fbpx

1 ปี สงครามรัสเซีย-ยูเครน: หนทางสู่สันติภาพที่ไม่ลงรอย

การประกาศบุกโจมตียูเครนโดยรัสเซียเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 ได้เปลี่ยนยูเครน ยุโรป และโลกอย่างไม่มีวันหวนกลับ การใช้กำลังทางการทหารก่อสงครามไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายและความไม่มั่นคงต่อชีวิตชาวยูเครนเท่านั้น แต่ยังสั่นคลอนระเบียบความมั่นคงยุโรป และระเบียบระหว่างประเทศที่วางอยู่บนฐานของกติกา หลักอธิปไตยและหลักบูรณภาพแห่งดินแดน อันเป็นหลักประกันสันติภาพที่ประชาคมโลกยอมรับร่วมกัน ทั้งยังส่งผลให้วิกฤตความมั่นคงทางอาหาร วิกฤตพลังงาน และวิกฤตค่าครองชีพก่อตัวขึ้นทั่วโลก

แม้สันติภาพจะเป็นสิ่งที่โลกถวิลหาร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการเตรียมเปิดฉากปฏิบัติการรุกโต้ตอบช่วงฤดูใบไม้ผลิของกองทัพยูเครน ยังไม่มีวี่แววว่าสันติภาพจะมาถึงในเร็ววัน

101 ชวนทบทวน 1 ปีที่ผ่านมาของสงครามรัสเซีย-ยูเครนและหนทางสู่สันติภาพ ผ่านมุมมองยุโรป มุมมองของกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ และมุมมองจากพื้นที่จริง โดยเก็บความจากงานเสวนาหัวข้อ ‘Russia’s War against Ukraine at One Year: Assessing the Ongoing Situation from Above and on the Ground’ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2023 โดยงานเสวนาครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 4 ของซีรีส์งานเสวนาที่จัดขึ้นโดยสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ (Institute of Security and International Studies – ISIS) และคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย (Delegation of the European Union to Thailand)

YouTube video

สงครามรัสเซีย-ยูเครน: วิกฤตต่อระเบียบระหว่างประเทศที่วางอยู่บนฐานของกติกา – เดวิด เดลี

เดวิด เดลี (David Daly) เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย | ภาพจาก สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ

เดวิด เดลี (David Daly) เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ประเมิน 1 ปีของสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยสะท้อนผ่านมุมมอง 3 ประการ

ประการแรก การรุกรานยูเครนของรัสเซียถือเป็นการกระทำที่ไร้ความชอบธรรม ซึ่งสร้างความสูญเสียต่อชีวิตมนุษย์และทรัพย์สิน โดยสงครามตลอด 1 ปีที่ผ่านมาได้คร่าชีวิตพลเรือนและทำให้พลเรือนได้รับบาดเจ็บราวกว่า 18,800 คน โดยกว่า 1,150 คนในจำนวนนั้นคือเด็ก ชาวยูเครนหลายล้านคนต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัยที่อพยพออกนอกประเทศ กว่า 4 ล้านคนลี้ภัยอยู่ในพรมแดนสหภาพยุโรป กว่า 1.5 ล้านคนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ ราว 18 ล้านคนต้องการความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม

นอกจากนี้ การบุกโจมตีของรัสเซียยังสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจในยูเครน โรงงาน โครงสร้างพื้นฐาน หรือพื้นที่ทำเกษตรหลายแห่งได้รับความเสียหาย ส่วนในระดับโลก สงครามส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและวิกฤตพลังงาน

“ไม่มีอะไรที่จะสร้างความชอบธรรมให้แก่ชีวิตที่ต้องระหกระเหิน ชีวิตที่ต้องเสียไป ซากปรักหักพัง ความเสียหาย การทำลายล้าง หรือผลกระทบทางเศรษฐกิจที่รัสเซียก่อต่อยูเครน ยุโรป และโลกได้” เดลีกล่าว

ประการที่สอง เดลีตั้งข้อสังเกตว่า มี ‘กับดักทางจิตวิทยา’ (psychological traps) ว่าด้วยสงครามรัสเซีย-ยูเครน 3 ประการที่ง่ายที่จะตกหลุมพราง กับดักแรกคือ ความห่างไกลของสงคราม

“เป็นเรื่องง่ายที่จะคิดว่า สงครามในยูเครนเป็นอะไรที่อยู่ไกลออกไปที่ไหนสักแห่งในยุโรป ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเราในเอเชียหรือที่อื่นในโลก แต่ชัดเจนว่านั่นไม่จริงเลย สงครามรัสเซีย-ยูเครนไม่ได้เป็นเพียงสงครามของยุโรปเท่านั้น สงครามยังโจมตีพวกเราทุกคน ทุกที่ในโลก และยังเป็นการโจมตีต่อระเบียบระหว่างประเทศที่ทุกประเทศวางร่วมกันบนฐานของกฎบัตรสหประชาชาติ หลักบูรณภาพทางดินแดน และหลักอธิปไตย

“สงครามได้นำไปสู่การตั้งคำถามว่าด้วยการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศว่าจะวางอยู่บนระเบียบ กฎกติกา หรือพลังอำนาจทางการทหารซึ่งไม่ใช่วิถีที่เป็นที่ยอมรับและไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นได้ แน่นอนว่าทุกวันนี้มีจุดปะทุความขัดแย้ง (hotspot) อยู่หลายแห่งทั่วโลก รวมถึงในเอเชียด้วย ผมคิดว่าคงไม่มีใครอยากให้ประเทศขนาดใหญ่เลือกใช้กำลังและความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง”

เดลียังชี้ให้เห็นเพิ่มเติมว่า ปัญหาความมั่นคงทางอาหารที่เกิดขึ้นทั่วโลกมาจากการที่รัสเซียจำกัดการส่งออกธัญพืช และปิดเส้นทางส่งออกธัญพืชของยูเครน อย่างไรก็ตาม สหภาพยุโรปได้ดำเนินโครงการ EU-Ukraine Solidarity Lanes เพื่อให้ยูเครนสามารถส่งออกสินค้าเกษตรปริมาณกว่า 13 ล้านตันออกสู่ตลาดโลกได้ รวมทั้งสนับสนุนข้อตกลงว่าด้วยการส่งออกธัญพืชผ่านเส้นทางทะเลดำอย่าง Black Sea Grain Initiative

กับดักที่สอง คือกับดักว่าด้วย ‘ความเท่าเทียมลวง’ (false equivalence) โดยเดลีอธิบายว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครนไม่ใช่สงครามที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างสองฝ่ายและจะสิ้นสุดลงได้หากต่างฝ่ายต่างถอย แต่เกิดจากการที่รัสเซียตัดสินใจรุกรานยูเครน

“ในกรณีนี้ เราต้องแยกให้ชัดระหว่างผู้รุกรานกับเหยื่อ ระหว่างการโจมตีกับการป้องกันตนเอง ถ้ารัสเซียหยุดรบ สงครามจะจบ แต่ถ้ายูเครนหยุดสู้ เราไม่มีทางรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับยูเครน” เดลีกล่าว

ส่วนกับดักที่สาม เดลีกล่าวว่า เราต้องหันกลับมาคิดถึงความเป็นไปได้ในเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้ เพื่อรับมือต่อสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น เพราะสงครามได้แสดงให้เห็นแล้วว่า สงครามจักรวรรดิที่เคยสิ้นสุดลงไปในอดีตแล้วได้หวนกลับมาอีกครั้ง หรือการที่สมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อการประกันความมั่นคงและเสรีภาพโลก ได้กลายเป็นผู้ก่อสงครามเองได้

ประการที่สาม ในมุมมองของเดลี ปูตินประเมินผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ในการตัดสินใจก่อสงครามในยูเครน โดยตลอดเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นแล้วว่า สงครามสายฟ้าแลบ (Blitzkrieg) ที่มุ่งโจมตีเพื่อเอาชนะอย่างรวดเร็วฉับพลันนั้นไม่ได้ผล และกลับกลายเป็นสงครามพร่ากำลัง (war of attrition) อันยืดเยื้อที่ไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ ในทางการเมือง สงครามได้ผลักให้คนยูเครนพร้อมใจกันต่อต้านรัสเซียแทนที่จะยอมรับรัสเซีย ยิ่งไปกว่านั้น สงครามยังส่งผลให้ประเทศที่เป็นกลางทางการทหารอย่างฟินแลนด์หรือสวีเดนตัดสินใจสมัครเข้าเป็นประเทศสมาชิกนาโต (NATO) อีกด้วย

เดลียังมองอีกว่า รัสเซียประเมินสหภาพยุโรปผิดพลาดอย่างร้ายแรง การคาดการณ์ที่ว่าสหภาพยุโรปจะสูญเสียความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จะปฏิเสธการรับผู้ลี้ภัยจากยูเครน และเศรษฐกิจสหภาพยุโรปจะล่มสลายเพราะพึ่งพิงพลังงานจากรัสเซียนั้นไม่เกิดขึ้นจริง

ในประเด็นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสหภาพยุโรป เดลีอธิบายว่า สหภาพยุโรปสามารถออกมาตรการคว่ำบาตรได้อย่างทันท่วงทีร่วม 10 มาตรการหลังสงครามเริ่ม ซึ่งต้องอาศัยฉันทามติจากประเทศสมาชิกทั้งหมด 27 ประเทศ นอกจากนี้ สหภาพยุโรปยังให้การสนับสนุนแก่ยูเครนในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการให้เงินช่วยเหลือแก่ยูเครน 5 พันล้านยูโร ให้เงินช่วยเหลือประเทศสมาชิกกว่า 1.7 พันล้านยูโรในการรับผู้ลี้ภัยสงครามจากยูเครน สนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์ผ่านกลไกร่วมอย่างโครงการ European Peace Facility และฝึกการรบให้แก่ทหารยูเครนกว่า 30,000 นาย 

อีกทั้งในทางการเมือง ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปทั้งหมด 27 ประเทศยังยอมรับให้ยูเครนเข้าสู่กระบวนการการสมัครสมาชิกสหภาพยุโรป

ในประเด็นผู้ลี้ภัย ทั่วสหภาพยุโรปเห็นพ้องต้องกันว่าต้องเปิดประเทศรับผู้ลี้ภัยชาวยูเครน ทั้งประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้ยูเครนและประเทศสมาชิกที่อยู่ห่างออกไปทางตะวันตก

ส่วนในประเด็นพลังงาน แม้ว่ารัสเซียจะพยายามใช้ความได้เปรียบในฐานะผู้ผลิตพลังงานและแก๊สธรรมชาติเพื่อสร้างอำนาจในการต่อรอง แต่ในความเป็นจริง สหภาพยุโรปสามารถเปลี่ยนความท้าทายให้เป็นโอกาสได้ โดยสงครามได้ผลักให้สหภาพยุโรปลดการพึ่งพาพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลจากรัสเซีย ทำให้มีการเร่งกระบวนการเปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทนมากยิ่งขึ้น ซึ่งไม่มีทางจะหันกลับไปพึ่งพิงพลังงานจากรัสเซียเหมือนก่อนสงครามอีก เดลียังกล่าวอีกว่า สงครามไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจยุโรปล่มสลาย โดยในปี 2022 อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นราว 3.4% แม้ว่าอาจจะลดลง 1.5% ในปี 2024 แต่ก็มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะกลับมาเติบโตราว 2% ในปี 2025

ในการยุติสงคราม เดลีมองว่าต้องวางอยู่บนฐานของ Principles of the Charter of the United Nations underlying a comprehensive, just and lasting peace in Ukraine ข้อมติซึ่ง 3 ใน 4 ของประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติลงมติรับรองในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly) เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2023

“ในข้อมติดังกล่าว ประเทศสมาชิกสหประชาชาติยืนยันจุดยืนอีกครั้งต่อบูรณภาพทางดินแดนของยูเครนตามเขตแดนที่ได้รับการยอมรับในทางสากล เรียกร้องให้รัสเซียถอนกำลังออกจากยูเครนทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข ให้มีการยุติสงคราม ให้ปล่อยตัวพลเรือนและเด็กที่ถูกบีบบังคับให้เคลื่อนย้าย และเรียกร้องให้ต้องมีการรับผิดรับชอบต่ออาชญากรรมสงครามตามกฎหมายระหว่างประเทศ”

“มักมีการตั้งประเด็นกันว่า ระเบียบระหว่างประเทศที่วางอยู่บนฐานของกติกาคือแนวคิดที่โลกตะวันตกเป็นผู้กำหนดให้ประเทศอื่นๆ ในโลกปฏิบัติตาม โดยไม่ได้ฟังเสียงจากกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ (Global South) แต่สิ่งสำคัญที่เราต้องไม่ลืมคือ เราทุกคนอยู่ภายใต้ระบบขององค์การสหประชาชาติเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราต้องระวังไม่ให้ติดกับดักความคิดเช่นนี้ รวมไปถึงกับดักความคิดที่ว่ากลไกสหประชาชาติไม่ได้ผล” เดลีกล่าว

สงครามรัสเซีย-ยูเครน: วิกฤตความมั่นคงทางอาหาร วิกฤตพลังงาน และวิกฤตค่าครองชีพสำหรับประเทศกำลังพัฒนา กษิต ภิรมย์

กษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ | ภาพจาก สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ

กษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครนจากมุมมองกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ว่า สงครามได้นำมาซึ่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัด อย่างเช่นค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น ทั้งในภูมิภาคเอเชีย ภูมิภาคตะวันออกกลางและทวีปแอฟริกา อีกทั้งยังส่งผลให้ชาวยูเครนกว่าล้านคนต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้าน พลเรือนต้องประสบความยากลำบากในการใช้ชีวิตในแต่ละวัน

ในขณะที่ผู้นำระดับสูงอย่างเยนส์ สโตลเตนเบิร์ก (Jens Stoltenberg) เลขาธิการองค์การนาโต ลอยด์ ออสติน (Lloyd Austin) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา หรือโวโลดีมีร์ เซเลนสกี (Volodymyr Zelensky) ประธานาธิบดียูเครน กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า ยูเครนจะไม่ได้แค่เอาชนะรัสเซียให้ได้เท่านั้น แต่จะยังขับไล่รัสเซียออกไปจากยูเครนให้ได้ และจะไม่ได้แค่ยึดดินแดนทางภาคตะวันออกคืนเท่านั้น แต่จะยึดไครเมีย (Crimea) คืนด้วย ซึ่งกษิตมองว่า เป็นการเดินเกมการเมืองที่สุ่มเสี่ยงและอันตราย (brinkmanship) อย่างมาก หากจะไม่ให้รัสเซียกล้าใช้อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธี (tactical nuclear weapon) ในช่วงที่ใกล้เพลี่ยงพล้ำ

“ทั้งหมดนี้มีแต่เรื่องชัยชนะกับความพ่ายแพ้ แต่ความสูญเสีย ความยากลำบากที่คนยูเครนกำลังเผชิญ ผลกระทบที่คนรัสเซียได้รับจากมาตรการคว่ำบาตร ความยากลำบากทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในยุโรปและทั่วโลกล้วนคือความไม่มั่นคงต่อชีวิต เป็นไปได้อย่างไรที่ผู้นำโลกเอาแต่พูดเรื่องสงคราม แต่ไม่เริ่มจากจุดตั้งต้นที่ว่าเราสามารถแสวงหาสันติภาพร่วมกันได้” กษิตตั้งคำถาม

กษิตมองว่าในสถานการณ์เช่นนี้ ประชาคมโลกสามารถดำเนินกระบวนการเจรจาสันติภาพไปพร้อมกันในขณะที่การสู้รบยังคงดำเนินต่อไป เหมือนอย่างในช่วงสงครามเวียดนามที่มีการใช้ ‘การทูตเดินสาย’ (shuttle diplomacy) ให้มีตัวแทนกลางไกล่เกลี่ยเจรจาแทนระหว่างสองคู่ขัดแย้ง เพราะฉะนั้นในการเปิดฉากการโต้กลับในช่วงฤดูใบไม้ผลิ (spring counter-offensive) ตามแผนการของยูเครน ควรจะต้องเปิดการเจรจาสันติภาพควบคู่ไปด้วย เพื่อมุ่งให้มีการประกันความมั่นคงและความเป็นกลาง (neutrality) แก่ยูเครน

ในการหาทางบรรลุข้อตกลงสันติภาพ กษิตเสนอว่าอาจให้จีน อินเดีย บราซิล ตุรกี และคณะกรรมาธิการยุโรป (European Union Commission) หารือร่วมกันเพื่อปรับปรุงแผนการสันติภาพ 12 ประการที่รัฐบาลจีนเสนอร่างไว้ ผสานสารัตถะจากข้อมติสหประชาติ และเสนอให้เป็นข้อเสนอในการเจรจาสันติภาพ หรือกระทั่งว่าสหประชาชาติต้องวางแผนการรักษาสันติภาพในยูเครนหลังบรรลุข้อตกลงหยุดยิง

“ประเด็นแรกคือ เราต้องนึกถึงสันติภาพ ไม่ใช่สงคราม ประเด็นที่สองคือ เราต้องเลิกโทษกันไปกันมา เพราะทุกอย่างที่กำลังเกิดขึ้นไม่ได้เริ่มในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ตอนที่รัสเซียยกกองทัพเข้าไปบุกยูเครน แต่เราต้องย้อนกลับไปมองด้วยว่าตลอดช่วงเวลาก่อนหน้านี้มีการยั่วยุหรือเปล่า”

“นั่นต้องเป็นวาระที่บรรจุเข้าไปในการเจรจาสันติภาพร่วมกันด้วย เพราะอย่างหนึ่งที่เราต้องตระหนักคือ เราไม่สามารถละเลยข้อวิตกกังวลหรือผลประโยชน์ของเพื่อนบ้านได้ ต้องคำนึงถึงสิ่งที่ประเทศเพื่อนบ้านกังวลด้วย” ซึ่งกษิตหมายความว่า ต้องคำนึงถึงข้อวิตกกังวลของรัสเซียต่อการขยายเขตอิทธิพลของนาโตไปประชิดพรมแดนรัสเซียด้วย

“ถ้าฝ่ายรัสเซียมองว่าการขยายตัวของนาโตเป็นภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ (existential threat) แล้วคุณละเลยข้อกังวลของรัสเซีย แล้วก็อ้างว่าการเข้าร่วมนาโตเป็นสิทธิในการกำหนดใจตนเอง (right to self-determination) เป็นสิทธิของรัฐอธิปไตย จะทำอะไรก็ได้ คุณก็ไม่ได้อยู่กับโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว แต่อยู่ในโลกของหลักการและอุดมคติ และการบุกโจมตีวันที่ 24 กุมภาพันธ์ก็คือผลลัพธ์” อีกทั้งกษิตยังเสริมว่า มหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ มีส่วนเช่นกันในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศที่สุ่มเสี่ยงและอันตรายในการขยายเขตอิทธิพลนาโต นอกจากนี้ กษิตอธิบายเสริมว่าในการวางท่าทีในการเมืองระหว่างประเทศ สิ่งที่สำคัญสำหรับกลุ่มประเทศซีกโลกใต้คือความอยู่รอดในทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่หลักการหรือคุณค่าร่วมอย่างประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน หรือหลักในการกำหนดใจตนเอง

“เรา [กลุ่มประเทศโลกซีกใต้] ไม่เห็นว่าสงครามในยูเครนคือการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่เป็นเรื่องของความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางพลังงาน และห่วงโซ่อุปทานที่ขาดช่วง คำถามคือทำไมมหาอำนาจถึงไม่หันมาจับเข่าคุยกัน ถ้ามันคือหน้าที่ความรับผิดชอบของมหาอำนาจที่จะคุยกัน ไม่ใช่รบกัน หรือทำสงครามตัวแทนเพื่อสร้างความได้เปรียบ” กษิตตั้งคำถามทิ้งท้าย

สงครามรัสเซีย-ยูเครน: สงครามที่ไร้ความชอบธรรมและอภัยให้ไม่ได้ ยอน ออสเตริม เกรินดาห์ล

ยอน ออสเตริม เกรินดาห์ล (Jon Åström Gröndahl) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรสวีเดนประจำประเทศไทย | ภาพจาก European Union in Thailand

“ในความเห็นผม สงครามครั้งนี้ไม่ใช่แค่ไม่ชอบธรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องที่อภัยให้ไม่ได้อีกด้วย” ยอน ออสเตริม เกรินดาห์ล (Jon Åström Gröndahl) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรสวีเดนประจำประเทศไทย แสดงความเห็นต่อสงครามรัสเซีย-ยูเครน “ชัดเจนว่านี่คือการใช้กำลังทางการทหารเพื่อรุกรานและละเมิดบูรณภาพทางดินแดน”

อย่างไรก็ตาม รัสเซียไม่ได้เรียกสงครามครั้งนี้ว่าเป็นการรุกราน แต่เป็น ‘ปฏิบัติการพิเศษทางการทหาร’ (special military operation) ซึ่งเกรินดาห์ลมองว่า ‘พิเศษ’ จริง แต่ไม่ได้พิเศษในความหมายเดียวกับรัสเซีย โดยอ้างความเห็นของเกออร์ก ชมิดท์ (George Schmidt) เอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทยว่า ความพิเศษของสงครามครั้งนี้มีอยู่ 2 ประการด้วยกัน

ประการแรก ผู้ก่อสงครามครั้งนี้คือสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และยังขู่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์อีกด้วย

ประการที่สอง มีการผนวกรวมดินแดนเกิดขึ้น ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในสงครามหรือความขัดแย้งที่ไหนในโลกมาก่อน โดยมีจุดเริ่มต้นจากการผนวกรวมไครเมีย (Crimea) เข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียในปี 2014 ตามมาด้วย โดเนตสก์ (Donetsk) ลูฮานสก์ (Luhansk) เคอร์ซอน (Kherson) และซาโปริซเซีย (Zaporizhzhia) ที่รัสเซียประกาศผนวกดินแดนอย่างผิดกฎหมายไปเมื่อเดือนกันยายน 2022

“นี่เป็นการละเมิดอธิปไตย เอกราช บูรณภาพทางดินแดนของยูเครน และละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติอย่างร้ายแรง อีกทั้งยังเป็นภัยคุกคามต่อระบบความมั่นคงร่วมยุโรปที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง”

“สงครามครั้งนี้ไม่ได้โจมตีเพียงแค่ยูเครนเท่านั้น แต่ยังโจมตีระเบียบความมั่นคงยุโรป ระเบียบระหว่างประเทศที่อยู่บนฐานของกติกา และเสรีภาพของทั้งยุโรป ส่วนตัวผมเชื่อว่าถ้ามีโอกาส ประธานาธิบดีปูตินก็คงจะไม่หยุดอยู่แค่ยูเครน นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมสหภาพยุโรปและสวีเดนถึงยังคงสนับสนุนยูเครนอย่างหนักแน่น สงครามครั้งนี้เกี่ยวพันกับการดำรงอยู่อย่างมาก ไม่ใช่แค่สำหรับสวีเดนหรือฟินแลนด์ที่มีประวัติศาสตร์ในการถูกรัสเซียรุกรานหลายครั้ง แม้ว่ามันจะผ่านมานานแล้วก็ตาม”

“ประเทศที่สนับสนุนระเบียบระหว่างประเทศที่อยู่บนฐานของกติกา เชื่อในกฎบัตรสหประชาชาติ และไม่ต้องการให้ประเทศตนเองถูกรุกรานควรจะต้องต่อต้านความก้าวร้าวเช่นนี้ อย่างที่หลายประเทศโหวตรับรองข้อมติในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา”

“ผมเชื่อว่ามันมีช่วงเวลาหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่เราต้องมีพันธะทางศีลธรรมในการเลือกฝ่าย โดยผมว่าตลอด 14 เดือนที่ผ่านมาคือหนึ่งในช่วงเวลาเหล่านั้น” ซึ่งเกรินดาห์ลเสริมต่อว่า สวีเดนได้ดำเนินกระบวนการสมัครเข้าเป็นสมาชิกนาโตแล้วเรียบร้อย และหวังว่าจะได้รับสถานะสมาชิกอย่างเป็นทางการในเร็ววัน

ต่อประเด็นผลกระทบที่ตามมาจากสงคราม เกรินดาห์ลมองว่า ความรับผิดชอบต่อปัญหาราคาพลังงานที่พุ่งสูงหรือวิกฤตความมั่นคงทางอาหารไม่ได้อยู่ที่ยูเครน กล่าวคือ ยูเครนไม่ได้มีความรับผิดชอบที่ต้องยอมคนละครึ่งทางกับรัสเซียเพื่อให้สงครามสิ้นสุด เพื่อให้ปัญหาพลังงานและความมั่นคงทางอาหารคลี่คลาย แต่อยู่ที่รัสเซียที่จะต้องหยุดสงคราม

“เราต้องไม่ลืมว่าใครเป็นคนเริ่มสงคราม แน่นอนว่าไม่ใช่ยูเครนที่ทำสงครามในรัสเซีย แต่เป็นรัสเซียต่างหากที่ทำสงครามในยูเครน นี่เป็นเรื่องพื้นฐาน การบีบให้ยูเครนยอมรัสเซียแลกกับการเจรจาแล้วสงบศึกมีแต่จะทำให้ความขัดแย้งร้าวลึกกว่าเดิม สันติภาพที่ได้มาจะไม่ใช่สันติภาพที่ยั่งยืน และส่วนตัว ผมมองว่าถ้าปูตินยังอยู่ในอำนาจ สันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครนก็จะไม่มีทางเกิดขึ้น”

ชีวิตและความหวังท่ามกลางสงครามของคนยูเครน กรุณา บัวคำศรี

กรุณา บัวคำศรี นักข่าวสายต่างประเทศ ร่วมเสวนาสดจากยูเครน | ภาพจาก สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ

กรุณา บัวคำศรี นักข่าวสายต่างประเทศเจ้าของรายการสารคดีรอบโลก by กรุณา บัวคำศรี ผู้ลงพื้นที่สนามข่าวในยูเครนเล่าสถานการณ์ส่งตรงจากคาร์คีฟ (Kharkiv) เมืองทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของยูเครนว่า กองทัพยูเครนกำลังเตรียมการปฏิบัติการรุกโต้ตอบช่วงฤดูใบไม้ผลิ (spring counter-offensive) เพื่อพลิกสถานการณ์ในสนามรบให้กลายเป็นฝ่ายได้เปรียบ และเพื่อยึด 4 ภูมิภาค อันได้แก่โดเนตสก์ (Donetsk) ลูฮานสก์ (Luhansk) เคอร์ซอน (Kherson) และซาโปริซเซีย (Zaporizhzhia) ที่รัสเซียประกาศผนวกดินแดนอย่างผิดกฎหมายไปเมื่อเดือนกันยายน 2022 กลับคืนมา รวมไปถึงไครเมีย (Crimea) ที่รัสเซียผนวกดินแดนไปตั้งแต่เมื่อปี 2014 ซึ่งจากที่ได้พูดคุยกับคนยูเครนโดยตรง กรุณาเล่าว่า การยึดดินแดนที่รัสเซียผนวกไปทั้งหมดคืนได้สำเร็จคือฉากจบของสงครามที่คนยูเครนต้องการ

“ตอนนี้สถานการณ์เงียบกว่าปกติ ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะปกติเวลามีการเตรียมก่อนปฏิบัติการโต้กลับ (counter-offensive) หรือปฏิบัติการทางการทหารครั้งใหญ่ ทุกอย่างจะถูกเก็บเป็นความลับ”

“รวมๆ แล้ว คนยูเครนตั้งตารอปฏิบัติการโต้กลับกัน แต่ก็มองว่าสงครามน่าจะยังดำเนินต่อไปอีกนาน อาจจะอีกสักปีสองปี ไม่ได้คาดหวังว่าการปฏิบัติการรุกโต้ตอบช่วงฤดูใบไม้ผลิครั้งนี้จะปิดฉากสงครามลงได้ มวลอารมณ์รวมๆ ของคนยูเครนค่อนข้างมีความหวัง แต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกว่าอนาคตไม่มีความแน่นอน เลยไม่ค่อยมองอนาคตไปไกลเท่าไหร่ แค่ใช้ชีวิตวันต่อวันให้ดีที่สุด และคอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน”

“ที่น่าเซอร์ไพรส์คือ นอกไปจากว่าจะมีเสียงไซเรนหรือเสียงระเบิด ผู้คนที่นี่ใช้ชีวิตตามปกติ พวกเขาไม่ได้กลัว พวกเขาแค่โกรธ พวกเขาออกไปทานอาหารที่ร้านอาหารตามปกติ อาจจะกลับบ้านกันเร็วหน่อย ประมาณ 2-3 ทุ่มเมืองก็มืดหมดแล้วเพราะมีเคอร์ฟิวและพยายามไม่ให้ตัวเองตกเป็นเป้าการโจมตี ส่วนวันหยุดเสาร์อาทิตย์ก็ออกไปเดินเล่นในสวนกันตามปกติ”

นอกจากนี้ กรุณาเล่าอีกว่า สิ่งที่น่าสนใจคือการที่ได้เห็นว่าคนยูเครนปรับตัวกับใช้ชีวิตท่ามกลางสงครามอย่างไรบ้าง อย่างเช่นการดัดแปลงป้ายรถบัสให้เป็นบังเกอร์ ซึ่งภายในนั้นมี Wi-Fi และ CCTV สำหรับไว้ดูว่ารถบัสมาถึงป้ายเมื่อไหร่ เป็นต้น

“คนยูเครนปรับตัวได้เก่งมาก เขาบอกว่าหนทางเดียวที่จะแก้แค้นได้คือการใช้ชีวิตตามปกติต่อไปเรื่อยๆ” กรุณากล่าว

อย่างไรก็ตาม คนยูเครนที่อาศัยบริเวณพื้นที่ใกล้เขตสงคราม โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เคยถูกรัสเซียยึดครองก็ยังต้องอยู่กับผลกระทบจากสงครามต่อไปในอนาคต ผลกระทบสำคัญอย่างหนึ่งที่กรุณาเล่าว่าไม่ค่อยเป็นที่พูดถึงกันคือ ทุ่นระเบิดที่ฝังกระจายอยู่ในพื้นที่กว่า 200,000 กิโลเมตรทางภาคตะวันออกและทางตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งส่งผลให้คนยูเครนไม่สามารถกลับเข้าไปอาศัยและเริ่มชีวิตใหม่อีกครั้งในพื้นที่ที่เคยอยู่แต่เดิมได้ นี่คือหนึ่งในวิกฤติระยะยาวที่คนยูเครนพยายามแก้ไข นอกเหนือไปจากการต่อสู้กับรัสเซียในแนวหน้าสนามรบ

ในช่วงเวลาที่ทั่วโลกมีมุมมองต่อสงครามไม่ตรงกัน จากประสบการณ์ของคนที่ลงพื้นที่ทำข่าวภาคสนามในยูเครน กรุณามองว่า สันติภาพจะเกิดขึ้นได้หากรัสเซียหยุดทำสงคราม

“ทุกคนต่างต้องการสันติภาพกันทั้งนั้น สันติภาพจะเกิดขึ้นได้ง่ายมาก โดยเริ่มที่รัสเซียต้องหยุดทำสงครามรุกรานยูเครน มันชัดเจนมากในกรณีนี้ว่ายูเครนถูกละเมิดอธิปไตย”

“สำหรับพวกเราที่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สงครามอาจดูเหมือนเป็นอะไรที่อยู่ไกลออกไป แต่จริงๆ แล้วมันไม่ได้ไกลตัวเราเลย โลกที่เราอยู่ทุกวันนี้ผันผวนและเปราะบางมาก เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญอย่างมากคือหลักการ สงครามครั้งนี้ไม่มีความชอบธรรมใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าคุณจะเป็นคนไทย กัมพูชา หรืออินโดนีเซีย อย่างหนึ่งที่เราต้องยอมรับร่วมกันคือ เราต้องเคารพอธิปไตยและบูรณภาพทางดินแดนของประเทศอื่น”

“ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ไม่ใช่อะไรใหม่ เรารู้ว่าหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับประเทศเพื่อนบ้านนั้นเปราะบาง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าการส่งกองทัพไปบุกรุกอีกประเทศจะเป็นเรื่องที่ชอบธรรม” กรุณากล่าวทิ้งท้าย

กษิต ภิรมย์ – เดวิด เดลี – ยอน ออสเตริม เกรินดาห์ล – ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ | ภาพจาก European Union in Thailand

“เราต้องการสันติภาพ ไม่ใช่การรอมชอม” – พาฟโล โอเรล

ในช่วงครึ่งหลังของการเสวนามีการเปิดให้ผู้ฟังมีส่วนร่วมแสดงความเห็น พาฟโล โอเรล (Pavlo Orel) อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทยได้ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้ร่วมเสวนา โดยเน้นย้ำไปในทิศทางเดียวกันกับเดลีว่า สงครามครั้งนี้ไม่ใช่สงคราม ‘ระหว่าง’ รัสเซียและยูเครน แต่คือการ ‘รุกราน’ ยูเครนโดยรัสเซีย ซึ่งยูเครนมีสิทธิที่จะป้องกันตนเองจากการรุกราน

โอเรลเสริมต่อจากประเด็นที่เดลีกล่าวไว้ว่า “ถ้ารัสเซียหยุดรบ สงครามจะจบ แต่ถ้ายูเครนหยุดสู้ ยูเครนจะหายไป นี่คือเหตุผลว่าทำไมเรายังคงต่อสู้เพื่อปกป้องตนเอง ไม่เช่นนั้นชาวยูเครนจะต้องเผชิญกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ยูเครนจะต้องสูญสิ้นการดำรงอยู่ในฐานะชาติอธิปไตย นักการเมืองรัสเซียหลายคนเช่น ดมิทรี เมดเวเดฟ (Dmitry Medvedev) รองประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติรัสเซีย เคยกล่าวเช่นนี้ไปแล้ว”

นอกจากนี้ โอเรลยังเสนอมุมมองเกี่ยวกับหนทางที่จะยุติสงครามและนำสันติภาพกลับคืนสู่ยูเครนในฐานะตัวแทนจากยูเครนว่า รัสเซียต้องคืนดินแดนที่เคยผนวกไปทั้งหมดให้แก่ยูเครน

“ในเวลานี้ไม่มีประเทศไหนที่ถวิลหาสันติภาพไปมากกว่ายูเครนอีกแล้ว แต่เราก็ตระหนักว่าสันติภาพที่แท้จริงนั้นต้องเป็นสันติภาพที่ชอบธรรมและยั่งยืน”

“เราต้องการสันติภาพ ไม่ใช่การรอมชอม ข้อเสนอของเราไม่ได้มีอะไรซับซ้อน นั่นคือต้องมีการคืนดินแดนให้แก่ยูเครนตามเส้นเขตแดนที่ได้รับการรับรองในระดับสากล ซึ่งรัสเซียได้ละเมิดไปในสงคราม ความพยายามใดๆ ที่จะละเมิดหลักอธิปไตยดังกล่าว หรือความพยายามที่จะให้มีการต่อรองแลกเขตแดนเพื่อให้สงครามจบลงถือเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้สำหรับยูเครนและประชาชนชาวยูเครน”

“สุดท้ายนี้ ตลอด 14 เดือนของการรุกรานทำให้พวกเราชาวยูเครนแข็งแกร่งมากขึ้น เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น พวกเรามุ่งมั่นที่จะเอาชนะการรุกรานให้ได้ และผมขอเรียกร้องให้ประชาคมโลกสนับสนุนยูเครนต่อไป ทั้งทางการเมือง ทางการทหาร และทางมนุษยธรรม”


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่างคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย (Delegation of the European Union to Thailand) และ The101.world โดยเนื้อหาที่ปรากฏเป็นการทำงานอย่างอิสระของกองบรรณาธิการ 101 และไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสหภาพยุโรป

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save