fbpx
ชนชั้นนำเก่าในระบอบประชาธิปไตยใหม่

ชนชั้นนำเก่าในระบอบประชาธิปไตยใหม่

จันจิรา สมบัติพูนศิริ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ในบทความชิ้นก่อน ข้าพเจ้าพาท่องโลกวิชาการ ซึ่งศึกษาบทบาทและที่ทางของชนชั้นนำในปรากฏการณ์สองอย่างของประชาธิปไตยคลื่นลูกที่สาม ได้แก่ (1) เหตุที่ชนชั้นเผด็จการและอำนาจนิยมยอมเปลี่ยนสู่ประชาธิปไตย (ยอมลงจากอำนาจเพราะฐานสนับสนุนอ่อนแอหรือเข็มแข็ง) และ (2) วิถีทางที่ชนชั้นนำเปลี่ยนมาสมาทานระบอบประชาธิปไตย (สามวิถีได้แก่ ตกลงกันในหมู่ชนชั้นนำด้วยกันเอง ถูกชนชั้นนำปีกก้าวหน้าและมวลชนกดดัน และถูกมวลชนโค่นล้มจากอำนาจ)

บทความชิ้นนี้พยายามตอบคำถามอีกข้อหนึ่ง ซึ่งมีความสำคัญในการศึกษาเรื่องระบอบประชาธิปไตยและชนชั้นนำ นั่นคือ ‘ชนชั้นนำระบอบเก่า’ (old regime elites)ไปไหน เมื่อเกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย

คำตอบโจทย์นี้สัมพันธ์กับงานวิจัยกลุ่มที่สอง ว่าด้วยวิถีหรือโหมดของการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย กล่าวคือนักวิชาการด้านประชาธิปไตยในยุโรปตะวันออก ชี้ว่าโหมดแบบ eventful democratization หรือพลังประชาชนโค่นล้มเผด็จการ มักสร้างเงื่อนไขที่กันมิให้ชนชั้นนำเก่าสืบทอดอำนาจได้ โดยปราศจากการท้าทายจากกลุ่มการเมืองอื่นๆ ดังที่เกิดในสาธารณรัฐเช็ก และเซอร์เบีย เป็นต้น[1]

ทั้งนี้ มิใช่ว่าชนชั้นนำเก่าจะออกจากเกมการเมืองไปเสียทีเดียว แต่ว่าไม่สามารถคุมกติกาและรวบอำนาจ รวมถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่จะค้ำจุนอำนาจทางการเมืองของกลุ่มตนไว้ได้อีกต่อไป นอกจากนี้ ชนชั้นนำฝ่ายค้าน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย กลายเป็นผู้ท้าทายอำนาจชนชั้นนำเก่าในการเลือกตั้ง นักวิชาการกลุ่มนี้จึงฟันธงว่า eventful democratization เป็นปัจจัยสำคัญให้เกิดการหมุนเวียนเปลี่ยนถ่ายชนชั้นนำ (elite circulation)[2]

ในทางกลับกัน นักวิชาการด้านประชาธิปไตยในลาตินอเมริกา และกลุ่มประเทศในอดีตสหภาพโซเวียต ระบุว่าการตกลงกันเองระหว่างชนชั้นนำหรือ elite pact มักเปิดโอกาสให้ชนชั้นอำนาจนิยมเก่า คุมฐานอำนาจตนในระบอบประชาธิปไตยใหม่ได้ โดยมุ่งหมายหาทางคืนสู่อำนาจ กระบวนการนี้เรียกว่า ‘การผลิตซ้ำชนชั้นนำ’ (elite reproduction)[3] ฐานอำนาจที่ว่านี้มีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการวางคนของตนในตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งไม่ต้องผ่านกระบวนการเลือกตั้ง เช่น ศาล ตำรวจ กองทัพ หรือคณะกรรมการ ‘องค์กรอิสระ’ รวมถึงบอร์ดกิจการของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ[4]

นอกจากนี้ ก่อนลงจากอำนาจ ชนชั้นนำเก่ายังพยายามมีบทบาทในการร่างรัฐธรรมนูญให้ได้มากที่สุด เพื่อรักษาที่นั่งในสภาของตนและพรรคพวก (ในกรณีที่รัฐธรรมนูญใหม่ระบุให้มีการสำรองที่นั่งสำหรับ ‘ผู้ทรงคุณวุฒิ’ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการเลือกตั้ง) งานชิ้นสำคัญของ Michael Albertus และ Victor Menaldo สำรวจกรณีทั่วโลก ซึ่งเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นปี 2000 โดยกรณีที่ชนชั้นนำเก่ามีบทบาทในการร่างรัฐธรรมนูญ พบว่าในจำนวนนี้กว่าร้อยละ 41 ชนชั้นนำเก่ายื้อรั้งอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจตนได้ แม้จะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยแล้วก็ตาม เช่นที่เกิดในบราซิล และชิลี เป็นต้น[5]

อีกประเด็นหนึ่งคือ โอกาสที่ชนชั้นนำเก่าจะรับโทษทัณฑ์จากการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสมัยที่ตนครองอำนาจก็มีน้อยมาก เมื่อเทียบกับกรณีการเปลี่ยนผ่านที่มีมวลชนเป็นกลไกสำคัญ[6]

การคงอำนาจของชนชั้นนำเก่าในระบอบประชาธิปไตยใหม่ สร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘อาณาบริเวณนอกระบบ’ (reserve domain) อันส่งผลขัดขวางการพัฒนาประชาธิปไตยวัยกระเตาะให้เข้มแข็ง เพราะกลุ่มอำนาจนอกระบบอาจใช้อิทธิพลแทรกแซงการตัดสินใจเชิงนโยบายใดๆ ของรัฐบาลใหม่ ซึ่งต้องการเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจเดิมที่เกื้อหนุนชนชั้นนำเก่า[7] นอกจากนี้ ชนชั้นนำเก่าอาจร่วมกับตัวละครอื่นๆ ซึ่งต้านประชาธิปไตย (antisystem actor) เพื่อโค่นล้มหรือลดทอนคุณภาพระบอบประชาธิปไตย[8] ท้ายที่สุดประชาธิปไตยที่กระท่อนกระแท่นอาจถดถอย กลายเป็นระบอบผสม (hybrid regime) ระบอบอำนาจนิยมเชิงแข่งขัน (competitive authoritarianism) หรือกระทั่งล่มสลายเปลี่ยนกลับไปสู่อำนาจนิยม[9]

อย่างไรก็ดี งานศึกษาขณะนี้ยังมีความเห็นต่างกันออกไปว่า โหมดการเปลี่ยนสู่ประชาธิปไตยแบบ ‘ลูกครึ่ง’ คือชนชั้นนำปีกก้าวหน้าผสานพลังกับมวลชน ส่งผลต่อชะตากรรมของชนชั้นนำเก่าหรือไม่อย่างไร

ผู้เชี่ยวชาญจากโปแลนด์และฮังการี ซึ่งเปลี่ยนสู่ประชาธิปไตยด้วยโหมดนี้ ชี้ว่าเกิดการหมุนเวียนถ่ายเปลี่ยนชนชั้นนำหรือ elite circulation เพราะชนชั้นนำเก่าซึ่งอยู่ใต้พรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต ไม่ได้รับความนิยมจากการประชาชนมากนัก จึงมักแพ้การเลือกตั้ง ในกรณีที่ตัวแทนจากชนชั้นนำเก่าได้รับการเลือกตั้ง (เช่นที่เกิดในโปแลนด์เมื่อปี 1995 หรือสโลวีเนียเมื่อปี 1988 และ 1995 เป็นต้น) พบว่าคนเหล่านี้ปรับตัวให้เข้ากับกติกาประชาธิปไตย เช่นการเลือกตั้ง แม้ว่าอาจไม่จำเป็นต้องปรับทัศนคติให้เห็นด้วยกับคุณค่าเสรีนิยมประชาธิปไตย ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า ‘การปรับสภาพของชนชั้นนำเก่า’ (elite adaptation)[10]

นอกจากนี้ นักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่งยังเห็นว่ามีเงื่อนไขอื่นๆ อีก นอกจากโหมดในการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยแล้ว ที่ส่งผลให้ชนชั้นนำเก่าอยู่หรือไป เช่น ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ซึ่งอย่างไรเสียก็อำนวยให้ชนชั้นนำกุมอำนาจทางเศรษฐกิจไว้ได้ ดังนั้นย่อมแทรกแซงการตัดสินใจเชิงนโยบายของรัฐบาลเลือกตั้งใดๆ ที่อาจส่งผลลบต่อฐานอำนาจตน[11] หรือโครงสร้างรัฐ รวมถึงรูปแบบการปกครอง ที่เอื้อให้ชนชั้นนำเก่าสามารถธำรงเครือข่ายอำนาจในการเมืองท้องถิ่นได้[12]

ในวาระดิถีที่การเลือกตั้งไทยจะมาถึงนี้ คำถามที่พวกเราประชาชนคนไทยอาจต้องถามตัวเองให้ลึกๆ คือภายหลังการเลือกตั้ง จะทำอย่างไรกับชนชั้นนำอำนาจนิยม ผู้ไม่ยอมแบ่งปันอำนาจกับกลุ่มการเมืองอื่นๆ โดยเล่นแร่แปรธาตุออกแบบระบอบการเมืองหลังการเลืองตั้ง เพื่อเอื้อให้ตนยังรวบอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจไว้ได้ต่อไป

 


[1] Donatella della Porta, Where did the Revolution Go?: Contentious Politics and the Quality of Democracy (Cambridge: Cambridge University Press, 2016); Jonathan Pinckney, When Civil Resistance Succeeds: Building Democracy After Popular Nonviolent Uprisings (Washington DC: International Center for Nonviolent Conflict, 2018).

[2] ดู Eva Etzioni-Halevy, “Democratic-elite theory: Stabilization versus breakdown of democracy,” European Journal of Sociology 31(2) (1990): 317-350; Iván Szelényi and Szonja Szelényi, “Circulation or Reproduction of Elites during the Postcommunist Transformation of Eastern Europe: Introduction,” Theory and Society 24(5) (1995): 615-638; Jacek Wasilewski, “Elite circulation and consolidation of democracy in Poland,” paper presented for the conference “Democracy, Markets and Civil Societies in Post-1989 Central Europe,” Harvard University, May 17-19, 1996.

[3] ดู Elena Semenova, “Continuities in the Formation of Russian Political Elites,” Historical Social Research 37(2) (2012): 71-90; Gerald M. Easter, “Preference for Presidentialism: Postcommunist Regime Change in Russia and the NIS,” World Politics 49(2) (1997): 184-211; Michael McFaul, “The Fourth Wave of Democracy and Dictatorship: Noncooperative Transitions in the Postcommunist World,” World Politics 54(2) (2002): 212-244.

[4] Adam Przeworski, Democracy and the Market: Political and economic reforms in Eastern Europe and Latin America (Cambridge: Cambridge University Press, 1991); Terry Lynn Karl, “Petroleum and Political Pacts,” Latin America Research Review 22(1987): 63-94.

[5] Michael Albertus and Victor Menaldo, Authoritarianism and the Elite Origins of Democracy (Cambridge: Cambridge University Press, 2018); Michael Albertus, “The Fate of Former Authoritarian Elites Under Democracy,” Journal of Conflict Resolution XX(X) (2018): 1-33. ดูเพิ่มเติมใน Gabriel Negretto, “Choosing How to Choose Presidents,” Journal of Politics 68 (2006): 421-33; Kevin Theakston and Jouke de Vries, eds. Former Leaders in Modern Democracies (New York: Palgrave Macmillan, 2012).

[6] Kathryn Sikkink and Carrie Booth Walling, “The Impact of Human Rights Trials in Latin America,” Journal of Peace Research 44(4) (2007): 427-445; António Pinto, Costa and Leonardo Morlino, Dealing with the Legacy of Authoritarianism: The Politics of the Past in Southern European Democracies (London: Routledge, 2011)

[7] J. Samuel Valenzuela, “Democratic Consolidation in Post-Transitional Settings: Notion, Process, and Facilitating Conditions,” Working Paper no. 150 (December 1990), Kellogg Institute, https://kellogg.nd.edu/publications/workingpapers/WPS/150.pdf; Juan J. Linz and Alfred Stepan, Problems of Democratic Transition and Consolidation (Baltimore: Johns Hopkins University Press, 1996), 67.

[8] Juan J. Linz, The Breakdown of Democratic Regimes: Crisis, Breakdown, and Reequilibration (Baltimore: Johns Hopkins University Press, 1978), 28-38.

[9] Larry Diamond, “Thinking about Hybrid Regimes,” Journal of Democracy 13(2) (2002): 21-35; Steven Levitsky and Lucan A. Way, Competitive Authoritarianism: Hybrid Regimes after the Cold War (Cambridge: Cambridge University Press, 2010); Terry Lynn Karl, “The Hybrid Regimes of Central America,” Journal of Democracy 6(3) (1995): 72-83.

[10] Daniel Stevens, Benjamin G. Bishin and Robert R. Barr, “Authoritarian attitudes, democracy, and policy preferences among Latin American elites,” American Journal of Political Science 50(3) (2006): 606–620; Hajdeja Iglič and Andrej Rus, “From Elite Reproduction to Elite Adaptation: The Dynamics of Change in Personal Network of Slovenian Elites,” Druzboslovne Razprave 16 (2000): 181-197.

[11] Acemoglu, Daron and James A. Robinson. 2008. “Persistence of Power, Elites and Institutions.” American Economic Review 98(1): 267-293; Stephen Haggard and Robert R. Kaufman, Dictators and Democrats: Masses, Elites and Regime Change (Princeton: Princeton University Press, 2016).

[12] ดูตัวอย่างเช่น Monica Martinez-Bravo, Priya Mukherjee, and Andreas Stegmann, “The Non-Democratic Roots of Elite Capture: Evidence from Soeharto Mayors in Indonesia,” The Econometic Society 85(6) (2017): 1991-2010.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save