fbpx
หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว One Hundred Years of Solitude

หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว One Hundred Years of Solitude

‘นรา’ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพ

 

ดูคล้ายกับคุยโม้โอ้อวดอยู่สักหน่อยนะครับ เมื่อผมเที่ยวไปบอกกับใครต่อใครว่า จนถึงบัดนี้ ได้อ่านนิยายเรื่อง “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” (One Hundred Years of Solitude หรือ Cien años de soledad ในภาษาสเปน) ของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซจบไปแล้ว 7 รอบ

 

6 ครั้งแรกอ่านจากสำนวนแปลของ ปณิธานและร.จันเสน ซึ่งเป็นการแปลจากภาษาอังกฤษ ส่วนครั้งล่าสุดเป็นฉบับแปลจากภาษาสเปนโดยชนฤดี ปลื้มปวารณ์

รวมแล้วก็เท่ากับ ‘เจ็ดร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว’

แต่พูดให้ติดดินเป็นปกติธรรมดา ผมอ่านนิยายเรื่องนี้ซ้ำหลายรอบด้วย 2-3 เหตุผล อย่างแรกคือ เป็นงานเขียนที่ผมชอบมาก และได้อรรถรสความบันเทิงเพิ่มพูนมากขึ้นทุกครั้งที่อ่าน

ถัดมาคือ ผมอ่านซ้ำเพราะหลงใหลในความมหัศจรรย์พันลึกของนิยายเรื่องนี้ ทั้งความแปลกพิสดารของรายละเอียดเหตุการณ์ และท่วงทีลีลาในการบอกเล่าระดับอภิมหาเทพ ซึ่งสามารถเปรียบเปรยแบบไม่เกินเลยความจริงได้ว่า ‘เหมือนพระเจ้าสร้างโลก’

ประการสุดท้ายน่าจะสำคัญสุด ผมอ่านซ้ำเพราะอยากแก้สงสัยขจัดปมด้อย เนื่องจากที่ผ่านๆ มา มักจะลงเอยแบบแพ้ราบคาบ ไม่เข้าใจว่านิยายเรื่องนี้เจตนาจะสื่อสารเนื้อหาอันใด?

ความไม่เข้าใจข้างต้นนี้ ไม่ได้หมายความว่า อ่านแล้วไม่รู้เรื่องหรือจับต้องประเด็นอะไรไม่ได้เลยนะครับ แต่เป็นการอ่านแล้ว เกิดคำถามเยอะแยะมากมาย ซึ่งพอจะหาคำตอบด้วยตนเองได้บ้างเล็กน้อย แต่โดยรวมส่วนใหญ่แล้ว ยังคงเป็นปริศนาค้างคาใจไว้มากมาย ว่าตรงนั้นตรงนี้หมายความว่าอะไร?

อย่างไรก็ตาม เมื่ออ่านผ่านตาหลายเที่ยว ผมคิดว่าปัญหาหรืออุปสรรคใหญ่สุด ในการทำเข้าใจ “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” ไม่ใช่เพราะว่า ‘ความยาก’ เพียงปัจจัยเดียว แต่ยังมี ‘ความเยอะ’ มาเป็นกำแพงมหึมาขวางกั้นการเข้าถึง

ตรงข้ามกับความง่ายและความสนุกในการอ่านเพื่อรู้เนื้อเรื่องเอามากๆ

“หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” มีแง่มุมทางเนื้อหาสาระที่สามารถอ่านความหมายกันได้หลายระดับ ตั้งแต่พื้นผิวภายนอกที่เห็นชัดจับต้องได้ ไปจนถึงขั้นขุดเจาะลงลึก ทั้งสลับซับซ้อนและเต็มไปด้วยความยอกย้อนยียวน จำเป็นต้องอาศัยพื้นความรู้หลายๆ อย่างเข้ามาช่วยพิจารณา ตั้งแต่ชั่วโมงบินในการอ่านนิยายหลากหลายแนวทาง และความรู้เกี่ยวกับทฤษฏีต่างๆ ทางด้านวรรณกรรม ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ สภาพสังคม และการเมืองของโคลอมเบีย (อาจรวมถึงละตินอเมริกาด้วยก็ได้) ความรู้เกี่ยวกับศาสนาคริสต์หรือความคุ้นเคยกับไบเบิล รวมเลยไปถึงทักษะฝึกปรือในการตีความหลายๆ แบบ ทั้งการตีความตามตัวบท การตีความสัญลักษณ์ การตีความโครงสร้างแบบแผนในการเล่าเรื่อง หรือการจับประเด็นระหว่างบรรทัด ฯลฯ

แน่นอนครับว่า ความรู้ต่างๆ ข้างต้นที่กล่าวมาทั้งหมด ผมมีจำกัดอัตคัดเต็มที

นอกจากจะเป็นนิยายที่เอื้อต่อการตีความได้หลายแนวทางแล้ว งานเขียนชิ้นนี้ยังสื่อสารประเด็นอะไรต่อมิอะไร ทั้งทางตรงทางอ้อมเอาไว้สารพัดสารพัน จนกระทั่งยากจะสรุปนิยามถึงสาระสำคัญหรือแก่นเรื่องหลักด้วยใจความกระชับสั้น ให้ครอบคลุมหรือสามารถอธิบายภาพรวมของงานชิ้นนี้ได้ครบถ้วน

เช่นเดียวกัน ผมคิดว่า “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” เป็นนิยายที่ไม่เหมาะแก่การเล่าเรื่องย่อ เนื่องด้วยลีลาการเขียนของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ใช้วิธีดำเนินเรื่องแบบกระชับฉับไว เหมือนรายงานข่าวสลับควบคู่ไปกับการขยายความ แจกแจงรายละเอียดอย่างถี่ถ้วน เพื่อเน้นในสิ่งที่ต้องการจะเน้น

บ่อยครั้งที่เนื้อที่ในหนึ่งหน้ากระดาษมีสภาพเหมือนปลากระป๋อง บรรจุอัดแน่นไปด้วยเหตุการณ์เยอะแยะมากมาย และกินเวลาตามท้องเรื่องเนิ่นนาน สลับตรงข้ามกับหลายวาระที่เขาใช้เนื้อที่มากมายหลายหน้า สาธยายแจกแจงถึงสภาพย้ำคิดย้ำทำ เหตุที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับตัวละครหลากรุ่น จนเหมือนโลกหยุดนิ่ง ปราศจากความเคลื่อนไหว

ตรงนี้เป็นปัจจัยหนึ่ง ซึ่งทำให้ผมหยิบนิยายเรื่องนี้มาอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่าได้ไม่รู้จักเบื่อ ทุกครั้งก่อนอ่านก็มักจะรู้สึกว่า คุ้นเคยกับเนื้อเรื่องเหตุการณ์ดีอยู่แล้ว (มิหนำซ้ำยังเชื่อเป็นตุเป็นตะว่า ‘จำได้ขึ้นใจ’) แต่เมื่อลงมืออ่าน ก็จะพบเจอเหตุการณ์แปลกใหม่ที่ไม่คุ้นเคย-เหมือนเพิ่งได้อ่านเป็นครั้งแรก-มากมายเต็มไปหมด

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าเราสามารถเล่าเรื่องย่ออย่างรวบรัด (โดยแทบจะไม่ได้ข้องแวะแตะต้องเหตุการณ์ใดๆ ในเรื่องเลย) ได้ว่า “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” เป็นเรื่องเล่าถึงความเป็นมาและความเป็นไปอันยาวนาน (ในนิยายไม่ได้ระบุไว้แน่ชัดว่าเรื่องเกิดขึ้น-จบลงช่วงปีใด แต่มีการประมาณกันว่า น่าจะเป็นช่วงระหว่าง ค.ศ.1820-ค.ศ.1927) ของผู้คนตระกูลบวนเดีย 6 ชั่วคนกับเมืองมาก็อนโด (เป็นเมืองสมมติที่กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซจินตนาการขึ้นมา และใช้เป็นฉากหลังในนิยายของเขาหลายๆ เรื่อง)

จากจุดเริ่มต้นบุกเบิกตั้งถิ่นฐาน เป็นเพียงแค่หมู่บ้านเล็กๆ กลางป่า โดดเดี่ยวห่างไกล ตัดขาดจากสังคมอื่น ค่อยๆ เติบโตขยายใหญ่เป็นเมือง เปลี่ยนจากดินแดนดิบเถื่อนใสบริสุทธิ์มาเป็นความเจริญทันสมัย เชื่อมต่อกับโลกภายนอก ก้าวสู่จุดรุ่งเรืองมั่งคั่ง แล้วก็หักเหพบเจอเรื่องราวเลวร้าย กลายเป็นความตกต่ำ ร่วงโรย เสื่อมโทรม และล่มสลายไปในท้ายที่สุด

 

ทั้งชีวิตของคนและชีวิตของเมือง บอกเล่าไปเคียงคู่กัน เกี่ยวพันโยงใยกัน และลงเอยพบกับชะตากรรมเดียวกัน

 

นักวิจารณ์หลายๆ ท่านแสดงความเห็นไว้ว่า นิยายเรื่องนี้เป็นภาพจำลองประวัติศาสตร์ของประเทศโคลอมเบียหรือทวีปอเมริกาใต้ ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งทางการเมือง การปฏิวัติ ปัญหาเศรษฐกิจ และสงครามกลางเมือง ซึ่งเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่รู้จักจบสิ้น

เรื่องเล่าใน “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” อาจอนุโลมนับได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์เปรียบเปรยอ้อมๆ ‘ฉบับชาวบ้าน’ ที่ผิดแผกจากประวัติศาสตร์ฉบับเป็นทางการโดยสิ้นเชิง ไม่ใช่เฉพาะแค่ความขัดแย้งไม่ตรงกันของเหตุการณ์หรือข้อเท็จจริงเท่านั้น แต่ยังแตกต่างไม่ลงรอยกันสุดขั้ว ด้วยน้ำเสียง มุมมอง ท่วงทีลีลาในการบอกเล่า

เมื่อไรก็ตามที่พูดถึง “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” มักจะต้องมีศัพท์วรรณกรรมคำหนึ่งผูกโยงมาด้วยเสมอ นั่นคือ magical realism

ศัพท์คำนี้มีหลายท่านถอดความบัญญัติเป็นภาษาไทย แต่ที่ติดปาก คุ้นเคย และได้รับความนิยมนำมาใช้เรียกขานมากสุดคือ ‘สัจนิยมมหัศจรรย์’

magical realism นั้น แรกเริ่มเป็นศัพท์ที่ใช้นิยามงานศิลปะประเภททัศนศิลป์ เกิดขึ้นในยุโรป เพื่อจำแนกแยกย่อย ให้เห็นถึงงานศิลปะที่แตกแขนงออกไปจากงานประเภทเหนือจริงและศิลปะสกุล expressionism แล้วต่อมาก็เคลื่อนย้ายมาสู่แวดวงวรรณกรรม รวมทั้งข้ามน้ำข้ามทะเลจากยุโรปมาเติบโตหยั่งรากลึกในอเมริกาใต้ (ต่อมาหลังจาก ความสำเร็จของ “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” magical realism ก็กลายเป็นกระแสสำคัญ ส่งอิทธิพลไปสู่แวดวงวรรณกรรมทั่วโลก)

จนถึงปัจจุบัน ในโลกวรรณกรรม มีการเขียนนิยายและเรื่องสั้นแบบ magical realism ออกมาเป็นจำนวนมาก มีความแตกต่างกันทั้งในรายละเอียดปลีกย่อยและกลวิธี มีการพัฒนาและการคลี่คลาย รวมถึงการสะท้อนแง่มุมทางด้านเนื้อหาสาระที่หลากหลาย กระทั่งกลายเป็นเรื่องยากที่จะกำหนดกฎเกณฑ์ให้ครอบคลุมทั่วถึงทั้งหมดว่า magical realism ควรต้องประกอบไปด้วยคุณลักษณะเช่นไรบ้าง

แต่ถึงกระนั้น ลีลาแบบ magical realism ซึ่งกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ นำมาใช้อย่างพิสดารแพรวพราวใน “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” ก็ยังคงเป็นหลักยึดเหนี่ยวที่สำคัญ และสามารถนำมาใช้เป็นบรรทัดฐานในการอธิบายถึงลักษณะของวรรณกรรมประเภทนี้ นั่นคือ การที่โลกแห่งความเป็นจริงและโลกแห่งความมหัศจรรย์ ดำรงอยู่ร่วมกันโดยมีระบบความเป็นเหตุเป็นผลชุดเดียวกัน กระทั่งกลายเป็นเรื่องปกติ และยากจะจำแนกแยกแยะได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดว่า อะไรคือ ‘ความจริง’ อะไรคือ ‘ความมหัศจรรย์’

คำอธิบายที่ง่ายสุดที่ผมอ่านเจอ และช่วยได้มากในการพิจารณาว่า งานเขียนใดเป็น magical realism งานเขียนใดเป็นเรื่องในแนวแฟนตาซี ก็คือ ปฏิกิริยาของบรรดาตัวละครต่อสิ่งมหัศจรรย์ทั้งหลายทั้งปวง

กล่าวคือ ในวรรณกรรม magical realism นั้น ผู้คนมักรู้สึกและวางตัว หรือมีท่าทีต่อความมหัศจรรย์เหมือนเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ไม่ได้เอะใจหรือแตกตื่นมองเห็นเป็นสิ่งผิดประหลาด (อาจมีบางครั้งที่ตัวละครแปลกใจเมื่อเจอสิ่งเหล่านี้ แต่ผ่านไปสักพักก็คุ้นเคยและเห็นเป็นเรื่องธรรมดา)

อาจารย์ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ยกตัวอย่างเปรียบเทียบที่ทำให้เข้าใจได้ง่าย ในหนังสือ “สัจนิยมมหัศจรรย์:ในงานของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ, โทนี มอร์ริสันและวรรณกรรม” โดยเทียบเคียงกันถึงความแตกต่างระหว่างผีใน “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” กับแม่นาคพระโขนง

ใน “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” มีเหตุการณ์ที่คนตายไปแล้ว กลับมาปรากฏตัว (บ่อยครั้งยังใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนเป็นเสียด้วยซ้ำ) โดยไม่ได้อาละวาดหลอกหลอนชาวบ้าน และไม่มีใครตกใจกลัว เป็นผีที่ปราศจากอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ตรงข้ามกับแม่นาคพระโขนงโดยสิ้นเชิง

ตรงนี้เชื่อมโยงไปถึงลักษณะสำคัญอีกประการของ magical realism นั่นคือ การเขียนถึงสิ่งมหัศจรรย์ต่างๆ ออกมาด้วยการให้รายละเอียดห้อมล้อมที่สมจริง  สวนทางกับการเขียนถึงสรรพสิ่งที่เป็นจริง ให้แลดูเป็นเรื่องประหลาดมหัศจรรย์

เหตุการณ์มหัศจรรย์ซึ่งมีปรากฎแทบจะเรียกได้ว่าทุกหน้าในนิยาย “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาดที่ทำให้ผู้คนในมาก็อนโดเป็นโรคนอนไม่หลับติดต่อกันเนิ่นนานนับปี, เลือดจากร่างผู้ตายไหลเคลื่อนจากจุดเกิดเหตุเดินทางไปยังบ้านของแม่ เพื่อแจ้งข่าวให้นางรับรู้ถึงการเสียชีวิตของลูกชาย, ตัวละครที่ลอยขึ้นสู่ท้องฟ้าแล้วหายไปตลอดกาล หรือฝนที่ตกหนักในมาก็อนโดอย่างต่อเนื่องไม่หยุดเป็นเวลา 4 ปี 11 เดือน 2 วัน ฯลฯ ทั้งหมดนี้เขียนออกมาราวกับเป็นเรื่องทั่วๆ ไป เต็มไปด้วยความสมจริงน่าเชื่อถือ (ด้วยน้ำเสียงของผู้เล่าเรื่องที่ราบเรียบไม่แสดงอารมณ์)

ในทางกลับกัน กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ กลับพรรณนาถึงสิ่งที่เราท่านคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี อาทิเช่น น้ำแข็ง, แท่งแม่เหล็ก, แว่นขยาย, เครื่องดนตรี, แผ่นเสียง, การถ่ายรูป, การฉายหนัง, หรือการมาถึงหมู่บ้านของขบวนรถไฟ ฯลฯ ราวกับเป็นสิ่งพิลึกพิลั่นประหลาดล้ำ (ตรงนี้เป็นความเก่งกาจของมาร์เกซด้วยนะครับ ที่สามารถใช้มุมมองบริสุทธิ์ไร้เดียงสา มาอธิบาย ‘ความธรรมดา’ ที่เราท่านพบเห็นอยู่ดาษดื่น กระทั่งกลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์น่าตื่นตาตื่นใจ)

วรรณกรรมแบบ magiacl realism นั้น ถือกำเนิดขึ้นท่ามกลางกระแสและอิทธิพลของงานเขียนประเภทสมจริงจากยุโรปและอเมริกาเหนือ โดยตัวของมันเองจึงมีท่าทีของการตอบโต้ ด้วยการสร้างความสมจริงในอีกลักษณะหนึ่งขึ้นมาเทียบเคียง จนท้ายที่สุด ก็กลายเป็นการสร้างนิยามความหมายใหม่ให้กับบุคลิกเฉพาะและตัวตนของความเป็นละตินอเมริกา ซึ่งปฏิเสธทั้งความเป็นสมัยใหม่แบบตะวันตก และจารีตนิยมแบบละตินอเมริกาที่เคยยึดมั่นกันมา

ลักษณะเช่นนี้ ส่งผลให้มีการนับเนื่องกันว่า magical realism เป็นส่วนหนึ่งของวรรณกรรมหลังสมัยใหม่หรือโพสต์โมเดิร์น ซึ่งมุ่งเน้นให้ผู้อ่านตั้งข้อสงสัยกับ ‘ความจริง’ สำเร็จรูป และด้วยความเชื่อว่า ในโลกยุคหลังสมัยใหม่ ความจริงยิ่งทวีความสลับซับซ้อนเกินกว่าจะสรุปอะไรได้ง่ายๆ การตั้งคำถามกับความจริงต่างๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญ

ในแง่นี้ “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” ได้ทำหน้าที่ตั้งคำถามด้วยความขยันขันแข็งชนิดแรงเหลือพลังงานเยอะ ผ่านอีกกลวิธีคือ การสร้างความคลุมเครือสับสนโดยเจตนาในหลายๆ ทาง

หนึ่งในความคลุมเครือสับสนที่นำเสนอออกมาได้โดดเด่นมาก คือ การเล่นกับมิติของเวลา

ตั้งแต่ต้นจนจบ “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” เล่าเรื่องแบบเวลาเดินทางเป็นเส้นตรง เรียงตามลำดับหนึ่ง สอง สาม… แต่ในระหว่างทาง กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซก็เล่าเรื่องด้วยเวลาแบบปกรณัม ซึ่งไม่ตรงไปตรงมา อดีต ปัจจุบัน อนาคต ปนเปกันอย่างชุลมุนอลหม่าน จนทำให้ตัวนิยายทั้งเรื่อง มีมิติเวลาชวนพิศวง ทั้งเคลื่อนที่รุดหน้าไปเรื่อยๆ บางครั้งการเปลี่ยนผ่านของวันเดือนปีเกิดขึ้นอย่างฉับไว บางครั้งก็เหมือนหยุดนิ่งแช่แข็ง

และที่สำคัญคือ เมื่อเรื่องราวคืบหน้าไปตามลำดับ เส้นเวลากลับเดินทางเป็นวงกลม นำไปสู่เหตุการณ์ในลักษณะวนเวียนอุบัติซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่า จนทำให้เกิดลักษณะขัดแย้งสำคัญอีกอย่าง คือ มีเหตุการณ์มากมายเกิดขึ้นในชีวิตของตัวละครตระกูลบวนเดียหลากรุ่น แต่อีกนัยหนึ่ง เรื่องราวตลอดช่วงเวลาร่วมศตวรรษ ก็ให้ความรู้สึกเหมือนกับว่า ไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น ปราศจากความเปลี่ยนแปลง วันแล้ววันเล่าที่ผ่านไป ทุกอย่างยังคงซ้ำเดิมเสมอมา

ตัวอย่างหนึ่งของการเล่นกับมิติเวลาได้อย่างยอดเยี่ยม คือ ฉากเปิดเรื่องอันเป็นที่ลือลั่น เพียงแค่ย่อหน้าแรก กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซก็เล่าเหตุการณ์ที่เป็นทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคตผสมปนกันอยู่ครบถ้วน (ที่ร้ายกาจกว่านั้นคือ การทำให้ปัจจุบันอันเป็นจุดเริ่มต้น พร่าเลือนไม่แน่ชัดยิ่งกว่าช่วงเวลาใดๆ)

ควบคู่กับการสร้างความคลุมเครือสับสนทางด้านมิติเวลา กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซยังสร้างความคลุมเครือในอีกส่วนสำคัญ นั่นคือ สายความสัมพันธ์ของตระกูลบวนเดียตลอด 6 ชั่วอายุคน ตั้งแต่การตั้งชื่อลูกหลานซ้ำๆ เดิม จนผู้อ่านต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่งในการจำแนกแยกแยะว่าใครเป็นใคร

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีประเด็นสำคัญที่ทำให้การลำดับนับญาติสมาชิกตระกูลบวนเดีย ยิ่งชวนงุนงงสับสนหนักเข้าไปอีก จากการที่บรรดาตัวละครทุกรุ่น จะต้องมีสมาชิกบางคน เกิดแรงปรารถนาในการ ‘สมสู่ระหว่างสายเลือด’ (แง่มุมนี้มีความสำคัญต่อตัวเรื่องทั้งหมด ในแง่ที่ว่า มันเป็นทั้งต้นตอสาเหตุทำให้มาก็อนโดถือกำเนิดขึ้น และเป็นทั้งจุดจบล่มสลาย) กระทั่งส่งผลให้ความเป็นพี่น้องลูกหลาน เกิดอาการรวนไม่เป็นไปตามที่ควร

แง่มุมนี้มีบางท่านตีความว่า สะท้อนถึงการปิดกั้นตนเองของตระกูลบวนเดียต่อโลกภายนอก ซึ่งเชื่อมโยงได้ต่อไปถึง มาก็อนโดกับการถูกรุกล้ำจากโลกภายนอก ทั้งการแวะเยือนของชาวยิปซี, นักดนตรีจากอิตาลี, นักการเมืองจากส่วนกลางที่รัฐบาลส่งมาปกครองมาก็อนโด, ทุนข้ามชาติจากบริษัทกล้วย ฯลฯ ซึ่งแปลความอีกทอดได้ว่า มีทั้งความเจริญทันสมัยจากโลกภายนอก, อารยธรรมตะวันตก, การแทรกแซงทางการเมือง, และการบุกรุกเข้ามาของระบบทุนนิยม (นี่ยังไม่นับรวมถึงการค้นพบซากชุดเกราะโบราณ ซึ่งสะท้อนถึงร่องรอยของการเคยตกเป็นอาณานิคมของสเปน)

ที่เล่าสู่กันฟังมาทั้งหมด (ซึ่งยังตกหล่นประเด็นสำคัญอีกเยอะเลยครับ) อาจข่มขวัญ ทำให้ท่านที่ยังไม่เคยอ่านนิยายเรื่องนี้หวาดหวั่นยำเกรงล่วงหน้า แต่ผมอยากจะสรุปสั้นๆ ดังนี้ครับ ในบรรดาวรรณกรรมทั้งหมดที่ผมเคยอ่านมา “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” เป็นสุดยอดนิยายที่คำยกย่องสรรเสริญใดๆ ที่ผ่านตา ล้วนไม่เกินเลยความจริง (หรืออาจจะยกย่องไม่ถึงคุณงามความดีที่มีอยู่เสียด้วยซ้ำ)

เหนือสิ่งอื่นใด มันเป็นนิยายที่อ่านง่าย (หากจะทำใจปล่อยวางยอมพักเรื่องการทำความเข้าใจสาระสำคัญไว้ก่อน) และสนุกพิสดารครบรสแบบที่ผมไม่เคยเจอะเคยเจอมาก่อนในชีวิต

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save