fbpx

Office for Budget Responsibility หน่วยงานอิสระตรวจสอบวินัยการคลังที่สกัดนักการเมืองขายฝันนโยบายเศรษฐกิจ

สำหรับผู้ที่ติดตามข่าวเศรษฐกิจ-การเมืองของสหราชอาณาจักรคงจำเหตุการณ์ที่ลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีหญิงยืนประกาศลาออกหน้าทำเนียบเลขที่ 10 ถนนดาวนิ่ง ทั้งๆ ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งได้เพียง 49 วัน (6 กันยายน-25 ตุลาคม 2022) ทำให้เธอกลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งสั้นที่สุด เมื่อเทียบกับมาร์กาแร็ต แทชเชอร์ นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานกว่า 11 ปี

มีประเด็นที่น่าสังเกตด้วยว่า บทเรียนสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ลิซ ทรัสต์ล้มเหลวจนกลายเป็นตำนานทางการเมืองสั่นสะเทือนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร และตลาดเงิน-ตลาดทุนในยุโรปเมื่อปลายปีที่แล้ว คือการเพิกเฉย ไม่ส่งแผนงบประมาณที่ขณะนั้นเรียกว่า Mini-Budget (ซึ่งต่อมาสื่อมวลชนเรียกว่า Halloween Budget) ไปให้สำนักงาน Office for Budget Responsibility (OBR) ตรวจสอบและเสนอรายงานประเมินผลกระทบ ตามหลักเศรษฐกิจมหภาคและวินัยการคลังก่อนนำไปประกาศในสภา

พลันที่รัฐมนตรีคลังแถลงร่างงบประมาณในสภา คนนอกสภาก็ต่างเฝ้าติดตามสถานการณ์กันอยู่ และเกิดปฏิกิริยาโกลาหลในวงการตลาดเงิน-ตลาดทุนลอนดอน เมื่ออัตราค่าแลกเปลี่ยนเงินปอนด์หล่นฮวบ ดัชนีตลาดหุ้นตกวูบ ธนาคารชาติอังกฤษต้องรีบปรับดอกเบี้ย และทุ่มเงินเข้าตลาดเกือบสองหมื่นล้านปอนด์เพื่อพยุงราคาพันธบัตรรัฐบาลในช่วงเวลาคับขันตลอดสัปดาห์นั้น

นโยบายขายฝันสร้างความเสี่ยงให้เศรษฐกิจสหราชอาณาจักร?  

ครั้งที่ควาซี ควาเท็ง (Kwasi Kwarteng) รัฐมนตรีคลังของรัฐบาลลิซ ทรัสส์ประกาศแผนงบประมาณ Mini Budget ที่สุ่มเสี่ยงขายฝันเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ตลาดเงิน-ตลาดทุนลอนดอนและในยุโรปต่างแตกตื่นโกลาหล เพราะในแผนงบประมาณดังกล่าว เป็นแผนที่จะมีการลดภาษีในหลายภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจ แถมยังจะเอาเงินงบประมาณแผ่นดินก้อนใหญ่ไปช่วยครัวเรือนอุดหนุนลดค่าใช้จ่ายพลังงาน ซึ่งอาจส่งผลให้รัฐบาลขาดรายได้ถึง 45,000 ล้านปอนด์ โดยไม่มีแผนการหารายได้มาถมงบประมาณที่ขาดดุลนี้ 

ระหว่างที่ควาเท็งประกาศแผนงบประมาณ Mini Budget ในสภา พรรคฝ่ายค้านได้ตั้งคำถามหลายครั้งว่าทำไมจึงไม่มีรายงานการวิเคราะห์และการประเมินผลกระทบจากสำนักงาน OBR มาประกอบการพิจารณาก่อนการประกาศใช้งบประมาณครั้งนี้ ซึ่งควาเท็งบ่ายเบี่ยงว่าเป็นการประกาศนโยบายเร่งด่วน แต่สื่อมวลชนไปติดตามค้นหาความจริงจึงพบว่าทาง OBR ได้แจ้งไปทางกระทรวงการคลังหลายครั้งแล้วว่าพร้อมที่จะตรวจสอบและประเมิน Mini Budget ให้ได้ทันเวลา แต่ทางรัฐมนตรีคลังตั้งใจที่จะข้ามขั้นตอน ไม่ให้ความสำคัญต่อการตรวจสอบตามหลักการวินัยการคลัง  

นอกจากนี้สื่อมวลชนยังขุดคุ้ยเพิ่มเติมมาด้วยว่า ก่อนการประกาศแผนงบประมาณ Mini Budget ซึ่งมีมาตรการทางการเงินการคลังขนาดใหญ่ ใช้เงินมหาศาลอุดหนุนราคาพลังงานครั้งนั้น แต่ควาเท็งกลับไม่ได้หารือกับผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (Bank of England) ก่อนจะประกาศในสภา อันเป็นธรรมเนียมที่ยึดถือกันมานานจนเป็นประเพณี เพื่อให้ธนาคารกลางให้ความเห็นถึงผลดี-ผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับตลาดการเงินและจะได้เตรียมตัวตั้งรับได้ทัน 

เห็นได้ชัดว่านโยบายเศรษฐกิจของลิซ ทรัสส์ ที่เรียกกันว่า Trussonomics ปฏิเสธความสำคัญของวินัยการคลัง พยายามดันทุรังผลักดันมาตรการลดภาษีขนาดใหญ่ฝีนความจริงในฐานะการเงินของประเทศ เพียงเพื่อเรียกคะแนนนิยมในหมู่ผู้สนับสนุนพรรคคอนเซอร์เวทีฟ ตามที่ได้หาเสียงไว้ตอนแข่งขันชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค สร้างความแตกตื่นให้กับนักลงทุนในตลาด เพราะเป็นนโยบายที่ไม่ยั่งยืน ไม่มีข้อมูลประเมินผลกระทบจาก OBR มาประกอบ พวกเขาจึงพากันเทขายหลักทรัพย์และเงินปอนด์ที่อยู่ในมือ สั่นสะเทือนเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ และความน่าเชื่อถือของรัฐบาลสหราชอาณาจักร ที่สะสมมาหลายร้อยปี 

วิธีเดียวที่สหราชอาณาจักรจะเรียกคืนความน่าเชื่อถือให้กลับมาคือต้องล้มเลิก Trussonomics ซึ่งหมายความว่าต้องเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลัง หันกลับไปร่างงบประมาณใหม่ตามหลักการของเศรษฐกิจมหภาคและวินัยการคลัง โดยมีข้อมูลการประเมินผลกระทบจาก OBR มาประกอบเพื่อให้ตลาดไว้เนี้อเชื่อใจ เหตุการณ์จึงคลี่คลาย แต่ความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว และเกิดขึ้นแบบไร้เดียงสาด้วย

ลิซ ทรัสส์ประกาศลาออกจากการเป็นหัวพรรคคอนเซอร์เวทีฟ Picture by Simon Dawson / No 10 Downing Street

บทเรียนทางการเมืองจากวิกฤติการณ์ครั้งนี้คือ ความอยู่รอดของรัฐบาลและผู้นำประเทศในโลกเศรษฐกิจทุนนิยมและกลไกตลาดนั้น ขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นของตลาดเงิน-ตลาดทุนด้วย นอกเหนือจากกลไกตรวจสอบและถ่วงดุลพื้นฐาน อย่างเช่น พรรคการเมืองฝ่ายค้าน ตุลาการ สื่อมวลชน และการชุมนุมประท้วงของประชาชน  

กรณีของรัฐบาลลิซ ทรัสส์เห็นได้ชัดว่ากลไกตลาดกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ล้มรัฐบาล แม้ว่าตัวเธอเองพยายามบ่ายเบี่ยงหันไปกล่าวโทษคู่แข่งทางการเมืองภายในพรรคตัวเอง รวมถึงข้าราชการพลเรือน และสิ่งที่เธอเรียกว่า Left Wing Establishment  

เหตุโกลาหลนี้ยังเป็นข้อพิสูจน์อย่างหนึ่งว่า นักการเมืองที่พยายามขายฝันกับประชาชนและฐานเสียงของตน อาจจะดันทุรังจนชนะการเลือกตั้งได้จริง แต่การประกาศใช้นโยบายประชานิยมเพื่อหล่อเลี้ยงคะแนนเสียงของพวกเขา โดยละเลยหลักการของเศรษฐกิจมหภาค และวินัยการคลังย่อมมีผลต่อระบบเศรษฐกิจ สร้างปัญหาด้านเสถียรภาพในระยะยาว เป็นภาระหนี้สินให้ลูกหลาน 

รู้จัก OBR มรดกจากบทเรียนวิกฤติเศรษฐกิจ

ประเทศที่ผ่านวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจมาหลายครั้งหลายคราจนสรุปบทเรียนได้ จึงวางหลักการสำคัญสองประการ คือ ต้องปล่อยให้ธนาคารกลางเป็นอิสระจากการเมือง และจะต้องตั้งสถาบันการคลังที่เป็นอิสระ (Independent Fiscal Institutions – IFIs) อย่างเช่น OBR ของสหราชอาณาจักร ทำหน้าที่ตรวจสอบ ประเมินนโยบายการเงินการคลังตามหลักวิชาการ โดยชี้ให้เห็นถึง ผลได้-ผลเสีย ความเสี่ยง และรายงานต่อสาธารณะ ไม่ว่าจะมีสีสันทางการเมืองแบบใด หรือมีนักการเมืองที่ทั้งประเภทโลภมากและพวกไร้เดียงสา 

OBR เป็นหน่วยงานอิสระของรัฐ ก่อตั้งมาเมื่อปี 2010 หลังภาวะวิกฤติการเงินปี 2007-2009 มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการตรวจสอบและประเมินมาตรการทางการคลังของรัฐบาลว่าจะมีผลได้-ผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจ และเสถียรภาพการคลังของประเทศมากน้อยแค่ไหน โดยแนวคิดสำคัญคือ “It is the duty of the Office to examine and report on the sustainability of the public finances” (เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่จะพิจารณาและรายงานความยั่งยืนทางการคลังของสาธารณะ) 

OBR ทำงานอย่างเป็นอิสระและโปร่งใส โดยวางขอบเขตการทำงานตาม MOU ที่ลงนามกับหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลอย่างเช่น กรมสรรพสามิต สรรพากร กระทรวงแรงงานและบำนาญ และกระทรวงการคลัง วางข้อกำหนดเกี่ยวกับการทำงานร่วมกัน วางขอบเขตความรับผิดชอบ การประสานงาน และแบ่งปันข้อมูลวิธีการทำงานร่วมกันในการตรวจสอบ รวมถึงขั้นตอนการประเมิน-คาดการณ์ผลกระทบในอนาคต 

ภาระหน้าที่หลักๆ ของ OBR มี 5 ประการดังนี้

1. คาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจ-การคลัง โดยตีพิมพ์รายงานผลการศึกษาการประเมินและคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจ การคลังของประเทศล่วงหน้า 5 ปี ในทุกๆ 6 เดือนจะมีการปรับปรุงข้อมูลและตีพิมพ์รายงานเพิ่มเติมด้วย เพื่อให้รัฐบาลนำไปใช้ประกอบการแถลงร่างงบประมาณต้นปี (เดือนมีนาคม) และปลายปี (เดือนพฤศจิกายน) ต่อสภา โดยรายงานของ OBR จะให้รายละเอียดผลกระทบอันเกิดจากมาตรการภาษี รวมถึงการใช้จ่ายงบประมาณที่เกิดขึ้นแล้วและที่กำลังจะเกิดขึ้น 

2. ประเมินประสิทธิภาพของมาตรการการคลังต่างๆ ที่รัฐบาลประกาศใช้ว่าจะสามารถดำเนินการให้บรรลุถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้หรือไม่ อย่างเช่น เมื่อต้นปี 2022 รัฐบาลตั้งเป้าลดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ลง 1% ภายในปีที่สามของแผนห้าปี ซึ่ง OBR จะเข้ามาประเมินเป้าหมายนี้ว่าจะมีแนวโน้มเป็นไปได้จริงหรือไม่ เป็นต้น

3. วิเคราะห์บัญชีงบดุลและความยั่งยืนของฐานะการคลัง OBR จะดำเนินการศึกษาและประเมินความยั่งยืนในระยะยาวของการจัดหารายได้เข้าคลัง การควบคุมดูแลการใช้จ่ายในภาคส่วนต่างๆ ของรัฐ อัตราการเพิ่มของหนี้สินสาธารณะ วิเคราะห์บัญชีงบดุลของกระทรวงต่างๆ โดยใช้หลักการของผู้ตรวจสอบบัญชีแบบในภาคเอกชน 

4. ประเมินความเสี่ยงของฐานะการคลัง ศึกษาและทำรายงานประเมินความเสี่ยง ทบทวนดูปัจจัยความเสี่ยงต่างๆ ที่จะมีผลต่อระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินการคลังของประเทศ ทั้งในภาพใหญ่และความเสี่ยงที่มาแบบเฉพาะเจาะจง 

5. ทำหน้าที่ตรวจสอบและคำนวนค่าใช้จ่ายอันจะเกิดมาจากมาตรการภาษี และค่าใช้จ่ายในโครงการสวัสดิการสังคมต่างๆ ที่ระบุไว้ในร่างงบประมาณแผ่นดินแต่ละร่าง โดยนำตัวเลขที่รัฐบาลคำนวนไว้ นำมาทดสอบเปรียบเทียบ โดยยึดหลักวัตถุวิสัย (Objectivity) เพื่อเปิดเผยให้เห็นสิ่งท้าทายและความเสี่ยงที่ฝังตัวอยู่ภายในแต่ละร่าง แล้วให้กระทรวงการคลังตีพิมพ์เปิดเผยต่อสาธารณะเคียงคู่ไปกับร่างงบประมาณแผ่นดินดังกล่าวนั้น 

นอกเหนือจากภาระกิจตามหน้าที่ดังกล่าว OBR ยังรับงานเฉพาะกิจจากหน่วยงานต่างๆ ของรัฐที่ต้องการให้ศึกษาวิจัย ประเมิน และคาดหมายผลกระทบอันจะเกิดจากโคงการใช้จ่ายเงินงบประมาณที่หน่วยงานนั้นๆ ต้องการวัดความคุ้มค่าจากการใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชน แล้วตีพิมพ์เปิดเผยต่อสาธารณชนในหน้าเว็บเพจของสำนักงาน

ถึงเวลาที่ไทยควรมีหน่วยงานอิสระตรวจสอบการคลัง?

ขณะนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) รายงานว่ามีประเทศต่างๆ 37 ประเทศที่ออกกฎหมายก่อตั้งสถาบันการคลังที่เป็นอิสระ (Independent Fiscal Institutions) แบบนี้  เพื่อให้ทำหน้าที่ประเมินและรายงานผลได้-ผลเสียจากนโยบายการเงิน-การคลังของรัฐบาล โดยทีมงานวิจัยที่ยึดมั่นในหลักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคและวินัยการคลัง ทั้งนี้หลังจากเกิดเหตุวิกฤติการเงินทั่วโลกเมื่อปี 2007-2009 มีเสียงเรียกร้องจาก IMF ให้ประเทศต่างๆ จัดตั้งหน่วยงานอิสระดังกล่าวนี้เพิ่มมากขึ้น

ในประเทศไทยช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมามีบรรยากาศของการหาเสียงเลือกตั้ง บรรดาพรรคการเมืองต่างๆ เริ่มออกมาประกาศนโยบายหลายอย่างในลักษณะขายฝัน ลดแลกแจกแถม เรียกคะแนนเสียงแบบประชานิยมกันอย่างคึกโครม หลายพรรคการเมืองเสนอนโยบายหลายอย่างที่เหลือเชื่อ คำถามคือ หากได้รับเลือกตั้งแล้วจะจัดหารายได้มาจัดทำงบประมาณอย่างที่ประกาศได้จริงหรือไม่ และที่น่าเป็นห่วงคือนโยบายลดแลกแจกแถมดังกล่าวจะเป็นการละเมิดวินัยการคลัง ไปกระตุ้นให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ หรือสร้างภาระหนี้สินสาธารณะจนเกิดความเสียหายต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวหรือไม่ 

ขณะนี้ก็ยังไม่เห็นมีหน่วยงานอิสระใดๆ ในประเทศไทย ที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบ หรือประเมินนโยบายขายฝันดังกล่าวแล้วรายงานต่อสาธารณะในลักษณะแบบ OBR เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งนี้ แม้จะมีข่าวว่าสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มีความคิดริเริ่มในแนวทางนี้ แต่ก็ยังไม่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน 

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save