fbpx
“มนุษย์ซูเปอร์มาร์เก็ตไทย” กับ จักรชัย โฉมทองดี

“มนุษย์ซูเปอร์มาร์เก็ตไทย” กับ จักรชัย โฉมทองดี

อันโตนิโอ โฉมชา เรียบเรียง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้การออกไปจับจ่ายที่ซูเปอร์มาร์เก็ต กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนส่วนใหญ่ไปแล้ว เนื่องจากความสะดวกสบาย สามารถหาสินค้าได้หลากหลายในที่เดียวโดยไม่ต้องตระเวนไปไกล และมีราคาที่เป็นมิตรต่อผู้บริโภค

แต่ในขณะเดียวกัน ความสะดวกสบายที่เราได้รับจากการซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ต ก็เป็นผลพวงจากห่วงโซ่การผลิตและการซื้อขาย ซึ่งหลายๆ กรณีก็มีเบื้องลึกเบื้องหลังที่ไม่สวยงามนัก

เกษตรกรและแรงงานการผลิตจำนวนมากยังไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ ทั้งยังตกเป็นเหยื่อของการกดราคา กดค่าแรง การใช้แรงงานทาส กระทั่งการทารุณกรรม

องค์กร Oxfam คือหนึ่งในเอ็นจีโอที่จับตาปัญหานี้อย่างใกล้ชิด และพยายามหาแนวทางแก้ไขปรับปรุงสถานการณ์ดังกล่าวให้ดีขึ้น เพื่อสร้างความเป็นธรรมต่อทั้งแรงงานที่เป็นต้นสายการผลิต ร้านค้า ไปจนถึงผู้บริโภค อย่างเท่าเทียมกัน

รายการ 101 one-on-one ชวน จักรชัย โฉมทองดี ผู้จัดการด้านนโยบายและรณรงค์ องค์การอ็อกแฟม (Oxfam) ประเทศไทย มาพูดคุยถึงปัญหาต่างๆ ที่อยู่ในสายพานการผลิต รวมถึงแนวทางการยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานอย่างยั่งยืน

Oxfam คืออะไร ทำไมถึงมาทำงานด้านนี้

Oxfam คือองค์กรที่ทำงานด้านการพัฒนาในระดับสากล หรือที่เรารู้จักกันดีว่าเอ็นจีโอนั่นเอง ซึ่งตัว Oxfam เองเป็นหนึ่งในเอ็นจีโอที่เก่าแก่ที่สุดในโลก เก่าแก่กว่าสหประชาชาติด้วยซ้ำ เราเริ่มมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สองที่ประเทศอังกฤษ ในเมืองอ็อกซ์ฟอร์ด จึงเป็นที่มาของชื่อ Oxfam

ในสมัยนั้นเกิดสงครามระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรกับฝ่ายอักษะ และเยอรมนีเข้ายึดครองกรีซได้ ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงปิดล้อมเส้นทางคมนาคมไม่ให้มีการลำเลียงอาวุธและเชื้อเพลิงเข้าไป ซึ่งการปิดเส้นทางแบบนั้นก็หมายความว่าเสื้อผ้าและอาหารต่างๆ ก็เข้าไปไม่ถึงพลเรือนด้วย ดังนั้นนักวิชาการที่อ็อกซ์ฟอร์ดจึงรวมตัวกันแล้วระดมเสื้อผ้ากับอาหารเพื่อส่งไปให้กรีซ

ในขณะเดียวกันก็ไปรณรงค์กับรัฐบาลอังกฤษว่า ไม่ควรทำให้พลเรือนเดือนร้อนในยามสงครามแบบนี้ ซึ่งได้กลายเป็นแนวปฏิบัติของฝ่ายสัมพันธมิตรตั้งแต่นั้นมา จึงเป็นจุดเริ่มต้นของงานช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และผลักดันเชิงนโยบายให้รัฐบาลเห็นด้วยในขณะเดียวกัน นั่นคือจุดเริ่มต้นของ Oxfam เมื่อราวๆ 70ปีที่แล้ว จากเริ่มทำที่กรีซ ปัจจุบันก็ขยายไปทำมากกว่า 90 ประเทศทั่วโลก

สำนักงานใหญ่ Oxfam มีกระจายอยู่ทั่วโลก ตั้งแต่อังกฤษ อเมริกา เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ฮ่องกง ออสเตรเลีย ฯลฯ รวมแล้วมีสำนักงานใหญ่ประมาณ 20 แห่งทั่วโลก ในประเทศไทยเอง Oxfam ก็เข้ามาทำงานนานกว่า 15 ปีแล้ว

ทำไม Oxfam ถึงหันมาสนใจเรื่องซูเปอร์มาร์เก็ต

Oxfam ทำงานกับชาวบ้าน เกษตรกร แรงงาน คนที่ด้อยโอกาสหรือประสบกับภาวะยากจน เรารู้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตอาหารในปริมาณมหาศาล เกือบจะเรียกว่าเป็นครัวโลกด้วยซ้ำ แต่ขณะเดียวกัน คนที่ผลิตอาหารในครัวโลกแห่งนี้ กลับประสบชะตากรรมที่ค่อนข้างน่าเห็นใจทีเดียว ทั้งขาดอาหาร รายได้ไม่พอเลี้ยงชีพ เป็นหนี้เป็นสิน

เราก็ยังงงว่าทำไมประเทศที่อุดมสมบูรณ์ มีอาหารทุกหัวมุมถนน แต่คนผลิตกลับประสบปัญหา มันควรจะมีข้อต่อที่น่าจะทำให้ดีกว่านี่ได้ จึงชวนหลายองค์กรมาคุยกัน อาทิ มูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อร่วมกันคิดหาทางออกของปัญหานี้

เราเคยเรียนมาว่า เมื่อใดที่เกษตรกรมีปัญหา คนที่เป็นผู้ร้ายก็คือนายทุนกับพ่อค้าคนกลาง เราไม่เคยรู้ว่าพวกเขาเป็นใครเลย ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้เขาก็มีฟังก์ชั่นเหมือนกัน ถ้าไม่มีพวกเขา เราก็คงไม่มีอาหารกิน ฉะนั้นจะทำอย่างไรให้ระบบนี้ดีขึ้น คนปลูกก็โอเค คนกลางที่ค้าขายก็โอเค  เราจึงเริ่มจากสิ่งใกล้ตัวที่สุดอย่างซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเป็นพ่อค้าคนกลางปลายสายที่คัดเลือกผลผลิตมาให้เรานั่นเอง

ไม่นานมานี้มีข่าวการเปิดตัว ‘ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก’ อยากให้ลองเล่าให้ฟังหน่อย

เป็นการรวมตัวของ 3 องค์กร และมีการศึกษางานทั่วประเทศ เข้าไปดูเส้นทางอาหารตั้งแต่เริ่มผลิตจนถึงผู้บริโภคว่าทำงานอย่างไร มีการจัดสรรผลประโยชน์อย่างไร ใครเป็นผู้เล่นในระบบตลาดบ้าง โดยเราเชื่อว่าซูเปอร์มาร์เก็ตที่อยู่ใกล้ผู้บริโภคมากที่สุด ย่อมอยากฟังลูกค้าของเขา ถ้าผู้บริโภคอยากเห็นอะไร ซูเปอร์มาร์เก็ตก็จะตอบโจทย์นั้นเหมือนในต่างประเทศ และเราเชื่อว่าผู้บริโภคไทยก็อยากบริโภคของดีๆ เช่นกัน

ทีนี้เราก็ต้องมาดูคำจำกัดความว่า ‘ของดีๆ’ หมายถึงอะไร ถ้าพูดในเชิงอาหารก็คือความสด อร่อย ราคาดี แต่สิ่งที่ซ่อนอยู่ในนั้น กว่าอาหารจะมาถึงเราได้ มีคนเกี่ยวพันกับมันเยอะมาก เราไปทำการสำรวจและคุยกับคนมากกว่า 3,000 คน ปรากฏว่าส่วนใหญ่บอกว่า ถ้าเลือกได้ เขาอยากเห็นคนที่ทำอาหารและปลูกผลผลิตไม่โดนเอาเปรียบ อยากให้คนเหล่านี้ไม่ต้องเผชิญความลำบากยากแค้น มีชีวิตที่ดี

แล้วทำยังไงถึงเริ่มมาเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตที่รักได้

เรามาคิดกันว่า ควรจะดูเรื่องอะไรที่เกี่ยวกับผู้บริโภคดี เรื่องแรกคือที่มาของอาหาร คนปลูกดีหรือเปล่า คนกินดีหรือเปล่า โลกและสิ่งแวดล้อมดีหรือเปล่า รวมแล้วมี 3 องค์ประกอบหลักคือ คนผลิต คนซื้อ และสิ่งแวดล้อม เริ่มจากดูว่าซูเปอร์มาร์เก็ตไหนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยซูเปอร์มาร์เก็ตที่เราไปดู ก็เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ที่คนเข้าไปซื้อของเยอะ

เราเริ่มจากเรื่องที่ยากที่สุดก่อน ก็คือเรื่องผู้ผลิต เข้าไปดูว่าอาหารที่มาสู่เรา มีที่มาอย่างไร ซูเปอร์มาร์เก็ตให้ความสำคัญกับเกษตรกรหรือชาวประมงที่ผลิตอาหารมากน้อยเพียงใด คำถามคือเราจะเข้าไปดูได้อย่างไร วิธีของเราคือเข้าไปดูนโยบายที่เปิดเผยสาธารณะของซูเปอร์มาร์เก็ตนั่นเอง เช่น รายงานประจำปี เว็บไซต์ หรือการแถลงข่าวต่อผู้บริโภค เราดูจากพื้นที่สาธารณะเท่านั้น ไม่ได้เข้าไปสืบหลังบ้าน

ถ้าผู้บริโภคมีเวลาหรือให้ความสนใจ ก็จะเห็นข้อมูลเหล่านั้นอยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริง แม้แต่ตัวผมก็ไม่มีเวลาไปตามดู ถามว่าทำไมไม่ไปเจาะเบื้องหลัง ก็เพราะบางรายเปิดให้เราไปดูได้ แต่บางรายก็ไม่อยากเปิดให้ดู ที่สำคัญคือเราอยากจะสร้างวัฒนธรรมที่ผู้ขายกับผู้ซื้อรู้จักกันมากขึ้น มีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น โดยจัดสิ่งที่เรียกว่า scorecard หรือแต้มที่วัดจากตัวนโยบาย ถ้าซูเปอร์มาร์เก็ตมีนโยบายสาธารณะที่คนสามารถไปดูในพื้นที่สาธารณะหรือรายงานประจำปีได้ ก็จะได้คะแนนตรงนี้ไป

การที่เขาเปิดเผยก็เป็นความรับผิดชอบของห้างต่อสาธารณะ ต่อผู้บริโภค ซึ่งเรามองว่ามันเป็นมิติใหม่ ที่จริงความสัมพันธ์ระหว่างซูเปอร์มาร์เก็ตกับลูกค้านั้น มีพลังไม่น้อยไปกว่ากฎหมายด้วยซ้ำ เพราะมันเป็นความผูกพันและไว้เนื้อเชื่อใจกัน ตอนไปทำวิจัย เราก็พบว่าผู้บริโภคไม่ได้รู้สึกติดลบกับซูเปอร์มาร์เก็ตนะ เขาอยากเห็นซูเปอร์มาร์เก็ตของเขามีบริการที่ดี

เราไม่ได้จะบอกให้ไปเข้าห้างที่คะแนนเยอะ หรืออย่าไปเข้าห้างที่คะแนนน้อย วิธีการคือคุณเป็นขาประจำที่ไหนก็ไปคุยกับเขา คุณรู้จักกับคนในห้างไหนก็ไปคุยกับที่นั่น ว่าอยากเห็นเขาปรับปรุงนโยบายอะไร อยากให้เขารับผิดชอบต่อสังคมอย่างไรบ้าง ในแคมเปญของเราจะมีให้กรอกอีเมลส่งไปหาซูเปอร์มาร์เก็ตด้วย

ตัวอย่าง Scorecard ที่ใช้ประเมิน 'ซูเปอร์มาร์เก็ต' ของห้างแต่ละแห่ง
ตัวอย่าง Scorecard ที่ใช้ประเมิน ‘ซูเปอร์มาร์เก็ต’ ของห้างแต่ละแห่ง

จากที่เห็นใน scorecard ส่วนที่ขีดเป็นช่องว่างไว้คืออะไร

ขีดคือยังไม่มีคะแนน เราจะให้คะแนนแบ่งเป็นสี่หมวดหมู่ คือด้านความโปร่งใสและความรับผิดชอบ ด้านแรงงาน ด้านผู้ผลิตรายย่อย และด้านสิทธิสตรี ต้องอธิบายก่อนว่าคนที่ไม่ได้คะแนนเลย ไม่ใช่ว่าทำผิดอะไร หมายความว่าเขาดำเนินการตามธุรกิจปกติ แต่คะแนนที่เห็น มาจากการที่เขาเติมส่วนนั้นๆ เพิ่มเข้าไปมากกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ จึงจะได้คะแนน

การขีดไม่ได้แปลว่าคุณสอบตก แค่บอกว่าวันนี้ยังไม่มี เราอยากจะเห็นคะแนนส่วนนี้เพิ่มขึ้นไปอีกในปีต่อๆ ไป แต่ละหมวดจะมีคะแนนสูงสุด 21-24 คะแนน รวมกันทั้งหมดจะได้ 93 คะแนน ฉะนั้นการเดินทางยังอีกยาวไกล แต่อย่างน้อยๆ มันทำให้ผู้ประกอบการได้รู้จักตัวเองว่าอยู่ตรงไหน

ส่วนที่เขียนป้ายแดงว่า Keep up หมายความว่าอย่างไร

คะแนนของเราไม่ได้มาง่ายๆ เรามีตัวชี้วัดอย่างละเอียดเรื่องความโปร่งใส สมมติว่าเราทำ แต่ไม่ถึงกับได้คะแนน แล้วมีบริษัทที่ตั้งใจทำเรื่องนี้ ก็ใส่ Keep up ให้เห็นว่าบริษัทที่ติดป้ายนี้ ได้ทำเรื่องนี้ไว้ แต่ยังไม่ออกมาเป็นคะแนน เหมือนเป็นการเชียร์ซูเปอร์มาร์เก็ตว่าทำต่อไปอีกนิด แล้วคะแนนจะออกมา

ที่จริงเราคุยกับซูเปอร์มาร์เก็ตมาตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2017 ตอนแรก Scorecard ของเรามีทั้งหมด 93 ข้อ แล้วส่งให้ทุกซูเปอร์มาร์เก็ต หลังจากนั้นเราก็ทำ score เบื้องต้นให้เขาดู แล้วติดต่อซูเปอร์มาร์เก็ตไปว่าเรายินดีจะคุยด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ก็ยอมคุยกับเรา มีการนัดเจอกัน จากนั้นเราก็นับแต้มใหม่อีกรอบ แต้มที่เห็นตรงนี้คือข้อมูลที่เปิดต่อสาธารณะจนถึงวันที่ 17.00 น. ของวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา

ประเด็นคือเราไม่ใช่คนที่จะไปตัดสินเขาว่าดีหรือไม่ดี เราไม่ใช่ผู้ชำนาญการ แต่ที่เรารู้เพราะเราคุยกับกลุ่มแรงงาน เกษตรกรรายย่อย และผู้บริโภค เรานำสิ่งที่คนเหล่านั้นอยากจะเห็นมาแปรเป็นคะแนน แล้วดูว่าซูเปอร์มาร์เก็ตจะทำตามนั้นได้หรือไม่ เราไม่ได้ไปตัดสินเขา แต่เราอยากให้ซูเปอร์มาร์เก็ตหันมาสนใจกับแรงงาน เกษตรกร รวมถึงผู้บริโภคมากขึ้น

หากซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นผู้จำหน่ายปลายทาง แล้วซูเปอร์มาร์เก็ตจะมีอิทธิพลต่อพ่อค้าคนกลางหรือผู้ผลิตต้นทางได้อย่างไร

มีบางสินค้าจากประเทศไทยที่อาจเป็นประเด็นระดับโลกด้วยซ้ำ แล้วเราจะเห็นบทบาทของซูเปอร์มาร์เก็ตจากต่างประเทศเข้ามาให้ความร่วมมือ ตัวอย่างเช่น คะแนนในหมวดแรงงาน ซูเปอร์มาร์เก็ตได้มีการตรวจสอบไหมว่า supplier มีนโยบายการจ้างงานที่เป็นธรรมหรือเปล่า มีการตรวจสอบเรื่องการทำงานเกินเวลาไหม แรงงานในโรงงานมีกรรมการมาดูแลสวัสดิการหรือเปล่า เราแยกเป็นข้อย่อยถึง 24 ข้อด้วยกัน หมายความว่าแม้จะเป็นเพียงผู้รับซื้อ ก็สามารถกำหนดเงื่อนไขการรับซื้อได้

อย่างที่สองคือ เราไม่ได้ใช้การกำหนดเงื่อนไขแบบลงโทษ เช่น ถ้าไม่ทำตามก็จะไม่ซื้อของจากคุณ สิ่งที่อยากเห็นและทำกันในหลายประเทศก็คือ ถ้าคุณทำดี มีมาตรฐานแรงงานที่ดี เราจะมีสิทธิพิเศษให้ อาจจะจัดชั้นวางพิเศษให้ อาจจะให้ราคาพิเศษขึ้น

จากการศึกษาของ Oxfam เอง ถ้าคิดเป็นตัวเม็ดเงินแล้ว ไม่ได้หมายความว่าผู้บริโภคจะต้องซื้อของแพงขึ้น บาง supplier แม้แพงขึ้นแค่ 1 บาท สามารถทำให้ผู้ผลิตต้นทางมีรายได้พ้นจากความยากจนเลยทีเดียว และที่เพิ่มขึ้น 1 บาทไม่ใช่ว่าผู้บริโภคต้องเป็นคนจ่ายเอง เพราะบริษัทคนกลางก็สามารถจ่ายได้เหมือนกัน

ฉะนั้นเราอยากให้ซูเปอร์มาร์เก็ตมองว่า ควรจะมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ขายอย่างไร เข้าไปดูนโยบายเขาว่ามีนโยบายเชิงบวกบ้างไหม เช่น เราจะมีคะแนนส่วนของสิทธิสตรี ว่ามีการดูแลสตรีอย่างไรบ้าง มีห้องน้ำจำนวนเพียงพอหรือไม่ สตรีที่ตั้งครรภ์มีการดูแลที่เหมาะสมหรือไม่ ไปดูที่โรงงานว่ามีการดูแลพนักงานดีไหม ถ้ามีก็ให้คะแนนไป

 

การให้ซูเปอร์มาร์เก็ตเข้าไปตรวจสอบดูแลเรื่องสินค้าแบบนี้ จะทำให้ซูเปอร์มาร์เก็ตมีอำนาจผูกขาดในตลาดมากเกินไปหรือเปล่า

ถ้าการตรวจสอบนั้นเป็นเชิงบวกและเป็นการแสดงความรับผิดชอบร่วม ผมว่ามันจะไม่นำไปสู่การผูกขาดแต่อย่างใด อย่างที่ผมบอกไปว่าซูเปอร์มาร์เก็ตไม่ได้เป็นผู้ลงโทษ แต่เป็นผู้สนับสนุนให้ผู้ขายมีความพยายามในการพัฒนามากขึ้น ในซูเปอร์มาร์เก็ตต่างประเทศเริ่มมีการทำแบบนี้อย่างจริงจัง เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการเชิงบวก ถ้าใครทำดีก็ซื้อจากรายนั้นไป

แต่ในประเทศไทยจะมีเกร็ดที่น่าสนใจอยู่ ซึ่งไม่ได้อยู่ในงานวิจัย คือเจ้าของซูเปอร์มาร์เก็ตในไทยหลายๆ เจ้า ไม่ได้เป็นแค่เจ้าของซูเปอร์มาร์เก็ตเท่านั้น แต่มีบทบาทอยู่ใน supply chain ของอาหารด้วย หลายเจ้าก็มีบทบาทตั้งแต่การผลิตอาหาร หรือ input ในการผลิตและการขนส่งด้วยซ้ำ เกือบทุกเจ้าจะมีแพ็คเกจของตัวเอง ซึ่งตัวเองสามารถดูได้ และเป็นผู้รับผิดชอบทุกอย่าง ตั้งแต่สวัสดิการ แรงงาน การผลิต มันเป็นมิติที่สามารถทำเชิงบวกได้

ถ้าดูจากมูลค่าทางเศรษฐกิจและขนาดแล้ว ซูเปอร์มาร์เก็ตก็มีอำนาจมากจริงๆ และคนไทยทุกวันนี้ก็พึ่งซูเปอร์มาร์เก็ตกันมาก หากเขาเปลี่ยนได้ คนนับแสนนับล้านคนก็จะเปลี่ยนไปด้วย

เป็นไปได้ไหมว่าคนที่ได้คะแนนน้อยหรือยังไม่ได้คะแนน อาจไม่เปิดเผยคะแนนทั้งๆ ที่อาจทำดีกว่าคนที่เปิดเผยอยู่แล้ว

อันนี้เราไม่สามารถสรุปได้ว่าจริงๆ แล้วเป็นอย่างไร เราเพียงแค่ดูตัวนโยบาย คำถามของเราแบ่งเป็น 3 ระดับ คือคำถามระดับง่าย ระดับปานกลาง และระดับยาก

คะแนนระดับง่าย 31 คะแนนแรก จะวัดจากการประกาศการรับรู้ถึงปัญหาหรือเห็นถึงความไม่เป็นธรรม ถ้าประกาศหรือออกมาพูดถึง ก็ได้ส่วนนี้ไปแล้ว

คะแนนส่วนถัดมาคือ พูดไปแล้วได้มีแผนงานหรือกำหนดผู้บริหารที่รับผิดชอบต่องานด้านนั้นหรือไม่ เช่น ด้านสิทธิมนุษยชน หรือด้านการดูแลเกษตรกรรายย่อย ถ้ามีแผนงานชัดเจนก็ได้คะแนนส่วนนี้ไป

ส่วน 31 คะแนนสุดท้ายจะยากหน่อย คือการทำงานและสนับสนุนให้ supplier แก้ไขปัญหาด้วย ไม่ใช่ทำแค่ส่วนของตัวเอง หรือมีการทำแล้วรายงานผลอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี นั่นหมายความว่าแม้เราไม่จำเป็นต้องเข้าไปตรวจสินค้ารายชนิด แต่ก็เห็นแล้วว่ารับรู้ถึงปัญหา มีการประกาศแผนงาน และมีการรายงานอย่างต่อเนื่อง 3 ปี ว่าทำแล้วเป็นอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็จะเห็นได้ชัดเจนว่าองค์กรไหนทำเรื่องนี้อย่างจริงจังบ้าง โดยไม่ต้องเข้าไปตรวจสอบเองด้วยซ้ำ

 

ในต่างประเทศมีซูเปอร์มาร์เก็ตที่ได้คะแนนเยอะหรือเกือบเต็มบ้างไหม              

ประเทศหลักๆ ที่ทำคือเยอรมนี เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ทีนี้คือหลายแบรนด์ก็ไม่ได้ทำเฉพาะในประเทศตัวเอง แต่มีการขยายสาขาไปประเทศอื่นด้วย เราก็ตัดปัญหาโดยการดูจากบริษัทแม่เท่านั้น ถ้าบริษัทแม่ประกาศว่านโยบายเหล่านั้นถูกทำในบริษัทลูก ก็จะได้คะแนนไป  เช่น เราจะดูบริษัทเทสโก้ที่เป็นบริษัทแม่เป็นหลัก เทสโก้โลตัสในไทยก็จะได้คะแนนตามนี้ไปด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราไม่ได้บอกว่าเทสโก้ในไทยนั้นลงมือจริงจังหรือดีกว่าบริษัทอื่นๆ ในไทย เราบอกไม่ได้หรอกว่าในการปฏิบัติจริงจะเป็นยังไง

คะแนนเป็นคะแนนเดียวกันทั้งโลก แต่เราก็เห็นเช่นเดียวกันว่า นโยบายหรือข้อมูลที่อยู่ในช่องทางของเทสโก้โลตัสที่ผู้บริโภคสามารถดูได้ ก็ยังมีช่องว่างอยู่ ไม่ใช่คะแนนเดียวกันกับเทสโก้ในระดับสากล สิ่งที่เราอยากเห็นคือบริษัททุกแห่งที่ดำเนินการในประเทศไทย ควรจะนำข้อมูลที่ตัวเองมีอยู่แล้วมาสื่อสารกับผู้บริโภค ผู้บริโภคก็จะได้รู้เวลาที่มาซื้อของว่าสินค้านั้นไม่เกิดจากการขูดรีดแรงงาน

ประมาณว่าสื่อสารมากขึ้น ก็ได้คะแนนมากขึ้นใช่ไหม

ถูกต้อง แต่จริงๆ แล้วการพูดนั้นดูเหมือนง่าย การสื่อสารนี้ไม่ใช่การโฆษณา แต่เป็นนโยบายของบริษัท หลายบริษัทมีการส่งเสริมเกษตรกร ไปช่วยให้มีรายได้มากขึ้น แต่ไม่ได้มีเป็นนโยบาย เมี่อไม่เป็นนโยบาย ก็หมายความว่าคุณอาจจะทำบางเดือนหรือหยุดทำไปบางเดือนก็ได้ หรือนานๆ ทีก็จับเกษตรกรมาใส่ชุดเกษตรแล้ววางซุ้มอยู่กลางห้างให้ขายไปครั้งนึง แล้วก็ไม่ทำอีกเลย

ถามว่าดีไหม มันก็ดี แต่อยากให้เป็นนโยบาย ทำงานกับเกษตรอย่างต่อเนื่อง ลงไปส่งเสริมให้เขามีการผลิตอย่างยั่งยืน บางห้างเรารู้ว่าทำจริง แต่ไม่เป็นนโยบาย ฉะนั้นถ้าอยากให้คะแนนขึ้นก็จัดทำเป็นนโยบายมาเลยครับ

จักรชัย โฉมทองดี

ในฐานะผู้บริโภค เราสามารถส่งเสริมให้ห้างลงมือทำนโยบายแบบนี้ได้อย่างไรบ้าง

ทุกท่านสามารถทำได้เลย ในต่างประเทศก็มีตัวอย่างเยอะ อย่างการรวมกลุ่มกันส่งอีเมลไปชมหรืออุดหนุนห้างที่คะแนนขึ้น ห้างไหนที่คะแนนไม่ขึ้นก็ไปเตือนเขาหน่อยว่าไม่สนใจแรงงานหรือเกษตรกรบ้างหรือ

‘ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก’ ของเราจะอยู่ตรงนี้ไป 3-4 ปีแน่นอน เราจะชวนผู้บริโภคมาทำกิจกรรมกันอย่างต่อเนื่อง คุณอยากจะบอกอะไรกับซูเปอร์มาร์เก็ตของคุณ ก็ให้เราเป็นช่องทางการสื่อสาร

นอกจากการดูคุณภาพของอาหารแล้ว ผู้บริโภคควรต้องมาดูเรื่อง Supply Chain ของอาหารแต่ละชนิดที่ซื้อด้วยใช่ไหม

จริงๆ แล้วเราทำเรื่อง Scorecard มาเพื่อตอบโจทย์ตรงนี้แหละ เช่น เข้าไปเดินห้างแล้วตัดสินว่าสินค้าตัวไหนดีหรือไม่ดี ทำลายสิ่งแวดล้อมหรือเปล่า เป็นประโยชน์กับผู้ผลิตไหม ถ้าคุณมีมือถือก็เห็นได้เลยว่าซูเปอร์มาร์เก็ตไหนมีนโยบายที่ไว้ใจได้ คุณก็สามารถเดินซื้ออย่างสบายใจได้เลย ถ้าเขาไม่ลงมือทำอะไรก็ไปบอกหน่อย ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนร้าน เพราะคุณมีพลังในการเปลี่ยน และมีความผูกพันกับร้านนั้นอยู่ เราสื่อสารได้หลายแบบโดยไม่จำเป็นต้องไปนั่งคิดให้ปวดหัวว่าเขาทำดีไหม

ถ้าทำ Scorecard แล้วมีผลให้ซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งขายไม่ดี เขาจะมีปัญหากับเราไหม

ถ้าเขามีปัญหาผมก็จะแปลกใจมาก เพราะทั้งหมดที่ทำนี่เป็นเชิงบวก ถ้าไม่ทำก็ปกติ หมายความว่าใครมีนโยบายสาธารณะมากขึ้น ก็แค่รวบรวมให้ผู้บริโภคมาอ่านแค่แผ่นเดียวหรือหน้าจอเดียว ก็สามารถสื่อสารได้แล้ว ยิ่งมีนโยบายที่ผูกมัดมากขึ้น ก็ยิ่งปรากฏคะแนนใน Scorecard มากขึ้น เหมือนเป็นช่องทางรวม ไม่จำเป็นต้องไปดูข่าวประกาศของห้าง แค่มาอ่านในกระดาษแผ่นเดียวก็รู้เลยว่าใครได้ทำอะไรบ้าง

จนถึงวันนี้ ซูเปอร์มาร์เก็ตส่วนใหญ่ก็มาบอกว่า อยากจะร่วมกิจกรรมและสื่อสารอย่างจริงจัง เราก็บอกว่าเอาเลย ทำให้เต็มที่ แต่ขอให้ทำจริง ไม่ใช่แค่โฆษณา ถ้าทำจริงแล้วอยากจะประชาสัมพันธ์ เราจะช่วยประชาสัมพันธ์ให้เอง

แล้วการที่ Scorecard เป็น 0 แปลว่ากฎหมายไม่ได้สนใจหรือให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนหรือเปล่า

ผมมองว่ากฎหมายเรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่มีคำว่าต่ำหรือสูง แต่มันมีความก้าวหน้าไปเรื่อยๆ เมื่อใดก็ตามที่เราหยุด ผมคิดว่านั่นแหละจะเป็นปัญหา อย่างที่เราคุยกันเรื่องสิทธิในการรวมตัวกันของแรงงานต่างชาติ เรื่องนี้ก็ยังไม่มี ถามว่าเรื่องแบบนี้ ถ้าย้อนไปเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ประเทศอื่นๆ ก็ไม่มีเช่นกัน แต่วันนี้เขาก้าวหน้าไปแล้ว ประเทศไทยก็ต้องก้าวไปเช่นกัน

เราคิดว่าหลายๆ อย่างไม่จำเป็นต้องรอเปลี่ยนกฎหมาย อะไรที่ทำไปได้เองก่อน ก็ทำไปเลย เพราะเราเห็นว่าผู้บริโภคเปลี่ยนได้ คนที่จะออกนโยบายก็ควรสื่อสารกับผู้ใช้สิทธิ์ลงคะแนนในครั้งหน้าหากมีการเลือกตั้ง ไม่จำเป็นต้องรอกฎหมาย

จะตามไปดูการปฏิบัติจริงเมื่อไร และอย่างไร ว่าทำอย่าง scoreboard จริงๆ

เรากำลังเชิญชวนห้างที่พร้อมพิสูจน์และเปิด Supply chain แล้วให้ลงไปดู ให้เขาเลือกสินค้าที่มั่นใจและเปิดเผยต่อผู้บริโภค จัดให้คุยกันในซูเปอร์มาร์เก็ตและตรวจสอบดู ให้ซูเปอร์มาร์เก็ตมีส่วนร่วมด้วย แต่ถ้าจนถึงปีหน้าแล้วยังไม่มีซูเปอร์มาร์เก็ตที่พร้อมและใจถึงจริง เราจะแอบไปดูต้นทางด้วยตัวเอง

ในซูเปอร์มาร์เก็ตยังพอรู้ว่าสินค้ามาจากไหน แต่ในกรณีร้านค้าปลีกตามหมู่บ้าน ตลาดนัด ฯลฯ แทบไม่รู้เลยว่าสินค้านั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร ไม่ต้องพูดถึงแรงงาน สิ่งแวดล้อม เอาแค่คุณภาพก็แทบเชื่อถือไม่ได้

ในโครงการที่เราจะทำซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก ต่อไปเราจะมีตลาดสดที่รัก ตลาดนัดที่รักด้วย แต่เป้าหมายหลักๆ ของเราคือซูเปอร์มาร์เก็ต การเข้าถึงอาหารของคนไทยไม่ควรจำกัดแค่ที่ใดที่หนึ่ง เราจะชวนตลาดนัดและตลาดสดที่มีความพร้อมและสนใจมาเข้าร่วมโครงการ จะเริ่มมีที่มาที่ไปของอาหาร มีการตรวจสอบ ซึ่งองค์กรที่เคยมาตรวจสอบสารต่างๆของอาหารในตลาดสด ก็พบว่าไม่ได้แย่ไปกว่าในซูเปอร์มาร์เก็ตในเรื่องคุณภาพ ผมจึงเชื่อว่าเป็นไปได้เหมือนกันที่จะทำเรื่องนี้

อยากจะทราบตัวอย่างกรณีที่จัดการได้ ว่ามีที่ไหนบ้าง ทำอย่างไรบ้าง

Scorecard ของทั้งโลก ออกไปเมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา แต่ของไทยเพิ่งออกเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา ยังไม่สามารถสรุปได้ แต่ Oxfam มีประสบการณ์มา เรามีการรณรงค์ที่ใช้ชื่อว่า ‘Behind the Brand’ เบื้องหลังตราสินค้า ตอนนั้นเราให้ Scorecard กับบริษัทอาหารเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดของโลก 10 บริษัท เช่น เนสเล่ โคคาโคล่า ฯลฯ ปรากฏว่าการตอบรับดีมาก แต่ละบริษัทมีการพัฒนาคะแนนขึ้น

ตอนนั้นในประเทศเพื่อนบ้านเรา ก็มีกรณีโรงงานน้ำตาลที่มีปัญหาสิทธิแรงงาน โดยเฉพาะสิทธิชุมชนเรื่องที่ดินที่นำไปปลูกอ้อย ปรากฏว่าพอเจ้าของบริษัทเครื่องดื่ม ได้รู้ว่าน้ำตาลที่ไปอยู่ในขวดเขามีปัญหามาแบบนี้ เขาจึงทำ Social Audit เพื่อตรวจสอบย้อนหลังด้านสังคม พอบริษัทนึงทำ อีกบริษัทก็ทำบ้าง ตอนนี้ลามมาถึงประเทศไทยด้วย บริษัทน้ำอัดลมที่ใหญ่ที่สุดของโลก 2 บริษัทก็ทำ Social Audit เพื่อให้มั่นใจว่าเกษตรกรที่ปลูกน้ำตาลมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตอนนี้ก็ลามไปเรื่องอื่นด้วย เช่นการเผาไร่อ้อยเพื่อลดปัญหาโลกร้อน

ความตื่นตัวของผู้บริโภคในต่างประเทศเป็นอย่างไร อยากให้ยกตัวอย่างประเทศตะวันตกกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ

ผมเชื่อว่าผู้บริโภคไทยก็ไม่อยากให้ผู้ผลิตอาหารถูกเอาเปรียบเหมือนกัน เราจะเห็นว่าเวลาชาวนามีปัญหา ชาวเมืองก็ร่วมใจกันช่วย เวลามีน้ำท่วมก็ช่วยกัน เรามีความผูกพันกันอยู่เพราะเราเป็นประเทศเกษตรกรรมมาแต่ดั้งเดิม

ประเด็นก็คือ ต่อไปนี้เราไม่ควรต้องทำให้เป็นเรื่องการทำบุญหรือการกุศล ไม่ต้องทำให้เป็นเรื่องการโฆษณา แต่มันควรอยู่ในการใช้ชีวิตประจำวันของเรา ถ้าห้างนี้ช่วยเหลือเกษตรกรดี เราก็อุดหนุนห้างนี้ ถ้าห้างไหนยังทำได้ไม่ดี เราก็บอกให้เขาช่วยลงมือทำนโยบายที่ช่วยเหลือเกษตรกรให้ดีขึ้นหน่อย คุณก็จะเข้าห้างนั้นอย่างสบายใจได้ ให้มันเป็นเรื่องของ Core business

ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็กรณีอาหารทะเลไทย เมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว มีเรื่องอื้อฉาวอย่างแรงงานทาส มีการปล่อยเกาะแรงงานต่างชาติ มีการทารุณกรรมหลายอย่าง ซึ่งเป็นข่าวไปทั่วโลก คนที่ลงมือดำเนินการก็ไม่ใช่รัฐบาลไทยหรือธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ แต่คือคนธรรมดาที่เดินไปซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตแล้วรู้สึกไม่ดี เขาก็ไม่ซื้อ เพราะรู้สึกว่าเป็นการสนับสนุนการกดขี่แรงงาน

ซูเปอร์มาร์เก็ตพอรวมยอด ก็เห็นทันทีว่ายอดตกไป แล้วก็เริ่มลงมือแก้ไข พอซูเปอร์มาร์เก็ตลงมือแล้วรัฐบาลก็ทำตาม ทุกวันนี้ซูเปอร์มาร์เก็ตในต่างประเทศก็มาทำงานกับผู้ส่งออกไทย คุยกับเอ็นจีโอ หาทางแก้ไข ออกแบบการแก้ปัญหาที่จะทำอย่างไรให้แก้ไขได้ ซึ่งผู้บริโภคของต่างประเทศก็เอาจริงเอาจังเรื่องนี้

เรามีการศึกษาเรื่องผู้บริโภคในประเทศกำลังพัฒนาประเทศอื่นๆ ด้วย จะเห็นแนวโน้มแบบนี้ชัดเจน ทั้งในสิงคโปร์ ไต้หวัน และฮ่องกง เราเชื่อว่าคนไทยมีศักยภาพเยอะ ยอดเงินทำบุญก็ไม่น้อยหน้าประเทศไหน เราไม่อยากให้มองเป็นเรื่องการทำบุญวันอาทิตย์ แล้วก็กลับไปทำอย่างอื่นต่อ เรื่องแบบนี้มันอยู่ในชีวิตประจำวันได้เลยโดยไม่ต้องรู้สึกว่าหนักหรือซับซ้อนอะไร

จักรชัย โฉมทองดี

ขยับมาเรื่องที่จริงจังขึ้นบ้าง สถานการณ์แรงงานด้านประมงที่มีการนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านมาใช้ โดยมีค่าแรงที่ต่ำ เป็นอย่างไรบ้างในตอนนี้

เวลาเราเห็นอาหาร เราไม่ได้เห็นคนที่ทำ ซึ่งมันมีความซับซ้อนมาก และต่อไปจะไม่ใช่แค่อาหารทะเล แต่จะเป็นอาหารทุกอย่างที่เราต้องทาน จะมาจากฝีมือแรงงานที่มาจากทั้งไทยและประเทศเพื่อนบ้าน มองในแง่ดีก็เป็นการสร้างงานและตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจไทย แต่เมื่อเราพึ่งพิงแรงงานเหล่านี้มากขึ้น เราได้ดูแลหรือไม่ว่าคุณภาพชีวิตของคนเหล่านี้เป็นอย่างไร

ทุกวันนี้เราเริ่มต้นด้วยอุตสาหกรรมประมง เนื่องจากที่ผ่านมา คุณภาพชีวิตและความเสี่ยงของคนงานในอุตสาหกรรมประมงมีความเสี่ยงสูงและเป็นอะไรที่หนักมาก ตรงนี้จึงเกิดช่องว่างและทำให้อาหารทะเลไทยที่ส่งออกต่างประเทศติดปัญหาหนักมาก เกิดการใช้มาตรการทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารทะเล ตอนนี้จึงมีความพยายามของภาครัฐและประชาสังคมหลายกลุ่มที่มารวมตัวกันและติดตามว่าไปถึงไหนแล้ว

ผมอยากจะเรียนว่ารายงานชิ้นล่าสุดชื่อ ‘ชีวิตติดร่างแห’ เป็นรายงานที่ไปเก็บข้อมูลจากผู้ที่เผชิญกับเหตุการณ์มาจริงๆ เนื้อหามาจากการไปสัมภาษณ์แรงงานบนเรือประมง 300 ชีวิต มีข้อค้นพบคือมีการพัฒนาที่ดีขึ้นในหลายข้อ เพราะรัฐบาลมีการเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้อย่างหนักหน่วง แต่ก็ยังมีช่องว่างและปัญหาอยู่เยอะมากเช่นเดียวกัน

ในขณะนี้ยังมีแรงงานจำนวนมากที่ไม่รู้ว่ามาทำอะไรบ้างเวลาทำงาน ไม่รู้ว่าเงื่อนไขการจ้างงานคืออะไรถึง 58% ซึ่งประหลาดมาก ประมาณครึ่งนึงไม่เข้าใจว่าตัวเองเซ็นอะไรเวลาทำสัญญาจ้าง และอีกจำนวนมากที่เมื่อเซ็นไปแล้วเอกสารไม่ได้อยู่กับตัว และไม่สามารถได้เอกสารนั้นเมื่อต้องการ

เวลาเราไปเซ็นสัญญาจ้างงาน เราจะดูว่ามีสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง เข้างานกี่โมง เลิกกี่โมง มีโบนัสเท่าไร เมื่อเซ็นแล้วสัญญาจ้างจะอยู่กับเราฉบับนึง และอยู่กับผู้ว่าจ้างฉบับนึง ถ้าไม่ชอบมาพากลเราก็สามารถปกป้องสิทธิ์ของตัวเองได้ แต่สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ผู้ผลิตอาหารให้เราจำนวนมากไม่มี เมื่อเห็นปัญหาแล้วเราก็ต้องเดินหน้าแก้ปัญหาให้ได้

การที่เป็นแรงงานจากประเทศอื่น มีผลให้ถูกเอารัดเอาเปรียบมากขึ้นด้วยไหม

บางทีสัญญาก็เป็นภาษาของแรงงานเอง หรือเป็นภาษาไทยให้แรงงานคนไทยเซ็น แต่จะมีกี่คนจะอ่านภาษากฎหมายในสัญญาออก ซึ่งมันไม่ง่ายเลยจริงๆ ไม่ใช่แค่รู้หนังสือ แต่คนที่รู้กฎหมายหรือรู้ข้อสัญญาก็ต้องมีเช่นกัน และแน่นอนครับ เมื่อต้องไปทำงานไกลจากบ้านของตัวเอง ต่อให้เป็นคนไทยก็ตาม มีต้นทุนมหาศาลแน่นอน กว่าจะได้ต้นทุนมาก็เป็นหนี้ และหนี้เองก็เป็นต้นเหตุของการขยับไปสู่การเป็นแรงงานที่ถูกบังคับ หรือแรงงานทาสก็ว่าได้ เพราะถูกซื้อขายต่อกันเป็นทอดๆ เพราะต้องไปกู้เงิน พอกู้แล้วเจ้าของเงินกู้ก็เอาหนี้ไปขายให้กับนายจ้าง นายจ้างก็ได้แรงงานมา พอถึงเวลาเงินเดือนออก แทนที่ตัวเองจะได้เงินเดือน ก็โดนตัดเงินเดือนนั้นไปเพื่อใช้หนี้นายจ้าง กว่าหนี้จะใช้หมด ตัวเองก็ต้องตกอยู่ในสภาพการใช้งานนั้น ถูกเอารัดเอาเปรียบ ต้องทำเงินเกินวันละ 14 ชั่วโมง

ประเทศไทยก็เคยได้ธงเหลืองเรื่องนี้มา แต่ตอนนี้ก็ยังเหลืองอยู่ทั้งๆ ที่ผมคาดว่าน่าจะหลุดไปแล้ว การพิจารณาครั้งต่อไปน่าจะเกิดช่วงเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ถ้าเราไม่หลุดก็จะถูกเฝ้าระวังและอาจเปลี่ยนเป็นใบแดงได้ ถ้าเป็นใบแดงแล้ว ก็จะถูกห้ามนำสินค้าประมงส่งออกไปสหภาพยุโรป แต่ถ้าหลุด ก็สามารถส่งออกไปได้ตามปกติ อยากจะเรียนว่ารัฐบาลและภาคเอกชนจำนวนมากให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ รัฐบาลลงทุนไปตั้งศูนย์ตรวจเรือเข้าออก มีการออกเอกสารใบจ้างงานประจำตัว มีการพัฒนาหลายอย่างมาก

แต่ปัญหาที่ยังมีอยู่คือ แม้รัฐบาลจะทำฮาร์ดแวร์ไปแล้ว แต่ตัวซอฟท์แวร์มันยังไม่อัพเดต ยกตัวอย่างเวลาไปสัมภาษณ์แรงงานว่าทำงานกี่ชั่วโมง ได้ค่าจ้างเท่าไร มีการเอาเปรียบไหม แรงงานก็ไม่กล้าพูด เห็นว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือกลัวว่านายจ้างจะทำอะไรหรือเปล่า

จริงๆ แล้วนักสิทธิด้านแรงงานก็จะมีเทคนิคของเขา ฉะนั้นเวลาเอ็นจีโอลงไปสำรวจข้อมูลก็จะเห็นปัญหา แต่ถ้าเป็นรัฐ จะไม่เห็นปัญหา ฉะนั้นผมจึงอยากให้มีการร่วมมือกัน มีการสังเกตการณ์ กลับมาทบทวน และยื่นข้อเสนอร่วมกัน ยกตัวอย่างเช่น การตรวจแรงงาน ควรมีระบบและพื้นที่ที่ทำให้เขาไม่รู้สึกว่าโดนนายจ้างเล่นงานภายหลัง ถ้าทำแบบนี้เราจะได้ข้อมูลที่ดี

เป็นไปได้ไหมว่า เจ้าหน้าที่รัฐอาจมีอคติต่อแรงงานต่างชาติ จึงทำให้ไม่สนใจคุ้มครองสิทธิ์

ผมไม่สามารถรับรู้ได้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีทัศนคติอย่างไร แต่ผมเชื่อว่าถ้าเคยมี ตอนนี้ก็คงเบาบางลงไปมาก  เพราะมันเป็นความเสี่ยงระดับประเทศ ถ้าจัดการเรื่องนี้ไม่ได้ เราจะสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจใหญ่หลวงกว่าที่เคยเกิดขึ้นอยู่แล้ว เพราะอุตสาหกรรมประมงมันเชื่อมไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ อีกเยอะ เช่น การเอาไปแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ และไม่ใช่แค่เนื้อปลาเท่านั้น ต่อไปเนื้อไก่หรือเนื้อหมูก็จะส่งออกไม่ได้เช่นกัน

จะดีไหมหากมีการจ้างอาชีพผ่านสมาคมประมง เพื่อเป็นการรวมกลุ่มและรักษาผลประโยชน์ของผู้ประกอบอาชีพ

สมาคมอาชีพประมงนั้นมีอยู่ แต่มีข้อติดขัดตรงที่แรงงานทั้งในเรือและแรงงานแปรรูป เป็นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งกฎหมายไทยไม่อนุญาตให้มีการรวมกลุ่มหรือจัดตั้งสหภาพได้ อันนี้ทั่วโลกก็เรียกร้องและมีข้อกำหนดระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยยังไม่ได้ไปให้สัตยาบันเรื่องสิทธิของการรวมกลุ่มและการต่อรอง ถ้าประเทศไทยไปให้สัตยาบันเมื่อไร โอกาสเรื่องนี้ก็จะดีขึ้น

แต่ถึงรัฐบาลจะยังไม่ได้กำหนดข้อกฎหมาย ก็ยังสามารถรวมตัวกันได้ในบางระดับ เช่น ในหลายโรงงานจะมีสิ่งที่เรียกว่า คณะกรรมการสวัสดิการแรงงานในสถานประกอบการ ซึ่งตรงนี้มีแรงงานข้ามชาติเข้ามาเป็นกรรมการได้ และบางบริษัทก็เริ่มนำเรื่องแบบนี้เข้ามา เราก็พยายามจะติดตามและถามว่าทั้งอุตสาหกรรมทำแบบนี้ไม่ได้หรือ เพราะจริงๆ มันทำได้ และกฎหมายไทยก็รองรับ

เรื่องสิ่งแวดล้อมกลายเป็นเทรนด์โลกที่ผู้บริโภคมีการขานรับแล้ว แต่เรื่องแรงงาน เรื่องสิทธิมนุษยชนในการผลิต ดูเหมือนผู้บริโภคยังไม่ค่อยให้ความสนใจเท่าไหร่

กระแสสิ่งแวดล้อมมาแล้ว และกำลังมีมากขึ้น ซึ่งเป็นกระแสที่ดี แต่กระแสสิทธิมนุษยชนหรือเรื่องแรงงาน หรือแม้แต่เรื่องเกษตรกร เป็นเรื่องที่ยากกว่า บางทีผมก็ยังงงอยู่ว่า ทำไมเราไม่ห่วงเพื่อนมนุษย์แท้ๆ ด้วยกันเอง แน่นอนการไปห่วงเรื่องต้นไม้ป่าทะเลมันก็สำคัญ แต่เพื่อนมนุษย์เราก็กำลังถูกเอาเปรียบอยู่ทุกวัน จะไม่ห่วงเชียวหรือ

หลายๆ อย่างมันผูกกันแยกไม่ออก ถ้าเราดูแลสิทธิของคนที่ทำการเกษตรดีๆ เขาก็สามารถอยู่กับป่าได้ สามารถดูแลสิ่งแวดล้อมได้ เขาก็เป็นแนวหน้าในการช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมให้เรา สิทธิแรงงานเกษตรก็ดีขึ้นไปด้วย ในด้านประมงเช่นกัน ที่เกิดการเอาเปรียบส่วนหนึ่งก็เพราะปลาเริ่มหายากขึ้น สมัยก่อนอาจไปจับปลาแค่ 6-7 ชั่วโมง ก็ได้ปลาในปริมาณที่มากแล้ว แต่สมัยนี้ต้องออกไป 4-5 อาทิตย์เพื่อให้ได้ปลาในปริมาณเท่าเดิม เห็นได้ชัดเจนว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมผูกติดกับแรงงานอย่างแยกไม่ออก ถ้าเรามีการดูแลทั้งสิ่งแวดล้อมและแรงงานไปด้วย มันจะหนุนเสริมซึ่งกันและกัน

คำถามปิดท้าย อยากทราบว่าเวลาคุณไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ต มีหลักการเลือกและคิดอย่างไรบ้าง

ประเด็นแรกคือเรื่องความปลอดภัย อยากส่งเสริมเรื่องอาหารที่ปลอดจากการใช้สารเคมี เช่นยาปฏิชีวนะ ฮอร์โมนหรือสารเคมีต่างๆ เพราะเป็นเรื่องสุขภาพของเรา

ถัดมาคือสินค้าบนชั้นวางที่ส่งเสริมชาวบ้าน เราก็อยากจะซื้อ แต่ผมขอพูดตามตรงว่ามันต้องอร่อยด้วย แต่หลายครั้งที่ผมซื้อมา ก็พบว่าผักหรือข้าวที่ชาวบ้านผลิตเองก็อร่อย ปัญหามันคือมันแยกกัน เราต้องไปซื้อผักจากร้านนั้น หมูร้านนี้ ข้าวอีกร้านนึง มันยากที่จะไปตามซื้อให้หมด เราอยากจะเข้าไปซูเปอร์มาร์เก็ตแล้วก็ซื้อทั้งหมดนี้ได้อย่างสบายใจว่าเราไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้ใคร

มันจะไม่ยากเลยถ้าเรารู้ว่าสินค้าชิ้นนี้เป็นสิ่งที่ชาวบ้านผลิต และเป็นการส่งเสริมชาวบ้านในราคาที่ไม่แตกต่างจากสินค้าอื่นมากนัก ไม่ต้องไปตระเวนหลายร้านเพื่อสนับสนุนชาวบ้าน แค่เราช่วยกันไปบอกซูเปอร์มาร์เก็ตใกล้ตัวให้เขาหันมาสนใจเรื่องนี้ก็พอแล้ว


หมายเหตุ: ผู้สนใจสามารถติดตามชมเทปบันทึกภาพรายการ 101 One-on-One ตอน “มนุษย์ซูเปอร์มาร์เก็ตไทย” ฉบับเต็ม โดย จักรชัย โฉมทองดี ดำเนินรายการโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ออกอากาศเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2561 ทาง The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save