fbpx
หนึ่งวิกฤต หลายเส้นทาง: ความหลากหลายของระบบตลาด กับวิธีแก้วิกฤตและผลกระทบ

หนึ่งวิกฤต หลายเส้นทาง: ความหลากหลายของระบบตลาด กับวิธีแก้วิกฤตและผลกระทบ

ในปี 2001 Peter Hall และ David Soskice ได้ผลิตผลงานชิ้นสำคัญชื่อ ‘Varieties of Capitalism: The Institutional Foundations of Comparative Advantages’ ทั้งสองทำการศึกษาจากประเทศพัฒนาแล้ว พบว่าประเทศเหล่านี้มีรูปแบบทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ และความแตกต่างเหล่านี้ได้สร้างให้เกิดการพัฒนาที่มีลักษณะเฉพาะเป็นของตนเอง

บทความนี้จะพาทุกท่านไปทำความเข้าใจระบบเศรษฐกิจ 3 แบบ ได้แก่ ระบบตลาดแบบเสรี ระบบตลาดแบบร่วมมือ และระบบตลาดแบบช่วงชั้น พร้อมกับชวนพิจารณาถึงวิธีการรับมือวิกฤต และผลกระทบที่แตกต่างกันในระบบเศรษฐกิจเหล่านี้ เพื่อเป็นบทเรียนต่อประเทศไทย

ระบบตลาดแบบเสรี vs. ระบบตลาดแบบร่วมมือ

Hall และ Soskice เสนอว่า เราสามารถทำความเข้าใจความหลากหลายของระบบเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้ว โดยจัดกลุ่มแยกออกเป็น 2 ระบบ ได้แก่ ‘ระบบตลาดแบบเสรี’ (Liberal Market Economy – LME) ซึ่งมีตัวแทนคือ สหรัฐอเมริกา และ ‘ระบบตลาดแบบร่วมมือ’ (Coordinated Market Economy: CME) ซึ่งมีตัวแทนคือ เยอรมนี

ระบบตลาดเสรีเน้นจัดสรรทรัพยากรผ่านกลไกราคา ช่องทางระดมทุนผ่านตลาดทุนมีลักษณะเปิดกว้าง ทำให้สิทธิความเป็นเจ้าของบริษัทกระจายตัวและเปลี่ยนแปลงไว บนโครงสร้างเช่นนี้ ผู้บริหารต้องการรักษาอัตราผลตอบแทนระยะสั้นและราคาหุ้นให้สูงขึ้นตลอดเวลา ส่งผลให้บริษัทต่างๆ มุ่งแข่งขันกันอย่างรุนแรงและเร่งสร้างขีดความสามารถทางธุรกิจ

กลุ่มทุนในระบบตลาดเสรีมักกำหนดความสัมพันธ์กับสหภาพแรงงานแบบปฏิปักษ์ กล่าวคือ บริษัทไม่สนับสนุนการรวมตัวแรงงาน และเน้นการจ้างงานแบบยืดหยุ่น (เลิกจ้างง่าย ต้นทุนถูก) ทำให้แรงงานต้องแข่งขันกันเองเพื่อรักษาตำแหน่งงานเอาไว้ พร้อมกันนั้นก็เรียนรู้ทักษะทั่วไป (general skills) ที่สามารถประยุกต์ใช้ได้กับหลายอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มโอกาสในการหางานใหม่ได้ไวขึ้น

ขณะที่ระบบตลาดร่วมมือเน้นการจัดสรรทรัพยากรผ่านการตกลงต่อรองทางสังคม ผู้ลงทุนมักจะลงทุนในอุตสาหกรรมหนึ่งจนมีสัดส่วนความเป็นเจ้าของสูงเพียงพอจะกำหนดทิศทางบริษัทได้อย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้การกำกับดูแลเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ในระยะยาวมากกว่าระบบตลาดเสรี

ความสัมพันธ์ภายในอุตสาหกรรมนั้นมีทั้งแบบแข่งขันและร่วมมือในเวลาเดียวกัน กล่าวคือ แต่ละบริษัทมีอิสระและมุ่งขยายตลาดของตนเอง แต่ขณะเดียวกันก็สร้างความร่วมมือผ่านสมาคมการค้า (business associations) เพื่อช่วยเหลือกันในด้านเทคโนโลยี หรือกำหนดนโยบายภาพรวมที่ดีกับทุกฝ่าย

ในด้านแรงงานสัมพันธ์ ระบบตลาดแบบร่วมมือจะสนับสนุนการรวมตัวแรงงาน เพราะมองว่า เมื่อแรงงานรวมตัวมีเอกภาพ จะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจทำงานได้ดีขึ้น เช่น สามารถต่อรองและวางแผนค่าจ้างให้สูงขึ้นได้ในระดับพึงพอใจทั้งสองฝ่ายและวางแผนได้ล่วงหน้า ทำให้การปรับตัวค่าจ้างมีความแน่นอน (ไม่ผันผวน)

การร่วมมือระหว่างทุนและแรงงานนี้ มักมาพร้อมกลไกต่างๆ ที่คุ้มครองสิทธิ์แรงงาน ทำให้ระยะเวลาจ้างงานของระบบตลาดร่วมมือยาวนานมากกว่าระบบตลาดเสรี แรงงานจึงมีแรงจูงใจที่จะพัฒนาทักษะเฉพาะอุตสาหกรรม (industry-specific skills) อย่างเข้มข้น

เราสามารถสรุปความแตกต่างของทั้งสองระบบนี้ได้ตามตารางที่ 1

 ตลาดแบบเสรี (LME)ตลาดแบบร่วมมือ (CME)
หลักการจัดสรรทรัพยากรกลไกตลาด ราคาการตกลงร่วมกัน
รูปแบบการถือหุ้น ลงทุนกระจายตัวสูง ให้น้ำหนักต่อผลตอบแทนระยะสั้น และราคาหุ้นครองหุ้นเป็นสัดส่วนสูง และรับผิดชอบทิศทางระยะยาวของบริษัท
ความสัมพันธ์ภายในกลุ่มทุนแข่งขันรุนแรงร่วมมือผ่านสมาคมการค้า
การจัดการแรงงานสัมพันธ์ไม่สนับสนุนสหภาพสนับสนุนสหภาพแรงงาน
การส่งเสริมทักษะแรงงานทักษะทั่วไปสูง – ยืดหยุ่นทักษะเฉพาะอุตสาหกรรมสูง
ตารางที่ 1: ความแตกต่าง (บางด้าน) ระหว่างระบบตลาดแบบเสรี และ ระบบตลาดแบบร่วมมือ
ที่มา: ปรับจาก Hall and Soskice (2001) และ Schneider (2013)

เราอาจจะยกตัวอย่างข้อมูลจริงด้านแรงงานมาแสดงถึงความแตกต่าง เช่น ค่าความหนาแน่นของสหภาพแรงงาน (union density) ของประเทศตลาดเสรีมีค่าราว 28% ของผู้ทำงาน และประเทศตลาดร่วมมือมีค่า 48% ของผู้ทำงาน ส่วนค่ามัธยฐานของอายุงาน (median job tenure) ของแรงงานประเทศตลาดเสรีอยู่ที่ 5 ปี เทียบกับประเทศตลาดร่วมมือซึ่งมีค่าราว 7.4 ปี เป็นต้น (Schneider, 2013: 12)

เศรษฐกิจทั้งสองแบบล้วนนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจ แม้จะมีลักษณะเส้นทางที่แตกต่างกัน กล่าวคือ ‘ตลาดเสรี’ ใช้กลไกราคาและการแข่งขันเป็นตัวขับเคลื่อน ทว่า ‘ตลาดร่วมมือ’ เน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มทุนและแรงงาน เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีและทักษะเฉพาะของอุตสาหกรรม

หลังจากที่งานของ Hall and Soskice ได้รับเสียงตอบรับอย่างดีในโลกวิชาการ Hall ก็พัฒนาข้อเสนอของเขาต่อโดยทำงานร่วมกับ Daniel W. Gingerich ผู้เชี่ยวชาญการเมืองเปรียบเทียบแห่ง University of Virginia นำการจำแนกเช่นนี้ไปใช้จัดกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ เช่น กลุ่มระบบตลาดเสรีประกอบไปด้วยสหราชอาณาจักร แคนาดา และออสเตรเลีย ในขณะที่ระบบตลาดร่วมมือประกอบด้วยออสเตรีย เบลเยียม และกลุ่มประเทศนอร์ดิก เป็นต้น

สมมติฐานการรับมือวิกฤตเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน

คุณลักษณะที่แตกต่างระหว่างระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีและระบบตลาดแบบร่วมมือ นำมาสู่วิธีรับมือวิกฤตเศรษฐกิจที่แตกต่างกันออกไป

ภายใต้ระบบตลาดแบบเสรี ผู้เล่นทางเศรษฐกิจจะเผชิญหน้าวิกฤตโดยปรับตัวตามกลไกตลาด รัฐ-ธนาคาร-ตลาดทุน จะให้การช่วยเหลือบริษัทที่มีงบดุลและผลกำไรดีที่สุดเป็นสำคัญ ส่วนบริษัทเองก็จะเก็บรักษาพนักงานเอาไว้เฉพาะในส่วนที่จำเป็นและมีผลิตภาพสูง

ผลของการปรับตัวเช่นนี้ทำให้บริษัทต่างๆ (ที่ยังดำเนินงานอยู่) สามารถรักษาอัตราผลกำไรเอาไว้ได้ และมีผลิตภาพแรงงานเพิ่มสูงขึ้น ในระหว่างที่เกิดวิกฤต แต่ในระยะยาว เมื่อเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติ การจ้างงานจะฟื้นตัวช้า เพราะบริษัทต่างๆ ที่ปิดตัวลงจะไม่สามารถกลับมาเปิดได้ทันที พร้อมกันนั้น แรงงานต้องใช้เวลานานในการหางานใหม่

ส่วนในระบบตลาดแบบร่วมมือ นายจ้างและลูกจ้างสามารถอาศัยกลไกเชิงสถาบัน เช่น สหภาพแรงงาน และสมาคมการค้า เข้าเจรจาต่อรองกัน เพื่อเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขในระหว่างวิกฤตได้ เช่น นายจ้างสามารถตกลงที่จะจ้างงานต่อเนื่อง (หรือ จ้างงานเพิ่มขึ้น) แลกกับการที่แรงงานยอมลดเวลาทำงานลงและรับเงินเดือนน้อยลง เป็นต้น

มาตรการเช่นนี้จะบรรลุได้ ก็ต่อเมื่อทั้งฝั่งบริษัทและแรงงานมีการจัดตั้งและมีตัวแทนตัดสินใจแทนฝ่ายตนได้อย่างเป็นระบบและมีเอกภาพ (ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของระบบตลาดแบบร่วมมือ)

ผลจากมาตรการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข ทำให้ในระยะสั้น ระหว่างเกิดวิกฤต การว่างงานจะลดลงไม่มาก แต่ผลิตภาพต่อหัวแรงงาน (labor productivity) จะลดลงอย่างรุนแรง ทำไมจึงเป็นเช่นนี้?

เราอาจจะนึกภาพถึงมาตรการลดเวลาทำงานโดยสมัครใจ โดยเรายังคงรักษาการจ้างงานไว้ แต่ลดเวลาทำงานลงจาก 5 วันเหลือแค่ 3 วัน เพียงเท่านี้ ผลิตภาพเฉลี่ยของเศรษฐกิจก็ลดลงมากแล้ว

แต่การทำเช่นนี้จะส่งผลดีในระยะยาว เมื่อเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เพราะแรงงานสามารถกลับมาทำงานเต็มเวลาได้ทันทีโดยไม่ต้องหางานใหม่ และยังลดปัญหาทักษะไม่ตรงกับงาน ทำให้การฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศเกิดขึ้นรวดเร็วตามไปด้วย

Natural Experiment:
วิกฤต Sub-Prime Loan กับการปรับตัวของสหรัฐอเมริกา และเยอรมนี

สมมติฐานต่อความแตกต่างของการรับมือวิกฤตเศรษฐกิจนี้ได้ถูกทดสอบในช่วงวิกฤตการเงินระหว่างปี 2007-2009 (Sub-Prime Loan Crisis) ซึ่งเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา และลุกลามส่งผ่านวิกฤตไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มีการเชื่อมต่อทางเศรษฐกิจ อาทิ ช่องทางการค้า และการลงทุนกับสหรัฐอเมริกาอย่างใกล้ชิด

ศ.Sir Christopher Pissarides นักเศรษฐศาสตร์ชาวไซปรัสแห่ง London School of Economics ได้สำรวจผลกระทบ และการปรับตัวทางเศรษฐกิจในช่วงวิกฤตดังกล่าว และชี้ให้เห็นถึงทิศทางที่แตกต่างกันอย่างยิ่งระหว่างสหรัฐอเมริกา (ระบบตลาดแบบเสรี) และ เยอรมนี (ระบบตลาดแบบร่วมมือ) โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

จากภาพที่ 1 เราจะพบว่าการแปลงโดยเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) สหรัฐอเมริกาและเยอรมนี ในช่วงวิกฤตนั้นมีทิศทางและขนาดใกล้เคียงกัน คือลดลงราว 4% ทว่า เมื่อพิจารณาผลกระทบทางฝั่งแรงงาน ระยะเวลาทำงานรวม (total hours) ของแรงงานในสหรัฐอเมริกาหดตัวรุนแรงเกือบ 8% ส่วนเยอรมนีลดลงไม่ถึง 1% เท่านั้น สะท้อนถึงการปรับตัวของตลาดแรงงานที่แตกต่างกัน

ภาพที่ 1: การเปลี่ยนแปลงของ GDP และ เวลาทำงานรวม (total working hours) ของสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และ เยอรมนี ระหว่างปี 2007-2009
ที่มา: Pissarides (2012)

Pissarides ชี้ถึงปัจจัยเชิงสถาบันที่ทำให้ตลาดแรงงานของสหรัฐอเมริกาปรับตัวรุนแรงกว่าเยอรมนีเอาไว้ว่า สหรัฐอเมริกามีกฎหมายค่อนข้างยืดหยุ่นต่อนายจ้างและบริษัทในการเลิกจ้างพนักงาน (employer-friendly flexibility) นอกจากนี้ ผู้บริหารของบริษัทต่างๆ มักถูกประเมินผลงานจากการประคองงบดุลบริษัทและราคาหุ้น ตลอดจนตัวผู้บริหารเองก็ได้รับค่าตอบแทนบางส่วนเป็นหุ้นของบริษัท ดังนั้น ผู้บริหารเหล่านี้จึงมักลดจำนวนพนักงานที่ไม่จำเป็นลงเพื่อลดต้นทุน และคงระดับอัตราผลกำไรในระยะสั้นเอาไว้

สถานการณ์กลับด้านกันในเยอรมนี Ulf Rinne และ Klaus F Zimmermann จาก Institute of Labor Economics (IZA) อธิบายว่า เยอรมนีมีกลไกเชิงสถาบันในการต่อรอง-ร่วมมือเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง โดยเฉพาะการลดเวลาทำงาน การจ้างงานระยะสั้น (short-time work) การอุดหนุนเงินเดือน และการลงบัญชีสะสมเวลาทำงาน (working time account)

ระบบหลังนี้น่าสนใจอย่างมาก กล่าวคือ นายจ้างจะยังจ่ายเงินเดือนเต็มให้แก่ลูกจ้าง แม้จะมาทำงานน้อยลง (โดยรัฐเข้ามาช่วยอุดหนุน) แต่ลูกจ้างจะบันทึกบัญชีเอาไว้ว่าจะต้องทำงานหนักขึ้นเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว มาตรการเช่นนี้ ด้านหนึ่งจะลดการผลิตส่วนเกิน (over supplies) ของสินค้าในช่วงเศรษฐกิจขาลงได้ แต่ไม่ไปลดรายได้แรงงานและอุปสงค์มวลรวม ทำให้ในทางทฤษฎีแล้วเศรษฐกิจกลับเข้าดุลยภาพได้ไว

ผลของมาตรการเฉลี่ยทุกข์-เฉลี่ยสุขเหล่านี้ทำให้เยอรมนีรักษาการจ้างงานได้มากกว่าสหรัฐอเมริกา แต่จะมีชั่วโมงทำงานของแรงงานแต่ละคนลดลงมากกว่าสหรัฐอเมริกาเช่นกัน

ภาพที่ 2 ยืนยันคำอธิบายนี้ กล่าวคือ การจ้างงานของสหรัฐอเมริกาในช่วงวิกฤตลดลงเกือบ 6% แต่การจ้างงานของเยอรมนีเพิ่มขึ้นราว 2% สวนทางเศรษฐกิจที่หดตัวลง ในขณะเดียวกัน ระยะเวลาทำงานเฉลี่ยของแรงงานแต่ละคนในเยอรมนี ก็ลดลงมากกว่าสหรัฐอเมริกา [1]

ภาพที่ 2: การเปลี่ยนแปลงของการจ้างงาน (employment) และระยะเวลาทำงานเฉลี่ยของแรงงานแต่ละคน (working hours per worker) ของสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และเยอรมนี ระหว่างปี 2007-2009
ที่มา: Pissarides (2012)

จุดแข็งที่แตกต่าง: ผลิตภาพ VS การประคองการจ้างงาน

จากรายละเอียดที่กล่าวมาทั้งหมด เราสามารถชี้จุดแข็งของระบบตลาดแบบเสรีและระบบตลาดแบบร่วมมือได้ดังนี้

ในแง่ผลิตภาพ (Productivity) เมื่อเจอวิกฤตใหญ่ๆ ระบบตลาดเสรีแบบสหรัฐอเมริกาจะขับเน้นผลิตภาพแรงงาน (และการใช้ทุน) ออกมามากกว่าระบบตลาดร่วมมือแบบเยอรมนี เพราะใช้กลไกแข่งขันกันเองภายในและสภาวะหนีตาย (death drive) เป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการปรับตัว พลังการผลิตจึงสูงขึ้นหลังวิกฤต (ภาพที่ 3 เส้นทึบ-วงกลมขาว)

ทว่า ในระบบตลาดแบบร่วมมือของเยอรมนี การพยายามเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข เช่น การจ้างงานต่อเนื่องแต่ลดเวลาทำงานลง จะทำให้ผลิตภาพลดลงอย่างรวดเร็ว ถึงแม้ว่า ภายหลังวิกฤตผ่านพ้นไป ผลิตภาพจะกลับมาสูงขึ้นก็ตาม แต่เยอรมนีก็ยังไม่สามรถจะเพิ่มผลิตภาพได้สูงมากเท่ากับกรณีของสหรัฐอเมริกาและมีความผันผวนสูงกว่า (ภาพที่ 3 เส้นทึบ-สี่เหลี่ยมดำ)

ภาพที่ 3: อัตราการเติบโตของผลิตภาพแรงงาน (labor productivity growth) รายปีของญี่ปุ่น ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และสหราชอาณาจักร ระหว่างปี 2000-2010
ที่มา: Ulf Rinne & Klaus F Zimmermann (2012)

ในแง่การจ้างงาน ระบบตลาดเสรีสามารถประคองการจ้างงานได้ต่ำกว่าระบบตลาดแบบร่วมมืออย่างชัดเจน ในขณะที่ดัชนีการจ้างงานของสหรัฐอเมริกาลดลงอย่างต่อเนื่อง เยอรมนีสามารถประคองการจ้างงานเอาไว้ได้ และสามารถเพิ่มการจ้างงานได้เล็กน้อยในภาวะวิกฤตเสียด้วยซ้ำ (ภาพที่ 4)

ภาพที่ 4: ดัชนีการจ้างงานของเยอรมนี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ระหว่างปี 2008-2010
ที่มา: Ulf Rinne & Klaus F Zimmermann (2012); หน่วยดัชนี ปี 2008 = 100

ประเด็นนี้มีนัยยะยาวไกลไปถึงเรื่องความเร็วของการฟื้นฟูเศรษฐกิจและประสิทธิภาพของตลาดแรงงานด้วย เพราะการยอมสูญเสียตำแหน่งงานในระยะสั้นแบบระบบตลาดเสรี จะทำให้การกลับเข้าสู่งานทำได้ยากขึ้น มากกว่าการรักษาตำแหน่งงานเอาไว้ (และลดเวลาทำงานแทน)

งานศึกษาของ Pissarides พบว่า ถึงแม้เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจะฟื้นตัวกลับมาจนมีอัตราตำแหน่งงานว่าง (vacancies) ต่ำเทียบเท่ากับก่อนเกิดวิกฤตแล้ว แต่อัตราการว่างงานก็ยังสูงกว่าก่อนเกิดวิกฤต (ส่วนต่างราว 2%)

ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ เช่น การหายไปของตำแหน่งงานเก่า และการเปิดตำแหน่งงานใหม่ เกิดขึ้นในพื้นที่และภาคอุตสาหกรรมที่แตกต่างไปจากเดิม ทำให้แม้จะมีตำแหน่งว่างอยู่ แต่แรงงานกลับเข้างานได้ยาก เพราะต้องย้ายที่อยู่ หรือต้องฝึกฝนทักษะใหม่ (frictional rigidities in job search) เป็นต้น

ประเทศไทยและระบบตลาดแบบช่วงชั้น

เมื่อเราเห็นถึงข้อดีข้อเสียของระบบตลาดทั้งสองแบบแล้ว คำถามที่เกิดขึ้นในใจก็คือ ประเทศไทยมีระบบตลาดแบบใด?

ประจักษ์ ก้องกีรติ และวีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร (2018) ระบุว่า ประเทศไทยมีลักษณะเป็นระบบตลาดหรือระบบทุนนิยมแบบช่วงชั้น (Hierarchical Market Economy – HME) ซึ่งเป็นลักษณะร่วมของประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ จำนวนมากโดยเฉพาะในลาตินอเมริกา

ตารางที่ 2 แสดงลักษณะของระบบตลาดแบบช่วงชั้น เปรียบเทียบกับระบบตลาดเสรีและระบบตลาดแบบร่วมมือ โดยมีรายละเอียดดังนี้

การจัดสรรทรัพยากรของตลาดแบบช่วงชั้นดำเนินไปตามผู้ทรงอำนาจทางเศรษฐกิจ-การเมือง (directive allocation) จึงมีความแตกต่างจากมือที่มองไม่เห็นของตลาดเสรี (invisible hand) และไม่ใช่มือที่จับจูงกันเดินทางฝ่าฟันปัญหาแบบตลาดแบบร่วมมือ (hand in hand) แต่อุปมาเหมือน ‘กำปั้นเหล็กของผู้มีอำนาจ’ (iron fist)

รูปแบบการถือหุ้นและการลงทุนมักกระจุกตัวสูงและบริหารโดยสายตระกูล (family-owned conglomerates) หรือบรรษัทข้ามชาติ บริษัทเหล่านี้จะมีขนาดใหญ่ ครอบครองส่วนแบ่งตลาดในสินค้าสำคัญ จนเกิดเป็นการผูกขาดร่วม หรือผู้ค้าน้อยราย (oligopoly) [2]

เมื่อกลุ่มทุนขนาดใหญ่มีอำนาจมากและต้องการใช้แรงงานราคาถูกเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ กลุ่มทุนเหล่านี้จึงต่อต้านสหภาพแรงงาน และหลีกเลี่ยงมาตรการคุ้มครองแรงงาน ผลคือแรงงานไม่ได้รับสัญญาจ้างทางการ มีขนาดการจ้างงานนอกระบบที่ใหญ่และมีความเปราะบางสูง แรงงานกลุ่มนี้มีมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้มีงานทำประเทศไทย (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2020)

 ตลาดแบบเสรี (LME)ตลาดแบบร่วมมือ (CME)ตลาดแบบช่วงชั้น (HME)
หลักการจัดสรรทรัพยากรกลไกตลาด ราคาการตกลงร่วมกันการสั่งการตามลำดับชั้น
รูปแบบการถือหุ้น ลงทุนกระจายตัวสูงครองหุ้นเป็นสัดส่วนสูง และรับผิดชอบทิศทางระยะยาวของบริษัทกระจุกตัวกับสายตระกูล
ความสัมพันธ์ภายในกลุ่มทุนแข่งขันรุนแรงร่วมมือผ่านสามคมการค้าผูกขาดร่วม ผู้ค้าน้อยราย
การจัดการแรงงานสัมพันธ์ไม่สนับสนุนสหภาพสหภาพร่วมมือกับกลุ่มทุนไม่สนับสนุนสหภาพ
การส่งเสริมทักษะแรงงานทักษะทั่วไปสูง – ยืดหยุ่นทักษะเฉพาะอุตสาหกรรมสูงการส่งเสริมทักษะน้อย
และจ้างงานนอกระบบ
ตารางที่ 2: ความแตกต่างระหว่างระบบตลาดแบบเสรี ตลาดแบบร่วมมือ และตลาดแบบช่วงชั้น
ที่มา: ปรับจาก Hall and Soskice (2009) และ Schneider (2013)

ระบบตลาดแบบช่วงชั้นดังที่เห็นนี้มักเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา ที่พึ่งพิงรายได้จากการส่งออกสินค้าแรงงานเข้มข้น (exports labor-intensive products) ซึ่งต้องการกลุ่มทุนการผลิตที่มีขนาดใหญ่ เพื่อให้ได้ความประหยัดต่อขนาด (economy of scale) และขณะเดียวกัน ก็ต้องการต้นทุนค่าจ้างที่ถูก ทั้งสองด้านนี้จึงก่อรูปให้เกิดสถาบันทางเศรษฐกิจที่เอื้อต่อทุนขนาดใหญ่ และการขูดรีดแรงงาน เช่น กดค่าจ้าง ละเลยการดูแลสวัสดิการและการคุ้มครองแรงงาน และการต่อต้านสหภาพแรงงาน เป็นต้น

กลุ่มทุนที่มีบทบาทสำคัญกลุ่มที่สองในระบบเศรษฐกิจแบบช่วงชั้นก็คือกลุ่มทุนที่พึ่งพิงอำนาจรัฐ ได้แก่ กลุ่มทุนสัมปทาน และกลุ่มทุนที่พึ่งพิงใบอนุญาตจากรัฐ กลุ่มเหล่านี้จะดำรงความได้เปรียบในตลาดได้ก็โดยผ่านนโยบายต่างๆ ของรัฐ มากกว่าที่จะเกิดจากความสามารถทางเทคโนโลยี หรือความสามารถด้านการแข่งขันในตลาด นัยนี้ จึงสอดคล้องกับกลไกการจัดสรรทรัพยากรแบบสั่งการ

ระบบเศรษฐกิจแบบช่วงชั้นที่ขับเคลื่อนไปด้วยทุนทั้งสองลักษณะนี้ จึงมีศักยภาพที่จะสร้างให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ผ่านการขูดรีดภายใน และส่งออกเพื่อนำเข้าส่วนเกินทางเศรษฐกิจจากภายนอก แต่ไม่ได้ส่งเสริมทางเทคโนโลยี ไม่พัฒนาศักยภาพของคนในสังคมในวงกว้าง และสร้างให้เกิดความเหลื่อมล้ำสูง กล่าวอีกแบบหนึ่งก็คือ ‘ระบบเศรษฐกิจแบบช่วงชั้นสร้างให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจได้’ แต่เป็นการเติบโตที่ ‘ไม่พัฒนา’ (growth without development)

สิ่งที่อยากเน้นย้ำ ณ จุดนี้ก็คือ ถึงแม้ระบบเศรษฐกิจแบบช่วงชั้นจะก่อให้เกิดปัญหามากมาย แต่ก็มีความคงตัวเปลี่ยนแปลงได้ยาก (durable) เหตุเพราะ มีกลุ่มทุนขนาดใหญ่ (และพันธมิตรทางการเมืองของพวกเขา) ได้ประโยชน์ จึงมุ่งรักษาโครงสร้างดังกล่าวเอาไว้อย่างแข็งขั้น

การรับมือวิกฤตแบบช่วงชั้น และการฟื้นตัวแบบอกแตก

เมื่อระบบเศรษฐกิจแบบช่วงชั้นเผชิญกับวิกฤต กลไกจัดการจะมีลักษณะดังนี้

ข้อแรก เมื่อเจอวิกฤต กลไกตลาดของระบบเศรษฐกิจแบบช่วงชั้นยังทำงานไม่ดีเท่ากับระบบตลาดแบบเสรี ทำให้ไม่ส่งเสริมผลิตภาพ ขณะเดียวกัน กลไกความร่วมมือระหว่างแรงงานและนายจ้างไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ไม่สามารถเจรจาเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขและประคองการจ้างงานได้ดีเท่าระบบตลาดร่วมมือ

การที่กระบวนการตัดสินใจแก้วิกฤตใช้อำนาจสั่งการตามลำดับชั้น ซึ่งจะคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ถืออำนาจสูงสุดในโครงสร้างช่วงชั้นทางเศรษฐกิจการเมืองเป็นเกณฑ์ตัดสินใจร่วม (หรือกระทั่งการตัดสินใจหลัก) จึงทำให้การตัดสินใจต่างๆ ถูกทำให้ออกห่างจากอุดมคติ ไม่ว่าจะมองจากฝั่งประสิทธิภาพหรือความเป็นธรรมก็ตาม

ข้อสอง เนื่องจากการจ้างงานนอกระบบมีขนาดใหญ่ และสหภาพแรงงาน (นอกจากรัฐวิสาหกิจ) อ่อนแอ บริษัทต่างๆ มีความคล่องตัวที่จะลดการจ้างงานอย่างฉับพลัน [3] ในกรณีดังกล่าว ภาคเกษตรก็จะกลายเป็นตัวดูดซับแรงงานส่วนเกินอีกทอดหนึ่ง เมื่อแรงงานในภาคเกษตรเพิ่มขึ้นแต่ปัจจัยการผลิตเช่นที่ดิน มีจำกัดเท่าเดิม ผลิตภาพแรงงานในภาคเกษตรก็จะลดลงเป็นลูกโซ่

เมื่อนำแนวโน้มทั้งสองประการนี้มาประกอบกันจะพบว่า การเลือกปฏิบัติและการสั่งการเป็นลำดับชั้นแม้ในยามวิกฤต จะทำให้ทุนใหญ่ได้รับการปกป้อง และทุนขนาดกลางและขนาดย่อมอ่อนแอลง และแรงงานนอกระบบและเกษตรกรซึ่งเปราะบางอยู่แล้ว ถูกผลักให้ต้องดูแลตนเองอย่างเปลือยเปล่า

การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจึงมีลักษณะอกแตก (bifurcated) กล่าวคือ ทุนขนาดใหญ่จะใหญ่ขึ้นและมีอำนาจในโครงสร้างช่วงชั้นทางเศรษฐกิจมั่นคงขึ้น ส่วนทุนและแรงงานที่อยู่ส่วนล่างของโครงสร้างตลาดแบบช่วงชั้นก็จะยิ่งหดเล็ก เปราะบางมากยิ่งขึ้นไปอีก [4]

เราอาจจะเห็นภาวะอกแตกเช่นนี้ได้โดยการย้อนกลับไปพิจารณาปรากฏการณ์ช่วงวิกฤต Sub-Prime Loan ถึงแม้ประเทศไทยจะอยู่ที่ชายขอบของวิกฤต และไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงมากเท่าสหรัฐอเมริกา-เยอรมนี ทว่า ก็ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจ (annual GDP growth) ลดลงจาก 5.43% ในปี 2007 ลงมาอยู่ที่ 1.72% ในปี 2008 และถดถอยติดลบราว -0.69% ในปี 2009 (World Bank, accessed 23 July 2021)

วิกฤตดังกล่าวกระทบกับผู้ที่เปราะบางที่สุดของไทย รายงานธนาคารโลกชี้ว่า ครัวเรือนที่มีรายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่ายด้านอาหารและที่อยู่อาศัย ซึ่งถือเป็นปัจจัยสี่ที่สำคัญเพิ่มสูงขึ้นในปี 2007 และอัตราความยากจนของไทยเพิ่มสูงขึ้นปี 2008 นับเป็นการเพิ่มสูงขึ้นครั้งแรกหลังวิกฤตต้มยำกุ้งเป็นต้นมา (Yang et al., 2020) ทว่า ความมั่งคั่งของ 10 ตระกูลที่รวยที่สุดของไทยกลับรวยขึ้นราว 120,000 ล้านบาท (Hewison, 2019) [5]

ปรับใหญ่ประเทศไทย ไปให้พ้นจากระบบตลาดแบบช่วงชั้น

ระบบตลาดทั้งแบบเสรี ตลาดร่วมมือ และตลาดแบบช่วงชั้น ใช้ระยะเวลายาวนานหลายทศวรรษ ก่อรูปและถักทอประสานกันขึ้นมาจากองค์ประกอบย่อยมากมาย จนกลายมาเป็นสภาพเช่นที่เห็นในปัจจุบัน องค์ประกอบย่อยแต่ละส่วนล้วนเกี่ยวพันส่งเสริมกัน จึงเปลี่ยนแปลงได้ยาก (durable)

กระนั้นก็ตาม ข้อเสียมากมายของระบบตลาดแบบช่วงชั้นได้กระตุ้นเตือนพวกเราถึงความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยจะต้องปรับตัวจนหลุดพ้นจากโครงสร้างปัจจุบัน และก้าวเข้าสู่โครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบใหม่ ซึ่งเอื้ออำนวยให้เกิดผลดีทางเศรษฐกิจยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ อยากให้ความหวังแก่ผู้อ่านทุกท่านว่า การปฏิรูปเปลี่ยนแปลงเป็นไปได้เพราะเคยเกิดขึ้นแล้วในเกาหลีใต้และไต้หวัน โดยค่อยๆ ปรับจากระบบตลาดแบบช่วงชั้นในช่วงทศวรรษที่ 1950s-1980s มาสู่ระบบตลาดแบบเสรี-ร่วมมือในช่วง 1990s เป็นต้นมา ผู้เขียนหวังว่าจะมีโอกาสนำประสบการณ์ปรับตัวของระบบเศรษฐกิจเหล่านี้มาเล่าโดยละเอียดแยกเป็นอีกบทความหนึ่ง ในอนาคตอันใกล้นี้


Works Cited

BBC. 2020. April 17. Accessed July 23, 2021. https://www.bbc.com/thai/thailand-52147660.

Brand Inside. 2021. July 9. Accessed July 23, 2021. https://brandinside.asia/thai-richest-by-forbes-2021/.

Hall, Peter, and David Soskice. 2009. “An introduction to Varieties of Capitalism.” In Debating Varieties of Capitalism: A Reader, by Bob Hancké. Oxford University Press.

Hewison, Kevin. 2019. “Crazy Rich Thais: Thailand’s Capitalist Class, 1980-2019.” Journal of Contemporary Asia 1-16.

Pissarides, Christopher. 2012. Unemployment in the Great Recession. November 8. https://www.youtube.com/watch?v=7CGlYAg0fHA.

Prajak, Kongkirati, and Kanchoochat Veerayooth. 2018. “The Prayuth Regime: Embedded Military and Hierarchical Capitalism in Thailand.” TRaNS: Trans –Regional and –National Studies of Southeast Asia 6 (2): 279-305. doi:doi:10.1017/trn.2018.4.

Rinne, Ulf, and Klaus Zimmermann. 2012. “Another economic miracle? The German labor market and the Great Recession.” IZA Journal of Labor Policy 1 (3): 1-21.

Schneider, Ben Ross. 2013. Hierarchical Capitalism in Latin America: Business, Labor, And The Challenges Of Equitable Development. Cambridge: Cambridge University Press.

World Bank. n.d. GDP growth (annual %) – Thailand. Accessed July 23, 2021. https://data.worldbank.org/indicator/NY.GDP.MKTP.KD.ZG?locations=TH.

Yang, Judy’, Shiyao Wang, and Reno Dewina. 2020. Taking the Pulse of Poverty and Inequality in Thailand. World Bank.

ชาคร, เลิศนิทัศน์, and จิตสุชน สมชัย. 2020. ความเปราะบางของประชาชนกลุ่มเปราะบางภายใต้โควิด-19. June 2. https://tdri.or.th/2020/06/impact-of-covid19-on-vulnerable-groups/.

ธนาคารแห่งประเทศไทย. 2560. BOT Symposium 2017: Innovating Thailand. Accessed July 23, 2021. https://www.pier.or.th/?conferences=bot-symposium-2017-innovating-thailand.

สำนักงานสถิติแห่งชาติ. 2020. สรุปผลที่สำคัญ การสำรวจแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2563. กรุงเทพ: สำนักงานสถิติแห่งชาติ.


[1] นอกจากนี้ มาตรการของรัฐที่เข้ามาช่วยอุดหนุนค่าจ้างผ่านผู้ประกอบการ (wage subsidies) ในเยอรมนีก็มีส่วนอย่างสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการและลูกจ้าง ตกลงร่วมกันที่จะรักษาระดับการจ้างงานเอาไว้ได้เป็นผลสำเร็จ

[2] ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับระดับการผูกขาดในแต่ละอุตสาหกรรมได้จากอกสารประกอบการสัมมนาของฉัตร คำแสง และพัชรสุทธิ์ สุจริตตานนท์ ในงาน BOT Symposium 2017: Innovating Thailand

[3] ในหลายภาคอุตสาหกรรม ทุนขนาดใหญ่จำนวนน้อยรายเหล่านี้ มิได้เป็นของนายทุนสัญชาติไทย แต่เป็นบรรษัทข้ามชาติ ดังนั้นจึงไม่ได้มีพันธะที่จะต้องดูแลหรือให้ความสำคัญกับแรงงานไทย เว้นแต่จะถูกกดดันจากนโยบายรัฐ

[4] ลักษณะอกแตกเช่นนี้อาจไม่เกิดขึ้นหากวิกฤติดังกล่าวมีขนาดใหญ่มากจนกระทั่งสั่นคลอนโครงสร้างทางเศรษฐกิจทั้งระบบอย่างฉับพลันทันด่วน หรือมีช่องทางส่งผ่านวิกฤติที่เข้าปะทะส่วนบนของโครงสร้างโดยตรง

[5] ถึงแม้วิกฤติรอบล่าสุดอย่าง Covid-19 Crisis จะยังไม่จบลง แต่เราก็เห็นเค้าลางสภาวะอกแตกเช่นนี้ได้ระดับหนึ่ง โดยพิจารณาจาก การคาดการณ์ผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบาง (ดูชาคร และ สมชัย, 2020) และการลดลงของรายได้และการว่างงานทั้งระบบเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นมาก แต่ยังมีมหาเศรษฐีไทย 8 รายที่มีความมั่งคั่งสินทรัพย์สูงขึ้นในปี 2020 (BBC, 2020) และในการจัดอันดับล่าสุดของ Forbes ปี 2021 มหาเศรษฐีไทยก็ยังคงมีการเติบโตของความมั่งคั่งต่อเนื่อง โดยเฉพาะใน 5 อันดับแรก (ซึ่งมีมูลค่าสินทรัพย์เป็นครึ่งหนึ่งของ top 50 เศรษฐีไทย) มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นถึง 440,000 ล้านบาทโดยประมาณ (Brand Inside, accessed 23 July 2021)

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save