วรัญญา บูรณากาญจน์ เรียบเรียง
ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มีหลายเหตุการณ์ที่เป็นข่าวคึกโครมในประเทศไทย เกี่ยวข้องกับคนใหญ่คนโตที่มีพฤติการณ์ไม่ชอบมาพากล ตั้งแต่เรื่องเข้าป่าล่าเสือดำ นาฬิกาหรูของผู้มีอำนาจ จนถึงกรณี ‘ป่าแหว่ง’ จากการสร้างบ้านพักตุลาการบนดอยสุเทพ
โดยเฉพาะในกรณี ‘เสือดำ’ มีคนให้ความสนใจและออกมาเคลื่อนไหวทางสังคมจำนวนมาก เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เพียงปัญหาของใครคนหนึ่ง แต่เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อทุกคน ภาพการรวมกลุ่มเพื่อแสดงความไม่พอใจจึงค่อยๆ ปะทุมากขึ้น
ปรากฏการณ์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นอะไร ส่งผลต่อสังคมในแง่มุมใดบ้าง และเราสามารถถอดบทเรียนจากกรณีต่างๆ ได้อย่างไร
101 ชวน วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ หรือที่คนในวงการสื่อเรียกกันว่า ‘พี่จอบ’ อดีตบรรณาธิการนิตยสารสารคดี อดีตรองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) และยังเป็นนักเคลื่อนไหวในแวดวงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมายาวนาน มาร่วมอ่านปรากฏการณ์เหล่านี้ของสังคมไทย ผ่านรายการ 101 One-on-One ดำเนินรายการโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์
ต่อไปนี้คือบทสนทนาที่เราเรียบเรียงมาให้อ่านกันแบบคำต่อคำ
กรณีที่คุณเปรมชัยพร้อมกับพรรคพวกอีก 3 คนถูกจับในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เพราะไปตั้งแคมป์ มีการล่าสัตว์ พบทั้งซากไก่ป่า เก้ง และเสือดำ ทำให้สังคมตื่นตัวมาก ที่สังคมตื่นตัวอย่างนี้เป็นเหตุการณ์ปกติที่คาดหมายได้อยู่แล้วหรือเปล่า
เรื่องนี้มีปัญหาที่ลึกลงไปกว่าการล่าสัตว์นะ เพราะสังคมรู้สึกว่ามันคือปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำและความอยุติธรรมที่ว่าคนรวยสามารถทำได้ทุกอย่าง โดยเฉพาะในช่วงหลังมีกรณีเหล่านี้เยอะขึ้น
ก่อนหน้านี้เป็นกรณีของลูกชายเจ้าของกระทิงแดงที่ขับรถเฟอร์รารี่ชนตำรวจเสียชีวิต ผ่านมา 5 ปีแล้ว แต่คดีค่อยๆ เขยิบไป ถ้ายังจำได้ตอนที่ตำรวจตายใหม่ๆ ผู้บัญชาการตำรวจสมัยนั้นประกาศก้องเลยว่า ตำรวจจะไม่ตายฟรีเด็ดขาด แต่ผ่านไป 5 ปีแล้ว คดีที่ถูกตั้งไว้ค่อยๆ หลุดไปทีละคดีสองคดี จนกระทั่งเหลือคดีเดียว สะท้อนได้ว่าคดีเสือดำคงซ้ำรอยแน่นอน
ต่างกันแค่ว่ากรณีนี้ ข่าวมาจากโซเชียลมีเดีย ไม่ได้มาจากสื่อหลัก เลยกลายเป็นไฟลามทุ่ง และที่สำคัญคือเรื่องนี้ไม่มีการแตกแยกของสีทางการเมือง ดังนั้นคนไม่ว่าจะอยู่สีไหนก็ตามจะรู้สึกได้ว่าเรื่องนี้ไม่เป็นธรรม ทำให้ความไม่พอใจแผ่ซ่านไปเยอะ
เห็นบทความที่คุณวันชัยเขียนลง 101 ว่า สุดท้ายแล้วคดีนี้ไปไม่ถึงไหนหรอกที่จะเอาผิดคนฆ่าเสือดำ ตอนนี้ยังเชื่ออยู่หรือไม่
ยิ่งเชื่อมากขึ้นจากที่ติดตามข่าว เพราะเห็นเลยว่าหลักฐานสำคัญที่จะทำให้ผู้ต้องหาติดคุกได้ คือ พิสูจน์ได้ว่าฆ่าเสือจริง ตอนนี้พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครยิงเพราะรอยเขม่าก็เริ่มจางหายไปแล้ว ไม่สามารถระบุได้ว่าปืนเป็นของใคร ถึงจะมีซากศพเสือในครอบครองก็ตาม เพราะเขาอ้างได้ว่า วันที่เกิดเหตุผมไม่ได้อยู่ แล้วด้วยเทคนิคทางกฎหมายของฝ่ายนั้นก็จะพยายามทำให้ทุกอย่างซับซ้อนไปเรื่อยๆ จนคนเริ่มเลิกตามข่าวไปเอง
ผมเทียบเคียงกรณีล่าสัตว์ทุ่งใหญ่ฯ เมื่อปี 2516 ที่นายทหารกับดาราชื่อดังใช้เฮลิคอปเตอร์ล่าสัตว์ บังเอิญเรื่องแดงขึ้นมาเพราะว่าเฮลิคอปเตอร์ดันตก และพบซากสัตว์จำนวนมาก ทหารใช้เวลานานหลายปีในการตัดสิน สุดท้ายหลุดหมด ยกเว้นนายพรานที่ไม่มีอิทธิพลคนเดียว เพราะพิสูจน์ไม่ได้ว่านายทหารเป็นคนยิง
คิดว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวจะเป็นกระแสซาลงตามกาลเวลาไหม
ยังไม่ลืมหรอกครับ เพียงแต่ว่าตอนนี้ยังไม่มีอะไร แต่ถ้ามีการตัดสินเกิดขึ้นแล้ว คลื่นความไม่พอใจจะกลับมา ผมอยากเทียบเคียงเรื่องนี้กับกรณีตายายบุกป่า ฝ่ายตายายอาจถูกอ้างว่าไปบุกรุกพื้นที่ป่าได้ แต่กรณีเสือดำ ความรู้สึกเห็นใจเยอะกว่ามาก เพราะอยู่ดีๆ มันก็ตาย และคนที่ยิงเป็นเศรษฐีที่ผู้มีอำนาจเกรงใจ อย่างที่เราเห็นว่าโครงการต่างๆ ของประเทศตอนนี้ บริษัทที่เศรษฐีผู้นี้เป็นเจ้าของนั้นก็ประมูลมาค่อนข้างเยอะ พอเป็นอย่างนี้ทำให้คนเห็นความเหลื่อมล้ำและความไม่ยุติธรรมเยอะขึ้น
กลับมาที่การล่าสัตว์ทุ่งใหญ่ตอนปี 2516 ซึ่งเกิดความไม่พอใจจนนำไปสู่เหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม คุณวันชัยมองว่ากรณีล่าสัตว์ในปี 61 จะเกิดอะไรที่ทำให้สั่นสะเทือนระบอบอำนาจในสังคมได้ขนาดนั้นไหม
คนไม่พอใจเยอะ แต่การแสดงออกมันเปลี่ยนไป อย่างสมัยก่อนเราไม่รู้จะแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยอย่างไร เราก็ต้องมาเดินขบวน สมัยนี้ไม่พอใจก็แชร์ลงเฟซบุ๊ก เพราะฉะนั้นการที่กรณีเสือดำจะทำให้มีคนหลายแสนมาชุมนุมก็คงเป็นไปได้ยาก แต่อาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนรู้สึกถึงความเหลื่อมล้ำ ความไม่จริงใจของรัฐบาลในการแก้ปัญหา เพราะคนจะรู้สึกว่าสุดท้ายแล้วรัฐกับผู้มีอำนาจ และคนมีเงินก็เป็นพวกเดียวกันตลอด
คุณวันชัยมองว่ากระแสสังคมในยุคนี้ที่ตื่นตัวในโลกออนไลน์ ก็มีผลทำให้คนไม่ลงถนนด้วยหรือเปล่า
แล้วแต่ประเด็น ถ้ามีประเด็นที่แหลมคมมากกว่าเสือดำอาจมีคนเข้าร่วมเยอะขึ้น หรือไม่ตอนนี้ก็ยังไม่ถึงจุดไคลแมกซ์ที่คนจะออกมาก็ได้
ประเด็นคนประท้วงเรื่องบ้านพักตุลาการที่จังหวัดเชียงใหม่ ก็เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นเหมือนกันใช่ไหม
เป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจนและใกล้ตัวมาก เพราะว่าบ้านพักตุลาการสร้างอยู่ตีนดอยสุเทพเลย ถ้าไปแอบทำยังรู้สึกน้อยกว่านี้ แล้วกรณีนี้ยังไม่ผิดกฎหมายด้วยนะครับ สะท้อนว่าคนมีอำนาจร่างกฎหมายเอง จะทำอะไรก็ได้ จะออก พ.ร.บ. ออก พรฎ. ยกที่ดินมาใช้ได้หมด
ผมพูดตามจริงนะ ถ้าไม่ทำตรงที่ชันแล้วไปทำที่ราบก็ไม่มีใครรู้สึกขนาดนี้หรอก แต่ดันไปทำบนทางชัน เวลาถ่ายภาพทางอากาศลงมาก็เห็นเลยว่าเป็นพื้นป่าแหว่งเหมือนโดนบัตตาเลียนไถ แต่สังเกตไหมว่า รัฐรู้สึกว่าต้องแก้ปัญหา เพราะคงเห็นในกระแสโซเชียลว่า ขนาดผู้พิพากษา มวลชนยังไม่เกรงใจเลย
คุณวันชัยคิดอย่างไรกับกระแสโซเชียลมีเดีย ทั้งของกรณีเสือดำและบ้านพักตุลาการที่หนักมาก
สังเกตนะครับว่าสองประเด็นนี้เป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม และเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ไม่มีใครมีผลประโยชน์ ถ้าเรามองประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เมื่อมีประเด็นสิ่งแวดล้อมจุดขึ้นมา มันสามารถลุกลามไปสู่ปัญหาอื่นๆ ที่คนไม่พอใจได้
อย่างกรณีทุ่งใหญ่นเรศวรเมื่อปี 16 แสดงให้เห็นเลยว่ามีความไม่พอใจมากจากการที่อภิสิทธิ์ชนสามารถล่าสัตว์ได้ และคนจะเริ่มรู้สึกว่าความไม่เป็นธรรมอย่างนี้เกิดจากอะไร ใครเป็นผู้ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม เพราะฉะนั้นผมเลยคิดว่า เมื่อคนเริ่มมีจิตสำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อมขึ้นมา ปัญหาอื่นๆ จะค่อยแสดงขึ้นมา เพราะเรื่องสิ่งแวดล้อม แม้แต่คนที่มีความคิดทางการเมืองไม่ลงรอยกัน เขายังมีความเห็นตรงกันได้เลย
ถ้าอย่างนั้น ประเด็นสิ่งแวดล้อมจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาพใหญ่ได้ไหม
ถ้าวิเคราะห์ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างลึกๆ มันลงไปถึงเรื่องการเมืองได้นะครับ ปัญหาสิ่งแวดล้อมจะทำให้คนหลอมละลายมารวมกันสู้ตรงนี้ได้ อย่างในสมัยคุณยิ่งลักษณ์ก็มีเรื่องเขื่อนแม่วงก์ แต่อันที่จริงแล้วเขื่อนแม่วงก์ต่อสู้กันมานาน 30 ปี ฝ่ายอนุรักษ์เขาก็ประท้วงกันมาตั้งแต่สมัยชวน บรรหาร เปรม ฯลฯ ยาวนานมาก
อย่างนี้เกี่ยวหรือเปล่า ว่าการที่ใครเป็นนายกฯ นั้นส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของชนชั้นกลาง
ถ้ากรณีเสือดำไม่ได้เกิดในรัฐบาลทหารที่มีการห้ามชุมนุมอย่างนี้ ผมคิดว่าคนคงลงถนนเยอะและสนุกกว่านี้ แต่นี่ติดเรื่องคำสั่ง คสช. ตั้งแต่ตอนเขื่อนแม่วงก์แล้ว นอกจากคนชนชั้นกลางจะสนใจเรื่องเขื่อน ผมคิดว่าส่วนหนึ่งอาจไม่พอใจในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ด้วยจึงออกมาผสมโรง
แต่อย่างกรณีป่าแหว่งนี่คนไม่กลัวนะ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเหตุเกิดที่ต่างจังหวัด อีกส่วนคือคนรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว แต่รัฐบาลฉลาดที่ยอมถอย เพราะเขากลัวประเด็นจะจุดติด เนื่องจากป่าแหว่งไม่ใช่เรื่องของสีใดสีหนึ่งเท่านั้น อย่างไรก็ตามถ้าเอาเรื่องป่าแหว่งมาชุมนุมในกรุงเทพฯ ก็คงไม่ได้ใหญ่เท่าเชียงใหม่อยู่แล้ว เพราะคนละพื้นที่กัน และคนเชียงใหม่ถือว่าดอยสุเทพเป็นพื้นที่สำคัญและศักดิ์สิทธิ์ของเขา
เราจำเป็นต้องทำให้คนชนชั้นกลางที่สนใจเรื่องเสือดำ ไปสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมทางโครงสร้างอย่างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่สงขลา หรือไม่ครับ แล้วคุณวันชัยเห็นการเปลี่ยนแปลงของขบวนการต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมบ้างไหมครับ
ต้องเข้าใจก่อนนะครับ ว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่คนไม่ค่อยสนใจกัน อย่างเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เป็นเรื่องใหญ่เหล่านี้ ยกเว้นจะเป็นเรื่องสะเทือนใจ อย่างกรณีปลาวาฬตายเพราะมีขยะพลาสติกเต็มท้อง
เรื่องขบวนการต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อม เราสู้กันหลายประเด็นมาก แต่อาจห่างไกลคน โดยเฉพาะการตั้งโรงไฟฟ้าที่ไปตั้งในต่างจังหวัด ชาวบ้านในพื้นที่เขาประท้วงกัน แต่คนในเมืองก็ไม่ได้สนใจ อย่างกรณีท่าเรือปากบาราที่เป็นโครงการใหญ่ ทั้งที่กระทบต่อคนจำนวนมหาศาล แต่คนก็ไม่สนใจ เพราะเป็นเรื่องไกลตัว
อย่างนี้จะทำอย่างไรให้คนหันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมดังกล่าว
ก็ต้องขึ้นอยู่กับนักอนุรักษ์ด้วยว่าเขาจะเชื่อมโยงและทำให้คนสนใจเรื่องนี้ได้อย่างไร อย่างเรื่องเสือดำ เราจะสามารถนำไปสู่การปกป้องพื้นป่าทุ่งใหญ่ได้ไหม อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ของคนที่ทำงานในวงการอนุรักษ์
ปัญหาของการต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมไม่ใช่แค่ประชาชนไม่สนใจนะครับ รัฐบาลยิ่งไม่สนใจใหญ่เลย อย่างสมัยก่อนที่มีการตั้งกระทรวงสิ่งแวดล้อมขึ้นมา ในแวดวงเขาเรียกกันว่ากระทรวงเกรด C ไม่มีใครอยากมาอยู่ แล้วบางทีก็เอารัฐมนตรีที่ไม่รู้ว่าจะลงที่ไหนได้มาลง ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ตาม ไม่มีใครมาสนใจเรื่องนโยบายสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง
แล้วองค์กรด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของไทยเป็นอย่างไรบ้าง เพราะองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมน่าจะมีคนที่อยากทำงานเคลื่อนไหวสนใจเยอะ เติบโตบ้างหรือไม่ในช่วงที่ผ่านมา
ส่วนตัวผมมองว่าโตนะ แต่ไม่ได้โตอย่างก้าวกระโดด กรณีเสือดำและป่าแหว่งก็มีคนมาร่วมเยอะ ถึงตัวองค์กรอนุรักษ์จะไม่ได้โตเยอะมาก ถ้าผมเอามูลนิธิสืบ นาคะเสถียรเป็นตัวชี้วัดนะ ผมก็เห็นว่าโตขึ้นอยู่บ้างจากอาสาสมัครที่มาร่วมงานด้วย แต่ผมไม่รู้ว่าองค์กรอื่นเป็นอย่างไร เพราะความยั่งยืนขององค์กรอนุรักษ์ในไทยมีปัญหา โดยเฉพาะเรื่องแหล่งทุนสนับสนุน แล้วเพราะเงื่อนไขงบประมาณนี้ ถึงคนจะสนใจเยอะ แต่คนที่เข้ามาลุยเลยก็ไม่ได้เยอะมาก
ในหลายโครงการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่รัฐทำก็มีปัญหาจากโครงสร้างการเมืองภาพใหญ่แล้วคนที่เข้ามาเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อมควรจะเคลื่อนไหวเรื่องการเมืองไหม
จากมุมมองของคนที่ผ่านมาเยอะนะครับ ผมมองว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไม่ได้มีนัยยะร่วมกับสิ่งแวดล้อมโดยตรง เพราะไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนก็ไม่ได้สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยยะสำคัญ คนที่เคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมบางคนก็เลยรู้สึกว่าไม่อยากยุ่งการเมืองแล้ว ในขณะที่ฝ่ายประชาธิปไตยจะมองว่า เฮ้ย ถ้าเราไปเปลี่ยนโครงสร้างและยึดอำนาจ เราก็จะได้คนของเราเอง แต่ว่าเขาก็ผ่านกันมาไม่รู้กี่สิบปีแล้ว ไม่ได้อะไรเลย แต่ถ้าถามว่าเขาไว้ใจเผด็จการกันไหม เขาก็ไม่ได้ไว้ใจ ยกเว้นแต่ถ้ามีปัญหาสิ่งแวดล้อมบางเรื่องที่เผด็จการสนใจมากกว่า ก็อาจร่วมด้วย ขึ้นอยู่กับว่าเขาเคลื่อนไหวเรื่องอะไร
แสดงว่าในขบวนการสิ่งแวดล้อมเองก็มีท่าทีต่อประเด็นทางการเมืองต่างกัน
ต่าง บางคนก็เอารัฐประหาร บางคนก็ไม่เอา มีหลายแบบ แต่เราเข้าใจกันไง
พูดถึงประเด็นทางการเมือง การทำงานของสื่อเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในสมัยคุณวันชัยทำงานไทยพีบีเอสเมื่อปี 2555 – 2558 ที่เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งทางการเมืองที่สำคัญครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะความแตกต่างระหว่างก่อนกับหลังรัฐประหาร
ก่อนรัฐประหารสื่อส่วนใหญ่เป็นสื่อธุรกิจ ดังนั้นเขาก็ไม่อยากมีเรื่องกับรัฐบาลอยู่ดี เพราะถ้ามีเรื่องกับรัฐก็จะมีปัญหาเรื่องสปอนเซอร์ตามมา บางสื่อได้รายได้หลักจากสปอนเซอร์รัฐด้วยซ้ำ เป็นเรื่องปกติมานานแล้วที่สื่อทีวีมักจะเซนเซอร์ตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นช่องใดก็ตาม กองบรรณาธิการก็มักจะโดนเจ้าของธุรกิจโทรมาบอกว่าอะไรที่ห้ามเล่น อะไรที่ต้องเอาออกไป อย่างไรก็ตามกองบรรณาธิการที่เป็นมืออาชีพจำนวนมากก็มีความพยายามที่จะผลักดันการทำงานเท่าที่จะทำได้อยู่แล้ว
ส่วนในไทยพีบีเอสเองช่วงที่ผมอยู่ ก็มักจะโดนผู้มีอำนาจโทรมาอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็โดนหมด เพราะนักการเมืองจำนวนมากเข้าใจว่าไทยพีบีเอสเป็นสื่อของรัฐ สุดท้ายแล้วก็อยู่ที่เราประคองตัวไป เหมือนเราไต่เส้นลวด ต้องไต่เส้นลวดให้ดี
ยกตัวอย่างตอนที่ผมเป็นรองผู้อำนวยการ ผมส่งคุณภิญโญไปสัมภาษณ์ทักษิณ เพราะว่าตอนนั้นเลือกตั้งพอดี โดนด่าเละเทะ ทั้งที่จริงเราไปสัมภาษณ์หมด อย่างอภิสิทธิ์เราก็ไปสัมภาษณ์ เพราะเราถือว่าเราเปิดพื้นที่ให้เท่ากันทุกฝ่ายนะครับ
ไทยพีบีเอสนี่โดนด่าจากทุกสี ช่องนี้โดนทั้ง กปปส. และเสื้อแดงมายึดช่อง ของ กปปส. เข้ามายึดเลย ข้อเรียกร้องของเขาคือจะให้ไทยพีบีเอสเชื่อมต่อกับบลูสกาย ให้ถ่ายทอดสดการชุมนุม แต่ผมไม่ยอม ก็คุยกันว่าจะตัดเอาเฉพาะบางส่วนเข้ามา ส่วนเสื้อแดงก็เรียกร้องให้ปิดช่องไม่อย่างนั้นจะมาบุก เราก็ต้องเจรจาผ่อนหนักเป็นเบา
ส่วนหลังรัฐประหาร ทาง คสช. ออกประกาศมาเยอะแยะเลย แสดงให้เห็นว่าเราทำอะไรไม่ได้มาก เพราะห้ามทุกอย่างเลย ก่อนหน้านี้ไทยพีบีเอสก็โดนอนุกรรมการด้านเนื้อหาของ กสทช. เชิญไปบอกว่าอันนี้ละเมิดกฎบ้าง ให้พื้นที่ข่าวเอียงไปทางหนึ่งบ้าง เนื้อหาที่โดนส่วนใหญ่ก็เรื่องการเมือง เช่นตอนที่เราไปสัมภาษณ์นักศึกษาที่ประท้วง คสช.
จำได้ว่าวันรัฐประหารเมื่อปี 57 คุณวันชัยถูกทหารมาเอาตัวจากสถานีไป ตอนนั้นเป็นอย่างไร
เขาประกาศรัฐประหารเมื่อประมาณ 4 โมงครึ่ง แล้วห้ามทุกช่องออกอากาศ ในไทยพีบีเอสตกลงกันว่าจะไม่ออกอากาศในทีวี แต่ออกอากาศออนไลน์ในยูทูปแทนและรายงานข่าวเหมือนข่าวปกติ ฝ่ายทหารพยายามมากดดันให้เลิก ผมก็ยื้อไปเรื่อยๆ ประมาณ 2 ชั่วโมง จนทหารรู้สึกกัดดันว่าช่องอื่นจะเอาบ้าง เขาเลยเข้ามาที่ห้องควบคุมออกอากาศที่ผมรับผิดชอบอยู่ ผมก็รู้สึกว่าได้ออกอากาศตั้ง 2 ชั่วโมงกว่า พอหอมปากหอมคอ เลยยุติการออกอากาศ
เราดื้อไปได้ 2 ชั่วโมงแค่นั้น เพราะเขาขู่ชนิดที่ว่าจะเอาทหารจากต่างจังหวัดมาจัดการ ผมมองว่าเดี๋ยวจะมีอันตรายเกิดขึ้นกับพนักงาน เลยทำเท่านั้น พอยุติการออกอากาศเสร็จเขาก็เอาตัวเราไปด้วยข้อหาฝ่าฝืนอัยการศึก ทหารก็พาขึ้นรถตู้ไปลงที่กรมทหารราบที่ 11 เอาไปนั่งเฉยๆ ดื่มกาแฟสักประมาณ 5 ชั่วโมง
ผมคิดว่าช่วงเวลาที่ผมโดนกักตัวมีข่าวออกไปนอกประเทศแล้วว่า รองผู้อำนวยการไทยพีบีเอสโดนจับ คือนอกจากเป็นคนแรกที่โดนจับแล้วยังเป็นสื่อสาธารณะด้วย ข่าวเลยไปกว้าง เขาเลยปล่อยตัว
หลังจากที่สถานีกลับมาเปิด มีเสรีภาพในการเลือกประเด็นเสนอมากน้อยแค่ไหน แล้วถูกจับตามากขึ้นไหมครับ
ตัวผมก็ถูกเพ่งเล็งมากขึ้น พรรคพวกที่เป็นทหารก็มาเตือนให้ระวังตัวหน่อย เสรีภาพก็มีน้อยลงเพราะว่าทหารจับตามองดูอยู่ มีการมานั่งในสถานี มาแสดงตัว หรือถ้ามีอะไรจริงจังก็โทรหาคนที่รับผิดชอบตรงนั้นเลย หลายครั้งก็ต้องไป กสทช. เพื่อชี้แจง เพราะว่าตัว คสช. ส่งต่ออำนาจคำสั่ง 97/2557 ไปให้ กสทช. ทำแทน
นอกจากเรื่องสัมภาษณ์นักศึกษากลุ่มดาวดินแล้วมีเรื่องอะไรไหมครับที่โดน กสทช. เรียกไปคุย
เป็นเรื่องการเมืองนี่แหละ 2-3 เรื่อง แต่ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร หลังจากนั้นเราก็รัดกุมมากขึ้น ช่วงแรกทำอะไรไม่ได้เลยนะ ยากมาก เพราะว่าเขาประกบเลย ยิ่งช่องไทยพีบีเอสที่แสบอยู่แล้ว ก็ถูกจับตาดูเป็นพิเศษ อย่างตอนที่เขาจะเปิดสถานีโทรทัศน์ เขาจะให้เปิดทุกช่องยกเว้นไทยพีบีเอสนะ แต่สุดท้ายเขากลัว เลยให้เปิดหมด
ในช่องเองมีปัญหาจากการนำเสนอเรื่องที่เขาไม่อยากให้นำเสนอไหม
มีครับ เพราะว่าไทยพีบีเอสเป็นองค์กรใหญ่ หลายคนอยากอยู่สงบสุข ถ้าช่องถูกปิด เขาก็ตกงาน
หลังจากออกจากไทยพีบีเอสมาอยู่ PPTV คือช่วงปีไหน แล้วเป็นอย่างไรบ้าง
เข้ามาอยู่ตอนปี 59 ครับ ช่อง PPTV เป็นช่องขนาดเล็ก และมีนักข่าวประมาณ 20 คน ซึ่งน้อยเมื่อเทียบกับนักข่าวในไทยพีบีเอสที่มีเกือบ 100 คน แต่ว่านักข่าวในช่อง PPTV น้องๆ เขามีอุดมคติ ไฟแรง ผมก็ให้แนวคิดว่าเราเป็นแค่ทีมเล็ก เราต้องโฟกัสให้ชัด เหมือนเป็นคนแม่นปืน เพราะกระสุนเราจำกัด ยิงเยอะมากไม่ได้ แต่เราก็อย่าทำเรื่องที่แหลมมากนักเพราะเดี๋ยวมีปัญหา เราแค่ต้องไต่เส้นลวดให้คนรู้สึกว่าช่องนี้มันกล้าบ้าง
เรื่องอะไรที่คิดว่าเขาน่าจะเพ่งเล็งบ้างตอนทำ PPTV
เรื่องบ้านพักตุลาการนี่ก็ใช่ แล้วก็มีเรื่องก่อนหน้านาฬิกา คือเรื่องลูกชายคุณปรีชาที่จดทะเบียนตั้งบริษัทในค่ายทหาร แต่เราไม่ได้เป็นคนเปิดประเด็นเอง เราแค่ทำประเด็นอย่างต่อเนื่อง อันที่จริงเราก็เล็งเป้าไว้เยอะ เพียงแต่เรื่องที่คนสนใจและอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น อย่างเรื่องนาฬิกา เราก็เป็นช่องแรกที่ไปสัมภาษณ์เจ้าของเพจ CSI ที่เป็นคนเปิดประเด็นเรื่องนี้
หลังจากนั้นก็มีสัญญาณที่ทำให้รู้สึกแล้วว่าถูกเพ่งเล็ง เพราะว่ามีนายทหารชั้นสูงมาแนะนำตัวและทำความรู้จัก มาจากหน่วยนี้อย่างนี้ แล้วก็บอกว่ารู้จักพี่วันชัยตั้งแต่โดนจับเมื่อปี 2557 แล้ว
แล้วทำไมถึงลาออกจาก PPTV
เท่าที่ทราบนะครับ ผมแสดงทัศนะที่แตกต่างไปกับรัฐบาลมากในเฟซบุ๊ก ทำให้หน่วยงานความมั่นคงอาจรู้สึกว่าข่าวของ PPTV ที่ออกมาค่อนข้างแหลม อาจเพราะว่าผมซึ่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายข่าวมีส่วน แต่จริงแล้วผมก็ไม่ได้มีส่วนเยอะอยู่แล้ว เพราะว่านักข่าวน้องๆ เขาก็เป็นมืออาชีพกัน
แล้วระยะหลังมานี่ข่าวของ PPTV ได้รับความนิยมสูงมาก เขาคงรู้สึกไม่ค่อยสบายใจเลยอาจไปคุยกับผู้ใหญ่ของช่อง เราเลยตัดสินใจลาออก แต่หลังจากที่เราลาออก เราก็เห็นว่าเขายังทำข่าวเหมือนเดิมนะครับ
คุณวันชัยได้เอาวิธีคิดหรือประสบการณ์สมัยที่ทำนิตยสารสารคดีมาใส่กับทีวีเยอะไหม
เยอะเลยครับ การทำนิตยสารสารคดีมีข้อดีคือทำให้เรามีข้อมูลเยอะในทุกเรื่อง เราสามารถบอกเบื้องหลังของปรากฏการณ์ต่างๆ และเล่าอธิบายให้น้องฟังได้ เด็กรุ่นใหม่มักจะชินกับการทำข่าวรายวันอาจไม่สามารถอธิบายความเป็นไปเป็นมาได้เท่าไหร่ แต่การทำสารคดีทำให้เราสามารถอธิบายความเป็นมาเรื่องนี้และถ่ายทอดลงในข่าวได้ ทำให้ข่าวดูลึกขึ้น
การทำประเด็นที่แหลมคมทำให้ถูกจับตาจากผู้มีอำนาจอย่างนี้ ช่องอื่นประสบปัญหามากน้อยกว่าเราไหม
ผมคิดว่าช่องอื่นอาจปรับตัวได้เร็วกว่า เพราะช่องอื่นอาจไม่ได้รู้สึกว่าต้องทำอะไรที่แหลมอย่างนี้อยู่แล้ว เว้นแต่ช่องที่มีภารกิจที่ต้องทำข่าวตอบสนองต่อสาธารณะอย่างไทยพีบีเอส
สามารถสรุปได้ไหมว่า ยุครัฐบาลทหารหรือรัฐบาลเลือกตั้งนั้นต่างก็มีความพยายามในการควบคุมสื่อ เพราะฉะนั้นสำหรับผู้บริโภคเองควรจะรู้เท่าทันสื่อด้วย
สื่อหลักไม่ว่าจะเป็นสื่อทีวีหรือสื่อหนังสือพิมพ์ ต่างก็อยู่ได้ด้วยสปอนเซอร์ ดังนั้นการอยู่รอดทางธุรกิจจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเขา โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ที่คนเริ่มไม่ดูโทรทัศน์ เขาก็ยิ่งไม่อยากจะมีเรื่องกับใครใหญ่เลย
หรือแม้กระทั่งสื่อออนไลน์ ถามว่าสื่อออนไลน์จะเลี้ยงตัวเองได้ไหม ถ้าทำสื่อหนักๆ ก็อาจลำบาก แต่ถ้าสื่อออนไลน์ที่ทำข่าวเบาๆ นี่โฆษณาเพียบ ไม่ว่าสื่อไหนที่ทำข่าวค่อนข้างแหลมก็ต้องยอมรับความจริงที่ว่าสปอนเซอร์ไม่ได้อยากมีปัญหาด้วย เพราะว่าเสรีภาพไม่ได้มาพร้อมกับปากท้อง
คุณวันชัยทำงานผ่านมาหลายรัฐบาล หลายรัฐประหาร มีคำอธิบายไหมว่าทำไมสังคมไทยจึงยอมให้ผู้มีอำนาจกระทำอย่างนี้ได้
การที่เราได้รัฐบาลแบบไหนก็สะท้อนนะว่าคุณภาพของคนในประเทศนี้เป็นอย่างไร อย่างในอำนาจทหาร คนในสังคมอาจไม่ต้องคิดอะไรมากเพราะได้อยู่อย่างสงบๆ ใครก็ได้มาปกครอง ไม่อยากต่อสู้ ไม่ต้องทำอะไรแล้ว ไม่อยากยุ่งการเมือง เพราะแค่นี้ก็ยังหาเงินผ่อนเครดิตการ์ดไม่ได้เลย ผมเคยคิดว่าทำไมคนไทยถึงดูละครน้ำเน่าได้ขนาดนี้ ไม่ใช่ความผิดของคนทำละครนะแต่เป็นคนดู
คุณวันชัยมีบทบาทในการเติบโตของสังคมไทยหลายประเด็น มีความสนใจอะไรที่คิดว่าจะต้องทำอีกไหม
ผมก็ยังอยากทำคอนเทนต์ให้ดีและน่าเชื่อถือ เป็นสิ่งที่ทำมาตั้งแต่อยู่สารคดีและพยายามที่จะทำในไทยพีบีเอสและ PPTV แต่อาจไม่ใช่การทำสื่อก็ได้ เช่น การเขียนสเตตัสลงบนเฟซบุ๊ก
ผมยกตัวอย่างเมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว ตอนนั้นนั่งเครื่องบินไปเชียงใหม่ ผมมองลงไปข้างล่าง เห็นภูเขาหัวล้านสุดลูกหูลูกตาเลย ช่วงนั้นก็มีปัญหาเรื่องหมอกควันพิษ เราก็พิมพ์ลงบนเฟซบุ๊กสั้นๆ ว่า ปัญหาหมอกควันพิษและน้ำแล้งมาจากการเผาข้าวโพด แล้วการเผาข้าวโพดก็มาจากการที่ให้ชาวบ้านต้องไปปลูกข้าวโพด แค่นั้น คนเข้าไปอ่านประมาณ 5 แสนคน สื่อเอาไปทำข่าวต่อ
หรืออย่างเรื่องเสือดำ ผมก็เขียนลงบนเฟซบุ๊กหลังจากเกิดเรื่องไม่กี่ชั่วโมง ก็มีคนเข้าไปอ่านเป็นล้าน แสดงให้ผมเห็นว่า ถ้าเป็นคอนเทนต์ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ก็สะเทือนจริงๆ
คุณวันชัยยังมีความหวังกับสังคมและสื่อไทยอยู่ไหม
ผมชอบคำพูดหนึ่งนะ Don’t expect but hope ไม่ต้องคาดหวังแต่มีความหวัง ผมหวังว่าสังคมไทยจะดีขึ้น
[box]
จุดเริ่มต้นความสนใจด้านสังคม และชีวประวัติของวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
ความสนใจในด้านสังคมของ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ หรือ พี่จอบ เริ่มขึ้นเมื่อตอนอายุประมาณ 13 ปี สมัย ป. 7 หลังจากเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 พี่สาวของเขา วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ หรือ พี่มด ได้พาเขาไปที่ธรรมศาสตร์เพื่อเยี่ยมชมนิทรรศการจีนแดง ไปดูวงท.เสนและสัญจร ซึ่งเป็นวงคาราวานในเวลาต่อมา รวมทั้งไปพบกับหนังสือของจิตร ภูมิศักดิ์
ไม่นานนักเขามีโอกาสไปช่วยสอนหนังสือที่สลัมคลองเตย ร่วมกับ ครูประทีป อึ้งทรงธรรม พอขึ้น ม.ศ. 1 (ปัจจุบันเทียบเท่ากับม.2) ก็ได้เริ่มไปออกค่ายอัสสัมชัญอาสาพัฒนา ที่ต้องออกไปช่วยชาวบ้านที่ต่างจังหวัดเป็นเวลาประมาณ 20 วัน หลังจากนั้นเขาก็ไปค่ายทุกปีจนซึมซับเข้าใจปัญหาสังคมมากขึ้น
ในช่วงเวลาประมาณเดียวกัน เขามีโอกาสไปช่วยงานศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย สมัยที่ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล เป็นเลขาธิการศูนย์ จากนั้นจนถึง ม.ศ. 3 ก็เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ขึ้น เขาเข้าร่วมชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ด้วย
“จำได้เลยว่าก่อนเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม เขาชุมนุมกันที่ท้องสนามหลวง แล้วมีพวกกระทิงแดงมาป่วนเวที พี่ธงตอนนั้นอยู่ปี 2 แกประกาศว่า เราจะเคลื่อนขบวนจากสนามหลวงไปลานโพธิ์ เราก็ไปกับเขาด้วย จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ แต่ตอนนั้นเราออกมาก่อน เพราะจะกลับบ้านไปเปลี่ยนชุดตอนเที่ยงคืน พอจะออกมาใหม่ พ่อแม่จับตัวไว้ไม่ให้ออก” พี่จอบ เล่าเหตุการณ์ในวันที่ 6 ตุลาคมในปีนั้น
เมื่อเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา วันชัยเลือกเรียนธรรมศาสตร์และทำกิจกรรมตลอด งานที่ทำให้เป็นที่รู้จักมากคือการเป็นคนอยู่เบื้องหลังการแปรอักษรอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ในงานฟุตบอลประเพณี ซึ่งสมัยนั้นไม่มีใครกล้าพูดถึง เขาในฐานะศิษย์เก่าได้คุยกับเพื่อนว่า อยากทำอะไรให้อาจารย์ปรีดีบ้าง แล้วบังเอิญไปเจอบทกวีบทหนึ่งของเพื่อนที่ชื่อว่าคุณเทียน บทกวีที่ว่า ‘พ่อนำชาติด้วยสมองและสองขา พ่อสร้างทางธรรมศาสตร์ประกาศศรี พ่อของข้านามระบือชื่อปรีดี แต่คนดีเมืองไทยไม่ต้องการ’
ตอนนั้นเขาเป็นคนคุมสแตนด์เชียร์กับเพื่อน เลยตกลงกันว่าจะแปรอักษรรูปนี้ นอกจากนี้ยังนัดแนะกับโฆษกในสนามให้ประกาศคำพูดนี้ ผลตอบรับในวันนั้น ทำให้ศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ยืนขึ้นแล้วน้ำตาไหล เพราะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการพูดถึงอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ในพื้นที่สาธารณะ การแปรอักษรในครั้งนั้นอาจถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนสนใจ อาจารย์ปรีดี มากขึ้น
หลังจากเรียนจบ วันชัยเข้าไปทำงานในวารสารเมืองโบราณ เนื่องจากสนใจในการทำงานด้านหนังสือ ทำไปสักพักจึงคุยกับทีมงานนิตยสารว่าอยากทำนิตยสารดีๆ สักเล่มคล้ายกับ National Geographic จึงได้ตั้งทีมขึ้นมาเป็นนิตยสารสารคดี โดยได้ทุนจากเจ้าของวารสารเมืองโบราณและวิริยะประกันภัย
ในเวลา 20 ปีที่ทำงานเป็นบรรณาธิการนิตยสารสารคดีนั้น จากความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ทำให้เขาได้ไปรู้จักกับ สืบ นาคะเสถียร ช่วงที่ช่วยอพยพสัตว์ออกจากเขื่อนเชี่ยวหลาน เลยได้ช่วยรณรงค์คัดค้านการสร้างเขื่อนมาหลายแห่ง อย่างเขื่อนน้ำโจนที่เป็นเขื่อนขนาดใหญ่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่เคยคิดจะสร้างขึ้นที่ทุ่งใหญ่นเรศวร
เมื่อสืบ นาคะเสถียร กระทำอัตวินิบาตกรรม เขาในฐานะรุ่นน้องที่ทำงานด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมก็ร่วมก่อตั้งมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร รวมถึงการร่วมทำงานเป็นเลขาธิการมูลนิธิประมาณ 8 ปี ระหว่างปี 2535 ถึงปี 40 กว่าๆ แต่ก็ยังช่วยงานในมูลนิธิอยู่บ้างหากมีโอกาส
ผ่านการเป็นบรรณาธิการนิตยสารสารคดีมาถึง 20 ปี วันชัยในอายุ 50 ปี รู้สึกว่าถึงจุดอิ่มตัวในการทำงานนิตยสารแล้วจึงตัดสินใจท้าทายและเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเอง ย้ายไปทำงานสื่อโทรทัศน์สาธารณะอย่างไทยพีบีเอสในตำแหน่ง รองผู้จัดการฝ่ายข่าวและรายการ ที่ต้องรับผิดชอบเรื่องคอนเทนต์และเนื้อหาของรายการข่าว
เขาทำงานที่นั่น 5 ปี ในช่วงคาบเกี่ยวระหว่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและรัฐบาลทหาร ก่อนจะย้ายไปเป็นผู้อำนวยการฝ่ายข่าวที่ช่อง PPTV ในปี 2559 ก่อนจะลาออกมาในที่สุด
[/box]
หมายเหตุ: ผู้สนใจสามารถติดตามชมเทปบันทึกภาพรายการ 101 One-on-One ตอน “จากเสือดำ นาฬิกา ถึงป่าแหว่ง : อ่านปรากฏการณ์สังคมไทย” กับ “วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์” ดำเนินรายการโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ออกอากาศเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2561 ทาง The101.world