fbpx

“การเมืองไทยในโหมดเตรียมเลือกตั้ง?” กับ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี

แม้รัฐบาลประยุทธ์จะยังคงมีอายุอีกกว่าหนึ่งปี แต่โดยความคาดหวังและสภาพความเป็นจริงทางการเมืองที่คุกรุ่นแล้ว มีท่าทีว่าการเลือกตั้งอาจเกิดขึ้นเร็วกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ หลายพรรคการเมืองต่างขยับปรับยุทธศาสตร์ใหญ่ทั้งในและนอกสภาอย่างน่าสนใจ

101 ชวน นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตผู้อำนวยการพรรคเพื่อไทย, อดีตรองนายกรัฐมนตรี และผู้ประสานงานกลุ่ม CARE คิดเคลื่อนไทย วิเคราะห์การเมืองไทยและการเตรียมตัวของพรรคการเมืองสู่สนามเลือกตั้งครั้งใหม่

วิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมือง: ปรากฏการณ์สภาล่มสู่การยุบสภา?

ในช่วงที่ผ่านมามีข่าวรัฐสภาล่มอยู่บ่อยครั้งสะท้อนให้เห็นสองประเด็นสำคัญ ได้แก่ ปัญหาขัดแย้งภายในของพรรคร่วมรัฐบาลที่ไม่สามารถหาทางออกได้ ขณะเดียวกันพรรคร่วมฝ่ายค้านต้องการส่งสัญญาณถึงการปรับเปลี่ยนผู้บริหารประเทศ กระตุ้นให้คืนอำนาจสู่ประชาชน เพื่อเลือกตั้งใหม่

ทั้งนี้ กรณีการตัดสินใจยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ มีข้อสังเกตดังต่อไปนี้

1. การยุบสภา เลือกตั้งใหม่เป็นอำนาจการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี รัฐสภาล่มเป็นเพียงการส่งสัญญาณเตือนให้กับนายกรัฐมนตรี และการอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยไม่ลงมติตามมาตรา 152 ในวันที่ 17-18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาจะยังไม่มีผลทำให้นายกรัฐมนตรีพ้นออกจากตำแหน่ง เป็นเพียงการตอกย้ำถึงการบริหารประเทศที่ล้มเหลว

2. หากนายกรัฐมนตรียืนยันอยู่ต่อถึงการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ลงมติได้ในเดือนพฤษภาคมต้องติดตามว่านายกรัฐมนตรีจะตัดสินใจอย่างไร โดยมีปัจจัยที่สำคัญคือเอกภาพภายในรัฐบาล ข้อสังเกตคือรัฐธรรมนูญ 60 มีลักษณะพิเศษ กล่าวคือหากมีการยื่นขออภิปรายไม่ไว้วางใจแล้วนับจากวันที่ยื่น นายกรัฐมนตรีไม่สามารถจะยุบสภาได้ เพราะฉะนั้นนายกรัฐมนตรีต้องพิจารณาถึงผลการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่าควรจะชิงยุบสภาก่อนหรือเปล่า

3. ผลการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคม ณ ตอนนั้น เมื่อ ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบจนทนไม่ไหวอาจจะตัดสินใจสองกรณี ได้แก่ ตัดสินใจไม่โหวตไว้ใจรัฐบาล หรือขาดประชุมจนกระทั่งทำให้องค์ประชุมครบ แต่ว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านอาจจะโหวตไม่ไว้วางใจมากกว่าทางพรรคร่วมรัฐบาลที่เหลืออยู่

4. อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลประยุทธ์ตัดสินใจยืดการยุบสภาไปโดยหวังว่ากระแสนิยมจะกลับมาเพิ่มขึ้น สมมติว่ามีการยุบสภาหลังการจัดการประชุมเอเปค ปี 2565 (APEC 2022)  โอกาสที่จะกลับมาจะยิ่งยาก เนื่องจากบทเรียนในอดีตชี้ให้เห็นถึงผลทางลบของการยืดยุบสภา เปิดโอกาสให้พรรคเกิดใหม่ได้เตรียมพร้อม เช่น กรณีของรัฐบาลชวน หลีกภัยในช่วงปีพ.ศ. 2543 ที่พรรคฝ่ายค้านยกขบวนลาออกจากทั้งสภา เหลือแต่พรรคฝ่ายรัฐบาลทำงานต่อไปอีก 6 เดือน ช่วงเวลาดังกล่าวเปิดโอกาสให้พรรคไทยรักไทยที่เป็นพรรคเพิ่งเริ่มก่อตั้งเตรียมความพร้อมในการเข้าสนามเลือกตั้ง และสามารถกวาดคะแนนเสียง 248 เสียง

กลิ่นรัฐประหาร?

สำหรับการปล่อยข่าวเกี่ยวกับการรัฐประหารมีออกมาเป็นระยะตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา มองว่าการรัฐประหารในช่วงต่อไปนี้จะยากมากขึ้น ไม่เหมือนครั้งในอดีต โดยมีสามปัจจัยที่ทำให้เหตุการณ์ต่างออกไปจากอดีต ได้แก่

1. มุมมองของประชาชนต่อการรัฐประหารเปลี่ยนไป การทำรัฐประหารมีเงื่อนไขคือความสุกงอมของสถานการณ์ ประเทศไทยต้องตัดสินใจรัฐประหารเพื่อหาทางออก แต่ปัจจุบันคนส่วนใหญ่ไม่อยากให้รัฐประหารเกิดขึ้น และมองว่าจะยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์

2. ความกดดันและการไม่ยอมรับอำนาจจากนานาชาติ

3. ปัญหาเกี่ยวกับผู้ที่จะมาทำหน้าที่บริหารประเทศต่อไป เนื่องจากเห็นแนวโน้มว่ารัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหารไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ที่มีความรู้ในการร่วมบริหารประเทศ

ในช่วงที่ผ่านมา เราอาจจะตั้งข้อสังเกตว่ากลิ่นรัฐประหารโชยเพื่อเตือนไม่ให้เกิดการรุกไล่จนกระทั่งนำไปสู่ยุบสภาหรือเปล่า ฉะนั้นฟังไว้ แต่ส่วนตัวคิดว่าไม่น่าจะเป็นจริง

โหมดเตรียมเลือกตั้ง: เลือกตั้งบัตรสองใบ ใครได้เปรียบ

การแก้ไขรัฐธรรมนูญปรับรูปแบบการเลือกตั้งเป็นแบบบัตรสองใบอีกครั้ง แม้จะยังไม่มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญออกมา อย่างไรก็ตาม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสองอย่างที่ต่างจากเดิม ได้แก่

1. มีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้แทนราษฎรเป็นส.ส.เขต 400 คน ส.ส. และแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน

2. โอกาสที่จะได้ที่นั่งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจากเดิม 70,000 เสียง/ที่นั่ง เป็น 350,000 เสียง/ที่นั่ง ส่งผลให้โอกาสของพรรคเล็กที่เพิ่งเกิดใหม่อาจจะได้ที่นั่งน้อยลง

นอกจากนี้หากยังไม่มีการปรับกติกาเรื่องระบบการคัดเลือกผู้สมัครขั้นต้น (primary vote) จะยิ่งส่งผลต่อพรรคเล็ก เนื่องจากพรรคที่ใหญ่พอจะแต่งตั้งตัวแทนในระดับเขตคลอบคลุมแทบทุกเขตมีเพียงไม่เกินสี่พรรค โอกาสพรรคเล็กจะแต่งตั้งตัวแทนเพื่อทำ primary vote มีน้อยและจะส่งผลต่อเนื่องถึงปัญหาการส่งผู้สมัครในเขตพื้นที่ ยกเว้นแต่จะมีการแก้ไขกติกา ณ ตอนนี้จึงคาดการณ์ว่าพรรคเล็กจะยังไม่อยากให้รีบยุบสภา แต่ก็มีการติดป้ายพรรคไว้สำหรับเตรียมความพร้อม เผื่อมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น

เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงบัตรสองใบมีข้อได้เปรียบ-เสียเปรียบต่อพรรคการเมือง ดังต่อไปนี้

1. ข้อได้เปรียบจะเกิดขึ้นกับพรรคที่มีส.ส.ในเขตพื้นที่แข็งแกร่ง หากถามว่าพรรคเพื่อไทยจะได้เปรียบหรือไม่ จะตอบได้เต็มปากเต็มคำว่าพรรคเพื่อไทยได้เปรียบก็ใช่ที่ เพราะแต่ละพรรคต่างก็แข่งขันสร้างความนิยมต่อประชาชน สรรหาผู้สมัครที่ประชาชนไว้วางใจ และนำเสนอนโยบายที่ดีและผลงานในอดีต

2. บัตรเลือกตั้งสองใบอาจจะไม่ใช่ข้อได้เปรียบของพรรคพลังประชารัฐอีกต่อไป เนื่องจากในอดีตพรรคพลังประชารัฐมีส.ส.ในพื้นที่ที่ได้รับความนิยมจากประชาชนและคะแนนนิยมของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาน่าจะทำให้ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้น แต่ปัจจุบันมีปัญหาภายในพรรคร่วมรัฐบาล และปัญหาจากการบริหารงานประเทศทั้งปัญหาเศรษฐกิจและสาธารณสุขส่งผลทางลบต่อคะแนนจากประชาชนและความมั่นใจของผู้สมัครในพื้นที่

3.  ด้านพรรคขนาดเล็กที่ส.ส.ส่วนใหญ่มาจากส.ส.พึงมี ต้องประเมินอีกทีว่าหากส.ส.บัญชีรายชื่อต้องได้ 350,000 เสียง แล้วจะเป็นอย่างไร อย่างไรก็ดีถ้ามีการยุบสภาเกิดขึ้นจะต้องเลือกตั้งภายใน 45 วันแต่ไม่เกิน 60 วัน กติกาในรัฐธรรมนูญ 60 เอื้อให้มีการย้ายพรรคได้ง่าย เพราะฉะนั้นน่าจะเห็นการย้ายพรรคครั้งใหญ่ทั้งจากฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคร่วมฝ่ายค้าน แต่อาจจะไม่มีผลต่อพรรคขนาดใหญ่ และพรรคขนาดกลางเท่าไร ยกเว้นจะมีส.ส.ที่อยากย้ายพรรคอยู่แล้ว

วิวาทะบนโลกออนไลน์ของกองเชียร์เพื่อไทยกับก้าวไกล

การถกเถียงบนโลกออนไลน์ระหว่างแฟนคลับของพรรคร่วมฝ่ายค้านเป็นปรากฏการณ์ใหม่ เนื่องจากการเมืองในอดีตจะแสดงออกบนท้องถนนมากกว่า กรณีโพสต์เรื่องสลิ่มเฟสสองของ คุณแขก คำผกา เป็นหนึ่งตัวอย่างเนื้อหาที่ก่อให้เกิดเกิดการตอบโต้ระหว่างกลุ่มแฟนคลับพรรคการเมืองอย่างดุเดือด ความคิดเห็นที่หลากหลายเหล่านี้มองเชิงบวกว่าเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มีอุดมการณ์ใกล้เคียงกับพรรคที่ตนสนใจ และนำไปสู่การสร้างการแข่งขันของพรรคการเมืองมากกว่าจะทำให้เกิดความเสื่อมถอยของประชาธิปไตย หรือทำให้พรรคฝ่ายประชาธิปไตยอ่อนแอ

แม้พรรคการเมืองจะมีอุดมการณ์บนฝ่ายที่เรียกว่าประชาธิปไตยเหมือนกัน แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นคู่แข่งทางการเมืองที่แย่งชิงคะแนนเสียงจากกลุ่มเป้าหมายที่ใกล้เคียงกัน พรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลจะแข่งขันกันอย่างเอาจริงเอาจังมากขึ้น เพื่อให้ได้รับชัยชนะการเลือกตั้งให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นสนามการเลือกตั้งของกทม.ในระดับส.ก.ที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม, การเลือกตั้ง ส.ส. โดยเฉพาะในเขตกทม.และปริมณฑล ซึ่งมีปรากฏการณ์เกิดขึ้นแล้วตอนเลือกตั้งซ่อมหลักสี่-จตุจักร

เมื่อระดับแกนนำแข่งขันจึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้สนับสนุนของพรรคจะออกมาชื่นชมพรรคการเมืองที่ตนเองชื่นชอบและวิพากษ์วิจารณ์พรรคการเมืองที่เป็นคู่แข่ง อย่างไรก็ตามจะกลับมาจับมือทำงานร่วมกันหรือไม่ในอนาคตก็ขึ้นอยู่กับคะแนนเสียงหลังการเลือกตั้ง

พรรคเพื่อไทย: การปรับกลยุทธ์ในสนามการเมือง

การเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ในการเลือกตั้งปี 2562 เป็นสัญญาณเตือนภัยให้กับทุกๆ พรรคการเมืองในการปรับกลยุทธ์ทางการเมือง เพื่อต้อนรับการเมืองแบบใหม่ที่มีนิเวศการเมืองที่เปลี่ยนไป จากทั้งทัศนคติผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งและเทคโนโลยีการสื่อสาร สำหรับพรรคเพื่อไทยปรับตัวในการเมืองใหม่ แต่การเปลี่ยนแปลงเพิ่งเห็นได้ชัดในช่วงปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา โดยมีการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่สามประการ นั่นคือ

1. มีการเปลี่ยนหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคเป็นคนอายุน้อยลง

2. สื่อสารทางสังคมออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

3. ปรับนโยบายที่จะเข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้น ในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะนำเสนอนโยบายหลายๆ อย่างซึ่งไม่เคยเห็นมาก่อน และเป็นนโยบายที่จะตอบโจทย์ปัญหาที่ประเทศไทยเจอในปัจจุบัน เช่น นโยบายรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (UBI), การส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์, นโยบายทางการศึกษา Academic Bank เป็นต้น

ด้านจุดยืนเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์คงตอบแทนพรรคเพื่อไทยไม่ได้ เนื่องจากเป็นคนนอก แต่ถ้าประเมินพรรคเพื่อไทยในอดีตเน้นชูประเด็นการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและสาธารณสุขเป็นปัญหาเร่งด่วน ประเด็นเรื่องประชาธิปไตยน่าจะยังนำเสนอต่อ และพรรคเพื่อไทยเคยมีท่าทีว่าควรจะต้องมีการพูดคุยถึงปัญหาการบังคับใช้มาตรา 112 ที่ไม่เหมาะสม แต่ยังไม่แสดงท่าทีที่ไปไกลกว่านั้น

พรรคเพื่อไทย: ข้อสังเกตต่อโอกาสการจับมือกับธรรมนัส

1. ประเด็นร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นปรากฏการณ์ความขัดแย้งในพรรคพลังประชารัฐที่ไม่ลงรอยกันในเรื่องการจัดสรรโควตารัฐมนตรีระหว่างผู้นำรัฐบาลกับตัวพรรคการเมืองสนับสนุน ตามประเพณีปฏิบัติการเมืองในช่วงที่ผ่านมา เลขาธิการพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำรัฐบาลจะมีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่มีความสำคัญ แต่โควตาดังกล่าวเป็นโควตาของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเหมือนย้อนกลับไปในสมัยการเมืองยุคทศวรรษ 2520

2. เมื่อร.อ.ธรรมนัสแยกทางกันกับพรรคพลังประชารัฐ และมีการออกมาตั้งพรรคใหม่ก็อยู่ที่อำนาจต่อรองว่ามีความพร้อมของพรรคในการเดินเข้าสู่สนามการเลือกตั้งมากแค่ไหน

3. โดยปกติเกมการเมืองจะยังไม่มีพรรคการเมืองใดประกาศจับมือกับพรรคใดก่อนการเลือกตั้ง เพียงแต่ประกาศว่าจะเอาชนะการเลือกตั้งให้ได้มากที่สุด หรืออาจจะแสดงจุดยืนว่าจะจับมือกับพรรคที่ยึดมั่นในประชาธิปไตย สำหรับการจับมือระหว่างพรรคเพื่อไทยกับร.อ.ธรรมนัส ในเบื้องต้นจะยังไม่มีคำตอบและแสดงท่าทีอีกครั้งหลังการเลือกตั้ง

4. อ่านเกมของพรรคเพื่อไทย หากเอาชนะการเลือกตั้งได้เสียงในสภาเกิน 250 เสียงจะเป็นจุดที่พรรคใช้ตัดสินใจจับมือกับพรรคอื่นๆ โดยมองว่าพรรคเพื่อไทยจะเลือกจับมือกับพรรคขนาดกลางหรือพรรคขนาดเล็ก เพื่อที่จะส่งผลดีต่อการจัดสรรโควตาคณะรัฐมนตรี อย่างไรก็ตามหากพรรคเพื่อไทยชนะ 280 ที่นั่งอาจจะตัดสินใจไม่จับมือกับใคร เพื่อเป็นรัฐบาลพรรคเดียว

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save