fbpx
ธุรกิจเพื่อการยกระดับชีวิตและหลักนิติธรรม – คุยกับ นุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์

ธุรกิจเพื่อการยกระดับชีวิตและหลักนิติธรรม – คุยกับ นุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ เรื่อง

กมลชนก คัชมาตย์ ภาพ

“คนกลุ่มหนึ่งในภาคธุรกิจมีส่วนก่อให้เกิดความไม่ยุติธรรม เช่น มีการทุจริตคอร์รัปชัน ทำสิ่งผิดกฎหมายให้กลายเป็นถูก หรือทำสิ่งที่ถูกให้กลายเป็นผิด”

นุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาในช่วงหนึ่งของการสนทนาเมื่อถูกถามว่า จริงหรือไม่ที่ภาคธุรกิจมีส่วนก่อให้เกิดปัญหาด้านหลักนิติธรรมของสังคม

“ถ้าผู้บริหารยึดมั่นในหลักกฎหมาย เราก็จะได้ความเชื่อมั่นและความเคารพจากคนจำนวนมากในบริษัท อีกทั้งการเป็นตัวอย่างที่ดีจากผู้บริหารจะส่งผลต่อการปฏิบัติงานของคนข้างล่างต่อไป”

ชื่อของนุสรามักเป็นที่จดจำในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) บริษัทประกันชีวิตซึ่งอยู่คู่คนไทยมากว่า 70 ปี รวมถึงการเป็นนายกสมาคมประกันชีวิตไทย และประธานสภาธุรกิจประกันภัยไทย ผู้มีบทบาทควบคุมดูแลแวดวงธุรกิจประกันให้เติบโตอย่างยั่งยืน มีคุณภาพทัดเทียมสากล

แต่อีกด้านหนึ่ง นุสราคือคนที่ติดตามสถานการณ์ความก้าวหน้าของระบบยุติธรรมและกฎหมายอย่างใกล้ชิด รวมถึงผันตัวเป็นผู้ส่งเสริมการสื่อสารเพื่อป้องกันความรุนแรงในครอบครัวร่วมกับโครงการ The Rule of Law & Development (RoLD) โดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ)

จากประสบการณ์การทำงานในธุรกิจหลากหลายรูปแบบ ทั้งอสังหาริมทรัพย์ โรงเรียน จวบจนมารับช่วงต่อบริษัทประกันชีวิตของครอบครัว ทำให้นุสรามองเห็นประเด็นปัญหาด้านหลักนิติธรรมในแวดวงธุรกิจ การศึกษา และคุณภาพชีวิตคนไทยอย่างรอบด้าน

ในโอกาสนี้ 101 จึงชวนนุสรามาพูดคุยถึงบทบาทของภาคธุรกิจต่อการสนับสนุนหลักกฎหมาย ความท้าทายของธุรกิจประกันชีวิตในการก้าวเข้ามายกระดับชีวิตผู้คน ท่ามกลางมรสุมความเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมสูงวัย และกระแสเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งเข้ามาพลิกโฉมธุรกิจทุกวัน

นุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์

คุณคิดว่าอะไรเป็นโจทย์ใหญ่และความท้าทายของสังคมไทยในตอนนี้

เรื่องแรก คือการศึกษาของไทย ถึงแม้ในปัจจุบันระบบการศึกษาของเราจะได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่เชื่อว่ายังไม่เพียงพอ และยังต้องพัฒนาไปข้างหน้าอีกมากเพื่อให้ถูกต้องเหมาะสมกับคนไทย เพราะการศึกษาที่ไม่เพียงพอและเหมาะสมจะเป็นสาเหตุของปัญหาอื่นๆ อีกมากมายตามมา เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากช่องว่างระหว่างรายได้ (Disparity of income) ดังจะเห็นได้ว่าคนส่วนใหญ่เมื่อจบการศึกษาภาคบังคับ มักจะไม่สามารถสร้างรายได้เลี้ยงชีพตนเองได้

เพราะปัจจุบันเป็นยุคสังคมแห่งการเรียนรู้ที่เปิดกว้าง มีหลากหลายรูปแบบให้ได้ศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเอง โดยผ่านสื่อเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น Google Youtube และ Website ต่างๆ ทำให้การเรียนรู้ที่เน้นแต่เนื้อหาในตำราหมดยุคไปแล้ว หากเรายังให้เด็กๆ เรียนรู้แต่ในตำรา และสอบวัดความรู้ด้วยการเลือกคำตอบ ก. ข. ค. ง. อยู่ เราก็จะไม่มีทางแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้

ดิฉันเคยมีโอกาสได้รับฟังหลักสูตรการศึกษาของประเทศฟินแลนด์ ซึ่งน่าสนใจตรงที่การศึกษาของเขาไม่ได้ขึ้นอยู่กับชั่วโมงการเรียนที่ยาวนานหรือเนื้อหาในตำรา แต่จะเน้นการกระตุ้นให้เด็กเกิดความคิด ความสงสัย ค้นหาข้อมูลความรู้ด้วยตัวเอง ดังนั้น แนวทางในการศึกษาของบ้านเราจึงควรเน้นสร้างทักษะให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเอง ทำให้ครูเป็นผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) ช่วยกระตุ้นให้เด็กอยากเรียนรู้ และสอนทักษะที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวันได้

เรื่องที่สอง คือทัศนคติของผู้คนในเรื่องของการออมเงิน เราต้องฝึกให้คนไทยเรียนรู้เรื่องการออมเงินและการวางแผนชีวิตตัวเอง เพราะเมื่อเรามีเงิน ก็จะมีศักยภาพในการช่วยเหลือดูแลตนเองและครอบครัว ไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากรัฐหรือคนอื่นๆ

อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาสำคัญ คือเรื่องยาเสพติด เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหาความรุนแรงทั้งในครอบครัวและสังคม รวมทั้งส่งผลต่อความสามารถในการทำงาน เมื่อไม่มีงาน ไม่มีเงิน ก็จะส่งผลต่อเนื่องไปถึงปัญหาอาชญากรรม ก่อให้เกิดเป็นปัญหาใหญ่ของสังคม สิ่งสำคัญคือต้องให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องของภัยที่เกิดจากยาเสพติด และเครื่องดื่มมึนเมาต่างๆ

มุมหนึ่งของสังคมมองว่าภาคธุรกิจมีส่วนที่ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ คุณมองประเด็นนี้อย่างไร

หากเรานิยามความเหลื่อมล้ำว่าเป็นช่องว่างระหว่างรายได้ และมองว่าเป้าหมายคือการทำให้ทุกคนมีรายได้ใกล้เคียงกัน ดังนั้น การทำให้ภาคธุรกิจหดตัวลงมาคงไม่ใช่ทางออกที่ดีในการแก้ปัญหาดังกล่าว เพราะธุรกิจต้องเติบโตเพื่อขับเคลื่อนประเทศ ช่วยเศรษฐกิจระดับมหภาค (Macroeconomic) เพื่อทำรายได้แก่ประเทศ รวมทั้งการส่งออกสินค้าเพื่อให้ประเทศเกิดดุลการค้าเป็นบวก ถ้าไม่มีภาคธุรกิจ ประเทศก็ไม่มั่นคง ไม่ได้รับความเชื่อมั่นจากนานาอารยประเทศ

เมื่อภาคธุรกิจมีความสำคัญในการทำให้ประเทศแข็งแกร่ง ในอีกแง่มุมหนึ่ง ภาคธุรกิจเองก็ต้องมองเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) และหันไปดูแลคนที่ต้องการความช่วยเหลือในสังคม ด้วยการให้องค์ความรู้ ให้การศึกษา เหมือนกับการให้เบ็ดตกปลา โดยสอนเขาตกปลาเพื่อช่วยเหลือตัวเอง แทนการให้ปลาที่เมื่อได้รับแล้วก็จะหมดไป ดังนั้น อยากให้ภาคธุรกิจซึ่งอาจมองข้ามสิ่งเหล่านี้ หันกลับมาให้ความสำคัญและแบ่งปันช่วยเหลือสังคม เพื่อให้เราเติบโตเคียงข้างไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

นอกจากความเหลื่อมล้ำ อีกประเด็นที่ถูกพูดถึงคือภาคธุรกิจมีส่วนก่อให้เกิดความอยุติธรรมในสังคม ทำให้หลักนิติธรรมมีปัญหา คุณมีเห็นว่าอย่างไร

ยอมรับว่าอาจมีบ้างที่ในภาคธุรกิจจะมีส่วนก่อให้เกิดความไม่ยุติธรรมในสังคม เช่น การทุจริตคอร์รัปชัน การให้สินบน หรือการทำสิ่งผิดให้กลายเป็นถูก หรือทำสิ่งที่ถูกให้กลายเป็นผิด โดยใช้ช่องว่างทางกฏหมาย

ปัญหาเหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดจากการไม่มีจิตสำนึกเรื่องความถูกต้อง ซึ่งบางครั้งเราสู้กับคนไม่ดีด้วยหลักกฎหมายอย่างเดียวอาจไม่ได้ผล เพราะสุดท้ายคนจะหาช่องโหว่หลบเลี่ยงไปได้ ดิฉันเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะลดลงหรือหมดไปได้ด้วยการที่เราควรเริ่มต้นปลูกฝังคนรุ่นใหม่ให้ยึดมั่นในความถูกต้อง ไม่ละเมิดสิทธิ์ของคนอื่น ถ้ามีหลักความถูกต้องที่ดีในใจแล้ว ต่อให้มีหรือไม่มีกฎหมายมาบังคับ เขาก็จะไม่ทำผิด ที่สำคัญผู้ใหญ่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี สอนและปลูกฝังเขาตั้งแต่ยังเด็ก เมื่อเขาโตไปพบเจอคนที่ได้ดีด้วยการโกงหรือทุจริตคอร์รัปชัน เขาก็จะแข็งแกร่งและยึดมั่นในสิ่งที่ดีและถูกต้อง ไม่ไขว้เขวไปกับสิ่งเหล่านั้น

คุณนิยามหลักความถูกต้องที่ว่าอย่างไร

ในมุมธุรกิจหมายถึงการทำธุรกิจอย่างซื่อสัตย์ (honesty) มีจรรยาบรรณ ไม่เบียดเบียนหรือฉ้อโกงคนอื่น ธุรกิจของเราประสบความสำเร็จได้โดยที่ไม่ส่งผลร้ายต่อใคร ทุกฝ่ายได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้งผู้บริโภค บริษัท ลูกจ้าง รวมไปถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholder) ต่างๆ

หลักนิติธรรมถูกนำมาใช้ในแวดวงธุรกิจประกันภัยอย่างไรบ้าง

หลักนิติธรรมถูกนำมาใช้ในแง่ของการมีผู้กำกับดูแล (regulator) ธุรกิจประกันภัยตามกฎหมาย มีสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ทำหน้าที่กำกับราคาประกัน กำกับวิธีการขาย เช่น มีการโทรไปยืนยันกับลูกค้าเมื่อเขาซื้อประกันภัยแล้ว ต้องแจ้งรายละเอียดเพื่อลดความไม่เข้าใจ รวมไปถึงการร่วมมือกับภาคธุรกิจประกันภัยในการออกบทลงโทษผู้ที่กระทำผิด เอาเปรียบลูกค้า หรือ เคลมสินไหมอย่างไม่ถูกต้อง ฯลฯ

นอกจากการกำกับดูแลตามกฎหมาย ธุรกิจประกันภัยก็มีการผลักดันให้เกิดการควบคุมกันเองระหว่างบริษัทหรือภายในบริษัท (self-regulate) เพราะลักษณะการทำประกันภัยเป็นการจ่ายเงินเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนในอนาคต ดังนั้นความเชื่อใจจึงต้องอาศัยความโปร่งใส และการตรวจสอบได้ หากลูกค้ามีข้อสงสัยเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจประกันภัยเติบโต และในปัจจุบันที่สื่อโซเชียลมีเดียแพร่หลายมาก บริษัทประกันภัยเองจะกังวลเรื่องความเข้าใจผิดหรือการเผยแพร่ข้อมูลที่มีผลกระทบต่อชื่อเสียงของบริษัท เราจึงต้องกำกับดูแลตัวเองอย่างเข้มงวดเพื่อให้ได้รับความเชื่อมั่นจากลูกค้าประชาชนด้วย

สิ่งหนึ่งที่สำคัญในแวดวงธุรกิจประกันคือข้อมูล แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยคือเรื่องความอสมมาตรของข้อมูล (Asymmetry Information) ในแง่นี้ เทคโนโลยีใหม่ๆ สามารถช่วยลดปัญหาได้ไหม

ช่วยลดได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ใช่สำหรับคนทุกกลุ่ม ในวันนี้คนไทยที่มีกรมธรรม์ประกันชีวิตเพียง 38 เปอร์เซ็นต์ต่อจำนวนประชากรทั้งหมด ยังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่ยังไม่มีกรมธรรม์ โดยเฉพาะกลุ่มคนรายได้น้อยหรือคนในชนบท ซึ่งเป็นกลุ่มหนึ่งที่เข้าไม่ถึงข้อมูล ทั้งๆ ที่กลุ่มคนเหล่านี้เป็นกลุ่มที่ต้องการประกันมากที่สุด และได้ประโยชน์จากประกันมากกว่าคนรายได้สูง เพราะคนรายได้น้อยส่วนใหญ่มีเสาหลักของครอบครัวคนเดียว ถ้าเสาหลักเกิดเป็นอะไรไป ครอบครัวก็จะลำบากทันที อย่างที่เราเห็นในข่าวว่าเวลาหัวหน้าครอบครัวประสบอุบัติเหตุ พิการ ลูกๆ ต้องออกจากโรงเรียนมาดูแลพ่อแม่ ไม่มีแหล่งรายได้อื่นมาช่วยเหลือ

ดังนั้น หากเขามีประกันชีวิตที่เน้นให้ความคุ้มครองด้วยเบี้ยประกันชีวิตไม่สูง และถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นกับเขา ก็จะได้เงินมาชดเชยช่วยเหลือครอบครัว หรือเป็นค่ารักษาพยาบาลในสัดส่วนสูงที่สุด หลายคนอาจคิดว่าตอนนี้ไม่เป็นอะไร ยังแข็งแรงหาเงินได้ เราคงโชคดีที่ไม่เจออุบัติเหตุ ไม่มีอะไรต้องน่ากังวล แต่ในความเป็นจริงเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ตัวอย่างคือลูกน้องของดิฉัน อยู่มาวันหนึ่งถูกคนเมาเหล้าขับรถชนเสียชีวิต ลูกยังเล็กอยู่ โชคดีที่เขาทำประกันไว้ทำให้ได้รับเงิน 4 ล้านบาท เอามาเป็นทุนการศึกษาให้กับลูกต่อไปได้

ยิ่งไปกว่านั้น ประกันชีวิตยังช่วยเรื่องการออมเงิน ปัญหาหนึ่งของคนไทยทุกวันนี้ คือยังไม่มีวินัยในการออม ครั้งหนึ่งเคยมีตัวแทนประกันชีวิตไปขายประกันแล้วถูกปฏิเสธมา ด้วยเหตุผลเพราะว่าไม่มีเงิน ตัวแทนจึงใช้วิธีให้กระปุกออมสิน บอกกับลูกค้าว่าให้หยอดกระปุกวันละร้อยก็พอ อีกสามเดือนมาเจอกัน จากนั้นเขาก็นำกุญแจกระปุกออมสินกลับบ้าน พอครบสามเดือนกลับมาเจอกันอีกครั้ง เมื่อเปิดกระปุกออกมา ลูกค้าบอกว่าเขาไม่เคยออมเงินได้มากขนาดนี้มาก่อน ดังนั้นเห็นได้ชัดว่าคนกลุ่มนี้ยังไม่มีวินัยการออมเท่าที่ควร การออมเงินกับประกันไม่เหมือนกับการฝากธนาคาร ถ้าฝากธนาคารจะให้ความรู้สึกว่าถอนเงินได้ง่าย แต่หากทำประกันจะถอนได้ยากกว่า หรือถ้ายกเลิกกรมธรรม์ก็อาจจะขาดทุน เพราะมีกระบวนการพิจารณารับประกันต่างๆ ฉะนั้นประกันจึงเป็นทางเลือกที่ดีในการตอบโจทย์กลุ่มคนที่มีรายได้น้อย

แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนเหล่านี้มักจะมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องประกันชีวิตน้อย และไม่มีความตั้งใจที่จะซื้อประกันชีวิต เพราะเขาคิดว่าต้องใช้เงินทำสิ่งอื่นที่สำคัญกว่า ประกันชีวิตจึงกลายเป็นสิ่งที่ไม่ได้รับความสำคัญลำดับต้นๆ ในชีวิตของเขา แม้ว่าเราสื่อสารผ่านสื่อออนไลน์ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงได้ทั้งหมด สุดท้ายเราจึงยังต้องใช้ตัวแทนประกันชีวิตเข้าไปให้ความรู้ด้วย

นุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์

ฟังดูเหมือนปัญหาโลกแตกว่าเราอยากให้กลุ่มคนจนเข้าถึงประกันมากขึ้น ทางหนึ่งเราจึงพยายามให้ความรู้ว่าประกันมีประโยชน์อย่างไร แต่อีกทางหนึ่งเขากลับมองว่ามันแพง

เรื่องราคาแพงหรือถูก เป็นความรับผิดชอบหนึ่งของผู้กำกับดูแลธุรกิจประกัน เราไม่สามารถตั้งราคาได้ตามใจ ทุก 8-10 ปี จะมีการประเมินอัตรามรณะของธุรกิจประกันว่าเป็นอย่างไร ถ้าคนอายุยืนขึ้น เราต้องลดราคาประกันบางอย่างลง เช่น ประกันที่จ่ายเงินกรณีเสียชีวิต จนบางครั้งทำให้ประกันชีวิตมีกำไรน้อยลงมากหรืออาจแทบไม่มีเลย ด้วยประกันที่ขายไปนานแล้วมาวันนี้อาจกลายเป็นขาดทุนก็มี เพราะกรมธรรม์ประกันชีวิตโดยเฉลี่ยมีระยะเวลาการคุ้มครองมากกว่า 10 ปี ดังนั้นเรามักจะได้ยินกันบ่อยๆ ว่า ทำประกันตั้งแต่อายุยังน้อยยิ่งดี เพราะจ่ายเบี้ยประกันชีวิตถูกกว่าการทำประกันชีวิตเมื่อมีอายุมากขึ้น

ในเรื่องประกันสุขภาพที่หลายคนบอกว่าแพง จริงๆ แล้วทางบริษัทประกันเองก็แทบไม่มีกำไร เพราะค่ารักษาพยาบาลปัจจุบันสูงมากและมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ และยังมีปัญหาการฉ้อฉลในการเรียกร้องสินไหมประกันสุขภาพ นอกจากนี้บริษัทประกันยังมีการแข่งขันกันสูงมาก ทั้งในด้านปัจจัยราคา และการส่งเสริมการขายต่างๆ

แล้วเราจะแก้ปัญหาให้กลุ่มคนรายได้น้อยเข้าถึงประกันได้อย่างไร

ในเบื้องต้นรัฐบาลควรมีนโยบายช่วยคนที่มีรายได้น้อยในประเทศโดยการให้ประกัน อย่างน้อยเป็นประกันที่ให้ความคุ้มครองอย่างเดียว ไม่เกี่ยวกับการออมก็ได้ เพื่อให้คนกลุ่มนี้เริ่มเข้าใจและเห็นประโยชน์ของการทำประกัน เมื่อเขาเข้าใจและเข้าถึงการประกันได้ ต่อไปก็ให้เขาทำประกันเอง

ประเด็นต่อมาคือทุกภาคส่วนต้องช่วยเรื่องการให้ความรู้เกี่ยวกับประกันมากขึ้นด้วย ในตอนนี้แวดวงธุรกิจประกันพยายามร่วมมือกับฝ่ายผู้กำกับดูแลในการให้ความรู้คนด้วยการไปลงไปยังชุมชนต่างๆ แต่ยังไม่มากพอ ยังเข้าไม่ถึงทั้งหมด และการลงชุมชนแต่ละครั้งก็ต้องลงแรงเยอะ ถ้าเป็นไปได้ก็ควรมีการอำนวยความสะดวก ติดต่อประสานงานผ่านตัวแทน หรือเครือข่ายในจังหวัดให้ช่วยประชาสัมพันธ์

ในอีกมุมหนึ่ง ดิฉันยังมองไปถึงเรื่องการศึกษาในโรงเรียน ถ้าทำให้เด็กๆ เข้าใจหลักการของการประกันได้จะดีมาก โดยอาจทำกิจกรรมระดมเงินจากแต่ละครอบครัว รวบรวมเป็นเงินส่วนกลาง และหากมีใครเป็นอะไรก็ใช้เงินนั้นช่วยจ่ายเงินค่าทำศพ

ฟังดูเหมือนว่าต้นทุนประกันสำหรับกลุ่มคนรายได้น้อยจะสูงกว่าชนชั้นกลางหรือชนชั้นสูง

จุดมุ่งหมายอย่างหนึ่งของธุรกิจประกันชีวิตคือเปลี่ยนทุกอย่างเป็นข้อมูลดิจิทัลเพื่อลดต้นทุนให้ต่ำที่สุด เรื่องการเข้าถึงข้อมูลของกลุ่มคนรายได้น้อยก็เช่นกัน การที่เราส่งตัวแทนไปหาชาวบ้าน เมื่อถึงจุดหนึ่งตัวแทนเราจะทำไม่ไหว เพราะมีข้อบังคับและการควบคุมในด้านต่างๆ จากผู้กำกับดูแลที่ทำให้เราต้องลดเบี้ยประกันลง ส่งผลต่อเนื่องทำให้บริษัทต้องลดค่านายหน้า (commission) ของตัวแทน แต่ค่าเดินทางของเขากลับเพิ่มขึ้นตลอด รายได้ที่เขาได้ก็ไม่คุ้ม ในขณะเดียวกัน เราก็จะมีต้นทุนในการออกกรมธรรม์เป็นเล่มสำหรับคนที่เข้าไม่ถึงระบบดิจิทัลด้วยเช่นกัน ดังนั้น ดิฉันคิดว่าเราต้องพยายามนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสู่คนกลุ่มนี้ แต่คงต้องใช้เวลาอีกสักพักหนึ่ง

ค่ารักษาพยาบาลโดยเฉพาะในโรงพยาบาลเอกชนถือว่าค่อนข้างแพง ในฐานะธุรกิจประกันภัยที่เกี่ยวข้องโดยตรงมองปรากฏการณ์นี้อย่างไร

จริงอยู่ว่าค่ารักษาพยาบาลแพงในความรู้สึกของคนทั่วไป และถ้าเราไม่ทำอะไรสักอย่าง ผลที่ตามมาคือคนต้องจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพสูงขึ้น ในที่สุดคนไทยจะไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดี

ปัญหาเรื่องนี้ภาครัฐเองก็ให้ความสำคัญ กระทรวงสาธารณสุขพยายามร่วมมือกับ คปภ. และธุรกิจประกันเพื่อหากฎเกณฑ์มาควบคุมค่ารักษาพยาบาล แต่ยังไม่ได้ผล สุดท้ายกรมธรรม์ประกันสุขภาพจึงกลายเป็นแบบร่วมกันจ่าย คือผู้ทำประกันต้องจ่ายค่ารักษาเองส่วนหนึ่ง และให้ประกันจ่ายในส่วนที่เหลือ ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ก็ออกมาช่วยควบคุม ประกาศให้ยาและเวชภัณฑ์เป็นสินค้าควบคุมของกระทรวงพาณิชย์ มอบหมายให้กรมการค้าภายในเป็นคนจัดการ มีการตั้งคณะทำงาน ซึ่งดิฉันเองเข้าไปทำงานร่วมกับอธิบดีกรมการค้าภายใน คปภ. ผู้กำกับดูแล สมาคมโรงพยาบาลเอกชน เพื่อควบคุมราคายา

การที่ยาและเวชภัณฑ์เป็นสินค้าควบคุมของกระทรวงพาณิชย์ หมายความว่าข้างกล่องยาต้องเขียนรายละเอียดและราคายา แต่โรงพยาบาลเอกชนมักไม่มีราคาติดไว้ กระทรวงพาณิชย์จึงประกาศให้โรงพยาบาลติดราคายา และมีการประเมินราคาให้คนไข้รู้ว่ามีค่ารักษาเท่าไหร่ก่อนการเข้ารับการรักษา แต่ฝ่ายสมาคมโรงพยาบาลเอกชนไม่เห็นด้วย และออกจากคณะทำงานนี้ไป ด้วยเห็นว่าราคายาและเวชภัณฑ์ไม่อยู่ใต้การควบคุมของกระทรวงพาณิชย์ แต่อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเพื่อหลีกเลี่ยงการควบคุม

ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์สั่งให้ทำตามแบบของอเมริกา คือ หมอเขียนใบสั่งยาให้คนไข้สามารถไปซื้อที่ร้านขายยาเองได้ ร้านขายยาก็จะช่วยเสนอตัวยาที่ถูกกว่าและทดแทนกันได้เป็นทางเลือกให้คนไข้ เพื่อให้เกิดการแข่งขัน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ค่ารักษาพยาบาลปรับลดลงมา ทำให้โรงพยาบาลไม่สามารถเป็นผู้ผูกขาด และธุรกิจประกันก็ปรับตัวให้คนสามารถขอเคลมในกรณีไปซื้อยานอกโรงพยาบาลได้

แต่ถึงค่ารักษาพยาบาลจะไม่แพงเพราะตัวยาหรือค่าหมอ ก็อาจจะแพงที่ส่วนอื่นอยู่ดี เพราะโรงพยาบาลเอกชนเป็นธุรกิจที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ ก็จำเป็นต้องทำกำไร อย่างไรก็ตาม ดิฉันเชื่อว่าไม่ใช่ทุกโรงพยาบาลเอกชนจะคิดค่ารักษาเกินความจำเป็น

นุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์

เทคโนโลยีดิจิทัลหรือ AI เข้ามามีส่วนช่วยพลิกโฉมธุรกิจประกันภัยอย่างไร

ทุกธุรกิจในโลกตอนนี้มีแนวโน้มกำไรลดลงเรื่อยๆ ธุรกิจประกันก็ไม่ต่างกัน เราจึงต้องพยายามหาแนวทางบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพที่สุดด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด

การใช้ระบบ AI หรือ Robotic Process Automatic ทำให้กระบวนการทำงานดีขึ้น สร้างความพึงพอใจแก่ผู้บริโภคมากขึ้น และลดต้นทุนบางส่วนลง สิ่งที่ธุรกิจประกันภัยเริ่มทำไปแล้วในตอนนี้คือ e-policy, e-receipt, e-application การขอเคลมประกันออนไลน์ การขอใบหักลดหย่อนภาษี และขายประกันชีวิตออนไลน์ เราพบว่าคนต้องการสอบถามรายละเอียดประกันก่อนซื้อ ซึ่งนอกจากผ่านการคุยทางโทรศัพท์ ยังมีการคุยผ่านแชท ฉะนั้นธุรกิจประกันก็เริ่มมีระบบแชทบอทคอยทำหน้าที่ตอบคำถามพื้นฐาน มีความถูกต้องรวดเร็วที่ตอบสนองคนรุ่นใหม่ที่ชอบความรวดเร็ว

สิ่งที่บริษัทประกันชีวิตทำคือการให้บริการที่คำนึงถึงลูกค้า (customer centric) โดยลดต้นทุนให้ต่ำลงผ่านการใช้เทคโนโลยี เพื่อทำให้ธุรกิจมีความยั่งยืน โดยเฉพาะธุรกิจประกันชีวิต ต้องทำให้ตัวเองเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว สัญญาที่ทำกับผู้บริโภคจะได้ไม่มีปัญหา

แต่การที่บริษัทจะปรับเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีได้อย่างสมบูรณ์ ต้องมีการเตรียมความพร้อมของบุคลากรของตัวเอง ต้องให้นโยบายล่วงหน้า 4 – 5 ปี ว่าทิศทางบริษัทจะพัฒนาไปอย่างไร ธรรมชาติการทำงานของพนักงานแต่ละคนจะเปลี่ยนไปอย่างไร และต้องมีกระบวนการฝึกทักษะใหม่ (retrain) เพื่อใช้ในการทำงาน ตัวอย่างเช่น พนักงานขายหันมาใช้เครื่องมืออย่าง iPad เพื่อให้คำปรึกษา ช่วยลูกค้าวางแผนชีวิต คำนวณประกันที่เหมาะกับลูกค้าให้

ในอนาคต ธุรกิจประกันอาจนำเทคโนโลยี AI มาช่วยในการตัดสินใจเรื่องการเคลมประกัน เกิดเป็นคำถามว่าระหว่างการใช้คนกับ AI ใครจะตัดสินได้ยุติธรรมและเหมาะสมกว่า

AI สามารถช่วยตัดสินใจเรื่องพื้นฐานได้ระดับหนึ่ง เช่น จ่ายเงินให้ลูกค้าเมื่อกรมธรรม์เกิน 2 ปี หรือจัดการจ่ายเงินให้ลูกค้าที่ไม่เคยเคลมประกัน ด้วย AI สามารถจับ Pattern ต่างๆ ได้ ซึ่งก็ช่วยให้เราเห็นรูปแบบและนำมาศึกษาได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องซับซ้อน เรายังต้องใช้คนตัดสินใจโดยใช้วิจารณญาณ เช่น ในกรณีที่มีหลักฐานการเคลมไม่ชัดเจนพอที่ต้องจ่ายเงิน แต่ส่วนใหญ่ประกันจะไม่เสี่ยงที่จะเสียความเชื่อมั่น หรือสร้างความไม่พอใจให้ลูกค้า

มีนวัตกรรมอะไรใหม่ๆ ที่ส่งผลต่อแวดวงธุรกิจประกันอีกบ้าง

นวัตกรรมเรื่องการรักษาพยาบาล ตอนนี้เริ่มมีระบบ Digital Doctor พบหมอออนไลน์บนมือถือแทนการไปโรงพยาบาล ไม่ต้องเสียค่าเดินทาง เสียค่าหมอ ประกันเองก็มีส่วนช่วยเข้าไปจ่ายค่ารักษาพยาบาลในระบบนี้ มีประกันรถยนต์ที่คิดเงินเฉพาะตอนใช้รถ โดยมีเทคโนโลยีช่วยคำนวณเงินเวลาสตาร์ทเครื่องและหยุดคิดเงินตอนดับเครื่อง ซึ่งถ้าเป็นคนใช้รถน้อยก็อาจจะคุ้ม และนวัตกรรมอื่นๆ เช่น ใช้ข้อมูลสถิติการเดิน และการออกกำลังที่บันทึกในอุปกรณ์ช่วยออกกำลังกายมาขอลดเบี้ยประกันได้ เป็นการส่งเสริมให้คนมีสุขภาพดีทางอ้อม

ธุรกิจประกันมีคลังข้อมูลเก็บไว้จำนวนมาก ทั้งข้อมูลสุขภาพ อุบัติเหตุ เราสามารถใช้ข้อมูลพวกนี้มาช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาสังคมได้บ้างไหม

เราพยายามทำให้ได้ระดับหนึ่ง เช่น ช่วง 7 วันอันตรายตอนปีใหม่หรือสงกรานต์ อุบัติเหตุบนท้องถนนเกิดขึ้นเยอะมาก จากข้อมูลตรงนี้เราพบว่าจำนวนคนประสบอุบัติเหตุที่ทำประกันชีวิตมีไม่ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ เราก็พยายามนำมาวิเคราะห์ต่อว่าเป็นเพราะอะไร เกิดอุบัติเหตุทางไหน รถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ เพื่อเข้าถึงคนกลุ่มนี้มากขึ้น เพื่อจะทำให้ไม่ต้องแบกรับค่ารักษาเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด

ด้านข้อมูลสุขภาพเราก็นำมาวิเคราะห์ว่าส่วนใหญ่เสียค่ารักษาพยาบาลด้วยโรคอะไร เป็นคนกลุ่มไหน โดยปกตินอนโรงพยาบาลกี่วัน เกิดการฉ้อฉลเอาเปรียบในการเคลมสินไหม ทำให้ค่ารักษาพยาบาลสูงเกินกว่าเหตุหรือไม่ เพราะถ้าปล่อยให้สูงเกินไป สุดท้ายธุรกิจก็ต้องบอกผู้กำกับดูแลให้ขึ้นราคาเบี้ยประกัน คนอื่นๆ ที่ไม่ได้ทำผิดจะเสียเบี้ยประกันที่แพงขึ้น ส่งผลกระทบต่อแวดวงธุรกิจประกันทั้งระบบ

 

ผู้เชี่ยวชาญบางคนเขียนบทความแสดงความเห็นว่า ธุรกิจประกันภัยยังเอาเปรียบผู้บริโภคอยู่ เพราะการแข่งขันยังน้อยไป ควรให้ธุรกิจต่างชาติเข้ามาลงทุน เพื่อเพิ่มการแข่งขันในตลาด คุณมองเรื่องนี้อย่างไร

จริงๆ ธุรกิจประกันภัยมีการแข่งขันกันมาก สังเกตได้ง่ายๆ ว่าบริษัทประกันชีวิต 22 บริษัท มีบางบริษัทแทบไม่มีกำไร ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก เวลาขายกรมธรรม์บางครั้งก็จะถูกลูกค้าปฏิเสธ ด้วยเหตุผลว่าเงื่อนไขสู้บริษัทอื่นๆ ไม่ได้ หรือบางครั้งการออกสินค้าใหม่ก็ทำได้ยาก เพราะบริษัทอื่นให้ผลประโยชน์ที่ดีกว่า

ถ้าให้ธุรกิจต่างชาติเข้ามาลงทุนอาจจะมีปัญหาเรื่องการเงิน เนื่องจากธุรกิจประกันเป็นแหล่งระดมเงินออมแบบหนึ่งที่คล้ายกับธนาคาร โดยเฉพาะประกันชีวิตที่มีทั้งการทำสัญญาออมเงินและซื้อความคุ้มครองในระยะยาว ผู้ทำประกันส่วนใหญ่เข้ามาออมเงินกับประกันโดยหวังว่าวันหนึ่งที่กรมธรรม์ครบกำหนด เขาจะได้เงินคืนพร้อมผลประโยชน์ ถ้าให้ธุรกิจจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนระดมเงิน แล้ววันหนึ่งเขานำเงินออกนอกประเทศไปจนหมด ย่อมเกิดปัญหาต่อผู้บริโภคอย่างแน่นอน

หลายคนอาจบอกว่าราคาประกันภัยในไทยแพงกว่าประกันของสิงคโปร์ จึงอยากให้มีการแข่งขันเพิ่มขึ้น หรือไปซื้อที่สิงคโปร์จะคุ้มค่ากว่า แต่การซื้อประกันในต่างประเทศ คุณก็ต้องนำเงินไปแลกก่อนแล้วค่อยซื้อ และไม่ได้รับผลประโยชน์ทางภาษีที่รัฐบาลไทยจะให้ และยังต้องรับความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนด้วย

นุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์

มีข้อเสนอว่าธุรกิจประกันน่าจะนำเงินไปลงทุนสินทรัพย์ (asset) ประเภทอื่นให้หลากหลายมากขึ้น

เห็นด้วย แต่การลงทุนมีความเสี่ยง ซึ่งผู้บริหารต้องมีความรู้ความเข้าใจ และประสบการณ์ในการบริหารความเสี่ยงเหล่านี้

โลกกำลังเจอความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายหลายอย่าง ความเปลี่ยนแปลงทำให้ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นโดยธรรมชาติ มีความท้าทายใหญ่ๆ อะไรบ้างที่จะส่งผลต่อธุรกิจประกันอย่างมีนัยสำคัญ

ธุรกิจประกันภัยต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายไม่ต่างจากธุรกิจอื่น

ประเด็นแรกคือ การเข้าสู่สังคมสูงวัย เราเป็นประเทศที่สองถัดจากสิงคโปร์ที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ปัญหาหนึ่งที่คนไทยต้องตระหนักคือในวันนี้เราอาจมีสัดส่วนคนทำงานต่อคนสูงวัยอยู่ที่ 2 ต่อ 1 แต่ต่อไปเมื่อเราเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ สัดส่วนจะกลายเป็น 1 ต่อ 1 หมายความว่าคนทำงานในประเทศจะไม่เพียงพอต่อการทำงานสร้าง GDP ประเทศ รวมถึงการจ่ายภาษีเพื่อเลี้ยงดูคนสูงอายุที่ไม่มีลูกหลานมาดูแล

เราจะสูญเสียศักยภาพในการแข่งขันกับต่างประเทศ และต้องเพิ่มอายุการทำงานไปจนถึง 65 ปี และสักวันหนึ่งสังคมเราจะเปลี่ยนไปเหมือนอเมริกาหรือญี่ปุ่นที่มีบ้านพักคนชรามากขึ้นเรื่อยๆ และต้องมีคนทำงานดูแลคนชรามากขึ้น ฉะนั้น ตอนนี้เราต้องเริ่มคิดว่าเมื่อเกษียณแล้วใครจะดูแล ต้องมีเงินเก็บเท่าไร รัฐต้องคิดว่าจะมีงบประมาณเพียงพอต่อการจัดสวัสดิการดูแลคนเหล่านี้ไหม นี่เป็นเป้าหมายใหญ่ที่คนทั้งประเทศต้องร่วมกันคิด

สิ่งที่ธุรกิจประกันภัยต้องทำคือวิเคราะห์ว่าคนจะมีอายุยืนเท่าไหร่ ออกกรมธรรม์ใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิต และให้ความรู้คนว่าก่อนถึงเวลาเกษียณคุณต้องมีเงินเก็บเท่าไรถึงจะใช้ชีวิตได้สะดวกสบาย ตลาดหลักทรัพย์เคยคำนวณค่าใช้จ่ายซึ่งไม่รวมค่ารักษาพยาบาล ว่าคนเราต้องมีเงินประมาณ 4 ล้านบาท เมื่อเกษียณอายุตอน 60 ปี แสดงว่าในวันนี้เราอายุ 20-30 กว่า ยังทำงานได้ต้องคิดเรื่องเก็บเงินแล้ว ประกันต้องเข้าไปช่วยวางแผนการออมให้

นอกจากปัญหาเรื่องการออม อีกปัญหาหนึ่งคือเราอาจตกเป็นภาระของรัฐเรื่องค่ารักษาพยาบาล ดังนั้นเราสามารถช่วยเหลือตัวเองได้โดยการซื้อประกันสุขภาพไว้ รัฐเองก็พยายามจูงใจให้ซื้อโดยการนำเบี้ยประกันสุขภาพไปลดหย่อนภาษี เพื่อให้รัฐไม่แบกรับภาระมากเกินไป และคนซื้อก็อาจได้รับการรักษาที่ดีกว่าเดิม

อีกเรื่องหนึ่งที่คนอาจไม่ค่อยนึกถึงกันมากคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาภัยพิบัติมากขึ้น เราจะเห็นว่าประกันภัยมีหลายรูปแบบมากขึ้น อย่างประกันข้าว ประกันน้ำท่วม ประกันภัยแล้ง ซึ่งรัฐเป็นคนเริ่มทำ ก่อนเริ่มกระจายไปยังกลุ่มบริษัทประกันวินาศภัย การมีประกันเหล่านี้รองรับความรุนแรงของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป หรือกระทั่ง cyber attack ต่อไปก็จะมีประกันรองรับเช่นกัน เพราะมีธุรกิจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีมากขึ้น เราต้องปรับเปลี่ยนโมเดลไปเรื่อยๆ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์

ในงาน TIJ Public Forum ที่จัดโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) คุณได้ตั้งข้อสังเกตถึงรัฐธรรมนูญปี 2560 แม้จะเป็นการตั้งข้อสังเกตเล็กๆ แต่ก็น่าสนใจมาก เพราะภาคธุรกิจไม่ค่อยพูดเรื่องเท่าไหร่ จริงๆ แล้ว คุณมองเห็นประเด็นอะไรในนั้น

สิ่งที่ดิฉันรู้สึกเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ปี 2560 คือ ไม่แน่ใจว่าเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงหรือไม่ อย่างไร ด้วยสังเกตจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุด เรากาบัตรใบเดียวช่องเดียว เลือกทั้งคนทั้งพรรค ทำไมในอดีตเราสามารถเลือกคนและเลือกพรรคที่เราต้องการแยกกันได้ แต่มาถึงตอนนี้เราไม่มีสิทธิ์เลือก ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจทำให้วันหนึ่งคนจะขาดการยอมรับและไม่เชื่อมั่นในกฎหมาย ขาดความเคารพต่อหลักนิติธรรม ทำให้สังคมไทยไม่มั่นคง

ถึงดิฉันจะเข้าใจดีถึงกระบวนการร่างกฎหมาย และเข้าใจถึงผลการเลือกตั้งที่ชี้ขาดออกมา แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้น และเป็นอยู่ตอนนี้ดีต่อประเทศเราจริงๆ หรือ ถึงผลลัพธ์มันอาจไม่ช่วยให้ประเทศดีขึ้นอย่างชัดเจน แต่มันดีกว่าทางเลือกอื่นๆ จริงหรือ นี่เป็นคำถามที่อยากทิ้งไว้ให้

การที่คุณได้เข้าร่วมในหลักสูตรอบรมด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนาสำหรับผู้บริหาร (RoLD) ที่จัดโดย TIJ สุดท้ายคุณตกผลึกความคิดอะไรบ้าง

เราต้องไม่ยอมแพ้หรือสิ้นหวังกับปัญหาต่างๆ  และเชื่อว่าจะสามารถฝากความหวังไว้ที่การศึกษาของคนรุ่นใหม่ได้ อีกทั้งตั้งใจทำตัวเราให้เป็นแบบอย่างที่ดี การที่สังคมจะดีได้ต้องมีความเชื่อมั่น (culture of trust) ความสุจริต (honesty) ความเคารพ (respect) เราจะต้องสอนเด็กรุ่นใหม่ว่าการมีเงินมากๆ ไม่ได้สำคัญที่สุด ไม่จำเป็นต้องรวยก็เป็นคนดีและมีความสุขได้ แค่ช่วยเหลือสังคม มีกินมีใช้ ก็มีความสุข ไม่จำเป็นต้องใช้ความรวยเป็นตัวชี้วัดความสุขเพียงอย่างเดียว

 

คุณมีโครงการที่ทำต่อเนื่องกับ TIJ เกี่ยวกับความรุนแรง คุณวางแผนความคืบหน้าอย่างไรต่อไป

โครงการที่เราทำเป็นโครงการที่เกี่ยวกับการกระทำความรุนแรงในครอบครัวที่เป็นปัญหาสังคมอยู่ในตอนนี้ เราเชื่อว่ามันเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับทุกคน ไม่ใช่เรื่องภายในครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง และมันสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกระดับ ตั้งแต่รายได้น้อยไปถึงมาก แต่คนยังขาดความรู้ความเข้าใจอยู่มาก กลุ่มของดิฉันจึงได้ทำเรื่องการสื่อสาร สร้างคลิปวิดีโอแอนิเมชั่นให้คนอื่นสามารถนำไปสื่อสารต่อได้ โดยไม่จำเป็นต้องติดชื่อเครดิตบริษัท เพื่ออย่างน้อยจะช่วยสร้างความตระหนักถึงความรุนแรงในครอบครัวที่อาจเกิดขึ้นได้รอบตัวเรา

ภายในองค์กรของเราเอง เราก็ให้การศึกษาคนของเราเกี่ยวกับการช่วยเหลือพนักงานที่ถูกกระทำความรุนแรง เป็นที่พึ่งพาให้เขา และต่อไปบริษัทจะสื่อสารไปยังเครือข่ายเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาดังกล่าว ทำให้ทุกคนเข้าใจว่าสามารถช่วยเหลือผู้ถูกกระทำได้ ไม่ใช่คิดว่าเป็นเรื่องในครอบครัว ไม่สมควรเข้าไปยุ่ง

 

ท้ายที่สุดแล้วภาคธุรกิจต้องเข้าใจหลักนิติธรรมหรือระบบยุติธรรมมากน้อยแค่ไหน และจะทำอย่างไรให้คนเชื่อมั่นในหลักนิติธรรม

ดิฉันคิดว่าจำเป็น เพราะมีอีกหลายคนที่ไม่รู้หลักนิติธรรม ถ้าผู้บริหารยึดมั่นในหลักนิติธรรม เราก็จะได้ความเชื่อมั่นและความเคารพจากคนจำนวนมากในบริษัท อีกทั้งการเป็นตัวอย่างที่ดีของผู้บริหารจะส่งผลต่อการปฏิบัติงานของคนของเราต่อไป

นอกจากเรื่องกฎหมาย เราต้องยึดมั่นในคุณค่าที่เราเชื่อด้วย เช่น ตัวดิฉันเชื่อมั่นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ผู้หญิงต้องเห็นคุณค่าและศักดิ์ศรีของตัวเอง ซึ่งเราก็จะประยุกต์ให้เป็นวัฒนธรรมองค์กร ควบคู่ไปกับหลักกฎหมายในสังคมด้วย

ในตอนนี้ กฎหมายยังมีความยุติธรรม เมื่อเราอยู่ร่วมกันในสังคมยังต้องมีกฎเกณฑ์ แต่ถ้าวันหนึ่งการบริหารของประเทศทำให้คนรู้สึกสูญเสียความเชื่อมั่นต่อหลักนิติธรรม มันจะเกิดปัญหา รัฐต้องคอยสังเกตว่าคนเริ่มรู้สึกอย่างไร ต้องปรับแก้ให้คนเชื่อมั่นและเคารพ ร่วมมือกันทั้งผู้ปฏิบัติ ผู้ออกกฎหมาย และผู้บังคับใช้ รวมถึงต้องไม่ยอมแพ้ที่จะให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไป

นุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save