วรากรณ์ สามโกเศศ เรื่อง
เชื่อได้ว่าในชีวิตของแต่ละคนคงได้พานพบการพูดจาไร้สาระ เพ้อเจ้อ เท็จปนจริงหาความน่าเชื่อถือไม่ได้ อย่างที่เรียกกันว่า “bullshit” คนทำก็เรียกว่า bullshitter อย่างไรก็ดีในสภาวการณ์ที่น่าสมเพชเช่นนี้มีบทเรียนให้ระแวดระวังคนประเภทนี้อยู่
bullshit มิใช่คำสุภาพที่สมควรกล่าวในที่สาธารณะ แต่ก็ไม่สามารถหาคำอื่นที่เข้าไปถึงกึ๋นได้เท่าคำนี้ ผู้เขียนจึงต้องขออภัยในที่นี้ อยากกล่าวว่า bullshit นั้นไม่ว่าจะใช้คำใดแทน มันก็ bullshit อยู่วันยังค่ำ
bullshit เป็นคำสบถที่หยาบคายในภาษาอังกฤษและใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก บางครั้งก็ใช้คำว่า bull หรือ BS แทนเพื่อให้ฟังดูหยาบคายน้อยลง มันเป็นคำสบถที่เป็นแสลง มีความหมายว่า “ไร้สาระ” (nonsense) มักสบถเพื่อเป็นปฏิกิริยาต่อคำพูดหรือการกระทำที่เห็นว่าหลอกลวงให้หลงผิด ไม่จริงใจ โม้ว่ารู้มาก ฯลฯ พูดง่ายๆ ก็คือเป็นการแสดงออกถึงความรู้สึกที่เป็นลบ
คำว่า “bull” ซึ่งหมายถึงไร้สาระนั้นใช้กันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ส่วน “bullshit” นั้นเริ่มใช้กันตั้งแต่ ค.ศ. 1915 โดยเป็นคำแสลงที่ใช้กันในอังกฤษและสหรัฐอเมริกา และใช้กันแพร่หลายระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง (1939-1945) คำว่า bull มาจากภาษาฝรั่งเศสโบราณว่า “bole” ซึ่งหมายถึง “การหลอกลวงต้มตุ๋น”
ถึงจะเปล่งคำนี้กันมายาวนาน แต่ก็เพิ่งจะเป็นเรื่องเป็นราวเมื่อนักปรัชญามีชื่อหยิบคำนี้ขึ้นมาพิจารณาในปี 1986 Harry Frankfurt แห่งมหาวิทยาลัย Princeton เขียนบทความชื่อ “On Bullshit” ตีพิมพ์ในวารสาร Raritan Quarterly Review ต่อมามีการปรับปรุงและตีพิมพ์เป็นเล่มในปี 2005 และกลายเป็นหนังสือยอดนิยมจนทำให้ Frankfurt โด่งดังจากหนังสือเล่มนี้มากกว่างานวิชาการที่เขาเขียนเป็นจำนวนมากก่อนหน้านี้
Frankfurt บอกว่าการโกหกกับ BS นั้นต่างกัน การโกหกเป็นการกระทำเฉพาะเจาะจงอย่างตั้งใจอันเน้นไปที่การแทรกสิ่งที่เป็นเท็จในบางจุด แต่จะทำเช่นนั้นได้ คนพูดก็ต้องรู้ว่าอะไรจริงอะไรเท็จ
ส่วน BS นั้นคือการกระทำที่ไม่สนใจว่าจะพูดจริงหรือเท็จ ตาของผู้กระทำมิได้อยู่ที่ข้อจริงหรือข้อเท็จแต่อย่างใด หากเน้นไปทั่วบริเวณมากกว่าจุดหนึ่งจุดใดโดยเฉพาะ แสวงหาพื้นที่ว่างเพื่อโอกาสในการต่อเติมเสริมแต่ง ใส่สีสันและจินตนาการตามที่ต้องการ โดยไม่กังวลว่าจะจริงหรือเท็จเพราะไม่แคร์ประเด็นนี้ คนที่ทำอย่างนี้ได้เรียกว่าเป็น bullshit artist (ศิลปินแห่งการ bullshit)
คนพูดความจริงและคนพูดความเท็จ รู้ว่าอะไรจริงอะไรไม่จริง แต่คน BS นั้นสูญเสียความสัมพันธ์กับโลกแห่งความจริง ดังนั้น BS จึงเป็นศัตรูที่น่ากลัวของความจริงมากกว่าการโกหกเสียอีก
กล่าวโดยสรุปก็คือ BS เป็นการกระทำที่ไม่แคร์ทั้งความจริงและความเท็จ ชอบที่จะเลอะเทอะ ต่อเติมเสริมแต่งตามจินตนาการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการ ซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่การสร้างความประทับใจ
พฤติกรรม BS ปรากฏไปทั่วทั้งในโลกตะวันตกและตะวันออกมายาวนาน ไม่ว่าในวงการเมือง ธุรกิจ หรือราชการ ที่เห็นกันบ่อยๆ คือผู้มีหน้าที่ต้องตอบคำถามหรือให้สัมภาษณ์สื่อมักใช้การตอบแบบ BS เนื่องจากตนเองไม่รู้เรื่องที่ถูกถามเลย แต่ไม่อาจจะไม่ตอบได้ เมื่อไม่รู้ว่าอะไรเป็นเท็จ อะไรเป็นจริง ก็ต้องพยายามตอบอย่างดำน้ำไป โดยต่อเติมเสริมแต่งตามจินตนาการ จะมากหรือน้อยแล้วแต่บุคลิกภาพหรือความเขลาของแต่ละคน
ในปี 2013 นัก IT ชาวอิตาลี ชื่อ Alberto Brandolini ได้ให้ทฤษฎีที่ชื่อว่า Bullshit Asymmetry Principle (หรือ Brandolini’s Law) ไว้ว่า “ปริมาณพลังงานที่จำเป็นต้องใช้ในการลบล้าง bullshit มีขนาดที่ใหญ่โตกว่าพลังงานที่ใช้ในการผลิตมัน”
Brandolini เกิดความคิดเมื่อได้นั่งฟัง Political Talk Show ระหว่างสื่อกับอดีตนายกรัฐมนตรี Silvio Berlusconi (คงเดาได้ว่าใครคือ bullshitter แมวเก้าชีวิตเจ้าพ่อสื่อคนนี้ บัดนี้กลับมาอีกครั้งโดยมีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังการเมืองฝ่ายขวาของอิตาลี)
วงการการเมืองอิตาลีมีนัก BS อยู่ไม่น้อยกว่าประเทศสารขัณฑ์ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือสังคมต้องสูญเสียพลังงานไปมหาศาลแก่ความพยายามในการแก้ไขความไร้สาระของ BS โดยเฉพาะในเรื่องข้อมูลข่าวสาร สุภาษิตฝรั่งที่ตรงกับความเลวร้ายของ BS ก็คือ “ความเท็จเดินทางไปครึ่งโลกแล้วก่อนที่ความจริงจะใส่รองเท้า”
นอกจากวงการเมืองแล้ว BS ปรากฏตัวอย่างเด่นชัดในวงการโฆษณา และ PR โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีทั้งการกระจายข้อมูลที่เป็น misinformation (ข้อมูลที่ผิด) และ disinformation (ข้อมูลที่จงใจบิดเบือน) เพื่อวัตถุประสงค์บางอย่างโดยเฉพาะในด้านการสร้างความสนใจและความประทับใจ
ในยุคปัจจุบันที่ความเท็จปรากฏตัวอยู่ทั่วไปอย่างหนาตาเป็นพิเศษ การเข้าใจความแตกต่างระหว่างคนโกหกเป็นนิจศีล คนโกหกบางเรื่องบางเวลา และ bullshitters จะช่วยให้เข้าใจธรรมชาติของความลวง และสามารถประเมินระดับความน่าเชื่อถือของบุคคลเหล่านั้นและมีความระมัดระวังได้อย่างเหมาะสม
ถ้าอยากเห็นตัวอย่างของ bullshit artist ในระดับคลาสสิกก็จงติดตามข่าวคราวของ Donald Trump อย่างใกล้ชิด สักพักก็จะเข้าใจสิ่งที่ Frankfurt เขียนไว้เมื่อ 30 ปีก่อนอย่างชัดเจน
มนุษย์แต่ละคนล้วนประสบ BS ในชีวิต สิ่งสำคัญที่ต้องทำก็คือเข้าใจธรรมชาติของมัน จนสามารถจัดการกับ bullshitters ได้อย่างอยู่หมัด
Related Posts
อ่านจากข่าวศุภมิตร ปิติพัฒน์ เปิดกระบวนท่าในการ "อ่านจากข่าว" เพื่อค้นหาฐานคิดที่ซ่อนอยู่ในข่าว ความเห็นของตัวละครในข่าวทำให้เราเห็นอะไรในสถานการณ์และเห็นสถานการณ์อย่างไร
ปัญหาประชาธิปไตยในอเมริกาการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2016 เปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมืองของ “ประชาธิปไตยในอเมริกา” อย่างมหาศาลเกินจินตนาการ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ชวนวิเคราะห์การเมืองอเมริกันภายใต้โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีแบบที่สหรัฐไม่เคยพบเจอมาก่อน
เคล็ดวิชารักษาอำนาจของรัฐบาลเผด็จการเผด็จการในโลกยุคโซเชียลมีเคล็ดวิชารักษาอำนาจอย่างไร? รัฐบาลอาจไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตาไล่เซ็นเซอร์คนคิดต่าง แต่มีวิธีปั่นหัวคุณด้วยวิธีที่คาดไม่ถึง อาร์ม ตั้งนิรันดร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้สนใจอ่าน-เขียน-เรียนเรื่องจีน เปิดงานวิจัยว่าด้วยวิธีรักษาอำนาจของรัฐบาลจีน แล้วแอบนำเทคนิคทางการเมืองของรัฐบาลเผด็จการมาเล่าสู่ให้รู้ทัน!
โรงพยาบาลแห่งอนาคตวรากรณ์ สามโกเศศ ฉายภาพของโรงพยาบาลแห่งอนาคตที่กำลังจะเป็นกระแสในโลกสมัยใหม่
แว่นตาของเติ้งเสี่ยวผิงเมื่อถูกถามว่าใช้แว่นตาแบบไหนในการมองจีน อาร์ม ตั้งนิรันดร ตอบว่าแบบ "เติ้งเสี่ยวผิง" แล้วแว่นตาแบบเติ้งเสี่ยวผิงมองจีนผ่านเลนส์แบบไหนกัน?
คอมพิวเตอร์ไม่มีวันปลอดภัยมารู้จัก WannaCry มัลแวร์เรียกค่าไถ่ ซึ่งกำลังระบาดหนักทั่วโลกให้มากขึ้น เพราะผลที่เกิดขึ้นอาจหมายถึงความตายของผู้คน วรากรณ์ สามโกเศศ เล่าสาเหตุหลักว่าทำไมคอมพิวเตอร์ถึงไม่มีวันปลอดภัย และผู้บริโภคอย่างเราต้องต่อสู้ภายใต้ความเสี่ยงนี้อย่างไร
วรากรณ์ สามโกเศศ ความจริง bullshit
อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของผลงานเขียนชุด “Global Change” ว่าด้วยกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ ในมุมเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม เทคโนโลยี และผลงานเขียนชุด “โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี” รวมงานคัดสรรด้านเศรษฐศาสตร์แบบไม่ต้องแบกบันไดมาอ่าน