fbpx

ความยากของการมีชีวิต Olive Kitteridge

เมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว ผมเลือกหนังสือเรื่อง Olive Kitteridge ของเอลิซาเบท สเตราต์ เป็นหนึ่งใน ‘ความน่าจะอ่าน’ พร้อมแสดงความเห็นสั้นๆ ประกอบ ตอนนั้นผมตั้งใจไว้ว่าจะนำมาเล่าสู่กันฟังยาวๆ ในคอลัมน์นี้

ความคิดดังกล่าวเกิดและดับนับครั้งไม่ถ้วน เนื่องจากมีปัญหาติดขัดอยู่ว่า ฉบับแปลภาษาไทย (ใช้ชื่อว่า โอลีฟ คิตเตอริดจ์) ตีพิมพ์วางจำหน่ายตั้งแต่ปี 2554 ล่วงเลยถึงปัจจุบันก็เนิ่นนาน จนไม่น่าจะมีหนังสือหลงเหลือวางขายตามร้าน ส่งผลให้ไม่สะดวกต่อการหยิบมาแนะนำเชิญชวน

อย่างไรก็ตาม หลังจากลังเลอยู่หลายครั้งหลายครา จนกระทั่ง 3 ปีผ่านไป ท้ายสุดผมก็ได้ข้อสรุปว่าหลงรักปักใจในหนังสือเล่มนี้เอามากๆ เกินกว่าจะหักใจปล่อยผ่านไม่พูดถึง

เอาเป็นว่าท่านที่สนใจอยากอ่านคงต้องออกแรงกันสักหน่อย โดยการเสาะหาผ่านบรรดาเพจร้านขายหนังสือเก่า หนังสือมือสอง หรือห้องสมุด (ที่หอกลาง จุฬาฯ มีเรื่องนี้ครับ)

อีกหนทางหนึ่งซึ่งพอจะนับเป็นตัวช่วยได้บ้างก็คือ นิยายเรื่องนี้ได้รับการนำมาดัดแปลงเป็นมินิซีรีส์ 4 ตอนจบ ใช้ชื่อเดียวกันกับหนังสือ สามารถดูได้ทาง HBO GO

เคยอ่านเจอจากไหนก็จำไม่ได้แล้วนะครับว่า ฟรานเซส แม็คดอร์มานด์ นักแสดงระดับยอดฝีมือ อ่านเรื่อง Olive Kitteridge แล้วชอบมาก จนสบโอกาสเหมาะ เธอก็ซื้อลิขสิทธิ์นิยายเรื่องนี้สำหรับนำมาสร้างเป็นหนัง ประมาณว่าซื้อดักเก็บไว้ก่อน โดยไม่รู้แน่ว่าจะได้สร้างหรือเปล่า และเมื่อมีโอกาสขึ้นมาจริงๆ ตัวเธอก็ใช้อำนาจในฐานะผู้ถือลิขสิทธิ์เรื่องนี้ แสดงนำในบทโอลีฟ คิตเตอริดจ์ ผู้เป็นตัวเอกของเรื่อง

หากเป็นการคัดเลือกนักแสดงตามปกติโดยใครก็ตาม ฟรานเซส แม็คดอร์มานด์ ไม่น่าจะใช่ตัวเลือกลำดับต้นๆ เพราะรูปลักษณ์ไม่เหมือนและไม่ตรงกับที่พรรณาไว้ในนิยาย ว่าโอลีฟเป็นหญิงร่างอ้วนใหญ่ (ตอนอ่านผมนึกเล่นๆ ว่าถ้าเป็นหนัง แคธี เบตส์ ดูใกล้เคียงและใช่เลย) สิ่งเดียวที่เหมือนคือบุคลิกติดตาผู้ชม เป็นคนปากร้ายและไม่เป็นมิตรจนทุกคนเกรงขาม

เป็นเรื่องของวิสัยทัศน์ล้วนๆ และมองการณ์ไกลนะครับ ที่ฟรานเซส แม็คดอร์มานด์ใช้ความฉับไวซื้อลิขสิทธิ์นิยายเรื่องนี้ เพราะตัวละครโอลีฟ คิตเตอริดจ์นั้น เป็นบทบาทในฝันที่นักแสดงระดับยอดฝีมือทุกคนปรารถนา เปิดโอกาสให้โชว์ฝีมือเต็มเปี่ยม (พูดอีกแบบคือเป็นบทสำหรับล่ารางวัลโดยแท้)

Olive Kitteridge เป็นมินิซีรีส์ปี 2014 ไม่ฮิตและไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนักในบ้านเรา (เช่นเดียวกับฉบับนิยาย) แต่คำวิจารณ์และความสำเร็จด้านรางวี่รางวัลนั้นอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ชนะรางวัล Emmy ในสาขาสำคัญๆ ชนิดกวาดเรียบ ทั้งมินิซีรีส์ยอดเยี่ยม, นักแสดงนำชาย (ริชาร์ด เจนกินส์ ในบทเฮนรี คิตเตอริดจ์), นักแสดงนำหญิง(ฟรานเซส แม็คดอร์มานด์), นักแสดงสมทบชาย (บิล เมอร์เรย์ ในบทแจ็ค เคนนิสัน คนนี้ปรากฏตัวแค่ช่วง 20 นาทีสุดท้ายก่อนจบ แต่โดดเด่นมาก), กำกับและเขียนบท

กล่าวโดยรวบรัด ฉบับมินิซีรีส์เล่าด้วยวิธีที่แตกต่างจากหนังสือ เป็นการทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นและมีเส้นเรื่องชัดเจนกว่า (ฉบับนิยายนั้นมีพล็อตกระจัดกระจาย บางส่วนคลุมเครือ อีกทั้งยังมีการแตกกิ่งก้านสาขาไปหลายทิศทาง) เก่งมากในการเก็บใจความสำคัญเอาไว้ได้ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเนื้อหาสาระ เสน่ห์ในการเล่าเรื่องเรียบง่ายได้อย่างมีชีวิตชีวา  อารมณ์หวานขมอมเศร้า รวมความแล้วได้อรรถรสใกล้เคียงกับตัวเรื่องเดิม

ดีงามและยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน แต่ดีไปคนละแบบ คนละวิธีการนะครับ ขอแนะนำอย่างยิ่งทั้งนิยายและมินิซีรีส์

นิยายเรื่อง Olive Kitteridge ตีพิมพ์วางจำหน่ายในปี 2008 ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ประจำปี 2009 และเข้ารอบห้าเรื่องสุดท้าย National Book Critics Circle Awards

ความประหลาดแรกสุดของงานเขียนชิ้นนี้ก็คือ มันก่อให้เกิดคำถามว่าควรจะจัดประเภทเป็นนิยายหรือรวมเรื่องสั้นกันแน่?

โดยการเรียกขานกว้างๆ ผู้คนทั่วไปรวมถึงแหล่งข้อมูลทั้งหลาย นิยมระบุว่าเป็นนิยาย แต่โดยเนื้อในรายละเอียด งานเขียนชิ้นนี้มีลักษณะชัดเจนว่าเป็นรวมเรื่องสั้นจำนวน 13 เรื่อง ทุกเรื่องมีเหตุการณ์ ต้น กลาง ปลาย เกิดขึ้นจบลงเป็นเอกเทศในตัว มีประเด็นแก่นเรื่องและองค์ประกอบต่างๆ ครบถ้วนสมบูรณ์ในลักษณะของเรื่องสั้น

มองแบบหาความเชื่อมโยงเกี่ยวพัน หลายเรื่องก็บอกเล่าเหตุการณ์สืบเนื่องสัมพันธ์กัน ขณะที่บางเรื่องก็แยกขาดไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องอื่นๆ เลย ยกเว้นจุดร่วมที่ทุกเรื่องมีเหมือนกันหมด นั่นคือเหตุการณ์เกิดขึ้นโดยใช้ฉากหลังที่เมืองครอสบี รัฐเมน และทุกเรื่องล้วนมีตัวละครโอลีฟ คิตเตอริดจ์เกี่ยวข้องอยู่ด้วย

บทบาทของโอลีฟ คิตเตอริดจ์ในแต่ละเรื่องสั้นก็มีน้ำหนักไม่เท่ากัน บางเรื่องเธอเป็นตัวละครหลัก เป็นเรื่องราวเหตุการณ์เกี่ยวกับตัวเธอโดยตรง ขณะที่บางเรื่องเธอปรากฏตัวแบบผ่านๆ (และมีแม้กระทั่งเรื่องที่โอลีฟไม่ได้ปรากฏตัวเลย แต่ตัวละครอื่นนึกถึงเธอขึ้นมาชั่วขณะหนึ่งเท่านั้นเอง)

อย่างไรก็ตาม เมื่ออ่านจนจบครบถ้วน ผมก็มีความเห็นว่า Olive Kitteridge เข้าลักษณะเป็นนิยายมากกว่าเรื่องสั้นนะครับ หรือจะพูดแบบเล่นสำนวนโวหารก็ได้ว่า เป็นนิยายที่เขียนร้อยเรียงด้วยท่วงทีลีลาแบบเรื่องสั้น

จากบทสัมภาษณ์เอลิซาเบท สเตราต์ ในท้ายเล่ม ทำให้ทราบว่าลำดับเรื่องในหนังสือนั้นเรียงตามช่วงวัยอายุของตัวละคร ตั้งแต่วัยกลางคนจนถึงวัยชรา แต่วาระในการเขียนไม่ได้เป็นไปตามนั้น (เรื่องแรกที่เขียนคือเรื่องที่ 4 ในเล่ม)

พูดอีกแบบคือ ทั้ง 13 เรื่อง เขียนขึ้นต่างกรรมต่างวาระ และนำมาประกอบจัดเรียงขึ้นใหม่เมื่อทำการรวมเล่ม

สิ่งที่น่าทึ่งมากก็คือ ผลงานที่เขียนขึ้นต่างช่วงเวลา และสันนิษฐานว่าในเบื้องต้นผู้เขียนอาจไม่ได้กำหนดเค้าโครงหรือมีเจตนาให้เป็นนิยายเสียด้วยซ้ำ (ผมเชื่อว่าความคิดนี้น่าจะเกิดขึ้นในภายหลัง เมื่อเขียนเรื่องสั้นได้จำนวนมากพอสมควร) ควรจะออกมาสะเปะสะปะ ไม่เป็นเอกภาพ หรือย่ำแย่หนักไปอีกก็เป็นความสับสนอลหม่าน แต่ Olive Kitteridge กลับไม่เป็นเช่นนั้น ในการเล่าเรื่องอย่างเป็นอิสระปราศจากระเบียบแน่ชัด นิยายเรื่องนี้กลับเปี่ยมไปด้วยความเป็นเอกภาพจาก 2 ปัจจัยสำคัญ อันได้แก่ เรื่องที่บอกเล่าและวิธีในการบอกเล่า

Olive Kitteridge เป็นนิยายที่เล่าเรื่องย่อค่อนข้างยากอยู่สักหน่อยนะครับ ประการแรกเลยคือมีเหตุการณ์เยอะแยะมากมายถึง 13 เรื่อง ถัดมาคือทั้งหมดนี้เขียนโดยเน้นไปที่ความคิดความรู้สึกของตัวละคร มากกว่าจะให้ความสำคัญกับพล็อตเรื่อง

ทุกเรื่องเล่าถึงเหตุการณ์หรือสถานการณ์ง่ายๆ ซึ่งทำให้ตัวละคร ‘คิดในใจ’ เชื่อมโยงไปสู่เรื่องราวต่างๆ นานา บางขณะก็ลงลึกสู่รายละเอียดอย่างถี่ถ้วน บางขณะก็นึกถึงผ่านๆ โดยปราศจากคำอธิบาย มีความคลุมเครือไม่ชัดเจน (แต่ผู้อ่านพอจะคาดคะเนได้คร่าวๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น) บางครั้งก็พูดถึงคนนั้นคนนี้โดยไม่ขยายความให้ทราบว่าใครเป็นใคร

ทั้งหมดนี้ทำให้ผมเริ่มต้นอ่านด้วยความยำเกรง กลัวว่าจะไม่รู้เรื่องและไม่เข้าใจ แต่เมื่อติดตามไปได้สักพักจนเริ่มคุ้น กลับกลายเป็นเสน่ห์ดึงดูดถึงระดับอ่านแล้ววางไม่ลง

รสบันเทิงอย่างแรกคือ วิธีดังกล่าวประสบผลดียิ่งในการสร้างความหนักแน่นน่าเชื่อถือให้กับเรื่องราว  ทำให้ผู้อ่านผูกพันสนิทสนมใกล้ชิดกับกับตัวละคร และการที่ตัวละครคิดเรื่องนั้นตัดสลับกับปัจจุบันขณะ แล้วโยงไปสู่ความคิดอื่น ก็ก่อให้เกิดการผูกเงื่อนวางปมเร่งเร้าความสนใจของผู้อ่าน ทำให้อยากรู้ความเป็นไปให้ครบถ้วน จนกลายเป็นความสนุกบันเทิงชวนอ่านขึ้นมาอย่างแนบเนียน

พูดอีกแบบ เรื่องเกือบทั้งหมด (ยกเว้นเรื่องที่เกิดเหตุในโรงพยาบาล) ล้วนเป็นชีวิตประจำวันปกติทั่วไป แต่ด้วยวิธีการเล่าวิธีการเขียนที่เก่งกาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมุมมองความเป็นนักสังเกตมนุษย์ นักสังเกตชีวิตที่เฉียบคมของเอลิซาเบท สเตราต์ ทำให้เรื่องราวราบเรียบเหล่านี้กลายเป็นเรื่องเล่าที่ทรงพลัง ตราตรึงใจ และกระทบความรู้สึกของผู้อ่านอย่างจะแจ้ง

เนื้อเรื่องคร่าวๆ แบบสรุปความและไม่ตรงกับนิยาย Olive Kitteridge เป็นเรื่องราวตั้งแต่วัยกลางคนถึงวัยชราของโอลีฟ คิตเตอริดจ์ ครูสอนคณิตศาสตร์ในโรงเรียนมัธยม เธอเป็นผู้หญิงร่างอ้วนใหญ่ ปากร้าย พูดจาไม่ถนอมน้ำใจผู้อื่น ไม่ชอบการอยู่โดดเดี่ยวตามลำพัง แต่ที่เกลียดยิ่งกว่าคือการอยู่ร่วมกับผู้อื่น

เรื่องราวที่เป็นแกนหลัก ว่าด้วยความสัมพันธ์คาบเกี่ยวปนเปทั้งดีทั้งร้ายระหว่างโอลีฟกับครอบครัว ซึ่งประกอบไปด้วยสามีและลูกชาย

เฮนรีผู้เป็นสามี มีนิสัยใจคอตรงข้ามเป็นคนละขั้ว ใจดี อ่อนโยน มีน้ำใจกับผู้คนรอบข้าง และเป็นที่รักของชาวบ้าน ชีวิตแต่งงานของเขากับโอลีฟผ่านเลยช่วงหวานชื่นมานาน บางขณะก็ระหองระแหง จนเหมือนต่างฝ่ายต่างใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันด้วยความกล้ำกลืนอดทน และเกือบเข้าขั้นวิกฤตถึงจุดแตกหัก แต่ก็ประคับประคองจนผ่านพ้นไปได้ กลายเป็นคู่ทุกข์คู่ยาก เป็นเพื่อนร่วมชีวิตที่ไม่ได้หวานชื่น แต่มีสุขมีทุกข์สลับกันไปตามอัตภาพ เกื้อกูลกันบ้าง ทำร้ายจิตใจกันบ้าง มีบาดแผลรอยร้าวที่ไม่มีวันสมานคืนดีดังเดิม มีประสบการณ์และความทรงจำที่ดีต่อกัน จนถึงวันที่ฝ่ายหนึ่งจากไป

อีกเส้นเรื่องหลักคือ ความสัมพันธ์ระหว่างโอลีฟกับคริสโตเฟอร์ผู้เป็นบุตรชาย ซึ่งกล่าวอย่างรวบรัดได้ว่าเป็นเรื่องความรักความปรารถนาดีที่แม่มีต่อลูกอย่างเต็มเปี่ยม แต่ด้วยวิธีแสดงออกและการกระทำในแบบของโอลีฟ กลับกลายเป็นการทำร้ายคนที่เธอรัก สร้างบาดแผลในใจให้กับลูกชายไปชั่วชีวิต จนนำไปสู่การบาดหมางอย่างรุนแรง

พล็อตทั้ง 13 เรื่อง ไม่ได้มีอะไรพิเศษพิสดารต่างจากหนังและนิยายทำนองเดียวกันจำนวนมากเลยนะครับ แต่สิ่งที่งานเขียนชิ้นนี้โดดเด่นเหนือกว่าอย่างแจ่มชัดก็คือ มันไม่ได้มีลักษณะเป็นสูตรสำเร็จ ไม่ได้มีลักษณะ feel good แบบต้นร้าย ปลายดี ตัวละครพบเผชิญปัญหา เอาชนะอุปสรรค มีโอกาสได้เรียนรู้เข้าใจชีวิต จนเกิดแง่คิดคติธรรมในบั้นปลาย จนกลายเป็นการเกิดใหม่ทางจิตวิญญาณ และใช้ชีวิตถัดจากนั้นอย่างมีความสุข

เรื่องราวใน Olive Kitteridge สะท้อนภาพความเป็นไปต่างๆ ในชีวิตแบบที่มันควรจะเป็นและสมจริง ตัวละครเจอวิกฤตในชีวิต บางอย่างก็สามารถแก้ไขสำเร็จลุล่วง บางอย่างยิ่งแก้ก็ยิ่งหนักหนาสาหัสบานปลายกว่าเดิม บางการเรียนรู้และเข้าใจชีวิตก็เกิดขึ้นจริง แต่ทำไม่ได้ในทางปฏิบัติ ด้วยข้อจำกัดด้านนิสัยใจคอที่เป็นอยู่ บางอย่างก็เป็นความเข้าใจต่อเมื่อเหตุการณ์นั้นผ่านเลยไปแล้ว และไม่อาจย้อนชีวิตกลับไปสะสางจัดการ

ขออนุญาตเล่าซ้ำกับเมื่อคราวที่พูดถึงนิยายเรื่องนี้ใน ‘ความน่าจะอ่าน’ นะครับ ตอนนั้นผมให้เหตุผลที่เลือกเรื่องนี้ไว้ว่า “เป็นหนังสือที่พูดถึงความเป็นไปของชีวิต ความซับซ้อนของชีวิต ความยากของการมีชีวิต ความสุขและความทุกข์ในการมีชีวิต และความพยายามที่จะมีชีวิตและทำความเข้าใจชีวิต”

ขยายความเพิ่มเติมว่า มันพูดถึงธรรมชาติและลำดับขั้นที่มนุษย์ต้องเจอะเจอ คือความชราภาพ โรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน การสูญเสียพลัดพราก (ทั้งโดยความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานและการล้มหายตายจาก) ความโดดเดี่ยวเคว้งคว้างในวันที่ชีวิตแทบไม่เหลือเป้าหมายใดให้ทำ ไม่มีสิ่งใดให้ยึดเหนี่ยว

ถัดมาคือการเล่าถึงมิตรภาพ ความสัมพันธ์ ความรักระหว่างผู้คน ซึ่งเจือปนกันอย่างสลับซับซ้อนระหว่างหลายความรู้สึก มีทั้งความรัก ความเกลียด ความเบื่อหน่าย ความเข้าใจ ไม่เข้าใจ ความอดทน การยอมรับ ความขัดแย้ง ไม่ได้แยกขาดจากกันอย่างเด็ดขาด หรือมีเฉพาะด้านบวกสวยงาม ด้านลบเลวร้ายเพียงอย่างเดียว แต่มาครบทั้งแพ็คเกจ

ในทำนองเดียวกัน นิยายเรื่องนี้ก็แสดงให้เห็นว่าชีวิตมีด้านโหดร้าย การมีชีวิตเป็นเรื่องยากลำบากมากขึ้นตามลำดับ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อยิ่งแก่เฒ่า) เหมือนการสะสมบาดแผลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่พร้อมๆ กันนั้น มันก็มีความสุขหลอมรวมอยู่ในสิ่งต่างๆ เหล่านั้น มีทั้งที่สามารถตระหนักทราบได้ง่าย และมีทั้งที่ไม่ทันเฉลียวใจสังเกตเห็น ต่อเมื่อพบกับความสูญเสียใหม่ๆ จึงย้อนรำลึกนึกได้ถึงแง่งามความสุขที่เคยมี

ที่สำคัญกว่านั้น นิยายเรื่องนี้บอกกล่าวกับผู้อ่าน (ในลักษณะเล่าแจ้งแสดงให้รู้ แต่ไม่สั่งสอนชี้นำ) ว่าท่ามกลางชีวิตอันยากเข็ญเป็นทุกข์ ถึงที่สุดแล้ว ทุกคนก็ต้องอยู่ให้รอดและผ่านมันไปให้ได้

ดังได้กล่าวมาแล้วนะครับว่า เรื่องสั้นจำนวน 13 เรื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับโอลีฟ คิตเตอริดจ์ อีกส่วนหนึ่งซึ่งมีปริมาณมากพอๆ กัน เล่าเรื่องของตัวละครอื่นที่ไม่ใช่ตัวหลัก

แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้หลากเรื่องเล่าเหล่านี้ มีความเป็นหนึ่งเดียวกันก็คือ มันเล่าถึงความสัมพันธ์ที่มีปัญหา การสูญเสียผู้เป็นที่รัก คนที่ตายจากและความเจ็บปวดของผู้ที่ยังอยู่ ตรงนี้ทำให้ผมนึกชอบว่าเนื้อหาต่างๆ ที่กล่าวมา หรือความเป็นไปในชีวิตนั้น ไม่ใช่สิ่งที่จำเพาะเจาะจงว่าต้องเกิดขึ้นกับโอลีฟ คิตเตอริดจ์เท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกๆ คน ทุกๆ ชีวิต (ไม่เว้นแม้กระทั่งเราท่านที่เป็นคนอ่าน มันอาจจะไม่เหมือนหรือตรงกันเป๊ะในรายละเอียด แต่ภาพรวมกว้างๆ แล้ว ทุกคนล้วนอยู่ในครรลองเดียวกัน)

เท่าที่เล่ามา อาจทำให้ท่านที่ยังไม่ได้อ่านและยังไม่เคยดูมินิซีรีส์เข้าใจคลาดเคลื่อนไปได้ว่า Olive Kiteridge เป็นผลงานที่หดหู่หม่นหมอง ดูแล้วจิตตกซึมเศร้า จริงๆ แล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้นนะครับ

ใช้คำว่ามันแสดงถึงรสชาติของชีวิตแบบครบรส มีหมดทุกอารมณ์ความรู้สึก หวานขมสุขเศร้า ซาบซึ้งประทับใจ บาดลึกสะเทือนอารมณ์ เจ็บปวด ขบขัน

แต่ที่ดีเยี่ยมคือ เมื่อติดตามจนจบแล้วก่อให้เกิดความหวัง ความอิ่มเอมใจ กระตุ้นเตือนให้พินิจพิจารณาชีวิตได้รัดกุมถี่ถ้วนขึ้น และรักถนอมการมีชีวิตและใช้ชีวิต

งานศิลปะใดๆ ก็ตามที่ทำให้ผมรู้สึกถึงเพียงนี้ อ่านจบแล้วก็ทำได้สถานเดียวแหละครับ คือกราบคนเขียนงามๆ ด้วยความขอบคุณจากใจ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save