fbpx

ก๋วยเตี๋ยวใส่ถั่วงอก ดนตรีแจ๊ส ทางหลวง และมูเตลูในปฐมรัฐธรรมนูญ: อ่านการเมืองวัฒนธรรมสมัยคณะราษฎรกับ นริศ จรัสจรรยาวงศ์

‘การอภิวัฒน์ 2475’ ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองภายในระบบเท่านั้น แต่ปฏิบัติในระดับที่ ‘พลิกแผ่นดินสยาม’ เช่นนี้ ย่อมสะเทือนใหญ่ถึงการเมืองวัฒนธรรม

ความคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองของคณะราษฎรจึงแฝงฝังอยู่ในเนื้อตัวและวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมไทยอยู่ไม่น้อย และย่อมวิวัฒน์เปลี่ยนแปลงเป็นมรดกตกทอดมาสู่ปัจจุบัน

ในวาระครบรอบ 90 ปี ‘การอภิวัฒน์ 2475’ 101 ชวน นริศ จรัสจรรยาวงศ์ นักเขียนผู้สนใจประวัติศาสตร์การเมืองสมัย 2475 มาสำรวจวัฒนธรรมทางการเมืองไทยสมัยคณะราษฎรเพื่อสะท้อนภาพการเมืองปัจจุบันและมองภาพทิศทางการเมืองการปกครองไทยต่อไปในอนาคต

เรียบเรียงจากรายการ 101 One-on-One Ep.268: การเมืองวัฒนธรรมไทยสมัยคณะราษฎร กับ นริศ จรัสจรรยาวงศ์ 

‘27 มิถุนายน 2475’ วันแห่งปฐมรัฐธรรมนูญที่ถูกลืมเลือน

ช่วง 15 ปีแรกของคณะราษฎรนับเป็นช่วงสร้างรากแก้วประชาธิปไตยของไทย นริศ จรัสจรรยาวงศ์ เกริ่นนำว่าระยะเวลาการครองอำนาจของคณะราษฎร อาจนับช่วงที่ปรีดี พนมยงค์ หัวหอกสำคัญของคณะราษฎรยังมีอำนาจในทางการเมือง คือช่วงประมาณ 15 ปีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง (2475-2590) และอาจนับไปจนถึงช่วง 10 ปีหลังที่ ควง อภัยวงศ์ และ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไทยในช่วงปี  2490-2500 จึงกล่าวได้ว่าช่วงดังกล่าวเป็นช่วงเวลาสำคัญที่สมาชิกคณะราษฎรเรืองอำนาจที่สุด

เมื่อพูดถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คนมักจะจดจำวันที่ 24 มิถุนายนที่เป็นวันปฏิวัติ และวันที่ 10 ธันวาคมที่เป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรก แต่ยังมีอีกหนึ่งวันสำคัญคือวันที่ 27 มิถุนายน ซึ่งนับเป็น ‘วันปฐมรัฐธรรมนูญ’ เพราะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรก (ฉบับชั่วคราว) หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียงสามวัน

นริศเล่าเกร็ดเรื่องปฐมรัฐธรรมนูญว่าเคยมีคนสงสัยว่าปรีดีร่างรัฐธรรมนูญเมื่อช่วงวันที่ 24-26 มิถุนายน 2475 เลยหรือไม่ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในหนังสืองานศพของ ชุบ ศาลยาชีวิน ลูกศิษย์ของปรีดี พนมยงค์ มีการระบุว่าชุบเป็นมือพิมพ์ดีดรัฐธรรมนูญให้ปรีดี ซึ่งมีการร่างไว้ล่วงหน้า สะท้อนว่าคณะราษฎรเตรียมการเรื่องรัฐธรรมนูญไว้ก่อนแล้ว และว่ากันว่าชุบต้องพิมพ์รัฐธรรมนูญฉบับแรกบนเรือจ้าง บ้างก็ว่าต้องทำเช่นนั้นเพื่อเตรียมการล่มเรือได้ทันทีหากต้องทำลายหลักฐาน

“รัฐธรรมนูญปกครองแผ่นดินฉบับชั่วคราวจึงเกิดขึ้นในวันที่ 27 มิถุนายน เมื่อ 90 ปีที่แล้ว มีทั้งหมด 39 มาตรา ซึ่งมีคำขึ้นต้นที่สำคัญมากๆ และยังใช้มาจนถึงปัจจุบันคือ ‘อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย’ เป็นรากฐานของรัฐธรรมนูญทุกฉบับถัดมาของประเทศไทย” นริศกล่าว

เหตุผลที่คนไทยส่วนใหญ่จำวันปฐมรัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายนที่เป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราว สับสนกับวันที่ 10 ธันวาคม เป็นเพราะหลังจากปรีดีเสนอร่างรัฐธรรมนูญปกครองแผ่นดินฉบับแรก ต่อมาก็มีการต่อรองเรื่องรายละเอียดเพิ่มเติมในจุดที่ฝั่งอนุรักษนิยมคิดว่ายังไม่เหมาะสม ทำให้สุดท้ายได้รัฐธรรมนูญมาในเดือนธันวาคม

นริศอธิบายเพิ่มว่าการนับเดือนในสมัยคณะราษฎรแตกต่างกับในยุคปัจจุบันโดยสิ้นเชิง เนื่องจากในสมัยนั้นยังนับเดือนเมษายนเป็นเดือนหนึ่ง ดังนั้นเวลาอ่านเอกสารเก่าๆ ในสมัยคณะราษฎรอาจทำให้สับสนช่วงเวลาที่เกิดขึ้นได้ การเข้าใจบริบททางประวัติศาสตร์ในห้วงเวลาที่แตกต่างกันจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากในการศึกษาประวัติศาสตร์การอภิวัฒน์สยามในยุคคณะราษฎร

“จะบอกว่าเราได้รัฐธรรมนูญมาในปลายปีก็ไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะในสมัยนั้นเรานับวันที่ 1 เมษายนเป็นวันปีใหม่ ดังนั้นจึงนับเดือนมีนาคมเป็นเดือน 12 เดือนธันวาคมเป็นเดือน 9 และเดือนมิถุนายนเป็นเดือน 3”

“เวลาบอกว่าได้รัฐธรรมนูญมาเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม และจากนั้นปรีดีก็มาเขียนเค้าโครงการเศรษฐกิจและนำเสนอแก่สภาเดือนมีนาคม 2475 ถ้าเราไม่เข้าใจบริบททางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกันในอดีตกับปัจจุบัน ก็จะสับสนว่าคณะราษฎรปฏิวัติเมื่อเดือนมิถุนายน 2475 แต่ทำไมเขียนเค้าโครงการเศรษฐกิจเดือนมีนาคม 2475 เราต้องเข้าใจว่าในตอนนั้นมิถุนายนคือเดือน 3 และมีนาคมคือเดือน 12 อย่างนี้เป็นต้น”

คณะราษฎรกับความเชื่อสายมูเตลู

นริศกล่าวว่าจริงๆ แล้วรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแรกที่ใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ก่อนปรับปรุงเป็นฉบับ 10 ธันวาคมนั้นมีความเป็นประชาธิปไตยสูงมาก นอกจากนี้นริศยังเสริมเกร็ดทางประวัติศาสตร์ว่าสังคมไทยในสมัยคณะราษฎรมีการใช้ ‘มูเตลู’ เกี่ยวกับโหราศาสตร์การเมือง นริศเล่าว่าวันปฐมรัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายนนั้นคณะราษฎรไม่มีการดูฤกษ์ เป็นเพียงฤกษ์สะดวกเท่านั้น สาเหตุจากความเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการเรื่องต่างๆ แต่เมื่อทุกฝ่ายตกลงเนื้อหาในรัฐธรรมนูญอย่างลงตัวแล้ว วันที่ 10 ธันวาคมจึงมีการดูฤกษ์งามยามดีอย่างจริงจังจากโหรหลวง และมีการกำหนดพิธีการที่ชัดเจน

“มีคนตั้งข้อสังเกตว่าทำไมการเมืองไทยถึงลุ่มๆ ดอนๆ มีการฉีกรัฐธรรมนูญและเขียนใหม่อยู่บ่อยครั้ง ตรงนี้หลายคนก็มองมุมต่างกัน เช่น โหรแฉล้มหรือโหรประจำคณะกบฏบวรเดชเคยอุปมาไว้ว่าถ้าจะดูฤกษ์รัฐธรรมนูญของไทยต้องดูวันที่ 27 มิถุนายน เพราะวันนั้นเหมือนผู้หญิงกับผู้ชายมีอะไรกันแล้ว จึงต้องนำวันนี้มาคำนวณฤกษ์ ส่วนวันที่ 10 ธันวาคมเหมือนเป็นแค่วันสมรส”

นอกจากนี้ มีบางคนสงสัยว่ารัฐธรรมนูญปกครองแผ่นดินฉบับที่ 27 มิถุนายน 2475 ใช่รัฐธรรมนูญฉบับแรกของสยามประเทศจริงไหม นริศกล่าวว่าจากการศึกษาค้นคว้า พบว่า 20 ปีก่อนมีปฐมรัฐธรรมนูญ เมื่อตอนปรีดีอายุ 11 ขวบ ในช่วงต้นรัชกาลที่ 6 ก็มีความพยายามจะปฏิวัติโดยคณะ ร.ศ.130 ทว่าประชุมเรื่องการปฏิวัติได้ไม่ทันไรแผนก็แตกเสียก่อน คำถามต่อมาที่นริศตั้งข้อสังเกตคือ คณะ ร.ศ.130 มีการตระเตรียมเรื่องรัฐธรรมนูญแบบคณะราษฎรในการปฏิวัติ 2475 หรือไม่

คำตอบของคำถามนี้ได้มาจากหนังสืองานศพของชิต บุรทัต เจ้าของผลงานสามัคคีเภทคำฉันท์ กล่าวคือ ชิตระบุว่าขณะตนอายุ 19 ปี บรรพชาเป็นสามเณรอยู่ เพื่อนๆ ของเขาได้นำรัฐธรรมนูญฉบับภาษาต่างประเทศมาให้เขาช่วยแปล สถานที่ในการแปลคือวัดบวรนิเวศวิหาร ชิตยังอ้างถึงผู้ก่อการอีกสองคนในคณะ ร.ศ. 130 ซึ่งเป็นเพื่อนของเขาว่าได้มาร่วมกันแปลรัฐธรรมนูญที่กุฏิของเณรชิต แต่ในหนังสือ ชิตไม่ได้ระบุว่าต้นฉบับเป็นรัฐธรรมนูญภาษาอะไร แต่ที่แน่นอนคือมีหลักฐานชัดเจนว่าการพยายามเปลี่ยนแปลงการปกครอง ร.ศ.130 ครั้งนั้นมีความพยายามตระเตรียมรัฐธรรมนูญ

แม้ว่าผู้ก่อการคณะ ร.ศ.130 หลายคนจะถูกจับกุมตัว แต่สุดท้ายชิต บุรทัตที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็รอดมาได้ นริศมองว่าอาจเป็นเพราะในตอนนั้นชิตเป็นคนโปรดของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า และต่อมาก็โด่งดังจากการเขียนสามัคคีเภทคำฉันท์ ซึ่งเป็นหนังสือที่มีชื่อเสียงและผลิตซ้ำมากที่สุดในการให้เด็กเรียนเกี่ยวกับวรรณคดี ทั้งยังได้รับการบรรจุเข้าไปในหลักสูตรของกระทรวงธรรมการหรือกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน

“ยาขอบเคยพูดว่าคนอย่างชิต บุรทัต 100 ปีถึงจะมีสักคน เขาเป็นสมาชิกของคณะสุภาพบุรุษที่ก่อตั้งโดยกุหลาบ สายประดิษฐ์ และเป็นบุคคลที่มีชีวิตยืนยาวถึงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองอีกสิบปี แม้แต่ในงานศพเขา จอมพล ป. พิบูลสงครามก็มาช่วยสนับสนุนเงินสำหรับจัดงานศพ เนื่องจากช่วงนั้นเกิดสงครามอยู่ด้วย”

‘15+10 ปี’ ยุครุ่งเรืองของคณะราษฎรที่ไม่ถูกบันทึกไว้ในการศึกษาไทย

ย้อนกลับมาที่เรื่องปฐมรัฐธรรมนูญ นริศกล่าวว่าบางคนก็มองว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นผลงานของปรีดี พนมยงค์ ซึ่งในความเป็นจริง ปรีดีมีส่วนในรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น 3 ฉบับ ได้แก่ ฉบับ 27 มิถุนายน ฉบับ 10 ธันวาคม และรัฐธรรมนูญที่ได้รับการกล่าวขานว่ามีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดคือฉบับ 9 พฤษภาคม 2489 นอกจากนี้ นริศเผยว่าในช่วง 15 ปีหลังการอภิวัฒน์สยาม คณะราษฎรบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ในหลายประการ ทั้งการแก้สนธิสัญญาของต่างประเทศที่ไม่เป็นธรรมได้สำเร็จ ทำให้แผ่นดินมีเอกราชอย่างแท้จริง ซึ่งตรงตาม 1 ในหลัก 6 ประการของคณะราษฎร

“จะบอกว่าคณะราษฎรถึงจุดสูงสุดในตอนนั้นก็ได้ คือตอนที่มีรัฐธรรมนูญฉบับ 9 พฤษภาคม” นริศกล่าว

“เล่าเป็นเกร็ดเพิ่มเติมว่างานฉลองวันชาติครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2482 ในงานนั้นเป็นงานเดียวกับที่มีการฉลองการแก้สนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และในวันนั้นรัฐบาลของหลวงพิบูลสงครามก็ประกาศรัฐนิยมฉบับแรก เปลี่ยนชื่อจากสยามเป็นประเทศไทย ทำให้ต่อมามีการประกวดแต่งเพลงชาติ จนมีเนื้อเพลงชาติที่ใช้ในปัจจุบัน และบังเอิญว่ามาประกาศใช้เพลงชาติใหม่ในวันที่ 10 ธันวาคมอีก”

นริศชวนมองการเมืองวัฒนธรรมไทยสมัยคณะราษฎรในเชิงนิรุกติศาสตร์ โดยเผยว่าหลังจากมีรัฐธรรมนูญฉบับแรก คำว่า ‘พลิกแผ่นดิน’ จริงๆ แล้วเป็นคำที่รัชกาลที่ 7 เป็นผู้ริเริ่ม ตอนที่พระองค์มีพระบรมราชวินิจฉัยเรื่องเกี่ยวกับการปฏิรูปการปกครองของในหลวงรัชกาลที่ 5 โดยแปลมาจากคำว่า ‘revolution’ เนื่องจากในยุคนั้นคำว่า ‘ปฏิวัติ’ ยังไม่เกิดขึ้น นริศเล่าต่อว่าปรีดีไม่ค่อยชอบใช้คำว่า ‘ปฏิวัติ’ แต่มักจะใช้คำว่า ‘การเปลี่ยนแปลงการปกครอง’ มาโดยตลอด และท้ายที่สุดก็บัญญัติคำขึ้นมาเองเป็นคำว่า ‘อภิวัฒน์’ ทว่าคำนี้ก็ไม่ค่อยเป็นที่แพร่หลายเท่าไรนัก

นอกจากนี้ นริศมองว่าปรีดีมีความเป็นนักนิรุกติศาสตร์สูงและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ไม่น้อย เช่น ปรีดีมักจะเลือกใช้คำว่า ‘ราษฎร’ มากกว่า ‘ประชาชน’ ทั้งยังมีส่วนในการนิยามคำจากภาษาต่างประเทศเยอะมาก หรือแม้แต่ในช่วงที่ประเทศไทยเปลี่ยนชื่อจาก ‘สยาม’ เป็น ‘ไทย’ ก็มีข่าวว่าปรีดีไม่ค่อยเห็นด้วย จนถึงขั้นช่วงรัฐบาลของทวี บุณยเกตุ ก็มีการแปลงกลับไปเป็นประเทศสยามในช่วงสั้นๆ หลังจากจอมพล ป. พิบูลสงครามสิ้นอำนาจ

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง การเมืองไทยยังคงมีความผันผวนปรวนแปรไม่น้อย เมื่อลงตัวได้รัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 10 ธันวาคม ก็ปรากฏว่าเกิดกรณีเค้าโครงการเศรษฐกิจหรือสมุดปกเหลืองอันเป็นเหตุให้ปรีดีโดนเนรเทศไปฝรั่งเศส จนสุดท้ายคณะราษฎรต้องทำรัฐประหารซ้ำเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2476 เหตุการณ์นั้นเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ฐานอำนาจในคณะราษฎรเปลี่ยนไป กล่าวคือ หลวงพิบูลสงครามกับพระยาพหลพลพยุหเสนาขึ้นมามีอำนาจและมีบทบาทมากขึ้น และเกิดการแตกแยกในคณะราษฎรกับพระยาทรงสุรเดช

นริศชี้ว่าจุดที่พีกที่สุดคือหลังเกิดกบฏบวชเดชในตุลาคม 2476 แล้วหลังจากนั้นประเทศไทยจึงมีการเลือกตั้งครั้งแรกในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2476 และทุกอย่างจึงค่อยเริ่มเข้าที่เข้าทาง การเมืองมีเสถียรภาพและแข็งแกร่งมากขึ้นจนมีอำนาจต่อรองกับนานาชาติได้ แต่ในระหว่าง 15 ปีนั้นก็เกิดเกมการเมืองระหว่างสมาชิกคณะราษฎรด้วยกันเองอยู่ตลอด

“จริงๆ คณะราษฎรช่วง 10 ปีแรกค่อนข้างมั่นคงและมีเสถียรภาพพอสมควร ช่วงที่รัชกาลที่ 7 สละราชสมบัติไป ปรีดีก็เดินทางไปเจรจารอบโลกเพื่อแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม เราจะเห็นได้เลยว่าศักยภาพของประเทศตอนนั้นมีความมั่นคงมาก ประเทศไทยแข็งแกร่งขึ้นจนกล้าที่จะกึ่งๆ ประกาศสงครามกับฝรั่งเศสและเข้าสู่สงครามอินโดจีนไปจนถึงสงครามมหาเอเชียบูรพา เป็นช่วงเวลาของการมีอำนาจของคณะราษฎรในแง่ของการปกครอง”

“ช่วง 15+10 ปี มีสมาชิกของคณะราษฎร ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึงหกคนและครบทั้งสามสาย ได้แก่สายทหารบกสองคนคือจอมพล ป. พิบูลสงครามและพระยาพหลพลพยุหเสนา สายพลเรือนสามคนคือควง อภัยวงศ์ ทวี บุณยเกตุ และปรีดี พนมยงค์ สายทหารเรือหนึ่งเดียวคือถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ก็ยังเป็นทหารเรือคนเดียวที่ได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในประเทศไทย”

อย่างไรก็ดี แม้สมาชิกคณะราษฎรจะมีบทบาทและมีอำนาจทางการเมืองมาก ทั้งยังมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยหลายอย่าง แต่นริศกล่าวว่าเมื่อมองไปที่การศึกษาปัจจุบันของไทย เรื่องราวของคณะราษฎรกลับหายไปจนหมด ทั้งที่คณะราษฎรครองอำนาจเป็นระยะเวลายาวนาน มีบทบาททางการเมืองมากมาย ยังไม่นับเรื่องราวของคนเล็กคนน้อยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่เลือนหายไปในหน้าประวัติศาสตร์กระแสหลักของไทยและไม่ถูกรวมอยู่ในหลักสูตรการศึกษา

รูป-รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัส การเปลี่ยนแปลงของคณะราษฎรที่สั่นสะเทือนทุกองคาพยพ

ปี 2565 นอกจะครบรอบ 90 ปีการเปลี่ยนแปลงในทางโลกแล้ว นริศเผยว่าในทางธรรมก็ครบรอบ 90 ปีการก่อตั้งสวนโมกข์ที่เกิดก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียงเดือนเศษ ซึ่ง ณ ตอนนั้นท่านพุทธทาสอายุเพียง 26 ปี สิ่งที่สำคัญคือหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ท่านพุทธทาสเป็นพระมหาหนุ่มที่สนับสนุนคณะราษฎร มีการเทศน์เรื่อง ‘รัฐธรรมนูญของเรา’ จนท้ายที่สุดก่อนครบรอบ 10 ปีการอภิวัฒน์สยาม ปรากฏว่าปรีดีนิมนต์ท่านขึ้นมาที่พระนครเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับโมเดลพุทธศาสนาในไทย นริศมองว่าเหตุการณ์นี้สะท้อนว่าท่านพุทธทาสเป็นพระสงฆ์หัวก้าวหน้าและได้รับการยกย่องจากคณะราษฎรอย่างมาก เราจะเห็นชัดเจนถึงทัศนคติของความก้าวหน้าที่รัฐมีต่อพุทธศาสนา

ในทางโลกียวิสัยหรือทางโลก สาธารณูปโภคสำคัญก็เกิดขึ้นหลังช่วง 2475 เช่น การคมนาคมทางบกหรือ ‘ทางหลวงแผ่นดิน’ 4 เส้น ได้แก่ พหลโยธิน มิตรภาพ สุขุมวิท และเพชรเกษม

นริศกล่าวว่าในทัศนคติของจอมพล ป. พิบูลสงครามขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คือต้องการทำถนนให้มีเครือข่ายไปตามชุมชนต่างๆ ให้มากที่สุด แต่คุณภาพอาจจะออกมาไม่ดีนัก กลายเป็นถนนทางลูกรัง เนื่องจากงบประมาณที่จำกัด พร้อมอธิบายเกร็ดความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่ซ่อนอยู่ในทางหลวงแผ่นดินทั้งสี่สาย

“สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้ความสำคัญกับการคมนาคมทางรถไฟและทางน้ำ แต่ตอนช่วงกบฏบวรเดช รัฐบาลพบว่าเส้นทางต่างๆ ทำให้มีปัญหาในการปราบกบฏ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมทางหลวงจึงเกิดขึ้นในยุคของคณะราษฎร”

เส้นสุขุมวิท แต่ก่อนเรียกว่าเส้นกรุงเทพ-ปากน้ำ แต่ต่อมาตั้งชื่อจากชื่อพระพิศาลสุขุมวิท ท่านเป็นคนแรกที่จบ MIT จากสหรัฐอเมริกา และตอนหลังก็เข้าร่วมเสรีไทยด้วย แม้แต่ตอนที่จอมพล ป. พิบูลสงครามลี้ภัยก็ขับเลียบเลาะถนนสุขุมวิทไปที่เขมร

เส้นพหลโยธิน เดิมใช้ชื่อว่าถนนประชาธิปัตย์ วันที่ถนนเปิดใช้วันแรกตรงกับวันเปิดสะพานวันชาติและวันเปิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งตรงกับวันชาติครั้งที่ 2 พอดี และต่อมาเมื่อพรรคประชาธิปัตย์ก่อตั้งขึ้น จอมพล ป. พิบูลสงครามจึงเปลี่ยนชื่อเป็นถนนพหลโยธิน

เส้นเพชรเกษม ตอนแรกใช้ชื่อถนนพิบูลสงคราม ทว่าจอมพล ป. พิบูลสงครามได้ให้ชื่อกับหลวงเพชรเกษมวิถีสวัสดิ์เนื่องจากเป็นผู้ดูแลโครงการนี้

เส้นมิตรภาพ มีที่มาจากมิตรภาพไทย-สหรัฐอเมริกา เนื่องจากอเมริกาให้งบสนับสนุนแก่ประเทศไทย ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นนี้เห็นได้จากภาพจอมพล ป. จับมือกับทูตสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2500

สมัยคณะราษฎรยังเกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของ ‘เสียง’ คือเกิดดนตรีสมัยใหม่ที่เรียกว่า ‘แจ๊ส’ นำเข้ามาโดยหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ที่ไปเรียนที่สหรัฐอเมริกา นริศกล่าวว่าบุคคลที่เคยไปเรียนที่สหรัฐอเมริกามีผลอย่างมากต่อการพัฒนาดนตรีแจ๊ส แม้ว่าช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองจะพอมีการฟอร์มวงดนตรีแจ๊สบ้างแล้ว แต่ถึงอย่างไรดนตรีแจ๊สก็ได้รับความนิยมสูงสุดช่วงหลัง 2475 ส่วนหนึ่งด้วยปัจจัยทางการเมืองที่คณะราษฎรพยายามทำให้ประเทศไทยทัดเทียมกับอารยประเทศด้วยการรับวิทยาการต่างๆ จากตะวันตกเข้ามา จะเห็นได้ชัดว่าจอมพล ป. ให้ความสำคัญกับความเป็นอารยะอย่างมาก นริศยังเผยว่าสุดท้ายดนตรีแจ๊สเองก็ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองผ่านกรมโฆษณาการอีกด้วย

“พูดตามตรง ตอนดนตรีแจ๊สเริ่มมีการพัฒนา ฝ่ายที่อยู่สายดนตรีคลาสสิกอย่างสายที่นิยมบีโธเฟ่นหรือออเคสตร้าจะมองว่าแจ๊สเป็นสิ่งที่ค่อนข้างนอกรีต เพราะเป็นดนตรีสมัยใหม่ เป็น American music แต่จริงๆ งานรัฐธรรมนูญก็มีการเล่นแจ๊ส และได้รับความนิยมจากคนที่ผันตัวจากดนตรีคลาสสิกมาเล่นแจ๊ส แม้แต่วงดนตรีของกรมโฆษณาการของครูเอื้อ สุนทรสนานก็เล่นแจ๊ส ใช้ชื่อวงว่าสุนทราภรณ์”

“ด้วยความที่สมัยสงครามไม่มีอะไรมาจรรโลงใจผู้คน มีแค่วรรณกรรมกับดนตรี ดูภาพยนตร์ของอเมริกาก็ไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของการเมืองสัมพันธมิตร แต่แน่นอนว่าดนตรีแจ๊สเฟื่องฟูมากๆ ผ่านกรมโฆษณาการหลัง 2475 รวมถึงเงื่อนไขของบริบทโลกที่ดนตรีแจ๊สกำลังมาแรง สมัยนั้นก็ยังไม่มีเพลงลูกทุ่งหรือลูกกรุงด้วย และจริงๆ เพลงลูกทุ่งหลายเพลงก็ใช้โน้ตเพลงแบบต่างประเทศ”

นอกจากนี้ยังมีความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสารอาหารและรสชาติ นริสเล่าว่า ตั้ว ลพานุกรม สมาชิกคนสำคัญของคณะราษฎร และเป็น 1 ใน 3 ของสมาชิกคณะราษฎรที่จบการศึกษาระดับด็อกเตอร์ เป็นผู้ผลักดันเรื่องโภชนาการ อยากให้คนไทยเสริมโปรตีนมากขึ้น สนับสนุนให้กินข้าวน้อยๆ กินกับเยอะๆ เนื่องจากในบางบันทึกของตั้วระบุว่าเมื่อไปต่างจังหวัดพบว่าคนไทยผอมแห้งแรงน้อย สารอาหารไม่เพียงพอ เรื่องสำคัญที่ตั้วผลักดันเป็นพิเศษจึงเป็นการสนับสนุนให้คนไทยบริโภคถั่วเหลือง เนื่องจากมีโปรตีนสูง

มากไปกว่านั้น ยังมีเรื่องก๋วยเตี๋ยวที่คณะราษฎรเข้ามามีบทบาทให้คนไทยบริโภค ‘ก๋วยเตี๋ยวใส่ถั่วงอก’ จนกลายเป็นวาระแห่งชาติ นริศมองว่าการผลักดันก๋วยเตี๋ยวของคณะราษฎรสัมพันธ์กับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2485 เนื่องจากอุทกภัยกระทบนาข้าวจนทำให้ลำบากในการหาข้าวมาทำอาหาร รัฐบาลจึงผลักดันให้ราษฎรบริโภคก๋วยเตี๋ยวซึ่งทำจากแป้ง และที่สำคัญคือต้องเป็นก๋วยเตี๋ยวใส่ถั่วงอกตามนโยบายของตั้ว ลพานุกรม ที่อยากให้คนไทยเสริมโปรตีนจากถั่วเหลืองและสนับสนุนให้ทานอาหารครบห้าหมู่

“ส่วนตัวผมไปประเทศจีนบ่อยมาก จริงๆ ก๋วยเตี๋ยวเป็นอัตลักษณ์ของจีนแต้จิ๋ว และสังคมไทยก็มีคนจีนแต้จิ๋วโพ้นทะเลเยอะมาก จะเห็นได้ชัดเจนเลยว่าคนไทยชอบลวกก๋วยเตี๋ยวใส่ถั่วงอก ซึ่งก๋วยเตี๋ยวใส่ถั่วงอกพบไม่ได้ที่จีนหรือฮ่องกง มีแค่ที่ไทย และยังเป็นครั้งแรกที่มีสูตรก๋วยเตี๋ยว 8 สูตรที่ออกโดยรัฐบาลในช่วงปี 2485 เป็นก๋วยเตี๋ยวลวก 5 สูตร ผัด 3 สูตรและต้องใส่ถั่วงอกไปด้วย เพราะคณะราษฎรอยากให้ใส่ถั่วเยอะๆ เพื่อเสริมโปรตีน”

“ถั่วงอกนี่ชัดเจนมากว่าเป็นนโยบายของรัฐ เพราะมีหลักฐานว่าจอมพล ป. ก็ต้องทำตามนโยบายตัวเอง บางวันก็ขอให้ทำอาหารเป็นเมนูถั่วทั้งหมด และที่สำคัญคือมีแค่ที่ไทยที่ใส่ถั่วงอกในก๋วยเตี๋ยวลวก ผมมองว่าเป็นอัตลักษณ์ที่สำคัญ อีกประเด็นคือมันเป็นสูตรอาหารที่ผ่านนโยบายของรัฐ รัฐเข้ามาจัดการ ทุกหย่อมหญ้า ทุกภาคจะมีก๋วยเตี๋ยวสูตรเดียวกัน จึงมีความเป็นก๋วยเตี๋ยวไทย และจอมพล ป. ก็สนับสนุนให้คนไทยขายก๋วยเตี๋ยว ถึงขั้นผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ”

“เรื่องโปรตีนที่ ดร.ตั้วให้ความสำคัญ ทำให้ผมสังเกตว่าประเทศไทยมีน้ำเต้าหู้ทุกตลาดเลยนะ ไปใต้สุดเหนือสุดก็มีน้ำเต้าหู้ และตอนนั้นคำว่า ‘ซีอิ๊ว’ ก็เรียกว่า ‘น้ำปลาถั่วเหลือง’ นโยบายนั้นทำให้คนไทยกินถั่วกันเยอะ อาจจะมองว่าเป็นวัฒนธรรมการกินหลัง 2475 ก็ได้”

นริศเสริมเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเรื่องความเชื่อให้ทุกคนลองไปพิสูจน์ความจริงด้วยตัวเองกับตำนานที่ว่ากันว่าตั้ว ลพานุกรมเป็น ‘คณะราษฎรที่ให้หวยแม่นที่สุด’

“ลองไปเสิร์ชในกูเกิลว่า ‘ดร.ตั้วกับหวย’ ดูได้เลย มีคนออกมารับประกันว่า ดร.ตั้วให้หวยแม่น หลังจากที่มีรูปปั้นของท่านแล้วคนก็มักจะไปขอหวยกัน”

หรือแม้แต่ในแง่ของกีฬา นริศกล่าวว่าสนามกีฬาแห่งชาติเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยของคณะราษฎร ตอนที่หลวงศุภชลาศัยเป็นอธิบดีกรมพลศึกษา จึงเป็นที่มาของชื่อสนามศุภชลาศัย และก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ตามมาว่าคณะราษฎรตั้งใจไปทุบวังเพื่อเอามาทำสนามกีฬา นี่ก็ถือเป็นการนำกีฬามาเป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัด

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีหนังสือเกี่ยวกับการเล่นกล้าม เรื่องเพศ การวางแผนครอบครัว ตำรากามสูตร การสมรส หลัง 2475 ซึ่งเป็นช่วงที่หนังสือเหล่านี้เฟื่องฟูพอสมควร รวมถึงแง่มุมต่อความรักที่เปลี่ยนไปซึ่งสะท้อนออกมาผ่านวรรณกรรม นริศระบุว่าสมัยคณะราษฎรเป็นช่วงที่วรรณกรรมมีความก้าวหน้ามาก เช่น หญิงคนชั่ว ผู้ชนะสิบทิศ แผลเก่า ไม้เมืองเดิม ข้างหลังภาพ แลไปข้างหน้า ฯลฯ หรือวรรณกรรมของนักเขียนสตรีที่มีชื่อเสียงนามว่า ‘ดอกไม้สด’ ที่หลัง 2475 ก็มีงานดีๆ สะท้อนชีวิตของผู้คนหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้อย่างมาก

นริศยังกล่าวว่าหากต้องการศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมและชีวิตของผู้คนหลัง 2475 คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องอ่านวรรณกรรมและศึกษาบรรยากาศของสังคมในยุคสมัยของคณะราษฎร เพราะท้ายที่สุดแล้วชีวิตของสามัญชนก็สะท้อนออกมาผ่านเสียงเพลง อาหาร  และวรรณกรรม มิติทางวัฒนธรรมเหล่านี้ล้วนแฝงฝังบรรยากาศและอารมณ์ของสังคมในแต่ละยุคสมัยอยู่ด้วย

“สิ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้คือบรรยากาศของสังคม ดนตรีที่เปลี่ยนไป อาหารที่เปลี่ยนไป สถาปัตยกรรมที่เปลี่ยนไป สิ่งเหล่านี้เป็นระดับมหภาคที่อย่างน้อยก็สะท้อนอารมณ์ของสังคม ไม่ใช่เรื่องของคนเพียงคนเดียว”

จากอภิวัฒน์สยาม 2475 สู่ 2565 เรามาไกลกันแค่ไหนแล้ว

ในแง่ของการปกครองแบบประชาธิปไตย นริศมองว่า 90 ปีที่ผ่านมา การเมืองไทยในตอนนี้ยังห่างไกลกับเป้าหมายของคณะราษฎรเมื่อปี 2475 พอสมควร อย่างที่เห็นเป็นรูปธรรมที่สุดคือรัฐธรรมนูญในปัจจุบันเมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญของปี 2489 หรือแม้แต่เรื่องความกล้าหาญทางจริยธรรมของสื่อหรือนักหนังสือพิมพ์ในปัจจุบัน

“จริงๆ สำหรับคณะราษฎร ส่วนตัวผมมองว่ามีคนวิจารณ์เยอะมากว่าคณะราษฎรไปไม่สุด ซ้ายก็ไม่สุด ขวาก็ไม่สุด และมีคนเกลียดเยอะ ทั้งยังมีหลายคนมองว่าคณะราษฎรมีส่วนในการสร้างคนแบบสฤษดิ์ ถนอม และประภาส”

“ผมมองว่า 90 ที่ผ่านมา คณะราษฎรในช่วง 15+10 ปีเป็นบทเรียนประชาธิปไตยที่ดี มันเห็นชัดว่าจริงๆ มีหลักการที่ตั้งใจไว้ แต่สุดท้ายแปรเปลี่ยนไปอีกแบบ ผมมองว่ามันเป็นห้องเรียนประชาธิปไตยที่ดีที่สุด เป็นวัตถุดิบชั้นเลิศ ในตอนนั้นก็มีความพยายามที่จะไปถึงอุดมคติของความเป็นประชาธิปไตยมากเลยทีเดียว ถึงแม้จะเกิดความขัดแย้งภายในกันเนื่องจากทิฐิ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วง 15 ปีแรกที่สมาชิกคณะราษฎรทำงานร่วมกันก็มีประสิทธิภาพอย่างมาก”

นริศเสริมถึงจุดเด่นในสมัยคณะราษฎรว่าเป็นห้วงเวลาที่ประเทศไทยมีความก้าวหน้ามาก มีการเปลี่ยนแปลงในทุกองคาพยพ อย่างในช่วงยุคปลายของจักรวรรดินิยม ศักยภาพของประเทศในขณะนั้นมีเสถียรภาพและมั่นคงมากถึงระดับที่สามารถประกาศสงครามอินโดจีนกับฝรั่งเศส และผลลัพธ์จากสงครามนี้ก็นำมาสู่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิที่สร้างขึ้นเพื่อประกาศชัยชนะของไทยในสงครามอินโดจีน และทำให้ไทยได้ดินแดนของฝรั่งเศสมาในช่วงรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และอาจจะกล่าวได้ว่าช่วง 15 ปีแรกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นเหมือนยุคทองของประเทศไทย

หากเทียบคณะราษฎรกับ ‘กลุ่มคณะราษฎร’ ที่หมายถึงม็อบเรียกร้องประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน นริศมองว่าทั้งสองกลุ่มเป็นคนละเงื่อนไข คนละบริบบททางการเมืองกันโดยสิ้นเชิงและมีวัฒนธรรมเฉพาะตัวที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของยุคสมัยที่ทำให้เครื่องมือในการสื่อสารแตกต่างกัน กรมโฆษณาการหลัง 2475 ทำได้เพียงถ่ายทอดเรื่องราวผ่านวรรณกรรม หนังสือพิมพ์ งานเพลง สถานีโทรทัศน์ วิทยุ เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นการสื่อสารที่มีข้อจำกัด

“ในสมัยนั้นมีความคิดสร้างสรรค์แน่นอนอยู่แล้ว พวกคนเก็บหนังสือเก่าก็จะรู้ว่าวรรณกรรมยุค 2475-2490 ทุกวันนี้กลายเป็นหนังสือนิยายที่ราคาแพง ปกก็สวย”

“ผมมองว่าคณะราษฎรหลัง 2475 คือได้อำนาจของรัฐมาแล้ว เขาไม่ได้เป็นกบฏแล้ว เขาปฏิวัติสำเร็จแล้ว แต่คณะราษฎรในปัจจุบันคือเรากำลังเรียกร้องอำนาจเพื่อให้มาอยู่ในมือของประชาชน เป็นการเมืองภาคประชาชน”

เมื่อมองภาพการเมืองวัฒนธรรมไทยในปัจจุบันไปจนถึงทิศทางในอนาคต นริศมองว่าปัจจัยทางการเมืองวัฒนธรรมที่จะนำไปสู่เสรีภาพและประชาธิปไตยอย่างแท้จริงได้ อันดับแรกประเทศไทยจะต้องมีรูปแบบรัฐธรรมนูญที่ดี ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองของยุคคณะราษฎรให้มาก เพราะเป็นเรื่องราวที่สะท้อนมิติทางการเมืองการปกครองไทยที่สำคัญ และที่สำคัญคือเรื่องราวของคณะราษฎรต้องบรรจุอยู่ในการศึกษากระแสหลักของไทย ให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้โดยไม่ต้องขวนขวายศึกษาเองนอกห้องเรียน และนริศหวังว่าวันที่ 24 มิถุนายนจะไม่ได้เป็นแค่ช่วงเวลาแห่งการรำลึกเพียงสั้นๆ เท่านั้น แต่เรื่องของคณะราษฎรน่าจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมกระแสหลัก เพื่อไม่ให้ประชาชนลืมเลือนการอภิวัฒน์และวันที่ 24 มิถุนายน

“ทุกวันนี้เวลาถึงวันที่ 24 มิถุนายนแต่ละทีเหมือนเป็นงานรำลึกแบบเช็งเม้ง คือจัดเสร็จก็ผ่านไป มาแล้วก็ไป ผ่านไปไม่กี่อาทิตย์เรื่องของคณะราษฎรหายไปจากหน้าฟีดโซเชียลฯ แล้ว เดี๋ยวก็กลายเป็นเรื่องอื่นเข้ามาแทน”

“อยากชวนให้กลับไปศึกษาการอภิวัฒ์ 2475 ให้เยอะ ประสบการณ์ที่ผ่านมาถือเป็นวัตถุดิบที่มีคุณค่า ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ชอบก็ค่อยเอามาถกเถียงกัน มาคุยกันได้ และมันนำไปต่อยอดได้” นริศสรุป

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save