fbpx
ถ้าสองเกาหลีรวมร่าง!

ถ้าสองเกาหลีรวมร่าง!

หลายคนคงทราบกันดีว่า เมื่อก่อนนั้นเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้นั้นเคยเป็นประเทศเดียวกันมาก่อน ซึ่งก็เรียกว่าประเทศเกาหลีที่มีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์มาร่วมพันปีนั่นแหละ แต่ด้วยความเป็นไปของกระแสประวัติศาสตร์โลกในช่วง 70 ปีก่อน เกิดสงครามขึ้น ไม่ใช่สงครามธรรมดาเสียด้วย เพราะคือ สงครามโลกครั้งที่สอง ส่งผลให้แทบทุกภูมิภาคทั่วโลกกลายเป็นพื้นที่สงครามไปโดยปริยาย พื้นที่แถบคาบมหาสมุทรเกาหลีได้รับผลกระทบไปด้วย หลังสงคราม เกาหลีถูกแบ่งเป็นสองส่วน ทางเหนือกลายเป็นประเทศเกาหลีเหนือซึ่งฝักใฝ่แนวคิดสังคมนิยม ขณะที่ส่วนทางใต้ถูกแบ่งเป็นประเทศเกาหลีใต้ที่ชื่นชอบแนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตย

 

อย่างไรก็ดี หลังจากที่มีการแยกตัว ก็มีความพยายามจะรวมประเทศกันอยู่เนืองๆ แต่ด้วยความที่แต่ละประเทศมีแนวทางของตัวเอง ย่อมไม่ยอมกัน และด้วยความแตกต่างทางอุดมการณ์ทางการเมืองและแนวทางการรวมประเทศนี่เอง ทำให้เกิดความขัดแย้ง จนเลยเถิดเป็นวิกฤตและสงครามอยู่หลายครั้ง

ล่าสุดในปี 2017 ก็มีแนวโน้มว่าความขัดแย้งจะปะทุกลายเป็นสงครามระดับภูมิภาคและระดับประเทศขึ้นอีกครั้ง

ทีนี้ถ้ามองในมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะหากหยิบกรอบแนวคิดแบบสัจนิยม (Realism) มาวิเคราะห์ เราก็คงจะทราบว่า การรวมประเทศของทั้งเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ตามแนวทางสันติวิธีคงเกิดขึ้นได้ยาก พูดแบบตรงตรงมาก็คือ มันแทบเป็นไปไม่ได้เลย

อย่างไรก็ดี หากมีการรวมประเทศขึ้นจริง จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้างล่ะ และถ้าจะพูดกันตรงๆ แล้ว หากมีความตั้งใจว่าจะรวมกันจริง มันเกิดขึ้นได้ง่ายขนาดนั้นเลยหรือเปล่า ทั้งนี้ เพราะว่าทั้งสองประเทศมีองค์ประกอบหลายประการที่แตกต่างกันมาก วันนี้เราจะลองมาดูสิว่าหากมีการรวมประเทศ จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

ล่าสุด The Economist สำนักข่าวชื่อดังของอังกฤษ ได้ประเมินว่าหากระบอบเผด็จการของคิมจองอึนล่มสลายลงด้วยสาเหตุอะไรก็แล้วแต่ และรัฐบาลเกาหลีใต้[1] จะต้องเข้ามาดำเนินการรวมประเทศ อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง ในเบื้องต้น หากให้ประเมินด้านงบประมาณ เกาหลีใต้อาจจะต้องใช้เงินมากถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ (โห เยอะเอามากๆ) ซึ่งสามารถคิดเป็นสามส่วนสี่ของ GDP ของประเทศ แต่นี่เป็นแค่ขั้นต่ำเท่านั้น

โดยรัฐบาลเกาหลีใต้จะต้องสร้างระบบประกันทางสังคม (social security system) ในด้านต่างๆ ขนาดใหญ่เพื่อรองรับประชากรที่จะผนวกเข้ามา 25 ล้านคนอีกด้วย (เกาหลีใต้ 50 ล้านคน เกาหลีเหนือ 25 ล้านคน รวมเป็นทั้งสิ้น 75 ล้านคน) ซึ่งในจำนวนนี้ ก็มีทั้งประชากรทั่วไปที่อยู่ในสภาวะย่ำแย่เพราะอดอาหารและถูกทารุณต่างๆ นานาอีกจำนวนมาก รวมถึงนักโทษการเมืองจากค่ายกักกันร่วมหมื่นคน

การรวมประชากรระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางสังคมครั้งใหญ่อีกด้วย เพราะว่าชาวเกาหลีเหนือส่วนมากอายุน้อยกว่าชาวเกาหลีใต้ (อายุเฉลี่ยของคนเกาหลีเหนืออยู่ที่ 34 ปี ขณะที่ชาวเกาหลีใต้อยู่ที่ 41 ปี) ประกอบกับชาวเกาหลีเหนือมักมีลูกมากกว่าชาวเกาหลีใต้ถึงสองเท่า นั่นทำให้ประชาชนในประเทศเกาหลีใหม่มีอายุเฉลี่ยน้อยลง พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ คนวัยแรงงานจะมีอายุน้อยลง และหากรัฐบาลเกาหลีใต้ได้เข้าไปยกเลิกกองทัพเกาหลีเหนือซึ่งถือเป็นกองทัพทหารประจำการที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก ประเทศเกาหลีใหม่นี้ก็จะได้แรงงานจากเกาหลีเหนือถึง 17 ล้านคน และเกาหลีใต้ 36 ล้านคน รวมเป็น 53 ล้านคน

ดูเผินๆ เหมือนจะเป็นข้อดีเพราะสะท้อนให้เห็นว่า ประชากรวัยแรงงานจำนวนมากจะเป็นคนหนุ่มคนสาวมากขึ้น ถือเป็นโอกาสดีสำหรับประเทศเกาหลีใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจในยุคสังคมสูงวัย แต่ในความเป็นจริง มันไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะถึงแม้ว่าจะได้รับแรงงานจำนวนมากจากเกาหลีเหนือ แต่ประชากรเหล่านั้นยังมีทักษะและความรู้ไม่มากพอที่จะทำงานต่อในโลกทุนนิยมได้อย่างเหมาะสม ดังนั้น รัฐบาลเกาหลีใหม่จะต้องสร้างระบบการศึกษาขนานใหญ่ขึ้นมารองรับและพัฒนาประชากรกลุ่มนี้ให้มีคุณภาพต่อไป

ความเชื่อหรืออุดมการณ์ก็นับเป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐผู้ทำหน้าที่รวมประเทศต้องให้ความสนใจ เพราะหากระบอบเผด็จการของคิมจองอึนล่มสลายลง นั่นเท่ากับว่าชาวเกาหลีเหนือทั้งประเทศจะเริ่มเดินหน้าเข้าสู่ยุคใหม่ที่มีอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตยเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต พวกเขาจะพบกับวิธีคิดและวัฒนธรรมใหม่ๆ ที่กลับหัวกลับหางจากสิ่งที่พวกเขาเคยคุ้นเคยคราวที่อยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการ ฉะนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่ประชาชนเกาหลีเหนือหลายคนจะมีความรู้สึก ‘เคว้ง’ ‘ไม่มั่นคง’ ‘ไร้จุดยึดเหนี่ยว’ จนอาจส่งผลให้พวกเขาต่อต้านสังคมใหม่ และหาทางออกด้วยการก่ออาชญากรรมต่อตัวเอง (ฆ่าตัวตาย) หรือผู้อื่นได้ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้จะต้องเข้ามากล่อมเกลาและปรับเปลี่ยนอุดมการณ์ของประชากรกลุ่มนี้ด้วยการให้การศึกษาอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งแน่นอนว่าต้องใช้งบประมาณและเวลาอย่างมาก

ในแง่การรวมประเทศด้านโครงสร้างพื้นฐาน The Economist วิเคราะห์อีกว่า ถึงแม้ในช่วง 1910-1945 ที่ญี่ปุ่นเข้ามายึดคาบสมุทรเกาหลีและได้สร้างรางรถไฟไว้มากมายในบริเวณภาคเหนือเพื่อใช้ในการสนับสนุนอุตสาหกรรมต่างๆ ทำให้ประเทศเกาหลีเหนือมีรางรถไฟอยู่ 7.4 พันกิโลเมตร (ซึ่งยาวกว่าเกาหลีใต้ที่มีอยู่เพียง 3.5 พันกิโลเมตรเท่านั้น)  แต่รางรถไฟส่วนใหญ่ของเกาหลีเหนือก็ผุพังไปมาก หากจะนำมาใช้งานและเชื่อมต่อกับรางรถไฟในเกาหลีใต้ ก็ต้องใช้งบประมาณปรับปรุงอีกมาก เรื่องถนนก็เหมือนกัน พบว่าเกาหลีเหนือมีถนนลาดยางเพียงร้อยละ 3 ของถนนทั้งหมดเท่านั้น ที่เหลือเป็นถนนลูกรัง ดังนั้น ในเรื่องถนนหนทาง เกาหลีใต้ก็ต้องเข้ามาจัดการและปรับปรุงกับอีกมากเช่นกัน

ดูจากการรวมประเทศในแต่ละมิติ ดูเหมือนว่า ประเทศเกาหลีใต้ที่จะเป็นเจ้าภาพหลักในการทำหน้าที่รวมประเทศ จะแบกภาระรายจ่ายด้านต่างๆ ไว้มากมาย จนเหมือนจะไม่ค่อยได้รับประโยชน์อะไร

แต่สถาบันวิจัยในเกาหลีใต้ได้ประเมินไว้ว่า มูลค่าการทำเหมืองแร่เกาหลีเหนือมีมูลค่าถึง 10 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นมูลค่าที่มากกว่าการทำเหมืองแร่ในเกาหลีใต้ถึง 20 เท่า ดังนั้น หากมองในแง่นี้แล้ว เมื่อเกาหลีใต้รวมประเทศและเข้าควบคุมการทำเหมือนแร่ในเกาหลีเหนือ รัฐบาลก็สามารถหารายได้จำนวนมากเพื่อเอาไปยกระดับคุณภาพโครงสร้างพื้นฐาน และประชากรของเกาหลีเหนือได้ นอกจากนี้ ด้วยรายได้มหาศาลจากการทำเหมืองแร่ รัฐบาลของประเทศเกาหลีใหม่น่าจะมีงบประมาณเหลือเฟือที่จะเอาไปใช้พัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง

ดูไปดูมา การรวมสองประเทศเข้าไว้ด้วยกันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เอาเสียเลย เพราะมีหลายเรื่องที่ต้องคิดเยอะมาก นอกจากเรื่องความแตกต่างของอุดมการณ์ทางการเมืองแล้ว ยังต้องคิดถึงเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและประชากรอีกด้วย ดังนั้นรัฐบาลที่จะเข้ามารวมประเทศจึงต้องมีเงินหนาอย่างยิ่ง และก็ต้องคิดให้ตกว่าเมื่อรวมแล้วจะไปรอด

 

ที่สำคัญ นี่ยังเป็นมุมมองของโลกตะวันตกที่คิดว่าเกาหลีใต้จะเป็นผู้นำในการรวมประเทศด้วย

คำถามก็คือ – แล้วถ้าเกาหลีเหนือเป็นผู้นำในการรวมประเทศบ้างล่ะ

จะเป็นอย่างไร?

 

อ้างอิง

บทความ เรื่อง What North and South Korea would gain if they were reunified  จาก The Economist, May 5, 2016

 

[1] ในบทความนี้ คำว่า ‘รัฐบาลเกาหลีใต้’ และ ‘รัฐบาลเกาหลีใหม่’ ในบางบริบทจะมีความหมายเดียวกัน ดังนั้นจึงมีการใช้สลับกันตามแต่โอกาส

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save