fbpx
เรื่องลับลูกจีนสยาม กับ วาสนา วงศ์สุรวัฒน์

เรื่องลับลูกจีนสยาม กับ วาสนา วงศ์สุรวัฒน์

อันโตนีโอ โฉมชา และ ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรียบเรียง

มีคำกล่าวกันว่าประเทศไทยนั้นประสบความสำเร็จในการกลืนคนจีนได้มากที่สุดในโลก ในไม่กี่ชั่วรุ่น คนที่เกิดมาในครอบครัวเชื้อสายจีนจำนวนมากต่างมองตนเองเป็นไทย และยึดอัตลักษณ์ความเป็นไทยหรืออัตลักษณ์ของความเป็น ‘ไทยเชื้อสายจีน’

ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา กลุ่มคนเชื้อสายจีนมีส่วนเกี่ยวข้องและคอยชักนำทิศทางการเมืองไทยอย่างแน่นแฟ้น เราสามารถพบเห็นคนเชื้อสายจีนตั้งแต่กลุ่มชนชั้นนำไปจนถึงกลุ่มชนชั้นล่าง มีบทบาทในหน้าประวัติศาสตร์ไทยตลอดศตวรรษที่ผ่านมา

เมื่อถึงศตวรรษที่ 21 อัตลักษณ์ความเป็นจีนในไทยก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง จากการที่รัฐจีนผันตัวมาเป็นประเทศมหาอำนาจ ทำให้คนจีนในไทยบางส่วนหันมามองรัฐจีนเป็นต้นแบบ ในขณะที่บางส่วนกลับยึดอัตลักษณ์จีนดั้งเดิม หรือแม้แต่อัตลักษณ์ไทยเพื่อสร้างตัวตนที่แตกต่างจากรัฐจีน

ธร ปีติดล ชวนสนทนากับ วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ อาจารย์จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในรายการ 101 one-on-one เพื่อสำรวจและมองย้อนถึงเบื้องลึกเบื้องหลังของประวัติศาสตร์คนจีนในไทย และอนาคตของอัตลักษณ์ที่กำลังเปลี่ยนไปของลูกจีนสยาม

วาสนา วงศ์สุรวัฒน์

อะไรทำให้อาจารย์หันมาสนใจเรื่องคนจีนในไทย

เริ่มจากการที่สนใจอยู่แล้วว่า อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดชนชาติและสัญชาติ และเนื่องจากภูมิหลังครอบครัวที่มีแม่เป็นคนอเมริกัน ส่วนพ่อเป็นคนไทยเชื้อสายจีน จึงทำให้สนใจว่าทำอย่างไรถึงจะได้สัญชาติใดสัญชาติหนึ่ง

นอกจากนั้นคนจีนโพ้นทะเลก็เป็นกลุ่มคนที่น่าสนใจมาก เพราะในสมัยรัชกาลที่ 5-6 เขามีหลายอัตลักษณ์ บางคนมีบรรพชนมาจากเมืองจีนแต่ย้ายมาอยู่เมืองไทย บางคนรับราชการในราชสำนักสยาม บางคนก็เป็นคนในบังคับของเจ้าอาณานิคมตะวันตก ในขณะเดียวกันก็มีความสัมพันธ์กับรัฐชาติจีนไปพร้อมกันด้วย คนจีนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่กระจายอยู่ทั่วโลก ดังนั้นประเด็นเรื่องสัญชาติของคนจีนโพ้นทะเลจึงเป็นประเด็นที่สนุกมาก

ประวัติศาสตร์ของคนจีนโพ้นทะเลในไทยมีจุดเด่นตรงไหน

ประวัติศาสตร์ของจีนในประเทศไทยมีความแปลกประหลาดอย่างมาก เพราะจากเอกสารของจีนและญี่ปุ่นในช่วงก่อนสงครามโลก หรือนักวิชาการในเวลาต่อมาต่างก็มองว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่มีคนเชื้อสายจีนมากที่สุดในโลก และสยามก็มีจำนวนคนเชื้อสายจีนอยู่เยอะมากที่สุดในภูมิภาค แต่งานวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับคนจีนในประเทศไทยกลับมีน้อยมาก เรื่องราวที่มีส่วนมากจะเป็นประวัติศาสตร์ครอบครัว ประมาณว่าปู่ย่าตายายเดินทางพร้อมเสื่อผืนหมอนใบมาจากจีน ซึ่งเรื่องเหล่านี้ก็มีประโยชน์ แต่การศึกษาในเชิงวิชาการยังมีไม่มากเท่าไหร่

มีคำกล่าวกันว่า ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการกลืนคนจีนให้กลายเป็นไทยมากที่สุด แม้จะมีคนจีนเป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีปัญหาการแบ่งแยกอย่างกรณีมาเลเซียที่มีการแบ่งแยกเชื้อสาย จนคนจีนจำนวนมากแยกออกมาเป็นสิงคโปร์ หรือประเด็นการสังหารหมู่ที่อินโดนีเซียปี 1965 ที่คนจีนโดนหางเลขไปเยอะ ที่ฟิลิปปินส์ก็มีความรุนแรงเกิดขึ้นกับคนจีน แต่ไทยที่มีคนจีนอยู่มากดูเหมือนจะไม่มีปัญหา หรืออาจจะมีแต่เราไม่รู้

อีกประเด็นคือ ความต่างระหว่างคนจีนในไทยกับในประเทศอาเซียนอื่นๆ  คนจีนในประเทศอื่นจะได้รับสิทธิพิเศษจากเจ้าอาณานิคมให้เป็นคนกลาง ส่วนคนพื้นเมืองจะกลายเป็นพลเมืองชั้นสอง และเมื่อประเทศเหล่านี้ได้รับเอกราชก็จะเกิดการเอาคืน กีดกันคนจีนที่เคยเป็นลูกไล่ให้เจ้าอาณานิคม

แต่ในกรณีในกรณีของไทย คนจีนได้กลายไปเป็นชนชั้นนำของประเทศ ไม่ถูกกีดกัน จึงเป็นเรื่องน่าสนใจว่า คนจีนมีผลต่อวัฒนธรรมไทยอย่างไร ทำไมคนกลุ่มนี้ถึงกลืนไปกับชนชั้นนำได้ และไม่เกิดการแบ่งแยกชาติพันธุ์เหมือนประเทศอื่นๆ

อีกแง่มุมที่น่าสนใจคือ มันจะมีบางช่วงบางตอนในประวัติศาสตร์ที่การเป็นคนจีนเป็นเรื่องน่าอาย คนจะพยายามปกปิด แต่ช่วงศตวรรษที่ 21 เป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจ เพราะหลายคนอยากจะเป็นคนจีนกันขึ้นมา ทั้งที่ก่อนหน้านั้นไม่เคยคิดว่าตนเองเป็นจีนมาก่อน สืบเนื่องมาจากการขึ้นมามีอำนาจของรัฐจีน

มีงานวิจัยชิ้นสำคัญอันไหนบ้างที่ถูกพูดถึงบ่อยๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้

มีผลงานของ G. William Skinner ที่แทบทุกคนต้องอ้างอิงถึง กล่าวถึงคนจีนตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่จะเน้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เป็นต้นไป โดยเฉพาะสมัยรัชกาลที่ 5 ในศตวรรษที่ 19 เราจึงมีข้อมูลช่วงนี้เยอะ

ศตวรรษที่ 19 เป็นช่วงเวลาที่อังกฤษกำลังมีบทบาทในเอเชีย มีการนำกุลีทั้งจีนและอินเดียไปใช้เป็นแรงงานสร้างทางรถไฟในดินแดนต่างๆ แลกกับค่าตอบแทนที่น้อยนิด ค่าครองชีพต่างๆ ก็ต้องชดใช้คืนทีหลัง ซึ่งเป็นการจ้างแรงงานที่ไม่เป็นธรรม กุลีจำนวนมากจึงมีสภาพไม่ต่างกับทาสเท่าไหร่ หลายคนเสียชีวิตก่อนที่จะใช้หนี้ค่าเดินทางหมด

สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นช่วงที่สยามกำลังปฏิรูปประเทศให้เป็นสมัยใหม่พร้อมกับมีการเลิกทาส เราต้องการแรงงาน จึงมีการสั่งกุลีจีนเข้ามาจำนวนมาก และยังมีกลุ่มนายทุนจีนที่เป็นตัวกลางระหว่างชนชั้นนำสยามและเจ้าอาณานิคม ซึ่งมีบทบาททางการเมืองอย่างมาก

ความสัมพันธ์ของคนจีนในไทยกับคนไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

เราสามารถแบ่งช่วงประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลง ตามปฏิสัมพันธ์ที่ชนชั้นนำมีต่อคนจีนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในช่วงต้น ศูนย์กลางเศรษฐกิจของโลกยังอยู่ที่จีน มีการค้าขายแบบบรรณาการ ทั้งเจ้าอาณานิคมและรัฐต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างก็ใช้คนจีนเป็นสื่อกลางในการค้าขายนี้

สมัยรัชกาลที่ 3 มีการแต่งตั้งคนจีนเป็นข้าราชการและให้รับผิดชอบด้านการค้าขาย พอถึงสมัยรัชกาลที่ 4 มีสนธิสัญญาเบาว์ริ่งเป็นเรื่องเด่น ซึ่งเรามักคิดว่าสนธิสัญญาเบาว์ริ่งเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างสยามและอังกฤษ แต่ที่จริงเป็นความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับจีน เพราะการที่อังกฤษชนะสงครามฝิ่นและบังคับให้จีนเปิดเมืองท่า เลิกผูกขาดการค้า และให้สิทธิสภาพนอกอาณาเขต เป็นการเปลี่ยนระเบียบโลกใหม่ การค้าขายแบบบรรณาการระหว่างสยามกับจีนจึงสิ้นสุดลง และเปลี่ยนมาค้าขายกันผ่านระเบียบของอังกฤษ

คนจีนเริ่มปรับตัวจากเป็นสื่อกลางระหว่างสยามกับจีน ไปเป็นสื่อกลางระหว่างเจ้าอาณานิคมกับชนชั้นนำสยามแทน พอถึงหลังช่วงสงครามเย็นในเอเชีย หลังการเสียชีวิตของเหมาเจ๋อตุง จีนก็เริ่มเปิดประเทศ เติ้งเสี่ยวผิงเดินทางออกนอกประเทศเป็นครั้งแรก ซึ่งประเทศแรกที่เติ้งเสี่ยวผิงมาเยี่ยมคือไทย แสดงให้เห็นว่า จีนแผ่นดินใหญ่เองรู้ว่าฐานที่มั่นของคนจีนที่ใหญ่มากคือประเทศไทย และความสัมพันธ์ของไทยกับจีนก็เริ่มแน่นแฟ้นขึ้นเรื่อยๆ หลังจากนั้น

วาสนา วงศ์สุรวัฒน์

การเข้ามาของคนจีนสร้างคำถามอะไรให้กับชนชั้นนำสยาม

ในการเรียนประวัติศาสตร์กระแสหลักมักจะกล่าวกันว่า สยามเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต แต่ถ้าดูจากบริบทสมัยนั้น จะเห็นว่าสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเป็นประโยชน์กับชนชั้นนำสยามมาก และชนชั้นนำก็ไม่มีความรีบเร่งที่จะเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมเหล่านี้

เราต้องค้าขายแข่งกับจักรวรรดิอังกฤษ ฝรั่งเศส และฮอลแลนด์ที่อยู่รอบๆ ตัว ชนชั้นนำสยามจึงใช้เครือข่ายคนจีนโพ้นทะเลที่เป็นผู้มีอิทธิพลในทะเลจีนใต้จนถึงมหาสมุทรอินเดีย ในการแข่งขันทางเศรษฐกิจกับประเทศมหาอำนาจ

หากคุณเป็นคนจีนและสามารถเป็นสื่อกลางให้ชนชั้นนำสยามกับประเทศอาณานิคมได้ คุณจะได้สิทธิพิเศษทั้งจากเจ้าอาณานิคมและสยามไปพร้อมๆ กัน คนจีนที่ทำงานเป็นสื่อกลางมักใช้ประโยชน์จากจุดนี้ เช่น การใช้กฎหมายของเจ้าอาณานิคมเป็นตัวตัดสินคดีความ พร้อมกันกับที่ได้รับการคุ้มครองจากสยาม คนจีนเหล่านี้จึงมีความเป็นอยู่ที่สบายมากในสยาม

สมัยรัชกาลที่ 6 จะมีความเข้าใจผิดกันมากเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของชนชั้นนำสยามกับคนจีนในสยาม มีการตีพิมพ์บทความเรื่อง ‘ยิวแห่งบูรพาทิศ’ ซึ่งทุกคนมักยกเรื่องนี้มากล่าวว่า คนจีนไม่รักชาติ หรือรัชกาลที่ 6 ไม่โปรดคนจีน ทั้งๆ ที่มีการตีพิมพ์เรื่องในทำนองชื่นชมคนจีนปะปนอยู่บ้างเช่นกัน สมัยรัชกาลที่ 6 มีหลายนโยบายหลายโครงการที่มาจากเงินบริจาคล้วนๆ และเงินบริจาคจำนวนมากก็มาจากคนจีน

แล้วเรื่อง ‘ยิวแห่งบูรพาทิศ’ มีที่มาอย่างไร

ในต้นศตวรรษที่ 20 เป็นสมัยที่สยามกำลังเริ่มนโยบายชาตินิยม ซึ่งกำลังมีปัญหา เพราะสาธารณรัฐจีนมีนโยบายให้คนที่มีบรรพบุรุษเพศชายเป็นคนจีนสามารถถือสัญชาติจีนได้ ดังนั้น 1 ใน 3 ของประชากรสยามที่เป็นคนจีนจึงมี 2 สัญชาติ สิ่งที่เรียกกันว่า ‘ราชาชาตินิยม’ จึงเกิดขึ้นมา เพื่อรวมคนจีนที่รวยเหล่านี้เข้ากับสยามและเข้ากับสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น

บทความ ‘ยิวแห่งบูรพาทิศ’ จึงเป็นเหมือนแผนการตลาดให้คนจีนหันมาสนับสนุนสถาบันกษัตริย์สยามมากขึ้น และเป็นผลสำเร็จ เพราะคนจีนแห่กันบริจาคให้รัชกาลที่ 6 จนสามารถสั่งซื้อยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยมาใช้ได้ กองเสือป่าที่จัดตั้งขึ้นโดยรัชกาลที่ 6 เองมีการติดอาวุธที่ทันสมัยกว่ากองทัพสยามในสมัยนั้นเสียอีก

สมัยปฏิวัติจีนมีการเปลี่ยนแปลงของชนชั้นนำจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างไรบ้าง

สมัยซุนยัตเซ็นเป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจ เพราะเขาไม่ประสบความสำเร็จในการหาแรงสนับสนุนของคนจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากนัก เนื่องจากคนจีนเหล่านี้ยังยึดติดกับภาพลักษณ์ของสังคมจีนโบราณที่มีฮ่องเต้เป็นประมุข และคนที่ทำให้ซุนยัตเซ็นเป็นที่รู้จักในสยามก็คือรัชกาลที่ 6 ซึ่งมีความรู้เรื่องจีนร่วมสมัยมากที่สุด และมีงานเขียนเกี่ยวกับคนจีนเยอะมากที่สุดเช่นกัน

มีการเขียนบทความและบทละครถึงการปฏิวัติจีนและซุนยัตเซ็นหลายครั้งเพื่อวิจารณ์ตัวซุนยัตเซ็น เราจะเห็นการประนีประนอมระหว่างคนจีนที่สนับสนุนซุนยัตเซ็นกับรัชกาลที่ 6  กบฏ ร.ศ.130 เองก็ได้รับอิทธิพลหลายอย่างจากการปฏิวัติจีนด้วยเช่นกัน หลายๆ แนวคิดจากต่างประเทศจึงเข้ามาสู่สยามผ่านชุมชนคนจีน

การปฏิวัติปี 2475 ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรกับคนจีนในไทยบ้าง

ประเทศไทยยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในปี 2481 ซึ่งเป็นความตั้งใจอันดับต้นๆ ของคณะราษฎร คณะราษฎรบอกว่าชาติคือพรมแดน อาณาเขต และประชาชน การจะทำแบบนั้นได้ก็ต้องยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตก่อน

ความตั้งใจในการยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเป็นการตัดแขนตัดขา จักรวรรดินิยมก็ไม่มีอิทธิพลมากเท่าเดิม คนจีนที่เป็นตัวกลางก็สูญเสียอภิสิทธิ์ไป และมีการเปลี่ยนแปลงความเป็นชาติจากศูนย์กลางที่เป็นสถาบันกษัตริย์มาเป็นอาณาเขตของประเทศ

ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ศัตรูอันดับ 1 ของญี่ปุ่นในเอเชียคือจีน เมื่อญี่ปุ่นไม่มีทรัพยากรมากพอจะบุกจีน จึงเข้ามาบุกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อนำทรัพยากรไปใช้บุกจีนแทน การที่ไทยเข้ากับฝ่ายญี่ปุ่นจึงทำให้คนจีนถูกมองว่าเป็นศัตรู คนจีนจึงรวมตัวกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันมากเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น และขบวนการเสรีไทยโดยมากก็เป็นคนไทยเชื้อสายจีน

ประเทศแรกที่เสนอว่าไทยเป็นเหยื่อของจักรวรรดินิยมญี่ปุ่น และควรได้รับการยอมรับเป็นฝ่ายสัมพันธมิตร ก็คือสาธารณรัฐจีน ซึ่งนำโดยเจียงไคเช็ก จากนั้นสหรัฐอเมริกาจึงประกาศเห็นด้วยกับจีน

บริบทของคนเชื้อสายจีนในไทยมีการเปลี่ยนแปลงในช่วงสงครามเย็นอย่างไรบ้าง

คอมมิวนิสต์จีนต่อต้านนายทุนต่างชาติอยู่แล้ว ดังนั้นคนเชื้อสายจีนรวยๆ จึงเข้ากับชนชั้นนำไทยได้ คนที่สนับสนุนรัฐก็จะได้รับการสนับสนุนตอบแทน ส่วนคนชั้นล่างหรือกรรมาชีพที่หันเหไปแนวทางสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์จะถูกปราบปราม

วาทกรรม ‘ลูกจีนรักชาติ’ นี่เป็นมาอย่างไรบ้าง

เรื่องลูกจีนรักชาติก็น่าสนใจ กลุ่มนี้มีมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่ง ‘ชาติ’ ในที่นี้หมายถึงประเทศจีนเอง ต่อมาคำนี้ก็ถูกใช้โดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในไทยเองก็มีกลุ่มลูกจีนรักชาติที่เพิ่มคำว่า ‘ไทย’ เข้ามาด้วย เป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐไทยจะเอาอกเอาใจคนจีนที่สนับสนุนตนเอง

การเป็นลูกจีนรักชาติก็ต้องคิดก่อนว่า สมัยรุ่นพ่อรุ่นแม่คุณเขายังไม่แน่ใจเลยว่าตัวเองจะเป็นคนจีนหรือไทยกันแน่ และความหมายของรักชาติในที่นี้ ก็ย้อนกลับไปสู่แนวคิดราชาชาตินิยมอยู่ดี การแสดงความรักชาติด้วยการรักเจ้าจึงเป็นการแสดงออกของคนจีนเพื่อไม่ให้ตนถูกเหมารวมไปกับจีนคอมมิวนิสต์

ความงงของกลุ่มจีนรักชาติเกิดขึ้นเพราะทั้งประเทศไทยและประเทศจีนมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รัฐชาติไทยจริงๆ เพิ่งมาเกิดในศตวรรษที่ 20 คนสมัยก่อนจึงเป็นทั้งคนจีน คนบังคับของเจ้าอาณานิคม และคนของราชสำนักไทยได้พร้อมๆ กัน

เรื่องอัตลักษณ์ อุดมการณ์จะมีความสับสนมากขึ้นในช่วงสงครามเย็น เพราะประเทศคอมมิวนิสต์อย่างจีนและเขมรแดงได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาและไทย ในขณะที่เวียดนามได้รับการสนับสนุนจากโซเวียต

ดังนั้นเราจึงอย่าไปยึดติดกับคำว่าอัตลักษณ์และอุดมการณ์มาก เพราะท้ายสุดแล้วทุกๆ ฝ่ายก็โยงใยกันมั่วไปหมด

วาสนา วงศ์สุรวัฒน์

คนจีนในไทยสัมพันธ์กับคนจีนอื่นๆ อย่างในมาเลเซียและสิงคโปร์อย่างไรบ้าง (ผู้ชมถาม)

ที่ชัดเจนที่สุดคือจีนในมาเลเซียและสิงคโปร์ส่วนใหญ่เป็นจีนฮกเกี้ยน ซึ่งมีความใกล้ชิดกับคนจีนในภาคใต้ มีเครือข่ายการค้าของเขาอยู่ในมาเลเซียและสิงคโปร์ด้วย

งานของอาจารย์วาสนา เป็นการหักล้างงานของ Skinner ที่บอกว่า ร.6 ไม่ชอบคนจีนใช่หรือไม่ (ผู้ชมถาม)

Skinner ไม่ได้กล่าวชัดเจนว่า ร.6 ไม่ชอบคนจีน แต่ส่วนตัวคิดว่า ร.6 มีวิธีการน่าสนใจในการเอาทรัพยากรของคนจีนมาใช้สนับสนุนรัฐไทย ที่ไม่เห็นด้วยคือเรื่องที่ Skinner กล่าวว่า คนจีนจะกลายเป็นคนไทยภายใน 4 ชั่วอายุคน เพราะเขาเป็นนักสังคมวิทยาที่ศึกษาแต่เรื่องจีนเป็นส่วนใหญ่ และอาจไม่รู้ว่าการเป็นคนไทยหมายถึงอะไร ถ้าหมายถึงการไม่พูดภาษาจีนแล้ว ก็จริง เพราะภายใน 4 ชั่วอายุคนจีนต้องสร้างความสัมพันธ์กับชนชั้นนำไทยหรือทหารให้ได้ ถ้าไม่เช่นนั้นก็จะถูกลืมเลือนไป

อาจารย์ได้อ่านและดู Crazy Rich Asians บ้างไหม อยากให้พูดถึงบริบทของคนจีนโพ้นทะเลในภูมิภาคนี้ (ผู้ชมถาม)

ยังไม่เคยอ่าน แต่คิดว่ามันเป็นแฟนตาซีแบบฉาบฉวยของคนอเมริกันที่มีต่อคนจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งก็มีส่วนจริง เพราะคนที่ไปเรียนอเมริกาโดยไม่ได้เป็นนักเรียนทุนรัฐบาล มักจะเป็นลูกคนรวย แต่เราคิดว่าคนจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คงจะชอบภาพที่ออกมาแบบในหนัง ทั้งๆ ที่คนจีนเองก็ไม่ได้เก่งเลข เก่งวิทยาศาสตร์ เล่นไวโอลินไปเสียทุกคน มันมีความหลากหลายมากกว่านั้น

คำว่า ‘เสื่อผืนหมอนใบ’ แสดงว่าการเดินทางจากจีนมาไทยเป็นเรื่องง่าย ไม่ต้องเตรียมอะไรมากมาย มาทำงานเก็บเงินแล้วก็กลับไป ใช่หรือไม่ (ผู้ชมถาม)

ไม่ใช่แบบนั้น และเรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องกับอั้งยี่ ซึ่งเป็นสมาคมลับของคนจีนด้วย ซึ่งสังคมจีนไม่สามารถฟังก์ชั่นได้ถ้าไม่มีระบบครอบครัว พวกกุลีที่มาจากโพ้นทะเลทั้งหลาย ไม่มีญาติพี่น้อง จึงต้องสร้างระบบพี่น้องร่วมสาบานขึ้นมา เมื่อลงจากท่าเรือก็จะมีคนถามว่ามีงานและที่พักหรือยัง ถ้าตอบว่า “เดี๋ยวพี่ใหญ่จัดการให้” ก็แปลว่ามีสมาคมลับเป็นเครือข่ายคอยสนับสนุนจัดหาที่พักและงานให้ เสื่อผืนหมอนใบจึงแปลว่าเขามีเครือข่ายที่คอยรองรับอยู่แล้ว

ในเมืองไทย ลูกจีนหลายคนมีบทบาททางเศรษฐกิจและการเมืองสูง อยากให้เล่าโมเดลต่างๆ ของลูกจีนสยามว่าแต่ละคนสร้างตัวมาอย่างไร ผสมผสานความเป็นจีนกับไทยเข้าด้วยกันอย่างไร และขึ้นสู่อำนาจอย่างไร เช่น บรรหาร ทักษิณ ในวงการการเมือง หรือ ธนินท์ และ เจริญ ในทางเศรษฐกิจ (ผู้ชมถาม)

คุณบรรหารมีความน่าสนใจ เพราะแสดงความเป็นจีนในการเมืองอย่างมาก เริ่มจากการเป็นทุนจีนที่เข้ามารับสัมปทานของราชการและมีความสัมพันธ์กับหน่วยงานของทหาร จนกลายเป็นที่รู้จักในหมู่ทหาร เมื่อมีการรัฐประหารก็ได้รับการเลือกให้เป็น สว. จากนั้นจึงเข้ามาสู่การเลือกตั้งได้

เรื่องคุณทักษิณยังไม่ได้ศึกษา เลยไม่สามารถตอบได้ ส่วนคุณธนินท์กับคุณเจริญก็มีลักษณะเดียวกับคุณบรรหาร นอกจากมีอำนาจทางเศรษฐกิจแล้ว เขายังมีความสัมพันธ์กับกลุ่มการเมืองทั้งสองฝ่ายด้วย เพราะต้องการเฉลี่ยความเสี่ยง เรื่องที่น่าสนใจคือคุณไม่สามารถเป็นเจ้าสัวที่รวยอันดับต้นๆ ได้ ถ้าคุณไม่มีความสัมพันธ์กับศูนย์กลางอำนาจในกรุงเทพมหานคร

ชนชั้นนำสยามกับคนจีนโพ้นทะเลยุค 1900-1940 ทำไมไม่ผลักดันนโยบายพัฒนาชาติสยามให้ก้าวหน้าเท่าทันจักรวรรดินิยม เหมือนที่ญี่ปุ่นทำในยุคเมจิ (ผู้ชมถาม)

สมัยเมจิเป็นรัฐทหาร มีความใกล้เคียงกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ทหารไม่ถูกควบคุมโดยรัฐบาลพลเรือน และญี่ปุ่นมีวิธีจัดการกับจักรวรรดินิยมที่ต่างจากเรา ญี่ปุ่นมีเป้าตั้งแต่แรกว่าจะเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ต้องการแข่งขันกับจักรวรรดินิยม และมีวิสัยทัศน์ว่าจะเอาชนะจักรวรรดินิยมให้ได้

แต่สยามเลือกที่จะเอาตัวรอดจากจักรวรรดินิยมโดยการประนีประนอม เราไม่ได้มีความคิดที่จะแข่งกับจักรวรรดินิยมมาตั้งแต่ต้น และไม่ได้มีความเป็นรัฐทหาร คนมักเปรียบเทียบว่าทำไมญี่ปุ่นถึงแซงหน้าเราได้หลังครามโลก นั่นเป็นเพราะญี่ปุ่นเลิกมีกองทัพ พอเลิกมีกองทัพก็ไม่มีคนทำรัฐประหาร

จีนยุคใหม่ที่เข้ามาเมืองไทยเหมือนหรือต่างกับสมัยก่อนอย่างไร (ผู้ชมถาม)

ต่างกันที่เขาถือพาสพอร์ตจีนด้วยความภาคภูมิใจ และไม่มีผลประโยชน์อันใดที่จะได้พาสปอร์ตไทย คนจีนเข้ามาค้าขายกันเองเยอะมาก พูดภาษาไทยได้คล่องจนไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องมีสัญชาติไทยเลย เมื่อก่อนรัฐไทยสามารถใช้สัญชาติเป็นตัวล่อหลอกให้คนจีนอยากมาอยู่ แต่ตอนนี้พาสปอร์ตจีนกลับมีมูลค่ามากกว่าพาสปอร์ตไทย

การที่คนจีนบางคน เวลาไปเที่ยวในประเทศอื่นแล้วมีมารยาทไม่ค่อยเรียบร้อย มีสาเหตุมาจากการปฏิวัติวัฒนธรรมหรือเปล่า (ผู้ชมถาม)

เป็นเรื่องน่าสนใจมาก ลูกศิษย์ปริญญาโทที่เป็นคนจีนแต่มาเรียนที่จุฬาฯ ก็ทำวิทยานิพนธ์เรื่องความคิดของคนกรุงเทพฯ ต่อนักท่องเที่ยวจีน และตัวเขาเองก็รู้สึกอับอายแทนด้วย เขาได้ข้อสรุปมาว่า การปฏิวัติวัฒนธรรมมีผลทำให้มารยาทของคนจีนเสื่อมลง และมีข้อสังเกตว่ากลุ่มคนที่มีมารยาทแย่เหล่านี้ มักจะเป็นคนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มคนที่โตมาในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม แต่ถ้าเป็นคนจีนรุ่นใหม่ๆ ที่เรียนจบปริญญาตรีก็จะมีความคิดอีกแบบไปเลย แฟชั่นก็จะดีกว่าเดิมเยอะมาก เขาก็บอกเองว่าอดทนกันอีกนิดนึง แล้วหลังจากนั้นก็จะมีคนจีนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษากันหมดแล้ว

ถ้าเราย้อนไปดูช่วงปี 1970-1980 ที่ญี่ปุ่นเริ่มเข้ามาช่วงแรกๆ หรือสมัยที่นักธุรกิจเกาหลีเริ่มเข้ามา ก็มีเรื่องทำนองนี้เหมือนกัน แต่ละชาติก็ต้องใช้เวลาในการปรับตัว

การเข้ามาของจีนใหม่เป็นนโยบายของรัฐบาลจีนหรือเปล่า (ผู้ชมถาม)

ใช่ เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของคนจีนในประเทศไทยซึ่งรัฐบาลจีนคอยสนับสนุน และชนชั้นนำไทยก็ต้องการความสัมพันธ์กับรัฐบาลจีนด้วย จึงเป็นผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย

ปัจจุบันมีกลุ่มทุนใหญ่เกิดขึ้นในจีนมากมาย ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มทุนโพ้นทะเลกับรัฐบาลจีนก็คงจะลดระดับลงไปบ้าง

ชุมชนจีนใหม่ที่รัชดาหรือสุขุมวิท มีลักษณะเด่นอะไรที่น่าสนใจบ้าง ต่างกับคนจีนเยาวราชอย่างไร (ผู้ชมถาม)

จีนใหม่ที่รัชดาหรือห้วยขวางถือพาสปอร์ตจีน และไม่มีความสนใจที่จะกลืนกลายเป็นคนไทย ในขณะที่จีนเยาวราชก็ถือพาสปอร์ตไทยกันหมดแล้ว

จากวิทยานิพนธ์ที่ลูกศิษย์จีนคนนั้นทำ เขาไปสัมภาษณ์คนไทยที่ทำงานในย่านที่มีนักท่องเที่ยวจีนเยอะ หลักๆ คือย่านวัดโพธิ์ พระบรมมหาราชวัง เยาวราช พระพรหมเอราวัณ ห้วยขวาง และสนามบินสุวรรณภูมิ พบว่ากลุ่มคนที่มีอคติต่อนักท่องเที่ยวจีนมากที่สุดกลับเป็นย่านเยาวราช เพราะมีความแตกต่างทางอัตลักษณ์ระหว่างจีนเก่ากับจีนใหม่อย่างมาก และเป็นไปได้ว่ากลุ่มนี้อาจมีความรู้สึกว่ารักชาติ และต้องยึดกับอัตลักษณ์ไทยมากที่สุด ในขณะที่กลุ่มอื่นไม่รู้สึกว่าจำเป็นต้องมีความรู้สึกนี้

ระบบความสัมพันธ์กับศูนย์กลางอำนาจ มีความเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมคอรัปชั่นที่พัฒนาขึ้นในสังคมไทยอย่างไรในภาพรวม (ผู้ชมถาม)

มันมีมาตั้งแต่สมัยที่คนจีนบริจาคเงินให้กับโครงการหลวงในสมัยรัชกาลที่ 6 แล้ว แต่พอมาถึงยุคสงครามเย็น สมัยจอมพลสฤษดิ์ที่การคอรัปชั่นพุ่งทะยานขึ้นเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ก็มีส่วน เพราะทุนจีนพยายามจะเข้าไปอยู่ในระบบนี้ พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ได้สัมปทานหรือโอกาสทางธุรกิจเช่นกัน

คนจีนในไทยคิดยังไงกับรัฐบาลจีนยุคสีจิ้นผิงบ้าง (ผู้ชมถาม)

พูดได้ยาก เพราะคนจีนในไทยมีความหลากหลายมาก จากประสบการณ์ส่วนตัวมักเห็นว่าคนจีนในไทยรุ่น 50-60 ที่ผ่านสมัยสงครามเย็น มักจะมีความชื่นชมในตัวรัฐจีน เขาจะรู้สึกว่าสีจิ้นผิงเป็นผู้นำที่ดูมีสเน่ห์ ต่างจากเติ้งเสี่ยวผิง

ส่วนลูกหลานจีนรุ่นใหม่ๆ หรือคนทั่วไป น่าจะมีความหวาดกลัวต่อนโยบายจีนยุคสีจิ้นผิงที่ต้องการแผ่อิทธิพลมา

ความแตกต่างของกลุ่มภาษาถิ่นต่างๆ ของจีนในไทย ช่วงก่อนที่จีนกลางจะแพร่หลาย อย่างแต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน ฮากกา ฯลฯ มีผลหรือมีประเด็นอะไรบ้างไหม (ผู้ชมถาม

ภาษาถิ่นต่างๆ ในปัจจุบันได้หายไปมาก ถ้าไปดูพิพิธภัณฑ์จีนในที่ต่างๆ จะเห็นว่าเขามองตัวเองเป็นตัวเชี่อมโยงกับสาธารณรัฐประชาชนจีนมาก มีการพูดถึงภาษาถิ่นเหล่านี้น้อยลงทุกที ภาษาจีนที่คุณเรียนตามมหาวิทยาลัยหรือสถานที่ต่างๆ ก็เป็นจีนแมนดารินทั้งสิ้น กระทั่งสมาคมตระกูลท้องถิ่นเอง ก็ยังเปลี่ยนมาใช้ภาษาไทยหรือแมนดาริน เพราะลูกหลานรุ่นใหม่หาภาษาถิ่นเดิมเรียนไม่ได้แล้ว ซึ่งปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นในสิงคโปร์เช่นเดียวกัน การเข้ามาของจีนกลางได้ทำให้ภาษาถิ่นเหล่านี้เริ่มหายไปจำนวนมากจนน่าเป็นห่วง

อะไรคือโจทย์วิจัยที่น่าสนใจของคนจีนในปัจจุบัน หรือมีประเด็นอะไรที่น่าจับตา (ผู้ชมถาม)

ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนจีนใหม่ที่เข้ามา กับสังคมเมืองใหญ่ที่มีคนจีนเก่าเยอะอย่างกรุงเทพฯ ก็น่าสนใจ การเปลี่ยนแปลงของอัตลักษณ์คนไทยเชื้อสายจีนก็น่าสนใจ อาจจะมีบางคนที่อยากจะเคลมความเป็นจีนบ้าง เพราะรัฐจีนตอนนี้กำลังมีอำนาจ ส่วนบางคนอาจยึดอัตลักษณ์ของความเป็นจีนเก่าและไทยอย่างเหนียวแน่น เพื่อบอกว่าตัวเองแตกต่างกับคนจีนที่เข้ามาใหม่

อาจารย์คิดว่าวาทกรรม ‘ลูกจีนรักชาติ’ จะหายไปในอนาคตหรือจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นรูปแบบอื่นๆ บ้างไหม

ส่วนตัวคิดว่าวาทกรรมนี้ไม่น่าจะมีพลังที่ส่งผลอะไรได้แล้ว เมื่อคนจีนใหม่ที่ถือพาสปอร์ตจีนซึ่งมีอิทธิพลสูงเข้ามามากๆ แล้ว วาทกรรมนี้จะเสื่อมพลังในการเมืองไทยไปเอง

มีตัวอย่างที่น่าสนใจของลูกศิษย์จีนในเมืองไทย ที่มาพบการไหว้เจ้าในไทยทั้งๆ ที่ตอนอยู่จีนไม่เคยเห็นมาก่อน เลยพาพ่อแม่จากจีนมาไหว้เจ้าที่ไทยบ้าง และพบว่ามีทัวร์จีนจำนวนมากที่มาไหว้เจ้าหรือบูชาบรรพชนในไทย เพราะมันเป็นวิถีจีนโบราณที่หายไปจากจีนในสมัยปฏิวัติวัฒนธรรม

ต่อไปโครงการ One Belt One Road ของรัฐบาลจีนก็จะส่งผลให้คนจีนหลั่งไหลออกไปนอกประเทศเยอะมาก และได้เปิดโลกกว้าง ซึ่งก็น่าสนใจว่าต่อไปรัฐจีนจะจัดการอย่างไร จะมองเป็นวิกฤตหรือโอกาส เพราะรัฐจีนจะไม่มีความสามารถปิดหูปิดตาพวกเขาอีกต่อไป

การที่รัฐจีนจะขยายอิทธิพลออกไปให้มากๆ อาจเป็นการสร้างให้ประชาชนคิดว่าประเทศจะเป็นเผด็จการต่อไปก็ได้ถ้ายังรวยอยู่ ในขณะเดียวกันรัฐจีนก็ไม่สามารถควบคุมการรับรู้ข่าวสารของคนเหล่านี้ได้ อาจจะเกิดกรณีคนจีนมาที่ไทยแล้วกลายเป็นลูกจีนรักชาติ จนกลับไปเรียกร้องอะไรที่จีนก็ได้


หมายเหตุ: ผู้สนใจสามารถติดตามชมเทปบันทึกภาพรายการ 101 One-on-One ตอน “เรื่องลับลูกจีนสยาม” ฉบับเต็ม โดย วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ ดำเนินรายการโดย ธร ปีติดล ออกอากาศเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2561 ทาง The101.world

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save