fbpx
'มหาวิทยาลัยอนาคต' ในมุมมอง พิภพ อุดร

‘มหาวิทยาลัยอนาคต’ ในมุมมอง พิภพ อุดร

อันโตนีโอ โฉมชา เรียบเรียง

มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันการศึกษาที่คนจำนวนมากใฝ่ฝันจะได้เข้าไปศึกษา เพื่อปูทางในตลาดแรงงานและสร้างโอกาสให้ตนเองในอนาคต

แต่ในโลกที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วขึ้นเรื่อยๆ ทิศทางของมหาวิทยาลัยอาจต้องเปลี่ยนไปด้วย เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์และความต้องการใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นความต้องการด้านตลาดแรงงาน หรือความต้องการที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมก็ตาม

คำถามที่เกิดขึ้นคือ การศึกษาแบบเดิมที่อาจารย์เป็นผู้ป้อนความรู้ให้นักศึกษา ยังใช้ได้ผลอยู่หรือไม่ และเป็นผลดีต่ออนาคตภายภาคหน้าที่กำลังเข้ามาหรือเปล่า ขณะเดียวกัน จะมีแนวทางใดบ้างที่มหาวิทยาลัยสามารถนำไปปรับใช้ เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ที่สามารถปรับตัวและรู้เท่าทันโลก พร้อมๆ กับตระหนักถึงคุณค่าที่มีความหมาย เช่น ประชาธิปไตย ได้

ธร ปีติดล ชวน รศ.ดร.พิภพ อุดร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สนทนาเรื่องนวัตกรรมการศึกษาใหม่ๆ ในรั้วมหาวิทยาลัยไทย เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ที่พร้อมรับมือกับสารพัดความท้าทายในยุคดิจิทัล พร้อมตีโจทย์สำคัญที่ว่า ทำอย่างไรให้มหาวิทยาลัยยังไม่ตาย แต่ยังมีคุณค่าความหมายในโลกแห่งอนาคต

รศ.ดร.พิภพ อุดร 

อาจารย์มองว่าโลกอนาคตจะสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรที่สำคัญกับการศึกษาบ้าง

โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปหลายวิถีมาก สิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือเทคโนโลยี โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่า disruptive technology ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ขึ้นและทำให้หลายอุตสาหกรรมต้องตายไปตามๆ กัน เรากำลังพูดถึงงานใหม่ อาชีพใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ก็แปลว่าต้องมีทักษะใหม่ๆ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมผมมองเทคโนโลยีเป็นเรื่องใหญ่

ประเด็นถัดมาคือโครงสร้างประชากรทั่วโลก ถ้าอัตราการเกิด-การตายในปัจจุบันยังลดลงเรื่อยๆ เด็กเกิดน้อยลง คนอายุมากขึ้นแต่ก็ยังไม่ตาย ประเด็นคือคนจำนวนมากเกษียณในวัย 60 แต่ยังฟิตอยู่  จากคนเจเนอเรชั่น x, y, z ก็จะกลายเป็นเจนอัลฟ่าในอนาคต คำว่าอัลฟ่ามีความหมายเฉพาะว่าเป็นมนุษย์พันธุ์พิเศษ มีพลังหรืออำนาจบางอย่างที่ไม่เหมือนคนรุ่นก่อนๆ นั่นก็แปลว่าความคิด ความเชื่อ ค่านิยม และพฤติกรรม ต่างกับเราอย่างสิ้นเชิง และไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแค่ประเทศไทย แต่เกิดขึ้นทั่วโลก

นี่คือตัวอย่างที่บอกว่าในขณะที่เทคโนโลยีเปลี่ยน เจเนอเรชั่นก็เปลี่ยน โลกในปัจจุบันเป็นโลก multi-generation รวมแล้วมีทั้งหมด 5 เจเนอเรชั่น แต่ในหลายประเทศ คนรุ่นก่อนเบบี้บูมยังเป็นผู้ครองอำนาจ ซึ่งต้องเกิดช่องว่างระหว่างช่วงวัยแน่ๆ ในขณะที่คนรุ่นก่อนเกิดมาในยุคที่เทคโนโลยีคล้ายๆ กัน ก็จะมีวิธีคิดที่ไม่ต่างกันนัก แต่พอมาถึงรุ่นหลังๆ ที่เทคโนโลยีเปลี่ยนไปเร็วมาก ระยะเวลาของแต่ละเจเนอเรชั่นก็สั้นลงเรื่อยๆ ซึ่งก็เป็นผลมาจากเทคโลยีโดยตรง

ประเด็นที่สามคืออัตราการใช้ทรัพยากรโลกในปัจจุบัน ที่มีงานวิจัยออกมาว่าเราใช้ทรัพยากรราวกับมีโลก 3-5 ใบ หากยังไม่ทำเรื่องความยั่งยืนอย่างจริงจัง เราอาจต้องขยับขยายผู้คนไปสู่โลกอื่น

การศึกษาในโลกอนาคตจะต้องผลิตหรือสร้างทักษะอะไร

ความยากของเรื่องนี้คือเราไม่สามารถมองเห็นอนาคตได้ชัด เพราะอัตราการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและวิถีชีวิตของผู้คนในปัจจุบันนั้นเร็วมาก จนตอบไม่ได้ว่าในอนาคตโลกจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ถ้าตอบไม่ได้ว่าโลกอนาคตจะมีหน้าตาอย่างไร แล้วเราจะไปสร้างคนที่มีคุณลักษณะตอบโจทย์อนาคตได้อย่างไร

ภายใต้ความไม่แน่นอนนั้น สิ่งที่เราเห็นความสำคัญคือ “ความรู้ไม่สำคัญเท่าความคิด” ทักษะที่คนต้องมีในอนาคตคือสิ่งที่ผมเรียกว่า “ทักษะ 3+1” หมายถึง คิด วิเคราะห์ ค้น + จินตนาการ เขาต้องสามารถคิด วิเคราะห์ และสามารถต่อยอดจากสิ่งที่ตัวเองคิดได้ มีความสามารถและเครื่องมือในการวิเคราะห์แยกแยะ สามารถค้นคว้าและทำความเข้าใจเองได้ แต่ถ้าไม่มีจินตนาการมาผสม เขาก็จะอยู่กับโลกเดิม

สังเกตว่าผมไม่พูดเรื่องความรู้เลย เพราะความรู้อยู่ที่ปลายนิ้วโดยเราไม่ต้องไปสอนในห้องเรียน ความรู้ทุกอย่างหาได้หมด หลายเรื่องก็จำเป็นต้องสอนกัน แต่มีเรื่องจำนวนมากสามารถค้นคว้าได้ด้วยตนเอง

มหาวิทยาลัยหลายๆ แห่งก็ขยับจากการคิดการสอนแบบ silo ที่ศาสตร์แต่ละด้านแยกจากกันเพื่อผลิตคนที่เชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่ง เปลี่ยนเป็นเน้นการสร้างคนที่รู้รอบและสามารถนำความรู้มาบูรณาการกันได้

อาจารย์มีตัวอย่างการปรับเปลี่ยนการสอนที่ให้ผลอย่างเป็นรูปธรรมบ้างไหม

ผมไม่เคยเชื่อว่าเด็กเป็นผ้าขาวที่เราจะแต่งแต้ม และไม่มองว่าการศึกษาคือการใส่ความรู้ให้เด็ก แต่มองว่าเป็นการดึงศักยภาพของเด็กออกมานอก comfort zone ของเขา เด็กทุกคนเป็นเมล็ดพันธุ์ที่มีศักยภาพในตัว เราต้องสร้างเงื่อนไขให้เด็กดึงศักยภาพในตัวออกมาให้เด่น การทำโปรเจ็กต์กลุ่มก็สำคัญ เพราะเราต้องการให้เด็กมองปัญหารอบด้าน และนำความรู้หลากหลายมาบูรณาการกัน

มหาวิทยาลัยมีจุดเริ่มต้นเป็นสถานที่ศึกษาทางศาสนาก่อน พอถึงสมัยปฏิวัติอุตสาหกรรมก็กลายเป็นที่ผลิตแรงงาน ในปัจจุบันก็ตอบสนองแรงงานมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วในโลกอนาคตที่ไม่แน่นอน มหาวิทยาลัยจะเป็นอะไร

มหาวิทยาลัยมีจุดมุ่งหมายคือการสร้างคน แต่เป้าหมายของเราไม่ควรเป็นการสร้างคนเพื่อทำงานให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ เพราะงานจำนวนมากกำลังจะถูกเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ ซึ่งถ้ามหาวิทยาลัยยังไม่ปรับตัวให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงภายนอก มหาวิทยาลัยก็จะหมดความหมายไป

สิ่งสำคัญที่เราต้องทำคือการสร้างคนไปเป็นนักสร้าง เราต้องการคนๆ เดียวที่สามารถนำเทคโนโลยีไปสร้างงานและคุณค่าบางอย่างทางเศรษฐกิจ แปลว่าคนแบบนี้ต้องมีวิธีคิดคนละแบบกับคนที่เป็นลูกจ้าง มหาวิทยาลัยจำนวนมากในโลกบอกว่าตัวเองกำลังสร้างคนไปเป็นผู้ประกอบการ การเป็นผู้ประกอบการหมายถึงการสร้างโอกาสในการสร้างประโยชน์ให้เกินกว่าทรัพยากรที่ตัวเองมีในครอบครอง

เทรนด์ของการทำสตาร์ทอัพ หรือ crowdfunding ก็เกิดบนพื้นฐานแนวคิดแบบนี้ การสร้างอาจหมายถึงการลดความสูญเสียหรือการแก้ปัญหาความไร้ประสิทธิภาพในกระบวนการบางอย่างก็ได้เหมือนกัน ตัวอย่างเช่นธุรกิจที่ชื่อว่า Claim Di เวลาเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ต่างคนต่างถ่ายรูปส่งแอพนี้ แล้วก็แยกย้ายไปได้เลย ไม่ต้องรอประกัน

ปัญหารอบๆ ตัวมีอยู่มากมายที่คุณมองเห็นได้ ถ้าคุณช่างสังเกตและมีคำถามว่าทำไมต้องเป็นแบบนั้น มีวิธีอื่นไหม ถ้าเราสามารถฝึกคนให้คิดแบบต่อยอดได้ สมมติว่าหมอ พยาบาล นักกายภาพ ถูกฝึกให้คิดมาแบบนี้ เขาจะสามารถมองเรื่องเดียวกันได้หลายมุมมอง และจะสามารถแก้ปัญหาและนำไปต่อยอดได้

สังคมมีแต่นักสร้างได้จริงหรือ

นักสร้างที่เราพูดถึงก็มีหลายระดับ มีตั้งแต่คนคิด และคนประดิษฐ์หรือคนทำให้มันเป็นรูปธรรมขึ้นมา ถ้าทุกคนมีความเป็นนักสร้างในตัว ก็จะพยายามสร้างสรรค์ขึ้นมามากกว่าจะไปทำงานตามขั้นตอนหรือระเบียบต่างๆ

มหาวิทยาลัยไทยทุกวันนี้ มีอะไรที่ใกล้เคียงกับภาพในอนาคตนั้นบ้างไหม

ในปัจจุบันการบริหารจัดการมหาวิทยาลัย ยังมีบริบทและสภาพแวดล้อมที่ต่างไปจากสิ่งที่เราวาดไว้อยู่ ผมคิดว่าปัญหาใหญ่คือการถูกกำกับดูแลด้วยหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในเชิงนโยบาย ซึ่งลงมายุ่งกับมหาวิทยาลัยจนเกินไป ทางมหาวิทยาลัยก็ต้องทำตามจนลืมไปว่าพันธกิจของตนเองคืออะไร

เมื่อก่อนแต่ละมหาวิทยาลัยจะมีพันธกิจของตนเอง แต่ปัจจุบันทุกมหาวิทยาลัยกลับทำเหมือนกันเป๊ะ พอทำคล้ายกัน หลายเรื่องก็เกิดการแข่งขัน แล้วเราก็ลืมแนวทางที่เราวางไว้ไปหมด ทุกๆ ที่จะมีบริหารธุรกิจเหมือนกันหมด มีวิศวกรรมเหมือนกันหมด การใช้ทรัพยากรก็ซ้ำซ้อนกัน รัฐก็ต้องกระจายทรัพยากรไปและไม่สามารถโฟกัสเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้

ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยน่าจะเข้าใจผิด ว่าทำทุกอย่างแล้วจะดี ต้องการเป็นเลิศในทุกด้านมากกว่าจะบอกว่าเราเก่งในด้านใดด้านหนึ่ง ยังไม่รวมว่าเราไปดัดแปลงวิทยาลัยครูทั่วประเทศให้กลายเป็นมหาวิทยาลัย แต่เดิมเรามีวิทยาลัยที่น่าจะให้บริการแก่ท้องถิ่นได้ดี แต่ก็ไม่มีแล้ว

ในการทำหลักสูตร แม้วิทยาลัยท้องถิ่นจะคิดหลักสูตรที่ตอบโจทย์ในท้องถิ่นนั้นๆ ก็ตาม แต่ส่วนกลางก็ต้องการให้เป็นหลักสูตรทั่วๆ ไป ดังนั้นคนที่จบจากมหาวิทยาลัยจึงไม่ตอบโจทย์ในพื้นที่นั้นๆ มหาวิทยาลัยส่วนกลางกับมหาวิทยาลัยท้องถิ่นก็ไม่มีความแตกต่างในด้านหลักสูตรที่เรียนหรือเป้าหมาย

มหาวิทยาลัยที่เป็นของรัฐ ไม่ว่าจะชั้นนำหรือไม่ก็ตาม ควรจะมีเป้าประสงค์ของตนเอง รัฐควรมองว่าใครเด่นด้านไหนก็สนับสนุนด้านนั้นไป ไม่ใช่สนับสนุนทุกด้าน

อาจารย์เคยบอกว่าอยากให้การเรียนการสอน เป็นแบบที่มีหลายๆ ศาสตร์มารวมอยู่ด้วยกัน แต่ถ้ามหาวิทยาลัยมุ่งโฟกัสไปที่ด้านใดด้านหนึ่ง มันจะไปขัดแย้งกับหลักสหวิทยาการไหม

สิ่งสำคัญเวลาเราสร้างผู้เชี่ยวชาญ คือการสร้างพื้นฐานให้เป็นคนรู้รอบก่อน และสอนให้รู้ลึกอีกที ผมว่าปัญหาของเราคือการสอนให้รู้ลึกเฉพาะด้านตั้งแต่ปริญญาตรี พอเริ่มจากแคบก่อนเขาก็ไม่สามารถไปถึงสิ่งที่กว้างกว่าได้แล้ว พอจบออกไปก็ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ถ้าคุณเริ่มจากกว้างแล้วค่อยลงลึก ยังไงก็ไม่ทิ้งพื้นฐานที่กว้างนั้นไป

บ้านเรามีวิชาเอกกว่า 20 วิชา ในขณะที่ต่างประเทศมีเพียง 8-9 วิชา ส่วนวิชาพื้นฐานกลับมีน้อยเกินไป ปัจจุบันเด็กมีความรู้สึกว่าการเรียนวิชาพื้นฐานเป็นสิ่งที่เสียเวลามากที่สุด เพราะไม่เกี่ยวกับสิ่งที่เขาเรียน แต่การเป็นนักนิติศาสตร์ นักบัญชี บริหาร หรืออะไรก็ตามที่ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับโลกและสังคมเลยนั้นเป็นไปไม่ได้ และเมื่อพยายามแก้ปัญหาหนึ่ง เขากลับไปสร้างปัญหาอีกจุดแทน เพราะไม่มีความเข้าใจบริบทแวดล้อม

บริษัทสมัยใหม่หรือสตาร์ทอัพในปัจจุบัน มักจะไม่ดูวุฒิว่าคุณจบอะไรมา เพราะวุฒิไม่ได้บอกอะไรเลย แต่เขาจะโยนโจทย์ให้คุณลองทำดูว่าคุณมีทักษะที่เขาต้องการหรือเปล่า ต่อให้คุณเรียนจบด้านที่เขาอยากได้ ก็ไม่ได้แปลว่าคุณจะมีทักษะที่เขาต้องการ

7-8 ปีก่อน เราเคยสัมภาษณ์ CEO ชั้นนำของ tech company แห่งหนึ่งในไทย เขาพูดชัดเจนว่าต่อไปเขาจะมุ่งรับสายวิศวกรรมศาสตร์น้อยลง แต่จะรับด้านศิลปศาสตร์-มนุษยศาสตร์มากขึ้น เพราะเขาเชื่อว่าคนที่มีมุมมองแบบสุนทรียศาสตร์จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กรได้

สิ่งที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. เคยทำคือการนำ community project เป็นตัวตั้ง ในแต่ละปีเราทำงานร่วมกับชุมชนจำนวนหนึ่งที่อยากยกระดับรายได้ทางธุรกิจของตัวเอง แล้วบอกเด็กว่าในชุมชนมีปัญหาอย่างไรบ้าง แล้วก็แบ่งเด็กเป็นทีมลงไปแก้ปัญหาในชุมชน ภายใน 1 เทอม เขาต้องแสดงให้เห็นว่าชุมชนมีการยกระดับรายได้ดีขึ้นได้อย่างไร ต้องมีผลลัพธ์ขั้นต่ำตามที่เรากำหนด

เด็กจึงต้องใช้นวัตกรรมต่างๆ เพื่อไปยกระดับธุรกิจชุมชนให้ได้ ต้องพยายามใช้ทักษะการคิดวิเคราะห์อย่างมาก ต้องทำการบ้านเยอะแยะ ต้องใช้จินตนาการสูง โดยที่เราแทบไม่ต้องสอนในห้องเรียน หน้าที่ของเราคือการดึงศักยภาพในตัวของเขาออกมา

เราต้องวางกติกาให้เขาด้วย เช่น ห้ามขอ ห้ามให้ อย่าไปมองว่าชุมชนเป็นผู้ขอ คุณเป็นผู้ให้ ต้องทำทุกอย่างให้เสร็จสรรพเรียบร้อย สิ่งที่ต้องทำคือการทำให้เป็นโปรเจ็กต์ร่วมระหว่างนักศึกษากับชุมชน และเมื่อนักศึกษาออกมาแล้ว ชุมชนก็จะเดินหน้าต่อไปกับโปรเจ็กต์นั้น

ข้อที่สองคือการวางกลไกให้ชุมชนสามารถพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ด้วยตนเอง ดูว่าชุมชนมีการคิดการวางแผนต้นทุนการผลิตไหม มีการวางแผนการผลิตที่ชัดไหม ถ้าเป็นแบบนี้ชุมชนก็สามารถเดินหน้าต่อยอดด้วยตนเองได้

สิ่งที่สำคัญคือเลคเชอร์ให้น้อยลง แต่ทำโปรเจ็กต์จริงให้มากขึ้น เมื่อใดก็ตามที่คุณเริ่มต้นจากเรื่องจริงหรือสิ่งที่เด็กมีส่วนร่วมได้ โดยไม่ต้องมีความรู้มาก่อน ความกล้าในการแสดงออกของเขาจะมากขึ้น

ปัญหาที่เจอมากคือเวลาสอนในห้องเรียน นักเรียนจะไม่ค่อยกล้าตอบ ก็เพราะคุณเพิ่งไปสอนเข้าในเรื่องใหม่ๆ ที่เขายังไม่เข้าใจ การสอนแบบอาจารย์เป็นผู้รู้ เด็กเป็นผู้ไม่รู้ จึงทำให้เด็กไม่กล้าตอบ ถ้าเราเริ่มจากสิ่งที่เด็กไม่รู้แล้วให้เขาพูดตามใจชอบ เขาก็จะพูดเต็มที่ เมื่อคุณสรุปตอนท้ายว่าเรื่องนั้นมีอะไรบ้าง เด็กก็จะเชื่อมโยงข้อสรุปนั้นกับประสบการณ์ของตัวเอง และเขาจะจำเรื่องนี้ได้ดี

ทุกวันนี้บริษัทคุณภาพมองหาคนแบบไหน คุณสมบัติต้นๆ มีอะไรบ้าง

สิ่งที่บริษัทคุณภาพมองหาอย่างแรก คือการทำงานได้รอบด้าน ถ้าคุณทำงานเป็นแค่อย่างเดียว เขาก็ไม่อยากรับ สองคือการทำงานเป็นทีมกับคนอื่นได้ สามคือเวลาเจอโจทย์หรืองานใหม่ๆ แล้วเดินหน้าต่อไปได้ ไม่ต้องให้มอบหมายขั้นตอนไปเรื่อยๆ สามารถคิด วิเคราะห์ และค้นคว้าต่อด้วยตนเองได้

เรื่องนี้เราสอนในมหาวิทยาลัย ผมอยากให้อาจารย์ทุกคนใช้วิธีนี้ คือถ้าเด็กมาถามว่าเรื่องนี้ต้องทำอะไรยังไง ต้องคิดอย่างไร เราต้องใจแข็งแล้วให้เขากลับไปคิดมาใหม่ อย่าเพิ่งตอบ เพราะเขาไม่ได้คิดหรือค้นคว้าอะไรมาก่อนเลย แต่ถ้าเขามาหาเราแล้วถามว่าควรทำแบบ 1 แบบ 2 หรือแบบ 3 แล้วมันไม่ได้เรื่องทั้งหมด เราก็จะบอกทางที่ดีกว่าให้ คุณต้องมาหาอาจารย์บนพื้นฐานว่าคุณได้พยายามแล้ว แต่คุณไม่มั่นใจ

ถ้าเขาถูกไล่ให้ไปคิดมาใหม่ ภายใต้ภาวะกดดัน เขาจะดิ้นรนจนเกิดความคิดสร้างสรรค์และหาทางออกได้ในที่สุด คนแบบนี้แหละคือคนที่บริษัทต่างๆ ต้องการ บริษัทสมัยใหม่จะมีโจทย์ที่นักศึกษาไม่เคยเจอมาก่อน ถ้าเคยดูหนังที่ google หรือ facebook รับคน นั่นคือเรื่องจริง เขาไม่คิดว่าคุณจะเอาเรื่องที่เรียนมาตลอดหลักสูตรมาใช้ได้หมด เขาจะมั่นใจได้อย่างไรว่าถ้าคุณมาเจอเรื่องใหม่แล้วจะทำได้

ทุกวันนี้นักศึกษาจบใหม่อยากเป็นผู้ประกอบการกันมากมาย อะไรเป็นปัจจัยความสำเร็จหรือล้มเหลวของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ๆ

อันดับหนึ่งคือ passion หรือฉันทะ คุณต้องรัก ทุ่มเทและลุ่มหลงในสิ่งที่คุณทำ คุณหายใจเข้าออกเป็นเรื่องนั้น คุณคิดถึงมันตลอดเวลา คุณจะต้องพามันไปให้ได้ ถ้าไม่มีความมุ่งมั่นขนาดนั้น โอกาสประสบความสำเร็จจะน้อยมาก

อันดับสองคือต้องมีทีม อย่าทำงานคนเดียว เพราะคุณไม่มีวันเก่งทุกอย่างได้ เราพบว่าผู้ประกอบการสมัยใหม่ที่ประสบความสำเร็จมักมีทีมอย่างน้อย 3 คน บนพื้นฐานว่าคุณเก่งด้านไหนก็ไปหาเพื่อนที่เก่งด้านอื่นมา ถ้าไม่มีการประกบกันก็เดินต่อไปไม่ได้ และต้องมีการให้กำลังใจกัน

อันดับสามคือการสื่อสาร ซึ่งเป็นหัวใจของผู้ประกอบการสมัยใหม่ คุณจะสื่อสารให้คนซื้อของ สื่อสารให้เกิดการระดมทุน สื่อสารให้คนอื่นอยากมาร่วมมือกับคุณได้อย่างไร ต้องมีทักษะในการประชุม การนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ คนที่ไม่มีทักษะการสื่อสารที่ดีจะจัดการระบบได้ยากมาก

สมัยก่อนเวลาทำธุรกิจ คนมักจะบอกกันว่าต้องมีเงินและคอนเนคชั่น แต่ในโลกยุคดิจิทัล มีกระบวนการ democratization of business ที่ทำให้เงินและคอนเนคชั่นไม่สำคัญอีกต่อไป เพราะคุณสามารถระดมจากใครก็ได้ เช่นใน kickstarter หรือ Crowdfunding ถ้าคุณสื่อสารออกมาได้ดี คุณจะระดมได้เยอะเกินกว่าที่คุณคิดมาก สิ่งที่คุณต้องมีคือความมุ่งมั่นและการสื่อสาร

รศ.ดร.พิภพ อุดร

อยากให้อาจารย์เล่าเคสจริงของลูกศิษย์ที่เรียนจบแล้ว แล้วได้ลงสนามเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ โดยใช้ความคิดและความสามารถอย่างแท้จริง และประสบความสำเร็จ สามารถเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นได้

เคสแรกคือ After You คุณจะเห็นว่าในปัจจุบันมีร้านขนมหวานไปหมดทุกที่ แต่จะมีร้านเดียวที่คนเข้าคิวรอคอยกันคือ After You วิธีการคิดผลิตภัณฑ์และการจัดการเป็นเรื่องน่าสนใจ จนเขาสามารถเข้าตลาดได้

อีกเคสคือคุณทิม – พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ คนอาจมองว่าเขาบ้านรวย แต่ที่จริงบ้านเขาเจ๊งจนต้องหยุดเรียนเพื่อกลับไปกอบกู้ธุรกิจในบ้าน ลองไปทำน้ำมันรำข้าวจนกลับมาได้ดี

แต่เคสที่ใกล้ตัวที่สุดคือเด็กที่เริ่มทำธุรกิจตั้งแต่ปีหนึ่ง โดยการขายเครื่องสำอาง ยอดของเขารวมแล้วเป็นร้อยล้าน เขามีทีมที่คอยช่วยตอบคำถามลูกค้าทันที เขาขายดีจน Central มาขอซื้อ แต่ก็ไม่ขาย เพราะเขาพอใจกับสิ่งที่ทำ ที่สำคัญคือสินค้าของเขาเป็นการซื้อมาขายต่อทั้งหมด เป็นแพลตฟอร์ม ไม่ใช่การผลิตเอง

ประเด็นคือคุณรักและลุ่มหลงในสิ่งที่ตัวเองทำแค่ไหน คุณมีทีมที่ดีไหม สามารถสื่อสารกับผู้คนได้ดีแค่ไหน

ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดการเรียนการสอนแบบอนาคตไม่ได้ คือเหล่าครูบาอาจารย์เอง ต้องทำอย่างไรให้อาจารย์ปรับตัวกัน

ในองค์ประกอบการศึกษา หลักสูตรหรือนักศึกษาไม่ใช่สิ่งที่เปลี่ยนยากเลย สิ่งที่เปลี่ยนยากสุดคืออาจารย์ เพราะอาจารย์ถูกเทรนมาเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มีความมั่นใจในตัวเองสูง การเปลี่ยนจึงทำได้ยากมาก ผมว่าเราเปลี่ยนอาจารย์ทั้งหมดไม่ได้ แต่เราน่าจะเปลี่ยนอาจารย์ที่มีความคิดคล้ายกันได้

สิ่งที่เราเคยทำคือการดึงอาจารย์จำนวนหนึ่งมาเข้าหลักสูตร Transformation learning และ Creative learning เพื่อเทรนให้เขาเป็นอาจารย์ที่มีบทบาทเป็น facilitator ทำการศึกษาแบบดึงศักยภาพในตัวเด็ก มากกว่าจะใส่ความรู้เข้าไป

ผมคิดว่าวิธีที่ดีที่สุดคือการดึงอาจารย์และเด็กจำนวนนึงมาอยู่ในโมเดลใหม่ แล้วทำให้มันเดินคู่ขนานไปกับโมเดลเดิม แล้วคนจะค่อยๆ ขยับมาทางใหม่เอง ส่วนของเดิมก็ต้องรีเทรน อาจารย์จำนวนมากน่าจะเปิดกว้างพร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ส่วนอาจารย์ที่ไม่ยอมรับก็ต้องสื่อสารกับเขา

แนวทางใหม่ที่อาจารย์เล่ามาใช้ได้กับทุกคณะไหม

เราพยายามใช้กับทุกคณะ มันเป็นนโยบายตั้งแต่อธิการบดีลงมาเลย เขามีวิสัยทัศน์ว่าต้องสร้างคนให้เป็นผู้นำ ต้องฝึกวิธีคิด วิเคราะห์ ค้นคว้า และจินตนาการให้กับเขา โดยนำไปใช้กับทุกคณะ แต่ระดับการนำไปใช้อาจแตกต่างกันไปบ้าง เพราะแต่ละคณะก็มีจุดแข็งต่างกัน

วิชาพื้นฐานแบบเดิมอย่างสังคม ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย วิทยาศาสตร์ ก็จะไม่สอนอีก เพราะถือว่าเขาเคยเรียนมาแล้ว แต่เราจะสอนทักษะการใช้ชีวิต การคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ การสื่อสาร ซึ่งเป็นทักษะติดตัวและสามารถนำไปใช้ได้

ทุกวันนี้ธรรมศาสตร์อยู่ตรงไหนบนเส้นทางอนาคตที่อาจารย์มองไว้ เราจะปรับตรงไหนไม่ให้ธรรมศาสตร์หมดความหมายไป

ผมคิดว่าธรรมศาสตร์ต้องการการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ธรรมศาสตร์เริ่มต้นจากการเป็นสังคมศาสตร์ก่อน แล้วขยายจนมีถึง 26 คณะ ผมมองว่าธรรมศาสตร์ทำหลายเรื่องเกินไป รับนักศึกษา 8,000-9,000 คนต่อปี ทรัพยากรต่างๆ ถูกแบ่งแยกกระจัดกระจายไปหมด เราต้องเลือกว่าจะทำด้านไหนและไม่ทำอะไรบ้าง และเรื่องที่ทำก็ต้องติดใน 50 อันดับของโลก

แต่ตราบใดที่เราทำแบบเดิมอยู่ ก็คงไปไม่ได้ แต่ด้วยความที่เป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่และมีชื่อเสียง ถ้าจะให้เปลี่ยนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และถ้าจะเปลี่ยนจริงๆ ก็ต้องทำ pilot ไม่ใช่ไปเปลี่ยนโครงสร้างทั้งมหาวิทยาลัย อาจสร้างบัณฑิตที่ไม่ขึ้นกับคณะใดๆ เลยเพื่อเป็นการทดลอง

ประชาธิปไตยสำคัญอย่างไรในการสร้างสรรค์มหาวิทยาลัยอนาคต

ผมคิดว่าหัวใจของธรรมศาสตร์มี 3 เรื่อง และหนึ่งในนั้นคือประชาธิปไตย มันคือการสอนคนให้เคารพในความเป็นปัจเจก เคารพในความต่าง ให้เกียรติซึ่งกันและกัน หลักประชาธิปไตยจึงถูกปลูกฝังตั้งแต่แรกเข้า เราไม่มีการรับน้องใหม่ แต่มีการรับเพื่อนใหม่ที่คนเท่ากัน

การที่เราสร้างคนเป็นนักสร้าง สร้างคนในทีมที่มีความหลากหลาย ถ้าไม่อยู่บนพื้นฐานของการเชื่อว่าคนเท่ากัน ให้เกียรติกันและกัน ผมว่าไม่มีทางทำได้ ดังนั้นประชาธิปไตยจึงเป็นหัวใจของการสร้างในทุกมหาวิทยาลัย

จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ผมติดว่าหัวใจของธรรมศาสตร์มีอยู่ 3 เรื่องคือ ประชาธิปไตย เสรีภาพ และความยุติธรรม และผมเชื่อว่าถ้าเราไม่สอนเรื่องประชาธิปไตยให้กับคน สิ่งที่ตามมาคือวิธีคิดเรื่องผลประโยชน์ที่ไม่อยู่บนพื้นฐานของการให้เกียรติกันและกัน

อย่างที่บอกว่าเราให้ความสำคัญกับเสรีภาพ เราเชื่อในเสรีภาพของคน และมีความอดทนอดกลั้นต่อการแสดงออกของคนอื่น คนอื่นก็มีเสรีภาพของเขา

ถ้าเราเห็นว่าเสรีภาพของคนอื่นไปกระทบกระเทือนหรือสร้างปัญหา นั่นแสดงว่าเราให้ความสำคัญกับระเบียบทางสังคมมากกว่าเสรีภาพ และสังคมที่ให้ความสำคัญกับความเป็นระเบียบไม่แตกแถว นวัตกรรมใหม่ๆ จะเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะนวัตกรรมทุกเรื่องในโลกเกิดจากการแตกแถวและไม่ทำตามแบบแผนปกติทั้งสิ้น เราก็ต้องใช้เสรีภาพและความอดทนอดกลั้นเป็นตัวนำสร้างการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ

มหาวิทยาลัยไทยเหมือนเป็นปลายทางของการศึกษาก่อนออกไปสู่ตลาดแรงงาน จากประสบการณ์ ดูเหมือนว่าเด็กยุคนี้จะหมดความกระตือรือร้นไปแล้ว เพราะเขาเหนื่อยกับการเรียนมาตั้งแต่เด็ก เราจะมีวิธีแก้อย่างไร

ตั้งแต่อนุบาลมาถึงมัธยม เด็กต้องเรียนมากเกินไป และเป็นการเรียนแบบใส่ความรู้เข้าไปทั้งสิ้น พอมาถึงมหาวิทยาลัยก็ยากกว่าปกติ เมื่อเด็กเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว เขาคาดหวังชีวิตใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม แต่กลับมาเจอการเลคเชอร์ ถึงเวลาก็สอบ เหมือนตอนเขาเรียนมัธยมเลย คำถามคือคุณจะทำให้เด็กตื่นเต้นได้อย่างไร สมัยก่อนเด็กคาดหวังว่าจะเข้ามหาวิทยาลัยไปตั้งใจเรียนและจบออกมาก็ทำงาน และสมัยใหม่เขาคาดหวังว่าอยากเข้าไปเจอสิ่งที่น่าสนใจ สิ่งที่คุณเลคเชอร์นั้นไปหาอ่านเองก็ได้ ทำไมต้องตั้งใจเรียน สิ่งที่เด็กคิดจึงเป็นคนละมุมกับเราเลย

เราต้องทำให้เด็กรู้สึกว่ามีเรื่องตื่นเต้นทุกวันที่มาเรียน ให้เด็กรู้ว่าสิ่งที่เขาเรียนไปทำอะไรกับตัวเขาและสังคมได้ สิ่งที่เราควรทำคือการทลายผนังห้องเรียนออก แล้วทำให้เขารู้ว่าว่าสิ่งที่เรียนคือสิ่งที่เจอในชีวิตประจำวันตลอดเวลา นั่นแปลว่าเลคเชอร์ต้องลดลงให้น้อยกว่า 50% โปรเจ็กต์ที่เด็กต้องออกนอกห้องเรียนต้องมีเรื่อยๆ

ผมขอผู้สอนเลยว่า อย่าเริ่มด้วยทฤษฎี แต่เริ่มด้วยตัวอย่างที่ใครๆ ก็สามารถแสดงความเห็นกันได้ ทุกครั้งอาจารย์จะเข้ามาด้วยเรื่องที่เขาไม่เคยรู้หรือได้ยิน แต่แสดงความเห็นได้ แล้วทำไมต้องวัดผลจากการสอบด้วยเกณฑ์ของเราเอง

โปรเจ็กต์ที่ผมให้เด็กทำนั้นวัดผลด้วย KPI ที่เขาเป็นคนเสนอเอง เด็กต้องวัดเกณฑ์ของตัวเอง แล้วเราเป็นคนให้คำแนะนำว่าตรงไหนต้องปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง นำไปใช้กับวิชาพื้นฐานก็ได้ เพียงแต่เราจะนำไปใช้ไกลขนาดไหน

ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้อยู่กับวิธีการเรียนการสอนมากเท่ากับความเชื่อของอาจารย์เอง ต้องสอนเขาก่อน ถ้าสอนแล้วแต่เด็กยังไม่มีความเข้าใจ ก็ต้องให้ตัวอย่าง และเพื่อให้เด็กเข้าใจจริงก็ให้ทำแบบฝึกหัด อยากมั่นใจว่าเด็กรู้จริงก็สอบ นี่คือวิธีคิดแบบดั้งเดิม

เราควรให้เด็กเรียนรู้จากตัวอย่าง เด็กแต่ละคนมีการเรียนรู้ไม่เท่ากัน ให้เขาไปตามศักยภาพของตัวเอง เด็กที่เข้ามหาวิทยาลัยได้ ผมเชื่อว่าเขาสามารถอ่านเรื่องต่างๆ ได้เองอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องสอนหมด ให้สอนเฉพาะเรื่องที่ยากมากที่เขาไม่เข้าใจ การสอนครบทุกเรื่องไม่ได้ให้ผลดีนอกจากความสบายใจของอาจารย์เอง เพราะตัวเด็กไม่ได้ต้องการรับรู้เนื้อหาในทุกบท


ดูคลิปสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่ :

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save