fbpx

ทิศทาง ‘กระแส’ และ ‘กระสุน’ ของการเมืองบ้านใหญ่ในสนามเลือกตั้ง 2566 : ณัฐกร วิทิตานนท์

‘บ้านใหญ่’ เป็นหนึ่งในประเด็นร้อนที่หลายคนพูดถึง โดยเฉพาะช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง 2566 จะมาถึงเช่นนี้

การเมืองไทยยึดโยงอยู่กับระบบอุปถัมป์มายาวนาน และการเมืองบ้านใหญ่คือหนึ่งในรูปลักษณ์ของระบบอุปถัมป์ดังกล่าว เมื่อสำหรับหลายๆ คนแล้ว ในประเทศซึ่งการกระจายอำนาจจากส่วนกลางยังบิดเบี้ยวและทำได้ไม่เต็มศักยภาพ บ้านใหญ่คือหนทางหนึ่งในการช่วยเหลือ ดูแลชุมชนซึ่งเข้าไม่ถึงทรัพยากรรัฐ

และเมื่อพลวัตทางการเมืองเปลี่ยน บ้านใหญ่ก็ปรับตัวตาม

101 สนทนากับ ณัฐกร วิทิตานนท์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ สำรวจการเปลี่ยนรูปโฉมของการเมืองบ้านใหญ่ เมื่อโครงข่ายความสัมพันธ์ทางการเมืองเปลี่ยน ‘บารมีบุคคล’ อาจไม่สำคัญเท่า ‘นโยบายกับพรรค’ อย่างนั้นแล้วตำแหน่งแห่งที่ของผู้มีอิทธิพลจะเป็นอย่างไร และเมื่อ ‘กระแส’ กระจายอำนาจขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้ ‘กระสุน’ ของบ้านใหญ่จะออกมาในทิศทางไหน

ร่วมหาคำตอบกันได้ในบรรทัดถัดจากนี้

ถ้ามองว่าอดีต การเมืองบ้านใหญ่คือตระกูลที่มีอำนาจ ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างรัฐกับประชาชน คิดว่าทุกวันนี้ บ้านใหญ่ยังทำหน้าที่นั้นได้อยู่ไหม

แน่นอน ปัญหาประชาชนมีร้อยแปดพันเรื่อง การเมืองท้องถิ่นไม่ได้ตอบโจทย์ทั้งหมดเพราะอำนาจส่วนใหญ่อยู่ที่ส่วนกลาง ดังนั้น การมีนักการเมืองระดับชาติที่จะไปทำให้ข้าราชการเกรงใจจึงยังจำเป็น คุณดูกรณีวัคซีนเป็นตัวอย่าง ถ้าไปดูตัวเลขการกระจายวัคซีนก็จะเห็นได้ชัดว่า จังหวัดพะเยากับบุรีรัมย์ได้มากกว่าใครเพื่อนเลย หมายความว่าเขาเกรงใจคุณเนวิน ชิดชอบ เกรงใจคุณธรรมนัส พรหมเผ่า ทั้งที่คุณธรรมนัสไม่ได้คุมกระทรวงสาธารณสุข แต่จังหวัดพะเยาก็ได้วัคซีนเยอะ หรือพรรคก้าวไกลก็เคยอภิปรายไม่ไว้วางใจและให้ตัวเลขว่า งบถนนของกระทรวงคมนาคมไปลงที่บุรีรัมย์เยอะขนาดไหนเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น ทั้งที่จังหวัดอื่นๆ ก็ต้องการการพัฒนามากกว่าบุรีรัมย์ 

ผมจึงคิดว่ามันมีช่องว่างอยู่ ท้องถิ่นที่เป็นเครือข่ายของนักการเมืองเหล่านี้ไม่ได้ทำได้ทุกเรื่อง บางเรื่องก็ต้องพึ่งอำนาจที่เหนือขึ้นไป เช่น สมมติเรื่องวิ่งเต้นคดีความ ถ้าจะต้องมีการพึ่งพาบารมีนักการเมือง คุณก็ไม่สามารถพึ่งพานายก อบต. หรือนายกเทศมนตรีได้ คุณต้องพึ่งพานักการเมืองระดับชาติที่เขาเกรงใจ แน่นอนว่าในหลายจังหวัดนักการเมืองระดับชาติเป็นคนกำหนด มีส่วนในการตัดสินใจว่าจะให้ใครมาเป็นผู้ว่า ใครมาเป็นผู้การตำรวจ ซึ่งสิ่งนี้ก็จะเป็นอันรู้กัน เช่น จังหวัดแพร่ ก็รู้กันว่าคนที่จะมาเป็นผู้การได้ต้องผ่าน แม่เลี้ยงติ๊ก (ศิริวรรณ ปราศจากศัตรู) ซึ่งอยู่ข้างเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล ตัวแม่เลี้ยงติ๊กเองแม้ตอนไม่ได้มีอำนาจในการเมือง แต่ต่อให้ไม่มีตำแหน่งก็อยู่ข้างรัฐบาล ดังนั้นจึงมีความเกรงใจ เวลาจะแต่งตั้งใครมาเป็นตำรวจ เป็นผู้ว่าฯ ก็อาจต้องขอไฟเขียวหรือปรึกษาเขา

เท่ากับว่า อำนาจที่ไม่เป็นทางการของบ้านใหญ่และของระบบอุมถัมป์ ยังมีบทบาทในการเมืองปัจจุบันอยู่ใช่ไหม

ใช่ แต่มันอาจจะไม่ได้สัมพันธ์กับประชาชนโดยตรง แต่ไปสัมพันธ์โดยอ้อมผ่านโครงข่ายของกลไกรัฐ ตัวอย่างง่ายๆ คือการแต่งตั้ง โยกย้ายข้าราชการไปประจำจังหวัดต่างๆ ในตำแหน่งสำคัญๆ หรือถ้ามีเรื่องเดือดร้อนอะไรก็ไปบอกนักการเมือง ซึ่งจะฝากผ่านกลไกต่างๆ มาอีกที แค่ว่าเมื่อก่อนนักการเมืองจะเป็นคนลงมือทำให้เอง เป็นคนไปจัดการเอง

ในหลายจังหวัด การเมืองระดับชาติกับการเมืองระดับท้องถิ่นเป็นคนละส่วน หมายความว่าคุณสามารถชนะการเลือกตั้งระดับชาติได้ แต่อาจแพ้ในระดับท้องถิ่นตลอด แบบนี้มันก็มี และแสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่บ้านใหญ่ที่สามารถควบคุม ผูกขาดอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด มีแค่สุพรรณบุรีที่ทำได้ ผมว่ากระทั่งคุณเนวินที่จังหวัดบุรีรัมย์ก็ทำไม่ได้แบบนั้น เพราะล่าสุด เลือกตั้งเทศบาล เขาส่งกลุ่มเพื่อนเนวินลงก็แพ้ ดังนั้น ผมว่ามันจึงแล้วแต่พื้นที่ แล้วแต่สถานการณ์ แต่สุพรรณบุรีนั้น ตั้งแต่มีคุณบรรหาร ศิลปอาชา ก็เคยแพ้ไปแค่เขตเดียว นอกนั้นไม่เคยแพ้เลย อย่างตอนนี้ช่วงก่อนเลือกตั้ง คุณท็อป-วราวุธ ศิลปอาชา (บุตรชายบรรหาร ปัจจุบันเป็นหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา) ก็บอกว่า ทางพรรคคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา มาจีบคนของเขาไป คุณท็อปยังพูดทำนองว่าลองย้ายเถอะ แล้วเดี๋ยวประชาชนจะสั่งสอน เพราะที่นี่คือบรรหารบุรี เป็นเมืองที่ใครก็รู้ว่าต้องตระกูลนี้เท่านั้น แม้กระทั่งตัวคุณท็อปเองก็ไม่เคยนอนที่สุพรรณบุรี เขานอนกรุงเทพฯ แต่มีความผูกพันตั้งแต่รุ่นพ่อ นี่คือบ้านใหญ่ในความหมายของผม 

แต่จุดที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุดของการอุปถัมป์นั้นไม่ใช่การอุปถัมป์เล็กๆ แบบนี้ แต่เป็นการอุปถัมป์ผ่านโครงการขนาดใหญ่ที่เข้ามาลงในจังหวัด คุณบรรหาร และคุณเนวินคือตัวอย่าง และล่าสุดคือคุณธรรมนัส คือเมื่อคุณเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง จะทำให้จังหวัดคุณได้รับการพัฒนาเหนือจังหวัดอื่น คือเขาไม่ได้ดูหน้างานหรอกว่าจังหวัดคุณมีความจำเป็นเร่งด่วนอะไรที่ควรจะได้รับการพัฒนา เขาไม่สน แต่เมื่อคุณเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล คุณก็สามารถสร้างโครงการเมกะโปรเจกต์ (megaproject -หมายถึงโครงการทางวิศกรรมที่มีขนาดใหญ่มาก) ได้ เนื่องจากรัฐบาลไทยเป็นรัฐรวมศูนย์ เงินส่วนใหญ่อยู่ที่ตรงกลาง จะไปเติมเต็มท้องถิ่นได้ก็แค่เรื่องเล็กๆ แต่ถ้าคุณอยากทำเมกะโปรเจกต์ อย่างไรคุณก็ต้องพึ่งรัฐบาล ดังนั้น คนที่เข้าถึงการเป็นศูนย์กลางอำนาจ เป็นส่วนหนึ่งของพรรคร่วมรัฐบาล และมีลักษณะที่สามารถชี้เป็นชี้ตายพรรคได้ว่าถ้าตัวเองไม่อยู่ พรรคร่วมก็ไปไม่ได้ นี่คือการอุปถัมป์รูปแบบใหม่

แต่ทั้งนี้ ตัวคุณธรรมนัสเองก็ทำการอุปถัมป์แบบรูปแบบเก่าด้วย มีมูลนิธิเพื่อการกุศลต่างๆ มาเป็นสิบปี ไม่ได้มาทำตอนเป็นรัฐบาลหรือเมื่อมาเป็น ส.ส. เขาช่วยหมดทั้งเด็กไม่มีเงินเรียนต่อ คนพิการ คนป่วยติดเตียงต่างๆ ดังนั้น เลยมีลักษณะโครงข่าย ดูแลประชาชนผ่านโครงข่ายนี้ได้เพราะบริการสาธารณะของท้องถิ่นทำงานค่อนข้างรอบด้าน อันนี้คือ political identity หรือสร้างสำนึกจังหวัดนิยม เพราะไม่สามารถอุปถัมป์เป็นรายบุคคลอย่างการฝากลูกเข้าโรงเรียนหรือวิ่งเต้นตำรวจได้เหมือนเมื่อก่อน แต่ลักษณะแบบนี้สร้างสำนึกร่วมว่านี่คือคนที่เขาจะมาเปลี่ยนแปลงจังหวัด เขาจะทำให้จังหวัดเราไม่ด้อยกว่าคนอื่น คนสุพรรณมีถนนใหญ่โต มีมังกร มีพิพิธภัณฑ์มังกร มีบึงฉวาก เหล่านั้นคือสิ่งที่คุณบรรหารเขาทำไว้ และผมคิดว่าลักษณะเช่นนี้เกิดกับนักการเมืองหลายจังหวัด เพียงแต่รูปแบบเปลี่ยนไป มีการเปิดพื้นที่ใหม่เท่านั้น และพื้นที่หนึ่งที่ผมสนใจคือสนามฟุตบอล

นักการเมืองจำนวนมากอาจจะพบว่าตัวเองไม่ค่อยมีที่ทาง การจะแสดงให้สังคมเห็นว่าตัวเองอุทิศ ช่วยเหลือสังคม ก็เป็นการอุปถัมป์อย่างหนึ่งแค่เปลี่ยนรูปแบบโดยมาอุปถัมป์วงการกีฬาแทน นักการเมืองจำนวนมากจึงเป็นนายกสมาคมกีฬาจังหวัด เป็นประธานสโมสรฟุตบอล นี่เป็นเหมือนสนามใหม่ของการอุปถัมป์ ด้วยการสร้างสำนึกจังหวัดนิยมขึ้นมาผ่านทีมกีฬา เพราะถึงที่สุด สิ่งเหล่านี้ก็ต้องควักเนื้อ ค่าตัวนักฟุตบอลเดือนหนึ่งก็ตกหลายล้าน ซึ่งก็คือเงินที่นักการเมืองเหล่านี้ต้องทุ่มลงไปทั้งหมดเพื่อให้คนมีกิจกรรมทำ ได้ภูมิใจในจังหวัดตัวเอง

การเคลื่อนมาสู่การอุปถัมป์ในรูปแบบวงการกีฬามาเห็นชัดช่วงไหน

หลังปี 2549 ซึ่งจริงๆ มีสองรอบ รอบหนึ่งคือคนจากบ้านเลขที่ 111 (หมายถึงอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย จำนวน 111 คนที่ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองห้าปีหลังการรัฐประหาร) และอีกรอบคือบ้านเลขที่ 109 (หมายถึงอดีตกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน, พรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาธิปไตย ที่ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองห้าปีจากคำวินิจฉัยในคดียุบพรรคการเมืองปี 2551) พื้นที่ทางการเมืองของนักการเมืองเหล่านี้ปิดตัวลงเพราะถูกแบนทางการเมือง แต่ยังต้องพยายามประคองตัวเองให้อยู่ในสายตาของสังคมด้วยว่ายังทำงานเพื่อบ้านเมือง เขาก็มาทำฟุตบอลกันเสียเยอะ และปัจจุบันก็ลดลงไปมากทีเดียวเพราะมันแทบไม่จำเป็นแล้ว คนเหล่านี้ก็กลับเข้าสู่เวทีทางการเมืองได้

ผมเพิ่งฟังที่คุณ ทิม-พิธา (พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล) ไปปราศรัยที่เชียงราย และเขาพูดประเด็นนี้แหละว่า ที่ผ่านมาเคยมีคนบอกว่าไม่มีใครล้มบุรีรัมย์ได้หรอก และจำได้ไหมว่าปี 2562 เชียงรายชนะแชมป์ไทยลีกก็จากการล้มบุรีรัมย์นี่แหละ

จำได้ว่ามีเพลงเชียร์ที่คุณยงยุทธ ติยะไพรัช (อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน) เขาแต่งเพลงที่มีเนื้อหาทำนองว่า “เชียงรายเป็นจังหวัดไกลปืนเที่ยง คนก็ดูแคลน ทั้งการพัฒนาก็ไม่เต็มที่ วันหนึ่งเรามาสร้างทีมฟุตบอลนี้ขึ้นมาเพื่อประกาศศักดิ์ศรีให้คนทั้งประเทศรู้กัน” นี่คือไอเดียแบบคุณบรรหารเลย พยายามทำให้เห็นว่าจังหวัดตัวเองต่ำต้อย แล้วมีนักการเมืองหรือใครสักคนรู้สึกภาคภูมิใจในจังหวัด อาจจะแค่มิติเดียวก็ไม่เป็นไร นึกถึงจังหวัดสุพรรณบุรีเมื่อก่อนที่คนมองว่าบ้านนอก พูดเหน่อ แต่ทุกวันนี้คนจดจำจังหวัดนี้ในอีกแบบหนึ่งไปแล้ว เหมือนที่คุณเนวินทำ ‘เนวินบุรี’ มีสนามมอเตอร์จีพี มีอารีนา มีงานมาราธอน มีงานกีฬามากมาย ทั้งที่ก่อนนี้บุรีรัมย์ก็ถูกให้ภาพว่าเป็นจังหวัดยากจนมาก

ไอเดียนี้ถูกใช้ที่พะเยาด้วย ก่อนเลือกตั้งปี 2562 ประเด็นที่ถูกย้ำในสื่อพะเยาบ่อยและคุณธรรมนัสหยิบมาใช้คือ เมื่อคุณเลือกฝ่ายค้าน พะเยาก็จะเป็นแบบเดิม ผมว่าคุณธรรมนัสสวนกระแสเลยเพราะภาคเหนือเป็นพื้นที่ของเพื่อไทยหมด ขณะที่เขาอยู่พรรคพลังประชารัฐ เขาเลยบอกว่าต้องเลือกฝั่งรัฐบาลเพื่อให้จังหวัดเป็นเหมือนเมืองบรรหาร เมืองเนวิน ซึ่งคุณธรรมนัสก็ทำสำเร็จ มีโครงการเมกะโปรเจกต์ มีแผนจะสร้างสนามบินพะเยา มีถนนรอบกว๊านพะเยา ที่เกิดขึ้นในสี่ปีนี้โดยที่ก่อนหน้านี้ไม่มีเลย 

รัฐเราคือรัฐรวมศูนย์ เงินอยู่ตรงกลาง สมัยคุณทักษิณ ชินวัตรก็เป็นแบบนี้ ตอนที่เขาเป็นรัฐบาล เชียงใหม่ก็ใหญ่โตเลยในสี่ปีแรก มันเป็นระบบอุปถัมป์ที่ผ่านโครงการขนาดใหญ่เพื่อสร้างการพัฒนาในจังหวัด คนก็จะเกิดความภูมิใจว่านี่คือนักการเมืองของเรา เขาไปฟาดฟันการเมืองระดับชาติจนสามารถเอางบ เอาโครงการต่างๆ มาลงได้

ที่ผ่านมา เศรษฐกิจภาคเหนือโตเร็วมาก มีกลุ่มทุน ตระกูลใหญ่ๆ คอยหนุนหลัง คิดว่าบทบาทเช่นนี้ส่งผลต่อการเมืองท้องถิ่นอย่างไรบ้าง

(คิดนาน) คำถามยากอยู่ และคำตอบนี้ก็อาจไม่ได้ตอบบคำถามนี้โดยตรง แค่ผมว่าอย่างด้านภูมิศาสตร์ของจังหวัดเชียงราย ทางเหนือแถบอำเภอแม่จัน, เชียงแสนเป็นถิ่นคุณยงยุทธ ใครจะไปยุ่งตรงนั้นไม่ได้ การจิ้ม ส.ส. อะไรก็ตามก็เป็นเรื่องของคุณยงยุทธ แต่ถ้ามาตรงกลางก็ตึงๆ มีหลายขั้ว ขณะที่ข้างล่างก็เป็นของคุณ วิสาร เตชะธีราวัฒน์ (อดีตรองโฆษกพรรคเพื่อไทย) ในจังหวัดเดียวจึงมีหลายตระกูลมาก ถามว่ากลไกของพรรคจะทำอย่างไร เขาก็ให้คุณยงยุทธเป็นเหมือนหัวหน้าทีมของเชียงราย แต่คุณยงยุทธเองก็ไม่สามารถไปควบคุมใดๆ ได้ แม้จะร่วมมือกันแต่ก็ไปสั่งใครไม่ได้ 

ข้อมูลที่น่าสนใจคือคุณวิสารเองเป็น ส.ส. เก้าสมัย ย้ายพรรคมา 6-7 พรรค ก่อนหน้ามาเพื่อไทยย้ายมาเยอะมากแต่เขาไม่เคยแพ้เลย ก่อนหน้าปี 2540 อยู่พรรคไหนก็ชนะ แม้จะเปลี่ยนพรรคทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งก็ชนะ แต่หลังจากนั้น คุณวิสารไม่เปลี่ยนพรรคเลย คืออยู่ไทยรักไทยเดิม แล้วตัวเองก็โดนแบนไปพักหนึ่ง ช่วงนั้นก็ให้ลูกมาลงการเมือง 

จังหวัดอื่นๆ ก็คล้ายๆ กันแบบนี้คือไม่ได้มีบ้านใหญ่หลังเดียว พื้นฐานแต่ละจังหวัดมันต่างกัน อย่างเชียงรายปลูกข้าวได้เยอะเลยมีโรงสีเยอะ แต่แพร่เป็นเมืองที่พัฒนามาจากโรงบ่ม เขามีใบยาสูบเยอะ ก่อให้เกิดการจ้างงาน พ่อเลี้ยงจะเป็นคนกลางในการส่งต่อสินค้า เลยเป็นตระกูลการเมืองในลักษณะเช่นนี้

การเมืองบ้านใหญ่มักถูกมองว่าเอื้อกับระบบอุปถัมป์ แต่ระยะหลังก็เห็นคำอธิบายเชิงคืนความชอบธรรมให้การเมืองบ้านใหญ่มากขึ้น เช่น ช่วยดูแลชาวบ้านได้จริง อาจารย์มองประเด็นนี้อย่างไร

ใจผมสนับสนุนการกระจายอำนาจ จึงคิดว่าเรื่องแบบนี้ควรให้กลไกรัฐระดับท้องถิ่นเข้ามาทำหน้าที่ได้เลย ในกฎหมายการกระจายอำนาจนั้นเขียนให้อำนาจท้องถิ่นรอบด้านพอที่จะไม่มีช่องว่างให้นักการเมืองมาเติมเต็มเพื่อหวังผลในการเลือกตั้ง ให้คนมาเลือกที่นโยบายโดยแท้ ไม่เกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์หรือหนี้บุญคุณ

แต่ปัญหาคือการเมืองท้องถิ่นเราไม่เต็มร้อย งบประมาณน้อย ดังนั้น การเมืองที่เข้มแข็งคือการแสดงศักยภาพในการไปเอางบระดับเหนือกว่ามาลง จึงเกิดการพึ่งพาของนักการเมืองท้องถิ่นกับนักการเมืองระดับชาติอีก สมมติ อบต. เอาเงินตัวเองมาทำถนนก็อาจทำได้ไม่กี่กิโลเมตร แต่ถ้ามีเส้นสายกับ อบจ. ที่คุมท้องถิ่นทั้งจังหวัดได้ เราก็เอาเงิน อบจ. มาสร้างถนนของเราเองโดยไม่ต้องควักเงิน อบต. ทั้งหมดนี้จึงยังต้องพึ่งพากลไกนี้อยู่ และเมื่อเป็นระดับ อบจ. ก็มีความเป็นการเมืองแบบพรรคการเมืองชัดเจน เพราะ สจ. มีสังกัดชัดเจนว่าจะเป็นพรรคไหน 

ยังไม่พูดถึงว่า ท้องถิ่นหลายแห่งที่มีโครงการต่างๆ เช่นที่เชียงราย เทศบาลนครมีเส้นทางให้วิ่งเลียบแม่น้ำกก ใช้เงินหลายล้านมากนะ ถือว่าท้องถิ่นเก่งในการไปหาเงินจากกระทรวง/กรมเพื่อเอามาลงในพื้นที่ตัวเอง แต่ถ้าท้องถิ่นมีอำนาจอย่างแท้จริง ก็จะลดการพึ่งพากัน ทำเท่าที่เขามีศักยภาพ รัฐส่วนกลางมีหน้าที่เติมเต็มท้องถิ่นที่ไกลปืนเที่ยง หรือขาดการพัฒนา เช่น แม่ฮ่องสอน และบึงกาฬ แต่ในการกระจายอำนาจนั้น แต่ละจังหวัดควรจะได้ทำตามศักยภาพที่ตัวเองมี 

แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่แบบนั้น เพราะแทนที่รัฐบาลจะไปทำจังหวัดที่เป็นช่องว่างหรือขาดการพัฒนา แต่ก็ไปเลือกทำจังหวัดที่มีอำนาจมาก มีตระกูลการเมืองเข้มแข็ง อยู่ข้างเดียวกันกับรัฐบาล

บางคนบอกว่าการเมืองบ้านใหญ่ถูกลดบทบาทไปในช่วงรัฐธรรมนูญ 2540 แต่หลังจากนั้นการเมืองบ้านใหญ่ก็กลับมามีบทบาทอีก คิดว่าเป็นเพราะอะไร

รัฐธรรมนูญส่งเสริมพรรค ไม่ได้ส่งเสริมคน หมายความว่าย้ายความผูกพันจากตัวบุคคล จากนามสกุลไปสู่พรรค เพราะพรรคแข็งกว่า แต่ผมไม่แน่ใจว่ามันจะพูดแบบนี้ได้ทั้งประเทศไหม แค่ว่ามันเห็นชัดในภาคเหนือ เลือกตั้งรอบหนึ่งก็จะได้ตัวแทนไป 4-5 พรรค แต่พอการเลือกตั้งปี 2544 เหลืออยู่สองพรรคคือไทยรักไทยกับประชาธิปัตย์ที่ชนะได้ หลังจากนั้นก็เป็นแนวโน้มแบบนี้มาตลอด คือโอกาสที่จะมีพรรคอื่นมาสอดแทรกนั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลย ที่จะบอกคือ การเลือกของคนจากที่เลือกโดยตัวบุคคลก็กลายเป็นว่าพรรคเข้มแข็งขึ้น คนเลือกจากพรรคมากกว่าตัวบุคคล 

ทั้งนี้เพราะมันมีระบบปาร์ตี้ลิสต์ การให้คนเลือกพรรค จากเมื่อก่อนเลือกที่คนก็เปลี่ยนไป และการย้ายพรรคของ ส.ส. ก็ไม่ง่าย เมื่อก่อนเลือกตั้งใหม่ก็ย้ายพรรคเพราะอยากอยู่กับฝั่งรัฐบาล ไม่มี ส.ส. ไหนอยากอยู่ฝ่ายค้าน พออ่านเกมว่าอยู่พรรคนี้ไปได้เป็นฝ่ายค้านแน่ ก็ต้องย้ายไปหาพรรคที่จะได้เป็นรัฐบาล แต่ตอนหลัง รัฐธรรมนูญไปดัดหลัง บอกว่าถ้าคุณจะย้ายพรรค คุณต้องย้ายก่อน 90 วัน หมายความว่า นายกฯ มีอำนาจในการยุบสภา ดังนั้นถ้าสมมตินักการเมืองเหล่านี้จะไม่อยู่กับเราแล้ว ถ้านายกฯ ยุบสภา นักการเมืองก็จะหาพรรคลงไม่ได้ นี่เป็นส่วนที่เพิ่มความเข้มแข็งให้พรรคมากกว่าตัวบุคคล

แต่สุดท้ายพอมาปี 2549 ที่เกิดการรัฐประหาร ก็มีความพยายามฟื้นเอาระบบเดิมมาใช้ เมื่อก่อนเลือกเขตเดียวคนเดียว ต้องเลือกให้เด็ดขาดที่สุด จะมาเผื่อใจพรรคนั้นพรรคนี้ คนนั้นคนนี้ไม่ได้ 

การเลือกตั้งปี 2550 ก็มีความพยายามเปลี่ยนพฤติกรรมคนที่ผูกพันกับพรรค ให้กลับมาผูกพันกับตัวบุคคลเหมือนเดิม แต่ไม่สำเร็จ ที่สำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยนคือนโยบายประชานิยมของทักษิณ ทำให้แทนที่คนจะผูกพันกับตัว ส.ส. ที่จะเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ กลับกลายเป็นว่าคนผูกพันกับพรรคผ่านนโยบายแทน ว่าเลือกพรรคนี้แล้วเขาจะทำนโยบายนี้ได้ มันเลยไปตัดตอนส่วนต่างๆ จนหมด เมื่อก่อนอาจจะใช้เส้นสายเพื่อเข้าถึงแต่ตอนนี้ไม่ต้องแล้ว รวมๆ กันเลยทำให้ความนิยมตัวบุคคลลดลง 

บ้านใหญ่แบบที่มีขึ้นก่อนหน้ารัฐธรรมนูญ 2540 ก่อนจะหายไปแล้วกลับมาหลังจากนั้น มองว่าลักษณะบ้านใหญ่สองระยะนี้เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

ผมว่าบ้านใหญ่ไม่ได้หายไปนะ ตัวบ้านใหญ่ไปอยู่ใต้อาณัติคุณทักษิณหมด โจทย์ใหญ่ของประเทศนี้คือการรวมศูนย์ ทุกคนก็อยากเป็นรัฐบาล คุณไปดูได้เลยว่าหลังจากปีนั้นเป็นต้นมา อย่างไรประชาธิปัตย์ก็แพ้ ถ้าคุณอยากเป็นรัฐบาลก็มีทางเลือกเดียวคือต้องร่วมกับไทยรักไทยในเวลานั้น แต่ไทยรักไทยไม่เอาพรรคร่วม เขาจะเป็นรัฐบาลพรรคเดียว คุณก็ต้องไปอยู่ภายใต้พรรคเขาเพื่อให้ได้เป็นรัฐบาล บ้านใหญ่เลยไม่ได้หาย แต่เข้าไปอยู่ในร่มเงาของไทยรักไทย

พูดว่าเข้าระบบมากขึ้นได้ไหม

ไม่เชิงนะ แต่เหมือนอยู่ที่สถานการณ์ด้วย โจทย์ใหญ่ของบ้านใหญ่เหล่านี้คือเขาต้องเข้าถึงทรัพยากรเพื่อให้เอาทรัพยากรมาลงในพื้นที่ให้ได้ การจะเข้าถึงทรัพยากรได้นั้นก็ต้องเป็นรัฐบาลเสียก่อน เราจึงเห็นความลำบากในจังหวัดที่เพื่อไทยเป็นรัฐบาลในช่วงที่เขาอยู่ตรงข้ามกับรัฐบาล อย่างตอนที่คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ โครงการต่างๆ ที่มาลงที่จังหวัดเชียงใหม่หลังการล้อมปราบปี 2553 เป็นค่ายทหารสองพันล้านบาท แทนที่จะเป็นขนส่งมวลชนหรืออื่นๆ ขณะที่สมัยคุณทักษิณเป็นนายกฯ เขาไปทำซาฟารี ไปทำพืชสวนโลก เห็นว่าบ้านใหญ่เราไม่ได้เข้าถึงอำนาจ จึงไม่ได้โครงการพัฒนาแบบในอดีต

การเลือกตั้ง 2566 ก็มีนักการเมืองย้ายพรรคกันเยอะมาก มองปรากฏการณ์นี้อย่างไร จะเปลี่ยนความสัมพันธ์ของผู้มีอิทธิพลในพื้นที่กับประชาชนไหม

ถ้าจะเปลี่ยน ก็หมายความว่าพรรคก้าวไกลชนะ เพราะเขาไม่มีหัวคะแนนแบบเดิม ใช้หัวคะแนนธรรมชาติ และนี่เปลี่ยนความคิดเลย ที่ผ่านมามันเป็นเรื่องโครงข่าย มีนักการเมืองระดับชาติ มีนักการเมืองระดับท้องถิ่น มีผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประธาน แม่บ้าน กลุ่มอาชีพต่างๆ นี่คือโครงข่าย แต่ถ้าก้าวไกลชนะก็แปลว่ามันจะไปปฏิเสธโครงข่ายแบบเดิมซึ่งใช้หาคะแนนแล้วได้ผลมาตลอด นี่ก็ต้องดูกัน

ทั้งนี้ ถ้าก้าวไกลชนะในตัวเมืองนี่ไม่น่าแปลกใจ แต่ถ้าชนะพื้นที่นอกเมืองนี่น่าติดตาม และเท่าที่ผมดู ก้าวไกลไม่ชนะในพื้นที่ชนบทของภาคเหนือเลย อาจชนะที่แม่สายแต่นั่นก็ไม่ใช่ชนบทเพราะมีความเป็นเมืองสูง แต่ถ้าไปชนะในพื้นที่ชนบทด้วยก็ต้องมาว่ากันอีกที 

มีโอกาสมากน้อยแค่ไหนที่ก้าวไกลจะชนะ

ไม่รู้เลย บอกไม่ได้ แต่ในเชียงใหม่ผมบอกเลยนะว่าไม่มีทาง ยิ่งในพื้นที่ไกลปืนเที่ยง เขามีช่องว่างเยอะ กระหายการพัฒนาเยอะ เรียกร้องเยอะ เขาจึงพึ่งพาโครงข่ายดังกล่าวมานานแล้ว การที่เขาจะปฏิเสธโครงข่ายเหล่านี้คงเป็นไปได้ยาก แต่ในพื้นที่เมืองมีทรัพยากรพร้อมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ค่อนข้างพร้อมมากจึงมองเขยิบไปจากเรื่องที่เกิดขึ้นจากช่องว่างซึ่งโครงข่ายมาเติมเต็ม ไปหาเรื่องที่ใหญ่กว่านั้น เช่น ปฏิรูปสถาบันฯ และปฏิรูปกองทัพ 

คล้ายๆ คำพูดที่ว่า ปากท้องมาก่อนใช่ไหม

ปากท้องด้วย แต่เป็นปากท้องที่เกี่ยวกับการทำมาหากินในชีวิตเขา เขาเดือดร้อนเรื่องลำไยราคาตก จะไปเดินขบวนที่ศาลากลางก็ต้องมีค่าน้ำมัน เขาจะไปพึ่งพาใครได้ ก็ต้องใช้กลไกเหล่านี้ ต้องมีคนเข้ามาดูแล

กระแสก้าวไกลแรงมาก มองว่ากระแสจะชนะกระสุนไหม เพราะเท่าที่ฟังนี่อาจไม่ชนะในพื้นที่ชนบทมากๆ หรือเปล่า

หลังจากเลือกตั้งเทศบาลเสร็จ คนบอกกันว่าเงินมีอิทธิพลมาก ชี้เป็นชี้ตาย ด้วยความสงสัย ผมกับอาจารย์ธเนศวร์ เจริญเมือง ก็ไปรวมกลุ่มคนที่ทั้งชนะและแพ้ ใช้เงินและไม่ใช้เงิน แถวๆ ลำพูนและเชียงราย ประมาณ 30 คน มาสุมหัวกัน พบว่าไม่เสมอไปนะ มันมีความหลากหลายมาก เงินไม่ใช่คำตอบเดียว มันมีทั้งคนที่จ่ายต่อหัวมากกว่าที่แพ้คนที่ใช้เงินน้อยกว่า แต่ใช้เงินทั้งคู่ ซื้อทั้งคู่ หรือคนไม่ใช้เงินเลยแล้วชนะคนที่ใช้เงินก็มีเหมือนกัน มันมีความหลากหลายมาก บอกไม่ได้เลยว่าเงินคือคำตอบ ทั้งหมดนี้จึงขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยมาก ส่วนหนึ่งคือเรื่องผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกพื้นที่ซึ่งเงินไม่ส่งผลอะไรต่อเขา ไม่เป็นฐานเสียงของใครคนใดคนหนึ่งที่แข่งกัน สมมติเป็นนักเรียนไปเรียนในตัวเมืองแล้วกลับมาเลือกตั้ง คนกลุ่มนี้คือกลุ่มที่เป็นตัวแปรในการชี้ขาดผลคะแนนในพื้นที่นั้น เพราะพวกเขาไม่ใช่ฐานเสียง แล้วบางทีก็มาในวันเลือกตั้งเลย มาถึงก็ลงคะแนนแล้วกลับเข้าเมือง 

แล้วมีรายละเอียดเยอะ มีทั้งซื้อแยกหรือยิงโดดเฉพาะนายก หรือสมาชิกและซื้อยกทีมให้ช่วยกาทั้งสองใบ แต่คิดว่าในการเลือกตั้ง ส.ส. นั้นยังห่างไกลกับระดับท้องถิ่นซึ่งเงินค่อนข้างมีผลกว่า เพราะพอเป็น ส.ส. นี่เรื่องพรรคมีอิทธิพลมากอยู่ โดยเฉพาะหลังวิกฤตทางการเมือง ปัจจัยเรื่องพรรคจะเป็นตัวสำคัญมากๆ ดังนั้น เงินจึงจะไม่ค่อยมีผล

ธรรมนัสเคยพูดเรื่องบ้านใหญ่ที่พะเยาใช้อาวุธปืนข่มขู่ผู้นำท้องถิ่น คนบางกลุ่มเลยมองว่าการเมืองท้องถิ่นคือเรื่องของความรุนแรงด้วย แต่อาจารย์เคยทำวิจัยช่วงเลือกตั้งท้องถิ่นที่พบว่าการใช้ความรุนแรงนั้นเป็นมายาคติ อย่างนั้นแล้วจะทำความเข้าใจประเด็นนี้อย่างไร

ผมว่าการที่คุณธรรมนัสไปบอกคนอื่นว่าเป็นบ้านใหญ่นี่ตลกมากเลย คุณธรรมนัสนี่แหละบ้านใหญ่ อาจจะบอกว่าบ้านใหญ่ถูกนักเลงต่างถิ่นมารังแก 

สิ่งนี้เกิดจากความเชื่อที่ว่า หัวคะแนนคุมชาวบ้านได้ ถ้าได้หัวคะแนนคนนี้มาก็จะได้คะแนนตามมาด้วย หัวคะแนนคือโครงข่ายนักการเมืองที่มีการดูแลกัน แต่ถามว่ายังดูแลแบบสมัยก่อนไหม ก็มี เห็นจากการแจกน้ำที่แปะชื่อ แปะรูปต่างๆ ที่ถือเป็นการอุปถัมป์เชิงบุคคล มีมาตลอด แต่ก็มีการอุปถัมป์ผ่านโครงการของเทศบาลและของรัฐบาลด้วย เช่น การพาไปทัศนศึกษาดูงาน อย่างสมัยตอนเลือกตั้งเทศบาล คนพวกนี้ก็ถูกเรียกว่า kingmaker ถ้าคนเหล่านี้ไปอยู่กับกลุ่มไหน กลุ่มนั้นจะชนะเทศบาล ดังนั้นก็มีหลายคนที่มองว่าถ้าได้คนกลุ่มนี้มาตอนเลือกตั้ง ส.ส. ก็น่าจะเสริมกำลังให้เราได้เหมือนกัน

เห็นแนวโน้มการใช้ความรุนแรงในการเลือกตั้งครั้งนี้ไหม

ไม่เห็นครับ (ตอบเร็ว) ความรุนแรงในความหมายของผมคือการทำร้ายกัน ซึ่งมันพ้นสมัยแล้ว ไม่มีใครใช้แน่นอน อย่างในอดีตที่เขาใช้ความรุนแรงกันเพราะมันได้ผล คือใช้ในการกำจัดคู่แข่งซึ่งตัวเองรอด ไม่ถูกดำเนินคดี และคู่แข่งตาย ตัวเองก็ครองอำนาจ แต่หลังๆ กลไกและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา สื่อโซเชียลมีเดียและกระแสสังคม การใช้ความรุนแรงมันได้ไม่คุ้มเสีย เผลอๆ ติดคุกและแพ้เลือกตั้งด้วย 

อนาคตการเมืองบ้านใหญ่จะเป็นยังไง โดยเฉพาะถ้าพรรคฝั่งประชาธิปไตยขึ้นสู่อำนาจและมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่

จากที่ดูดีเบตนะ หลายพรรคก็พูดตรงกัน ถ้าขั้วการเมืองเปลี่ยน การกระจายอำนาจจะเป็นประเด็นที่คุณไม่พูดไม่ได้เลย ไม่ทำไม่ได้ และต้องเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลแน่นอน หากมีการกระจายอำนาจ โฉมหน้าการเมืองไทยแบบเดิมจะเปลี่ยนผัน แต่ในภาคการเมืองท้องถิ่นก็จะชัดเจนยิ่งขึ้น ที่ผ่านมาผมพบว่าในระดับ อบจ. ก็ประกาศพรรค มีการฟาดฟันชัดเจน แต่ระดับเทศบาลเล็กๆ หรือ อบต. ยังไม่เห็น ถ้าสมมติการเลือกตั้งครั้งนี้ทำให้รัฐบาลเปลี่ยนขั้ว มีการส่งเสริมการกระจายอำนาจมากขึ้น ก็จะลดบทบาท ลดการพึ่งพาของประชาชนต่อการเมืองบ้านใหญ่ลง 

ถ้าเป็นประชาธิปไตยเต็มใบแบบที่ควรเป็นตามระบบ ทิศทางของการเมืองบ้านใหญ่ควรเป็นอย่างไร 

(คิดนาน) ถ้ารัฐบาลเปลี่ยนขั้วเกิดการกระจายอำนาจแน่นอน หากนโยบายเลือกตั้งผู้ว่าฯ นำมาใช้จริง โดยยุบรวมกับ อบจ. นักการเมืองระดับชาติก็จะหันมาสนใจการเมืองท้องถิ่น เมื่อนั้นแหละที่บ้านใหญ่จะได้ดูแลประชาชนทั้งจังหวัดจริงๆ โดยไม่ต้องอิงแอบอำนาจรัฐส่วนกลาง

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save