fbpx

โอ้แม่มหากวีศรีศตวรรษที่ 21 : ว่าด้วยการวิพากษ์ ‘แวดวงวรรณกรรมไทย’ และเรื่องราวอื่นๆ

“บ่ายวันนี้คุณระลึกได้ขณะล้างห้องน้ำว่าตัวเองเป็นนักเขียน จำไม่ได้หรอกว่าชาติที่แล้วเป็นอะไร แต่ชาตินี้ตอนบ่ายๆ คุณเสือกมั่นใจว่าตัวเองเป็นนักเขียน…” (หน้า 11)

“ตั้งแต่เพลโตแลโสเครตีสตายไปโลกก็ขาดนักคิดผู้ยิ่งใหญ่กระทั่งมารดาเบ่งคุณออกมาจากช่องคลอดนี่แหละ” (หน้า 15)

หากถามว่าผมชอบวรรณกรรมแนวไหนแบบไหนมากที่สุด ผมตอบได้ว่าผมชอบแนวเสียดสี จิกกัด ล้อเลียน บางทีอาจจะมาจากนิสัยส่วนตัวของผมก็ได้ที่ทำให้ผมรู้สึกว่าสื่อสารกับวรรณกรรมแนวนี้ได้มากที่สุด อีกเหตุผลหนึ่งเป็นเพราะผมรู้สึกว่าการเสียดสี จิกกัดและล้อเลียนมีหน้าที่ทางสังคมที่สำคัญอยู่หลายประการ เช่น การทำให้สิ่งที่ถูกทำให้เป็นที่เคารพสักการะ หรือเป็นที่ยอมรับร่วมกันในสังคมว่าดีนั้นถูกลดทอนสถานะความศักดิ์สิทธิ์ลงไป ไม่ใช่เพราะว่าผมไม่อยากเห็นอะไร ‘ดีเกินไป’ หรือ ‘ดีเกินหน้าเกินตา’ (เกินหน้าเกินตาอะไรหรือใครก็ไม่ทราบได้) แต่ผมคิดว่าอะไรก็ตามที่ศักดิ์สิทธิ์มากเกินไป มักจะมาพร้อมกับอำนาจในการกดขี่และกดหัวเราได้เช่นกัน

ในแวดวงวรรณกรรมไทยยุค ‘หลังสมัยใหม่’ (อันนี้คือการประชดและเสียดสี) มีงานวรรณกรรมจำนวนมากที่แสดงให้เห็นถึงการเสียดสีและวิพากษ์สถานะความเป็นวรรณกรรมของตัวเอง (คือผู้เขียนได้เปิดโปงและชี้ให้เห็นว่ากระบวนการในการเป็นเรื่องเล่าคืออะไร ความเป็นวรรณกรรมคืออะไรและมีอิทธิพลต่อผู้อ่านอย่างไรบ้าง หรือไปสัมพันธ์กับความเป็นจริงภายนอกตัวบทวรรณกรรมอย่างไร)

แต่ผมคิดว่าวรรณกรรมที่วิพากษ์และเสียดสี ‘แวดวงวรรณกรรมไทย’ ยังมีอยู่น้อยมากๆ จนบางครั้งก็รู้สึกว่ามีน้อยเกินไป (ผมอยากจะชี้ชวนให้อ่านเรื่องสั้นบางเรื่องใน “ดั่งเรือนร่างไร้องคาพยพ” ของภู กระดาษ และ “ลิงหินและเรื่องสั้นอื่นๆ” ของ ภาณุ ตรัยเวช) จนกระทั่งผมได้พบกับรวมเรื่องสั้นที่มีชื่อชวนให้ผมหยิบจับมากๆ นั่นคือ “โอ้แม่มหากวีศรีศตวรรษที่ 21” ของผู้เขียนที่ใช้นามปากกาว่า “นันดานี”

นันดานี

จากการหาข้อมูลในเบื้องต้นที่ปรากฏในเพจเฟซบุ๊กของสำนักพิมพ์ “นันดานี” เป็นนักเขียนชายที่ส่งผลงานทั้งเรื่องสั้นและบทกวีของเขาไปยังที่ต่างๆ เสมอ ในเว็บไซต์ของสำนักพิมพ์ [1] ยังปรากฏผลงานเรื่องสั้นและบทกวีของเขาอีกจำนวนหนึ่ง หลายเรื่องเป็นเรื่องสั้นที่อยู่ในรวมเรื่องสั้น “โอ้แม่มหากวีศรีศตวรรษที่ 21” เล่มนี้ เช่น “วิวรณ์” , “ในกายอื่น” และ “ความตายของป้ายโฆษณา (ป้ายหนึ่ง)” เรื่องสั้นแต่ละเรื่องที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ บางเรื่องเป็นเรื่องสั้นที่เคยตีพิมพ์มาแล้ว บางเรื่องเคยได้รับรางวัล เช่นเรื่อง “ส่งต่อ” ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในชื่อ “ร่างของอดีต” ได้รางวัลดีเด่นจาก Indy Short Story Award ในปี 2561

ผมพยายามตามสืบค้นข้อมูลของผู้เขียนจากเรื่องสั้น “โอ้แม่มหากวีศรีศตวรรษที่ 21” ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกใน “อ่าน คิด เขียน รวมบทวิจารณ์วรรณกรรมของนักเรียนวรรณกรรม เล่ม 2” ต่อมามีการปรับปรุงและตีพิมพ์อีกครั้งใน “วาระสมมติ หมายเลข 01 ว่าด้วยวรรณกรรม”

“อ่าน คิด เขียน รวมบทวิจารณ์วรรณกรรมของนักเรียนวรรณกรรม เล่ม 2” ได้ลงประวัติของเขาเอาไว้ในตอนท้ายของเรื่องสั้นว่า เคยได้รับรางวัลดีเด่นสาขาวรรณกรรมจากโครงการยุวชนศิลปินไทย (Young Thai Artists Award) ในปี 2558 และ 2559 นอกจากนี้นันดานียังมีผลงานตีพิมพ์เป็นรวมเรื่องสั้น “เท่าที่จำได้” ในนามปากกา “ฟองจันทร์” และยังมีผลงานเรื่องสั้นสยองขวัญอยู่ในเล่ม “โรงเรียนหลอนซ่อนวิญญาณ” และ “อาถรรพ์บริษัทสยอง” (นามปากกาฟองจันทร์เช่นกัน) อีกด้วย

ว่าด้วยการสาดน้ำร้อนใส่แวดวงวรรณกรรมไทย

รวมเรื่องสั้น “โอ้แม่มหากวีศรีศตวรรษที่ 21” แสดงให้เห็นถึงสายตาที่ทั้งเสียดสี ถากถาง ไม่แซะแต่สาดถ้อยคำสำรากบริภาษอย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะกับแวดวงวรรณกรรมไทย และเต็มไปด้วยพลังอันพลุ่งพล่านของภาษา ในส่วนของโครงเรื่องและวิธีการเล่าเรื่องมีเทคนิคทางวรรณกรรมกลมกลืนไปกับการเล่าเรื่องและตัวเรื่องอย่างแนบเนียน ไม่ได้พยายามชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างโลกของความเป็นจริงกับโลกของเรื่องแต่ง อันที่จริงแล้วผมว่านันดานีไม่ได้สนใจเสียด้วยซ้ำว่ามันจะเกี่ยวกันไหมหรือจะเกี่ยวกันอย่างไร หรือเราอาจพูดอย่างที่อารมณ์ของหนังสือเล่มนี้ได้ถ่ายทอดออกมาได้ว่า

“ช่างหัวแม่งความจริงความลวงนั่นประไร”

ในเรื่องสั้น “โอ้แม่มหากวีศรีศตวรรษที่ 21” นันดานีไม่ปรานีปราศรัยต่อการสาดน้ำร้อนใส่แวดวงวรรณกรรมไทยเลย เรื่องสั้นเรื่องนี้วิพากษ์… อันที่จริงแล้ว ผมคิดว่าเป็นการบริภาษต่อแวดวงวรรณกรรมไทยได้อย่าง ‘น่าฟัง’ เป็นที่สุด เพราะแวดวงวรรณกรรมไทยมีลักษณะบางอย่างที่ว่าจะก้าวหน้านำสมัยก็ไม่น่าจะใช่ หรืออาจจะใช่ครึ่งไม่ใช่ครึ่ง จะล้าหลังจนคร่ำครึก็เป็นไปได้ (เป็นไปได้มากกว่าอย่างแรก) บางครั้งก็ยืนอิหลักอิเหลื่ออยู่ตรงกลางระหว่างความล้ำยุคล้ำสมัยกับความล้าหลัง (กลับไม่ได้ไปไม่ถึงก็ว่าได้) หรือทัศนคติของนักเขียนบางคนก็เชื่อว่าตนเองกำลังทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่ และคิดว่าเป็นภาระอันหนักอึ้งที่จะต้องปลุกคนขึ้นมาจากความไม่รู้ด้วยงานเขียนของตน เช่นที่นันดานีเขียนเอาไว้ในเรื่องว่า  

“คุณเขียนบทความข้อคิดเห็นต่อสิ่งต่างๆ ต่อโลก ทั้งเรื่องคนพิการ ร้านกาแฟ ความรัก ปัญหาขยะ การเมือง หมา แมว รถสองแถว ตะกวด คุณวางตัวเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ผู้ต่างก็มีคำสอนมากมายมหาศาลอัดแน่นแล่นพล่านอยู่ในอก อยาก อยากเทศนากันจนหัวกระดึงสั่น ด้วยหวังดี อยากจะฉุดช่วยบัวเหล่าที่สี่ให้เกิดมีพุทธิปัญญาญาณขึ้นมาบ้างจากการอ่านงานเขียนอันทรงค่ามหาศาลของคุณ” (หน้า 14)

ท่าทีที่เรื่องสั้นเรื่องนี้มีต่อความขัดแย้งในแวดวงวรรณกรรมไทย โดยเฉพาะบรรดาวรรณกรรมสายจริงจังและมีทีท่าขึงขังต่อโลกใบนี้นั้นเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก เพราะได้ชี้ให้เห็นถึงสภาวะของแวดวงวรรณกรรมไทยที่กำลังอยู่ในสถานการณ์ ‘น่าเป็นห่วง’ อย่างยิ่ง 

“และคุณลองกดติดตามบรรดานักเขียนใหญ่ ด้วยคิดว่าอาจจะได้เทคนิคความรู้อะไรบ้าง แต่ก็ไม่เห็นมีอะไรเลยนอกจากการโพสต์ด่าฟาดปากกันไปมาถึงอุดมการณ์ทางการเมืองที่คุณยอมรับว่าไม่มีอารมณ์ร่วม วงการนี้แปลกๆ คล้ายต่างฝ่ายต่างพยายามช่วงชิงมาตรฐานความดีโดยมีบรรดาพรรคพวกลูกกระจ๊อกคอยเป็นสมุนปกป้ององค์จักรพรรดินักเขียน คอยยกคำยกการกระทำอันยิ่งใหญ่ไม่ย่อหย่อนไปกว่าวีรกรรมของมดงานตัวหนึ่งซึ่งสามารถลากซากแมลงขนาดใหญ่กว่าตัวมันกลับรวงรังได้ของประดานักเขียนที่นับถือเอามาอวดเอ่ยอยู่บ่อยๆ เพิ่งพาดพิงอิงแอบว่าฉันสนิทแนบชิดกับนักเขียนใหญ่ท่านนี้นะ กับนักคิดท่านนี้ กวี นักวิจารณ์ นักเขียนบทความกลุ่มนี้นะ และเขาก็เอ่ยแก่ฉันอย่างนี้และฉันก็เชื่อและปฏิบัติตามวัตรวิถีนี้ ไม่เหมือนพวกนี้พวกนั้น แม่งเอ๊ย!” (หน้า 17-18)

วิวาทะในแวดวงวรรณกรรมไทยมิใช่เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นเพียงเพราะปัญหาการเมือง แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาตลอดเวลา เพราะในเมื่อวรรณกรรมสัมพันธ์กับความคิดและสังคม ความไม่เห็นด้วยและความไม่ลงรอยต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติ แต่สิ่งที่เรื่องสั้นเรื่องนี้พยายามชี้ให้เห็นคือ สิ่งที่ผู้คนทะเลาะทุ่มเถียงกันนั้นเป็นสิ่งที่น่าขันเสียเหลือเกิน ดังที่เราจะเห็นได้จากการจับเอาวิวาทะมาปะทะกันในตัวเรื่อง เช่น 

” ‘คุณเริ่มสับสนกับถ้อยคำอีกมากอย่าง ‘งานวรรณกรรมอ่านยาก ชอบพูดเรื่องเครียดๆ ใช้ภาษาสูงๆ ทำไมไม่เขียนให้มันอ่านง่ายๆ ที่คนอ่านได้ทั่วไป’…’มึงพูดเหมือนกับว่าทำไมโลกนี้ไม่มีแต่น้ำเปล่าจะผลิตไวน์มาหาพระแสงอะไร มึงรู้จักความหลากหลายไหม คนที่อยากแดกไวน์ก็มีโว้ย’…’สงสารต้นไม้ที่ต้องกลายมาเป็นกระดาษนะคะ สงสารพิกเซลที่ต้องมาต่อเรียงเป็นตัวอักษร’…’น้ำเปล่าเหรอ งานพวกนั้นไม่ใช่น้ำเปล่าหรอก เขาเรียกน้ำเน่า อย่าว่าแต่ดื่ม แค่เห็นก็จะอ้วก’…’งานแต่ละประเภทเข้าถึงคนแต่ละกลุ่ม’-‘ถ้าคุณเอามาตรฐานความงามของทรงกลมไปตัดสินสามเหลี่ยม ต่อให้เป็นสามเหลี่ยมที่มีองศาเที่ยงตรงที่สุด สามเหลี่ยมนั้นก็ยังคงไม่ถูกเห็นค่า’…’ทำเป็นยกคำมาอ้าง นักเขียนอินเตอร์เนตอย่างมึงคิดว่างานตัวเองเป็นไวน์ ถุย!’-‘เหมือนงานรุ่นปู่มึงไง วัวหายแม่ตายควายป่วย งานเพื่อชีวิตเฮงซวย กูชอบนิยายวายแบบฮาเร็ม’ “ (หน้า 18-19)

” ‘นักเขียนรุ่นใหม่ชอบสร้างตัวตนในโซเชียลเน็ตเวิร์ค-‘… ‘xวย ใครเขาก็สร้างตัวตนในโซเชียลเน็ตเวิร์คทั้งนั้น กะหรี่ พระสงฆ์ คนขายกล้วยแขก ทำไม พอเป็นนักเขียนหน่อยพูดถึงงานเขียนตัวเองนี่ผิดเลย ไอ้ห่า กูภูมิใจอะไรไม่ได้เลยใช่ไหมชีวิต’ “ (หน้า 20)

ผมสนใจว่ากระทั่งในศตวรรษนี้แล้ว แวดวงวรรณกรรมไทยก็ยังคงทุ่มเถียงกับเรื่องความหลากหลายทางวรรณกรรม, วรรณกรรมอ่านยาก, อะไรเป็นวรรณกรรมและอะไรไม่เป็นวรรณกรรม หรือการสร้างตัวตนของนักเขียนรุ่นใหม่ ผมอ่านถึงตอนนี้แล้วก็ได้แต่หัวเราะเป็นบ้าเป็นหลัง เพราะมันทั้งแสบ ทั้งเจ็บ ทั้งจริง และที่สำคัญน่าหดหู่ใจไปด้วย เพราะวิวาทะดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าแวดวงวรรณกรรมไทยไม่ได้ไปไหนไกลกว่าจมูกของตัวเองเลย

ผมคิดว่าการบริภาษแวดวงวรรณกรรมไทยอย่างเผ็ดร้อนในรวมเรื่องสั้นเรื่องนี้ยังปรากฏอยู่ในเรื่องสั้นเรื่องสุดท้ายอีกด้วย อย่างเรื่อง “การรุกรานของขยะ” ที่พูดถึงความเป็น ‘ขยะ’ ของวรรณกรรม 

“เดี๋ยวนี้ขยะมันแฝงตัวมาในหลากหลายรูปแบบ ไม่จำเป็นต้องมีกลิ่นเหม็น หรืออยู่ในถุงดำ ไม่จำเป็นต้องมีแมลงวันตอมหรือผ่านการใช้งานซ้ำซ้อนจนชำรุด ขยะอาจมาในรูปลักษณ์อันสดใหม่ หอมสะอาด น่าจับจ้อง ปราศจากร่องรอยของตำหนิ…ชิ้นนี้แม่งมาในรูปของหนังสือ…กูไม่ยักรู้เลยว่าขยะแม่งสามารถซื้อปัญญาชนไปเป็นพวกของตัวเองได้” (หน้า 168)

นอกจากการ ‘ซัด’ ไปตรงๆ ว่าวรรณกรรมคือขยะที่ต้องกำจัดแล้ว การวิพากษ์วิจารณ์ชุมชนวรรณกรรมก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อย กล่าวคือ เรื่องสั้นทั้งสองเรื่องนี้ไม่ได้บริภาษเฉพาะนักเขียนและกวีเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงชุมชนนักอ่าน รางวัลวรรณกรรม ที่คอยพยุงความเสื่อมถอยของแวดวงวรรณกรรมไทย (ในทัศนะของเรื่องสั้นทั้งสอง) เอาไว้ โดยเฉพาะในเรื่อง “การรุกรานของขยะ” เป็นเรื่องสั้นที่พลุ่งพล่านเอามากๆ เหมือนใครสักคนเดินถือไม้ไปฟาดๆ คนทั้งบางโดยไม่พูดไม่จา กระหน่ำตีอย่างบ้าเลือด แต่มันก็เป็นเรื่องที่ผมชอบอีกเรื่องหนึ่ง ราวกับเป็นการได้อ่านสิ่งที่อยู่ในใจผมมานานหลายปีเกี่ยวกับวรรณกรรมไทย 

แต่หากจะบอกว่าเรื่องสั้นเรื่อง “การรุกรานของขยะ” มีท่าทีที่ใจร้ายใจดำเกินไปกับแวดวงวรรณกรรมไทย และเหมารวมวรรณกรรมไทยทั้งหมดว่าเป็นขยะ หรือเป็นสิ่งที่เกินเลยไปมากกับการกล่าวหาว่าวรรณกรรมคือขยะนั้น ผมมีคำอธิบายที่เอาไว้ใช้ในการอธิบายตัวเอง (…ถ้าผมเป็นนักเขียนน่ะนะครับ) คือ  “ตราบใดที่เราพอจะรู้ว่าผู้เขียนคนนี้เขามีท่าทีและสำนึกทางสังคมการเมืองไปในทิศทางเดียวกับเรา เขาก็ไม่น่าจะหมายถึงเราหรอก น่าจะหมายถึงคนอื่นนั่นแหละ” หรือไม่ “ต่อให้อยู่ฝ่ายเดียวกับเรา แต่การเขียนอะไรแบบนี้ก็รับไม่ได้ เพราะมันคือการดูถูกและเหยียดหยามวรรณกรรมมากเกินไปแล้ว” อย่างหลังนี้เอาไว้อธิบายตัวเองก่อนจะออกไปรบน่ะครับ 

ทุนนิยม ความทรงจำ ความฝัน
โอตาคุ ป้ายโฆษณา และเด็กแว๊น

นอกจากการเสียดสีวงการวรรณกรรมไทยแล้ว รวมเรื่องสั้น “โอ้แม่มหากวีศรีศตวรรษที่ 21” ยังมีเรื่องสั้นที่มีแง่มุมและมิติอื่นๆ ออกไปอีก ซึ่งน่าสนใจไม่แพ้สองเรื่องด้านบน แต่น้ำเสียงในการเสียดสีก็ยังคงทำได้อย่างยอดเยี่ยม มีท่าทีแบบตลกร้ายชวนให้ยิ้มมุมปากไปพร้อมๆ กับการกัดฟัน เช่นในเรื่อง “วิมุตติ” ที่เล่าถึงตัวละคร “วิมุตติ” ที่หมกมุ่นอยู่กับการฆ่าตัวตาย แต่กลับตายไม่ได้ เพราะเจ้าของบริษัทที่เขาทำงานอยู่ปรากฏตัวในสำนึกของเขาตลอดเวลาและคอยพยายาม ‘เตือนสติ’ เขาว่า อย่าคิดฆ่าตัวตายเลย เพราะเขาต้องไปทำงาน ทำงานเพื่อใช้หนี้ที่กู้มา

ตัวเรื่องจึงเป็นการต่อสู้กันระหว่างตัวละคร “วิมุตติ” ที่มีตัวตนกับ “เจ้านาย” ที่ปรากฏอยู่สำนึกของเขาตลอดเวลาราวกับเจ้านายที่สอดส่องพนักงานของตัวเองอยู่ตลอดเวลา ในแง่หนึ่งเราอาจพิจารณาได้เช่นกันว่า มันคือการแสดงให้เห็นว่าทุนนิยมกดขี่ขูดรีดเราอยู่ตลอด ขนาดอยากจะฆ่าตัวตาย เราก็ยังทำไม่ได้ เพราะยังต้องไปทำงานเพื่อใช้หนี้ และในตอนหนึ่ง เจ้านายของวิมุตติได้บอกกับเขาว่า 

“คุณวิมุตติเอ๋ย คุณวิมุตติ – วิมุตติ วิมุตติ…ฟังผมให้ดี ชีวิตของคุณถูกกำหนดไว้แล้ว ถูกกำหนดมาตั้งแต่เกิดจนตาย ตั้งแต่ลืมตาดูโลกว่าต้องนับถือศาสนาอะไร ตั้งแต่ยังพูดไม่ได้ว่าต้องพูดภาษาอะไร จากนั้นก็ถูกกำหนดชีวิตทางการศึกษาให้ได้เข้าโรงเรียนวัด เพราะฐานะทางการเงินของครอบครัวคุณขัดสน ได้เรียนในโรงเรียนของคนจน ซึ่งกำหนดแผนการสอนไว้ว่ามันจะทำให้คุณคุ้นชินกับตารางชีวิตอันจำเจซ้ำซากของงานประจำ และเอาเอกสารกลับไปทำหลังเลิกงาน…และถ้าคุณไม่ได้เรียน ร.ด. ก็ต้องเกณฑ์ทหาร เป็นแรงงานทาสไทยในศตวรรษที่ 21 ซึ่งคุณจะต้องทำทุกอย่าง อย่างที่โคตรเหง้าศักราชของคุณเคยปฏิบัติต่อเจ้าขุนมูลนาย นั่นคือการทำความสะอาด ตัดหญ้ารดน้ำต้นไม้ แม้กระทั่งไปตายในสนามรบ ถูกกำหนดให้เฉยชินต่อการเอารัดเอาเปรียบ บูชาผู้นำ ได้เบี้ยเลี้ยงต่ำๆ กินอาหารชั้นเลว เพราะนายทหารยศสูงกว่าเขายักยอกค่าอาหารของคุณ เนื้อในหม้อของคุณ…” (หน้า 34)

นอกจากนี้ ในเรื่อง “วิวรณ์” , “ไปกรุงเทพ” และ “กังหันลม” ต่างก็เป็นเรื่องสั้นที่เล่นกับวิธีการเล่าเรื่องได้อย่างกลมกลืน อย่างการสร้างผู้เล่าเรื่องขึ้นมามากกว่าหนึ่งคน และทุกเรื่องมักจะไปเฉลยในตอนท้ายว่าผู้เล่าเรื่องที่เล่าเรื่องอยู่ในตอนแรกนั้นเป็นตัวละครอีกตัวหนึ่ง หรือเป็น ‘องค์ประธาน’ (subject) ของเรื่องเล่าเรื่องนั้น คุณลักษณะของการเล่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ร้อยเรียงเรื่องสั้นทั้งสามเข้าไว้ด้วยกัน

ในส่วน “ร่างของอดีต” และ “ส่งต่อ” เป็นเรื่องที่พูดถึงความทรงจำ – “ร่างของอดีต” พยายามชี้ให้เห็นว่าความทรงจำอยู่กับเราเสมอในฐานะที่เป็น ‘ศพ’ เมื่อพูดถึงศพก็คงไม่มีใครอยากจะเก็บมันไว้ เพราะมันคือสิ่งที่ตายไปแล้ว แต่มันกลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของเราและติดตามเราไปทุกๆ ที่ ความน่าสนใจของเรื่องสั้นเรื่องนี้ คือการชวนให้เราคิดว่าชีวิตของเราผูกพันแนบแน่นอยู่กับสิ่งที่ตายไปแล้ว เป็นการดึงเอาสัญญะของสิ่งที่มีชีวิตและความตายซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามมาวางคู่กัน

ส่วนเรื่อง “ส่งต่อ” คือการส่งต่อความทรงจำที่เรามีลงไปในวัตถุและส่งต่อมันให้กับคนอื่น ตามท้องเรื่องก็คือ วันหนึ่ง “ชายหนุ่ม” ซึ่งมีอาชีพทำตุ๊กตายางขาย ได้รับงานจากลูกค้าให้ทำตุ๊กตายางตัวหนึ่งซึ่งก็คืออดีตคนรักของเขานั่นเอง มันจึงเป็นการเหนี่ยวนำความทรงจำอันโศกเศร้าของเขากับอดีตคนรัก ก่อนเขาจะนำเอาเสื้อผ้าและสิ่งของที่เป็นของคนรักเก่ามาใส่ลงไปในตุ๊กตายาง แถมยังใส่เสียงร้องของตุ๊กตายางให้เรียกชื่อเขาแทนที่จะเป็นชื่อลูกค้าอีกด้วย 

สำหรับเรื่อง “ในฝัน” ได้ชี้ให้เห็นถึงการไม่สามารถแยกออกระหว่างความทรงจำกับความเป็นจริง หลงอยู่ในความฝันที่คิดว่าตัวเองควบคุมได้กับสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ในฝัน จนกระทั่งกลายเป็นสิ่งที่ตามหลอกหลอน “มืด” จนโต และด้วยการกระตุ้นของยาเสพติดทำให้เขาลงมือฆ่าภรรยาตัวเอง 

และเรื่อง “ในกายอื่น” เล่าเรื่องของ “ยศ” ผู้ถูกขังลืมเอาไว้ในห้องภารโรงถึงสามวันในวัยเด็กเพราะความประมาทเลินเล่อของผู้ใหญ่ จนทำให้เขากลายเป็นคนที่ไม่มั่นใจในตัวเอง และการเป็นคนที่รู้สึกว่าตัวเองถูกลืมในปัจจุบัน ทำให้ยศเขียนจดหมายเพื่อส่งถึงเพื่อนคนไทยในต่างประเทศและส่งถึงตัวเอง ในจดหมายที่ส่งถึงเพื่อนต่างประเทศ เขาแบ่งตัวตนออกเป็นนักศึกษาแพทย์ที่คุยกับแม่หม้ายวัยห้าสิบ และหญิงสาววัยทำงานที่โสดสำหรับคุยกับนักศึกษาปรัชญา และเขายังเขียนบันทึกถึงตนเองเพื่อกระตุ้นเตือนไม่ให้ลืมว่าตัวเองคือใคร (?) หรือไม่ให้ตัวตนที่แท้จริงนั้นหลงหายไปในเรื่องที่เขาแต่งขึ้นมา (คือการเป็นนักศึกษาแพทย์และหญิงวัยทำงาน)

ต่อมา ยศได้ไปรู้ว่าหญิงสาวเน็ตไอดอลที่เขาชื่นชอบมากๆ ถึงขั้นที่มีของสะสมทุกอย่าง ไม่ว่าจะเสื้อผ้าหรือแม้แต่มีคอนแทคเลนส์ของเธอจริงๆ ด้วย เรียกได้ว่ายศเป็นทั้งโอตาคุและสตอล์กเกอร์ในเวลาเดียวกัน ย้ายมาอยู่หอพักเดียวกับเขา เรื่องนี้ทำให้ยศรู้สึกดีมากๆ และความคลั่งไคล้ของยศทำให้เขารู้สึก “อยากแตะต้องเข้าถึง สูดกลิ่น หรือแม้แต่ลิ้มรส เพื่อให้รู้ว่าการมีภายนอกแบบเธอนั้นเป็นอย่างไร…” (หน้า 142) 

ยศพยายามติดตามเธอในทุกๆ ทาง เช่น เก็บกระดาษซับมัน ลางานไปสวนรถไฟที่เธอไปถ่ายแบบเพื่อไปปั่นจักรยานเส้นทางเดียวกัน จัดท่าทางให้ได้ท่าเดียวกับในรูปถ่าย กระทั่งวันหนึ่งยศใส่เสื้อผ้า คอนแทคเลนส์ ติดขนตาปลอมที่เธอรีวิว ถืออูคูเลเล่ และจดหมายที่ยศบรรยายความรู้สึกที่มีต่อเธอ เดินไปห้องหญิงสาวคนนั้นและ “พูดถามตัวเองตลอดทางว่าเธอจะรู้สึกอย่างไรนะ การเป็นที่รักและการเป็นเธอนี่รู้สึกอย่างไร ยศกระชับอูคูเลเล่ในมือมั่น เคาะประตู เขาอยากรู้ว่า การสวมใส่เนื้อหนังของเธอขณะอ่านจดหมายฉบับนั้น จะทำให้เขารู้สึกอย่างไร” (หน้า 144-145)

เรื่อง “ข่าวต่อไป” ผู้เล่าเรื่องเข้ามาทำงานเป็นครูในกรุงเทพ และพบว่าในกรุงเทพ ผู้คนต่างมีปฏิสัมพันธ์กันในลักษณะที่ไม่มีใครสนใจหรือใส่ใจใครอย่างจริงจัง ทุกคนต่างเป็นวัตถุซึ่งกันและกัน “พวกเขาลืมเลือนทุกเรื่องอย่างง่ายดาย ผมทึกทักตัดสินแบบนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกระแสข่าวจากเฟสบุ๊ก…” (หน้า 148) 

ผู้เล่าเรื่องสังเกตว่าคนกรุงเทพนั้นเป็นเดือดเป็นร้อนกับข่าวที่เศร้าสลด แล้วก็ลืมมันไป แต่กับข่าวเด็กโดนขโมยปลาทูและอัดคลิปแช่งคนขโมยกลับได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่องและยาวนาน จนทำให้บริษัท ผลิตภัณฑ์ โฆษณาและทุนการศึกษาวิ่งเข้าหาเด็กคนนั้น และทำให้ภาครัฐและภาคเอกชนตื่นตัวกันมาก แต่กับเรื่องที่น่าเศร้าสลดนั้นไม่มีใครจำมันสักเท่าไรนัก ข่าวหนึ่งเกิดขึ้นมาและข่าวหนึ่งก็หายไป เช่นเดียวกับข่าวคลิปแอบถ่ายระหว่างผู้เล่าเรื่องกับนักศึกษาฝึกสอนที่เกิดขึ้นในห้องน้ำของโรงเรียน ซึ่งเคยกลายเป็นเรื่องที่คนให้ความสนใจมากกว่าเรื่องอื่นๆ แต่แล้วก็หายไป และก็กลับมาอีกครั้งในฐานะ ‘คลิปหลุด’ ที่ไม่เห็นหน้าของผู้ชาย 

และเรื่อง “ความตายของป้ายโฆษณา (ป้ายหนึ่ง)” ได้ใช้ “ป้ายโฆษณา” เป็นผู้เล่าเรื่องในฐานะเหยื่อของเด็กแว๊นที่ขี่มอเตอร์ไซค์ยกล้อมาชนป้ายโฆษณา ซึ่งเรื่องนี้เป็นการใช้วิธีการเล่าแบบบุคลาธิษฐาน โดยพยายามชี้ให้เห็นว่า ‘ชีวิต’ ของสิ่งของมีค่ามากกว่าชีวิตของ ‘เด็กแว๊น’ หรือมีค่ามากกว่าคนในชุมชนแออัดทั้งหลายเสียอีก เราอาจเห็นได้ว่านี่เป็นการเสียดสีวิธีคิดของ ‘คนกรุงเทพ’ อย่างหนึ่ง (เพราะป้ายโฆษณาใหญ่ๆ จำนวนมากจะอยู่ได้ที่ไหนอีกนอกจากในกรุงเทพ) ที่มักจะเหยียดหยามผู้คนที่แตกต่าง หรือมีรสนิยมและวัฒนธรรมแตกต่างไปจากตน ดังที่กล่าวว่า

“พวกเรา – ป้ายโฆษณา – เป็นตัวแทนวิถีชีวิตของผู้มีอันจะกิน เราทั้งหลายพูดถึงร้านอาหารชั้นดี รถสปอร์ต คฤหาสน์ เสื้อผ้า รองเท้าราคาแพง พูดถึงชายหญิงหน้าตาดี และครอบครัวในอุดมคติ ไม่มีพวกเราคนไหนอุตริพูดถึงปลาร้า หรือรสนิยมแบบบ้านนอกคอกนา ถึงจะหยิบบรรดาคนจนมามาเอ่ยถึงบ้างก็เป็นไปในทางตลกขบขัน คนจน ตุ๊ด กะเหรี่ยง เป็นเพียงความบันเทิงของเมืองนี้เช่นเดียวกับที่คนแคระและพวกตัวประหลาดถูกจับมาเร่แสดงในยุคมืด…สงครามจะต้องเกิด พวกเราจะป่าวประกาศวิถีชีวิตแบบที่พวกมันเป็นไม่ได้ ให้พวกมันอกแตกตาย” (หน้า 164)

ส่งท้าย : โถ พ่อนักต่อสู้เพื่อประชาชน…

ผมคิดว่าการถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นหนึ่งในสิ่งที่คนทำงานศิลปะทุกคน ทุกแขนงจะต้องเจอ การถูกเสียดสี กระแนะกระแหน เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และผมคิดว่าในบรรดาถ้อยคำเหล่านั้น หากพบว่าไม่เป็นประโยชน์กับชีวิตและการทำงานศิลปะของเรา ก็อาจข้ามไปบ้างก็ได้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง การเสียดสี วิพากษ์วิจารณ์ กระทั่งการบริภาษ ได้ชี้ให้เห็นด้วยเช่นกันว่า สิ่งที่เราทำ นอกจากคำยกยอปอปั้นแล้ว ถูกมองและถูกเข้าใจอย่างไรบ้าง แม้จะโกรธและไม่เห็นด้วย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันถูกเข้าใจแบบนั้น…ในมุมหนึ่ง (ฟังดูเหมือนคำปลอบใจ อันที่จริงแล้วไม่จำเป็น และผมก็ไม่ได้ตั้งใจให้เป็นแบบนั้น)

สำหรับผม การได้เห็นว่าแวดวงที่ถูกทำให้เชื่อว่าเป็นชุมชนของผู้ใช้ปัญญา มีสติปัญญาล้นเหลือ มีสุนทรียรสอันหลากหลาย กว้างไกลและใหญ่โตโอฬาร ถูกวิพากษ์อย่างเผ็ดร้อนเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะแวดวงนี้ควรถูกบริภาษกันเสียบ้าง มิเช่นนั้นเราอาจได้เห็นนักเขียนและกวีไปเป็น ส.ว. กันอีกมากมายในอนาคต 

ก่อนจะจบบทความในวันนี้ ผมขอทิ้งท้ายด้วยถ้อยคำบริภาษจากเรื่องสั้น ‘การรุกรานของขยะ’ ที่ผมชอบอกชอบใจมากและทำให้ผมยิ้มปริ่มไปหลายชั่วโมงเลยทีเดียว 

“นักเขียนในประเทศนี้อุดมการณ์พลุ่งพล่านเกินไป หนังสือพวกแม่งเลยเหมือนคัมภีร์ปฏิวัติ โถ พ่อนักต่อสู้เพื่อประชาชน กับอีกพวกหนึ่ง นี่ก็เขียนเหมือนมีอะไรให้ขบคิด แอคคูล ชอบอ้างชื่อหนัง วรรณกรรม ดนตรี งานศิลปะ ดูฉลาด เน้นบรรยากาศแบบเหงาๆ ปล่อยพื้นที่ว่างให้เราได้ใคร่ครวญ แต่เมื่อได้ลองใคร่ครวญอย่างลึกซึ้งแล้ว ก็จะพบแต่รูโพรงกลวงๆ เหมือนหลงเข้าไปในยืนงงอยู่ในโถงถ้ำสักแห่ง แล้วตะโกนออกไปว่า ควย ควย ควย ไม่มีเหี้ยอะไรเลยนอกจากการขายสไตล์ หยิบจับโครงสร้างแล้วทำตามกัน เป็นขยะอีกประเภทหนึ่งที่จำต้องกำจัดทิ้ง” (หน้า 172)


อ้างอิง :
[1] Anthill archive – เว็บไซต์แห่งนี้ยังรวบรวมผลงานของนักเขียนหน้าใหม่ที่น่าสนใจอีกหลายคน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save