fbpx
เมื่อนิวยอร์กไทมส์ไปกรุงวอชิงตัน

เมื่อนิวยอร์กไทมส์ไปกรุงวอชิงตัน

 ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เรื่อง

 

ประธานาธิบดีกับสื่อมวลชน

 

การเมืองอเมริกันในยุคของโดนัลด์ ทรัมป์ เต็มไปด้วยสีสันและสร้างความระทึกใจ ตื่นเต้น หงุดหงิด สมหวังบ้าง ผิดหวังบ้าง ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ไมค์ พอมเพอี ประกาศว่าสหรัฐฯ ตัดสินใจถอนตัวออกจากสนธิสัญญาอาวุธนิวเคลีย์พิสัยกลาง (the 1987 Intermediate-Range Nuclear Forces Treaty – INF) กับรัสเซียที่ทำในปี 1987 สมัยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน กับกอร์บาชอฟ โดยอ้างเหตุว่ารัสเซียไม่ทำตามสนธิสัญญา ซึ่งห้ามไม่ให้สร้างอาวุธนิวเคลีย์พิสัยกลางหรือเครื่องยิงอาวุธเหล่านี้อีกต่อไป

การตัดสินใจครั้งนี้สร้างความตื่นตระหนกและกังวลใจแก่ผู้คนรอบข้าง ทั้งจากรัฐสภาคองเกรสและสื่อมวลชน ไปจนถึงผู้เชี่ยวชาญด้านการลดการแข่งขันในการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหลาย เพราะพวกเขาไม่มั่นใจว่าทรัมป์จะตัดสินใจกดปุ่มยิงระเบิดนิวเคลียร์เมื่อไร ที่ผ่านมาทรัมป์ตัดสินใจเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศหลายเรื่องผ่านการทวีต โดยไม่ได้ปรึกษาหารือกับที่ปรึกษาและผู้รับผิดชอบในกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ เมื่อทวีตของทรัมป์ออกไป (ตอนดึกหรือใกล้รุ่ง) พวกเจ้าหน้าที่ถึงวิ่งกันฝุ่นตลบว่าจะทำตามคำสั่งนั้นกันอย่างไร

นอกจากความสับสนปั่นป่วนและโกลาหลในทำเนียบขาวและกระทรวงต่างๆ แล้ว อีกปัญหาและความขัดแย้งที่ทวีความตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ นับแต่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี คือ ความสัมพันธ์กับสื่อมวลชน โดยเฉพาะกับหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่เช่น นิวยอร์กไทมส์ และ วอชิงตันโพสต์  สำนักข่าวโทรทัศน์ระดับชาติและโลกเช่น ซีเอ็นเอ็น เอ็นบีซี ซีบีเอส และสำนักข่าวออนไลน์อีกนับไม่ถ้วน มีเพียงสำนักข่าวเดียวที่ทรัมป์ยอมดูและให้สัมภาษณ์สดได้ทุกเมื่อคือฟ็อกซ์นิวส์  ซึ่งเป็นสำนักข่าวอนุรักษนิยมเอียงขวาและสนับสนุนจุดยืนและนโยบายการสร้างอเมริกาให้ยิ่งใหญ่อย่างไม่ปิดบัง

ความจริงว่าไปแล้ว ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แทบทุกคนต่างมีปัญหาหรือความหงุดหงิดใจต่อการรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์วิทยุมาด้วยกันทั้งนั้น ต่างว่าจะมีมากหรือน้อย หนักหน่วงหรือเป็นพักๆ ตามสถานการณ์ ด้วยว่าสื่อมวลชนอเมริกันนับแต่ก่อตั้งมาในยุคที่อเมริกายังเป็นอาณานิคมภายใต้กษัตริย์อังกฤษ หนังสือพิมพ์ในอาณานิคมนิวยอร์กเป็นหัวหอกในการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานบริหารของข้าหลวงอังกฤษอย่างไม่เกรงใจ จนถูกฟ้องร้องขึ้นศาลในคดีเซ็นเกอร์ปี 1734-5 แต่ในที่สุดทนายความผู้รักความเป็นธรรมก็สามารถต่อสู้จนชนะคดีความได้ โดยพิสูจน์ว่าการวิจารณ์ข้าหลวงนั้นเป็นเรื่องที่เป็น “สัจธรรม” (truth) ซึ่งต่างจาก “ข้อเท็จจริง” (fact) จากนั้นมาหลังจากเป็นเอกราชและมีรัฐธรรมนูญ ก็ยังมีบทแก้ไขเพิ่มเติมรับรองสิทธิมนุษยชนอีก โดยเฉพาะข้อที่หนึ่งซึ่งปกป้องการใช้เสรีภาพในการพูด เขียน คิด และศึกษา

การวิจารณ์เปิดโปงการกระทำของผู้ปกครองและรัฐบาลโดยสื่อมวลชนได้รับการตอกย้ำให้เป็นยิ่งกว่ากฎหมาย หากแต่เป็นจารีตของการทำงานที่ฝ่ายปกครองจำต้องยอมรับแม้จะไม่ชอบก็ตาม ประเด็นเรื่องจารีตแนวทางปฏิบัติสำหรับทุกฝ่ายทั้งผู้ปกครองและผู้ถูกปกครองเป็นหัวใจอันสำคัญยิ่งที่ทำให้ระบบประชาธิปไตยเสรีมีน้ำยาและความคงทนเหนือกว่าระบบเผด็จอำนาจทั้งหลายในระยะยาวได้

ไม่ต้องบอก ใครที่ติดตามข่าวการเมืองอเมริกันยุคโดนัลด์ ทรัมป์ ก็รู้ว่าสัมพันธภาพระหว่างทรัมป์กับสื่อมวลชนขณะนี้เพี้ยนไปจากแต่ก่อนมาก โดยเฉพาะหลังจากที่เขาได้เข้ารับตำแหน่งผู้ครองอำนาจสูงสุดในประเทศ การกระทบกระเทียบกระแนะกระแหนค่อยๆ ดำเนินมาจากเรื่องการรายงานข่าวพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง ผู้สื่อข่าวรายงานว่าผู้คนที่เข้าร่วมพิธีน้อยกว่าสมัยโอบามา ในขณะที่ทรัมป์ตอบโต้อย่างแรงว่าโกหก คนมางานของแกมากกว่ายุคโอบามาอย่างมหาศาล จากนั้นก็ตามมาด้วยการวิพากษ์วิจารณ์การออกคำสั่งห้ามคนมุสลิม 6 ประเทศในตะวันออกกลางเข้าประเทศ และอีกหลายเรื่อง กระทั่งล่าสุดทำเนียบขาวถึงกับทำการไล่นักข่าวซีเอ็นเอ็นออกจากห้องแถลงข่าวและริบบัตรอนุญาตทำข่าวไว้ด้วย อันนี้ถือว่ารุนแรงที่สุดที่ทำเนียบขาวและประธานาธิบดีกระทำต่อนักข่าว

ทำเนียบขาวไม่อาจใช้กฎหมายอะไรมาเล่นงานสื่อมวลชนได้เลย เมื่อรู้ว่าการฟ้องร้องหรือใช้กฎหมายเล่นงานสื่อมวลชนไม่ได้ ทรัมป์ก็ใช้วิธีที่เขาถนัดคือการออกมาตอบโต้อย่างตาต่อตาฟันต่อฟันแบบเดี่ยวไมค์เลย เรียกว่าไม่ต้องเผาผีกันอีกต่อไป อันเป็นบทบาทที่แปลกประหลาดยิ่งของประธานาธิบดีซึ่งมีอำนาจสูงสุดในประเทศ แต่กลับลงมาวิวาทต่อปากต่อคำด้วยคำพูดที่บางครั้งหยาบคาย แถมดูถูกเหยียดหยามประชดประชันฝ่ายตรงข้าม มันไม่ใช่ท่าทีและบุคลิกของผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐเขากระทำกัน ข้อนี้อาจเป็นด้วยการมีเครื่องมือสื่อสารสะดวกรวดเร็วอย่างทวิตเตอร์ที่ทรัมป์ใช้ประจำทุกวัน และมีผู้ติดตามหลายล้านคน ด้วยเครื่องมือดังกล่าวทำให้ทรัมป์สามารถโต้ตอบสื่อมวลชนที่วิพากษ์เขาได้ทันที ไม่ต้องรอเวลา ทำให้เกิดสภาวะคล้ายสงครามเย็นระหว่างประธานาธิบดีกับสื่อมวลชนใหญ่ในอเมริกา

ผมติดตามการแสดงท่าทีและเนื้อหาการตอบโต้สื่อมวลชนของทรัมป์มาพักหนึ่ง จนเกิดอาการเบื่อหน่ายและหมดหวังว่าทำเนียบขาวจะกลับมามีฐานะของผู้นำทางจริยธรรมและคุณธรรมของประชาชนอีกต่อไป พอสำนักข่าวตัดไปยังภาพคลิปสัมภาษณ์ของทรัมป์ผมก็ปิดเสียงทันที ไม่ต้องฟังก็รู้ว่าแกพูดอะไรด่าว่าใครอย่างไร

น่าสนใจว่าผมดูข่าวโดยปิดเสียงของสองผู้นำไทยและอเมริกามาโดยตลอด เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สัมพันธภาพระหว่างสยามกับสหรัฐฯ ที่ผู้นำสูงสุดของสองรัฐมีอะไรที่เหมือนกันแต่ไม่ใช่เป็นอย่างเดียวกัน

 

ที่มา : The New York Times

 

ทรัมป์กับนิวยอร์กไทมส์

 

เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ผมได้ฟังคำสัมภาษณ์และการสนทนาระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ กับคณะนักข่าวและผู้พิมพ์ผู้โฆษณาของหนังสือพิมพ์ นิวยอร์กไทมส์ ในห้องรูปไข่ทำเนียบขาว การพบปะและสนทนารวมการสัมภาษณ์ด้วยนั้น เป็นอะไรที่น่าสนใจและมีผลต่อการเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างประธานาธิบดีกับสื่อมวลชนในบริบทของระบบการเมืองอเมริกันอย่างยิ่ง

พอตามไปดูรายละเอียดของการพบปะสนทนากันระหว่างสองสถาบัน ก็พบว่าเรื่องนี้ดำเนินการกันมาไม่ต่ำกว่าปี แบ่งเป็นสองภาค ภาคแรกเริ่มราวฤดูร้อนปีที่แล้ว เมื่อซารา แซนเดอร์ส โฆษกทำเนียบขาว ส่งอีเมลไปหาอาเธอร์ ซัลเบอร์เกอร์ ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งเป็นผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์แทนบิดาที่เกษียณอายุไป (ตระกูลนี้เป็นผู้ก่อตั้งและเจ้าของนิวยอร์กไทมส์มาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19) โดยเชิญให้มาพบพูดคุยกับประธานาธิบดีทรัมป์แบบ “ไม่เปิดเผย” (off-the-record) หมายความว่าจะไม่มีการรายงานหรือเปิดเผยการพบกันครั้งนี้ให้แก่บุคคลข้างนอก ถือเป็นความลับ

ปกติหนังสือพิมพ์ไม่ค่อยชอบการพบสนทนากับแหล่งข่าวแบบ “ปิดลับ” เพราะทำให้รายงานข่าวไม่ได้ เจอกันพูดกันแต่ทำเป็นข่าวไม่ได้ ถ้างั้นจะเจอกันทำไม แต่นิวยอร์กไทมส์ ตัดสินตอบตกลงไปพบ เพราะถือว่าทรัมป์เป็นบุคคลที่สร้างข่าวมากที่สุด การมีโอกาสได้พูดคุยกันแม้จะต้องปิดลับก็ยังคงมีประโยชน์อะไรบ้าง

การพบปะครั้งแรกดำเนินไปด้วยดี ไม่มีข้อคิดเห็นที่ขัดแย้งกัน เพราะเป็นการคุยไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีการตั้งหัวข้อ และยิ่งเป็นอะไรที่ “ปกปิด” นักข่าวไทมส์คิดว่าคงไม่มีประโยชน์ที่จะถามเรื่องสำคัญๆ ตอนสุดท้ายของการสนทนา เอ.จี. (ชื่อย่อของผู้พิมพ์โฆษณา) จึงตัดสินใจเสนอประเด็นที่อยู่ในใจเขามาพักใหญ่แล้ว นั่นคือ

การที่ทรัมป์ชอบพูดและเขียนโจมตีสื่อว่าเป็น “ข่าวปลอม” (fake news) บ่อยๆ บัดนี้ได้ระบาดไปทั่วโลกแล้ว แต่เป็นในความหมายของการปิดกั้นเสรีภาพของสื่อมากกว่าการแสวงหาสัจธรรมความจริงของข่าว สิ่งที่น่ากลัวในการใช้คำพูดนี้คือการทำให้สื่อมวลชนกลายเป็น “ศัตรูของประชาชน”

วลีดังกล่าวเป็นวลีที่ทรัมป์เป็นคนคิดริเริ่มใช้เอง ข้อที่น่ากลัวคือการเป็นศัตรู มันทำให้คนคิดถึงการจับสื่อเข้าคุก หรือทำร้ายหรือทำลายสื่อ ซึ่งเขาคิดว่าทรัมป์คงไม่มีเจตนาที่จะทำขนาดนั้นกับสื่อมวลชน

คาดไม่ถึงว่าความเห็นเชิงวิจารณ์ของ เอ.จี. แทนที่จะทำให้ทรัมป์ลุกขึ้นมาตอบโต้หรือแก้ต่าง เขาพบว่าทรัมป์รับฟังอย่างสงบ และพูดเสริมด้วยว่าเขาไม่รู้จริงๆ ว่าคำว่า “ข่าวปลอม” ได้แพร่หลายใช้กันทั่วโลกแล้ว ซึ่งถ้าใช้ในแง่ลบ ทรัมป์กล่าวว่าเขาก็ไม่ชอบเหมือนกัน การแสดงความเห็นของทรัมป์ในตอนท้ายการสนทนาฟังแล้วไม่เหมือนตัวตนของเขาที่รู้จักในที่สาธารณะเลย มันมีเหตุผลและมีความเข้าใจในการกระทำของสื่อไม่น้อย เมื่อลุกขึ้นร่ำลากันทรัมป์ยกนิ้วขึ้นแล้วชี้ไปที่ศีรษะเขาพลางกล่าวว่า “ขอบคุณที่มาให้ความคิดเห็น มีหลายเรื่องที่เขาจะนำไปคิดต่อ” ผมอ่านแล้วนึกในใจว่า ไม่น่าเชื่อว่าทรัมป์พูดและคิดอย่างที่พูดจริง

ทว่ามิตรภาพที่ดูอบอุ่นระหว่างสองฝ่ายก็มลายหายไปในราวอาทิตย์หรือ 10 วันต่อมา ทรัมป์ทวีตเรื่องการพบปะพูดคุยกับผู้พิมพ์ผู้โฆษณาและนักข่าวนิวยอร์กไทมส์ โดยกล่าวว่าทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยกันเกี่ยวกับ การที่สื่อมวลชนนำเสนอ “ข่าวปลอม” ออกมาจำนวนมาก และการที่ข่าวปลอมเหล่านั้นกลายเป็น “ศัตรูของประชาชน”ไป น่าสงสาร! (“the vast amounts of Fake News being put out by the media & how that Fake News has morphed into phrase, ‘Enemy of the People.’ Sad!”)

นั่นเป็นการละเมิดข้อตกลงของการพบปะกันว่าจะไม่มีการเปิดเผย แต่ทรัมป์เองเป็นฝ่ายเปิดและหาคะแนนให้ตัวเองด้วยการสรุปประเด็นที่ไม่ตรงกับที่นิวยอร์กไทมส์ เสนอแก่เขาในการพูดคุยกัน หลังจากนั้นนิวยอร์กไทมส์ จึงตีพิมพ์รายงานข่าวเบื้องหลังการพบปะและประเด็นที่ได้คุยกันว่ามีอะไรบ้าง เพื่อแก้ “ข่าวปลอม” ที่ปล่อยออกมาจากทรัมป์

ก่อนที่จะสายสัมพันธ์ที่เพิ่งผูกขึ้นจะขาดสะบั้น ก็มีคำเชื้อเชิญจากทำเนียบขาวมายัง เอ.จี. อีกครั้ง คราวนี้ท่านประธานาธิบดีจะเชิญมาร่วมรับประทานอาหารค่ำด้วยกันเป็นการส่วนตัว ตอนแรก เอ.จี.และนักข่าวนิวยอร์กไทมส์ คิดว่าปฏิเสธดีกว่า เลิกติดต่ออะไรกับทรัมป์เสียที เพราะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากคนที่ไม่รักษาคำพูด แต่พอคิดไปคิดมาก็รู้สึกว่าควรไปพบกันอีกที แต่คราวนี้ฝ่ายไทมส์ยื่นข้อเรียกร้อง ด้วยการเสนอว่าแทนที่จะเป็นอาหารค่ำ (ที่หรูหรา) ขอเป็นการสัมภาษณ์อย่างเป็นทางการและมีการบันทึกทุกอย่างเป็นหลักฐานด้วย (on-the-record interview) ทำเนียบขาวคงรู้ว่าฝ่ายหนังสือพิมพ์ไม่ค่อยพอใจนักจากการปฏิบัติครั้งก่อน จึงยินยอมตามข้อเสนอด้วยการให้สัมภาษณ์อย่างเปิดเผย

ช่วงแรกของการสัมภาษณ์ ทรัมป์ตอบอย่างมั่นใจ เชื่อมั่นในผลงานและการปฏิบัตินโยบายต่างๆ ของเขา เขามีความสุขกับการให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ที่เขาเรียกว่าเป็น “ศัตรูของประชาชน” อย่างเพลิดเพลิน จนเมื่อคำถามเริ่มเข้าสู่ประเด็นการเมืองในคองเกรส การปิดที่ทำการของรัฐบาลกลาง ซึ่งทรัมป์ยืนยันว่าเป็นความผิดของแนนซี เพโลซี นักข่าวถามว่านี่เป็นครั้งแรกที่ประธานาธิบดีประลองกำลังกับประธานสภาผู้แทนราษฎรใช่ไหม รู้สึกอย่างไร ประเมินเธอต่ำไปหรือเปล่า เขาตอบว่าเขาเคยเข้ากับเธอได้อย่างดีตลอดมา แต่คราวนี้ไม่ใช่แล้ว และคิดว่าคงจะเข้ากันไม่ได้อีกต่อไป เธอทำความเสียหายแก่ประเทศอย่างมาก

ประเด็นคำถามที่เปลี่ยนท่าทีและน้ำเสียงของทรัมป์ไปจากการตอบอย่างลื่นไหลมาเป็นการตอบที่ช้าลงและสั้น นั่นคือเรื่องการแทรกแซงของรัสเซียในการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่และคนทำงานใกล้ชิดกับทรัมป์หลายคนถูกคณะกรรมการอิสระของมุลเลอร์สอบสวนและส่งเรื่องฟ้องศาลไป เขารู้สึกอย่างไร ทรัมป์ปฏิเสธว่าเขาและบริษัทไม่ได้เกี่ยวพันอะไรในเรื่องนั้นเลย ในเรื่องการพบปะเจรจากับคนของรัสเซียที่ทรัมป์ทาวเวอร์ตามที่เป็นข่าวนั้น เขาตอบว่าการเจรจากับมอสโกนั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไรเลย ไม่มีอะไรเลย มันไม่ใช่ธุรกิจ ไม่มีการลงทุนเป็นเงินเป็นทอง ถามต่อไปถึงวิกิลีกส์ว่าเคยพูดกับพวกนั้นไหม เขาตอบว่าไม่เคยติดต่อกันเลย ทรัมป์กอดอกแน่น คำพูดเริ่มช้าลง ค่อยๆ คิดคำที่จะตอบ เห็นได้ว่าเขาเริ่มไม่สบายใจ อึดอัด ในที่สุด ซารา แซนเดอร์ส โฆษกทำเนียบขาว ต้องเข้ามาแทรกด้วยการบอกว่าให้เปลี่ยนเป็นประเด็นคำถามอื่นต่อไป

ในที่สุดหัวข้อของการสนทนาเชิงสัมภาษณ์ก็วนกลับมายังประเด็นของ “ข่าวปลอม” ผลสะเทือนของการสร้างวาทกรรมนี้ขึ้นมา ซึ่งแพร่กระจายไปทั่วโลก เอ.จี. กับนักข่าวไทมส์พากันอธิบายให้ทรัมป์เห็นภาพรวมของการโจมตีสื่อมวลชน และเสรีภาพของหนังสือพิมพ์และนักข่าวในโลก ว่ากำลังถดถอยและถูกปิดกั้นอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลอเมริกันซึ่งเคยทำหน้าที่หลักในการปกป้องและพิทักษ์เสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชนมาอย่างยาวนาน บัดนี้กลับเป็นฝ่ายออกมาเป็นปฏิปักษ์กับเสรีภาพและบทบาทในการวิพากษ์วิจารณ์ของนักหนังสือพิมพ์เสียเอง

จุดนี้ผมว่าเป็นจุดสุดยอดของการสัมภาษณ์เชิงสนทนากัน ด้วยการนำเอาประเด็นใจกลางออกมาแผ่ให้เห็นด้วยกันทั้งสองฝ่าย เมื่อถามว่า แล้วทรัมป์คิดว่าสื่อมวลชนควรทำอะไร เขาตอบว่า ก็ให้รายงานข่าวและเรื่องราวต่างๆ อย่าง “ถูกต้องและเป็นธรรม” (accurate and fair) ถ้าข่าวถูกต้องเป็นธรรมก็เป็นความสวยงาม ต่อประเด็นนี้ เอ.จี.ตอบว่าเห็นด้วย แต่เขาเสริมต่อไปว่านิยามนี้แคบไปหน่อย หนังสือพิมพ์อย่างนิวยอร์กไทมส์ ต้องทำหน้าที่มากไปกว่าการรายงานข่าวให้ประชาชนเข้าใจเหตุการณ์ในโลก ที่สำคัญกว่านั้นอีกคือการแสวงหาสัจธรรมในทุกที่ ที่มันนำไป ทำให้อำนาจของคนที่อยู่ในตำแหน่งที่สูงส่งนี้ต้องรับผิดชอบด้วย (I view the core responsibility of The Times not just as helping people understand the world, but in seeking the truth wherever it leads, holding power to account.) และภารกิจอันนี้ แน่นอนว่าคนที่อยู่ในตำแหน่งล้วนไม่สบายใจทั้งนั้น

 

อำนาจการเมืองกับพลังสาธารณะ

 

ผมยอมรับว่าประทับใจในการสนทนาและสัมภาษณ์ระหว่างทรัมป์กับนิวยอร์กไทมส์ เป็นอย่างยิ่ง ประกายน้อยๆ ที่ส่องออกมาจากห้องรูปไข่ในทำเนียบขาวคือสภาวการณ์ของการที่อำนาจสูงสุดในระบบการเมืองอเมริกันยอมรับฟังความเห็นและการปฏิบัติของสถาบันสื่อมวลชนซึ่งเป็นตัวแทนของสาธารณะหรือสังคม

ผมไม่เชื่อว่าทรัมป์จะเห็นด้วยและเปลี่ยนท่าทีเลิกตอบโต้สื่อมวลชน มันเป็นเรื่องของการเมือง แต่อย่างน้อยในส่วนลึกของการเมืองนี้ก็ยังมีความเป็นสังคมอยู่ ประธานาธิบดียังต้องก้มหัวให้แก่พลังของสังคมและสาธารณะ เขาไม่ใช่ผู้เผด็จอำนาจและครอบงำเหนือความคิดและจิตใจคนอเมริกันได้ทั้งหมดอย่างกระดิกไม่ได้ แม้ได้พยายามใช้อำนาจไปในหลายเรื่องแล้วก็ตาม แต่ผลสะท้อนก็คือยังมีคนและสื่อจำนวนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยและไม่เชื่อตามความคิดและการกระทำของเขา ดังนั้นทรัมป์จึงต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับ “ศัตรูของประชาชน” ของเขาต่อไปอีกสองปี

ลองคิดดูว่าอะไรจะเกิดขึ้นในระบบการเมืองไทย หากนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งพูดคุยถกเถียงกับ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ และบรรณาธิการ มติชน ในประเด็นการตีความกฎหมายเพื่อใช้บรรลุจุดประสงค์ของรัฐบาลไทย ว่าเป็นการอ่านกฎหมายตามตัวอักษร แล้วตีความความหมายให้เข้ากับความต้องการของผู้มีอำนาจ ไม่ใช่ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและประโยชน์ของสาธารณชน ตรงนี้คือความแตกต่างระหว่าง “ซ่องโจร” กับ “รัฐ” ว่าต่างกันนิดเดียวเท่านั้น แต่เป็นนิดเดียวที่สำคัญยิ่ง

“นั่นคือในซ่องโจร กฎเกณฑ์และการบังคับใช้เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ส่วนบุคคล ในขณะที่รัฐ กฎเกณฑ์และการบังคับใช้เป็นเรื่องของความสัมพันธ์สาธารณะ” (นิธิ เอียวศรีวงศ์, มติชนออนไลน์ 21 ตุลาคม 2561)

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save