fbpx
โอลอฟ พาลเมอร์ ผู้นำสังคมนิยมคนสุดท้ายแห่งสวีเดน

โอลอฟ พาลเมอร์ ผู้นำสังคมนิยมคนสุดท้ายแห่งสวีเดน

เมื่อช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายน มีความเคลื่อนไหวน่าสนใจจากประเทศสวีเดน หลังศาลปิดคดีที่ค้างคามากว่า 34 ปีในคดีเหตุฆาตกรรม ‘โอลอฟ พาลเมอร์’ อดีตนายกรัฐมนตรีฝีปากกล้าของสวีเดนที่ดำรงตำแหน่งในปี 1969-1972  และสมัยที่สองในปี 1982-1986 เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 1986 พาลเมอร์ถูกมือปืนลอบสังหาร จ่อยิงจุดสำคัญขณะกำลังเดินกลับบ้าน โดยไม่มีบอดีการ์ดติดตามแม้แต่คนเดียวบนถนนสเวียแวเกน กลางกรุงสตอกโฮล์ม หลังเสร็จสิ้นการชมภาพยนตร์เรื่อง The Brothers Mozart ที่โรงภาพยนตร์

คดีฆาตกรรมสร้างความสั่นสะเทือน หวาดกลัว โศกเศร้า กับการจากไปกะทันหันของผู้นำฝ่ายบริหาร ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่ยังคุกรุ่นด้วยสงครามเย็นระหว่าง 2 ค่าย คือฝั่งสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต

ภาพจาก Olof Palme International Center
จุดที่ โอลอฟ พาลเมอร์ โดนสังหาร / ภาพโดย Sipa Rex

ใครคือ ‘โอลอฟ พาลเมอร์’

โอลอฟ พาลเมอร์ คือใคร แล้วเขามีคุณูปการอย่างไรกับการเมืองโลก

พาลเมอร์เกิดในสังคมอนุรักษนิยมชั้นสูงของสวีเดน ภูมิลำเนาเดิมมาจากกรุงสตอกโฮล์ม หากสืบเชื้อสายกลับไป พาลเมอร์มีเชื้อเจ้าจากบรรพบุรุษ คือ กษัตริย์เฟรเดอริกที่ 1 แห่งเดนมาร์กและนอร์เวย์

แต่ความเป็นรากเหง้าชนชั้นสูงหาได้ทำให้พาลเมอร์สงวนความคิดอนุรักษนิยมไม่ พาลเมอร์มีความกระหายแรงกล้าที่จะเดินสายสังคมนิยมประชาธิปไตย ตั้งแต่สมัยเรียนเศรษฐศาสตร์การเมืองที่ เคนยอน คอลเลจ สหรัฐฯ ที่เขาได้เขียนวิทยานิพนธ์เรื่องสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมยานยนต์สหรัฐฯ พร้อมกับมีโอกาสได้คุยกับ วอลเทอร์ รอยเธอร์ นักสิทธิมนุษยชนผู้ก่อตั้งสหภาพแรงงานดังกล่าว และได้เดินทางทั่วสหรัฐฯ จนเห็นความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงที่นั่น

พาลเมอร์เดินทางกลับบ้านเกิด และเรียนต่อด้านกฎหมายที่ มหาวิทยาลัยสตอกโฮล์ม ทั้งยังได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยในปี 1949 และเคลื่อนไหวภายใต้การทำงานร่วมกับสหภาพนักศึกษาสวีเดนมาตลอด นอกจากนี้ในงานของ Ann-Marie Ekengren[1] เผยมุมมองของพาลเมอร์ที่มีแนวคิดทางการเมืองขับเคลื่อนโดยสองประการหลัก คือ ความเท่าเทียมกันของมนุษย์ในด้านสังคม เศรษฐกิจ ตลอดจนความเท่าเทียมด้านการเมือง และสิทธิเสรีภาพในการคิดและตัดสินใจด้วยตนเองในฐานะปัจเจก

ด้วยแนวคิดดังกล่าว พาลเมอร์ไม่เพียงแต่เป็นตัวตั้งตัวตีในการผลักดันสังคมเท่าเทียมเสมอหน้าในสวีเดน แต่ยังพยายามผลักดันเรื่องการต่อต้านรัฐอาณานิคม และสร้างความเท่าเทียมกันระหว่างประเทศต่างๆ

ระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พาลเมอร์ได้ให้เงินช่วยเหลือ ทั้งทางมนุษยธรรมและด้านการเงินโดยตรงแก่กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่ออิสรภาพในแอฟริกา อย่างกลุ่ม PAIGC (African Party for the Independence of Guinea and Cape Verde) ในประเทศกินีบิสเซา หรือ กลุ่ม MPLA (The People’s Movement for the Liberation of Angola) ในประเทศแองโกลา เป็นต้น

ในแง่มุมนี้ หากเอาแนวคิดมาร์กซิสต์เข้าไปอธิบายจะพบว่าพาลเมอร์ผู้ยึดมั่นในความเท่าเทียมของสังคมมองประเทศอาณานิคมหรือประเทศเล็กๆ ที่ถูกเอาเปรียบโดยประเทศที่พัฒนาแล้ว เสมือนชนชั้นแรงงานที่ถูกเอาเปรียบจากกลุ่มผู้มีอำนาจ อีกทั้งคนในประเทศเล็กๆ เหล่านั้นก็ถูกกดขี่โดยกลุ่มชนชั้นปกครองที่ได้รับการถือหางโดยกลุ่มประเทศโลกที่หนึ่ง ดังนั้นประเทศเหล่านั้นควรได้รับการปลดแอกจากกลุ่มประเทศที่ครอบงำ และมีสิทธิเท่าเทียมกับนานาอารยประเทศ

มีคลิปวิดีโอชิ้นหนึ่งที่พาลเมอร์พูดในรายการดีเบตก่อนเลือกตั้งทั่วไปในปี 1982 โดยพาลเมอร์เน้นถึงความหนักแน่นในหลักสังคมนิยมประชาธิปไตยของตน โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า “ขณะที่ผมเดินทางไปยังประเทศอินเดีย ได้พบเห็นความยากจนข้นแค้นที่สุด และความรวยที่ห่างชั้นมากกับคนจนเหล่านั้น ผมเห็นคนจนถูกเอาเปรียบในหลายๆ ด้าน ที่สหรัฐฯ ผมเห็นคนหนุ่มถูกกดขี่ด้วยกฎหมายในบรรดารัฐคอมมิวนิสต์ ผมเดินทางไปเยี่ยมชมค่ายกักกันนาซี และพบรายชื่อผู้ถูกสังหารที่เป็นนักสังคมนิยม และมาจากกลุ่มสหภาพแรงงาน”

“เพราะเหตุนั้น ผมตระหนักดีว่า สังคมนิยมประชาธิปไตยนี่แหละ จะเป็นหมุดหมายใหม่ในการสร้างประชาธิปไตยของเรา สังคมนิยมประชาธิปไตยจะช่วยเราให้พ้นจากความยากจน และการว่างงาน ผมจึงได้ต่อสู้มาตลอดให้คนชนชั้นแรงงานมีเงินบำนาญที่ดีหากเขาเหล่านั้นเข้าสู่วัยเกษียณ”[2]

สิ่งที่พาลเมอร์พูดในปี 1982 ไม่ใช่คำพูดที่ประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อโน้มน้าวจูงใจคนในช่วงนั้นเท่านั้น มองย้อนกลับไป ในปี 1962 ซึ่งเป็นปีแรกที่พาลเมอร์ก้าวเข้าสู่วงการการเมืองด้วยการเป็นทีมที่ปรึกษาด้านประเด็นต่างๆ ในประเทศ และนโยบายต่างประเทศให้กับ ‘ทาเกอะ แอร์ลานเดอร์’ อดีตนายกรัฐมนตรี เขาได้มีโอกาสนั่งเป็นกรรมการของคณะกรรมการโครงการความช่วยเหลือนานาชาติของสวีเดน พาลเมอร์พยายามผลักดันว่าอะไรควรที่จะทำ ควรที่จะผลักดัน หรือช่วยเหลือแก่ประเทศโลกที่สาม

พาลเมอร์ยังทำเรื่องแสบสัน ด้วยการออกมาวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มประเทศประชาธิปไตยตะวันตกที่ทำตัวนิ่งเฉยกับประเด็นการแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้ รวมไปถึงการประณามสหรัฐฯ อย่างเผ็ดร้อนในกรณีสงครามเวียดนาม และเทียบการกระทำของสหรัฐฯ ว่าเหมือนกับการกระทำของพวกนาซี[3] แน่นอน การดำเนินนโยบายทางการทูตลักษณะเช่นนี้ ทำให้สหรัฐฯ ประกาศลดความสัมพันธ์ทางการทูตกับสวีเดนเป็นเวลาเกือบปี ฝีปากของพาลเมอร์ทำให้ ริชาร์ด นิกสัน ประธานาธิบดีสหรัฐในปี1969 – 1974 ถึงกับสบถด่าพาลเมอร์ว่า “ไอ้ห่าสวีดิช” (That Swedish asshole)[4]

และหลังจากขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี พาลเมอร์ยังรับรองประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม หรือเวียดนามเหนือ ในปี 1969 และสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตเป็นประเทศแรกในกลุ่มประเทศโลกประชาธิปไตย รวมถึงเปิดความสัมพันธ์กับประเทศคอมมิวนิสต์ขนาดเล็กหลายประเทศ อย่างคิวบา เกาหลีเหนือ และนิการากัว

บทบาทของพาลเมอร์ทำให้สวีเดนมีความโดดเด่นในเวทีการเมืองโลกอย่างมาก ไม่เพียงแค่เปิดความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศโลกที่สาม แต่แนวความคิดของพาลเมอร์ยังทำให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ๆ ในประเทศที่สวีเดนหยิบยื่นความสัมพันธ์ให้ โดยหนึ่งในตัวอย่างที่จะหยิบยกขึ้นมาพูดถึงก็คือ กรณีวัฒนธรรมในเทศกาลเต็ต ที่เวียดนาม

โอลอฟ พาลเมอร์ หลังชนะการเลือกตั้งในปี 1985 ภาพจาก ddp/STELLA Pictures/Stefan Lindblom
โอลอฟ พาลเมอร์ และฟิเดล คาสโตร ในปี 1975 ภาพ action press

เวียดนาม กับ โอลอฟ พาลเมอร์

หากใครมีโอกาสได้เยี่ยมเยียนเวียดนามในช่วงเต็ต หรือตรุษญวน ซึ่งคือช่วงเดียวกับเทศกาลตรุษจีน ก็จะพบว่าในทุกๆ วันปีใหม่ของพี่น้องชาวเวียดนาม ไม่ใช่แค่เพียงไหว้บรรพบุรุษ ไหว้เรียกผีกินเครื่องเซ่น โปรยเกลือรับขวัญปีใหม่หน้าบ้าน แต่ยังรวมไปถึงการเปิดเพลง Happy New Year ที่ขับร้องโดย ABBA วงดังในตำนานสัญชาติสวีเดน ที่คนไทยอาจจะรู้จักผ่านเพลง Dancing Queen

แล้วทำไมวัฒนธรรมสวีดิช ถึงเข้าแทรกซึมอยู่ในวัฒนธรรมอันสำคัญอย่างยิ่งยวดของชาวเวียดนามได้ คำตอบ ณ ที่นี้ก็คงหนีไม่พ้นนโยบายการสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตของพาลเมอร์

ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษที่ 1980 เวียดนามเหนือปิดประเทศ ไม่ค่อยมีความสัมพันธ์กับประเทศกลุ่มตะวันตกที่เข้าข้างสหรัฐฯ มีแต่เพียงความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศมิตรสหายในกลุ่มคอมมิวนิสต์เท่านั้น จนกระทั่งพาลเมอร์เปิดความสัมพันธ์อย่างที่กล่าวไปข้างต้น

สวีเดนเข้ามาในช่วงทศวรรษ 1960 พร้อมกับแพกเกจเงินช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแบบให้เปล่าถึง 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[5] ทั้งยังเข้าไปตั้งโรงงานกระดาษขนาดใหญ่ที่ไบ๋บัง ห่างจากฮานอยไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือราว 90 กิโลเมตร ซึ่งมูลค่าการลงทุนสูงถึง 500 ดอลลาร์สหรัฐ นับว่าสูงมากกับประเทศเล็กอย่างเวียดนามเหนือในขณะนั้น

การเข้าไปลงทุน สวีเดนย่อมเอาทรัพยากรบุคคลของตนเองเข้าไป และบุคคลเหล่านั้นก็พกวัฒนธรรมสวีเดนเข้าไปด้วย ซึ่งทำให้เกิดหมู่บ้านชาวสวีเดนขนาดย่อมในเวียดนามเหนือ ลูกจ้างชาวสวีเดนบางคนก็สร้างครอบครัว ลงหลักปักฐานกับชาวเวียดนามที่นั่น[6]

พร้อมกันกับโรงงานกระดาษ ชาวสวีเดนยังเอาแนวคิดเรื่องโรงซาวน่า หรือแม้แต่ดนตรียอดฮิต อย่าง ABBA เข้าไปด้วย แต่วัฒนธรรมตะวันตกที่เข้ามากับชาวสวีเดนก็ไม่ได้สร้างความเคลือบแคลงใจให้กับทางการเวียดนามเหนือนัก จากแต่เดิมเวียดนามเหนือกลัวว่าวัฒนธรรมตะวันตกจะเข้ามาบั่นทอนความเชื่อตามแบบสังคมนิยม แต่สวีเดนถือเป็นกรณีพิเศษที่มีความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างรัฐ ที่พาลเมอร์ นักสังคมนิยมประชาธิปไตยหยิบยื่นให้กับเวียดนามเหนือ

ดังนั้นการเข้ามาของวัฒนธรรมสวีเดน กับเพลง ABBA ในสมัยนั้น ไม่ใช่แค่วัฒนธรรมป๊อปธรรมดา และแม้ว่าเนื้อเพลงจะไม่ได้ให้กำลังใจมากมายนัก แต่ยังเปรียบเสมือนเครื่องเตือนใจให้กับชาวเวียดนามเสมอว่าโลกภายนอกยังสดใส รุ่งโรจน์ ยังมีประเทศที่เข้าใจ ไม่ได้มัวหมอง ขุ่นมัว เหมือนกับสภาพที่ชาวเวียดนามเหนือกำลังเผชิญในห้วงสงคราม

ABBA จึงไม่ใช่แค่เพลงป๊อปสากลที่ฮิตติดตลาดในโลกตะวันตกขณะนั้น แต่ยังเป็นกลายมาเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมที่ผสมกลมกลืนเข้าไปกับวัฒนธรรมหลักของเวียดนามผ่านการส่งต่อมาในช่วงสงครามอเมริกัน (สงครามเวียดนาม) กับการมองอนาคตในเชิงบวก อย่างมีความหวัง

โรงงานกระดาษ ที่มาจากความร่วมมือระหว่างสวีเดนและเวียดนาม (ภาพจาก kinhtemoitruong.vn)

ใครฆ่า โอลอฟ พาลเมอร์ และทำไม

ด้วยแนวคิดและนิสัยการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนของพาลเมอร์ ไม่แปลกนักที่นักการเมือง หรือกลุ่มคนที่เชียร์การเมืองฝ่ายตรงข้ามจะโจมตี โดยเฉพาะกลุ่มการเมืองฝ่ายขวา

ในหนังสือ Blood on the snow ที่เขียนถึงการตายของพาลเมอร์บรรยายว่าฝ่ายตรงข้ามพยายามสร้างเรื่องราวสาดเสียเทเสียใส่ร้ายพาลเมอร์ ไม่ว่าจะเป็นการกุข่าวว่า พาลเมอร์เป็นกลุ่มคนรักร่วมเพศ รับสินบนจากหน่วยราชการลับของโซเวียต หรือกระทั่งใส่ความว่าพาลเมอร์ใช้ชีวิตหรูหราจากการหลบเลี่ยงภาษี รวมไปถึงบ้านหลักเล็กๆ ของพาลเมอร์ย่านชานเมืองมีอุโมงค์สำหรับเก็บเงินจำนวนมหาศาล[7]

ในช่วงแรกหลังเกิดการฆาตกรรมพาลเมอร์ มีแนวคิดว่าการตายของนายกรัฐมนตรีผู้นี้มีผลมาจากทฤษฏีสมคบคิด คนที่พูดเรื่องนี้คนแรกคือ ฮันส์ โฮลเมอร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติสวีเดนที่เข้ามารับหน้าที่ดูแลเรื่องนี้ หรือแม้กระทั่งพยายามโยงการตายของพาลเมอร์เข้ากับกรณีการเรียกร้องดินแดนของชาวเคิร์ด รวมไปถึงแนวคิดว่ามีการจ้างวานจากกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับพาลเมอร์จากแอฟริกาใต้ที่วิพากษ์วิจารณ์เรื่องการแบ่งสีผิว[8]

กระนั้นก็ตามตามการสืบสวนลากยาว จนกระทั่งปี 1989 ตำรวจสวีเดนจับ ‘คริสเตอร์ เพ็ตเตอร์สัน’ ด้วยหลักฐานผ่านการชี้ตัวคนร้ายของ ลิสเบธ พาลเมอร์ ภรรยาของโอลอฟ พาลเมอร์ ประกอบกับประวัติอันโชกโชนของเพ็ตเตอร์สันที่เคยมีคดีทำร้ายร่างกาย พยายามฆ่า และฆาตกรรม ทั้งยังเคยโดนจับเข้าคุกครั้งหนึ่ง [9]

ในท้ายที่สุดศาลสวีเดนยกฟ้องเพ็ตเตอร์สัน เนื่องจากอัยการไม่สามารถโน้มน้าวและหาหลักฐานซึ่งเป็นปืน .357 ที่ยิงพาลเมอร์มายืนยันได้ในชั้นศาล

แต่เมื่อเวลาผ่านไป จนกระทั่งช่วงวันที่ 10 มิถุนายน ที่ผ่านมา คริสเตอร์ พีเตอร์สัน อัยการสูงสุดสวีเดนออกมายืนยันว่าคนร้ายที่แท้จริงคือ ‘สติก แองสเตริม’ ซึ่งเป็นหนึ่งในคนที่เห็นเหตุการณ์ และตำรวจก็ไม่ได้จัดให้เขาเป็นผู้ต้องสงสัยแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามทางสวีเดนก็ไม่สามารถพิสูจน์ความจริงได้ เนื่องจากแองสเตริมได้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายตั้งแต่ปี 2000 แล้ว

แองสเตริม เดิมทีทำงานเป็นกราฟฟิกดีไซน์ให้กับบริษัทประกันภัยสกานเดีย ในช่วงแรกแองสเตริมให้ปากคำกับตำรวจในฐานะผู้เห็นเหตุการณ์ว่าตนรีบเข้ามาช่วยพาลเมอร์เป็นคนแรก ก่อนที่ตำรวจและรถพยาบาลจะมา จากคำให้การนี้ทางตำรวจสวีเดนระบุล่าสุดว่าพบความไม่ชอบมาพากลในคำให้การ[10]

คนที่จุดฉนวนว่าแองสเตริมน่าจะเป็นคนร้าย ก็คือ โธมัส แพ็ตเตอร์สัน นักข่าวชาวสวีเดนที่กลับไปดูไฟล์เก่าๆ และพบความไม่ชอบมาพากลหลังจากที่ฆาตกรลาโลกไปแล้วถึง 18 ปี

และทางสวีเดนปักใจเชื่อว่าเป็นแองสเตริม ด้วยเหตุผลว่าเป็นผู้มีความชำนาญในการใช้อาวุธ เนื่องจากเคยฝึกทหารมาก่อน และยังอยู่ในชมรมยิงปืนด้วย มากกว่านั้นแองสเตริมเป็นคนที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่า ไม่ชื่นชอบนโยบายของพาลเมอร์ อีกทั้งญาติของแองสเตริมยังบอกด้วยว่าเขามักจะวิจารณ์พาลเมอร์ในแง่ลบเสมอ[11]

ภรรยาของแองสเตริมเชื่อว่าเขาไม่ใช่ฆาตกร โดยบอดว่าแองสเตริมขี้ขลาดเกินกว่าจะฆ่าใคร แม้แต่แมลงวันตัวเดียวก็ยังไม่กล้าตบ แต่สำหรับ ‘โมร์เต็น พาลเมอร์’ ลูกชายคนกลางของอดีตนายกรัฐมนตรีผู้ล่วงลับมองว่า สวีเดนสามารถจับคนร้ายได้ถูกคนแล้ว กระนั้นก็ตาม ลิสเบธ ภรรยาพาลเมอร์ ผู้อยู่เคียงข้างและเห็นสามีตายต่อหน้าในวันเกิดเหตุการณ์ เสียชีวิตไปก่อนการจับคนร้ายตัวจริงสองปีโดยไม่มีโอกาสรับรู้ความคืบหน้าคดีนี้

แม้ว่าพาลเมอร์จะจากโลกไปหลายสิบปี แต่คุณูปการที่ พาลเมอร์สร้างแสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญในการพยายามสร้างความเท่าเทียมกันระหว่างมนุษย์ ซึ่งไม่ใช่แค่ในประเทศเท่านั้น แต่ยังขยายออกไปยังนานาอารยประเทศ อย่างการช่วยเหลือเวียดนามเหนือที่ถูกกดดันและโจมตีจากหลายทาง อีกทั้งยังกล้าท้ากล้าชนกับความไม่เสมอภาคที่เกิดขึ้นในเวทีโลก

กับสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว หวังแค่ว่าโลกใบนี้จะมีผู้นำหรือคนอย่าง โอลอฟ พาลเมอร์ ขึ้นมาอีก คนที่จะกล้าท้ากล้าชนเพื่อสิทธิของประเทศเล็กๆ รวมไปถึงสิทธิของคนในประเทศเล็กๆ เหล่านั้นที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากกลุ่มชนชั้นผู้มีอำนาจ

โอลอฟ พาลเมอร์ และลิสเบธ พาลเมอร์ / ภาพโดย Sven erik Sjöberg

เชิงอรรถ

[1] Ekengren, Ann-Marie (2011). How Ideas Influences Decision-Making: Olof Palme and Swedish foreign policy 1966-1975. Scandinavian Journal of History. 36:2, 117-134.

[2] Youtube (Feb 28, 2017). Olof Palme Why I am a Democratic Socialist (English Subtitles). Uploaded by Olsson, Magnus.

[3] Andersson, Stellan (N.D). Olof Palme och Vietnamfrågan 1965-1983.

[4] Wilson, Eric (2012). The Dual State Parapolitics, Carl Schmitt and the National Security Complex. Farnham: Ashgate Publishing Limited. P.182

[5] Czarny, Ryszard M. (2018) Sweden: From Neutrality to International Solidarity. doi.org/10.1007/978-3-319-77513-5. P.74

[6] Rama, Martin (2018). ‘Happy New Year!’, with a bittersweet smile.

[7] Bondeson, Jan (2005). Blood on the Snow: The Killing of Olof Palme. Ithaca: Cornell University Press. P.5

[8] The Guardian (2020). Sweden to present findings on Olof Palme assassination.

[9] Bondeson, Jan (2005). Blood on the Snow: The Killing of Olof Palme. Ithaca: Cornell University Press. P.116-118

[10] The conversation (2020). Who killed Sweden’s prime minister? 1986 assassination of Olof Palme is finally solved – maybe.

[11] BBC NEWS(2020, 11 June). Olof Palme murder: Sweden believes it knows who killed PM in 1986.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save