“วันที่รู้ว่าโดน 112 เหมือนโลกถล่มแผ่นดินทลาย” ณัฏฐิกา วรธันยวิชญ์ กับชีวิตผู้ลี้ภัยในต่างแดน

เช้าตรู่วันที่ 27 เมษายน 2559 ณัฏฐิกา วรธันยวิชญ์ ถูกชายฉกรรจ์หลายสิบคนพร้อมอาวุธบุกจับที่บ้านภายใต้กฎหมายพิเศษของคณะรัฐประหาร โดยไม่แจ้งข้อกล่าวหา ไม่มีหมายจับ ไม่มีหมายค้น เธอถูกยึดเครื่องมือสื่อสาร เอาตัวขึ้นรถ ใช้ถุงคลุมหัวไปค่ายทหาร

หากเห็นเพียงภาพการจับกุมและแถลงข่าว คงคาดเดาไปว่าเป็นการจับกุมผู้ต้องหาคดีอุกฉกรรจ์ …แต่เปล่าเลย สาเหตุที่นำไปสู่เหตุการณ์ดังกล่าวเพราะเธอทำเพจล้อเลียนการเมืองชื่อ ‘เรารักพล.อ.ประยุทธ์’

อาจเป็นตลกร้าย หากพิจารณาว่าผู้ต้องหาคดีอุกฉกรรจ์ยังมีสิทธิในกระบวนการยุติธรรมมากกว่าที่ณัฏฐิกาและนักโทษการเมืองคนอื่นๆ ต้องเผชิญในกระบวนการยุติธรรมภายใต้เผด็จการ

ณัฏฐิกาและเพื่อนถูกฟ้องด้วย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์และมาตรา 116 โดยณัฏฐิกาถูกแจ้งข้อหาตามมาตรา 112 เพิ่มอีกหนึ่งคดี

การเข้าเรือนจำ 71 วันกลายเป็นฝันร้ายในชีวิต เมื่อถูกปล่อยตัวเธอจึงตัดสินใจลี้ภัยไปอเมริกา และเพิ่งได้สถานะผู้ลี้ภัยเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ หลังรอคอยกระบวนการมานานหลายปี

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแยกจากครอบครัวไปเริ่มชีวิตใหม่เพียงลำพัง ณัฏฐิกายืนยันว่าการได้พูดคุยกับแม่ผ่านหน้าจอโทรศัพท์ ยังดีกว่าต้องพูดคุยผ่านลูกกรง เธอพยายามปกป้องอิสรภาพของตัวเอง อันเป็นสิ่งที่หาไม่ได้ในแผ่นดินที่ยินยอมให้บังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม

แม้ว่าจะต้องอยู่ห่างครอบครัว แต่การวิดีโอคอลคุยกับแม่แทบทุกวันและได้เจอหน้ากันนานๆ ครั้งนั้นพอบรรเทาความกังวลได้บ้าง สิ่งสำคัญคือในวันนี้ณัฏฐิกามีชีวิตที่เป็นอิสระ ออกมาร่วมเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยไทยร่วมกับคนไทยในอเมริกาเป็นครั้งคราว อยู่ในรัฐที่คุ้มครองผู้ลี้ภัยและรับรองเสรีภาพการแสดงออกทางการเมือง

อันเป็นสิ่งที่เธอหาไม่ได้ในประเทศไทย

บทสนทนาต่อจากนี้ นอกจากจะเป็นบทบันทึกชีวิตผู้หญิงคนหนึ่งที่ต้องจากบ้านไปแดนไกลแล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งบทบันทึกผลพวงจากการรัฐประหาร 2557 ที่ทำลายชีวิตผู้คนจำนวนมากต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน และจะทอดยาวไปสู่อนาคตหากไม่มีความเปลี่ยนแปลงใด

ความสนใจเรื่องการเมืองเริ่มตั้งแต่ตอนไหน

ตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 ตอนนั้นทำงานบริษัท ใช้ชีวิตปกติ รู้สึกว่าในยุคทักษิณประเทศมันดี เราไม่ได้โปรทักษิณหรือโปรใครทั้งสิ้น แต่จำได้ว่ายุคนั้นมีนายกฯ เก่ง เกิดปัญหาแล้วเขาแก้ปัญหาทันที ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน

เราเกิดและโตในยุคที่ทหารเป็นนายกฯ มาตลอด สงสัยว่าทำไมประเทศเราต้องปกครองด้วยทหาร มีทหารเป็นรัฐมนตรี มีทหารไปนั่งอยู่ในรัฐบาล สงสัยว่าทำไมตำรวจหรือทหารที่อยากจะได้ตำแหน่งต้องเข้าบ้านป๋า และในยุคทักษิณเขาจัดงานฉลองครองราชย์ครบรอบ 60 ปีของในหลวง ร.9 แบบยิ่งใหญ่มาก ถ้าไม่ใช่ทักษิณไม่มีใครจัดได้อย่างนั้นแน่นอน เราภูมิใจในความเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เห็นว่าเขาเป็นคนที่น่าให้โอกาสในการพัฒนาบ้านเมือง

พอเกิดรัฐประหาร 2549 จากคนที่ไม่ได้สนใจอะไรก็เริ่มเข้าพันทิปห้องเฉลิมไทย พอเว็บบอร์ดพันทิปถูกปิดก็เลยไปเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน พอเริ่มมีโซเชียลมีเดียก็เล่นเฟซบุ๊ก คอมเมนต์วิจารณ์การเมืองไปเรื่อยๆ จนรู้จักกลุ่มคนเสื้อแดงและชวนกันทำเพจการเมือง

ปี 2553 มีการชุมนุมใหญ่ที่ผ่านฟ้า เราเริ่มทำเพจจริงจังขึ้น ทำงานประจำไปด้วย พอว่างก็ไปม็อบ แบกกล้องกับโน้ตบุ๊กไปด้วย ใช้แอร์การ์ดเข้าอินเทอร์เน็ต โพสต์รูปลงเพจ เป็นนักรบไซเบอร์ยุคแรกๆ (ยิ้ม)

ในที่ทำงานเราจะไม่เปิดตัวว่าเป็นเสื้อแดง เพราะสังคมการทำงานของเราในกรุงเทพฯ แค่คุยกันก็รู้แล้วว่าไม่ใช่แนวเดียวกัน เราเลยอยู่เงียบๆ ดีกว่า พอปี 2556 ก็เปลี่ยนมาทำงานแบบฟรีแลนซ์

เริ่มทำเพจ ‘เรารักพล.อ.ประยุทธ์’ ได้อย่างไร

ปี 2557 เราไปชุมนุมที่ถนนอักษะแล้วอยู่ในเหตุการณ์ทหารสลายการชุมนุม พอกลับบ้านมาเปิดทีวีก็เห็นว่าเขารัฐประหารแล้ว มีประกาศกฎอัยการศึกห้ามชุมนุม อารมณ์คุกรุ่นอยู่ในใจว่าเราทำอะไรไม่ได้แล้ว ก็เลยสร้างเพจ ‘เรารักพล.อ.ประยุทธ์’ ใส่ category เป็นตัวตลก ลงรูปล้อเลียน แล้วเพิ่มชื่อน้องๆ เป็นแอดมิน เรารู้สึกว่าโดนลิดรอนสิทธิ โดนยึดอำนาจความเป็นพลเมืองไทยที่มีอยู่ในมือเราไปอีกแล้ว เลยทำเพจขำๆ ไม่คิดว่าเพจจะเป็นที่รู้จัก น้องๆ ที่ทำด้วยกันเป็นแนวสายฮา ตัดต่อรูปตลกๆ จนเพจค่อยๆ โต ไม่ได้เป็นเพจยุยงปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรงอะไรทั้งสิ้น

เราเปลี่ยนเฟซบุ๊กตัวเองให้เป็นอวตารตั้งแต่หลังสลายการชุมนุมปี 2553 ลบรูปตัวเองออกหมดและไม่ใช้ชื่อจริง กระทั่งตอนโดนจับปี 2559 เฟซบุ๊กเราก็ยังเป็นอวตารอยู่ แต่เขาก็ตามมาจับเราเลยเข้าใจว่าน่าจะโดนแฮ็กเฟซบุ๊ก

วันที่โดนจับเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้าง

เราอยู่บ้านกับแม่แค่สองคน ตอนหกโมงเช้าแม่มาเคาะประตูห้องบอกว่ามีคนขึ้นมาบนดาดฟ้าบ้านแล้วเคาะประตูห้องแม่ แม่ก็ตะโกนถามไปว่ามาหาใคร เขาบอกว่ามาหาลูกสาวแม่ เราเดินลงไปข้างล่างเห็นผู้ชายกลุ่มใหญ่อยู่ทั้งหน้าบ้านและหลังบ้าน เขากดกริ่ง พอเปิดประตูเขาก็เข้ามาทุกทาง ทั้งข้างบนและข้างล่างบ้าน

แม่ถามเขาว่าพวกคุณมีหมายศาลหรือหมายค้นหรือเปล่า เขาตอบว่า “ผมไม่ต้องใช้หมายหรอก ผมใช้อำนาจตามมาตรา 44 ผมใหญ่กว่าศาลอีกแม่” เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมายึดคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์มือถือ พาสปอร์ต เขาบอกแม่ว่า “เดี๋ยวผมจะเอาตัวลูกสาวแม่ไปนะ” แม่ก็บอกว่า “แม่ไปด้วยนะ” เขาบอกว่า “ไม่ได้หรอกแม่ เดี๋ยวผมเอามาส่งเอง” เราพยายามพูดไม่ให้แม่ตกใจ บอกว่าไปคืนเดียวเดี๋ยวก็กลับมาแล้ว

เขามากันประมาณ 20 คนเพื่อจับเราคนเดียว แล้วตอนนั้นยังไม่มีคดี ไม่มีหมายอะไร ที่น่าตกใจกว่านั้น พอเขาคุมตัวเราออกไปหน้าบ้าน มีเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบ 3-4 คนถือปืนคุมเชิง มีรถฮัมวีด้วย พอขึ้นรถเขาก็เอาถุงดำมาคลุมหัว พาตัวไปซักถามต่างๆ

เราโดนจับไปค่ายทหารหนึ่งคืน วันรุ่งขึ้นส่งตัวไปที่กองปราบฯ แล้วแจ้งว่าเราโดนคดี 112 ด้วย เหมือนโลกถล่มเพราะตอนนั้น 112 ดูรุนแรงมากเลย เราไม่เคยทำเพจล้มเจ้า ไม่เคยโพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์เจ้า เขามาจับกลุ่มคนที่ทำเพจแล้วจึงไปเจาะหาว่าเราทำอะไรบ้าง แชตคุยกับใครบ้าง แล้วจึงเอา 112 มายัดทีหลัง สุดท้ายก็เข้าคุกไปด้วยข้อหา 112 และได้ประกันตัวหลังจากนั้น 71 วัน

ตอนเข้าเรือนจำเป็นอย่างไรบ้าง สิ่งที่นึกถึงเมื่อย้อนมองชีวิตช่วงนั้นคืออะไร

เรือนจำเท่ากับความทุกข์ ความลำบากทางกายไม่เท่าความลำบากทางใจ ตอนอยู่ในนั้นเราคิดถึงคนข้างนอกตลอดเวลา คิดถึงครอบครัวและเพื่อนที่เรารัก ไม่รู้ว่าเขาเป็นยังไง แล้วเราทำอะไรไม่ได้ ไม่มีอิสระอะไรเลย นี่คือความทุกข์ที่สุด คนที่อยู่ในนั้นคือคนที่เป็นทุกข์มารวมกัน มีเพื่อนเอาไว้ปรับทุกข์ วันดีคืนดีเพื่อนต้องไปศาล กลับมาก็นั่งร้องไห้ว่าเจอครอบครัวแล้วก็ไม่รู้ว่าคดีจะเป็นยังไง บางคนถูกจับแบบติดร่างแหมา บางคนถูกจับด้วยเรื่องที่ไม่สมควรโดนจับ

มันเต็มไปด้วยความทุกข์ แล้วเหมือนเป็นโรคติดต่อ เราต้องพยายามไม่ร้องไห้ เพราะถ้าเราร้องไห้คนอื่นก็จะอยากร้องตาม การนั่งคุยเรื่องอดีตที่ทำให้เขาต้องติดคุกนั่นก็คือความทุกข์อย่างหนึ่ง นั่งคุยกันเรื่องปัจจุบันจากการถูกกระทำในคุกนั่นก็ทุกข์อีกอย่างหนึ่ง คนที่อยู่ในคุกต้องเอาตัวรอดให้ได้ คนที่มีอำนาจคือเจ้าหน้าที่ เขาพูดอะไรก็ต้องยอมหมด ระบบมันแย่มากๆ

คนอาจคิดว่าคนพวกนี้ทำความผิดมาจะให้อยู่ในที่ดีๆ ได้ไง แต่เขาก็ยังเป็นมนุษย์ ต่อให้ทำผิดพลาดมาก็ไม่ควรได้รับการกระทำบางอย่างแบบนั้น มีน้องคนหนึ่งเคยเกิดอุบัติเหตุขาหักแล้วต้องใส่เหล็กดามขา เวลาเจ้าหน้าที่ลงโทษเขาจะสั่งให้กระโดดตบ เราต้องเรียกเจ้าหน้าที่ว่า ‘แม่’ น้องเขาบอกว่า “แม่คะ ขาหนูดามเหล็กค่ะ หนูไม่กระโดดได้ไหม” คำตอบคือไม่ได้ ต้องทำ บางคนป่วยแล้วบอกเจ้าหน้าที่หรือผู้ช่วยงานที่เป็นนักโทษว่าอยากไปหาหมอ เขาก็ไม่สนใจ ถ้าไม่ให้ไปก็คือไม่ได้ไป

สิ่งเหล่านี้ทำให้เรารู้สึกว่าไม่เหลือความเป็นมนุษย์และความทุกข์นี้ติดตัวออกมาด้วย เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้คิดว่าถ้าไม่ตัดสินใจทำอะไรกับชีวิตตัวเอง เราอาจเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่สามารถกลับมามีชีวิตปกติได้

การเข้าเรือนจำ 71 วัน ส่งผลต่อชีวิตอย่างไรบ้าง

สิ่งที่แย่ที่สุดคือกระทบกับครอบครัว ตอนอยู่ในคุกเราก็ลำบาก ต้องเอาตัวรอด โดยไม่ได้คิดว่าคนที่อยู่ข้างนอกจะเป็นยังไง เขาให้เยี่ยมวันจันทร์ถึงศุกร์ แม่มาเยี่ยมจันทร์ อังคาร พฤหัส ศุกร์ ส่วนวันพุธให้เพื่อนสนิทมาเยี่ยม หากวันไหนเราต้องไปศาลก็จะไปเจอกันที่ศาลแทน

เราเคยท้อมาก พอบอกแม่ แม่ตอบว่า “อย่าท้อนะ ลูกต้องสู้นะ แม่อยู่ข้างนอกแม่ก็สู้เหมือนกัน” ตอนนั้นเราไม่รู้หรอกว่าเขาสู้อะไร พอออกจากคุกเราก็คุยกับแม่ว่าหลังจากที่ทหารเอาตัวเราไปจากบ้านแล้วแม่ทำยังไงต่อ ปรากฏว่าแม่จำไม่ได้ เหมือนความจำช่วงนั้นมันขาดไป เรารู้สึกผิดที่ทำให้แม่เป็นแบบนี้ พอออกมานอกจากต้องเยียวยาตัวเองก็ต้องเยียวยาแม่ด้วย พอออกมาก็ดูแลแม่ พาไปเที่ยว เขาก็ดีขึ้นจึงเริ่มจำได้ว่าวันนั้นมีคนมาหาเราที่บ้านแล้วเกิดอะไรขึ้นบ้าง เราจึงคิดว่าชีวิตนี้ฉันไม่สามารถติดคุกได้อีกแล้วนะ เหตุการณ์เหล่านี้วนกลับมาอีกไม่ได้แล้ว เลยตัดสินใจลี้ภัย

มีอยู่วันหนึ่งเราพาแม่ไปเที่ยวแล้วคุยกับเขาว่า เราตัดสินใจจะไม่อยู่เมืองไทยแล้ว ยังไม่รู้ว่าจะไปที่ไหนยังไง แต่สัญญาว่าจะไปในที่ที่ดี ทำให้แม่หายห่วง ไม่ใช่ว่าหนีออกไปแล้วลำบาก เราบอกเขาว่าคุยกันผ่านกล้องดีกว่าคุยกันผ่านลูกกรงนะ แม่ก็โอเค จากนั้นจึงเริ่มวางแผนอยู่ 5-6 เดือน จนเดินทางออกมา ตอนนี้แม่อยู่บ้านคนเดียวแต่มีพี่ชายน้องชายคอยไปดูแลกันอยู่

ทำไมถึงตัดสินใจเลือกไปอเมริกา

เราหาข้อมูลด้วยตัวเอง ตอนแรกเห็นว่าแคนาดาเปิดรับผู้ลี้ภัยมากกว่าอเมริกา แต่เราหาทางไปแคนาดาไม่ได้ เพราะไม่รู้จักใครเลย ตอนนั้นไม่มีผู้ลี้ภัยออกมาพูดว่าต้องทำยังไง ต้องติดต่อใคร กระทั่งรู้ว่าเมื่อมาถึงอเมริกาสามารถยื่นที่นี่ได้แต่อาจใช้เวลานานในการทำเรื่อง เราคิดว่าอเมริกาเป็นประเทศที่เสรี โอกาสการทำงานน่าจะไม่ลำบากและใช้ภาษาอังกฤษได้ ต่างจากยุโรปที่ต้องไปเรียนภาษาใหม่ เราจึงมาด้วยวีซ่าท่องเที่ยว เขามีข้อกำหนดว่าต้องยื่นเรื่องภายใน 1 ปีหลังจากเข้าประเทศ เขามีแบบฟอร์มให้รวบรวมหลักฐานแล้วยื่น

ตอนนั้นเราไม่ได้บอกใครเลยว่าไปอเมริกา เราสนิทกับต้าร์ (วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์) แล้วต้าร์มันจับได้ว่าเราไม่ได้อยู่เมืองไทยแล้ว ต้าร์บอกว่าอเมริกาทำเรื่องยากต้องรอนาน แต่เราไม่อยากไปที่อื่นแล้ว มันเหนื่อยนะตั้งแต่ติดคุกกว่าจะมาถึงอเมริกา ต้าร์เลยติดต่อทนายที่ลอสแอนเจลิสให้ เขาทำงานสายเอ็นจีโอและรับเป็นทนายให้ฟรี

ผ่านไปเดือนกว่าเราตัดสินใจย้ายจากไปซานฟรานซิโก ทนายเลยติดต่อเพื่อนให้รับทำคดีต่อโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เขามีขั้นตอนที่ชัดเจน ช่วยกันรวบรวมหลักฐานไปยื่นเมื่อกุมภาพันธ์ 2561 จากนั้นสองอาทิตย์ก็ได้รับจดหมายตอบกลับว่าได้รับใบสมัครของเราแล้วต่อจากนี้เราสามารถอยู่ในอเมริกาได้ภายใต้การคุ้มครอง แล้วก็นัดไปสแกนลายนิ้วมือ ถ่ายรูป ทำประวัติ พอเดือนเมษายนก็ได้ไปสัมภาษณ์นาน 6 ชั่วโมง เขาถามตั้งแต่ว่าทำไมถึงเป็นเสื้อแดง วันที่เกิดรัฐประหารเราทำอะไรบ้าง วันที่เขามาจับเรามีเหตุการณ์อะไรบ้าง ตอนที่อยู่ในคุกเป็นยังไงบ้าง ออกมาจากคุกเป็นยังไงบ้าง

หลังจากนั้นเราก็รอจดหมายให้คำตอบ รอมาสามปีจึงได้สถานะ

เหตุที่รอสถานะนาน เพราะเป็นยุคทรัมป์หรือว่าขั้นตอนใช้เวลานานอยู่แล้ว

อเมริกามีคนลี้ภัยเข้ามาเยอะมากในแต่ละปี ขั้นตอนการคัดกรองของเจ้าหน้าที่ก็เยอะอยู่แล้ว และเรายื่นเรื่องที่แคลิฟอร์เนียซึ่งเป็นรัฐที่มีผู้อพยพเยอะ แต่ก็คิดว่าเกี่ยวกับยุคทรัมป์ด้วย ในยุคโอบามาอนุมัติเคสผู้ลี้ภัยให้ปีละ 80,000 เคส ยุคทรัมป์ลดลงเหลือแค่ปีละ 20,000 เคส พอไบเดนเข้ามาก็ประกาศว่าปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 125,000 เคส พอไบเดนเข้ามาเราก็รู้สึกมีความหวังทันที

อะไรเป็นเรื่องยากลำบากที่สุดสำหรับการไปลี้ภัย

การปรับตัวและการใช้ชีวิต เราไม่ได้จบด็อกเตอร์ ไม่ได้เรียนจบปริญญาโทจากต่างประเทศ ไม่มีดีกรีขนาดจะสมัครงานในบริษัทได้ง่ายๆ ก็เลยต้องอดทน ช่วงแรกที่ยังไม่ได้ใบอนุญาตทํางานเป็นช่วงที่ลำบากที่สุด พูดได้เลยว่าทุกคนต้องไปเริ่มทำงานที่ร้านอาหารไทย เพราะไม่มีที่ไหนรับทำงานได้ พอมีใบอนุญาตทํางานจึงได้เริ่มขยับขยาย แต่จะไปสมัครงานที่ไหนก็ไม่ใช่ง่ายๆ ต้องค่อยๆ เรียนรู้ ปรับตัว สิ่งเหล่านี้อยู่ที่ความอดทน พอเราไปทำงานที่ไม่ถนัดก็ต้องให้คนอื่นสอนงาน

ตอนอยู่เมืองไทยเราเคยทำงานขึ้นไประดับ manager พอมาอยู่ที่นี่แล้วต้องให้คนสอนงาน แต่เราคิดว่าเวลาโดนดุจะได้รู้ว่าทำอะไรผิด ถ้าเรายังทำไม่เป็นก็ต้องมีลูกขยัน แล้วเขาจะดีกับเราเอง เราต้องเรียนรู้และปรับตัวจึงจะผ่านมาได้

ตอนนี้เวลาชีวิตส่วนใหญ่คือทำงาน ก่อนหน้าโควิดเราทำงานพาร์ตไทม์หลายงาน ต้องจัดตารางให้ลงตัว พอโควิดมาก็เหลือพาร์ตไทม์งานเดียว แล้วต่อมาเขารับคนทำงานเต็มเวลา พอสถานการณ์โควิดดีขึ้น ที่ทำงานเดิมก็ติดต่อมาให้กลับไปทำพาร์ตไทม์ กลายเป็นว่าทำงานหลัก 32 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และมีเวลาไปทำงานอื่นได้บ้างสัปดาห์ละ 1-2 วัน ทำงานเกือบทุกวันแต่ตารางยืดหยุ่น

ท้อหรือเสียความมั่นใจบ้างไหม เพราะตอนอยู่ไทยเราทำงานที่ถนัด มีสถานะทางสังคมอีกแบบ มีเครือข่ายเพื่อนฝูงคนรู้จัก แต่พอไปอยู่โน่นทุกอย่างหายไปหมดเลย ช่วงแรกก็ยังไม่ได้อยู่ในสถานะพลเมือง

มันแปลกนะที่เรารู้สึกว่าสิ่งเหล่านั้นคือเปลือกหมดเลย ด้วยความที่เราผ่านคุกมาแล้ว พอออกจากคุกมาก็คิดว่าต่อจากนี้ฉันจะใช้ชีวิตอะไรก็ได้ที่มีความสุข สงบ และมีเสรี อะไรก็แลกไม่ได้กับเสรีภาพ พอมาอยู่ที่นี่คนเดียวไม่ค่อยมีเพื่อนเยอะ ไม่แฮงก์เอาต์กับใครมาก โคตรมีความสุขเลย (หัวเราะ) สังคมในอเมริกันต่างจากสังคมไทย คนที่ทำงานเขาจะไม่ยุ่งเรื่องส่วนตัวกัน ไม่มีความกดดัน ทำงานเสร็จก็กลับบ้าน เราต้องรู้หน้าที่ตัวเองและต้องทำให้ดีก็จะไม่มีปัญหา วันหยุดอยากไปเที่ยวก็นั่งรถเมล์ไปสุดสายแล้วไปเที่ยวคนเดียว

ตอนอยู่ในคุกวุ่นวายมาก แออัด ไม่สามารถมีที่เงียบๆ ได้เลยแม้กระทั่งตอนนอน พอมาอยู่ที่นี่รู้สึกสงบ และรู้สึกว่าตัวเองกลับมาเป็นคนเดิมที่ไม่มีแผลแล้ว

การเป็นผู้ลี้ภัยและเป็นคนเอเชียด้วย เจอปัญหาการถูกเหยียดไหม ต้องระวังตัวอย่างไร

เมืองที่เราอยู่มีคนเอเชียเยอะจึงตัดปัญหาข้อนี้ออกไปเลย เพื่อนที่ทำงานด้วยกันส่วนใหญ่ก็เป็นผู้อพยพ มีทั้งเอเชียและอเมริกาใต้ มันอาจจะมีบ้างนิดๆ หน่อยๆ แต่เราก็ช่างมัน การเป็นผู้ลี้ภัยเราต้องระวังตัว ต้องรู้สถานะตัวเอง

แรกๆ ที่เรามาถึงก็ต้องเช่าบ้านร่วมกับคนไทยก่อน เพราะตอนแรกยังไม่มีงานทำ ไม่สามารถทำสัญญาเช่าบ้านอยู่คนเดียวได้ โชคดีว่าคนที่เราอยู่ด้วยเขาเข้าใจเรื่องของเราดี คุยกันได้ทุกเรื่อง แต่ถ้าเราไม่โชคดีแล้วไปเจอคนที่มีความคิดทางการเมืองอีกฝ่ายล่ะ หากเขารายงานที่อยู่ของเรากับกงสุลล่ะ คนไทยในต่างประเทศที่ไม่ได้มีความคิดเป็นประชาธิปไตยก็มีเยอะ พอเริ่มทำงานมีความมั่นคงมากขึ้นจึงย้ายมาอยู่คนเดียว

เราไม่ถึงกับระวังตัวว่าต้องอยู่ในย่านที่ไม่มีคนไทย แต่จะไม่ไปวัดไทย เพราะเคยไปแล้วมันไม่เหมือนวัดที่เมืองไทย ที่เมืองไทยคนไปวัดเพื่อทำบุญไหว้พระ ส่วนที่นี่คนไปวัดเพื่อหาอาหารไทยกิน นอกจากนี้จะมีกงสุลสัญจรตามวัดไทยในเมืองต่างๆ เพื่อทำพาสปอร์ตให้คนไทย เราไปแล้วรู้สึกว่ามีความเป็นชุมชนที่เชื่อมต่อกับทางการไทยเลยไม่ยุ่งดีกว่า

พออยู่อเมริกาเมื่อหันกลับมามองเมืองไทยรู้สึกอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบ้านเมือง สวัสดิการ การเมือง หรือความยุติธรรมต่างๆ

ยิ่งมีสถานการณ์โควิดยิ่งชัดเจน เราสงสารคนไทย พอเกิดโควิดแล้วซานฟรานซิสโกประกาศล็อกดาวน์วันแรก เราก็ลังเลเรื่องการออกไปทำงานเพราะกลัวโควิด แต่ตัดสินใจว่าจะออกไปทำงานต่อ เพราะมีสิ่งต่างๆ ที่เอื้อต่อการตัดสินใจของเรา บริษัทเพิ่มเงินให้ มีอุปกรณ์ เครื่องมือ และจดหมายที่เอื้อให้เราทำงานได้อย่างปลอดภัย พอวัคซีนเข้ามาบริษัทก็ออกจดหมายให้เราเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่ไปรับวัคซีนได้

ส่วนคนอื่นที่ตัดสินใจไม่ออกไปทำงาน เขาสามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์เพื่อขอรับเงินคนว่างงานได้ พอเกิดโควิดเขาเพิ่มเงินส่วนนี้ขึ้นมาจนเพียงพอต่อการใช้ชีวิต บางคนตกงานแล้วไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน รัฐก็ออกนโยบายเลยว่าเจ้าของบ้านไม่มีสิทธิไล่คนออกจากบ้าน จะเป็นความผิดทันที มีอะไรหลายอย่างที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตได้ แต่พอหันกลับไปมองเมืองไทยปุ๊บ โอ้โห ต้องไปแย่งกัน ไทยชนะแล้วใครชนะเนี่ย ไม่มีความช่วยเหลือทั้งภาคธุรกิจและประชาชน พอวันที่วัคซีนเข้ามาก็ไม่มีความช่วยเหลือที่จะทำให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้ทั่วถึง ทำไมชีวิตคนไทยด้อยค่าแบบนี้ เราสงสารคนไทยมาก อยากให้กำลังใจกัน

คนอเมริกาติดเชื้อและตายเยอะมาก แต่เขาจัดการให้มีจุดสำหรับเดินเข้าไปตรวจโควิดได้ตลอดเวลาและฟรี ขับรถไปมีเจ้าหน้าที่แยงจมูกตรวจได้เลยซึ่งสะดวกมาก ถ้าตรวจรู้ก็จะระวังได้ถูก ตอนจำเป็นต้องล็อกดาวน์เขาก็ประกาศล็อกดาวน์ทันที แต่ละรัฐจัดการไม่เหมือนกัน ซานฟรานซิสโกเป็นเมืองเล็ก การจัดการก็อาจจะไม่ได้ยุ่งยากอะไรมาก ทุกคนรู้ว่าต้องปรับตัวและต้องตัดสินใจรับผิดชอบตัวเองว่าจะออกไปทำงานหรือไม่ ที่จริงเราจะเลือกอยู่บ้านแล้วขอรับเงินว่างงานก็ได้ แต่เรารู้สึกว่าชีวิตในอเมริกาเพิ่งเริ่มได้ไม่กี่ปีเอง ไม่อยากหยุด เราเพิ่งทำงาน เสียภาษีไม่เท่าไหร่ วันที่ต้องตัดสินใจว่าจะไปทำงานต่อก็ไม่ได้คิดอะไรเยอะ สุดท้ายกลายเป็นผลดี เพราะเราได้บรรจุเป็นพนักงานเต็มเวลา

คิดเรื่องกลับไทยบ้างไหม มีเงื่อนไขแบบไหนที่จะทำให้กลับมาได้

ไม่กลับ (ยิ้ม) ไม่เคยคิดอยากกลับเลย พอมาใช้ชีวิตที่นี่เหมือนเราเจอที่ที่เราอยู่ได้และมันเป็นที่ของเรา เราไม่ชอบการใช้ชีวิตที่เมืองไทยในหลายเรื่อง เช่น การต้องยัดใต้โต๊ะ การจ่ายส่วย เราเกลียดสิ่งเหล่านี้ คนไทยชอบบอกว่าตัวเองเป็นคนดี แต่เวลาตำรวจเรียกแจกใบสั่งคุณก็เอาเงินยัดตำรวจแล้ว กลายเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนทำ แต่ที่อเมริกามันไม่ใช่ ซื้อใครไม่ได้เลย เช่น คนทำร้านอาหารวันดีคืนดีก็จะมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานสาธารณสุขเข้ามาตรวจโดยไม่ได้นัดหมาย ถ้าเป็นเมืองไทยคุณก็เอาเงินยัดเพื่อให้เขาเขียนรายงานให้คุณผ่าน แต่ที่นี่ทำแบบนั้นไม่ได้เลย ทุกอย่างมีมาตรฐานของมัน ถ้าจอดรถผิดที่ก็โดนใบสั่งแค่นั้นเอง การใช้ชีวิตมันง่าย มีกฎแล้วเราเดินตามกฎก็จบ แต่เมืองไทยซิกแซ็กตลอดเวลา อย่างการข้ามถนนอยู่ที่นี่ถ้าไฟคนข้ามถนนสีเขียวก็ข้ามได้ ไฟแดงก็ห้ามข้าม เข้าใจง่าย ไม่ต้องมานั่งเดาใจว่าจะข้ามได้ไหมเหมือนที่ไทย

มีสิ่งไหนที่คิดถึงเวลานึกถึงเมืองไทย

(ตอบทันที) คิดถึงอาหารจังเลย (หัวเราะ) อยู่เมืองไทยถ้ากำลังขับรถกลับบ้านแล้วหิวก็แวะซื้อลูกชิ้นปิ้งกินก็อิ่มแล้ว แต่ที่นี่ไม่มีอะไรแบบนั้น ของกินไม่ได้หาได้ทุกที่เหมือนเมืองไทย

ส่วนเพื่อนๆ กับครอบครัวเราก็คิดถึง แต่ครอบครัวบินมาหาเราได้ เราคุยกับแม่ทุกวัน บางครั้งเราทำงานเยอะก็ลืมหรือเหนื่อย แต่ต้องบอกตัวเองตลอดเวลาว่าไม่ได้ เรารู้ว่าเขารักเรา เขารอเรา ต่อให้แม่บอกว่าไม่เป็นไรลูกเหนื่อยก็นอนเลยนะ แต่ไม่ได้ เราโทรหาเขาทุกวันให้เขารู้ว่าเราคิดถึง ช่วงโควิดก็ไม่ได้เจอกันนานเลย

คิดถึงความทรงจำดีๆ กับเพื่อน แต่ไม่ได้คิดถึงการกลับไปอยู่เมืองไทย อย่ามาบอกเลยว่าเมืองไทยดีที่สุดในโลกแล้ว ไม่มีอะไรดีกว่านี้อีกแล้ว อย่าหลอกตัวเอง ไม่มีอะไรดีที่สุดหรอก อเมริกาก็ไม่ได้ดีที่สุด

ระหว่างอยู่ที่โน่นได้ทำกิจกรรมการเมืองร่วมกับคนไทยในอเมริกาบ้างไหม

เพิ่งเริ่มเมื่อปีที่แล้ว ตอนแรกไม่อยากยุ่งกับการเมืองแล้ว ไม่อยากให้ที่บ้านเป็นห่วง แต่พอปีที่แล้วเห็นน้องๆ ในไทยออกมาสู้กันแล้วรู้สึกว่าน้องๆ เสียสละตัวเองออกมาพูดและทำอะไรกันขนาดนั้น แล้วเราจะอยู่เฉยๆ เหรอ

เราเริ่มรู้จักคนในเมืองต่างๆ เลยจัดตั้งองค์กรชื่อ Thai Rights Now เป็นองค์กรที่คนไทยในอเมริกาและแคนาดารวมตัวกันทำกิจกรรมเกี่ยวข้องกับประชาธิปไตย

หลังพม่ารัฐประหารก็มีคนพม่าเดินขบวนข้ามสะพานโกลเดนเกตและถือป้ายต่อต้าน เราเห็นแล้วหัวใจพองอยากชูสามนิ้วด้วย คนก็บีบแตรเป็นสัญลักษณ์ว่าเราซัพพอร์ตคุณนะ ไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้มีคนฮ่องกงกับพม่าเป็นแกนหลักในการทำกิจกรรมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในนิวยอร์ก รวมถึงธิเบต อุยกูร์ และคาซัคสถาน คนไทยที่นิวยอร์กก็ไปร่วมด้วย คนในเมืองอื่นๆ ก็บินไปสมทบเวลามีกิจกรรม เราก็เคยไปร่วมเดินขบวนจากแมนฮัตตันไปบรุกลิน ชูป้ายให้ปล่อยน้องๆ ที่ถูกจำคุกในเมืองไทย

ในประเทศเสรีเขาถือว่าการประท้วงเป็นเรื่องปกติ มาอยู่ที่ซานฟรานซิสโกก็เจอประท้วงประจำ เช่น กลุ่มรณรงค์ให้ไม่กินเนื้อสัตว์ กลุ่มต่อต้านการทำร้ายคนเอเชีย ยุคก่อนหน้านี้ก็มีประท้วงทรัมป์ การประท้วงต้องขออนุญาตถ้ามีจำนวนคนตามที่กำหนด แต่ถ้ามีคนจำนวนไม่เยอะก็เสรีเลย

มองม็อบในไทยช่วงปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไรที่มีการยกระดับไปถึงเรื่องปฏิรูปสถาบัน

เราคิดว่าน้องๆ ที่ออกมาพูดเขาเสียสละตัวเอง เขารู้ว่าจะเกิดอะไรแต่เขาก็ยืนหยัดที่จะพูดถึงจุดที่เป็นปัญหา ยุคก่อนนี้ไม่มีใครกล้าพูดตรงๆ แต่ตอนนี้น้องๆ เปิดเพดานให้คนรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทย

ม็อบนี้เป็นม็อบของคนรุ่นใหม่ นักเรียน นักศึกษา หรือคนวัยเริ่มทำงาน เขาอยากได้อนาคตที่เขากำหนดเอง เขาไม่ต้องการอนาคตที่ถูกกำหนดโดยผู้ใหญ่รุ่นก่อน มันเป็นสิทธิของเขาในการเรียกร้องสิ่งที่เขาอยากเป็น 

เราเห็นด้วยกับข้อเสนอทุกอย่าง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าอีกฝ่ายจะมองว่าล้มล้าง ทำอะไรเขาก็มองไม่ดีอยู่แล้ว เราเป็นเสื้อแดงโดนกระทำจนรู้ว่า ไม่ว่าจะไม่เถียงหรือยอมเขาอย่างไร เขาก็ยังเหยียดหยาม หาว่าเราเป็นควายอยู่ดี เขาถือว่ามี 112 เป็นอาวุธและใช้ได้ผลทุกครั้งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

เราต้องมานั่งคิดกันว่ามีปัญหาเกิดขึ้นจริงๆ หรือเปล่า ถ้ามีก็ต้องหาจุดร่วมเพื่อการอยู่ร่วมกัน น้องๆ เขาไม่ได้วิจารณ์เฉยๆ แต่มีข้อเสนอ แล้วคนอีกฝ่ายจะรับข้อเสนอนั้นแค่ไหนก็ต้องไปคิดและมานั่งคุยกัน ประเทศนี้ไม่ใช่ของใครคนเดียว ประเทศนี้เป็นของทุกคน เราต้องอยู่ร่วมกันให้ได้

มองการใช้ 112 ช่วงปีที่ผ่านมาอย่างไร

112 ถูกใช้ทางการเมืองและใช้ฟ้องในคดีที่ไม่สมควรมานานแล้ว อย่างคดีของเราหากดูหลักฐานแล้วจะงงว่าแบบนี้ฟ้องได้ด้วยเหรอ มันโดนใช้แบบนี้มานานแล้ว แต่ในตอนนี้ถูกใช้ด้วยเหตุผลที่ไร้เหตุผลหนักขึ้นและเยอะขึ้น คล้ายเป็นการใช้อำนาจที่ลิดรอนอำนาจตัวเองไปด้วยในเวลาเดียวกัน เพราะจะทำให้สูญเสียความชอบธรรม เขาอาจใช้อาวุธนี้จัดการกับคนที่เขาคิดว่าอยู่ฝ่ายตรงข้ามได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่คนรุ่นใหม่ไม่เหมือนคนรุ่นก่อนที่ถูกปกครองด้วยความกลัวและถูกกำราบได้ง่าย คนรุ่นใหม่เดาใจยาก ประมาทไม่ได้ อย่าคิดว่าใช้อำนาจเหล่านี้แล้วจะไม่มีผลกระทบอะไร อย่างน้อยต่างชาติก็ไม่ได้มองอย่างนั้น คนที่โดน 112 แล้วลี้ภัยออกนอกประเทศ เขาได้สถานะผู้ลี้ภัยทุกคน เพราะต่างชาติไม่ได้มองว่ากฎหมายข้อนี้คือกฎหมายที่ชอบธรรม เป็นแค่เครื่องมือที่ใช้กำจัดฝ่ายตรงข้าม

เชื่อว่าลึกๆ แล้วคนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมยังมีคนที่มองเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่ถูกต้อง สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ภาพลักษณ์ของกระบวนการยุติธรรมไทยทั้งหมดเสียหาย แต่อาจจะไม่มีคนออกมาอย่างผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะที่ยิงตัวตาย คงไม่มีใครที่รักความยุติธรรมมากกว่าชีวิตตัวเองแบบนั้นอีกแล้ว แต่เชื่อว่าจะมีคนกล้าที่จะตัดสินใจทำอะไรเพื่อความถูกต้อง

จากการอยู่ในคุกมา เราเห็นหลายคนที่โดนตัดสินจำคุกด้วยเหตุผลและหลักฐานที่ไม่สมควร สิ่งนี้ทำลายชีวิตเขา คนที่ใช้กระบวนการยุติธรรมทำลายชีวิตคนอื่นอย่างไม่เป็นธรรม พวกเขานั่งอยู่บนคราบเลือดและน้ำตาของคนไม่รู้เท่าไหร่

สถาบันฯ จะต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อให้อยู่ร่วมกับระบอบประชาธิปไตยและโลกยุคใหม่ได้โดยได้รับการยอมรับ

ไม่ยากเลยนะ ดูแบบญี่ปุ่นหรืออังกฤษสิ การจะอยู่ร่วมกันทุกฝ่ายต้องปรับตัว  เรื่องข้อเสนอ 10 ข้อนั้นก็เป็นเรื่องปกติที่จะต้องเสนอสิ่งที่คิดว่าดีที่สุดไป เขาอาจไม่ตอบรับทั้งหมด แต่ต้องมีการพูดคุยเพื่ออยู่ร่วมกัน

ตัวอย่างที่อังกฤษมีคนที่คิดว่าไม่ควรมีสถาบันฯ เพราะเขามองว่าภาษีที่เขาจ่ายไปถูกแบ่งไปเป็นงบเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวเดียว มีคำถามในสังคมว่าทำไมฉันต้องจ่ายภาษีให้พวกเขา แต่การจะอยู่ร่วมกัน เขาก็ต้องทำใจว่าภาษีของเขาจะถูกแบ่งไปให้สถาบันฯ ซึ่งสถาบันฯ ก็มีการปรับตัวมาก ทำอะไรต้องคิดถึงประชาชนมากกว่าเดิม แทนที่จะคิดถึงแค่ตัวเองกับครอบครัว ซึ่งเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ที่มีมนุษยธรรม

เห็นความหวังจากการต่อสู้ภาคประชาชนไหม

เราเป็นเสื้อแดงมานานแล้ว ถูกกระทำมาเยอะก็รู้สึกว่ามาไกลมากแล้ว มีความหวังมาก แต่การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ เชื่อว่าคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาจะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกแล้ว เมื่อสังคมและโลกเปลี่ยนไป เขาไม่สามารถเอาแบบเรียนอะไรมาล้างสมองเด็กๆ แบบเก่าได้อีกแล้ว แต่การต่อสู้ต้องเดินกันไปเรื่อยๆ อำนาจประชาชนอยู่ต่ำมาก ต้องใช้เวลาในการค่อยๆ เพิ่มอำนาจให้ประชาชนจนถึงจุดที่คนเท่ากัน

อยากให้ทุกคนอดทน และฝากความหวังไว้ที่คนรุ่นใหม่ พวกเขากำลังสู้เพื่ออนาคตของตัวเอง ไม่มีการต่อสู้อะไรที่ได้มาง่ายๆ เพราะฉะนั้นอดทนแล้วก็สู้ และถ้าเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตมันมีทางออกเสมอ อย่างชีวิตเราวันที่รู้ว่าโดน 112 เหมือนวันที่โลกถล่มแผ่นดินทลาย ชีวิตนี้ใครจะคิดว่าตัวเองจะเดินเข้าคุก วันที่เดินเข้าคุกจังหวะประตูคุกปิดอยู่ข้างหลังเรา คือวันที่เรารู้ว่าเราสูญเสียทุกอย่าง แต่จะมีวันที่ชีวิตมีทางออก

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save