fbpx
โออิวะอินาริ ศาลเจ้าผีเรื่องแต่ง แม่นาคแห่งกรุงโตเกียว

โออิวะอินาริ ศาลเจ้าผีเรื่องแต่ง แม่นาคแห่งกรุงโตเกียว

ธีรภัทร เจริญสุข เรื่องและภาพ

 

โออิวะอินาริ ศาลเจ้าผีแม่นาคโตเกียว

 

ในย่านยตสึยะของโตเกียว ห่างจากชินจูกุที่ครึกครื้นเพียงไม่กี่สถานี มีศาลเจ้าเก่าแก่แห่งหนึ่งตั้งอยู่ใกล้กับศาลเจ้าสุงะที่โด่งดังจากการเป็นฉากอนิเมะเรื่อง Your Name ศาลแห่งนี้เป็นที่ร่ำลือว่าได้ปิดผนึกดวงวิญญาณของผีทวงแค้นที่เฮี้ยนที่สุดตนหนึ่งของญี่ปุ่น ‘โออิวะ’

เรื่องของผีแม่นางโออิวะนี้ เล่าขานไว้ในเรื่อง ‘ยตสึยะไคดัน’ 四谷怪談 เรื่องผีหลอกวิญญาณหลอนที่ขึ้นชื่อลือชาที่สุดเรื่องหนึ่งของญี่ปุ่น ด้วยความสยองขวัญ เคียดแค้น ทรยศหักหลัง วางแผนซ่อนเงื่อนและโศกนาฏกรรมของครอบครัวคหบดีที่อาศัยอยู่ในย่านยตสึยะของนครหลวงเอโดะ ออกแสดงในละครคาบุกิเมื่อปี 1825 ได้รับความนิยมล้นหลามอย่างยิ่งจนเล่าขานสืบต่อมา ดัดแปลงเป็นสื่อต่างๆ ไม่ขาดสายจนปัจจุบัน

โออิวะ เป็นธิดาของคหบดีตระกูลค้าข้าว นางหลงรักกับทามิยะ อิเอมอน โรนินหนุ่มไร้นายที่มีเบื้องหลังลึกลับ เธออยากจะแต่งงานกับอิเอมอน แต่ว่ายตสึยะ ซามอน ผู้เป็นบิดาไม่เห็นด้วย เนื่องจากสงสัยในตัวของอิเอมอนที่ไม่รู้หัวนอนปลายเท้า แต่ไม่นานนัก ซามอนก็ถูกสังหารด้วยฝีมือฆาตกรลึกลับ ซึ่งอิเอมอนได้ตามล่าและฆ่าผู้ต้องสงสัย ล้างแค้นให้แก่โออิวะ นางจึงประทับใจในตัวอิเอมอนและยอมแต่งงานด้วยพร้อมกับยกสมบัติของตระกูลให้อิเอมอนปกครอง

 

ไคดัน ศิลปะการเล่าเรื่องผี ในหน้าร้อนญี่ปุ่นเป็นเวลาของการแสดงเล่าเรื่องผีและทดสอบความกล้า

 

หากทว่าต่อมา อิเอมอนกลับแสดงธาตุแท้ความเหลวแหลก ผลาญสมบัติของโออิวะและตระกูลยตสึยะเสียสิ้น เมื่อนางตั้งครรภ์และทรุดโทรมลง ข้างบ้านของโออิวะและอิเอมอนเป็นบ้านของหมอยาที่อาศัยอยู่กับ โออุเมะ หลานสาวที่สวยสดงดงามกว่า โออุเมะถูกใจอิเอมอนและรบเร้าอยากแต่งงานกับเขา อิเอมอนจึงได้วางแผนมอบเครื่องประทินผิวทาหน้าให้แก่โออิวะ โดยแสร้งว่าเป็นยาบำรุงผิวหน้าให้กลับมาผ่องใสดังเดิม แต่ที่จริงแล้วกลับเป็นยาพิษที่ทำให้นางเสียโฉม ผิวหน้าพุพองราวกับผี เพื่อให้นางยอมหย่าขาดกับตนในที่สุด

อิเอมอนเมื่อเห็นหน้าพุพองสยองขวัญของโออิวะก็ยิ่งเกลียดชัง และวางแผนหาเรื่องหย่าร้างกับนาง โดยให้ทาคุเอะสึ เพื่อนโรนินแกล้งเข้าไปข่มขืนโออิวะเพื่อกล่าวหาว่านางคบชู้สู่ชาย แต่เมื่อทาคุเอะสึได้เห็นหน้าที่เสียโฉมไป เขาก็หมดใจจะย่ำยีโออิวะ แล้วเล่าเรื่องทั้งหมดให้นางฟัง รวมทั้งเรื่องที่ว่าอิเอมอนเป็นผู้สังหารบิดาของนางเพื่อจะครอบครองสมบัติและได้แต่งงานกับโออิวะด้วย เขายังยกกระจกให้นางส่องดูหน้าตนเอง เมื่อโออิวะเห็นหน้าพุพองของตนและฟังเรื่องการทรยศหักหลังของสามีที่แสนร้าย นางจึงขยุ้มหัวกระชากผมจนหลุดร่วงเลอะเลือดและหนอง ก่อนจะใช้ดาบของอิเอมอนซึ่งเคยฆ่าบิดาตนเชือดคอทีละน้อย พร้อมสาปแช่งทั้งอิเอมอนและโออุเมะให้ตายอย่างสยดสยองที่สุดจนกระทั่งลมหายใจสุดท้ายท่ามกลางกองเลือด

หลังการตายของโออิวะ อิเอมอนและโออุเมะก็เข้าพิธีแต่งงานกันด้วยความชื่นมื่น แต่ในคืนแรกของวันวิวาห์นั่นเอง เมื่ออิเอมอนตื่นมาในยามดึก โออุเมะผู้แสนงามที่นอนเคียงข้าง ก็กลับกลายเป็นใบหน้าของนางผีพุพองช้ำเลือดเกรอะหนองร้องสาปแช่ง อิเอมอนแตกตื่นแล้วใช้ดาบฟาดฟันนางผีโออิวะ แต่แล้วก็กลับกลายเป็นว่าเขาได้สังหารเจ้าสาวใหม่หมาดของตัวเอง เมื่อเขาย่างเท้าออกไปที่ไหน ก็เห็นแต่ผีโออิวะไล่ตามหลอกหลอนไปทุกหนแห่ง จนไปถึงที่พักแรมบนภูเขาลึกและถูกกลืนกินเข้าไปในโลกแห่งความมืดที่แยกไม่ออกระหว่างความจริงกับโลกวิญญาณที่โออิวะตามหลอกหลอน

ด้วยเรื่องราวความเฮี้ยนของผีแม่นางโออิวะ จึงเชื่อกันว่า ศาลเจ้าทามิยะโออิวะอินาริที่ยตสึยะ ถูกสร้างไว้เพื่อสะกดวิญญาณหลอนของโออิวะไม่ให้ออกมาอาละวาดหลอกหลอนทำร้ายผู้คน เช่นเดียวกับที่อิเอมอนถูกตามหลอกหลอนจนเป็นบ้าตายไป

เรื่องราวของโออิวะถูกเล่าซ้ำ นำมาทำละครคาบุกิหลายครั้ง ซึ่งมีการดัดแปลงบท ทำเป็นนิยาย และภาพยนตร์ ส่งผลต่อการเล่าเรื่องผีในญี่ปุ่นมาก ถือว่าเป็นเรื่องผีอันดับต้นๆ ที่คนญี่ปุ่นต้องรู้จัก ไม่ต่างไปจาก ‘แม่นาคพระโขนง’ ของไทย โดยเฉพาะในเดือนสิงหาคมอันเป็นเดือนของเทศกาลโอบ้ง ชาวญี่ปุ่นมักเล่นทดสอบความกล้าและเล่าเรื่องผีในสถานที่ที่เลื่องชื่อด้านภูตผีวิญญาณ

 

รวมเรื่องราวผีโออิวะจากหนังสือต่างๆ และใบปิดละครคาบุกิ

 

แต่เรื่องจริงนั้น กลับไม่ได้เป็นอย่างที่คนเล่าขานกันมา

ทามิยะ โออิวะ เป็นธิดาคหบดีที่มีชื่อเสียงในราวปี 1636 ยุค 200 ปีก่อนหน้าที่ละครคาบุกิจะเริ่มแสดง พ่อค้าซามอนเป็นคหบดีที่ประสบความสำเร็จในการค้า และอิเอมอนก็เป็นซามูไรที่ได้รับความเคารพ ชีวิตสมรสของโออิวะราบรื่นและมีความสุข การค้าในยุคของโออิวะประสบความสำเร็จ กิจการที่นางและอิเอมอนรับสืบทอดจากบิดาก็มั่งคั่งร่ำรวยจนสามารถสร้างวัดและศาลเจ้าอินาริขึ้นบูชาได้ ในยามชรา โออิวะได้สร้างพระรูปพระโพธิสัตว์คันนงจำลองใบหน้าของนางไว้แทนตัว และประดิษฐานไว้ที่วัดยาคุชิโยอุนจิ เมื่อนางสิ้นลมอย่างสงบ ชาวบ้านร้านตลาดต่างมากราบไหว้บูชาพระโพธิสัตว์โออิวะคันนงและศาลเจ้าโออิวะอินาริเพื่อให้ชีวิตการค้าราบรื่นสำเร็จเหมือนดังเช่นนาง

 

โออิวะคันนง พระรูปโพธิสัตว์คันนงของโออิวะ

 

สึรุยะ นัมโบคุที่ 4 นักเขียนบทละครคาบุกิแห่งโรงละครนาคามุระ ใช้ฉากของศาลเจ้าโออิวะและเรื่องราวความรักต่างชนชั้นของโออิวะและอิเอมอน ผสมปนเปเข้ากับคดีฆาตกรรมสยองขวัญที่เป็นข่าวดังในยุคของเขา ประกอบกับความวุ่นวายในศักราชบุนเซ (ค.ศ. 1818-1830) ที่ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อค้ากับซามูไรตึงเครียด และสตรีเริ่มมีบทบาทปากเสียงในวงการค้า ฉายภาพความตกต่ำของชนชั้นซามูไร การทรยศหักหลังในความรักความชัง และการฆาตกรรมที่โหดเหี้ยมได้ถึงแก่น แต่การแต่งเรื่องของนัมโบคุนี้เอง ที่ทำให้ผู้คนเข้าใจผิดเรื่องราวของโออิวะต่อมายาวนานกว่า 200 ปี

 

วัดยาคุชิโยอุนจิ ซึ่งโออิวะตัวจริงสร้างขึ้นบูชาหลังประสบความสำเร็จด้านการค้า

 

จนกระทั่งมีการฟื้นฟูวัดยาคุชิและศาลเจ้าโออิวะอินาริหลังสงครามโลก และมีผู้สืบค้นเรื่องราวที่แท้จริงของโออิวะผู้ไม่ได้เป็นวิญญาณแค้นแสนสยดสยองเปิดเผยแก่สาธารณชนให้รับทราบอีกครั้ง และวัดยาคุชิโยอุนจิและศาลเจ้าโออิวะอินาริก็กลับมาได้รับความนับถือกราบไหว้ด้านความสำเร็จด้านการค้าดังเช่นเดิม โดยคณะกรรมการด้านการศึกษาของเทศบาลนครโตเกียวได้ตั้งป้ายเล่าเรื่องทั้งเรื่องแต่งและเรื่องจริงขึ้นที่หน้าศาลเป็นหลักฐานบรรยาย

นักเขียนนิยาย นักประพันธ์บทละคร อาจปลอมแปลงประวัติศาสตร์จนผู้คนเข้าใจเรื่องจริงปนเปกับเรื่องเล่า ทำให้คนมากมายหลงใหลไปกับเรื่องแต่งที่โลดโผน เรื่องราวสยองขวัญที่เล่าขานกันนานมาอาจไม่ได้มีอะไรไปมากกว่านิทานหรือละครที่แต่งขึ้นเพื่อความบันเทิงในยุคก่อนเก่า และไม่เคยมีเรื่องสยดสยองพองขนนั้นเกิดขึ้นจริงใดๆ เลย ดังเช่นเรื่องราวของยตสึยะไคดัน และผีโออิวะหน้าพุพองแสนเฮี้ยน ที่แท้จริงแล้วมีเพียงพระโพธิสัตว์โออิวะคันนงอิ่มบุญที่บันดาลพรความสำเร็จให้แก่ผู้มากราบไหว้บูชา การอ่านฟังเรื่องเล่าผีสางสยองขวัญจึงพึงเผื่อใจไว้ว่าเป็นเรื่องแต่งเสียเกินครึ่ง

ศาลเจ้าทามิยะโออิวะอินาริ (ศาลเดิม) และวัดยาคุชิโยอุนจิ สามารถเดินทางไปได้โดยลงรถไฟ JR สาย Chuo-Sobu สถานี Shinanomachi หรือรถไฟเมโทรสาย Marunouchi สถานี Yotsuya San-chome เดินต่อมาทางแยกซามอนโจ Samoncho เลี้ยวซ้ายเข้าซอยมีป้ายบอกทาง จะพบกับศาลเจ้าอินาริที่สว่างสงบสวยงาม และวัดบูรณะใหม่ทันสมัยร่มรื่นที่มีพระโพธิสัตว์คันนงซึ่งโออิวะสร้างไว้ประดิษฐานให้กราบขอพร โดยไม่มีกลิ่นอายของเรื่องสยองขวัญใดๆ แม้แต่น้อย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save