fbpx
โลกาภิวัตน์เก่า+ชาตินิยมใหม่ คือทางแก้ไขโลกปั่นป่วน?

โลกาภิวัตน์เก่า+ชาตินิยมใหม่ คือทางแก้ไขโลกปั่นป่วน?

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

สองทศวรรษที่ผ่านมาของศตวรรษที่ 21 เต็มไปด้วยความโกลาหล เปิดฉากด้วยเหตุการณ์ 9/11 (2001) คลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย (2004) วิกฤตเศรษฐกิจโลก (2007-2008) ตามมาด้วยปัญหาการเมืองอย่างการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (2016) และสงครามการค้าที่พัวพันแนบแน่นกับเทคโนโลยีและความมั่นคง (2018-2019)

เกิดภาวะ ‘Double polarisation’ ที่ความขัดแย้งบานปลายทั้งในประเทศและต่างประเทศไปพร้อมกัน

เริ่มมีข้อถกเถียงถึงการจัดระเบียบโลกใหม่เพื่อลดความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจและการเมือง หนึ่งในข้อเสนอที่น่าสนใจคือ การกลับไปหาโลกาภิวัตน์แบบเก่า พร้อมกับสร้างชาตินิยมแบบใหม่

เพราะเห็นว่าโลกาภิวัตน์แบบที่เป็นอยู่นั้นล้นเกินและปิดกั้น ในขณะที่ชาตินิยมไม่ควรเป็นเครื่องมือของฝ่ายขวาสุดโต่งดังที่เป็นอยู่

ถึงจะยังห่างไกลจากฉันทามติ แต่ก็เป็นข้อเสนอที่เปิดประเด็นสำคัญหลายประการ

 

มาตรฐานทองคำและสงครามโลก

 

การจัดระเบียบเศรษฐกิจโลกในศตวรรษที่ 20 มีวิวัฒนาการจาก (1) ระบบมาตรฐานทองคำ มาสู่ (2) ระบบเบรตตันวูดส์ และ (3) ไฮเปอร์โลกาภิวัตน์

ระบบมาตรฐานทองคำ (Gold Standard) เป็นกลไกจัดการเศรษฐกิจโลกตั้งแต่ทศวรรษ 1870 จนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองในทศวรรษ 1940

ภายใต้ระบบนี้ มูลค่าของธนบัตรจะอ้างอิงกับโลหะมูลค่าสูงอย่างทองคำหรือแร่เงิน เราสามารถนำธนบัตรมาแลกเปลี่ยนเป็นทองคำได้ ธนาคารของแต่ละประเทศจึงต้องสำรองทองคำไว้ค่อนข้างสูง เช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ เคยเก็บทองคำไว้เป็นมูลค่าสูงถึงร้อยละ 40 ของมูลค่าเงินที่พิมพ์ออกไป

ระบบมาตรฐานทองคำทำให้ประเทศที่เข้าร่วมต้องผูกอัตราแลกเปลี่ยนของตนกับราคาทองคำ เปิดเสรีรับเงินลงทุนจากต่างประเทศ และยึดแนวนโยบายการคลังแบบสมดุล ไม่ว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจการเมืองในประเทศอย่างไร

เมื่อเศรษฐกิจภายในประเทศเกิดปัญหาอย่างราคาสินค้าเกษตรตกต่ำหรือผู้คนตกงาน รัฐบาลจึงไม่ค่อยมีอิสระในการใช้มาตรการการเงินการคลังอย่างทันท่วงที

เช่นเมื่ออังกฤษเผชิญภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทั้งเจ้าของธุรกิจและแรงงานต่างเรียกร้องให้รัฐบาลลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่หากรัฐบาลลดดอกเบี้ยลงก็จะทำให้เงินทุนไหลออก บีบให้รัฐบาลต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่าง ‘เศรษฐกิจภายใน’ กับ ‘เศรษฐกิจระหว่างประเทศ’

พรรคแรงงานซึ่งเป็นรัฐบาลขณะนั้นตัดสินใจเลือกปากท้องคนอังกฤษเหนือกติการะหว่างประเทศ และถอนตัวออกจากระบบมาตรฐานทองคำในปี 1931 จากนั้นรัฐบาลเดโมแครตของสหรัฐอเมริกาก็ถอนตัวตามในสองปีต่อมา ระบบมาตรฐานทองคำจึงค่อยๆ ลดความสำคัญลง

 

เบรตตันวูดส์และยุคทองของทุนนิยม

 

ระเบียบเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ปี 1944 ฝ่ายสัมพันธมิตรจัดประชุมที่เมือง เบรตตันวูดส์ (Bretton Woods) ของสหรัฐฯ

จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ สถาปนิกการเงินสรุปบทเรียนยุคมาตรฐานทองคำว่า การยึดการค้าการลงทุนระหว่างประเทศเป็นสรณะ ไม่คุ้มกับผลเสียที่เกิดกับเศรษฐกิจภายในของแต่ละประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเศรษฐกิจภายในปั่นป่วน การเมืองระหว่างประเทศก็จะพลอยวุ่นวายตามไปด้วย

ระบบเบรตตันวูดส์จึงให้อิสระแต่ละประเทศในการกำหนดนโยบายการเงินการคลังของตัวเอง โดยสามารถจำกัดการเคลื่อนไหวของเงินทุนจากต่างประเทศได้ ผ่านมาตรการอย่าง capital control และการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน

ปรัชญาเบื้องหลังเบรตตันวูดส์คือความเชื่อว่า วิธีกระตุ้นการค้าการลงทุนระหว่างประเทศที่ดีที่สุดคือการเปิดพื้นที่ให้แต่ละประเทศสามารถจัดการเศรษฐกิจของตนเองได้ตามสถานการณ์

นอกจากการตั้งไอเอ็มเอฟเพื่อให้เงินกู้ยืมระยะสั้นแก่ประเทศที่ประสบวิกฤตดุลการชำระเงิน และธนาคารโลกเพื่อช่วยฟื้นฟูภาวะหลังสงครามในประเทศต่างๆ แล้ว ก็ยังมีการกำหนดกฎการค้าระหว่างประเทศอย่างกว้างๆ ผ่านข้อตกลง GATT (General Agreement on Tariffs and Trade)

ภายใต้ระเบียบเศรษฐกิจนี้ ไม่ว่าประเทศร่ำรวยหรือประเทศกำลังพัฒนาก็สามารถเลือก ‘เปิดประเทศ’ ได้ตามความเหมาะสมของสภาวะเศรษฐกิจการเมืองภายใน

มาตรการเปิดเสรีที่ตกลงระหว่างประเทศก็ตีกรอบไว้ที่การลดภาษีศุลกากรและโควตานำเข้า หากเกิดปัญหาก็ต่อรองเป็นกรณีไป เช่น เมื่อครั้งอุตสาหกรรมสิ่งทอในเอเชียรุ่งเรือง ส่งออกไปตีตลาดสหรัฐฯ และยุโรปได้มหาศาลจนทำให้คนในประเทศเหล่านั้นตกงาน ก็มีการต่อรองกันเพื่อกำหนดโควตาการนำเข้า ช่วยบรรเทาแรงเสียดทานของการเมืองภายในไปได้

Bretton Woods + GATT จึงเป็นระเบียบโลกที่มีความยืดหยุ่น เป็น ‘ecosystem’ ที่เอื้อต่อการสร้างรัฐสวัสดิการในยุโรปและการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศยากจน

ช่วงเวลาสามทศวรรษระหว่างปี 1945-1973 ได้รับการขนานนามเป็น ‘ยุคทองของทุนนิยม’ (Golden Age of Capitalism)

สหรัฐฯ เติบโตร้อยละ 2.5 ต่อปี ยุโรปโตร้อยละ 4.1 ญี่ปุ่นโตร้อยละ 8.1 เกิดประเทศอุตสาหกรรมใหม่จำนวนมากในเอเชีย เสถียรภาพด้านผลผลิตและการจ้างงานสูงเป็นประวัติการณ์

ฮาโรลด์ แมคมิลแลน นายกรัฐมนตรีของอังกฤษถึงกับกล่าวว่า “You never had it so good.”

 

โลกาภิวัตน์แบบสุดโต่งหรือสมเหตุสมผล

 

ทุนนิยมโลกพลิกผันอีกครั้งในทศวรรษ 1970 ด้วยวิกฤตน้ำมันและเศรษฐกิจถดถอยที่มาพร้อมเงินเฟ้อ

ผู้สนับสนุนโลกาภิวัตน์สุดโต่งหรือที่ ดานี รอดริก (Dani Rodrik) ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เรียกว่า Hyperglobalist ใช้ความสำเร็จของเบรตตันวูดส์เพื่อผลักวาระใหม่ของตนเอง โดยชี้ว่าหากโลกาภิวัตน์ที่เกิดขึ้นในยุคที่ผ่านมาทำให้ชีวิตผู้คนทั่วโลกดีขึ้น เรายิ่งควรเชื่อมโยงโลกให้มากขึ้นกว่านี้อีก เพื่อสร้างโลกเสรีที่ทุนและผู้คนเคลื่อนย้ายได้โดยไร้ข้อจำกัด

นับจากปลายทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา โลกาภิวัตน์จึงกลายมาเป็นเป้าหมายในตัวของมันเอง ในขณะที่เศรษฐกิจภายในประเทศเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อสร้างโลกไร้พรมแดนในฝัน

ตามวิธีคิดนี้ ปัญหาเศรษฐกิจภายในต้องแก้ไขผ่านกติการะหว่างประเทศ อันเป็นหลักการเก่าที่เคยใช้ในยุคมาตรฐานทองคำ

‘ความเชื่อมั่นของนักลงทุน’ กลายเป็นมนตราใหม่ในการชี้วัดความสำเร็จของนักการเมืองและผู้ว่าการธนาคารกลาง

แต่ผู้สูญเสียงานและโอกาสในชีวิตจากระเบียบเศรษฐกิจใหม่แทบไม่ได้รับการชดเชยหรือสนับสนุนการปรับตัวตามหลักการชดเชยความเสียหาย (compensation principle) ที่ถูกใช้สร้างความชอบธรรมให้กับการเปิดเสรี

ความเหลื่อมล้ำที่ถ่างขึ้นกลายเป็นเชื้ออย่างดีให้กับนักการเมืองฝ่ายขวาสุดโต่งและระบอบเผด็จการ

จากพระเอกในยุคทองหลังสงคราม โลกาภิวัตน์กลายมาเป็นผู้ร้ายแห่งศตวรรษที่ 21

แต่การแก้ปัญหาที่เกิดจากโลกาภิวัตน์ ไม่ได้มีทางเลือกแค่การปิดประเทศหรือการใช้มาตรการตาต่อตาฟันต่อฟันกับคู่แข่งทางการค้าเท่านั้น

รอดริกเสนอให้เรานำหลักการโลกาภิวัตน์แบบเบรตตันวูดส์กลับมาใช้อีกครั้ง

แน่นอนว่าการกลับไปหาระเบียบเบรตตันวูดส์แบบเต็มตัวเป็นไปไม่ได้แล้ว การใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ หรือการควบคุมเงินทุนระหว่างประเทศมากเกินไปย่อมสร้างปัญหาอีกแบบหนี่ง

สิ่งที่โลกในศตวรรษที่ 21 ต้องการคือ โลกาภิวัตน์ที่สมเหตุสมผล

เราควรย้อนกลับไปหาหลักการพื้นฐานของเบรตตันวูดส์ซึ่งยืนยันว่า เศรษฐกิจภายในประเทศควรได้รับความสำคัญเป็นลำดับแรก ทั้งประเทศร่ำรวยและประเทศกำลังพัฒนาควรได้รับอิสระในการดำเนินนโยบายมากกว่าที่เป็นอยู่

กรอบการเจรจาการค้าระหว่างประเทศจำเป็นต้องมี แต่ควรเป็นกรอบพหุภาคีที่มีความยืดหยุ่น เปิด ‘พื้นที่นโยบาย’ ให้กับประเทศกำลังพัฒนาในการจัดการกฎระเบียบด้านเงินอุดหนุน ทรัพย์สินทางปัญญา และการเคลื่อนย้ายเงินลงทุน

ประเทศตะวันตกเองก็ควรมีสิทธิในการรับมือการแข่งขันทางการค้าที่รุนแรงด้วยมาตรการปกป้องชั่วคราว เพราะการโยกย้ายหรือปรับทักษะแรงงานต้องอาศัยเวลาในการดำเนินงาน

นี่คือข้อเสนอฝั่งเศรษฐกิจให้กลับไปหาหลักการ ‘โลกาภิวัตน์เก่า’ แบบเบรตตันวูดส์เพื่อจัดการกับภาวะโลกปั่นป่วน

 

ผลข้างเคียงของการเมืองอัตลักษณ์

 

ในฝั่งการเมือง ประเด็น ‘การเมืองเชิงอัตลักษณ์’ หรือ identity politics เป็นศูนย์กลางของข้อถกเถียง

แม้หลังสงครามโลกครั้งที่สองประชาธิปไตยจะหยั่งรากในโลกตะวันตกแล้ว แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกว่ายังไม่ได้รับสิทธิและพื้นที่อย่างเป็นธรรมในระบอบหนึ่งคนหนึ่งเสียง โดยเฉพาะคนผิวสี สตรี ชนกลุ่มน้อย ผู้อพยพ กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

การรวมตัวเพื่อเรียกร้องสิทธิของแต่ละกลุ่มกลายเป็นพลังทางสังคมที่ทวีความสำคัญขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา ต่อยอดจากสิทธิของกลุ่มบุคคลมาเป็นการต่อสู้เชิงประเด็น อาทิ สิ่งแวดล้อม สิทธิสัตว์

ผนวกกับการถดถอยของลัทธิคอมมิวนิสต์ ทำให้หัวใจการเคลื่อนไหวของ ‘ฝ่ายก้าวหน้า’ หรือ ‘ฝ่ายซ้าย’ เคลื่อนย้ายจากการต่อสู้ทางชนชั้นมาเป็นการสนับสนุนการเมืองเชิงอัตลักษณ์แทน

การเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นการตอบสนองที่สมเหตุสมผลและเข้าใจได้ เพราะช่วยเปิดเผยด้านมืดหลายอย่างที่สังคมประชาธิปไตยเคยกดทับกีดกันไว้

อย่างไรก็ดี เริ่มมีการประเมินถึง ‘ผลข้างเคียง’ จากกระแสการเมืองอัตลักษณ์มากขึ้น

เพราะเมื่อฝั่งการเมืองปรับตัวไปโอบรับและออกนโยบายเพื่อตอบสนองกลุ่มอัตลักษณ์เป็นหลัก ชนชั้นแรงงานและสหภาพ หรือที่เรียกรวมๆ ว่า old working class รวมถึงกลุ่มผู้ด้อยโอกาสแต่ไม่มีแรงดึงดูดกระแสสังคมอย่างคนชนบทหรือครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว กลับกลายเป็นผู้ถูกละเลยไป โดยเฉพาะในประเทศที่มีระบบการเมืองสองพรรคใหญ่อย่างสหรัฐฯ และอังกฤษ

นักการเมืองฝ่ายขวานำประเด็นนี้ไปจุดต่อเพื่อปลุกระดมให้แรงงานและคนที่ถูกละเลยไปในการเมืองอัตลักษณ์รู้สึกว่าเป็น ‘เหยื่อ’ ที่ถูกสื่อกระแสหลักและนักการเมืองหัวก้าวหน้าทอดทิ้ง

พร้อมกันนั้นก็ปลุกกระแส ‘ชาตินิยม’ ให้กลับมาอีกครั้ง ดังเช่นที่โดนัลด์ ทรัมป์ หาเสียงในปี 2016 ด้วยสโลแกน “Make America Great Again.”

นอกจากกระแสตอบโต้ของฝ่ายขวาแล้ว การ ‘เฟรม’ ประเด็นของการเมืองอัตลักษณ์เองที่เน้นการแบ่งแยกกลุ่มย่อย (separate identities) ก็ถูกวิจารณ์ว่ามีส่วนลดทอนพลังการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใหญ่ของสังคมไปโดยไม่ตั้งใจ

เพราะผู้นำประเทศหรือรัฐราชการสามารถ ‘บรรจุ’ ประเด็นย่อยๆ เหล่านี้ โดยไม่ต้องจัดการกับปัญหาที่ใหญ่กว่านั้น

เช่น เมื่อนักศึกษาในสหรัฐฯ รวมตัวเรียกร้องสิทธิให้กับสตรีและชนกลุ่มน้อยในช่วงทศวรรษ 1980 มหาวิทยาลัยชั้นนำก็สามารถ ‘รับลูก’ ได้ทันควัน ด้วยการเพิ่มวิชาบังคับเกี่ยวกับสตรีและชนกลุ่มน้อย หรือเพิ่มสัดส่วนผู้บริหารที่เป็นผู้หญิงและคนผิวสี โดยไม่ต้องจัดการกับเรื่องโครงสร้างที่ยากกว่านั้นอย่างการเพิ่มสัดส่วนนักศึกษาที่มีพื้นฐานครอบครัวหลากหลาย หรือบทบาทในการสนับสนุนการเลื่อนสถานะทางสังคมของผู้มีรายได้น้อย

การเมืองเชิงอัตลักษณ์จึงมีทั้งคุณค่าในตัวเองและผลข้างเคียงที่ไม่คาดคิด

 

ชาตินิยมใหม่

 

เราจะรับมือกับกระแสชาตินิยมสุดโต่งอย่างไร ยืนกรานการเมืองอัตลักษณ์ มุ่งเน้นคุณค่าสากล หรือหวนกลับไปเรื่องชนชั้น?

ยูลิ ทาเมียร์ (Yuli Tamir) ผู้เป็นทั้งนักปรัชญาการเมืองและเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีของอิสราเอลหลายกระทรวงเสนอให้สู้กับชาตินิยมสุดโต่งด้วยชาตินิยมแบบใหม่ที่สมเหตุสมผลและเปิดกว้างไปพร้อมกัน ดังที่เธอเรียกว่า Liberal Nationalism

ชาตินิยมแบบเก่าแห่งศตวรรษที่ 20 หมายถึงแสนยานุภาพที่ทรงพลังของกองทัพและการเชิดชูเชื้อชาติของตนเองให้สูงส่ง จนนำไปสู่สงครามและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ทาเมียร์เสนอว่าชาตินิยมเป็นเครื่องมือทรงพลังที่สามารถสร้างผลดีมหาศาล หากเราสามารถนิยามชาตินิยมใหม่ด้วยเป้าหมายที่ก้าวหน้า เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างคนในชาติให้ก้าวข้ามกำแพงที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่างชนชั้น สถานะ หรืออายุ

ชาตินิยมสามารถปรับ ‘หน่วยมองโลก’ ของแต่ละคน จากปัจเจกหรือเครือข่ายใกล้ตัวให้ขยายกว้างไกลออกไปเข้าอกเข้าใจเพื่อนร่วมชาติมากขึ้น

ยิ่งโลกเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนเท่าใด ความไว้เนื้อเชื้อใจและความรู้สึกร่วมกันของประชาชนยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นเท่านั้น

เธอเสนอว่ายุทธศาสตร์อื่นๆ ไม่มีพลังพอที่จะต้านทานชาตินิยมสุดโต่งได้ ไม่ว่าจะเป็นการเมืองอัตลักษณ์ วัฒนธรรมท้องถิ่นนิยมหรือภูมิภาคนิยม เพราะถึงแม้กรอบเหล่านี้อาจส่งผลดีระยะสั้น แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาระยะยาวได้ ทั้งยังอาจเพิ่มความแตกแยกในสังคมให้มากขึ้น

‘ค่านิยมสากล’ อย่างรัฐธรรมนูญหรือหลักสิทธิมนุษยชนก็เช่นกัน แม้จะเป็นแนวทางที่มีคุณค่าในตัวเองที่เราต้องยืนยัน แต่ก็ยังเกี่ยวข้องโดยตรงกับชีวิตผู้คนน้อยเกินไปที่จะมาคานกับกระแสขวาสุดโต่ง

ต้องสู้กับชาตินิยมแบบเก่าด้วยชาตินิยมแบบใหม่

ชาตินิยมใหม่ต้องยอมรับชนกลุ่มน้อยและผู้เห็นต่างทางวัฒนธรรม อย่างไรก็ดี ข้อจำกัดที่สำคัญของชาตินิยมคือ เราไม่สามารถสร้าง ‘ชุมชนจินตกรรม’ (imagined community) ที่ทั้งมีความหมายกับผู้คนและเปิดกว้างได้พร้อมกัน ยิ่งพยายามทำให้ชุมชนหนึ่งมีคุณค่ากับสมาชิกในชุมชนมากเท่าใด ก็ยิ่งทำให้การเปิดรับทำได้ยากขึ้นตามไปด้วย

ถึงกระนั้น ชาตินิยมก็ยังมีศักยภาพในการสร้างความร่วมมือทางสังคมและการเมืองระหว่างปัจเจก เพื่อเป้าหมายส่วนรวมและเพื่อกระจายความเสี่ยงอย่างเป็นธรรม

ทาเมียร์ยกตัวอย่างการปฏิรูปขนานใหญ่ของสหรัฐฯ หลังมหาวิกฤตเศรษฐกิจปี 1929 ด้วยโครงการ ‘นิว ดีล’ (New Deal) ซึ่งรัฐเข้ามาควบคุมตลาดหลักทรัพย์อย่างเข้มงวด แยกธุรกิจธนาคารพาณิชย์ออกจากวาณิชธนกิจ มีระบบคุ้มครองเงินฝาก ประกันราคาสินค้าเกษตรขั้นต่ำ ออกกฎหมายประกันสังคม และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

ประธานาธิบดีรูสเวลต์ตระหนักดีว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ย่อมมีผู้ต่อต้านและเสียผลประโยชน์ไม่น้อย ทั้งยังขัดกับ ‘คุณค่าแบบอเมริกัน’ ที่รังเกียจรัฐอยู่เป็นทุนเดิม

รูสเวลต์จึงต้องเดินสายสื่อสารกับประชาชนและกลุ่มธุรกิจต่างๆ เพื่ออธิบายความจำเป็นของนิวดีล ในฐานะ ‘สัญญาประชาคมใหม่’ (new social contract) ระหว่างรัฐกับประชาชน ธุรกิจ แรงงาน เกษตรกรและระหว่างประชาชนกลุ่มต่างๆ

สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ด้อยโอกาสว่านิวดีลจะช่วยเกื้อหนุนความใฝ่ฝันและโอกาสในชีวิตของพวกเขาอย่างไร ในขณะเดียวกันก็ชักจูงให้ชนชั้นนำเห็นว่า การรักษาโครงสร้างเดิมที่มีปัญหานั้น ‘ไม่เป็นอเมริกัน’ (un-American) อย่างไร

ทาเมียร์ยังเสนอต่อว่า เราต้องเปลี่ยนดีเบตประเด็นที่ละเอียดอ่อน (เช่น การรับผู้อพยพลี้ภัย) จากการเถียงกันว่าดีหรือไม่ดีอย่างไร (pro and con) มาเป็นเรื่องของ​ ‘ระดับ’ (degree)

เช่น ขณะนี้สังคมของเราพร้อมรับความหลากหลายได้ระดับไหน โดยที่ยังรักษาความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้อยู่? ควรทำภายใต้เงื่อนไขใดบ้าง? ใครจะเป็นผู้รับภาระของการเปลี่ยนแปลงนโยบาย และพอจะแบ่งภาระดังกล่าวให้คนส่วนใหญ่ยอมรับได้หรือไม่?

 

ชาตินิยมกับเสรีนิยม

 

น่าสนใจว่าข้อเสนอชาตินิยมใหม่นั้นไม่ได้ขัดกับหลักการ ‘เสรีนิยม’ ซะทีเดียว

นิตยสารที่เป็นหัวหอกเสรีนิยมอย่าง The Economist เองก็ยอมรับว่า หลักการเสรีนิยมในปัจจุบันถูกนำไปใช้อย่างบิดเบือน

หากย้อนกลับไป ณ จุดเริ่มต้นในปี 1843 The Economist วางจุดยืนของตนเองต่างจากทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายอนุรักษนิยมอย่างชัดเจน ด้วยการประกาศในด้านหนึ่งว่า เสรีนิยมปฏิเสธแนวทางของขบวนการปฏิวัติที่บังคับปัจเจกให้จำนนต่ออุดมการณ์ของคนอื่น ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธแนวทางอนุรักษนิยมที่ยึดมั่นในช่วงชั้นทางสังคมและการปกครองของชนชั้นนำ

เสรีนิยมที่แท้จริงต้องยึดมั่นในประสิทธิภาพ เสรีภาพทางเศรษฐกิจ เชื่อมั่นว่าความก้าวหน้าของมนุษย์เกิดจากการถกเถียงและการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป

นายธนาคารที่เชิดชูตลาดและด่าทอรัฐต่อสาธารณะ แต่กวักมือให้รัฐเอาภาษีประชาชนมาช่วยเหลือทุกครั้งยามเกิดปัญหาย่อมไม่ใช่เสรีนิยมที่แท้ แต่เป็นเพียงผู้ฉวยโอกาสนำอุดมการณ์มาบังหน้าผลประโยชน์

คำแถลงเนื่องในวาระ 175 ปีของนิตยสาร The Economist ปี 2018 ยังประกาศว่า ผู้สนับสนุนเสรีนิยมต้องหยุดเย้ยหยันชาตินิยม แต่ควรเสนอชาตินิยมในรูปแบบของตัวเองเพื่อเปิดให้ผู้คนสามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งอย่างภาคภูมิ

นักประวัติศาสตร์อย่าง ยูวัล แฮรารี (Yuval Harari) ผู้เขียนหนังสือ Sapiens ก็เสนอว่า “In the twenty-first century, good nationalists should be globalists.”

เพราะปัญหาใหญ่ๆ ของศตวรรษที่ 21 อย่างสงครามนิวเคลียร์ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี ล้วนต้องอาศัยความร่วมมือระดับโลกเพื่อการันตีความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองระดับชาติทั้งสิ้น

ดาบสองคมและปมของไทย

 

ถึงแม้ข้อเสนอ โลกาภิวัตน์เก่า + ชาตินิยมใหม่ จะยังห่างไกลจากฉันทามติ แต่ก็เปิดประเด็นสำคัญหลายประการ

แก่นของข้อเสนอนี้คือการบอกว่า เราไม่ควรมองโลกาภิวัตน์และชาตินิยมว่ามีแบบเดียว หรือปล่อยให้เป็นเครื่องมือของฝ่ายขวาสุดโต่งเท่านั้น

หากมองชาตินิยมว่ามีแบบเดียว วิธีต่อกรคงมีเพียงการนำคุณค่าอื่นมาต่อสู้เพื่อแทนที่ (replacement) เท่านั้น

แต่หากเรามองโลกาภิวัตน์และชาตินิยมว่าเป็น ‘สนามแห่งการช่วงชิงความหมาย’ แนวทางหลักจะอยู่ที่การพยายามนิยาม Big ideas ทั้งสองเสียใหม่ (redefinition)

หากนิยามใหม่มีพลังเพียงพอและสถานการณ์อำนวย การปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ที่สามารถขับเคลื่อนสังคมไปสู่สมดุลอำนาจเศรษฐกิจ-การเมืองใหม่อย่าง ‘นิวดีล’ ก็สามารถเกิดขึ้นได้

อย่างไรก็ดี ทั้งโลกาภิวัตน์และชาตินิยมต่างก็เป็น ‘ดาบสองคม’ ที่ทรงอานุภาพ

มีอำนาจโน้มน้าวผู้คน แต่ก็มีพลังทำลายล้างรุนแรงดังที่ประวัติศาสตร์สอนเราซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ทั้งโลกาภิวัตน์และชาตินิยมต่างก็มีความหมายและตำแหน่งแห่งที่ในแต่ละสังคมไม่เหมือนกัน ผ่านการใช้และตีความไปตามประสบการณ์เฉพาะตัว

ต่อให้ยอมรับว่าหัวใจของการแก้ไขความปั่นป่วนแห่งศตวรรษที่ 21 อยู่ที่การแสวงหาระเบียบโลกาภิวัตน์และคุณค่าชาตินิยมที่เหมาะสม แต่ละสังคมก็มีความยืดหยุ่นต่อการแสวงหาความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนแปลงไม่เท่ากัน

แล้วสังคมไทยยืดหยุ่นพร้อมปรับตัวกับความปั่นป่วนของโลกแค่ไหน

แค่ลองแปลโจทย์โลกาภิวัตน์กับชาตินิยมออกมาเป็นภาษาไทยว่า [ ความเป็นไทยคืออะไร + แล้วต้องสนใจโลกแค่ไหน] คุณก็จะได้คำตอบ

 


อ้างอิง

– Dani Rodrik (2019) “Globalization’s Wrong Turn and How It Hurt America”, Foreign Affairs, 98(4): 26-33.

– Ha-Joon Chang (2014) เศรษฐศาสตร์ (ฉบับทางเลือก). แปลโดย วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร, สำนักพิมพ์ Bookscape (2562).

– Francis Fukuyama (2018) Identity: The Demand for Dignity and the Politics of Resentment. New York: Farrar, Straus and Giroux.

– Yuli Tamir (2019) Why Nationalism. Princeton: Princeton University Press.

– The Economist (2018) “The Economist at 175: A Manifesto for Renewing Liberalism”

– Yuval Noah Harari (2019) “The Bright Side of Nationalism.” Lecture at the Central European University, 8 May, Budapest, Hungary.

 

MOST READ

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save