พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย เรื่อง
เทคโนโลยีใหม่ป่วนธุรกิจเก่า
เรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคที่เทคโนโลยีใหม่กำลังค่อยๆ “disrupt” หรือสร้างความปั่นป่วนให้กับการทำธุรกิจและบริการแบบเก่าในหลายอุตสาหกรรม โฉมหน้าของธุรกิจและการแข่งขันกำลังเปลี่ยนไป แต่ดูเหมือนคนที่อาจจะตามไม่ทันคือภาครัฐ ทั้งเรื่องของกฎหมาย กฎระเบียบ และการกำกับดูแล จนหลายคนเริ่มสงสัยกันแล้วว่า กฎระเบียบหลายๆ อย่างที่มีอยู่นั้นมีไว้ทำไม มีหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคหรือผู้ประกอบการกันแน่
ข่าวดังหลายข่าวในช่วงหลังล้วนเกี่ยวพันกับเรื่องเทคโนโลยีใหม่ป่วนธุรกิจเก่า ไล่ตั้งแต่ เรื่องการล่อซื้อรถที่ให้บริการผ่านอูเบอร์ หรือ การล่อซื้อและสั่งห้ามให้บริการรถจักรยานยนต์ผ่าน “แกร็บไบค์” และ “อูเบอร์โมโต” รวมถึงบริการเช่าที่พักอย่าง Airbnb หรือแม้แต่การจับผู้ผลิตเบียร์คราฟท์ที่เพียงต้องการทำเบียร์รสชาติใหม่
สินค้าและบริการเหล่านี้นับได้ว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ที่สุ่มเสี่ยงต่อการขัดกับกฎหมายปัจจุบัน แน่นอนว่าทางการต้องนั่งยันว่าของพวกนี้ผิดกฎหมาย เพราะกฎหมายไม่ได้อนุญาตไว้ และยืนยันว่าจะจับให้หมด
เรื่องนี้คงไม่เป็นประเด็นแน่ ถ้าผู้บริโภคเห็นด้วยว่าสินค้าและบริการเหล่านี้เป็นสิ่ง “ไม่ดี” เอาเปรียบผู้อื่น ก่อให้เกิดอันตรายและไม่ควรนำมาใช้ แต่หลายคนที่เคยได้ใช้สินค้าและบริการเหล่านี้กลับรู้สึกว่า สินค้าและบริการเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ เพราะคุณภาพดีขึ้น ราคาถูกลง และมีการแข่งขันมากขึ้น ถ้าเช่นนั้น สินค้าและบริการใหม่ๆ เหล่านี้ “ควร” จะผิดกฎหมายหรือไม่?
และกฎระเบียบต่างๆ ควรจะถูกปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์และมีเป้าหมายเพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภคหรือไม่?
คิดใหม่เรื่องอูเบอร์
ลองมาดูกรณีศึกษาเรื่อง “อูเบอร์” ดูนะครับ
“อูเบอร์” เป็นผู้ให้บริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชั่น ทำให้คนที่ต้องการใช้บริการรถเจอกับคนที่มีรถได้สะดวกขึ้น คนเรียกรถสามารถรู้ทันทีว่ามีรถพร้อมบริการอยู่ใกล้ๆ หรือไม่ สามารถระบุลักษณะรถ หมายเลขทะเบียน ชื่อ เบอร์ติดต่อ รูปคนขับ และอัตราค่าโดยสารโดยประมาณได้ทันที สามารถจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตโดยไม่ต้องพกเงินสด ผู้ใช้ทราบทันทีว่าใครจะมารับและจะมาเมื่อไร นอกจากนั้น ผู้ใช้บริการยังสามารถเลือกที่จะจ่ายแพงขึ้นถ้าต้องการได้รถที่ขนาดใหญ่ขึ้นหรือมีความหรูหราเพิ่มขึ้นได้อีกด้วย
หลักการสำคัญของโมเดลธุรกิจของอูเบอร์คือการใช้ระบบแบ่งปันทรัพยากร และการกำจัดตัวกลาง คนขับสามารถนำรถส่วนตัวของตัวเองมาให้บริการในเวลาที่ไม่ได้ใช้รถ คนขับสามารถเลือกที่จะให้บริการหรือไม่ก็ได้ เพราะทราบตั้งแต่แรกว่าคนเรียกจะไปไหน
ในหลายประเทศ อูเบอร์เป็นบริการที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะตอบโจทย์ผู้ใช้ และเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ จนกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของผู้ให้บริการรถแท็กซี่ดั้งเดิม ที่มักรวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง จนมีการประท้วง และถูกห้ามให้บริการในหลายประเทศ
การถกเถียงเรื่องการห้ามอูเบอร์ให้บริการในประเทศไทยจึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจแต่อย่างใด และสะท้อนให้เห็นแนวคิดและทัศนคติของรัฐต่อนวัตกรรมใหม่ที่กำลังเขย่าระบบธุรกิจแบบเก่า
รัฐอาจจะต้องกลับมาทบทวนว่า จุดประสงค์ของกฎระเบียบแต่ละเรื่องคืออะไร และจะทำอย่างไรเพื่อให้เกิด level playing field หรือการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างผู้เล่นรายใหม่กับผู้เล่นรายเก่า และทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้บริโภค
เพราะสุดท้ายแล้วสาเหตุสำคัญที่รัฐต้องเข้าไปบังคับและตั้งกฎเกณฑ์ต่างๆ ในแต่ละธุรกิจ ก็คือการรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภค การป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคมีความเสี่ยงและอันตรายจากการใช้บริการ และการรักษาเสถียรภาพของระบบ
ในอดีต อาจมีเหตุผลว่าทำไมรถสาธารณะจึงควรแยกออกจากรถทั่วไปอย่างชัดเจน เช่น ใช้ป้ายเหลือง ทาสีแฟนซีต่างๆ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้ใช้บริการที่เรียกจากข้างถนนแน่ใจได้ว่า รถที่ตัวเองกำลังจะขึ้นนั้น เป็นรถที่ปลอดภัย มีการขึ้นทะเบียน มีการตรวจสภาพ และทำประกันภัยอย่างครบถ้วน คนขับต้องแสดงบัตรประจำตัวให้เห็นว่าได้ทำตามกฎระเบียบเรียบร้อยแล้ว
แต่ปัจจุบัน เทคโนโลยีสามารถทำให้ผู้ใช้บริการสามารถระบุรถและคนขับได้ล่วงหน้าตั้งแต่เริ่มเรียกใช้บริการและรถยังมาไม่ถึง การบังคับให้รถที่ให้บริการต้องจดทะเบียนเป็นรถรับจ้างสาธารณะอาจจะมีความจำเป็นลดลง เพราะผู้ใช้บริการสามารถตรวจสอบว่า รถที่มารับนั้นตรงตามที่ระบุไว้ในระบบหรือไม่ และคนขับเป็นคนเดียวกันหรือไม่
แล้วทางเลือกที่เหมาะสมในการกำกับดูแลของรัฐควรจะเป็นเช่นไร?
รัฐอาจจะบังคับให้ผู้ให้บริการ (เช่น อูเบอร์) เป็นผู้ตรวจสอบว่ารถที่นำมาให้บริการนั้น ทำตามกฎระเบียบต่างๆ เหมือนกับมาตรฐานของรถยนต์รับจ้างทั่วไปหรือไม่ (เช่น ขนาดเครื่องยนต์ อายุของรถ การทำประกันภัย การติดฟิล์มกรองแสง การตรวจสภาพรถ ฯลฯ) และบังคับให้คนขับรถปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านความปลอดภัย เช่น การตรวจประวัติอาชญากรรม การทำบัตรแสดงตนให้คนใช้บริการเห็นอย่างชัดเจน รัฐสามารถกำกับและเรียกเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมจากผู้ให้บริการ ให้สอดคล้องกับผู้ให้บริการรายเดิม และห้ามไม่ให้รถแบบนี้รับผู้โดยสารจากข้างถนนแบบรถแท็กซี่ทั่วไป
ถ้าทำได้เช่นนี้แล้ว รถที่ให้บริการก็จะถูกกำกับด้วยมาตรฐานเดียวกันกับรถแท็กซี่ทั่วไป ในขณะที่ยังสามารถรักษาหลักการสำคัญของโมเดลธุรกิจในการแบ่งปันทรัพยากรได้อีกด้วย ถ้าผู้ให้บริการอย่างอูเบอร์ปฏิเสธในการปฏิบัติตาม จึงค่อยสั่งปิด ก็ยังได้
ไม่เช่นนั้นเราคงต้องถามตัวเองว่า ทำไมผู้บริโภคจึงต้องถูกบังคับให้ใช้บริการรถแท็กซี่ สภาพย่ำแย่ บางทีแอร์เสียบ้าง เรียกไปบ้างไม่ไปบ้าง แถมกำลังจะขึ้นราคาอีกด้วย ทำไมไม่ปล่อยให้เกิดการแข่งขันเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภค
รัฐกำกับดูแลทำไม
รัฐกำกับดูแลเพื่อใคร – เพื่อผู้บริโภค หรือ เพื่อผู้ประกอบการรายเดิม
ถ้าเราดูตัวอย่างของประเทศสิงคโปร์ที่มีแท็กซี่วิ่งอยู่บนถนนจำนวนมาก และสหภาพแท็กซี่ก็ค่อนข้างเข้มแข็ง ประธานาธิบดี ลี เซียน ลุง เคยให้ความเห็นว่า มีความจำเป็นที่สิงคโปร์จะต้องเปิดรับนวัตกรรมและพยายามสร้างบรรยากาศการแข่งขันที่เท่าเทียมและสนับสนุนให้ผู้เล่นรายเดิมปรับตัวรับการแข่งขัน ซึ่งเป็นทัศนคติที่เปิดกว้างและน่าสนใจ
ในกรณีของ Airbnb แอปยอดฮิตในการจองที่พัก ที่ทำให้ผู้ให้บริการรายเล็ก รวมถึงเจ้าของบ้านที่มีห้องว่างสามารถให้บริการห้องพักได้ ก็กำลังเขย่าธุรกิจวงการโรงแรม จนมีการล็อบบี้เพื่อห้ามการให้บริการเช่นนี้ในหลายประเทศ โดยอ้างเหตุผลด้านความปลอดภัย (ซึ่งก็มีประเด็น) แต่ก็มีหลายประเทศที่เปิดรับ Airbnb เพื่อแก้ปัญหาห้องพักขาดแคลน ล่าสุด ญี่ปุ่นก็กำลังวางกฎระเบียบในการกำกับ airbnb ซึ่งเป็นทางออกที่น่าสนใจ และเป็นการทบทวนเหตุผลของการมีกฎระเบียบเพื่อควบคุมให้มีมาตรฐานเดียวกัน มากกว่าการปฏิเสธนวัตกรรม
จริงๆ แล้วประเด็นเหล่านี้ อาจจะคิดเลยไปได้ถึงกรณีนวัตกรรมด้านอื่น เช่น fintech ด้วย ถ้าผู้กำกับนโยบายอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อยู่เฉยๆ ปฏิเสธการมีอยู่ของนวัตกรรมใหม่ๆ ยึดติดแต่กฎหมายปัจจุบัน ก็สามารถทำได้ แต่จะทำให้ผู้บริโภคขาดโอกาสในการรับบริการที่ดีกว่า ทำให้ผู้ประกอบการในประเทศขาดประสิทธิภาพ ไม่สามารถแข่งขันได้กับเทคโนโลยีใหม่ และอาจเกิดช่องว่างที่นำไปสู่ความเสี่ยงของระบบได้ในที่สุด
ผู้กำหนดนโยบายและผู้กำกับดูแลจึงต้องหาสมดุลระหว่างการรักษาประโยชน์และความปลอดภัยของผู้บริโภค การสนับสนุนให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรม และการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมใหม่ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าและบริการที่ดีที่สุด ไม่ใช่การรักษาผลประโยชน์ของผู้ประกอบการรายเดิมเท่านั้น