fbpx
เขาวงกตแห่งเรื่องเล่า กับ วีรพร นิติประภา

เขาวงกตแห่งเรื่องเล่า กับ วีรพร นิติประภา

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรียบเรียง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

‘ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต’ และ ‘พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ’ เป็นนวนิยายรางวัลซีไรต์ในปี 2558 และ 2561 ตามลำดับ เขียนโดย แหม่ม – วีรพร นิติประภา นักเขียนรุ่นใหญ่ผู้มาพร้อมริมฝีปากสีแดงก่ำ เครื่องแต่งกายสีดำ และแว่นกันแดดอันเป็นเอกลักษณ์

นวนิยายสองเรื่องแรกในชีวิตของวีรพรนั้น สร้างชื่อให้กับเธอในฐานะนักเขียนดับเบิลซีไรต์คนที่สาม ต่อจาก ชาติ กอบจิตติ และวินทร์ เลียววาริณ และทำให้เธอกลายเป็นนักเขียนหญิง ‘คนแรก’ ที่ได้รับรางวัลซีไรต์ถึงสองครั้ง

การเล่าเรื่องของวีรพรผ่านนวนิยาย เต็มไปด้วยจินตนาการ และในขณะเดียวกันก็อบอวลไปด้วยข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ และภูมิศาสตร์

รายการ 101 one-on-one ดำเนินรายการโดย โตมร ศุขปรีชา ชวนวีรพรมาสนทนาถึง ‘เขาวงกตแห่งการเล่า’ การประกอบสร้างเรื่องเล่าในประวัติศาสตร์แบบไทยๆ ผ่านนวนิยายสร้างชื่อทั้งสองเรื่องของเธอ และความคิดเห็นต่ออาชีพ ‘นักเขียน’ ในฐานะนักเขียนอาชีพ

วีรพร นิติประภา

เวลาจะเขียนนิยายสักเรื่อง เริ่มต้นเขียนจากอะไร สิ่งที่เป็นความจริง หรือจินตนาการ

เรามักจะเริ่มเขียนจากเรื่องที่สงสัย ซึ่งมันอาจเป็นเรื่องไม่จริง หรือเป็นความจริงที่ไม่ชัดเจนก็ได้ เมื่อเริ่มสงสัยแล้วถึงจะขึ้นโจทย์ทำงานเพื่อทำความเข้าใจต่อสิ่งนั้น ไม่ได้หาคำตอบให้มันนะ เพราะเราไม่มั่นใจว่ายุคสมัยนี้จะมีคำตอบให้กับโจทย์ที่เราตั้งขึ้นมาทุกเรื่อง

อย่างเรื่องการเมือง ก็สงสัยว่าทำไมถึงเป็นอย่างที่มันเป็น ทำไมมันถึงมาอยู่ในจุดที่วนลูปไปเรื่อยๆ แต่จริงๆ แล้วเราไม่ได้สนใจการเมืองโดยตรงหรอก สนใจเรื่องชีวิตมากกว่า ชีวิตเป็นเรื่องดึงดูดใจ เช่น ทำไมกับบางเรื่องบางคนทนได้ บางคนทนไม่ได้ ทำไมบางคนมีความหลงใหลใฝ่ฝัน บางคนไม่มี หรือทำไมบางคนพยายายามจนถึงที่สุดแล้วแต่ก็ยังไปไม่ถึงไหนสักที ซึ่งการเมืองมันเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งเหล่านี้ในชีวิต

 

รู้สึกอย่างไรที่เขียนหนังสือสองเล่มแล้วได้ซีไรต์

ดีใจ แต่เรามองว่ารางวัลเป็นมายาคติ และความเห็นของคนจำนวนหนึ่ง ไม่ใช่คำพิพากษาหรือคำตัดสิน เราค่อนข้างเชื่อว่านักเขียนหลายๆ คนก็ทำงานเต็มที่ของเขาเหมือนกัน เพียงแต่ว่ามันอาจจะไม่ใช่สิ่งที่กรรมการมองหา

งานเขียนเรื่องแรกของนักเขียนหลายคนมักจะจัดเต็ม เอาทุกอย่างที่มีในหัวใส่ลงไป หวังให้มันเป็นงาน masterpiece พี่แหม่มก็เช่นกัน นวนิยายเรื่องแรกมีทั้งความซับซ้อน และวิธีเล่าเรื่องใหม่ๆ จนนักอ่านบางคนคิดว่าคนเขียนอาจหมดมุกแล้ว คำถามคือพี่แหม่มทำอย่างไรให้เล่มที่สองยังไปต่อได้อีกขั้น

เรื่องไส้เดือนฯ มันซับซ้อน เพราะตอนที่เขียนเล่มแรกเราหาวิธีเขียนเล่มที่สองไปพร้อมๆ กัน เหมือนกับการตั้งโจทย์ขึ้นมาว่า เรามีอะไรจะเล่า มีอะไรที่สงสัย และต้องทำความเข้าใจเรื่องวิธีการเล่าไปด้วย เรื่องแรกมันจึงดูหนักข้อไปในทางเทคนิคมากกว่าตัวโครงเรื่อง มีความซับซ้อนของวิธีเล่า การใช้ประโยค และการตัดต่อ

พอมาเล่มที่สอง เราก็รู้เลยว่าจะต้องเขียนอย่างไร แทนที่จะใส่ลูกเล่นในประโยคยิบย่อย เรากลับไปเล่นกับเส้นเรื่องซึ่งยังไม่ได้ทำในเล่มแรกแทน

เรื่องพุทธศักราชอัสดงฯ มีการซ้อนทับของเรื่องจริงกับเรื่องแต่ง หรือจินตนาการอยู่แทบตลอดเวลา มันเป็นเพราะพี่แหม่มไปเก็บข่าวคราวชีวิตของคนอื่นเพื่อนำมาใส่ในนิยาย แล้วเสริมแต่งให้พอเหมาะพอเจาะกับตัวละครหรือเปล่า

ใช่ เราจินตนาการเรื่องขึ้นมาด้วย แต่คิดขึ้นมาเองใหม่ก็มี ระหว่างทำงานเรามักนึกภาพว่าเราอยู่ในช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ ช่วงเวลาที่วิทยุยังสื่อสารได้ไม่ดี โทรทัศน์ก็ยังไม่มี เราก็จะเหลือเรื่องเล่าที่เป็นลักษณะปากต่อปากเท่านั้น ในยุคหนึ่งมันมีคนที่เดินทางไปพร้อมกับการเล่านิทาน เช่นในเมืองจีน ที่คนเอาข่าวจากพื้นที่หนึ่งเดินทางไปพื้นที่อื่นทั่วประเทศ เหมือนวิทยุเคลื่อนที่ คือเดินไป ร้องเพลงไป เล่าไป มันเป็นวิธีเล่าที่มีเสน่ห์ พอทำนิยายเรื่องนี้ เราก็เลยมักจะจินตนาการว่า ถ้าฉันเป็นคนที่เดินทางไปยังช่วงเวลาต่างๆ ของครอบครัวครอบครัวหนึ่ง เราจะเล่าเรื่องอย่างไร แล้วครอบครัวนี้ล้วนเป็นภาพสะท้อนของช่วงเวลา ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาของการถดถอย หรือช่วงเวลาหลังสงคราม

ทำไมพุทธศักราชอัสดงฯ ถึงออกมาเป็นเรื่องราวของครอบครัวจีนในไทย

จริงๆ เราตั้งใจพูดถึงการซัดเซพเนจร มากกว่าการโยกย้ายถิ่นฐาน เพราะโลกปัจจุบันกำลังเผชิญหน้ากับยุคสมัยของการโยกย้ายครั้งใหญ่ ทั้งการเมือง สงคราม ทรัพยากร คนจีนค่อนข้างจะมีอิทธิพลต่อช่วงเวลาหลังจากการโยกย้าย คนในเมืองส่วนใหญ่เต็มไปด้วยคนจีนและลูกครึ่งจีน ส่วนคนไทยแท้อาศัยอยู่ในชนบท การพัฒนาในด้านต่างๆ ทั้งการค้า การศึกษา และสังคม จึงเกิดขึ้นโดยคนจีน

อีกเหตุผลคือ เพราะว่าเราเป็นคนจีน การเล่าเรื่องการอพยพในครอบครัวมันง่ายกว่า หากเล่าเรื่องครอบครัวแขกก็อาจจะแปลก เพราะไม่รู้ว่าเขาอยู่กันอย่างไร

สังเกตว่าตอนนี้ประเทศเราก็ถูกคลื่นจีนซัดอยู่

ตอนที่เขียน เราไม่ได้นึกถึงเรื่องนี้เลย ค่อยๆ ทำ ไม่ได้เห็นคลื่นจีนแผ่นดินใหญ่ยุคใหม่ที่เข้ามา ตอนนั้นเราเห็นแค่ในลักษณะของนักท่องเที่ยว แต่ไม่ได้คิดอะไร ไม่ได้คิดถึงขั้นว่านี่คือการโยกย้ายถิ่นฐาน จากแผ่นดินใหญ่มาอีกระลอกหนึ่ง ซึ่งมันเหมือนจะชัดเจนขึ้นไม่นานนี้ แต่พวกเขาคงจะย้ายมาแล้วละ มาเต็มประเทศแล้ว แล้วเราจะอยู่ที่ไหนค่อยว่ากัน (ขำ)

คลื่นจีนคลื่นที่แล้วโยกย้ายมาแบบไม่มีทุนทรัพย์ ในขณะที่จีนรุ่นใหม่เข้ามาโดยมีทุนทรัพย์ ความพอดีอย่างหนึ่ง ในหนังสือพุทธศักราชฯ คือการที่ ‘ตระกูลตั้ง’ ก็มีทุนทรัพย์มา ในขณะที่คนมักจะพูดถึงคนจีนที่หอบเสื่อผืนหมอนใบแล้วกลายเป็นเจ้าสัว แต่แท้จริงแล้วส่วนใหญ่พวกเจ้าสัวมักมีทุนทรัพย์ติดตัวมา เสื่อผืนหมอนใบอย่างดีก็กลายเป็นเถ้าแก่ร้านชำ ถ้ารุ่นเจ้าสัวคือต้องมีทุนอยู่แล้ว ต้องมีเครือข่าย เช่นมีญาติอยู่สิงคโปร์ มาเก๊า มาเลเซีย แล้วก็ติดต่อค้าขายกันข้ามประเทศ

วีรพร นิติประภา

ทำอย่างไรให้โลกข้อมูลกับโลกจินตนาการเชื่อมโยงเข้ามาหากัน และตัวนักเขียนเองต้องอยู่ในสภาวะแบบไหน

สภาวะเลียนแบบ เช่น เวลาคุณอ่านข่าว มันมีความจริงอยู่ คุณก็ศึกษาความจริงของตัวข้อมูล เวลาคุณทำเรื่องเล่าที่มโนเอา คุณแค่เลียนแบบโครงสร้างของมัน คุณจะทำให้มันจริงแค่ไหนก็ได้ ตราบที่ตัวละครสามารถยืนยันได้ เช่น ชายขายเกลือที่แต่งขึ้นมา เอามาผูกกับพระเอกหนังจีนสักเรื่องที่ตามหาลูกไปทั่วประเทศ

หรือ ‘บ๊วยใบ้’ ก็เป็นตัวละครที่สร้างขึ้นมา จากกาที่เราไปรู้จากอาจารย์วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ ว่า ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ไทยคือแหล่งรวมของสายลับโลก มีสายลับจากทุกหนทุกแห่ง ประกอบกับคำบอกเล่าจากญาติคนหนึ่งที่เล่าว่า วันหนึ่งไปสูบบุหรี่หลังร้านที่เยาวราช แล้วก็มีอาซิ้มแก่ๆ หลบอยู่หลังเสา พอแดดส่องออกมา เขาก็เห็นซิ้มเหลียวซ้ายแลขวา หลังจากนั้นซิ้มก็ตีลังกาข้ามกำแพงไป

ณ ตอนนั้น เรารู้สึกว่าเรื่องนี้น่าทำ ก็เข้าไปดูยูทูป ไปเจอขบวนการบู๊เฮี้ยบต่างๆ มากมาย เรื่องตีลังกาข้ามกำแพงสำหรับคนอายุ 70 นี่คือกระจอกมาก ญาติที่เห็นยังยืนยันว่า เห็นกับตาว่ามีวิชาตัวเบาจริงๆ ซึ่งดูเหมือนว่าวิทยาศาสตร์ทำให้เราไกลจากเรื่องแบบนี้ เรามองเป็นเรื่องไร้สาระ แต่ถ้าคุณเป็นสายลับจริงๆ คุณอาจเป็นช่างถ่ายภาพ หรือเป็นคนทำกับข้าว เหมือนบ๊วยใบ้

ตอนนำวิชาตัวเบามาใส่ในเรื่อง วางแผนไว้ก่อนหรือเขียนไปแล้วค่อยๆ นึกได้

ไม่ได้วางแผน เราคิดว่าบ๊วยใบ้น่าจะเป็นผู้หญิงทำครัวธรรมดา แล้วย้ายมาอยู่กับครอบครัวนี้ ยังไม่มีใครรู้ว่าบ๊วยใบ้ทำอะไรได้ นอกจากคำบอกเล่าของ ‘ตาเนียน’ ที่เป็นคนขี้เมาไร้การศึกษา ความน่าเชื่อถือของบ๊วยใบ้จึงไม่เหลืออีกเลย เพราะถูกเล่าผ่านคนขี้เมา ในขณะที่เรื่องเล่าของ ‘ซินแสคุณ’ ที่ไปขุดไร่มันจนเจอตำรายาสิบสามเล่ม และกลายเป็นซินแสที่มีหน้ามีตาในดินแดนใต้ เป็นเรื่องเล่าที่น่าเชื่อถือกว่า เพราะซินแส เป็นหมอมีความรู้ แม้ว่าเรื่องจะพิสดารพอๆ กับบ๊วยใบ้ คนอ่านก็จะตัดสินเองว่าจะเชื่อใคร ซึ่งคนส่วนใหญ่เชื่อ ‘ซินแสคุณ’

เรื่องที่เอาข้อมูลมาแต่งเติม กลัวพลาดไหม แล้วได้กลับไปตรวจสอบไหม

ตรวจสอบ เท่าๆ กับตรวจสอบความจริง ว่ามันมีความน่าเชื่อไหมในฐานะข่าวลือ ต้องไล่ไปตามทุกสำนัก เช่นน้ำท่วมใหญ่ ท่วมที่ไหน คนตายกี่คน เลยใช้วิกิพีเดีย เพราะมันมีความน่าเชื่อถือที่สุด แม้จะน่าเชื่อถือน้อยสุด คำถามคือ เราจะพูดถึงนิยายทั้งเล่มแบบไหน หากพูดในแบบจริงก็อย่าเรียกว่านิยาย

หลายคนอาจไม่ได้ตระหนักว่าประวัติศาสตร์ที่ทุกคนเข้าใจก็เหมือนนิยาย ที่อาจมีการมโนเสริมแต่งขึ้นมา คุณไม่มีวันรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น มันมีบางเรื่องที่คุณก็ลืมไป เช่นตัวละครติดการพนัน คนอ่านอาจรู้สึกว่ามันงี่เง่า หลงผู้หญิงจนทำให้ครอบครัวล่มสลาย แต่จริงๆ เพราะมันมีพายุหนึ่งลูกเกิดขึ้นต่างหาก เหมือนกับที่เรื่องน้ำท่วมอาจไม่ถูกบันทึกลงในประวัติศาสตร์ ซึ่งจริงๆ แล้วมันอาจเป็นผลของชัยชนะหรือความพ่ายแพ้ต่อสงครามนั้นๆ เลยก็ได้ เราจึงใส่เรื่องนี้ไป อันนี้มีจริงๆ ไม่ได้เต้าขึ้นมา

เราเริ่มจากอ่านข่าวว่ามีทางรถไฟสายสั้น ฉะเชิงเทราไปกบินทร์บุรี เราก็พล็อตทางรถไฟก่อน จะเป็นที่ดอนหรือไม่ดอน แต่ทางรถไฟไม่สร้างในที่ลุ่ม เราคิดถึงขนาดว่า ถ้าท่วมทั้งเมืองแล้วที่นี่ไม่ท่วม ก็เสี่ยงเหมือนกัน

เมื่อความจริงกับความลวงมาหลอมรวมเป็น fiction ขอบเขตของจินตนาการของนักเขียน มันควรจะไปได้ไกลแค่ไหน หรือไม่ควรจะมีขอบเขต

มีสิ ไม่งั้นคนจะสร้างเรื่องลวงกันทำไม โลกเราประกอบด้วยความลวง เราแค่เลียนแบบวิธีคิดของเขา ว่าขอบเขตแค่ไหนที่คนสามารถเชื่อได้ ทางที่ดีควรให้มันหมิ่นเหม่ที่สุดด้วย เหมือนเรื่องที่เกือบไม่น่าเชื่อ แต่คนจะรีบเชื่อ ซึ่งถ้าพลาดนิดเดียวคนจะไม่เชื่อเลย

บางอย่างต้องมีอภินิหารบางอย่าง ให้มันชนกับขอบเขตความน่าจะเป็น อย่างการพูดถึงระเบิดปรมาณูบรรจุคำสาป คุณจะไม่เชื่อหรอกว่ามีระเบิดที่แพร่อากาศไปทั่วโลก แต่ถ้าทำให้มันเป็นเวทมนตร์ เอาคำสาปเข้ามาเกี่ยวข้อง มันกลับฟังดูสมจริง เช่น เรื่องแม่ชีปัดระเบิด เป็นต้น

พี่แหม่มชอบพูดว่า “ประเทศไร้ทรงจำ” บ่อยครั้ง แต่เมื่อเขียนงานแบบใช้วิธีเล่าเรื่องผ่านตัวละครหลายตัว ตั้งใจที่จะเสียดสีความจริง ความลวง ในประวัติศาสตร์ไทยด้วยไหม

ประวัติศาสตร์ทั้งโลกเหมือนกันหมดสำหรับเรา ถ้าดูประวัติศาสตร์จีน เทียนอันเหมินจะหายไปเลย เราเลยคิดว่าทุกประเทศไร้ทรงจำด้วยความสัตย์จริง แต่ว่านั่นไม่ใช่สิ่งที่เราสนใจเท่ากับการที่เราคิดว่า เรามีทรงจำ เราคิดว่าประเด็นนี้น่าสนใจกว่า คุณจำอะไรได้บ้าง คุณจำเท่ากับคนอื่นไหม กลายเป็นทุกคนมีวาทกรรม มีชีวิตเดียวกัน มันน่าสนใจมากว่าประวัติศาสตร์ทำอะไรกับชีวิตเรา

หนังสือของพี่แหม่มแทบทุกเรื่อง มักจะมีเรื่องราวของความตายเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เป็นความตั้งใจไหม

บางทีเรารู้สึกมันสนุกดี ฆ่าใครได้ฆ่า รู้สึกว่าความตายมันนำเสนอความสิ้นสุดของวงจรหนึ่ง หลายครั้งเราชอบเล่าไปจนสุด แล้วคนจะสงสัยไหมตัวละครนี้ยังไง เช่นความตายของ ‘จงสว่าง’ ไม่ได้อยู่ในเรื่อง จงสว่างตายอีกนานหลังจากเรื่องจบ ‘ซินแสคุณ’ ตายวันเดียวกับจงสว่าง ‘ตาทวดตง’ ตายตามเวลาที่ต้องตาย หลายๆ คนตายนอกเรื่อง เช่น ‘เจริดศรี’ ทิ้งลูกลงน้ำ

บางคนบอกว่านักเขียนเหมือนเป็นพระเจ้า จะให้ตัวละครตายเมื่อไหร่ก็ได้ เวลามีอำนาจเหนือตัวละครตัวเองความรู้สึกเป็นอย่างไร

เราคิดว่าคนไม่เขียนนิยายจะไม่รู้เลย หลังจากคุณอยู่กับตัวละคร คุณออกไม่ได้ เหมือนสามปีผ่านไป คุณแบกครอบครัวนี้บนบ่า คนจะถามว่าทำไมจบเรื่องหนึ่งแล้วขึ้นอีกเรื่องเลย เพราะเราพักไม่ได้ เดินออกจากเรื่องที่แล้วไมได้ การตายของตัวละครอาจเป็นส่วนหนึ่งของการที่เราไม่สามารถแก้ปัญหานี้ การได้เห็นตัวละครตายคาตา ทำให้เรารู้สึกว่าฉันจะได้ขึ้นเล่มสามแล้วนะ ฉันหลุดพ้นแล้วนะ มากกว่าความรู้สึกว่าฉันเป็นเทพเจ้าสั่งเป็นสั่งตาย หลายๆ ครั้งเราก็สงสัย ถ้าจงสว่างไม่ตายวันนั้น หลังจากนั้นจะเป็นยังไง ซึ่งต้องแก้ด้วยการขึ้นเล่มสาม

 

วีรพร นิติประภา มองความตายอย่างไร

คิดว่าเป็นจุดสิ้นสุด เพราะเราก็ข้ามเส้นห้าสิบมาแล้ว ซึ่งเป็นด้านที่ค่อยๆ เขยิบไปหาความตาย ถ้าเป็นไปได้เราก็อยากรู้ว่าความตายคืออะไร ตอนเราอายุน้อยก็ไม่ได้สนใจเรื่องนี้เท่าไร แต่ตอนนี้เราสนใจว่าตาทวดตงหายใจยังไง แบบไหน เราไม่มีวันรู้กายวิภาคของความตายด้วยตัวเอง เพราะเรายังไม่ใกล้ชิดความตาย

 

ตอนเขียนฉากจุงน้อยลอยน้ำ จิตใจทำด้วยอะไร เขียนเสร็จแล้วเศร้าไหม

รู้สึกเศร้า ฉากนั้นเราว่าโหด คือตอนที่เรามีลูก เราไม่รู้เรื่องโรคซึมเศร้าหลังคลอด เพราะหมอไม่ได้บอก หลังจากนั้นก็เหมือนว่าเราเป็นอยู่สองสามอาทิตย์ มันน่ากลัวมาก รู้เลยว่าโรคซึมเศร้าเป็นยังไง คือมันเศร้าแบบดิ่งลง

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เผอิญเห็นข่าวแม่ฆ่าลูก ข่าวแม่ที่ฆ่าตัวตายที่โรงพยาบาลหลังคลอดหลายหน เรารู้สึกนอยด์หน่อยๆ เลยชอบบอกคนท้องว่า รู้ไหมมันมีโรคนะ ต้องไปปรึกษาหมอนะ ถ้าคลอดแล้วมันจะเศร้านะ พอถึงเวลาเขียนเลยคิดว่าควรมีตัวละครที่เล่าเรื่องนี้ เหมือนว่าคนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่ามันจะมีอาการนี้เกิดขึ้น ซึ่งมันน่ากลัวพอสมควร จนตีสองลุกมาร้องไห้ ไม่รู้เศร้าเรื่องอะไร สามีก็ไม่เข้าใจ

ทำไมตัวละครต้องตายด้วยน้ำเกือบทุกตัว

เพราะว่ามันถูกสาป คือมันเป็นคำสาปที่ไม่รู้ว่าใครเป็นคนสาป สาปทำไม ยังไง เวลาทำเรื่องนี้เรามักนึกถึงเรื่องชาตะกรรม บางครั้งคุณรู้สึกเหมือนถูกสาป คุณไม่รู้ว่าใครสาป แล้วก็วนลูปอยู่อย่างนี้เหมือนมีคนกำหนดไว้

ทำไมถึงเขียนเกี่ยวกับความไม่จีรังของชีวิต ประมาณว่า ‘ชีวิตทรยศฉัน’ เหมือนในเรื่องไส้เดือนตาบอดฯ

คุณคิดว่าชีวิตมันจีรังเหรอ เป็นไปตามเป้าหมายเหรอ สิ่งที่รู้สึกในระหว่างการเขียนคือ ทำไมคนชอบเขียนอะไรที่มันสวยงามฟุ้งๆ อย่างนิโคลัส สปาร์ค ในขณะที่เราอยู่ในโลกที่มีสงครามซีเรีย เยเมนอดอยาก การดูละครที่มีตอนจบแฮปปิ้งเอนดิ้ง เราว่ามันผิดแล้ว แบบเราถึงจะถูก สิ่งที่เราเขียนมันไม่แปลกเพราะมันมีอยู่รอบตัว อะไรที่จีรังมันดูแปลกสำหรับเรา

วีรพร นิติประภา

สมมติว่าไปประกวดแข่งขันอะไรสักอย่าง คนชนะมักจะได้รางวัลตอบแทนเสมอ แต่พอเป็นรางวัลซีไรต์ เงินตอบแทนไม่ถึงแสน พี่แหม่มเปรียบเหมือนเป็นญาญ่าของวงการนักเขียน คิดว่าควรได้รางวัลเท่าญาญ่าไหม น้อยเนื้อต่ำใจไหมที่รางวัลน้อย

เคยได้ยินว่า ครั้งหนึ่งซีไรต์เคยมีสปอนเซอร์ เงินรางวัลไปถึงแสนบาท เงินรางวัลมีขึ้นลงทุกปีขึ้นอยู่กับสปอนเซอร์ สำหรับเรา การเป็นนักเขียน มีคนอ่านก็บุญแล้ว เราคิดก่อนเริ่มเขียนแล้วว่ามันไม่ได้เป็นอาชีพที่รายได้ดี มีคนถามว่าทำไมถึงเริ่มเขียนตอนอายุสี่สิบกว่า คำตอบคือเป็นเพราะภาระน้อยลง เราใช้เงินน้อยลง ไม่ได้ออกไปไหน เลยคิดว่าน่าจะไหว ถ้าทำได้ดีก็กัดฟันทำต่อ ไม่ได้เดือดร้อนอะไร ยังทำไหว

พอได้รางวัลแล้วเหมือนแบกความสำเร็จเอาไว้ไหม

ก็ไม่ ครึ่งหนึ่งเป็นความเห็นของกรรมการ ครึ่งหนึ่งขึ้นอยู่กับหนังสือในปีนั้นๆ หมายความว่า ถ้าเราเจอเพชรฆาตตัวจริง เราก็อาจจะหลุดไปก็ได้

เรารู้สึกว่าการได้รับซีไรต์สองหน เราจะเขียนแบบไหนอีกก็ได้ สามารถเขียนสนุกกว่านี้ได้อีก บ้าบอกว่านี้ได้อีก เขียนให้อ่านไม่รู้เรื่องเลยก็ได้ อันนี้คืออภิสิทธิ์ของคนมีรางวัล มันไปได้สุดกว่านี้อีก ถ้าเกิดคุณเป็นนักเขียนไม่มีรางวัล คุณก็จำเป็นต้องเขียนให้อ่านเข้าใจพอประมาณ โครงเรื่องแน่น ซึ่งเราอาจทำโครงเรื่องให้หลวมหรือทดลองวิธีการเขียนใหม่ๆ ก็ได้

รู้สึกอย่างไรกับคำพูดที่ว่าคนไทยไม่ให้ความสำคัญกับงานเขียน

เราต้องดูว่าสังคมให้ความสำคัญกับการให้คุณค่ากับสิ่งต่างๆ แค่ไหน ถ้ามองในมุมนั้น เราก็ไม่ได้น้อยเนื้อต่ำใจ สังคมไทยมีคนเก็บขยะดีเด่น หมอดีเด่นเยอะแยะ อย่างน้อยๆ เราก็เป็นข้อพิสูจน์ได้ว่าเงินไม่ใช่ข้อสำคัญที่สุด

เริ่มเขียนนิยายเล่มใหม่หรือยัง

เริ่มแล้ว เริ่มสองเล่มด้วยซ้ำ เนื่องจากว่าพอเขียนแล้วรู้สึกตันๆ รู้สึกอึดอัด ไม่รู้ว่าอันไหนจะเสร็จก่อนกัน วันนี้เขียนเล่มนี้ได้ก็เขียน เขียนเล่มนี้ไม่ได้ก็เขียนอีกเล่ม เราคิดว่ามันเริ่มอยู่ตัวแล้วกับการเขียน เริ่มสนุก รู้วิธีจัดการตัวเองเวลาเขียนแล้วเศร้าเกินไป เครียดเกินไป

เวลาเขียนเรามักจะหลุดเข้าไปในเรื่อง ตอนเขียนถึงจงสว่างก็นอนร้องไห้ไปกับเขาด้วย เรารู้สึกว่าถ้าคุณเขียนแล้วไม่เศร้า คนอ่านจะเศร้ากับคุณได้ไง คุณควรรู้สึกเท่าที่คุณต้องการเล่า บางครั้งความยากของการเขียนคือตรงนี้ เรารู้สึกว่าเรามีผู้คน (ตัวละคร) อยู่ในชีวิตมากเกินไป ผู้คนที่เรารู้สึกกับเขาเหมือนเพื่อน สนใจเขาพอๆ กับที่สนใจเพื่อน มันเลยเกิดคำถามว่า เราให้ความยุติธรรมกับเขาพอไหม เขาควรเจอแบบนี้ไหม เจอแล้วควรตายหรือไม่ อย่าหวังอะไรมากกับนักเขียน มันมีอะไรแปลกๆ เสมอ

เปิดคอร์สสอนการเขียนเพื่อรู้จักตัวเองใช่ไหม

เรารู้น้อยมากเกี่ยวกับการเขียนและการทำงาน ทุกอย่างด้นเอาหมดเลยช่วงที่ผ่านมา เราคิดว่าก็ทำได้ดีนะ ถ้าวัดจากมาตรฐานนั้น เราหาทางทำงานได้ เริ่มจากตัวเอง เราไม่ได้เรียนรู้จากงานของคนอื่นเท่าไหร่ ไม่มีแม่แบบชัดเจน

เราเปิดคอร์สเพื่อที่จะคุยกับคน ถามเขาว่าชีวิตเขามีอะไรบ้างที่สามารถใช้เพื่อเป็นนักเขียน ทางไหนที่ควรไป ควรมองหาอะไรในชีวิตในการมาเป็นนักเขียน แน่นอนเราไม่มีความรู้ที่จะบอกว่าเขียนนิยายวายยังไง light novel เราก็เขียนไม่เป็นค่ะ ถ้าเขียนเป็นคงรวยไปแล้ว รางวัลไม่ต้องก็ได้

ช่วงที่ผ่านมามีคนถามว่า เราหาวิธีการทำงานยังไง เราไม่ได้ใช้ Writer block แต่เราใช้ Deadline กระตุ้นปากท้อง

คนมักแบ่งนักเขียนหญิง/ชาย เช่นนักเขียนหญิงมักตื่นเช้ามาเขียน นักเขียนชายชอบหาพื้นที่สร้างบรรยากาศ

จริงๆ เราก็มีเวลาแบบนั้นบ้าง ทำงานโต๊ะกินข้าวที่บ้าน พยายามไม่วุ่นวายกับเรื่องนี้มาก เพราะมันไม่ช่วยให้งานดีขึ้น เราว่างานมันก็เท่ากับการเก็บเสื้อผ้าไปเขียนกลางแมกไม้ขุนเขา แต่กลับมาก็เน่าเท่าเก่า เรารู้สึกว่ามันเปลืองเงิน

คิดว่านักเขียนสูงส่ง เป็นผู้นำสังคมไหม

เราไม่รู้ว่าตรงไหนที่เรียกว่าสูงส่ง นักการเมืองก็อ้าง พระก็อ้าง ทหารก็อ้างอย่างนั้น ทุกคนต่างอ้างว่าอาชีพตัวเองสูงส่ง จริงๆ ไม่สามารถนับแบบนั้นได้ มันยังมีผู้พิพากษานั่งอยู่ป่าแหว่ง มีนักธุรกิจที่รวยมากไปยิงเสือดำเลย ฉะนั้นการที่ฉันเป็นนักเขียนแล้วมันไม่ได้ช่วยอะไรหรอก แค่งานอ่านได้ มีแฟนคลับ ได้ข้อคิดเล็กน้อยจากพวกเขา ความภูมิใจสำหรับเราอยู่ที่แฟนคลับเขียนมาบอกว่า หนูไปถามก๋งว่าครอบครัวเรามาจากไหน เราทำอะไรมาก่อน แค่นั้นสำหรับนักเขียนคนหนึ่งคือยิ่งกว่าปลื้ม เท่ากับว่านิยายคุณทำหน้าที่แล้ว อย่างน้อยเขาสงสัยถึงที่มาที่ไปของเขา การตั้งคำถามว่า ’ฉันเป็นใคร’ คือปฐมบทของการเขียนเรื่องทั้งเรื่อง มันทำให้เรารู้สึกว่า ถึงไม่มีเงินเราก็ตายตาหลับ

มีความเห็นอย่างไรกับการแปลไส้เดือนตาบอดฯ เป็นภาษาอังกฤษ เพราะนิยายมีความรุ่มรวยทางภาษามาก การเปลี่ยนเป็นภาษาอื่นคิดว่ามันยังรักษาเสน่ห์ตรงนี้ได้อยู่ไหม

เสน่ห์ทางภาษาอาจลดลง แต่เราเชื่อฝีมือของก้อง ฤทธิ์ดี เราได้หนังสือมาแล้วแต่ยังไม่ได้อ่าน แต่ค่อนข้างแน่ใจว่าเอาอยู่ แต่ความรุ่มรวยอาจจะน้อยลง เพราะมันต้องสื่อความหมาย คำถามคือว่าหากตัดเรื่องภาษา มันยังเป็นหนังสือที่ดีอยู่หรือไม่

มีงานแบบไหนที่อยากเขียนให้ได้สักครั้งในชีวิตไหม เป้าหมายยิ่งใหญ่ที่สุดของงานเขียนตัวเองคืออะไร

เป้าหมายใหญ่ที่สุดในงานเขียนยังไม่ได้คิด ไม่ค่อยเขียนแบบมีเป้าหมาย ถ้าเราสงสัยขุ่นข้องหมองมัวอะไร เราก็ตั้งโจทย์แล้วไหลไปกับมัน ความสนุกในการเขียน ความรื่นรมย์ในการเขียนก็น่าจะเป็นเป้าหมายที่เพียงพอต่อนักเขียนคนหนึ่งแล้ว ยิ่งใหญ่ที่สุดก็ยังนึกภาพไม่ออก

ส่วนงานที่อยากเขียนให้ได้ คือเรื่องผี อยากเขียนให้น่ากลัวเยี่ยวราด แต่กลัวผีเลยยังไม่ได้เขียน

มีช่วงเวลาที่ไม่อยากเขียนไหม แล้วจัดการกับมันยังไงบ้าง

ไม่มี เพราะเราสนุกกับมัน เราคิดว่ามันเป็นความลับของนักเขียนบางคน ทำยังไงให้คุณรู้สึกว่าตอนเช้านั่งหน้าคอมฯ แล้วพิมพ์ไปได้เรื่อยๆ แล้วตอนบ่ายก็ลบทิ้ง แต่ก็ยังรู้สึกแบบนั้นทุกเช้าอยู่ดี เราคิดว่าตัวเองโชคดีที่เข้าไปอยู่จุดนั้นของการทำงาน ซึ่งเหมือนกับจิตรกร นักแต่งเพลง ประมาณนั้น

คิดอย่างไรที่มีคนพูดว่าประเทศนี้คนอ่านหนังสือน้อย

เราคิดว่าประเทศนี้คนอ่านหนังสือเยอะ แต่ว่าคุณไม่อยากนับนิยายวายต่างหาก นิยายวายขายดีมาก light novel ขายดี การ์ตูนก็ขายดี ขึ้นอยู่กับว่าเราเรียกการอ่านว่าอะไรบ้าง ถ้าพูดถึงเรื่องวรรณกรรม สัดส่วนวรรณกรรมทั่วโลกเท่ากัน ประมาณ 10 % ของหนังสือที่ถูกอ่านทั้งหมด

เราคิดว่าการอ่านก็มีอยู่เสมอ ทั้งอ่านการ์ตูน อ่านไลน์ อ่านบทความ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะนับอะไรบ้าง เป็นการอ่านไหม เท่านั้นเอง

จะแนะนำให้นายกฯ อ่านหนังสือของตัวเองหรือเปล่า

แนะนำให้นายกฯ ทุกคนอ่านของเราแหละ แต่คนปัจจุบันอาจยากนิดนึง เลยแนะนำให้คนปัจจุบันอ่านของทุกคนเลย ไม่ใช่แค่ของเรา อ่านเยอะๆ เลย เป็นนายกทั้งที

วีรพร นิติประภา

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save