สหราชอาณาจักรในกระบวนการ Brexit: จากวิกฤตความชอบธรรมสู่วิกฤตอัตลักษณ์แห่งชาติ?

สหราชอาณาจักรในกระบวนการ Brexit: จากวิกฤตความชอบธรรมสู่วิกฤตอัตลักษณ์แห่งชาติ?

จิตติภัทร พูนขำ เรื่อง

 

ผลการเลือกตั้งรัฐสภาของสหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2017 ที่ผ่านมา กลายเป็น “หายนะ” ของนายกรัฐมนตรี Theresa May และพรรคอนุรักษนิยมหรือพรรค Tories จนก่อให้เกิด ‘วิกฤตรัฐสภาแขวน’ หรือ ‘รัฐสภาชะงักงัน’ (hung parliament) เมื่อไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมากในรัฐสภา

แม้ว่าในเวลาต่อมาจะมีการเจรจาขอยืมเสียงจากพรรค DUP (Democratic Unionist Party) ของไอร์แลนด์เหนือโดยไม่ได้มีการจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกัน แต่เสถียรภาพของรัฐบาล May นั้นก็ถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรง แนวโน้มที่รัฐบาลจะไม่สามารถอยู่ครบสมัยหรือห้าปีก็เป็นไปได้สูง

อดีตรัฐมนตรีคลังจากพรรคอนุรักษนิยมอย่าง George Osborne ซึ่งปัจจุบันได้ผันตัวเองไปเป็นบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ Evening Standard ถึงกับเรียก May ว่าเป็น “ศพเดินได้” (dead woman walking)

แรกเริ่มเดิมที May ประกาศให้มีการเลือกตั้งเร็วกว่ากำหนด (ปี 2020) โดยมุ่งหมายที่จะสถาปนารัฐบาลที่ “เข้มแข็งและมีเสถียรภาพ” เพื่อดำเนินการเจรจา Brexit กับสหภาพยุโรป (European Union – EU) ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้เป็นต้นไป

แต่ผลการเลือกตั้งครั้งนี้กลับเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม นำมาซึ่ง ‘วิกฤตความชอบธรรม’ ของรัฐบาล May จนอาจกล่าวได้ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ดูเหมือนจะไม่มีฝ่ายใดได้รับชัยชนะอย่างสวยงาม พรรคอนุรักษนิยมก็ได้ที่นั่งลดน้อยลงจนไม่สามารถครองเสียงข้างมากในรัฐสภา ส่วนพรรค SNP (Scottish National Party) ก็เผชิญความท้าทายที่ฐานเสียงหลักของตนในสกอตแลนด์ถูกสั่นคลอน

คงจะมีเพียง Jeremy Corbyn หัวหน้าพรรคแรงงาน (Labour Party) ที่ได้คะแนนนิยมเพิ่มสูงขึ้นอย่างมหาศาลโดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่และสื่อมวลชนหลายสำนัก ซึ่งแต่เดิมนั้นตั้งแง่กับผู้นำฝ่ายซ้ายคนนี้

ปรากฏการณ์ Corbyn ในการเมืองอังกฤษเป็นแรงหนุนให้เขายังคงรักษาเก้าอี้ผู้นำพรรคฝ่ายค้านไว้ได้ต่อไป แต่โจทย์ใหญ่ของ Corbyn คือจะยังคงรักษาทางเลือกของนโยบายต่อต้านเสรีนิยมใหม่ไว้ได้หรือไม่ ท่ามกลางแรงกระเพื่อมจาก ส.ส.ฝ่ายเสรีนิยมใหม่ภายในพรรคที่ตั้งคำถามกับนโยบายฝ่ายซ้ายของเขา

บทความนี้จะลองชวนเรากลับไปสำรวจที่มาของสหราชอาณาจักรในยุคหลัง Brexit ตั้งแต่การลงประชามติออกจากสหภาพยุโรปเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2016 จนกระทั่งการเลือกตั้งทั่วไปที่เพิ่งผ่านพ้นไป รวมทั้งแนวโน้มในอนาคตของกระบวนการเจรจา Brexit กับสหภาพยุโรปในอีกอย่างน้อยสองปีข้างหน้า

ทั้งนี้ เราควรพิจารณา Brexit ในฐานะกระบวนการในช่วงยาว ไม่ใช่เพียงในฐานะเหตุการณ์เท่านั้น

 

เมื่อสหราชอาณาจักรแยกทางกับสหภาพยุโรป?

 

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2016 สหราชอาณาจักรได้ลงประชามติเพื่อขอแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป โดยผลที่ออกมาคือ ฝ่าย Brexit มีชัยเหนือฝ่ายสนับสนุนให้อยู่ในสหภาพยุโรปต่อไป หรือ Bremain ด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 52 ต่อร้อยละ 48

ประเด็นสำคัญที่ฝ่าย Brexit นำมารณรงค์เรียกร้องให้ออกจากสหภาพยุโรป ได้แก่ การทวงคืนอำนาจอธิปไตยของอังกฤษ วิกฤตผู้อพยพ การจ่ายเงินสนับสนุนให้แก่สหภาพยุโรป และการอยู่ภายใต้อำนาจศาลยุติธรรมของยุโรป เป็นต้น

นายกรัฐมนตรี David Cameron ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง และ Theresa May รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยหรือ Home Secretary ได้เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน

ต่อมาเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2017 May ได้ดำเนินการตามมาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอน ยื่นจดหมายขอแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นกระบวนการเจรจาระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรปภายในระยะเวลาสองปี

Donald Tusk ประธานคณะมนตรียุโรป (European Council) คาดการณ์ว่าจะเป็นการเจรจาที่ “ยุ่งยาก สลับซับซ้อน และบ่อยครั้งอาจจะเผชิญหน้าซึ่งกันและกัน”

หลังจากสองปีหรือภายในวันที่ 29 มีนาคม 2019 หากทั้งสองฝ่ายยังไม่อาจตกลงกันได้ และสมาชิกของสหภาพยุโรปเลือกที่จะไม่ขยายระยะเวลาการเจรจาออกไป ทั้งสองฝ่ายก็อาจจะต้องแยกทางกันโดยไม่มีข้อตกลงใดๆ เลย หรือถ้าหากทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันได้ ข้อตกลง Brexit ก็ต้องได้รับการอนุมัติจากเสียงข้างมากในคณะมนตรียุโรป (20 เสียงจากทั้งหมด 27 เสียง) และรัฐสภายุโรป ในขณะที่ข้อตกลงทางการค้าใดๆ กับสหราชอาณาจักรนั้นจะต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาต่างๆ ทั่วยุโรป ส่วนประเด็นเรื่องตัวแบบข้อตกลงทางการค้าว่าจะมีทางเลือกใดบ้างจะได้กล่าวถึงต่อไป

นายกรัฐมนตรี May ได้กำหนดประเด็นเร่งด่วนในการเจรจากับสหภาพยุโรป ได้แก่ การยุติการเคลื่อนย้ายของผู้คนอย่างเสรี และการไม่อยู่ภายใต้อำนาจตัดสินของศาลยุติธรรมของยุโรป (European Court of Justice) นั่นหมายความว่าอังกฤษจะออกจากตลาดเดียวและสหภาพศุลกากรของสหภาพยุโรป เราอาจจะเรียกการแยกทางกับยุโรปแบบนี้ว่าเป็น “hard Brexit”

อย่างไรก็ดี รัฐบาล May จะขอเจรจาเข้าสู่ตลาดยุโรปโดยปราศจากกำแพงภาษี (barrier-free access to the market)  ด้านภายในประเทศ รัฐบาลอังกฤษยังได้ประกาศกฎหมาย Great Repeal Bill โดยการผนวกรวมหรือโอนกฎหมายของสหภาพยุโรปเข้ามาเป็นกฎหมายของอังกฤษเสียก่อน ส่วนจะคงไว้หรือยกเลิกก็ค่อยดำเนินการต่อไป กล่าวคือ สำหรับ May แล้ว “Brexit ก็คือ Brexit” นั่นเอง

ในทางกลับกัน ผู้นำยุโรปหลายคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเยอรมนี ไม่ต้องการให้สหราชอาณาจักรสามารถ “เลือกหยิบเชอรี่ที่ตนต้องการ” (cherry picking) ได้ง่ายๆ และยังต้องการป้องกันไม่ให้กรณี Brexit กลายเป็นตัวแบบให้แก่รัฐอื่นๆ ในยุโรปเอาเยี่ยงอย่างตาม

ผู้นำของฝรั่งเศสเปรียบเปรยค่อนข้างชัดเจนว่าสหราชอาณาจักรไม่ควรได้ “เค้ก” (การเข้าสู่ตลาดยุโรปอย่างเสรี) และกิน “เค้ก” (การปฏิเสธการเคลื่อนย้ายผู้คนอย่างเสรี) ในเวลาเดียวกัน กล่าวคือ สหราชอาณาจักรจะต้องยอมรับหลักการเสรีภาพ 4 ประการของสหภาพยุโรป (ทั้งทางด้านการค้า ทุน บริการ และผู้คน) เพราะฉะนั้น ท่าทีโดยรวมของสหภาพยุโรปคือ สหราชอาณาจักรไม่พึงจะได้ข้อตกลงที่ดีกว่าเมื่อครั้งยังอยู่ในสหภาพยุโรปนั่นเอง

 

ทางออก หรือ ทางตัน?

 

ในเวลาต่อมา Theresa May ได้ประกาศให้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปก่อนกำหนด โดยอ้างถึงอุปสรรคของพรรคการเมืองต่างๆ และสภาสูงที่ขัดขวางกระบวนการเจรจา Brexit ของรัฐบาล

Sir Keir Starmer สส. จากพรรค Labour และรัฐมนตรีเงากระทรวง Brexit มองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็น “ทางเลือกระหว่าง Brexit 2 แบบ” ด้วยกัน คือ hard Brexit และ soft Brexit ซึ่งส่งเสริมให้สหราชอาณาจักรยังคงอยู่ในตลาดเดียวและสหภาพศุลกากรของสหภาพยุโรปต่อไป

อย่างไรก็ดี ประเด็น Brexit กลับเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันค่อนข้างน้อยในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ เมื่อเทียบกับประเด็นอื่นๆ เช่น นโยบายการรัดเข็มขัด (austerity) ระบบการดูแลทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุ (social care) ระบบประกันสุขภาพ ระบบการศึกษา เป็นต้น กล่าวคือ ประเด็นสำคัญส่วนใหญ่ล้วนเป็นเรื่องนโยบายสาธารณะภายในประเทศ ซึ่งกลับกลายเป็นประเด็นที่ถามท้าภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำที่เข็มแข้งของ May

แม้ว่าจะไม่ใช่ประเด็นใหญ่ที่สุดก็ตาม แต่การออกเสียงของประชาชนชาวอังกฤษก็ตั้งคำถามกับท่าทีและจุดยืนของ May เรื่อง hard Brexit อยู่มากทีเดียว ในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ฝ่ายค้านต่างโจมตีข้อเสนอของ May ที่ว่า “การไม่มีข้อตกลงดีกว่าการมีข้อตกลงที่แย่” (no deal is better than a bad deal)

อย่างไรก็ดี ภายหลังการเลือกตั้งจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีความแน่นอนว่ารัฐบาล May จะดำเนินการเจรจากับสหภาพยุโรปในลักษณะเช่นใด และจะมีท่าทีเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ มากน้อยเพียงใด อาจกล่าวได้ว่ากระบวนการ Brexit คงเดินหน้าต่อไปภายใต้บริบทการเมืองสหราชอาณาจักรที่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ

ในอีกด้านหนึ่ง สหภาพยุโรปนั้นมีท่าทีค่อนข้างชัดเจน และพร้อมเจรจากับสหราชอาณาจักร โดยคณะผู้เจรจาของสหภาพยุโรปนั้นนำโดย Michel Barnier อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของฝรั่งเศส สหภาพยุโรปมุ่งเน้นความเป็นเอกภาพในการเจรจา โดยจะไม่มีการแยกเจรจาของรัฐสมาชิกสหภาพยุโรปกับอังกฤษเป็นรายประเทศ และเน้นความโปร่งใส โดย Barnier เสนอว่าจะจัดพิมพ์เอกสารการเจรจากับอังกฤษออกมาเผยแพร่ต่อสาธารณะ

สหภาพยุโรปกำหนดทิศทางในการเจรจาอย่างชัดเจนว่าสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรปจะต้องบรรลุการเจรจาขั้นต้นเพื่อแยกทางกันจนเป็นที่พึงพอใจ แล้วจึงเปิดการเจรจาเรื่องข้อตกลงทางการค้ากับสหราชอาณาจักรว่าจะเป็นแบบใด ภายใต้แนวทางการเจรจาของสหภาพยุโรปได้กำหนดประเด็นหลักสามประการสำคัญในการเจรจาขั้นแรกเพื่อแยกทางกันคือ

หนึ่ง สิทธิของพลเมืองสหภาพยุโรปในอังกฤษ (residence rights of EU citizens) ต้องได้รับการรับประกัน ทั้งในมิติของการใช้ชีวิต อยู่อาศัย ทำงาน หรือศึกษาต่อในอังกฤษ โดยในปัจจุบันมีพลเมืองสหภาพยุโรปในอังกฤษประมาณ 3.5 ล้านคน

สอง สหราชอาณาจักรจะต้องจ่ายเงินสนับสนุนให้แก่สหภาพยุโรป ซึ่งยังไม่ได้มีการระบุจำนวนที่แน่นอนชัดเจน แต่คร่าวๆ มีการเปิดเผยตัวเลขออกมาอยู่ที่ประมาณ 60-100 พันล้านยูโร

สาม การเคารพพรมแดนของไอร์แลนด์เหนือ โดยไม่ให้มีการเผชิญปัญหาพรมแดนระหว่างไอร์แลนด์กับไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร

นอกจากนั้น สหภาพยุโรปยังยืนยันสถานะและอำนาจของศาลยุติธรรมของยุโรป (European Court of Justice: ECJ) ณ Luxembourg อย่างเต็มที่ในการตัดสินคดีข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิของพลเมืองสหภาพยุโรป

กรณีศึกษาที่เป็นความท้าทายสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรป คือ กรณีของ Toufik Lounes ซึ่งเป็นชาวอัลจีเรียนอาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักรอย่างผิดกฎหมาย (เกินอายุวีซ่า) และต่อมาได้แต่งงานกับภรรยาชาวอังกฤษที่มีสองเชื้อชาติ (อังกฤษและสเปน) ซึ่งเธอเพิ่งเลือกถือสถานะเป็นพลเมืองอังกฤษเพียงอย่างเดียวในปี 2010 โดยศาลอังกฤษปฏิเสธการให้สิทธิอาศัยในอังกฤษแก่ชายคนนี้ ในขณะที่ศาลยุติธรรมของยุโรปจะมีคำตัดสินในช่วงฤดูร้อนของปีนี้ โดยความเห็นเบื้องต้นเสนอว่าชายคนนี้มีสิทธิที่จะอยู่ (the rights to remain) ต่อในอังกฤษได้

อนึ่ง ท่าทีของแต่ละประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป ก็มีความแตกต่างกันในรายละเอียด เช่น บางรัฐอย่างเช่นเยอรมนีพยายามที่จะหลีกเลี่ยง hard Brexit ในขณะที่ฝรั่งเศสหรือเบลเยียมดูมีแนวโน้มที่จะมีข้อตกลง Brexit ที่รวดเร็วและลงโทษอังกฤษมากกว่า ส่วนประเทศอย่างเช่น เนเธอแลนด์ปรารถนาที่จะเจรจาข้อตกลงการค้ากับอังกฤษโดยเร็วที่สุด หรือในกรณีโปแลนด์ที่มีพลเมืองของตนอยู่ในอังกฤษจำนวนมากที่สุด ก็กังวลในเรื่องสิทธิของพลเมืองชาวโปลในอังกฤษเป็นพิเศษ เป็นต้น

นอกจากนี้ แต่ละประเทศอาจจะเรียกร้องหรือกดดันประเด็นปัญหาของตนเองในกระบวนการเจรจากับสหราชอาณาจักร เช่น กรณี Gibraltar กับสเปน ซึ่งพลเมืองอังกฤษใน Gibraltar เดินทางไปกลับสเปนหลายพันคนต่อวัน หรือกรณีพรมแดนกับฝรั่งเศส ซึ่งภายใต้สนธิสัญญา Le Touquet (2003) อนุญาตให้การควบคุมพรมแดนของอังกฤษอยู่ที่เมือง Calais ซึ่งมีค่ายผู้อพยพอยู่ที่นั่น การออกจากสหภาพยุโรปอาจจะกระทบต่อสนธิสัญญาดังกล่าวก็เป็นไป หรืออาจจะทำให้การควบคุมพรมแดนของอังกฤษย้ายกลับมาอยู่ที่ Dover แทน เป็นต้น

เมื่อกระบวนการเจรจาแยกทางกับสหราชอาณาจักรเป็นที่น่าพอใจแล้ว สหภาพยุโรปจึงจะเริ่มเจรจาเรื่องข้อตกลงทางการค้ากับสหราชอาณาจักร ซึ่งเราอาจจะพอเห็นตัวแบบจำนวนหนึ่งของข้อตกลงทางการค้ากับสหภาพยุโรป ดังนี้

ตัวแบบแรก คือ ตัวแบบของนอร์เวย์ ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป แต่ยังอยู่ภายในตลาดเดียวหรือ European Economic Area (EEA)โดยยังต้องเคารพหลักการการเคลื่อนย้ายโดยเสรีทุกอย่างรวมทั้งผู้คน เคารพกติกาต่างๆ ของสหภาพยุโรป และจ่ายเงินสนับสนุนงบประมาณให้แก่สหภาพยุโรป ในกรณีดังกล่าว สหราชอาณาจักรก็จะเหมือนกับยังอยู่ในสหภาพยุโรป แต่ไม่มีสิทธิหรืออิทธิพลในกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายของสหภาพยุโรปอีกต่อไป ซึ่งดูเหมือนจะเป็นตัวแบบที่เป็นไปได้ยาก

ตัวแบบที่สอง คือ ตัวแบบของสวิสเซอร์แลนด์ นั่นคือ การเป็นสมาชิกของ European Free Trade Agreement (EFTA) แต่ไม่ได้อยู่ในตลาดเดียว ต้องเจรจากับสหภาพยุโรปเป็นรายภาคส่วน (sectors) ไป แต่ยังคงเคารพหลักการการเคลื่อนย้ายโดยเสรีทุกอย่างรวมทั้งผู้คน เคารพกติกาต่างๆ ของสหภาพยุโรป และจ่ายเงินสนับสนุนงบประมาณให้แก่สหภาพยุโรป

ตัวแบบที่สาม คือ ตัวแบบของแคนาดา โดยเป็นการทำข้อตกลงการค้าเสรีหรือ FTA กับสหภาพยุโรป โดยสินค้าต่างๆ สามารถเข้าสู่ตลาดภายในของสหภาพยุโรปได้ โดยไม่ได้รวมภาคบริการ แต่จากกรณีของแคนาดา ตัวแบบนี้อาศัยเวลาในการเจรจา FTA กับสหภาพยุโรปเป็นเวลายาวนาน (เกือบ 8 ปี)

ตัวแบบสุดท้าย คือ ตัวแบบของการไม่มีข้อตกลงใดๆ หรือตัวแบบขององค์การการค้าโลก (WTO) โดยการค้าระหว่างประเทศก็เป็นไปตามกติกาของ WTO โดยจะเผชิญกับกำแพงภาษีต่างๆ ในการค้ากับสหภาพยุโรป

ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางใดก็ตาม ทั้งสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปมีกรอบเวลาสองปีเป็นตัวกำกับกระบวนการเจรจา ภายในสิ้นเดือนมีนาคม 2019 ถ้าหากยังไม่มีข้อสรุปใดๆ ที่เป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่าย และประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปไม่ขยายเวลาการเจรจาให้แก่สหราชอาณาจักร นั่นหมายถึงการที่สหราชอาณาจักรจะออกจากยุโรปตามตัวแบบสุดท้าย กล่าวคือ ตัวแบบของการไม่มีข้อตกลงใดๆ โดยหันเข้าสู่ WTO และดำเนินการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ ในโลก นั่นก็จะเข้าสู่โมเดลที่ Theresa May เคยเสนอเอาไว้ว่า “การไม่มีข้อตกลงอาจจะดีกว่าข้อตกลงที่แย่” ก็เป็นได้

 

ข้ามไม่พ้นวิกฤตอัตลักษณ์?

 

แน่นอนว่า สหราชอาณาจักรยุคหลัง Brexit กำลังเผชิญกับ ‘วิกฤตอัตลักษณ์แห่งชาติ’ อย่างรุนแรง

Timothy Garton Ash นักวิชาการด้านยุโรปศึกษาแห่งมหาวิทยาลัย Oxford เคยเสนอว่า สหราชอาณาจักรนั้นเผชิญกับสภาวะ “จตุพักตร์” หรือ “พระพรหมสี่หน้า” มาโดยตลอดช่วงประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของตน กล่าวคือ สหราชอาณาจักรจะมีอัตลักษณ์ระหว่างประเทศที่ย้อนแย้งและลักลั่นระหว่างความเป็นสหราชอาณาจักรที่เป็นชาตินิยมหรือนิยมอังกฤษ (English Britain) สหราชอาณาจักรที่นิยมยุโรป (European Britain) สหราชอาณาจักรที่นิยมอเมริกัน (American Britain) หรือสหราชอาณาจักรที่นิยมโลก (Global Britain)

นี่เป็นโจทย์สำคัญที่สุดประการหนึ่งของสหราชอาณาจักรในอนาคตอันใกล้ว่าจะกำหนดสถานะและบทบาทของตนเองในการเมืองโลกเช่นใด อย่างน้อยที่สุด เราได้แต่เพียงหวังว่า ผลการเลือกตั้งรัฐสภาอังกฤษซึ่งกลายเป็น “โศกนาฏกรรม” ของรัฐบาล May จะไม่ก่อให้เกิด “ความตลกขบขัน” ของกระบวนการเจรจา Brexit ซ้ำอีก

ดังที่ Karl Marx เขียนไว้ว่า

“History repeats itself, first as tragedy, then as farce.”

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save