fbpx

วิเคราะห์ศึกเลือกตั้ง อบต. อ่านภาพใหญ่การเมืองไทย กับ ณัฐกร วิทิตานนท์

องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นับเป็นองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่ ‘ใกล้ชิด’ ประชาชนมากที่สุด แต่กระแสการเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กว่า 5,300 แห่งทั่วประเทศในวันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน 2564 กลับค่อนข้างเงียบเหงา

แต่ความเงียบไม่ได้หมายความว่าไม่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากถูกแช่แข็งมา 8 ปี ความเคลื่อนไหวและผลการเลือกตั้งย่อมสะท้อนพลวัตในท้องถิ่นและโครงสร้างอำนาจในการเมืองใหญ่ได้อย่างน่าสนใจ

101 ชวน ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ ภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ วิเคราะห์การเลือกตั้ง อบต. เพื่ออ่านภาพใหญ่การเมืองไทย

YouTube video

:: ยิ่งใหญ่และคึกคัก – รีวิวเลือกตั้ง อบต. 2564 ::

เลือกตั้ง อบต

ผมไม่เคยเห็นการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งไหนที่ยิ่งใหญ่เท่าครั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยมีการเลือกตั้ง อบต. พร้อมกันคราวเดียวถึง 5,300 แห่งมาก่อน นี่ถือเป็นครั้งแรก เพราะ อบต. แต่ละที่เกิดต่างกรรมต่างวาระ มีการเลือกกันเป็นกลุ่มๆ ซึ่งปีที่มีการจัดการเลือกตั้งพร้อมกันมากที่สุดคือช่วงเดือนตุลาคม 2556 ก่อนหน้าที่จะมีการรัฐประหาร 2557 ตอนนั้นมีการจัดเลือกตั้งประมาณ 2,900 แห่ง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การเลือกตั้ง อบต. ครั้งนี้ยิ่งใหญ่ที่สุดในแง่ของจำนวนการจัดการเลือกตั้ง

แต่ถ้าถามว่าการเลือกตั้งครั้งนี้คึกคักไหม ผมคิดว่ามีความคึกคัก ผมพูดมาตลอดว่ายิ่งการปกครองท้องถิ่นมีขนาดเล็กเท่าไร ความตื่นตัวของประชาชนยิ่งมีสูงมากขึ้นเท่านั้น จะเห็นได้ว่าเปอร์เซ็นต์ผู้ออกมาใช้สิทธิการเลือกตั้ง อบจ. อยู่ที่ประมาณ 60% แต่สำหรับการเลือกตั้ง อบต. ปี 2556 จากการเก็บข้อมูลโดย กกต. พบว่ามีเปอร์เซ็นต์การออกมาใช้สิทธิสูงถึง 78% ซึ่งสำหรับปีนี้ ผมคิดว่าจะมีเปอร์เซ็นต์การออกมาใช้สิทธิของประชาชนสูงยิ่งกว่าเดิม ตอนนี้แม้จะไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนจาก กกต. แต่จากการไปไล่ดูในหลายๆ ที่ พบว่ามีเปอร์เซ็นต์การออกมาใช้สิทธิสูงขึ้นทุกที่  

ปัจจัยหลักที่ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีคนออกมาใช้สิทธิเยอะอาจเกิดจากการที่ไม่ได้มีการเลือกตั้ง อบต. มานานถึง 8 ปี การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเป็นเหมือนการระบายความอัดอั้น เพราะในหลายๆ พื้นที่ไม่ได้มีนายกฯ ตัวจริง มีแค่ปลัดที่มารักษาการ ซึ่งปลัดก็ไม่สามารถทำโครงการอะไรได้ เนื่องจากไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ก็ทำได้เฉพาะงานประจำ ไม่กล้าริเริ่มโครงการใหม่ๆ ทำงานแบบเพลย์เซฟ หรือในบางพื้นที่ก็เกิดความรู้สึกที่ว่ามีนายกฯ คนเดิมนานเกินไป ประชาชนอยากเปลี่ยนแปลง อยากเห็นนโนบายใหม่ๆ เป็นต้น

สองเหตุผลที่ว่ามานี้ก็เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งกันเยอะ แต่เราก็ต้องรอดูตัวเลขจาก กกต. อีกทีว่าจะมีตัวเลขตรงตามที่ผมคาดการณ์ไว้หรือไม่

:: โค่นแชมป์เก่า ด้วยผู้สมัครหน้าใหม่ (แบบเก่า) – นิยามผู้ลงสมัครหน้าใหม่สไตล์ อบต. ::

เลือกตั้ง อบต

สำหรับความตื่นตัวของผู้สมัครเลือกตั้งนายก อบต. ครั้งนี้ โดยภาพรวมมีอัตราการแข่งขันของผู้สมัครอยู่ที่ 2.3% ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์เท่ากับการเลือกตั้งเทศบาล ดังนั้นความตื่นตัวในแง่ของผู้สมัครถือได้ว่าไม่ต่างจากการเลือกตั้งเทศบาล ซึ่งอยู่ในเขตเมือง

ส่วนประเด็นผู้สมัครหน้าเก่า-หน้าใหม่ จากข้อมูลที่จัดเก็บโดยกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นพบว่า จากสนามเลือกตั้ง 5,300 แห่ง มีผู้สมัครหน้าเก่าที่ยังคงลงเลือกตั้งในครั้งนี้ 2,811 คน คิดเป็น 53% ซึ่งหมายความว่าอย่างมากที่สุดการเลือกตั้งครั้งนี้จะมี นายก อบต. หน้าเดิมเข้าไปแค่ 53% เท่านั้น แต่เรื่องนี้เป็นไปไม่ได้และจากข่าวก็เห็นว่าหลายพื้นที่มีผู้สมัครหน้าใหม่โค่นแชมป์เก่ากันเป็นว่าเล่น

แต่อยากอธิบายเรื่อง ‘หน้าใหม่’ สำหรับการเลือกตั้ง อบต. เวลาที่พูดถึงผู้สมัครหน้าใหม่มักมี 2 ลักษณะ คือ หน้าใหม่แบบแคบ และ หน้าใหม่ในสนาม อบต. แต่เป็นหน้าเก่าจากสนามอื่น  ‘หน้าใหม่แบบแคบ’ หมายถึงผู้สมัครไม่ใช่นายกฯ คนล่าสุดที่เพิ่งลงจากตำแหน่งไป แต่อาจเป็นอดีตนายกฯ หรือคนที่เคยคลุกคลีกับการเมืองสนามนี้ ส่วน ‘หน้าใหม่ในสนาม อบต. แต่เป็นหน้าเก่าจากสนามอื่น’ เช่น สมาชิกสภา อบจ. จากหลายจังหวัดที่ตัดสินใจวางมือจาก อบจ. เพื่อมาลงแข่งในสนาม อบต. โดยเฉพาะ หลายคนก็ประสบความสำเร็จและชนะการเลือกตั้ง

:: นโยบายที่ว่าเฉียบ ยังไม่อาจสู้สายสัมพันธ์เครือญาติ – จุดตัดชัยชนะของสนามการเลือกตั้ง อบต. ::

เลือกตั้ง อบต

ความต่างที่เห็นได้ชัดมากระหว่างการเลือกตั้ง อบต. กับ การเลือกตั้งในเขตเทศบาลมีอยู่ 2 อย่างคือ

หนึ่ง เราไม่ค่อยเห็นการอิงแอบกับพรรคการเมืองระดับชาติในการเลือกตั้ง อบต. เช่น การตั้งชื่อกลุ่มให้ไปพ้องกับชื่อพรรคการเมือง ซึ่งผิดกับการเลือกตั้งเทศบาล หรือ การเลือกตั้ง อบจ. ที่มีความชัดเจนในเรื่องนี้ ทั้งการเอาโลโก้มาแปะไว้บนป้ายหาเสียงเพื่อแสดงความเป็นคนของพรรคการเมือง แต่การเลือกตั้ง อบต. ไม่มีเรื่องเหล่านี้

สอง เราไม่ค่อยเห็นการใช้สื่อโซเชียลมีเดียในการหาเสียง ถ้าเทียบกับตอนเลือกตั้งเทศบาล เวลาเราขับรถผ่านพื้นที่ต่างๆ จะพบว่ามีการยิงโฆษณาหาเสียงเข้ามาในสื่อโซเชียลมีเดียของเรา แต่สำหรับการเลือกตั้ง อบต. ไม่ได้ใช้วิธีนี้หาเสียงอย่างเป็นจริงเป็นจัง โดยส่วนมากจะเน้นวิธีหาเสียงแบบออนกราวนด์ ลุยเคาะบ้าน ขึ้นรถแห่ ยังคงใช้วิธีการแบบนี้มากกว่า

ส่วนประเด็นที่ว่า ประชาชนใช้อะไรเป็นเกณฑ์ตัดสินใจว่าจะเลือกใครหรือไม่เลือกใคร ถ้าดูตามงานวิจัยที่วิเคราะห์พฤติกรรมการเลือกตั้งก็จะพบว่าหลักๆ มีอยู่ 6 ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเลือกของประชาชน คือ เรื่องพื้นฐานส่วนบุคคล ภาพลักษณ์การศึกษา ประสบการณ์การทำงาน พรรคการเมือง กลยุทธ์การหาเสียง และประเด็นเฉพาะหน้า

สำหรับ อบต. ผมคิดว่าปัจจัยเรื่องพื้นฐานส่วนบุคคลมีความสำคัญมาก ถ้าเทียบกับ ส.ส. บางคนเราไม่รู้จักเขาด้วยซ้ำแต่กลับได้คะแนนถึงสามหมื่นคะแนน ที่เป็นอย่างนี้เพราะมีปัจจัยอื่นเข้ามาหนุนเสริม เช่น นโยบายพรรคการเมืองที่สังกัดอยู่ แต่เลือกตั้ง อบต. ไม่มีแบบนั้น เพราะส่วนใหญ่ผู้ลงสมัครเป็นคนในพื้นที่ และโดยธรรมชาติ อบต. มีพื้นที่ไม่ใหญ่มาก บางพื้นที่ได้แค่ 400 คะแนนก็ได้เป็นนายกฯ แล้ว ดังนั้นเลยมีเรื่องความเป็นเครือญาติเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนใหญ่คนที่ประสบความสำเร็จในสนาม อบต. ล้วนผันตัวเองมาจากสนามอื่น

ยกตัวอย่างภาคใต้ จะเห็นได้ว่าการหาเสียงของผู้สมัครแทบไม่มีการหาเสียงที่ชูนโยบายเลย แต่จะเน้นพูดคุณสมบัติส่วนบุคคล เช่น เคยเป็นครูมาก่อน ขอรับใช้พี่น้อง ใจถึงพึ่งได้ เป็นต้น พบว่าจะเน้นขายตรงนี้มากกว่าเน้นด้านการขายนโยบาย เพราะส่วนหนึ่งทราบดีว่า อบต. มีข้อจำกัด ไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก ต่างไปจากเทศบาลที่มีงบประมาณมากพอที่จะทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ได้ นี่ก็เลยกลายมาเป็นเหตุที่ทำให้ผู้สมัครไม่กล้าเสนอนโยบาย เพราะกลัวเสนอไปแล้วทำไม่ได้ ก็จะโดนคดีความตามมา

:: หมดยุคห่ากระสุนปืนในการเลือกตั้ง อบต. ::

เลือกตั้ง อบต

การเลือกตั้ง อบต. ครั้งนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ผมเก็บข้อมูลเรื่องความรุนแรงในการเลือกตั้งท้องถิ่นมาตั้งแต่หลังการกระจายอำนาจใหม่ๆ และมาเก็บอีกครั้งช่วงหลังรัฐประหารครั้งสำคัญๆ สิ่งที่พบในภาพรวมคือความรุนแรงลดลงหลายเท่าตัว จากเมื่อสิบปีที่แล้วช่วงทศวรรษ 2540 มีเคสการยิงกันในระหว่างช่วงที่มีการเลือกตั้งท้องถิ่นประมาณ 500 เคส แต่พอมาในช่วงทศวรรษ 2550 ความรุนแรงลดลงอย่างเห็นได้ชัด เราพบว่าเหลือไม่ถึง 100 เคสเท่านั้น

ถ้าเจาะมาที่การเลือกตั้ง อบต. รอบที่ผ่านมา ตั้งแต่การประกาศเลือกตั้งจนถึงตอนนี้ แม้จะมีข่าวเยอะ แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นการยิงขู่ ซึ่งถ้าเป็นลักษณะนี้ผมจะไม่นับเป็นเคส แต่ถ้าพูดถึงเคสที่ยิงจริงๆ เพื่อหมายเอาชีวิตผู้สมัคร พบว่าปีนี้มีแค่ 3 เคสเท่านั้น ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคกลางกับภาคใต้ ซึ่งข้อมูลนี้ก็ตรงกับสถิติที่ผมเคยเก็บไว้ว่าจังหวัดที่มีความชุกชุมของเหตุการณ์ลอบสังหารทางการเมืองส่วนใหญ่จะปรากฏในภาคใต้และภาคกลาง

ถ้าเทียบกับการเลือกตั้ง อบต. ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2556 ตอนนั้นมีเหตุการณ์ใช้ความรุนแรงถึง 10 เคส และถ้าย้อนกลับไปเมื่อปี 2552 มีถึง 20 เคส พูดง่ายๆ ว่าลดลงเป็นเท่าตัวมาโดยตลอด ผมคิดว่านี่เป็นสัญญาณดีที่ทำให้เห็นว่าการชิงชัยในสนามเลือกตั้งควรจะตัดสินกันที่หีบเลือกตั้ง ไม่ใช่กระสุนปืนเหมือนที่ผ่านมา

ข้อน่าสนใจอีกอย่างคือ นายกฯ หรือผู้สมัครที่ใช้ความรุนแรงมักประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง แต่ครั้งนี้ไม่ใช่ ที่พลาดไปก็มีเยอะ ผมยกตัวอย่างกรณีการเลือกตั้งสนามเทศบาลครั้งที่ผ่านมา เป็นเคสจังหวัดราชบุรี หนึ่งในผู้สมัครถูกยิงตายกลางงานศพ ท้ายที่สุดจึงเหลือผู้สมัครเพียงแค่คนเดียว ซึ่งตามกฎหมาย แคนดิเดตที่เหลืออยู่จำเป็นต้องได้คะแนนเสียงเกิน 20% และต้องได้คะแนนเสียงมากกว่าผลคะแนนโหวตไม่ประสงค์จะลงคะแนนถึงจะชนะการเลือกตั้ง แต่ปรากฏว่าแคนดิเดตผู้นั้นไม่สามารถเอาชนะคะแนนเสียงโหวตไม่ประสงค์จะลงคะแนนได้ ทำให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่อีกรอบ ซึ่งรอบนี้ลูกสาวของแคนดิเดตผู้เสียชีวิตมาลงแข่ง ก่อนจะชนะอย่างถล่มทลาย จะเห็นได้ว่าบางทีประชาชนเขาก็เลือกหนีจากความรุนแรงโดยเลือกผู้ที่ถูกกระทำ ก็เป็นบทเรียนที่เกิดขึ้นจากหลายๆ แห่ง

:: อบต. ยุบแล้วไปไหน? ::

ข้อเสนอการยุบ อบต. ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีการพูดถึงเรื่องนี้มานานแล้ว และครั้งที่ถูกต่อต้านมากที่สุดคือครั้งที่พูดโดยพลเอกประยุทธ์ ในช่วงสมัย คสช. จนพลเอกประยุทธ์ต้องมาออกรายการคืนความสุขให้คนในชาติและปฏิเสธว่าไม่มีความคิดนี้ ทั้งๆ ที่คสช. มีอำนาจเต็มมือ

สำหรับผมคิดว่า อบต. สามารถเปลี่ยนรูปเป็นเทศบาลได้ ก็ปรับรูปแบบไป เพียงแต่เทศบาลเองก็ใช่ว่าไม่มีปัญหา ก็ต้องมาถกกันอีก อย่างเรื่องเขตเลือกตั้ง ทุกวันนี้ อบต. มีความชัดเจนมากกว่าเทศบาล เนื่องจากใช้เขตละ 1 คน แต่พอเป็นเทศบาลทุกวันนี้ยังใช้กฎหมายของปี 2496 คือให้หนึ่งเขตมีสมาชิกได้ 6 คน เวลาเราไปเลือกตั้งก็เลือกได้ 6 คน ทำให้เราไม่รู้เลยว่าตกลงแล้วคนไหนดูแลพื้นที่ไหนกันแน่ อย่างประเด็นแบบนี้ก็ต้องมาถกเถียงกันใหม่ว่าจะหารูปแบบที่เหมาะสมได้อย่างไร

วิธีการที่ง่ายและมีคนเสนอมากที่สุดคือเสนอให้เหลือ 2 รูปแบบ คือ รูปแบบระดับบนดูแลทั้งจังหวัด และ รูปแบบระดับล่าง ซึ่งเอาข้อดีของ อบต. และเทศบาลมาผนวกรวมกัน ก่อนจะเปลี่ยนให้เหลืออันเดียว จะเรียกว่าเทศบาลหรือเรียกเป็นอย่างอื่นก็ได้ แต่ต้องให้องค์กรท้องถิ่นระดับล่างซึ่งมีความใกล้ชิดกับประชาชนมากมีรูปแบบเหมือนกัน ส่วนองค์กรท้องถิ่นระดับจังหวัดก็ออกแบบอีกลักษณะ อันนี้ก็จะเป็นโมเดลแบบที่ใช้ในญี่ปุ่น เกาหลี

มีคนพยายามผลักดันเรื่องนี้ผ่านร่าง พ.ร.บ. จังหวัดจัดการตนเอง ที่มีการเคลื่อนไหวในหลายจังหวัด อย่างเชียงใหม่มหานครก็จะเป็นโมเดลนี้ เพื่อจัดวางอำนาจของทั้งสองฝ่ายไม่ให้มีความทับซ้อนกัน อย่างในช่วง คสช. เองก็มีการจัดทำร่างประมวลกฎหมายท้องถิ่น ต้องเข้าใจก่อนว่าท้องถิ่นบ้านเราเกิดขึ้นต่างบริบท ต่างยุคสมัย บางท้องถิ่นก็เป็นผลผลิตจากยุคเผด็จการ บางท้องถิ่นก็เกิดในยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน มันมีความแตกต่างในเรื่องจุดกำเนิดของแต่ละท้องถิ่นอยู่

ในยุค คสช. เลยเกิดความคิดว่า ทำไมเราไม่ทำประมวลกฎหมายท้องถิ่น หรือการเอากฎหมายทุกเรื่องเกี่ยวกับท้องถิ่น ไม่ว่าจะกฎหมายอาญา กฎหมายการเลือกตั้ง ไปรวมไว้ในที่ที่เดียว เปิดดูจะรู้กฎหมายทั้งหมดเลย ก็มีความพยายามทำร่างกฎหมายนี้ขึ้นมา และในร่างนี้ก็แฝงเรื่องการควบรวมไว้อยู่ คือ อบต. ที่มีคนไม่ถึง 7,000 คนและมีงบประมาณไม่ถึง 20 ล้านบาท ต้องไปรวมกับ อบต. แห่งอื่น นี่เป็นไอเดียที่เคยเสนอไว้ แต่ก็ไม่ได้มีการผลักดันให้เกิดการบังคับใช้จริง

สุดท้ายก็เกิดการเลือกตั้งปี 2562 เสียก่อน นโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ก็ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ เน้นการกระจายอำนาจ แต่ไม่ได้พูดเรื่องการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างขนานใหญ่ ฉะนั้นถ้าถามถึงความหวังในการเปลี่ยนแปลง อบต. แบบเป็นรูปธรรม เราอาจจะคาดหวังการเปลี่ยนแปลงได้จากการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งตอนนี้สภาก็ยังปิดทาง หรือเราจะมาแก้ที่ตัวกฎหมาย ซึ่งแน่นอนว่าจะแก้ที่ตัวกฎหมายได้ ก็ต้องมาจากนโยบายของพรรค นโยบายของรัฐบาล ซึ่ง ณ ขณะนี้ไม่มี ก็ต้องรอการเลือกตั้งครั้งหน้าว่าจะมีพรรคไหนที่เห็นความสำคัญและเอาจริงเอาจังกับการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้

โดยส่วนตัวผมคิดว่าวิธีที่จะเปลี่ยนได้ง่ายมากที่สุดคือ ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างเข้มแข็งจากองค์กรท้องถิ่นทั้งหลายที่จะมาผลักดันเรื่องนี้ แต่ปัญหาคือถ้าจะมายกเลิก อบต. หรือ เทศบาล ก็กระทบเขา แต่เราจะทำอย่างไรเพื่อจะอธิบายและทำความเข้าใจเพื่อให้เห็นว่าถ้าเกิดการควบรวม หรือการปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่นขนานใหญ่ได้อีกสักครั้งจะทำให้ท้องถิ่นตอบโจทย์พี่น้องประชาชนได้มากกว่าที่เป็นอยู่

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Thai Politics

20 Jan 2023

“ฉันนี่แหละรอยัลลิสต์ตัวจริง” ความหวังดีจาก ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ ถึงสถาบันกษัตริย์ไทย ในยุคสมัยการเมืองไร้เพดาน

101 คุยกับ ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ ถึงภูมิทัศน์การเมืองไทย การเลือกตั้งหลังผ่านปรากฏการณ์ ‘ทะลุเพดาน’ และอนาคตของสถาบันกษัตริย์ไทยในสายตา ‘รอยัลลิสต์ตัวจริง’

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์

20 Jan 2023

Thai Politics

16 Aug 2022

“ถ้าเรากลัวก็ต้องหนีไปตลอด” 4 ปีแห่งการเปิดโปงทุจริต ‘จำนำข้าว’ และชีวิตที่เปลี่ยนไปของชญาดา ตระกูลรุ่งโรจน์

101 พูดคุยกับ ชญาดา ตระกูลรุ่งโรจน์ อดีตพนักงานธนาคารที่ออกมาเปิดเผยความผิดปกติในโครงการรับจำนำข้าว ในวันนี้ที่เธอเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยผู้เป็นเจ้าของนโยบาย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

16 Aug 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save