือ

ทุกวันนี้ข้อกฎหมายที่กำหนดให้การร่วมเพศระหว่างคนเพศเดียวกันเป็นเรื่องผิดกฎหมายก็ยังคงอยู่ เช่นเดียวกับข้อกฎหมายควบคุมสื่อลามกอนาจาร แต่หลายคนก็มองว่าน่าย้อนแย้งที่การค้าประเวณีในสิงคโปร์กลับไม่ผิดกฎหมาย

คงไม่เกินไปนักถ้าจะบอกว่า ‘ความย้อนแย้ง’ ถือเป็นดีเอ็นเอหนึ่งของประชาคมอาเซียน

ขณะที่ผู้นำแต่ละชาติเฝ้าบอกว่าเรื่องโป๊เปลือยลามกอนาจาร หรือการรักร่วมเพศ ขัดแย้งกับคุณค่าประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามที่มีมายาวนานของชาติ ขัดแย้งกับคุณค่าความเป็นเอเชีย แต่ถ้าย้อนไปมองประวัติศาสตร์ของภูมิภาคแถบนี้จริง การเปลือยกายล่อนจ้อนก็เป็นเรื่องปกติ นอกจากนี้ หลายกลุ่มชนในภูมิภาคก็ยอมรับความหลากหลายทางเพศอย่างเปิดเผย อย่างบางชนเผ่าในแถบมลายูที่มีหลักความคิดว่าเพศของคนไม่ได้มีแค่ 2 เพศเท่านั้น และต้องอย่าลืมว่าบรรดากฎหมายไม่ว่าจะเรื่องสิ่งลามกอนาจารหรือการรักร่วมเพศ ก็เพิ่งจะมามีขึ้นในช่วงเวลาที่อยู่ภายใต้การปกครองของชาติตะวันตกเท่านั้นเอง

แล้วถ้าอย่างนั้น คุณค่าประเพณีวัฒนธรรมที่บอกว่ามีมายาวนาน ต้องรักษาไว้นั้น คือคุณค่าอะไร ของใครกันแน่?

ขณะที่ทางการไล่ปราบปราบจับกุมสิ่งโป๊เปลือยตามสื่อสิ่งพิมพ์หรือบนโลกออนไลน์ ภาพจิตรกรรมนางรำอัปสราเปลือยกายท่อนบนตามผนังปราสาท ภาพจิตรกรรมการร่วมเพศตามแหล่งโบราณสถาน หรือวัตถุเครื่องรางรูปทรงอวัยวะเพศ ก็ยังมีปรากฏให้เห็นมากมายโดยไม่มีใครเข้าไปทำอะไร… ตกลงแล้วมาตรฐานคืออะไร?

สุดท้ายแล้ว การปล่อยอำนาจไว้ที่รัฐในการตัดสินว่าอะไรเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ด้วยมาตรฐานที่ยังคงย้อนแย้งคลุมเครือนั้น ก็ไม่ต่างจากการปล่อยให้รัฐขยับขยายอำนาจเข้าตัดสินสังคมในมิติอื่นๆ ด้วยมาตรฐานที่คลุมเครือเช่นเดียวกัน ซึ่งถือว่าเข้าทางรัฐอำนาจนิยมในแบบอาเซียน อย่างที่พาลาติโนเขียนไว้ว่า “วันนี้ การเปิดเผยเนื้อหนังหมังสาอาจถูกรัฐตัดสินว่าเป็นเรื่องขัดหลักศีลธรรม และพรุ่งนี้เขาอาจทำมากกว่านั้น คือการเข้ามาตัดสินว่ากิจกรรมบางอย่างที่พวกเขามองว่าเป็นภัยคุกคาม อย่างการเข้าร่วมเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลก็เป็นเรื่องผิดศีลธรรมได้เหมือนกัน”

เช่นเดียวกับ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่เคยเขียนไว้ว่า “ผลร้ายที่สุดของการปล่อยให้รัฐควบคุมนมผู้หญิงก็คือ รัฐจะใช้ภาระอันนี้ในการควบคุมอะไรอื่นๆ ของพลเมืองเพิ่มขึ้น หรือพูดอีกอย่างหนึ่งลิดรอนสิทธิเสรีภาพของพลเมืองอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จากมาตรฐานที่คลุมเครือ เช่น ‘ศีลธรรมอันดี’ รัฐก็จะสร้างมาตรฐานคลุมเครืออย่างนี้ขึ้นมาใช้ควบคุมพลเมืองของตนต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด เช่น ‘ความสงบเรียบร้อย’, ‘ความมั่นคง’, ‘ความสามัคคี’, ‘การจาบจ้วง’, ‘ความจงรักภักดี’ และ ฯลฯ”


อ้างอิง

Explainer | What are ‘Asian values’ and is the concept still relevant today?

‘Pornography Disguised as Art’: Bare/d Bodies, Biopolitics and Multicultural Tolerance in Singapore

Contestations of Gender, Sexuality and Morality in Contemporary Indonesia

The Challenge of Free Speech: Asian Values V. Unfettered Free Speech, An Analysis of Singapore and Malaysia in the New Global Order

Sex and the Censors in Asia

PM Lee: Why Singapore must ‘leave Section 377A alone

นิธิ เอียวศรีวงศ์ | เสรีภาพนำมาซึ่งคุณภาพ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save