fbpx

หนึ่งเดือนหลังรัฐประหารพม่า: ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย หรือยังมีความหวังรออยู่?

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

เสมือนหนึ่งเป็นการถดถอยของกระแสประชาธิปไตยในเอเชียอุษาคเนย์อีกครั้ง เมื่อกองทัพพม่าได้ทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ริบเอาเสรีภาพและประชาธิปไตย กระชากเอาความหวังถึงชีวิตและประเทศที่ดีกว่าไปจากประชาชนชาวพม่า หลังจากเพิ่งกดปุ่มเปลี่ยนผ่านสู่ห้วงประชาธิปไตยได้ราวหนึ่งทศวรรษ

แน่นอน ประชาชนชาวพม่าจำนวนมากไม่เห็นด้วยและไม่ยอมรับกับการกระทำดังกล่าว คนจำนวนมากเดินลงถนนเรียกร้องประชาธิปไตย (อีกครั้ง) ประชาคมโลกได้เห็นภาพการประท้วงที่ผสมผสานกับความเชื่อ เห็นการทำอารยะขัดขืน ประท้วงหยุดงานหรือถึงขั้นลาออก

ขณะเดียวกัน เรายังเห็นภาพความรุนแรงต่อประชาชนเกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน มีเสียงแว่วจากฝั่งพม่าถึงข่าวคราวของผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ หรือสูญหาย ส่วนฟากฝั่งกองทัพผู้ทำรัฐประหารในครั้งนี้ก็ยังคงยืนยันว่า พวกเขาทำไปเพราะมีการโกงเลือกตั้งเกิดขึ้น และเป็นการกระทำที่เป็นไปภายใต้รัฐธรรมนูญ

หนึ่งเดือนหลังการรัฐประหารพม่า ในช่วงที่สถานการณ์ยังคงตึงเครียดและไม่รู้จะไปในทิศทางใด วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงานเสวนา PBIC ปิ่นโต Talk ในหัวข้อ “พม่า จีน ไทย ใช่ไกลอื่น: 1 เดือนหลังรัฐประหารพม่า” โดยมีวิทยากรหลายท่านมาร่วมพูดคุย ฉายภาพทิศทางและสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น วิเคราะห์ท่าทีของมหาอำนาจต่างๆ รวมถึงอภิปรายถึงอนาคตของพม่าหลังการทำรัฐประหารครั้งนี้

แม้เราจะยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าสถานการณ์ในพม่าจะจบลงเมื่อไหร่ และจะจบลงอย่างไร แต่อย่างน้อย ภาพของคนพม่าจำนวนมากที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยทำให้เราเห็นความไม่ยอมแพ้ ความหวัง และการใฝ่ฝันถึงอนาคตข้างหน้าที่สวยงามกว่าเดิมในยามที่ประชาธิปไตยเบ่งบานอีกครั้งหนึ่ง

หมายเหตุ: เก็บความจากงานเสวนาในวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2564

 

ฤาประวัติศาสตร์พม่าจะซ้ำรอย? – สุภัตรา ภูมิประภาส

ในฐานะของคนที่ตามติดเรื่องพม่ามายาวนาน และเป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกับคนในเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า หรือที่รู้จักกันในนามเหตุการณ์ ‘8-8-88’ สุภัตรา ภูมิประภาส กล่าวนำว่า “ดิฉันมองไม่ค่อยเห็นอนาคตสักเท่าไหร่”

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น สุภัตราพาเราย้อนไปตั้งแต่ยุคนายพลเนวิน ผู้ทำรัฐประหารรัฐบาลพลเรือนชุดแรกในปี 1962 และครองอำนาจมายาวนาน 26 ปี เรียกระบอบของตัวเองว่า สังคมนิยมวิถีพม่า ทำการปิดประเทศ ก่อนจะมาถึงยุคของพลเอกอาวุโสตานฉ่วย และยุคของนายพลเต็งเส่ง ซึ่งกว่าจะตั้งรัฐบาลได้ก็ในช่วงปี 2011 ตามมาด้วยการที่รัฐบาลของพรรค  NLD (สันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย) ชนะการเลือกตั้งในปี 2015 และตั้งรัฐบาลได้ในปี 2016 ซึ่งเป็นช่วงที่อาจจะเรียกได้ว่า คนพม่ากำลังเบิกบานกับเสรีภาพที่เพิ่งได้มา

“ในการเลือกตั้งเมื่อ 8 พฤศจิกายน ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าพรรค NLD กวาดที่นั่งไปถล่มทลายถึง 84% ส่วนพรรค USDP (พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา) ของทหารได้ไป 33% ที่เหลือเป็นพรรคของฉานและพรรคเล็กพรรคน้อย แต่พรรค USDP จะมีโควตาอีก 166 ที่นั่ง หรือคิดเป็น 25% แต่ก็ไม่พออยู่ดี จะโหวตกี่ครั้งคะแนนเสียงก็ไม่พอ กองทัพเลยมองว่า ตนเองไม่อาจทนอยู่แบบนี้ได้ต่อไป เลยตัดสินใจทำการรัฐประหาร”

สุภัตรายังชี้ให้เห็นว่า สังคมและประชาธิปไตยของคนพม่ารุ่นใหม่เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับชาวโลก แต่ประชาธิปไตยของทหารแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง เพราะประชาธิปไตยของทหารคือประชาธิปไตยแบบมีระเบียบวินัย มีขั้นตอน ดังนั้น เมื่อกองทัพทำอะไรไม่ได้ ก็ย่อมจะไม่ปล่อยไว้อยู่แล้ว

subhatra-bhumiprabhas 6

ทั้งนี้ แม้กองทัพจะคาดการณ์ไว้แล้วว่า พรรค NLD จะชนะการเลือกตั้งในปีที่ผ่านมา แต่สิ่งที่ทหารคาดไม่ถึงคือ NLD ชนะแบบถล่มทลาย และไม่ได้ชนะแค่ในสภา แต่พรรค NLD ยังใช้ระบบโหวต แก้กฎหมาย โอนถ่ายกระทรวงที่ดูแลเรื่องการเลือกตั้งเข้ามาอยู่ภายใต้สำนักประธานาธิบดี (สุภัตราเปรียบว่า กระทรวงดังกล่าวคล้ายกับกระทรวงมหาดไทยของประเทศไทย) ซึ่งกระทรวงที่ว่านี้เป็นเหมือนหัวใจของทหาร เมื่อเป็นเช่นนี้ กองทัพจึงใช้เป็นเหตุผลอ้างว่า มีการโกงเลือกตั้ง

“ทหารไม่ได้เรียกการกระทำของตนเองว่ารัฐประหาร แต่อ้างว่าการกระทำนี้เป็นไปภายใต้รัฐธรรมนูญ และยังออกมาบอกอีกว่า กองทัพได้หลีกเลี่ยงความรุนแรงถึงที่สุดแล้ว และทำไปเพื่อรักษากฎหมาย แต่เราจะเห็นว่าวันที่ทำรัฐประหาร (1 กุมภาพันธ์) กลุ่มทหารได้กวาดจับตัวผู้นำและคนที่ชนะเลือกตั้งไป เป็นแบบเดียวกับเมื่อปี 1990 ตอนที่ NLD ชนะการเลือกตั้ง ดิฉันเลยตั้งคำถามว่า ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยไหม เพราะทหารใช้วิธีการที่ไม่แตกต่างไปจากเดิม”

อย่างไรก็ดี แม้วิธีการของทหารจะไม่แตกต่าง แต่ปัจจัยที่ต่างออกไปจากเดิมคือเรื่องเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในการเคลื่อนไหวมาก สุภัตราเล่าว่า ในเหตุการณ์ 8-8-88 มีประชาชนออกมาเคลื่อนไหวเยอะมากเช่นกัน แต่เราจะไม่เห็นภาพฉับไวแบบนาทีต่อนาทีเช่นในครั้งนี้

“ดิฉันขอใช้คำว่า พรรคการเมืองไม่ใช่โบสถ์วิหาร ไม่ได้ทำตัวบริสุทธิ์ผุดผ่อง ตลอด 5 ปีที่บริหารมาก็มีการจับขังหรือใช้กฎหมายกับคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นบ้าง แต่ ณ วินาทีนี้ ทั้งคนที่ไม่ชอบพรรค NLD และกลุ่มชาติพันธุ์ก็มีออกมาเรียกร้องให้ปล่อยผู้นำจากการเลือกตั้งที่ถูกจับไป และกลุ่มชาติพันธุ์ยังให้ใช้วิธีเจรจาโดยสันติ นอกจากนี้ ยังมีคนออกมาแนะนำให้ใช้ social media ให้เป็นประโยชน์ และมีบุคลากรทางการแพทย์ออกมาทำอารยะขัดขืนด้วย”

อีกกลุ่มที่น่าสนใจคือสื่อพม่า ที่ร่วมกันบอยคอตไม่ไปร่วมการแถลงข่าวของทหารที่กรุงเนปิดอว์ และร่วมตกลงกันว่าจะไม่สังฆกรรมใดๆ กับรัฐบาลอีก ขณะที่ฝั่งกระทรวงข่าวสารของรัฐบาลทหารก็มีการส่งจดหมายถึงนักข่าวว่า ห้ามใช้คำว่ารัฐบาลรัฐประหารหรือระบอบทหาร เพราะทหารอ้างว่าตนเองไม่ได้ทำเช่นนั้น แต่นักข่าวก็มีการรวมตัวกันออกแถลงการณ์ว่า พวกตนจะใช้คำนี้ เพราะนี่คือจรรยาบรรณสื่อ ทำให้มีนักข่าวบางคนถูกจับตัวไปขังด้วย

“ในหมู่คนทำเรื่องพม่าจะคุยกันว่า นี่เป็นโลกยุค 2021 แล้ว ทหารทนแรงกดดันไม่ได้หรอก แต่ดิฉันคิดอีกทางเลยว่า เขาอาจจะปิดประเทศอีกครั้ง เรายังมองไม่เห็นแสงสว่างเท่าไหร่เลย ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์เขาก็ทำรัฐประหารมาขนาดนี้ โดนกดดันมาตลอด แต่คนก็ตายไปหลายสิบคน แถมยังมีการออกแถลงการณ์แข็งกร้าวบอกว่า ประชาคมโลกและสถานทูตต่างๆ ไม่เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ในพม่า นี่ก็สะท้อนว่าเขาไม่ถอยง่ายๆ หรอก” สุภัตราสรุป

อ่านการเมืองพม่าหลังรัฐประหาร และบทบาทจีน/รัสเซีย ดุลยภาค ปรีชารัชช

ขณะที่ฝั่ง ผศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ อธิบายว่า หากจะเข้าใจสาเหตุของการรัฐประหารครั้งนี้ เราจะต้องเข้าใจก่อนว่า แม้พม่าจะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ประชาธิปไตยมานับสิบปี แต่ก็ยังเป็นระบอบไฮบริดที่ผสมผสานกันระหว่างเผด็จการและประชาธิปไตย มีการถ่วงดุลอำนาจกันอยู่เป็นระยะ

“ชนชั้นนำทหารพม่าอยากให้ประชาธิปไตยของเขาเป็นพหุพรรคแบบมีระเบียบวินัย คือมีการเลือกตั้งที่เป็นองค์ประกอบของประชาธิปไตย แต่ต้องไม่มีใครใช้อำนาจจากการเลือกตั้งเข้ามาครองอำนาจแบบโดดเด่น พูดง่ายๆ คือนางออง ซาน ซูจี และพรรค NLD ห้ามเด่น ต้องยอมรับบทบาทของกองทัพ และปล่อยให้กองทัพผ่อนประเทศเป็นประชาธิปไตยได้แบบไม่ช้าไม่เร็วจนเกินไป”

ในความเห็นของดุลยภาค เขามองว่าจุดเปลี่ยนเกิดขึ้นในปี 2015 ที่พรรค NLD คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งได้แบบถล่มทลาย นี่จึงน่าจะเป็นเหตุปัจจัยที่กระตุ้นให้ทหารเกิดความหวาดกลัว และมองว่าอาจจะเป็นจุดอันตรายกับประชาธิปไตยแบบพหุพรรค

“ถ้าดูพิชัยยุทธการทำรัฐประหาร ช่วงนี้ถือว่าเหมาะมาก เพราะเป็นช่วงสุญญากาศ มีช่องว่างทางอำนาจ แม้จะรู้ผลการเลือกตั้งแล้ว แต่พรรค NLD ยังตั้งรัฐบาลและเปิดสภาไม่ได้ ซึ่งทหารก็คิดแล้วว่า ถ้าพรรค NLD ตั้งคณะรัฐมนตรีได้ ก็เท่ากับพรรคจะครองประเทศได้ 10 ปี อนาคตข้างหน้าคงไม่เหลือที่ให้กองทัพมีบทบาทนำโดดเด่นมาก เลยต้องชิงตัดวงจรก่อน”

หลังจากทำการรัฐประหารแล้ว ดุลยภาคมองว่ามีอยู่ 7 ข้อหลักๆ ที่จะเป็นฐานอำนาจให้มิน อ่อง หล่าย ในการต่อสู้กับขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย

ข้อแรกคือ การตั้งสภาบริหารปกครองรัฐที่มีลักษณะคล้ายรัฐบาลทหารที่กระชับ เล็กและกะทัดรัดลง ใช้แขนขากองทัพในสภาบริหารปกครองถ่ายระดับลงไปถึงระดับมลรัฐ รัฐ จนอาจจะถึงตำบลหรือภาคเสียด้วยซ้ำ มีสมาชิกประมาณสิบกว่าคนที่ประกอบด้วยทหารและพลเรือนที่ฝักใฝ่ทหาร

ข้อที่สองคือ สภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติ ตามรัฐธรรมนูญแล้ว องค์กรนี้จะมีบทบาทมากในสภาวะฉุกเฉิน เพราะการจะต่อสถานการณ์ฉุกเฉินต้องผ่านการประชุมของสภานี้ ซึ่งประกอบด้วยคณะบุคคล 11 คน และนายพลมิน อ่อง หล่าย ได้ให้คนของตนเองเข้าไปคุมสภากลาโหมฯ แล้วเป็นที่เรียบร้อย

ข้อต่อมาคือ กองทัพพม่า ที่น่าจะมีกำลังพลราว 4-5 แสนนาย ยังไม่นับอาสาสมัครกลุ่มทหารบ้าน กองกำลังป้องกันชายแดน หรือแม้แต่ตำรวจที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) ของพม่า ทำให้เกิดคำถามว่า ประชาชนจะสู้ยังไงในระยะยาว เมื่อต้องเจอกับหน่วยรบที่มีอาวุธครบมือ

“พม่าสร้างรัฐทหารสำเร็จก่อนจะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยอีก อำนาจของทหารพม่าไต่ระดับจากที่ลุ่มอิรวดีขึ้นไปยังที่ราบสูงฉานและเขตภูเขากะฉิ่นนานแล้ว เพราะฉะนั้น ต่อให้ประชาชนออกมาก่อหวอดตามเมืองสำคัญๆ เขาก็จะมีเมืองศูนย์กลางกองทัพภาคคอยกำราบอยู่”

จากคำอธิบายดังกล่าวต่อเนื่องมาสู่ข้อที่สี่ คือ ปราการเหล็กที่เนปิดอว์บวกกับเมืองยุทธศาสตร์ต่างๆ ในเรื่องนี้ดุลยภาคอธิบายว่า เกิดจากความกลัวของผู้นำทหารว่าจะเกิดการลุกฮือแบบ 8-8-88 และเกิดการแทรกแซงจากมหาอำนาจการเมืองโลกอย่างสหรัฐฯ จึงแก้เกมโดยการย้ายเมืองหลวงไปที่เนปิดอว์และสร้างหัวเมืองยุทธศาสตร์ต่างๆ เช่น ตองจี ตองอู หรือมัณฑะเลย์ มีระเบียงโลจิสติกส์เชื่อมโยงป้องกันการรุกรานจากต่างประเทศ มีการใช้ไฟเบอร์ออปติก ท่อใยแก้วนำแสง และเทคโนโลยีการสื่อสารตรวจจับความเคลื่อนไหวของกลุ่มที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลทหาร

“พวกเขาตั้งโครงข่ายพวกนี้ไว้เป็นสิบปีแล้ว ซึ่งผมว่ามีน้ำหนักมากในแง่ของยุทธภูมิผังเมืองกับการลุกฮือของประชาชน เราจะเห็นว่าการประท้วงที่เนปิดอว์ถูกปราบปรามอย่างง่ายดาย เพราะศูนย์กลางการลุกฮืออยู่ที่เปียงมะนา ซึ่งเป็นบริเวณที่อยู่อาศัยของประชาชน แต่กลุ่มกองทัพกับตำรวจสามารถนำกำลังไปปิดล้อม สกัดไม่ให้ฝูงชนเข้ามาที่ศูนย์ราชการที่เนปิดอว์กับที่ตั้งกองทัพได้ เพราะมันอยู่แยกส่วนกัน ไม่ปนกันเหมือนภูมิทัศน์ย่างกุ้ง การแยกส่วนแบบนี้จึงทำให้ทหารยืนอยู่ได้”

ข้อที่ห้าคือ มวลชนภาครัฐและประชาชนชาวพม่าที่เป็นแฟนคลับของมิน อ่อง หล่าย หรือกลุ่มครอบครัวทหารที่ฝักใฝ่และโหวตให้ผู้นำเหล่าทัพสมัยก่อน เป็นกลุ่มที่ได้สวัสดิการและได้ผลประโยชน์ต่างๆ จะเห็นว่าตอนมิน อ่อง หล่าย ทำรัฐประหารใหม่ๆ ก็มีคนออกมาแสดงความยินดี โชว์ป้ายให้เกียรติกองทัพ คนกลุ่มนี้มีเป็นล้านคน และทำให้น่าจับตามองต่อไปว่า จะเกิดม็อบชนม็อบหรือไม่

ข้อที่หกคือ แนวร่วมกลุ่มชาติพันธุ์ กองกำลังติดอาวุธ กลุ่มประชาสังคม และตัวพรรคการเมืองชาติพันธุ์ ซึ่งเชื่อในเรื่องสหพันธรัฐภิวัตน์ (federalisation) พูดถึงอำนาจในการปกครองตนเองหรือการแบ่งอำนาจ เป็นการสร้างโมเดลปกครองคล้ายอินเดียหรือสหรัฐฯ ที่มีรัฐบาลกลางกับรัฐบาลมลรัฐ แตกต่างจากคนพม่าแท้ที่เชื่อในเรื่องประชาธิปไตยภิวัตน์ (democratisation)

อย่างไรก็ดี ดุลยภาคชี้ว่า นายพลมิน อ่อง หล่าย จะต้องระวังไม่ให้สองกระแสที่ว่ามาบรรจบกัน เพราะถ้าสงครามกลางเมืองจากปีกชนกลุ่มน้อยกับการปฏิวัติประชาธิปไตยมาบรรจบกัน ก็อาจจะเป็นพลังกัดกร่อนอำนาจของมิน อ่อง หล่าย ได้ แต่ตัวมิน อ่อง หล่าย เอง ก็พยายามสกัดเรื่องนี้ด้วยการใช้กลยุทธ์ ‘แบ่งแยกและปกครอง’ คือดึงกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มมาเป็นแนวร่วม เลือกหัวหน้าชาติพันธุ์บางคนเข้าไปนั่งในสภาบริหารปกครองรัฐ การทำเช่นนี้จะช่วยลดพลังการเคลื่อนไหวของกลุ่มชาติพันธุ์ และยังมีกองกำลังติดอาวุธทหารบ้านเตรียมไว้จัดการกับทหารชาติพันธุ์บางกลุ่มที่อาจจะแข็งข้อกับทหารด้วย

และข้อสุดท้ายเป็นเรื่องของชุมชนนานาชาติกับมหาอำนาจการเมืองโลก เราเห็นสหรัฐฯ หรือสหภาพยุโรปออกมากดดันทหาร แม้แต่ออสเตรเลียกับญี่ปุ่นก็มีปฏิกิริยาในเรื่องนี้ แต่ประเทศที่น่าสนใจคือ จีนกับรัสเซีย

สำหรับรัสเซีย ดุลยภาคอธิบายว่าเป็นประเทศที่ถือเป็นซัพพลายเออร์อาวุธยุทโธปกรณ์ให้กองทัพพม่ามานาน อีกทั้งพม่ายังใช้อดีตสหภาพโซเวียตเป็นบทเรียนเยอะมาก เช่น ตอนยุคเผด็จการสามขาของนายพลเนวิน (ขาแรกคือกองทัพ ขาที่สองคือพรรคสังคมนิยมพม่าที่ลอกแบบมาจากพรรคคอมมิวนิสต์ของสตาลิน และขาสุดท้ายคือบารมีของนายพลเนวินและพวกพ้อง) เป็นยุคที่เหมือนจะเป็นยุคสังคมนิยมคอมมิวนิสต์

นอกจากนี้ อีกหนึ่งบทเรียนสำคัญที่พม่าเรียนรู้คือ การกระจายอำนาจให้ชนกลุ่มน้อยในดินแดนต่างๆ มากเกินไปจะเป็นอันตราย คล้ายกับการล่มสลายของโซเวียตกับยูโกสลาเวีย

ขณะที่ฝั่งจีน ดุลยภาคกล่าวว่า แม้จีนอาจไม่ขยับตัวมาก แต่ลึกๆ แล้วทุกคนรู้ดีว่า จีนมีผลประโยชน์ในพม่ามากแค่ไหน และถ้ามิน อ่อง หล่าย ยื่นเมกะโปรเจกต์ให้จีนก็ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะโครงการ ‘หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง’ ของจีนมีระเบียงเศรษฐกิจจีน-พม่า (CMEC) ผ่าจากยูนนานมาที่พม่า ยังไม่นับท่อน้ำมันและท่อก๊าซ หรือการทูตพลังงานต่างๆ ของจีนซึ่งวางอยู่ที่พม่าเช่นกัน

“ถ้าผมเป็นจีน ผมคงต้องชั่งน้ำหนักว่าจะประณามมิน อ่อง หล่าย และเสียผลประโยชน์ หรือจะสงวนท่าทีและเก็บผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์บางอย่างไว้กันท่าสหรัฐฯ”

อย่างไรก็ดี ดุลยภาคฉายภาพความสัมพันธ์ของพม่า-จีนให้เราเห็นว่า เป็นเรื่องน่ากระอักกระอ่วนใจทางการทูต คือมีทั้งรักทั้งชัง แนบชิดและห่างเหิน ชื่นมื่นและหวาดระแวง แต่ก็ต้องเอาผลประโยชน์ไว้ด้วย

“ย้อนไปในช่วงต้นปี 1948 ที่พม่าได้เอกราชใหม่ๆ จีนก็ยอมรับพม่าในฐานะรัฐเอกราช พอมาปี 1949 มีจุดเปลี่ยนเกิดขึ้นในจีน เพราะพรรคก๊กมินตั๋งของนายพลเจียง ไคเช็ก แพ้ให้กับเหมา เจ๋อตง ซึ่งพม่าก็เป็นชาติแรกๆ ที่ยอมรับรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์”

“อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม จีนก็ได้สร้างภัยคุกคามให้พม่าแล้ว เพราะกำลังพลบางส่วนของรัฐบาลเจียง ไคเช็ก ได้หลบรอดการปราบปรามของพรรคคอมมิวนิสต์และเข้าไปในรัฐฉานของพม่า กลายเป็นวิกฤตการรุกรานอธิปไตย จนพม่าต้องส่งเรื่องไปถึงสหประชาชาติ สหรัฐฯ หรือไต้หวัน ให้มาช่วยแก้วิกฤตกองกำลังก๊กมินตั๋งที่ตกค้างในรัฐฉาน จนสุดท้ายกองกำลังของก๊กมินตั๋งก็ต้องล่าถอยไป”

นอกจากพรรคก๊กมินตั๋งแล้ว พม่าก็กลัวพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วยเช่นกัน เพราะในช่วงสงครามเย็น จีนได้อ้างกรรมสิทธิ์เขตแดนในพื้นที่ทับซ้อนบางแห่ง เช่น หมู่บ้านในรัฐว้าหรือรัฐกะฉิ่น แต่สุดท้ายก็จบลงด้วยสันติวิธี มีการโอนสลับดินแดนระหว่างสองฝ่ายและเกิดการปักปันหลักเขตแดน เป็นความสัมพันธ์ชื่นมื่นชนิดที่คาดไม่ถึง

“ในช่วงที่พม่าตกอยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการทหาร แม้เราจะเห็นว่าจีนเข้ามาเกื้อหนุนพม่า กันไม่ให้สหรัฐฯ คว่ำบาตรหรือใช้เวทีสหประชาชาติแทรกแซงหรือกดดัน แต่ก็มีภัยคุกคามที่ทำให้ชนชั้นนำพม่าเริ่มไม่สบายใจด้วย ผมพบว่าทหารพม่าในยุคตาน ฉ่วย ต้องง้อจีนก็จริง แต่ลึกๆ เขาก็หวาดระแวงจีนนะ เพราะเขาเคยเป็นแม่ทัพในสมรภูมิรัฐฉาน ปราบพรรคคอมมิวนิสต์พม่าที่จีนให้การสนับสนุน ดังนั้นเขาถึงไม่ไว้วางใจจีนเท่าไหร่”

เมื่อถึงช่วงที่พม่าเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ประชาธิปไตย ดุลยภาคชี้ว่า จีนเองก็คาดไม่ถึงว่าพม่าจะเลือกเข้าสหรัฐฯ ลดอิทธิพลจีน ทำให้จีนเล่นเกมกลับโดยพยายามไม่ละทิ้งกองกำลังติดอาวุธตามแนวชายแดนจีน-พม่า เช่น กลุ่มกบฏว้าหรือกลุ่มโกกั้ง ที่มีอาณาบริเวณกองกำลังอยู่ติดกับจีน สร้างความไม่สบายใจให้กองทัพพม่า เพราะเชื่อว่ากองกำลังเหล่านี้ได้รับอาวุธจากปักกิ่ง คุนหมิง หรือยูนนาน ทำให้น่าเชื่อว่า ถ้าวันหนึ่งพม่าหลุดจากอิทธิพลจีน จีนก็อาจจะใช้กองกำลังกลุ่มนี้ก่อหวอดสร้างความไม่สงบในรัฐฉานและกะฉิ่น

อีกหนึ่งกลุ่มที่ออกมาต่อต้านจีนคือ ภาคประชาสังคมพม่า แนวคิดชาตินิยมเชิงทรัพยากรก็เริ่มกลับมาอีกครั้ง เพราะโครงการของจีนทำลายสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง คนพม่าจึงมองว่าเมืองสำคัญๆ หรือระเบียงทางเศรษฐกิจจะกลายเป็นเมืองจีนไป ส่วนหลายที่ก็มีลักษณะคล้ายกับจะเป็น China Town

เมื่อมองต่อไปในอนาคตโดยใช้เรื่องอาณาบริเวณศึกษาเป็นกรอบในการมอง ดุลยภาคชี้ว่า มี 3 ประเด็นหลักๆ ที่ทับซ้อนกันอยู่และมีความสำคัญมาก

ประเด็นแรกคือลักษณะทางภูมิศาสตร์ของพม่า ที่มีเขตวงโค้งภูเขาคล้ายเกือกม้า หรืออาณาบริเวณชายแดนภูเขาที่เรียกว่า ‘โซเมีย’ (Zomia) เป็นพื้นที่ที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 300 เมตร เช่น เขตภูเขาในรัฐกะฉิ่นหรือเขตภูเขาที่ราบสูงในรัฐฉานติดชายแดนจีน ชายแดนไทย หรือเขตภูเขาจิตตะกองในบังกลาเทศ บริเวณนี้เป็นที่ตั้งของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีพฤติกรรมเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐพื้นราบศูนย์กลาง เป็นขุมกำลังของกองกำลังติดอาวุธต่างๆ ทั่วตะเข็บชายแดน และไม่ว่ามัณฑะเลย์ ย่างกุ้ง หรือเนปิดอว์ จะพยายามแผ่อำนาจเข้ามากวาดต้อนผู้คนด้านบนเท่าไหร่ ก็มักจะเจอการตีกลับไปเสมอ

“คำถามจึงอยู่ที่ว่า คณะรัฐบาลชุดใหม่ของมิน อ่อง หล่าย จะจัดการกับกองกบฏแบ่งแยกดินแดนที่อยู่ตามขุนเขาหรือมวลเขาโซเมียอย่างไรให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด จะแลกกับเรื่องอะไร เรื่องสหพันธรัฐไหม และจะบริหารความสัมพันธ์กับรัฐชายแดนติดภูเขาอย่างจีนหรือไทยอย่างไร”

ประเด็นต่อมาคือ แม้สหรัฐฯ จะเปลี่ยนรัฐบาลใหม่แล้ว แต่ดุลยภาคยังเชื่อว่า ความเป็นมหาอำนาจของสหรัฐฯ จะทำให้สหรัฐฯ มีมหายุทธศาสตร์ ที่ไม่ว่าจะเปลี่ยนยุทธศาสตร์ไปอย่างไรก็ยังจะมีการครองความเป็นเจ้าโลกอยู่เสมอ

“นัยสำคัญอย่างหนึ่งของสหรัฐฯ คือการขยับอาณาบริเวณใหม่ จากกิจการในเอเชียตะวันออกหรือเอเชียแปซิฟิกเป็นอินโด-แปซิฟิก คือไม่ได้นับรวมแค่มหาสมุทรแปซิฟิก เอเชียตะวันออก หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่โยกมาสู่มหาสมุทรอินเดียด้วย แน่นอนว่าพม่าก็อยู่ในนี้ และยังเป็นจุดสำคัญเพราะอยู่ริมขอบมหาสมุทรอินเดีย และเชื่อมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ถือเป็นแกนกลางของยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก”

และข้อสุดท้ายคือ โครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง สายโลจิสติกส์ต่างๆ ที่จีนได้เลาะเลื้อยพาดผ่านพม่าไป ซึ่งจีนต้องการแปลงอ่าวเบงกอลและทะเลอันดามันให้เป็นทะเลสาบมังกร และไม่ได้เพื่อสู้กับสหรัฐฯ อย่างเดียว แต่ยังเพื่อคุกคามพลังของอินเดียในอ่าวเบงกอลด้วย

ในตอนท้าย ดุลยภาคสรุปว่า:

“ถ้าเราดูภูมิยุทธศาสตร์ในแถบนี้ ผมคิดว่ามหาอำนาจต้องคิดหนักแล้วว่า จะละทิ้งผลประโยชน์ในพม่าไปดื้อๆ ได้ยังไง แต่ถ้าพูดแค่เรื่องอินโด-แปซิฟิก คุณก็ต้องเจอมหาอำนาจ 4 ชาติ (Quad) แล้ว และยังต้องสู้กับจีนอีก ยังไม่นับเรื่องบริเวณโซเมีย ทั้งหมดนี้อยู่ในพม่าหมดเลย ซึ่งผมเชื่อว่าแม้ผู้นำที่ยึดอำนาจมาจะโดนกดดัน แต่เขาโชคดีเรื่องทำเลที่ตั้งและภูมิยุทธศาสตร์ในการเล่นเกมการเมืองระหว่างประเทศ แต่ก็ถือเป็นโชคร้ายของกลุ่มประชาธิปไตยที่อยากจะล้มเผด็จการพม่าเช่นกัน”

“ประชาชนมีโอกาสจะไม่แพ้ ขณะที่กองทัพมีโอกาสจะไม่ชนะ” ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

“กรณีที่เกิดขึ้นในพม่ามีปีศาจของการเปรียบเทียบ คือถ้าเราเปรียบเทียบกองทัพพม่ากับกองทัพไทยจะทำให้เราเข้าใจอะไรได้ดีมาก” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ศาสตราจารย์รับเชิญจากวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ กล่าวนำ พร้อมทั้งอ้างถึงประโยคจากฝั่งนักวิชาการตะวันตกว่า “กองทัพไทยเล่น (play) การเมือง แต่กองทัพพม่าควบคุม (control) การเมือง”

“ผมคิดว่า กองทัพพม่าและคนพม่าเปลี่ยนไปเยอะมากๆ โดยเฉพาะระดับนายพล ถ้าย้อนไปในสมัยนายพลเนวิน กลุ่มนั้นมาด้วยอุดมการณ์ เป็นนักชาตินิยมและสังคมนิยม ทำให้พม่ากลายเป็นฤาษีแห่งเอเชีย จนคนทนไม่ได้เลยลุกฮือขึ้นมาในปี 1988 แต่ปัจจุบัน นายพลเหล่านั้นเปลี่ยนไปแล้ว พวกเขากลายเป็นคนที่อยู่ในผลประโยชน์ของการกอบโกยล้วนๆ เป็นเรื่องของเงิน ไม่มีอุดมการณ์เหลืออีกต่อไป”

“ขณะที่ฝั่งของคนพม่าก็เปลี่ยนไปเยอะมากในการประท้วงปัจจุบัน ดูจากการแต่งตัว เสื้อผ้า ท่าทาง พวกเขากลายเป็นคนเมือง คนชนชั้นกลาง ทำให้ทัศนคติ รสนิยม และโลกทัศน์ของพวกเขาเปลี่ยนไป คนพม่าปัจจุบันอยากอยู่และเป็นส่วนหนึ่งของโลกาภิวัตน์และประชาคมโลก สิ่งที่กองทัพและนายพลเสนอให้จึงไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาต้องการ”

อย่างไรก็ดี ชาญวิทย์มองว่า ในกรณีนี้ “สถานการณ์ในพม่าตึงเครียด แต่ไม่ไร้ความหวัง” ถ้าพูดให้ชัดกว่านั้น การรัฐประหารของทหารพม่ามีโอกาสไม่ชนะเหมือนอย่างที่เกิดขึ้นในปี 1988

“เราเห็นว่าประชาชนต่อสู้ด้วยสันติวิธีและใช้สัญลักษณ์ต่างๆ เต็มไปด้วยความริเริ่ม เช่น นำกระทะหรือหม้อมาตี เรียกได้ว่าคนประท้วงพม่าสร้างสรรค์มาก”

“ผมคิดว่าประชาชนมีโอกาสจะไม่แพ้ ขณะที่กองทัพมีโอกาสจะไม่ชนะ” ชาญวิทย์ว่า พร้อมอธิบายต่อว่า ที่เขามองแบบนี้เพราะตอนนี้เวลาผ่านมาได้หนึ่งเดือนแล้ว แต่คณะรัฐประหารกองทัพยังคุมสถานการณ์ไม่ได้ ทั้งที่การรัฐประหารจะต้องจบเร็วมากๆ ภายในวันสองวัน อีกทั้งประชาชนพม่ายังเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นในแง่วิธีการต่อสู้หรือการทำอารยะขัดขืน

“สำหรับผม ผมยังมีความหวังอยู่ ผมมองว่าความหวังของประชาชนที่จะไม่แพ้มีโอกาสสูงมาก แถมตอนนี้พวกที่ได้รับเลือกตั้งก็ยังไปตั้งกลุ่มของตัวเอง พยายามจะตั้งรัฐบาลขึ้นมาให้ได้ และยังมีเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความซับซ้อนยิ่งขึ้นไป ส่วนประชาชนก็ออกมาต่อต้านเยอะไปหมด แล้วกองทัพจะคุมยังไง เรียกได้ว่าภายในก็คุมไม่ได้ ภายนอกก็เจอศึกหนัก”

เมื่อมองว่าประชาชนอาจจะไม่แพ้เช่นนี้ ชาญวิทย์จึงทิ้งท้ายว่า กรณีในพม่าจะกลายเป็นแรงกระเพื่อมสำคัญและจะมีผลกระทบต่อไทยมาก เพราะไทยเป็นประเทศที่มีพรมแดนติดกับพม่ายาวที่สุด และยังมีเรื่องพันธมิตรชานมเข้ามาผสมด้วย คำถามจึงอาจวกกลับมาที่ไทยด้วยว่า จะคุมเรื่องนี้ยังไง ซึ่งชาญวิทย์สรุปว่า “เกมนี้ใครทน คนนั้นชนะ”

มองสหรัฐฯ กับการรัฐประหารพม่า ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ในเหตุการณ์รัฐประหารพม่านี้ สหรัฐฯ กลายเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับการพูดถึง หรือแม้กระทั่งถูกคาดหวังมากที่สุด ว่าจะเข้ามามีบทบาทสำคัญหรือมีอิทธิพลอะไรในเรื่องนี้ โดยเฉพาะในยุคประธานาธิบดี โจ ไบเดน

สำหรับคำถามข้างต้น ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตธรรมศาสตราภิชานแห่งวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ และนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และการเมืองของสหรัฐอเมริกา มองว่า การคาดหวังบทบาทของสหรัฐฯ น่าจะเป็นเรื่องยาก เพราะฝั่งสหรัฐฯ ยังต้องเจอปัญหาภายใน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมืองหรือเศรษฐกิจ แต่หากสถานการณ์รุนแรงขึ้น สหรัฐฯ ก็อาจจะมีท่าทีบางอย่างออกมาก็เป็นได้

อย่างไรก็ดี ถ้าดูจากท่าทีของสหรัฐฯ ที่มีต่อปัญหาในพม่าตั้งแต่ปี 1988 จะเห็นว่า สหรัฐฯ ทำได้มากสุดคือการคว่ำบาตร (sanction) ทางด้านเศรษฐกิจและการค้าของกลุ่มนายพล จนกระทั่งถึงยุคบารัก โอบามา สถานการณ์จึงเริ่มคลี่คลาย มีการเจรจากับผู้แทนพม่าเพื่อจะนำไปสู่การเปิดความสัมพันธ์

อีกประเด็นน่าสนใจที่ธเนศชี้ให้เห็นคือ นับตั้งแต่ปี 1992 มา สหรัฐฯ ไม่มีสถานทูตทางการในพม่า ทำให้การดำเนินความสัมพันธ์ใดๆ ไม่ว่าจะบวกหรือลบไปไม่ค่อยถึงฝั่ง ประกอบการที่จีนอยู่ใกล้พม่ามากกว่า และเข้าสู่ช่วงพัฒนาประเทศที่โดดเด่นกว่ายุคที่ผ่านมา ทำให้ธเนศมองว่า ถ้าสหรัฐฯ จะมีนโยบายที่แข็งกร้าวหรือเป็นเรื่องเป็นราวกับพม่ามากขึ้น น่าจะมีน้ำหนักมาจากการขยับของจีน หรือแม้กระทั่งรัสเซีย ส่วนการใช้ความรุนแรงจากฝั่งทหารพม่าอาจจะเป็นเรื่องที่มีน้ำหนักรองลงมา

“หลายคนอาจจะหวังกับสหรัฐฯ ในทางยุทธศาสตร์สูง แต่เท่าที่ผมเข้าใจ ผมว่ามันน่าจะยังไม่เป็นไปในแบบที่เราอยากเห็นสักเท่าไหร่ บางคนก็มองว่า ถ้าไทยกับอาเซียนขยับยังน่าจะมีน้ำหนักมากกว่าสหรัฐฯ หรือสหประชาชาติอีก”

ในฐานะของคนที่ติดตามการเมืองอเมริกามาตลอด ธเนศอธิบายว่า ในมุมนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ โดยเฉพาะกับกลุ่มประเทศที่ไม่ได้ ‘เดือดเป็นไฟ’ เช่นกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง จะออกไปในแนวทางที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ใหญ่ของสหรัฐฯ เช่น ในช่วงสงครามเย็นจะเป็นการต่อต้านโซเวียตและจีน สกัดกั้นการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ ทำให้สหรัฐฯ จะเข้ามาโอบอุ้มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย ซึ่งเป็นประเทศที่ร่วมหัวจมท้ายกับสหรัฐฯ มาตลอด

“เมื่อกระแสโลกเริ่มเปลี่ยน การเป็นคอมมิวนิสต์ไม่น่ากลัวเหมือนในช่วงสงครามเย็น ผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ก็จะขยับไปเรื่องประเทศที่มีรัฐบาลมั่นคง มีนโยบายประกอบธุรกิจ ได้กำไรต่างๆ เขาจึงเริ่มเน้นนโยบายที่เปลี่ยนไปสู่การอ้างว่า ทำเพื่อประชาธิปไตย เมื่อ จิมมี คาร์เตอร์ ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีก็ยิ่งชัด คือเอาเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นตัวนำนโยบายการต่างประเทศ”

“เพราะฉะนั้น ถ้าเรามองว่าสหรัฐฯ เป็นคนช่วยสร้างประชาธิปไตย จริงๆ ไม่ใช่แบบนั้นเลย แต่มันเป็นยุทธศาสตร์โลกของสหรัฐฯ ที่เปลี่ยนไป จากแต่ก่อนที่เคยต่อต้านจีนหรือรัสเซีย ตอนนี้ก็ไม่ต้องแล้ว เรื่องสิทธิมนุษยชนเลยกลายมาเป็นนโยบายสร้างความร่วมมือและความมั่นคงทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ แทน และตอนนี้ยุทธศาสตร์โลกของสหรัฐฯ ก็ยังต่อเนื่องมาจากสมัยคาร์เตอร์ การเชิดชูสิทธิมนุษยชนและเสรีประชาธิปไตยก็ยังเป็นอะไรที่สหรัฐฯ ขายอยู่ ยกเว้นช่วงทรัมป์ที่เขาไม่เคยเชื่อเรื่องพวกนี้”

หนึ่งประเด็นน่าสนใจและค่อนข้างสอดคล้องกับดุลยภาคคือ เรื่องระบบไฮบริดของพม่า ซึ่งธเนศเสนอความคิดเห็นว่า พัฒนาการของพม่าอาจจะเป็นระบบไฮบริดที่ผสมระหว่างเกาหลีเหนือกับรัสเซีย/จีน เป็นคลื่นลูกใหม่ที่เกิดขึ้นหลังจากยุคที่ทุกคนมองว่า ประชาธิปไตยได้รับชัยชนะแล้ว

“ตั้งแต่ศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา ทุกประเทศได้รับผลจากโลกาภิวัตน์และเทคโนโลยีรุ่นใหม่ การค้าการบริโภคกระจายตัวไปเร็วมาก ถ้ารัฐบาลไม่มีความชอบธรรมระดับหนึ่งก็อยู่กับเขาลำบาก แต่เราก็อยู่คนเดียวไม่ได้ การจะเป็นรัฐบาลจึงต้องมีการเลือกตั้งด้วย”

ธเนศยกตัวอย่างการตั้งสภาบริหารปกครองรัฐ ซึ่งเขามองว่า กองทัพพม่ากำลังศึกษาและพบว่าต้องปกครองแบบระบบไฮบริดอย่างไทย จีน หรือเกาหลีเหนือ คือมีการเลือกตั้ง แต่อีกฝ่ายต้องไม่ชนะ ส่วนกองทัพก็จะไม่เอาชัยชนะไว้คนเดียว แต่ต้องแบ่งที่นั่งออกไปบ้าง ส่วนฝั่งนายทุนก็ยังเข้ามาค้าขายผ่านช่องทางต่างๆ เช่น ทางตลาดมืดหรือใต้ดิน ซึ่งการมีระบบไฮบริดจะทำให้การต่อสู้ยากขึ้น และการได้มาซึ่งชัยชนะก็จะยากขึ้นเช่นกัน

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทางออกในมุมมองของธเนศจึงเป็นการดึงเอาพลังภายนอกเข้ามาช่วย ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ สหภาพยุโรป หรือแม้กระทั่งอาเซียน ซึ่งธเนศคิดว่าไทยจะเป็นกุญแจสำคัญ แต่เขาเองก็ยอมรับว่า ยังไม่ค่อยเห็นศักยภาพของอาเซียนในเรื่องนี้สักเท่าไหร่ เหมือนตอนนี้อาเซียนจะเลือกอยู่ข้างที่ผิดของประวัติศาสตร์ต่อไป

“มนุษยชาติอยู่มาหลายร้อยปี แต่ไม่เคย enlighten จริงๆ สักที อย่างตอนทรัมป์ ประธานาธิบดีของประเทศที่ใหญ่ที่สุด ก็มีเรื่อง fake news ก็อาจจะบอกได้ว่าทรัมป์เป็นตัวอย่างที่ทำให้ระบอบไฮบริดในพม่าเกิดขึ้น เพราะเขารู้ว่าถ้าคุณปิดอินเทอร์เน็ตหรือ Facebook และใส่แต่ข่าวของคุณ คนอื่นก็ต้องยอม สหรัฐฯ รัสเซีย และจีนทำมาแล้ว ทำไมพม่าจะทำไม่ได้”

“นี่คือความอัปยศของมนุษย์ เราสร้างประวัติศาสตร์ที่จะเหยียบย่ำ และเลือกที่จะอยู่ข้างที่ผิดของประวัติศาสตร์ตลอดมา ยกเว้นคนส่วนน้อยที่พยายามพูด แต่เสียงยังไม่มีน้ำหนักมากพอ เราก็ต้องหวังว่าเสียงของคนส่วนน้อยนี้จะยังคงอยู่ต่อไป”

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save