fbpx
“ถ้าประชาชนไม่สนับสนุน เราก็ต้องยุติ” องอาจ คล้ามไพบูลย์ วัวงานผู้ภักดีของประชาธิปัตย์

“ถ้าประชาชนไม่สนับสนุน เราก็ต้องยุติ” องอาจ คล้ามไพบูลย์ วัวงานผู้ภักดีของประชาธิปัตย์

ธิติ มีแต้ม เรื่องและภาพ

ก่อนจะเป็นลูกหม้อพรรคประชาธิปัตย์ องอาจ คล้ามไพบูลย์ เคยทำงานบริษัทเอกชนด้านวิศวกรรม เขามีรายได้ในทศวรรษ 2520 ประมาณ 4-5 หมื่นบาท และมีรถประจำตำแหน่ง

ขณะที่หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ นักศึกษาส่วนใหญ่หนีเข้าป่ากัน เขาถูกชักชวนเข้าสู่วงการหนังสือพิมพ์จากปรีชา สามัคคีธรรม บรรณาธิการหนังสือพิมพ์โลกใหม่ในสมัยนั้น เขาจึงตัดสินใจออกจากงานที่มีเงินเดือนหลายหมื่นมารับเงินเดือนแค่ 4-5 พันบาท และย้ายเวียนไปหลายค่ายหลายหัว เช่น ตะวันใหม่ มาตุภูมิ ชาวไทย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นหนังสือพิมพ์แนวการเมือง

ภาพตัดกลับมาที่ปัจจุบัน วันนี้องอาจดำรงตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นนักการเมืองเก่าแก่ที่ยึดคะแนนเสียงพื้นที่เขตบางกอกน้อยมายาวนาน

ในวันเวลาที่บ้านเมืองอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ พรรคการเมืองถูกลดบทบาทจากกติการัฐธรรมนูญใหม่ อะไรคือโจทย์อันท้าทายของพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคที่ผู้คนไม่น้อยรวมถึงคนในประชาธิปัตย์เองก็ยังรู้สึกร่วมกันว่า ประชาธิปัตย์อยู่ในช่วงขาลงมานานแล้ว

ระหว่างที่องอาจกำลังเดินทางมาที่พรรคตามนัดหมาย ณ อาคารเสนีย์ ปราโมช หญิงสูงวัยเดินกำเงินเข้ามาที่สำนักงาน พร้อมแจ้งความประสงค์แก่เจ้าหน้าที่พรรคว่าต้องการสมัครสมาชิกพรรคตลอดชีพ พร้อมยื่นเงินและบัตรประชาชนให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการต่อ อีกรายเป็นชายสูงวัย พร้อมแฟ้มเอกสารที่เข้ามาแจ้งความประสงค์ยืนยันการเป็นสมาชิกพรรค รวมถึงชายวัยกลางคนพูดสำเนียงถิ่นใต้ พยายามอธิบายกับเจ้าหน้าที่หลังเพิ่งแจ้งเหตุผลในการยกเลิกเป็นสมาชิกพรรคไป

101 พยายามชวนองอาจมองไปข้างหน้า สลับกับทบทวนอดีตที่ประชาธิปัตย์ผ่านพบ ตั้งแต่การเลือกตั้ง มวลชน กปปส. รัฐประหาร สารพัดคำวิจารณ์ และคนรุ่นใหม่ รวมถึงลูกสาวที่กำลังเติบโตซึ่งเปลี่ยนมุมมองตัวเขาไปไม่น้อย

นี่เป็นบทสัมภาษณ์นักการเมืองเลือดสีฟ้าในวัย 64 ปี ที่ลั่นวาจาระหว่างสนทนาว่า “ถ้าประชาชนไม่สนับสนุน เราก็ต้องยุติ”

องอาจ คล้ามไพบูลย์

อะไรทำให้ตัดสินใจขยับตัวเองจากคนที่ตั้งคำถามนักการเมืองในฐานะนักหนังสือพิมพ์มาเป็นนักการเมืองเต็มตัว

การทำงานหนังสือพิมพ์ทำให้ผมได้รับเชิญไปอภิปรายตามมหาวิทยาลัยมาก มียุคหนึ่งที่ผมทำหนังสือพิมพ์ มหาชัย กับ “เบิ้ม บางเบิด” นามปากกาของสมชาย ฤกษ์ดี แกเป็นคนมหาชัย สมุทรสาคร และรู้จักคุ้นเคยกับนักการเมืองในพื้นที่ คือ เอนก ทับสุวรรณ (กรรมการที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ อดีต รมช.คมนาคม) พี่สมชายรู้ว่าผมปราศรัยได้ แกก็มาชวนให้ผมไปช่วยพี่เอนกหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่น ขณะนั้นพี่เอนกเป็นเลขานุการให้อาจารย์มารุต บุนนาค อดีต รมว.สาธารณสุข

ตอนผมไปปราศรัย ส่วนใหญ่ผมพูดเรื่องหลักการประชาธิปไตย การหาเสียงสมัยนั้นจะมีพวกดาราตลกอย่าง เทพ เทียนชัย มาช่วย พอเทพพูดจบ ผมก็ขึ้นต่อ แล้วเทพก็นั่งรถไปพูดต่อเวทีหน้า พอผมพูดเสร็จก็ลงมาขึ้นรถไปต่อเวทีหน้า อาจารย์มารุตก็มาขึ้นพูดต่อผม เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ

จำได้ว่ามีอยู่คืนหนึ่ง ปี 2528 ผมพูดจบเดินลงมาจากเวที มีตำรวจติดตามของอาจารย์มารุตเดินเข้ามาขอเบอร์โทรศัพท์ผม อาจารย์ฝากชมว่าผมปราศรัยดี เราก็ได้แต่ครับๆ หลังจากนั้นอาจารย์ก็ให้เลขาฯ โทรมาชวนผมไปคุยว่าสนใจลงสมัครรับเลือกตั้งไหม ช่วงนั้นกำลังจะมีเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. กับ ส.ก.

เวลานั้นผมรู้สึกว่าคนที่ลงเล่นการเมืองเป็นพวกที่มีฐานะทางการเงินและสังคม ผมก็บอกอาจารย์มารุตกลับไปตรงๆ ว่าผมไม่มีเงิน อาจารย์ก็บอกเรื่องเงินไม่สำคัญเดี๋ยวจะช่วยเอง จากนั้นแกก็ตัดสินใจให้ผมลงสมัคร ส.ก. เขตปทุมวัน จนได้รับความไว้วางใจจากประชาชนให้เข้าไปทำงานจนครบ 4 ปี

ต่อมาหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 อาจารย์มารุตก็ชวนให้ผมลงสมัคร ส.ส. แต่ว่าสอบตกติดต่อกัน 3 ครั้ง ช่วงสอบตก ท่านชวน หลีกภัย ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีขณะนั้นมาชวนผมไปเป็นเลขานุการส่วนตัว ผมก็ช่วยทำงานทุกอย่างที่ท่านอยากให้ทำ จนผมรู้สึกเหมือนเรียนจบปริญญาเอก

ถ้าจะสรุปคร่าวๆ ผมถูกหล่อหลอมมาจากการทำงานหนังสือพิมพ์ อยู่กับระดับซือแป๋อย่างพี่ปรีชา พี่สมชาย พอมาทำงานการเมืองก็ได้อยู่กับระดับปรมาจารย์อย่างอาจารย์มารุตและท่านชวน คนอย่างอาจารย์มารุตก็เป็นนักต่อสู้ เคยติดคุกการเมืองมาก่อน เพราะฉะนั้นวิธีคิดทางการเมืองเราก็ได้จากท่านเยอะมาก

วันนั้นประเมินตัวเองยังไง ทำไมผู้หลักผู้ใหญ่ถึงไว้วางใจให้โอกาสส่งคุณลงสมัครเลือกตั้ง

ผมไม่รู้จริงๆ ว่าท่านคิดอะไรกัน ไม่เคยถามด้วย แล้วผมก็แพ้มา 3 ครั้งติดต่อกัน จนมาถึงครั้งที่ 4 ปี 2539  ส่วนใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ถ้าสอบตกมาแล้ว 3 ครั้ง พรรคจะไม่ให้ลงแล้ว เพราะกรุงเทพฯ มีตัวเลือกเยอะ สรุปว่าพรรคไม่ให้ผมลงเขตเดิมคือปทุมวัน ผมก็ต้องไปหาพื้นที่อื่น จนใกล้ถึงวันที่พรรคต้องประกาศตัวผู้สมัครเขตต่างๆ ผมก็ยังไม่มีที่ลง พรรคก็ประชุมกันเครียดว่าจะเอาอย่างไรดี

ตอนนั้นจักรพันธุ์ ยมจินดา ย้ายจากระยองเข้ามาลงสมัครในกรุงเทพฯ เขาฟอร์มทีมขึ้นมาไปเสนอพรรคเพื่อลงเขตเลือกตั้งที่ 10 มีบางกอกน้อย บางพลัด ตลิ่งชัน ในทีมมี ดร.ประกอบ จิรกิติ แล้วจักรพันธุ์ก็โทรมาชวนผมให้ลงเพิ่มจนครบทีม

มีอยู่คืนหนึ่งก่อนประกาศตัวผู้สมัคร ท่านชวนให้ผมไปพบที่บ้านในซอยหมอเหล็ง ท่านก็ถามผมว่าแน่ใจนะจะลงสมัครเขตบางกอกน้อย เพราะประชาธิปัตย์ไม่มี ส.ส. เขตนี้มา 20 ปีแล้ว คุณจะไหวเหรอ ที่ผ่านมาพรรคประชากรไทยครองเก้าอี้มาตลอด สุดท้ายท่านชวนตัดสินใจให้ผมลงบางกอกน้อย แต่แกบอกคราวนี้คุณแพ้ไม่ได้แล้วนะ ถ้าแพ้ต้องเลิก

ผมมาคิดๆ ดูว่าทำไมพรรคถึงตัดสินใจให้ผมพิสูจน์อีกครั้ง น่าจะเป็นความ loyalty ที่ผมมีให้ประชาธิปัตย์มาโดยตลอด เพราะตอนพฤษภาฯ 2535 ผมเป็นตัวแทนพรรคขึ้นปราศรัยบนเวที ผมได้รับคิว 5 โมงเย็น เที่ยงคืนและตี 5 กลางวันผมก็กลับบ้านไปนอน

อีกส่วนหนึ่งผมคิดว่าผมเป็นวัวงานของพรรคด้วย ตอนผมเป็น ส.ก. ผมมีบทบาทสูง ผมตรวจสอบการทำงานของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งไม่มีใครกล้าตรวจสอบ ท่านเป็นคนที่ได้ชื่อว่าซื่อสัตย์สุจริต แต่ผมก็ไปเปิดโปงการทุจริตของทีมงานของท่านจนท่านต้องยกเลิกทีมงานชุดนั้นไป

คนทั่วไปไม่ค่อยรู้ว่า ส.ก. มีบทบาทอะไร แต่ผมเป็น ส.ก. ที่ขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์บ่อยมาก มีอยู่ครั้งหนึ่งผมทำให้ พล.ต.จำลอง ตบะแตกในที่ประชุมสภา กทม. เพราะผมอภิปรายเรื่องงบประมาณที่ผู้ว่าฯ นำเสนอต่อสภาฯ แต่ผมไม่เห็นมีอะไรใหม่ ผมไม่เห็นแนวทางการหารายได้ให้กทม. แบบใหม่ๆ ผมบอกว่า “ท่านผู้ว่าฯ ครับ เรามีผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง ผมหวังว่าจะทำหน้าที่ได้ดีกว่าผู้ว่าฯ แต่งตั้ง แต่ผมไม่เห็นว่าท่านมีวิสัยทัศน์อะไรนอกจากเป็นผู้ทรงศีล อาบน้ำวันละ 5 ขัน ถ้าเป็นแบบนี้ก็ไม่เห็นจำเป็นต้องมีเลือกตั้งผู้ว่าฯ”

ผมพูดแบบนี้เลย จนแกถึงขั้นลุกขึ้นชี้หน้าด่าผมเลย แกบอกว่า “คุณเลือกตั้งมากี่เสียง แน่จริงมาเลือกตั้งแข่งกับผมสิ” ตอนนั้นผมอายุเพิ่งจะ 30 กว่าๆ เลยไม่แคร์ด้วย

พอปี 2544 คุณทักษิณ ชินวัตร เพิ่งตั้งพรรคไทยรักไทยได้ไม่นาน พรรคประชาธิปัตย์อยู่ในช่วงขาลง เก้าอี้ในกรุงเทพฯ ไทยรักไทยได้เพิ่มขึ้น ความนิยมในตัวคุณทักษิณกำลังพุ่งสูง มาถึงปี 2548 ยิ่งน่าสนใจ ตอนนั้นผมก็คิดหนักที่จะลงเลือกตั้งแบบเขต อยากขึ้นบัญชีรายชื่อเพราะกลัวสอบตก แต่พอคิดดีๆ ถ้าผมไปบัญชีรายชื่อแล้วใครจะมาเป็น ส.ส. เขต

ตอนนั้นไทยรักไทยทำโพลถามชาวบ้าน เอารายชื่อมาให้ดูว่าจะเลือกใคร มีจักรพันธุ์ ยมจินดา ที่ย้ายไปไทยรักไทยแล้ว มีสุรนันทน์ เวชชาชีวะ และจักรภพ เพ็ญแข สุดท้ายเป็นจักรภพมาลงแข่งเขตเดียวกับผม แล้วจักรภพตอนนั้นมีชื่อเสียงมาก พูดตรงๆ ผมคิดว่าผมน่าจะสอบตก เดินไปที่ไหนมีแต่คนบอกจะไม่เลือกผม เพราะอยากเลือกทักษิณให้ได้ทำงานต่อ ชาวบ้านสะท้อนให้ฟังต่อหน้า แต่ผมก็คิดว่ายังไงก็ต้องสู้ อย่างน้อยถือว่าเป็นการทดแทนบุญคุณที่พรรคเคยให้ความไว้วางใจ แต่ปรากฏว่าผมก็ยังชนะ และผมเป็น ส.ส. เก่าประชาธิปัตย์คนเดียวที่ได้รับเลือก นอกนั้นสอบตกหมด

วิเคราะห์ตัวเองอย่างไร ทำไมถึงชนะคู่แข่งที่มีชื่อเสียงและกำลังได้รับความนิยมสูงอย่างไทยรักไทย

หลังจากผลเลือกตั้งออก ผมก็ทำไปโพลว่าทำไมคนถึงยังเลือกผม เพราะเราต้องการข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่อยากนั่งคิดเอาเอง โพลบอกว่าที่ประชาชนเลือกผมเพราะผมขยัน เสมอต้นเสมอปลาย และติดต่อง่าย

ผมสรุปกับตัวเองได้ว่าเพราะชีวิตและจิตใจผมอยู่ในเขตพื้นที่บางกอกน้อยมาตลอด รวมถึงการใช้ชีวิตด้วย ผมแทบจะกินนอนอยู่ที่นี่ตลอด

นอกจากการทำโพล คุณเห็นจิตวิญญาณของคนกรุงเทพฯ เป็นอย่างไร และในฐานะรองหัวหน้าพรรคที่ดูแลพื้นที่คะแนนในกรุงเทพฯ อะไรทำให้คนกรุงเทพฯ มีใจให้ประชาธิปัตย์

ผมคิดว่าเราต้องทำงานสนองกับคนทุกกลุ่ม ทุกชนชั้น และทุกอาชีพให้ได้ กรุงเทพฯ จะต่างจากต่างจังหวัดตรงที่ต่างจังหวัดจะมีลักษณะเฉพาะ บางจังหวัดเป็นเมืองเกษตรกรรม บางเมืองเป็นเมืองอุตสาหกรรม บางเมืองเป็นเมืองประมง แต่กรุงเทพฯ มีทุกอย่าง เพราะฉะนั้นคุณต้องสามารถทำงานให้ตอบสนองทุกมิติได้ คุณถึงจะได้รับการเลือกตั้งในวันเวลาที่คุณตกต่ำมากที่สุด วิธีการทำงานของผมก็คือพยายามเข้าไปสัมผัสกับคนทุกกลุ่มให้ได้มากที่สุด

ถ้าคุณเป็น ส.ส. อยู่จังหวัดที่มีชาวนามาก คุณจะรู้ว่าปัญหาของชาวนาคืออะไร คุณก็ไปช่วยเขาแก้ปัญหา แต่ผมพยายามทำให้คนที่มีการศึกษาสูงที่สุดและการศึกษาน้อยที่สุดต้องเลือกผม ผมทำหลายอย่างที่ไม่มีใครทำ เช่น ตอนเช้าผมไปนั่งแถวสี่แยกพรานนก กินปาท่องโก๋ น้ำเต้าหู้ วันนี้กินร้านนี้พรุ่งนี้กินร้านนั้น กินโจ๊กบ้าง กินก๋วยเตี๋ยวบ้าง วนๆ อยู่แถวสี่แยก

คำถามคือผมทำแบบนี้แล้วได้อะไร หนึ่ง คนเห็นผม ไม่ว่าจะนั่งรถอยู่หรือเดินอยู่ อยู่บนรถเมล์หรือบนรถแท็กซี่ อยู่อีกมุมถนนหรือนั่งอยู่ในรถหรู วันแรกไม่เห็นวันที่สองก็อาจจะเห็น แต่ที่มากกว่าการเห็นคือการที่คนเอาไปพูดต่อ เฮ้ย วันนี้เจอ ส.ส. องอาจ นั่งกินปาท่องโก๋อยู่ริมถนนว่ะ คนมากินก็หมุนเวียนเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เวลาคุณอยู่ในที่สาธารณะ ทั้งคนจนและคนรวยก็เห็นคุณ แล้วใครมานั่งกินผมก็คุยด้วยตลอด ผมเข้าไปสระผมเกือบทุกร้านในเขตบางกอกน้อย เพื่อจะได้พูดคุยและเข้าใจคนอาชีพตัดผม จริงๆ ผมมีเทคนิคอีกเยอะแต่ไม่อยากบอกเดี๋ยวรู้ความลับ คู่แข่งเอาไปเลียนแบบ (หัวเราะ)

คนที่มีบ้านมีรั้วที่เราเข้าถึงยาก เวลาผมเข้าไปเยี่ยมในชุมชน ผมก็จะมีจดหมายน้อยฝากไว้ให้ เพื่อบอกเขาว่าถ้ามีอะไรให้ผมรับใช้ก็ติดต่อกลับมาได้ ไม่ใช่เดินผ่านไปเฉยๆ พอ 3-4 เดือนต่อมาผมมีโอกาสผ่านเข้าไปอีกรอบ ผมก็จะทำเช่นเดิม พอสิ้นปีผมก็จะมีพ็อกเก็ตบุ๊คเล่มเล็กๆ ไว้ให้เขา เพื่อบอกว่าที่ผ่านมาทั้งปีผมทำอะไรมาบ้าง เช่น เรื่องเกี่ยวกับ ติมอร์  ที่ผมเขียน ผมก็เอาไปให้ตามบ้าน เขาจะอ่านไม่อ่านก็เป็นเรื่องของเขา แต่เขาจะได้เห็นว่าผู้แทนของเขากำลังทำอะไรอยู่

ผมจะมีสโลแกนของผมเวลาลงพื้นที่ว่า “งานพื้นที่ไม่ขาด งานระดับชาติเต็มที่” หรือ “เสมอต้นเสมอปลาย” รถหาเสียงผมจะติดคำนี้ตัวใหญ่ๆ ส่วนชื่อผมเล็กนิดเดียว ผมต้องการให้คนจำสิ่งที่ผมทำมากกว่าจำชื่อผม ซึ่งถ้าสิ่งที่เราโฆษณามันไม่จริงกับสิ่งที่ผมทำ มันก็ฆ่าผมนะ คนจะบอกว่าผมโม้

ความยาก ความท้าทายในปี 2548 ก็ชนะมาได้ ถ้ามองไปในอนาคต เลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น คุณเห็นความยาก ความท้าทายอะไรบ้าง พลังที่สะสมมาจะยังมีพอใช้อยู่ไหม

เลือกตั้งปี 2548 เป็นปีที่ยากมากสำหรับประชาธิปัตย์ คนในกรุงเทพฯ ช่วงนั้นอยากเลือกคุณทักษิณ เวลานั่งกินข้าวกันพร้อมหน้าพร้อมตาในครอบครัว คนที่เขาอยากเลือกผมเขาคงต้องนั่งเงียบๆ พูดอะไรไม่ได้ ในขณะที่คนอื่นบอกว่าอยากเลือกคุณทักษิณ ผมคิดว่าคนที่เลือกผมต้องเป็นพวกสงบเสงี่ยมเจียมตัวมากระดับหนึ่ง หรือเรียกสั้นๆว่าพลังเงียบ เขาต้องมีสมาธิมากและอดทนที่จะฟังเสียงที่ต่างออกไป เพราะคนที่เขาอยากเลือกอีกฝ่ายเขาจะพูดกันตลอดว่าอีกฝ่ายไม่ดีอย่างไร

แต่วันนี้ผมว่าไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากนัก เพียงแต่วันเวลาที่เพิ่มขึ้นทำให้เรามีวุฒิภาวะเพิ่มมากขึ้น ประสบการณ์ที่สะสมมาทำให้เรามีมุมมองที่หลากหลาย มันเกิดขึ้นจากข้อมูลข่าวสารและการเรียนรู้ แต่อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงน่าจะเป็นไปในทางที่ดีขึ้นมากกว่าจะเป็นไปในทางที่ร้าย เพราะว่าเรายึดหลักการที่ถูกต้องมาตลอด และเอาเข้าจริงก็ไม่มีใครยึดกุมหัวใจใครได้หรอก

หลักการที่ประชาธิปัตย์ยึดถือ จะเป็นยุทธศาสตร์ในการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วยไหม หรือว่าต้องเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขสภาพความเป็นจริง

การปฏิวัติรัฐประหารส่วนมาก ทหารพยายามสืบทอดอำนาจต่อทั้งนั้น แม้หลายๆ วิธีการของคณะรัฐประหารชุดนี้เราอาจจะมองไม่ชัด แต่ผมมองเห็นธรรมชาติของอำนาจและเห็นมาแล้วหลายครั้ง ไม่ว่ายุคไหนในอดีตที่ผ่านมา แม้จะพูดว่ามีความตั้งใจในการแก้ปัญหา ซึ่งผมเชื่อว่าทหารก็ไม่ใช่คนเลวร้ายและเขาก็คงตั้งใจเพื่อประเทศชาตินั่นแหละ เจตนาดีเขามี ผมไม่คิดว่าเขามีเจตนาร้ายเข้ามาทำลายประเทศชาติ แต่สิ่งที่เขาต้องการสืบทอดอำนาจมันตรงข้ามกับหลักการของผม เพราะผมไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร

คุณบอกว่าคุณจะเข้ามาแก้ไขปัญหาบางส่วน เมื่อคุณเริ่มแก้ปัญหาแล้วหรือยังไม่ได้แก้บางปัญหาก็ตาม ถึงเวลาคุณก็ต้องยุติลง และปล่อยให้เป็นเรื่องของกระบวนการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย คุณต้องปล่อยให้ประชาชนตัดสินใจ เพราะประเทศนี้เราเห็นพ้องต้องกันว่าเราต้องการการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การตัดสินอนาคตก็เป็นเรื่องของประชาชนไม่ใช่ขึ้นอยู่กับคุณ

ตั้งแต่รัฐประหาร คุณเป็นฝ่ายตัดสินชะตากรรมประเทศมาแล้ว 4 ปี ถ้าเราคิดย้อนหลังไป ผมมองว่าภาพของการสืบทอดอำนาจหลังการรัฐประหารในเชิงเนื้อหาไม่ค่อยแตกต่างกัน แต่รูปแบบและวิธีการในการสืบทอดอำนาจมีความต่างและซับซ้อนกว่าในอดีต เพราะผมคิดว่าทหารเองก็คงสรุปบทเรียนและพยายามไปสู่เป้าหมายของเขาอย่างแนบเนียน

ความแนบเนียนของทหารในการสืบทอดอำนาจ ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับประชาธิปัตย์ในการวางยุทธศาสตร์การเลือกตั้งไหม จะรับมืออย่างไรสำหรับแฟนประชาธิปัตย์เดิมที่หันไปหนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ

ต้องยอมรับความจริงว่าคนจำนวนไม่น้อยมีใจให้ลุงตู่จริงๆ เราต้องไปค้นให้พบว่าเขามีใจให้เพราะอะไร เขาอาจรู้สึกว่าลุงตู่ทำให้บ้านเมืองสงบ เพราะฉะนั้นเราจึงเห็นได้ว่าคะแนนนิยมของลุงตู่ยังดีอยู่ ถึงแม้จะลดลงมาบ้างก็ตาม

อย่างไรก็ตาม แม้ลุงตู่เป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหารที่ยังได้รับความนิยมอยู่ แต่สาระสำคัญผมคิดว่าต้องทำให้คนเห็นว่าภาระหน้าที่ในการทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยจบลงแล้ว ส่วนภาระหน้าที่ในการบริหารประเทศต่อไปต้องเกิดจากการตัดสินใจของประชาชน

เราไม่ควรไปฝากความหวังไว้กับบุคคลคนเดียว แต่ถ้าเราอยากเห็นประเทศเดินหน้าไปในทิศทางที่ถูกต้อง เราต้องสร้างระบบที่ถูกต้อง สร้างกลไกต่างๆ ที่ถูกต้องและเหมาะสมมารองรับระบบ ไม่ใช่ให้ลุงอะไรต่อลุงอะไรมาตัดสินใจแทน

ปัญหาก็คือว่าวิกฤตการเมืองที่ผ่านมา เอาเข้าจริงมันก็บั่นทอนคนจำนวนไม่น้อยให้รู้สึกว่าการเมืองน่าเบื่อและน้ำเน่า แม้แต่คนที่รักประชาธิปัตย์ก็ยังรู้สึกว่าต่อให้มีเลือกตั้ง ปัญหาเดิมๆ ก็ยังอยู่ โจทย์ของประชาธิปัตย์คืออะไร ลำพังแค่บอกว่าให้ประเทศกลับมาอยู่ในกติกาที่มีประชาชนเป็นผู้ตัดสินเพียงพอไหม

มันคงไม่พอ ผมว่าเป็นโจทย์ของนักการเมืองทุกคน จริงๆ ผมอยากจะบอกว่าเป็นโจทย์ของสังคมไทยด้วยซ้ำ แล้วต้องมีการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ผมไม่คิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างสามารถทำความเข้าใจและจะสมบูรณ์ได้ภายในแค่ระยะเวลาหนึ่ง

เมื่อเรามองบริบทสังคมไทยทั้งหมดแล้ว ยังไงก็ต้องเรียนรู้ร่วมกัน แสวงหาทางออกร่วมกัน เราอาจจะมีความหวังได้ อยากให้สังคมและการเมืองกับไปสู่ทิศทางที่ถูกต้อง ท้ายที่สุดแล้วอำนาจก็จะอยู่ที่ประชาชน รูปแบบจะออกมาอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับประชาชนเป็นคนกำหนด ซึ่งผมคิดว่าวันนี้ไม่มีใครรู้ว่าประชาชนจะตัดสินใจอย่างไร

ประชาธิปัตย์สามารถประกาศได้ไหมว่าจะเป็นความหวังของประชาชน ถ้าเลือกประชาธิปัตย์ ประเทศจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะการเลือกตั้งในอนาคตนี้ นอกจากที่หัวหน้าพรรคเคยประกาศว่าไม่เอานายกฯ คนนอก

แน่นอนที่สุด เราคงต้องบอกกับประชาชนว่าเรามีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ เพราะเราเป็นพรรคการเมือง ทุกพรรคเองก็ต้องบอกประชาชน การตัดสินใจของประชาชนก็ขึ้นอยู่กับข้อมูลและองค์ประกอบหลายอย่าง ต่อให้ประชาชนคลางแคลงใจว่าเลือกตั้งแล้วปัญหาเดิมๆ ก็จะกลับมา สภาพความวุ่นวายจะกลับมา เราก็ต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจว่าที่ผ่านมาประชาธิปัตย์ทำให้วุ่นวายหรือเปล่า หรือว่าใครทำให้เป็นปัญหา และในอนาคตข้างหน้าเราจะมีส่วนทำให้ไม่เป็นปัญหาได้อย่างไร

ผมคิดว่าประชาธิปัตย์ต้องทำให้คนเห็นว่า อะไรที่เป็นปัญหาของบ้านเมืองในขณะนี้ ประชาธิปัตย์สามารถแก้ไขได้ และอะไรที่ประชาชนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง เราต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง เช่น คนไม่อยากเห็นการทุจริตคอร์รัปชัน เขารู้สึกว่ามันบั่นทอนสังคม แต่หลังจากนี้ไป ทั้งนักการเมืองและพรรคการเมืองจะออกมาพูดว่าพรรคมีนโยบายต่อต้านการทุจริตคอรัปชัน แค่นี้ผมว่าไม่พอ ผมยังไม่รู้ว่ามันต้องมีอะไรมากกว่านั้นให้ประชาชนรู้สึกมั่นใจได้ ซึ่งคงต้องคุยกันภายในพรรค นี่ผมพูดถึงหลักการเท่านั้น

ตั้งแต่ปี 2556 ทั้งมวลชน กปปส. และฐานเสียงประชาธิปัตย์ที่ออกมาแสดงความรู้สึกว่าเสียงคนกรุงเทพฯ มีคุณภาพกว่าเสียงคนต่างจังหวัด คำถามก็คือวิธีคิดเหล่านั้นมีผลอะไรกับประชาธิปัตย์ไหม ทำให้การวางยุทธศาสตร์เลือกตั้งยากหรือง่ายอย่างไร

ผมไม่เชื่อว่าเสียงคนจะมีคุณภาพต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นคนกรุงเทพฯ หรือคนภูมิภาค ก็มีเสียงคุณภาพเหมือนกัน ความคิดของคน คุณไปตัดสินไม่ได้หรอกว่ามีคุณภาพน้อยหรือมาก แต่คนที่แสดงความคิดเห็นแบบนั้นก็เป็นสิทธิของเขา ผมไม่เชื่อ แต่ผมเคารพทุกเสียง ทุกความคิด และการตัดสินใจของแต่ละคน

4 ปีที่ผ่านมา ปรากฏการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้นหลากหลายมาก ผู้คนก็ตัดสินใจไปตามปรากฏการณ์ทางการเมือง แต่เมื่อถึงวันเลือกตั้ง ผมเชื่อว่าผู้คนไม่ได้ตัดสินใจเพียงแค่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เขาจะคิดละเอียดรอบคอบมากขึ้น ผมเชื่อว่าเขาจะคิดถึงหลักการและวิธีการ รวมไปถึงสมการต่างๆ เพื่อให้ประเทศเดินต่อไปข้างหน้า

ปรากฏการณ์ต่างๆ ตั้งแต่ปี 2556 มาถึงปัจจุบัน จะทำให้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในกรุงเทพฯ และมีผลต่อการตัดสินใจทางการเมืองของคนทั้งประเทศอย่างไร วันนี้ผมเองก็ไม่สามารถบอกได้ แต่ผลการตัดสินใจของเขาในวันเลือกตั้งจะเป็นเครื่องพิสูจน์ ซึ่งกว่าจะถึงวันเลือกตั้งยังมีเวลาเกือบปี

ระยะเวลาที่เหลืออยู่ก่อนการเลือกตั้ง ถือว่ามากไป น้อยไป หรือว่าพอดีแล้วสำหรับประชาธิปัตย์ในการสู้ศึกเลือกตั้ง

ผมว่าก็ให้มันเป็นไปตามที่ควรจะเป็นนั่นแหละดีที่สุด (หัวเราะ) ไม่ได้มากไปหรือน้อยไปนักหรอก

นอกจากที่ว่าไม่ควรไปฝากความหวังไว้กับบุคคลคนเดียว หลังเลือกตั้งสูตรทางการเมืองที่ประชาธิปัตย์อาจจะจับมือกับคู่แข่งเพื่อไม่ให้ทหารอยู่ยาวเป็นไปได้ไหม 

ผมว่าเราบอกวันนี้ไม่ได้หรอกว่าหลังเลือกตั้งใครจะจับมือกับใคร นักวิเคราะห์การเมืองอาจจะวิเคราะห์คาดการณ์ประเมินได้  แต่นักการเมืองโดยเฉพาะผม ทำไม่ได้ เพราะตราบใดที่ผลการเลือกตั้งยังไม่ออก คุณบอกไม่ได้หรอกว่าใครจะจับมือกับใคร

ผมเป็นนักการเมืองแล้วผมไปบอกก่อนว่าผมจะจับมือกับคนนั้นคนนี้ ถ้าผมเป็นประชาชนก็จะบอกว่าคุณรู้ได้ไงว่าผมจะเลือกคุณ หรือชาวบ้านอาจจะเลือกผมเยอะแยะจนผมไม่ต้องไปจับมือกับใครก็ได้ หรือถ้าชาวบ้านเลือกผมน้อย ผมก็ต้องเจียมตัว จะไปเสนอหน้าจับมือกับใครได้

การเลือกตั้งครั้งหน้าจะมีปัจจัยเยอะมากที่ทำให้คนตัดสินใจเลือกใครหรือไม่เลือกใคร แต่ความยากมันอยู่ตรงที่ประชาชนจะมีความมั่นใจได้อย่างไรเมื่อมอบความไว้วางใจให้เข้ามาดูแลประเทศนี้ต่อ และผมว่าทุกพรรคการเมืองก็เห็นความยากในเรื่องนี้ รวมถึงลุงตู่ด้วย (หัวเราะ)

องอาจ คล้ามไพบูลย์

มีคนไม่น้อยที่รู้สึกว่าประชาธิปัตย์เป็นพรรคอนุรักษนิยม มีอุดมการณ์ลอยๆ นโยบายยังไม่ตรงใจ ถ้ามองจากคนที่มี loyalty กับประชาธิปัตย์แบบคุณ คิดว่าคำวิจารณ์เหล่านี้รับฟังได้ไหม

ผมว่าสิ่งที่คนวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ว่าจะเป็นพรรคอนุรักษนิยม พรรคข้าราชการ อะไรต่ออะไรต่างๆ เราต้องเอามาพิจารณาทั้งนั้น แน่นอนว่าคำวิจารณ์ส่วนหนึ่งก็ถูกคู่แข่งขันก็เอาไปใช้เป็นวาทกรรมในการโจมตีกัน แต่นอกเหนือจากการโจมตีกันแล้ว ผมว่าเราก็ต้องหยิบสิ่งเหล่านั้นมาพิจารณาด้วยว่ามีข้อเท็จจริงมากน้อยแค่ไหน ถ้ามีข้อเท็จจริง แล้วเราจะปรับปรุงตัวเองอย่างไร หรือเราจะพิสูจน์กับคนที่มีความเชื่อเหล่านี้อย่างไร อันนี้เป็นการบ้านของพวกเรา

อย่างเช่นเรื่องอนุรักษนิยม จริงๆ เราเป็นพรรคเสรีนิยม แต่คนอาจจะไปเห็นอีกมุมหนึ่งว่าเรามีภาพแบบนั้น จริงๆ มันต่างกันมาก แม้แต่การบริหารจัดการพรรคของเราก็เป็นเสรีนิยม การบริหารจัดการประเทศก็เป็นเสรีนิยม เพียงแต่ภาพบางภาพที่คนสัมผัส เมื่อถูกเอาไปขยายผลและเอาไปโจมตีทางการเมืองก็อาจจะทำให้กลายเป็นภาพจำของคนบางส่วนไป แต่โดยเนื้อแท้ ผมคิดว่าเราไม่ใช่พรรคอนุรักษนิยม

ยกตัวอย่างนโยบายการบริหารประเทศ เช่น เรื่องพืชผลการเกษตรราคาตกต่ำ เราก็ใช้วิธีประกันรายได้ ไม่ใช่วิธีประกันราคา หรืออย่างเรื่องสวัสดิการ เราก็เน้นสังคมสวัสดิการ เราไม่ได้เน้นเรื่องรัฐสวัสดิการ เราเน้นเรื่องเงินออมแห่งชาติ เน้นเรื่องการกระจายอำนาจ ถ้าเราเป็นพรรคอนุรักษนิยม ก็คงไม่เน้นกระจายอำนาจ ต้องรวมศูนย์อำนาจไว้

ที่ผ่านมานักการเมืองโดนโจมตีว่าเป็นเพียงแค่นักเลือกตั้งหรือนักประกาศอุดมการณ์ คุณคิดว่าสำหรับประชาธิปัตย์มีส่วนจริงบ้างไหม

เอาเข้าจริงทุกวงการก็มีคนหลากหลายอยู่แล้ว มีทั้งคนเลวมากเลวน้อย ดีมากดีน้อย มีทั้งคนมีหลักการและฉวยโอกาสปะปนกันไป

นักการเมืองก็เหมือนกับดารา เป็นคนสาธารณะ ผมเคยเจอดาราบางคน ถ้าเราอ่านจากหนังสือพิมพ์ โอ้โห เราแทบไม่อยากคุยกับเขาเลย แต่พอได้คุยจริงๆ ผมว่าเขาก็เป็นแค่มนุษย์คนหนึ่งที่คุยกันได้ปกติ ถ้าเราไม่เคยคุยกับเขา ดูแต่ข่าว เวลาเจอก็แทบอยากจะเดินหนี เพราะว่าเราอ่านแต่เรื่องเลวร้ายของเขาทั้งนั้น

นักการเมืองก็เช่นเดียวกัน แล้วก็เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่อยากจะฟังเรื่องที่เป็นไปในทางเลวร้ายหรือทางลบมากกว่าเรื่องดี เหมือนหนังสือพิมพ์พาดหัวระหว่างแท็กซี่เก็บเงินผู้โดยสารได้แล้วเอาไปคืน กับแท็กซี่ข่มขืนผู้โดยสาร ข่าวแรกก็จะไปอยู่หน้าในหรือเป็นแค่ข่าวสั้น แต่ถ้าแท็กซี่ข่มขืนผู้โดยสารนี่ขึ้นหน้าหนึ่งแน่นอน ถามว่านักหนังสือพิมพ์เป็นคนเลวร้ายอยากให้แท็กซี่ข่มขืนผู้โดยสารหรือไม่ ก็ไม่ใช่ แต่เพราะเขารู้ว่าเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจ

เพราะฉะนั้น เราเป็นนักการเมืองก็ต้องยอมรับสภาพ ผมเจอทั้งนักการเมืองที่ฉวยโอกาส และนักการเมืองดีๆ พวกฉวยโอกาสก็ไม่ใช่ว่าผมจะต้องไปเห็นด้วยกับเขา

 

ความเป็นเสรีนิยมที่ประชาธิปัตย์อยากแปรเป็นนโยบายเร่งด่วนครั้งหน้าจะเป็นอย่างไร ประชาชนจะได้เห็นอะไรใหม่ๆ บ้าง ในขณะที่โลกเปลี่ยนไวมาก นโยบายเรียนฟรี 15 ปี เมื่อ 7 ปีก่อนจะยังใช้ได้ไหม

คงไม่เพียงพอ อย่างนโยบายการศึกษา เรื่องเรียนฟรีก็ต้องเรียนฟรีต่อไป เพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสมากที่สุด แต่ผมคิดว่าต้องพัฒนาคุณภาพขึ้น เช่น เด็กไทยทุกคนต้องเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่อนุบาลหรือประถม เพราะโลกในอนาคตข้างหน้าคุณไม่รู้ภาษาอังกฤษไม่ได้ แล้วชีวิตคุณอยู่กับสมาร์ทโฟน ข้อมูลส่วนใหญ่ก็เป็นภาษาอังกฤษ คุณรู้แค่ good night good morning ไม่ได้แล้ว สิ่งที่เป็นความรู้แทบจะเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด

ทุกวันนี้เราก็พยายามทดลองทำ จริงๆ ทำมาตั้งแต่เรายังไม่ได้เป็นรัฐบาลแล้ว เราทำโครงการ English for All ที่พิษณุโลกกับโรงเรียนเล็กๆ แห่งหนึ่งที่ไม่มีใครอยากส่งลูกไปเรียน

เราเข้าไปทำที่โรงเรียนนี้โดยหาทุนมาสนับสนุน จ้างครูชาวฟิลิปปินส์มาสอน เราปรับเปลี่ยนวิธีการสอนใหม่ทั้งหมด จนทุกวันนี้มีแต่คนอยากส่งลูกมาเรียน

แม้แต่ตอนรัฐบาลลุงตู่ไปประชุม ครม. แถวๆ สุโขทัย ก็ยังให้ รมว.ศึกษาธิการมาดูโครงการนี้ แล้วเขาว่าจะพยายามนำไปทำเป็นโครงการนำร่อง เราก็บอกถ้ารัฐบาลไหนก็ตามเห็นว่าเป็นโครงการที่ดีก็เอาไปทำเลย ต้องทำให้เห็นคุณภาพจริงๆ ไม่ใช่เน้นแต่เรื่องนโยบายแบบที่ผ่านมา พอเป็นรัฐบาลก็มอบนโยบายให้ข้าราชการระดับสูงในกระทรวง ให้ผู้อำนวยการโรงเรียนไปดำเนินการเรียนการสอน จบ

พอพูดเรื่องนโยบายที่พัฒนาคุณภาพคน พัฒนาประเทศ สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือมีชนชั้นนำเก่ากลัวการเปลี่ยนแปลงกับประชาชนที่ยกระดับตัวเองขึ้นทุกวัน จากประสบการณ์ ถ้าพรรค ปชป. ต้องดีลกับพลังจากสองฝั่งนี้จะทำยังไง ถ้าได้เป็นรัฐบาลอีกในอนาคต

ผมไม่คิดว่ายากเกินกว่าที่เราจะทำได้นะ แต่มันก็ยากลำบากในการดำเนินการ เพราะทั้งความแตกต่างและความขัดแย้งที่มีมาก็ถือว่าเป็นเรื่องยากอยู่แล้วที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้คลี่คลายไป

ถามว่ามีความเป็นไปได้ไหม มี แต่อีกส่วนหนึ่งผมคิดว่าสังคมไทยมีความต่างไปจากสังคมในลาตินอเมริกาหรือแอฟริกาบางประเทศ

สังคมเราพัฒนามาจากสังคมศักดินา เจ้าขุนมูลนาย มาสู่สังคมสมัยใหม่ แต่เรายังมีศาสนา มีสถาบันพระมหากษัตริย์ เรามีรากที่ทำให้การเมืองไม่รุนแรงถึงขั้นแบบในลาตินอเมริกา

ช่วงวิกฤตการเมืองหลายปีที่ผ่านมามีการเรียกร้องให้ปฏิรูปนักการเมืองและพรรคการเมือง ประชาธิปัตย์ทบทวนตัวเองไหมว่าต้องทำอะไรบ้าง อะไรเป็นปัญหา ยิ่งโดยวันนี้มีคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาทำพรรคการเมืองอย่างคึกคัก คิดว่าเป็นความท้าทายอะไรไหม

ผมมองว่าไม่ได้ท้าทายอะไร มันเป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย ถ้าคุณย้อนกลับไปดูในอดีตก็มีพรรคใหม่เกิดขึ้นมาตลอด มีคนรุ่นใหม่เกิดขึ้นมาตลอดทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง คุณจะย้อนไปถึงสมัยไหนก็ได้ มันเป็นมาแบบนี้ทุกสมัย ตอนปี 2518-2519 ก็มีพรรคอย่างพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย พรรคพลังใหม่ ผมมองเป็นเรื่องปกติ

ถ้าอย่างนั้นประชาธิปัตย์ก่อตั้งมา 72 ปี ถือว่าเก่าแก่ที่สุดในบรรดาพรรคที่มีอยู่ตอนนี้ อะไรคือสิ่งที่ยากที่สุดของการเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุด

ความยากที่สุดของเราก็คือการทำให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่อยู่ในหัวใจประชาชนอย่างมั่นคงและตลอดไปให้ได้ ที่ผ่านมา 72 ปี คุณจะเห็นได้ว่ามีพรรคการเมืองเกิดขึ้นมามากมาย แล้วถามว่าคนเหล่านั้นหายไปไหน ไม่ใช่ว่าเขาเป็นคนไม่ดีนะ ผมคิดว่าสังคมไทยยอมรับว่าประชาธิปัตย์เป็นสถาบัน ซึ่งเป็นสิ่งที่นักวิชาการพูดนะ ไม่ใช่เราพูดเอง

 

ตอนนี้หลายคนรู้สึกว่าประชาธิปัตย์ไม่มีตัวเลือกใหม่ๆ เลย ในการพาสังคมฝ่าวิกฤตการเมืองที่มีทหารปกครอง หรือเอาเข้าจริง ต่อให้มีหัวหน้าพรรคที่ประชาชนยอมรับก็ทำอะไรมากไม่ได้

การจะทำให้คนมั่นใจมีองค์ประกอบหลายส่วน หัวหน้าพรรคก็เป็นส่วนหนึ่ง ความเป็นพรรคก็ส่วนหนึ่ง นโยบายสาธารณะที่จะนำเสนอต่อประชาชนก็ส่วนหนึ่ง ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้เราต้องทำให้ผสมผสานกลมกลืนเพื่อที่จะสร้างความมั่นใจให้ได้

องอาจ คล้ามไพบูลย์

เวลานี้ประชาธิปัตย์ตกผลึกหรือยังว่าจะสร้างความมั่นใจอย่างไร

เท่าที่ผมดูเวลานี้ก็ไม่มีสัญญาณอะไรที่จะเป็นปัญหาภายในพรรค ผมคิดว่าเราก็ตกผลึกกันพอสมควร แน่นอนที่สุดว่าในอนาคตเราคงเดินไปตามภาพแบบเดิมไม่ได้ เมื่อวันที่มีการยืนยันพรรคกับ กกต. เราถึงประกาศว่าเป็นวันที่จะเริ่มต้นประชาธิปัตย์ยุคใหม่ สร้างใหม่สังคมไทย

หลังจากนี้ไปเมื่อบรรยากาศมันเปิด คสช. อนุญาต เราก็ต้องทำให้เห็น ที่ผ่านมาอาจจะมีทั้งที่ถูกใจและไม่ถูกใจบ้าง ผมก็มองว่าเป็นเรื่องปกติ แต่มันก็เป็นประสบการณ์ที่สะสมมาของคนรุ่นแล้วรุ่นเล่าที่ทำให้คนที่เดินเข้ามาได้ทำงานเป็นไปตามอุดมการณ์ของพรรค

พูดแบบนี้ ดูเหมือนว่าน้ำเสียงของประชาธิปัตย์ไม่ค่อยอยากแข่งขันเอาชนะทางการเมืองเท่าไหร่ เพราะพูดเรื่องอุดมการณ์-หลักการมากกว่ารูปธรรม

ถ้าเราคิดแค่อยากได้อำนาจรัฐ ตอนมีการประชามติรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา เราคงบอกเห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญไปแล้ว แต่เราบอกมันไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่เหมาะสมกับประเทศไทย ไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่ปราบโกงได้จริง แถมยังเป็นรัฐธรรมนูญที่สืบทอดอำนาจเผด็จการอีก แล้วจะให้เราไปสนับสนุนได้อย่างไร

ในวันที่เราบอกไม่เห็นด้วยกับการลงประชามติ เราถูกคนสนับสนุนประชาธิปัตย์วิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบมากนะ ผมถึงบอกว่าหลักการที่ถูกต้องเราก็ต้องยึดเอาไว้ ถึงแม้ว่าเราจะเจ็บปวดก็ตาม มันเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาประเทศนี้ รักษาหลักการเพื่อพรรคไม่เท่ากับรักษาประเทศ

เราไม่สามารถจะเอาชนะทางการเมืองโดยที่ประเทศชาติพ่ายแพ้ได้ เราชนะแต่ประเทศกลายเป็นซากปรักหักพังทิ้งไว้ให้ลูกหลานในอนาคตรับผิดชอบ แบบนี้ไม่ใช่พวกผม

แล้วก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่พรรคเราจะตัดสินใจอะไรออกมา ประชาธิปัตย์ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่งที่จะสั่งซ้ายหันขวาหัน มันมีความคิดเห็นที่หลากหลายกันอยู่พอสมควร แต่มันก็เป็นเรื่องสนุกที่คนในพรรคจะช่วยกันคิดให้ตกผลึกเพื่อเดินไปข้างหน้า แต่ถ้าเกิดมันไม่ตกผลึกและเดินหน้าไม่ได้ มันก็เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของคนประชาธิปัตย์

วันนี้เราต้องทำให้คนรู้สึกว่าประชาธิปัตย์ไม่ใช่ของเก่า เพราะชีวิตเราอยู่กันได้เพราะมีความหวังใช่ไหม เราอยากเห็นสิ่งใหม่ๆ

ถ้าจะบอกว่าเราไม่กระหายที่อยากชนะเลือกตั้งก็ไม่ใช่ เรากระหายชัยชนะ พูดตรงๆ แต่ผมคิดว่าไม่เป็นไรหรอก วันนี้แพ้ พรุ่งนี้ชนะ มันไม่ได้คงอยู่ตลอดไป

ที่ผ่านมาเคยรู้สึกอยากพักหรือวางมือทางการเมืองบ้างไหม เพื่อให้คนรุ่นใหม่ๆ ขึ้นมาทำต่อ ประชาชนจะมีโอกาสได้เห็นคนหน้าใหม่ๆ ในประชาธิปัตย์ไหม

ผมว่าคนรุ่นใหม่ไม่ได้อยู่ที่อายุ แต่อยู่ที่ความคิดและจิตวิญญาณของคุณว่าใหม่หรือเปล่า บางทีคนอายุน้อยๆ จิตวิญญาณเก่าก็เยอะแยะ คนอายุเยอะที่มีความคิดเก่า เขาก็เป็นคนรุ่นเก่า

คุณเห็นตัวเองแบบไหน ยังสดใหม่อยู่ไหม

ผมว่าความคิดผมก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร มันไม่เก่าเพราะเป็นความคิดที่ถูกต้อง ความถูกต้องและความดีงามมันไม่เก่าหรือใหม่ คนก็เช่นเดียวกัน ถ้ายึดในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม มันเป็นสัจธรรม ไม่มีสัจธรรมเก่าหรือสัจธรรมใหม่

แต่เมื่อไหร่ที่คุณคิดว่ากำลังวังชาคุณลดน้อยถอยลง ทั้งสมองและร่างกาย ก็ถึงเวลาที่คุณอาจจะต้องพิจารณาตัวเอง นักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยนอกจากจะต้องพิจารณาตัวเองแล้ว ประชาชนเขาเป็นคนพิจารณาคุณอยู่เสมอ

ส่วนตัวผม ผมยังรู้สึกมีความหวังกับประเทศนี้ และผมคิดว่าตัวเองยังใช้ความรู้ความสามารถ ใช้สติปัญญาและกำลังวังชาทำงานเพื่อบ้านเมืองได้ ขณะเดียวกันผมก็มีความหวังว่าประชาชนยังสนับสนุนผมอยู่

หัวใจสำคัญอยู่ที่ประชาชนยังสนับสนุนผมอยู่หรือไม่ ถึงแม้ว่าผมมีกำลังวังชา แต่ถ้าประชาชนไม่สนับสนุนแล้ว เราก็ต้องยุติ แม้เราจะมีความรู้ความสามารถมากเท่าไหร่ ต่อให้เป็นคนดีขนาดไหนก็ตาม ถ้าประชาชนไม่สนับสนุน เราก็ต้องยุติ

ก่อนถึงวันที่จะต้องยุติการทำงานจริงๆ วันนี้รู้สึกว่าการทำพรรคประชาธิปัตย์เป็นงานการเมืองในฝันหรือยัง เข้าใกล้สิ่งที่คาดหวังมากน้อยแค่ไหนแล้ว

ผมว่าไม่เข้าใกล้ แถมมันยังถอยหลังอีก (หัวเราะ) ผมไม่คิดว่าผมจะต้องมาพูดเรื่องเก่าๆ เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ไม่ว่าจะพูดเรื่องเผด็จการ พูดเรื่องการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วม พูดเรื่องคนรุ่นใหม่

ถ้าความเป็นจริงมันถอยหลังอย่างที่คุณว่า วันเวลาที่เหลืออยู่ของคนรุ่น 60 ที่ผ่านสนามการเมืองมาอย่างโชกโชน คิดว่าจะทันเห็นภาพการเมืองในอุดมคติไหม

ผมว่าอย่าไปมองว่ามันจะทันในช่วงชีวิตเราไหม เราต้องมองว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องระยะเวลาว่าจะทันหรือไม่ทัน มันเป็นเรื่องของประเทศชาติ ที่สำคัญมันไม่ใช่เรื่องของปัจเจก ถ้าแค่ปัจเจก เช่น ผมอยากจะเห็นน้องฟ้า (ลูกสาว) ต้องเรียนจบปริญญาเอก อย่างนี้ผมอาจจะคิดได้ว่าทัน เพราะเป็นเรื่องระหว่างผมกับน้องฟ้า ผมต้องส่งเสียให้เขาได้เรียน เขาก็ต้องตั้งใจเรียนเพื่อไปถึงเป้าหมาย

ผมเองก็เหมือนปุถุชนคนธรรมดาทั่วไป การมีลูกของผมทำให้ต้องจัดสรรเวลาใหม่ เมื่อก่อนเรายังไม่มีครอบครัว ยังไม่มีลูก เรานั่งคุยกับเพื่อน สนทนากับคนนั้นคนนี้ถึงเที่ยงคืนตี 1 ตี 2 บางทีคุยกันถึงเช้า แต่วันนี้เราทำไม่ได้เพราะว่าตอนเช้าเราต้องพาลูกไปโรงเรียน

เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องปกติของทุกคน เหมือนกับคนชอบถามผมเวลาเจอหน้าว่า พี่องอาจไม่เห็นแก่เลย ทำงานการเมืองไม่เครียดเหรอ ผมบอกผมไม่เครียด เพราะผมเข้าใจมันว่าการเมืองคืออะไร การเมืองมันก็เป็นแบบนี้ สังคมก็เป็นแบบนี้ ชีวิตคนก็เป็นแบบนี้ บางคนบอกพี่องอาจหนุ่มกว่าตอนเป็นหนุ่มนะ (หัวเราะ)

การมีลูกทำให้ผมเปลี่ยนความคิดไปพอสมควร ผมตอบตัวเองได้ว่าลูกเนี่ยไม่ใช่ของเรา เขามีชีวิตของเขา อนาคตข้างหน้าเราไม่มีทางรู้ ผมไม่รู้ว่าพรุ่งนี้ถ้าผมตายไป เขาจะอยู่อย่างไร จะไปอยู่กับย่าอยู่กับยายหรืออยู่กับใคร จะถูกเลี้ยงไปแบบไหนเราไม่มีโอกาสรู้

อนาคตทางการเมืองก็เหมือนกัน เราไม่มีทางรู้ แล้วคนทั่วไปมักเข้าใจว่าการเมืองเป็นเรื่องเครียด ถ้าเราไม่เข้าใจมันก็อาจจะเครียด ต้องเข้าใจว่าทุกอย่างมันเป็นแบบนี้เอง จะไปเครียดกับมันทำไม ผมเข้าใจคนในสังคมมีทั้งคนดีคนไม่ดี คนเห็นแก่ตัว เพราะความเป็นจริงมันเต็มไปด้วยคนที่หลากหลาย เราก็ไม่ต้องไปเครียดเพียงแต่เราบริหารจัดการอยู่กับคนเหล่านี้อย่างไร บางคนเรารู้ว่ามันกะล่อนปลิ้นปล้อน แต่ก็ต้องอยู่กับมัน เพราะชีวิตไม่ได้มีเรื่องเดียว

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save