fbpx

Official Competition แรงริษยาปมอาถรรพ์ ของคนทำหนังล่ารางวัล

จะว่าไป หนังประเภทที่เรียกว่า ‘หนังรางวัล’ หรือ ‘หนังหวังกล่อง’ ทั้งหลาย ก็ถือเป็นหนังกลุ่มน้อยที่ไม่ได้มีจำนวนเยอะแยะมากมายเมื่อเทียบกับหนังสายตลาดดึงดูดคนดูพันธุ์ต่างๆ จากทั่วโลก โดยหนังที่เหมือนจะเน้น ‘คุณภาพ’ เหล่านี้ มักจะมีโอกาสแทรกโปรแกรมเข้าฉายโดยเฉพาะในช่วงฤดูของการประกาศรางวัลต่างๆ โดยเฉพาะช่วงต้นปี หรือหลังจากที่การจัดประกวดในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติขนาดใหญ่แต่ละแห่งสิ้นสุดลง ซึ่งหนังอาจได้รับการฉายแบบจำกัดโรงหรือตามหัวเมืองใหญ่ๆ และมีผู้สนใจจำนวนไม่มากไม่น้อยคอยติดตาม ในขณะที่อีกหลายๆ ท่านก็อาจจะเมินเฉยไม่เคยใส่ใจ ค่าที่ยังเข็ดขยาดกับความรู้สึกว่านี่มันหนังบ้าอะไร ไม่เห็นจะเข้าใจ หรือได้ความสนุกบันเทิงเหมือนหนังเอาใจคนดูเรื่องอื่นๆ บ้างเลย!

ดังนั้น หนังที่มีสถานะก้ำกึ่งระหว่างการเป็นผลงานศิลปะชิงรางวัลจากเทศกาลใหญ่ กับการเป็นหนังเอาใจมหาชนจากฮอลลีวู้ด หรือแม้แต่หนังที่เข้าชิงรางวัลออสการ์เอง ก็กลับมองว่าตราช่อมะกอก หรือตุ๊กตาคุณลุงออสการ์ อาจมีสถานะเป็นของแสลงที่ไม่ควรจะปรากฏอยู่บนโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์หนัง อันจะชวนให้รู้สึกว่าเป็นงานระดับขึ้นหิ้งเข้าใจยากจนไม่สนุกบันเทิง แม้แต่หนังดังอย่าง Inglourious Basterds (2009) และ Once Upon a Time…In Hollywood (2019) ของผู้กำกับ เควนติน ทารันติโน (Quentin Tarantino) ซึ่งได้เข้าประกวดชิงรางวัลปาล์มทองคำที่เทศกาลคานส์ และเข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวทีออสการ์ ก็หาให้ประกาศสรรพคุณเหล่านี้ไว้บนแผ่นโปสเตอร์ไม่ คือลำพังมีชื่อสกุลของเควนติน ทารันติโนแปะหราไว้ แค่นี้หนังก็ขายได้โดยไม่ต้องอ้างอะไรอย่างอื่นอีกแล้ว!

หนังเล็กๆ จากสเปนเรื่อง Official Competition (2021) ซึ่งเล่นล้อกับชื่อสายประกวดหลักอย่างเป็นทางการของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติขนาดใหญ่ต่างๆ ของผู้กำกับ แกสตัน ดูปรัต (Gastón Duprat) และ มาเรียโน โคห์น (Mariano Cohn) จากอาร์เจนติน่า ก็นับเป็นหนัง ‘กล่อง’ อีกเรื่องที่จงใจวิพากษ์จิกกัดความจอมปลอมของวงการหนังล่ารางวัลร่วมสมัยทั้งหลาย ว่าบางครั้งก็ไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อสรรเสริญยกย่องคุณค่าแห่งการเป็นมนุษย์อย่างที่หนังรางวัลควรจะมุ่งนำเสนอ แต่อาจเป็นผลจากความโหลยโท่ยแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไปกับสถานการณ์ที่ไม่เป็นใจ ผ่านฝีมือของผู้กำกับที่ดูจะเสียสติและโมโหร้ายมากกว่าจะเข้าใจครรลองชีวิตจริงๆ ของมนุษย์เสียด้วยซ้ำ!

Official Competition ได้นักแสดงพูดภาษาสเปนระดับตัวท็อปของวงการมาประชันบทบาทกันถึงสามราย เริ่มตั้งแต่ เพเนโลเป ครูซ (Penelope Cruz) ผู้รับบทเป็นผู้กำกับหญิง โลลา คูเอวาส ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง คว้ารางวัลใหญ่ๆ ในวงการมาได้ตั้งแต่อายุยังน้อย เธอได้รับการว่าจ้างจาก ฮัมแบร์โต อภิมหาเศรษฐีเจ้าของกิจการเวชภัณฑ์ยักษ์ใหญ่มูลค่าหลายพันล้าน ที่เมื่ออายุอานามผ่านเข้าช่วงอายุ 80 ปี ก็เริ่มมีอนุสติที่อยากจะสร้างผลงานที่จะทำให้โลกได้จดจำเขาในทางที่ดีบ้าง ฮัมแบร์โตจึงตัดสินใจทุ่มซื้อลิขสิทธิ์ The Rivalry นวนิยายรางวัลโนเบลของนักเขียนดัง ดาเนียล มันโตวานิ (Daniel Mantovani -เป็นตัวละครสมมติหลักจากหนังเรื่องก่อนหน้า The Distinguished Citizen เมื่อปี 2016 ของสองคู่หูผู้กำกับ) มาให้โลลากำกับ โดยหวังให้เป็นงานชิ้นเอกสร้างชื่อให้ฮัมแบร์โตเป็นหนึ่งในผู้มีคุณูปการต่อวงการภาพยนตร์ร่วมสมัย

แต่จะว่าเป็นโชคดีหรือโชคไม่ดีก็มิอาจทราบ เมื่อฮัมแบร์โตยังไม่เคยอ่านนิยายเรื่องนี้ด้วยตัวเองเลย แต่ก็ไว้วางใจให้โลลาสามารถตีความนิยายออกมาในลีลาที่เธอเห็นว่าน่าจะปัง โดยโลลาได้ตัดสินใจฝากความหวังไว้ที่นักแสดงหลักทั้งสองที่จะมารับบทบาทเป็นคู่พี่น้องที่ต้องเป็นปฏิปักษ์กันหลังจากฝ่ายน้องชายขับรถพาบิดาและมารดาไปชนจนเสียชีวิตในขณะที่ตัวเองรอด โดยนักแสดงที่จะมารับบทเป็นน้องชายก็คือ เฟลิซ ริเวโร ดาราหนุ่มชื่อดังที่เล่นหนังระดับพันล้านมาแล้วหลายเรื่องซึ่งในหนังรับบทโดย อันโตนิโอ บันเดรัส (Antonio Banderas) และนักแสดงที่จะรับบทเป็นพี่ชายคือ อีวาน ตอร์เรส นักแสดงยอดฝีมือที่ทุกคนต่างนับถือในประสบการณ์ระดับลายครามของเขา โดยในหนัง ออสการ์ มาร์ติเนซ (Oscar Martinez) มารับบท หลังจากนั้นตลอดทั้งเรื่องราว เราก็จะได้เห็นภาพการเตรียมความพร้อมก่อนจะเปิดกล้องของทั้งโลลา, เฟลิกซ์และอีวานในการอ่านบทและปรับจูนการแสดงที่แสนจะต่างขั้วของนักแสดงหนุ่มทั้งสองให้ดูเป็นพี่น้องที่มีเรื่องบาดหมางกันจริง ๆ ให้ได้

โลลาก็จำเป็นต้องใช้กลยุทธ์สุดพิสดารต่างๆ มากมายในการละลายพฤติกรรมของนักแสดงหนุ่มหัวแข็งทั้งสอง ตั้งแต่การต้องกลับมาปูพื้นฐานการออกเสียงประโยคง่ายๆ เพื่อสื่อสารอารมณ์ต่า ๆ อย่างถูกต้องตรงเป๊ะ เหมือนคนเพิ่งฝึกพูด การซ้อมฉากจูบที่จะต้องทำให้เซ็กซี่รัญจวนได้แม้จะได้ยินเพียงแค่เสียง การใช้ก้อนศิลาขนาดมหึมาแขวนไว้เหนือศีรษะในฉากที่ต้องการอารมณ์ตื่นกังวล การตั้งกล้องสัมภาษณ์สนทนาเพื่อเปิดเผยทุกความอ่อนไหว การใช้แผ่นพลาสติกใสมัดชายทั้งสองไว้ด้วยกันให้เหมือนเป็นแฝดสยามมีร่างเดียว ไปจนถึงการทลายอีโก้ย่ำยีทุกถ้วยโล่ตรารางวัลที่เคยได้รับมาราวกับว่าพวกเขาไม่เคยแสดงอะไรเป็นเลย! ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนบอกเล่าภาพความอัจฉริยะอันบ้าคลั่งของผู้กำกับหญิงโลลา ที่สะท้อนให้เห็นว่าความสำเร็จในอดีตที่ผ่านมาของเธอล้วนเป็นผลจากการทำงานที่ไม่เคยอยู่กับร่องกับรอยหรือคอยเหลือบดูข้อสัญญาเช่นนี้ เสียดสีพฤติกรรมนอกคอกแหวกขนบของบรรดาผู้กำกับชั้นบรมครูทั้งหลาย ว่าถ้าอยากให้หนังดังหนังปัง คุณจะนั่งแท่นกำกับตามตำรับตำราอะไรไม่ได้เลย สัญชาตญาณเท่านั้นที่จะทำให้ผลงานประสบความสำเร็จได้ เพราะความ ‘แปลกใหม่ไม่เหมือนใคร’ เป็นคุณสมบัติที่สำคัญเสมอสำหรับการประกวดในเวทีนานาชาติ ซึ่งเพเนโลเป ครูซก็สามารถรับบทบาทเป็นโลลา คูเอวาสได้อย่างมีสีสันจัดจ้านจนน่าเชื่อ เธอเป็นนักแสดงสาย ‘เล่นใหญ่’ เพียงไม่กี่คนที่สามารถขยายอารมณ์เว่อร์วังตามดีกรีความประสาทแดกของหนัง ที่ยังรักษาความสมจริงและจริงใจจนดูแล้วไม่มีอะไรล้นเกินเลยแม้แต่หยดเดียว ทำให้ตัวละครโลลา คูเอวาสมีทั้งความมั่นอกมั่นใจ และความไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรที่ผสมผสานกลมกลืนกันได้อย่างมีมิติ นับเป็นบทบาทการแสดงที่น่าประทับใจอีกบทบาทหนึ่งในแนวที่เพเนโลเป ครูซไม่เคยเล่นมาก่อน

ส่วนนักแสดงสองหนุ่มต่างวัย อันโตนิโอ บันเดรัสและออสการ์ มาร์ติเนซ ต่างก็ทำงานในวงการมายาวนานจนกลายเป็นตำนานของหนังพูดภาษาสเปนได้ทั้งคู่ ก็สามารถสำแดงฝีมือให้คนรุ่นหลังๆ ได้ดูในบทบาทที่เรียกได้ว่าวัดฝีมือการแสดงของนักแสดงได้ชัดเจนที่สุด นั่นก็คือ บทตลกรั่ว ทั้งบันเดรัสและมาร์นิเนซก็ละทิ้งมาด ‘นักแสดงยอดฝีมือ’ ของตนได้หมดเกลี้ยง เพื่อมารับบทเป็นนักแสดง เฟลิกซ์ ริเวโรและอีวาน ตอร์เรส ผู้ตกกระไดพลอยโจนต้องมาร่วมสังฆกรรมทำนิยายโนเบลให้เป็นหนังปังกับผู้กำกับจอมโหด โลลา คูเอวาสได้อย่างน่าสมเพชเวทนาตามที่เนื้อหาของหนังต้องการ หนังทั้งเรื่องจึงเหมือนเป็นตู้โชว์ทางการแสดงของนักแสดงทั้งสาม ที่แม้จะต่างที่มาและมีเทคนิคการตีความที่แตกต่างกัน แต่พวกเขาก็ยังสามารถทำงานร่วมกันจนสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ไม่ให้เสียชื่อนักแสดงระดับมืออาชีพกันเลย

และหากย้อนมาดูในส่วนการกำกับการแสดงของสองผู้กำกับอย่างแกสตัน ดูปรัตและ มาเรียโน โคห์น ก็อาจจะเห็นได้ว่า ทั้งคู่ดูจะอาศัยบารมีและฝีมือของนักแสดงระดับแม่เหล็กทั้งสามรายนี้อยู่ไม่น้อย จนไม่ค่อยจะก้าวก่ายไปกำหนดแนวทางอะไรให้สักเท่าไหร่ สังเกตได้จากลีลาการเล่นมุกตลกทั้งหลายที่ใช้จังหวะการตบมุกคอมิดี้ในแบบผู้ดี มีน้ำเสียงของการเป็นปัญญาชนจนไม่เห็นความโกลาหลวุ่นวายในแบบงานละครตลก (farce) เป็นความตลกในแบบมาเรื่อยๆ จบมุกแล้วก็เล่าเรื่องต่อไป ไม่ถึงกับชวนให้หัวร่องอหายอย่างที่หลายๆ คนอาจจะคาดหวัง และเมื่อหนังเลือกท่วงทำนองการเล่าในทางนี้ คนดูจึงอาจจะรู้สึกว่าตัวบทหนังเองยังไม่สามารถขยี้เรื่องราวหรือความสัมพันธ์ของทั้งสามตัวละครได้อย่างถึงใจ เหมือนผู้สร้างไว้วางเอาไว้ล่วงหน้าแล้วว่าต้องการให้การแสดงของดาราทั้งสามเป็นพระเอกของเรื่องจริงๆ

อย่างไรก็ตาม ส่วนที่จะมาชดเชยความเบาบางของตัวบทได้อย่างดีเลยก็คืองานด้านการกำกับภาพ ที่ผู้กำกับทั้งสองสามารถใช้ฉากหลังของอาคารอเนกประสงค์ของบริษัทยายักษ์ใหญ่อันโอ่อ่าหรูหราได้อย่างสะดุดตาเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการใช้พื้นที่ว่างของอาคารมุมต่างๆ ในการสร้างภาพแบบสมมาตรมีองค์ประกอบในส่วนซ้ายและขวาที่ปรากฏความสมดุลในทุกๆ กรอบเฟรม ซึ่งก็ยิ่งทำให้หนังมีมิติของความพิลึกพิสดารท่ามกลางสถานที่ที่ไม่ค่อยจะน่าไว้วางใจได้อย่างมีเอกลักษณ์ เรียกได้ว่า แค่นั่งชมงานสถาปัตยกรรมเบื้องหลัง และพลังจากการเลี้ยงน้ำหนักทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของจอก็พอจะคุ้มค่าคุ้มราคาในการรับชมกันแล้ว

เหนืออื่นใด แม้จะทำหนังส่งประกวดในเทศกาลนานาชาติต่างๆ มาไม่มาก แต่คู่ผู้กำกับดูปรัตและโคห์นก็รู้และเข้าใจดีว่าจะทำหนังเล่าเรื่องราว ‘วงใน’ ของหนังสาย ‘กล่อง’ สาย ‘รางวัล’ ด้วยชื่อ Official Competition อย่างไร ให้เทศกาลใหญ่ระดับโลกสนใจนำไปประกวดในเทศกาลจริงๆ เพราะสุดท้ายแล้ว Official Competition ก็ได้รับคัดเลือกจากเทศภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิส ครั้งที่ 78 ประจำปี 2021 ให้ร่วมประกวดในสาย Official Competition ของเทศกาลจริงๆ ผู้กำกับและนักแสดงก็ได้ร่วมไปเดินพรมแดงที่เกาะลิโดจริงๆ คล้ายกันกับที่หนังของโลลาได้ไปฉายประกวดที่เทศกาลสมมติ KZFF International Film Festival ซึ่งไม่มีใครรู้จัก ด้วยเคล็ดลับเพียงง่ายๆ ว่า 1) เงินทุนส่วนใหญ่ต้องเอาไปจ้างดาราดังๆ เพราะเทศกาลหนังทุกแห่งล้วนต้องการดารามาสร้างสีสันกันทั้งนั้น 2) ต้องมีรายละเอียดพาดพิงถึงเทศกาลดังต่างๆ ในหนังเพื่อสร้างความรู้สึกร่วม เช่น ถ้วยรางวัล Volpi Cup สำหรับนักแสดงยอดเยี่ยมของเทศกาลเวนิสในเรื่องนี้ และ 3) ต้องมีฉากเดินพรมแดงเทศกาล เพื่อให้ได้ภาพเมตาเวิร์สซ้อนทับจนคนดูจับไม่ได้ว่านี่คือภาพถ่ายจากเทศกาลจริงหรือภาพจากในหนัง เมื่อ Official Competition ทำได้ทั้งสามข้อนี้ หนังจึงมีชื่อติดโผในสายประกวดของเทศกาลใหญ่อย่างเวนิสแบบสบายๆ แม้ว่าจะสุดท้าย มันจะกลับบ้านมือเปล่าไม่ได้ ‘กล่อง’ หรือ ‘รางวัล’ อะไรใดๆ กับเขาแม้แต่ชิ้นเดียว!

แหม! ก็ผู้กำกับสาวโลลาก็ประกาศหราเอาไว้ในหนังแล้วไม่ใช่หรือว่ารางวี่รางวัลมันไม่ใช่จุดหมายสูงสุดของการทำหนัง ‘คุณภาพ’ สักเรื่อง อย่าได้หลงงมงายไปกับความสำเร็จที่ผ่านมา เมื่อมีโอกาสทำหนังเรื่องใหม่มันคือการผจญภัยครั้งใหม่ที่ทุกคนจะต้องเริ่มต้นใหม่กันตั้งแต่ศูนย์ บุญเก่าคงช่วยให้เราตั้งหลักได้ไวกว่าใครๆ เท่านั้น แต่สุดท้ายก็ยังคงต้องฝ่าฝันกับโจทย์ใหม่ๆ ที่เรายังไม่เคยพบเจอมาก่อนเลย!

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save